52.เดินกรุงเก่า เข้าวัดหลวง

ในห้อง 'ท่องเที่ยว - อาหารการกิน' ตั้งกระทู้โดย สร้อยฟ้ามาลา, 2 พฤศจิกายน 2012.

  1. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    วัดโลกยสุธาราม

    เป็นวัดขนาดใหญ่อีกวัดหนึ่งตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของพระราชโบราณ บริเวณเดียวกับวัดวรเชษฐารามและวัดระฆัง(วัดวรโพธิ์) โดยตั้งอยู่ทางด้านใต้ของคลองฝางฝั่งตรงข้ามวัดวรเชษฐาราม ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

    มีหลักฐานด้านเอกสารกล่าวถึงวัดโลกยสุธาอย่างจำกัด และเอกสารดังกล่าวดูเหมือนจะบ่งบอกเพียงว่ามีวัดโลกยสุธาอยู่ในทำเนียบโบราณสถานเมืองพระนครศรีอยุธยาเท่านั้น ทั้งที่ในสภาพความเป็นจริงแล้ว วัดโลกยสุธาเป็นวัดที่มีขนาดใหญ่ตั้งอยู่กลางเมือง ประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างหลากหลายรูปแบบที่ก่อสร้างอย่างประณีตงดงามด้วยฝีมือเชิงช่างชั้นครูทีเดียว

    ดังนั้น วัดโลกยสุธาจึงน่าจะเป็นพระอารามหลวงที่พระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งแห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงโปรดให้สร้างขึ้น คำให้การชาวกรุงเก่าบันทึกชื่อ “วัดโลกยสุธา” ไว้ในทำเนียบวัดสำคัญในกรุงศรีอยุธยาด้วย

    พงศาวดารเหนือกล่าวว่า “..พระพุทธศักราชล่วงได้ ๙๕๕ พรรษา นักกษัตรกุกกุฏะ สังวัจฉร ศรีธนญไชยสร้างวัดโลกสุธาพระใจร้าย…” แต่พงศาวดารเหนือเป็นเอกสารที่รวบรวมขึ้นมาจากตำนานในชั้นหลัง ดังนั้นการเรียงเรื่องราวและศักราชจึงมีความสับสนด้วยพยายามที่จะนำเอาตำนานประจำเมืองต่าง ๆ หลากหลายสถานที่มาปะติดปะต่อเป็นพงศาวดาร

    ดังนั้นเอกสารชิ้นนี้จึงยังไม่เป็นที่เชื่อถือในหมู่นักวิชาการ เป็นไปได้ว่าวัด “โลกสุธา” ในพงศาวดารเหนือเป็นวัดเดียวกับวัด “โลกสุธา” กับ“วัดโลกยสุธา” ที่ปรากฏในแผนที่ของพระยาโบราณราชธานินทร์ก็น่าจะเป็นวัดเดียวกันด้วย เนื่องจากไม่ปรากฏวัดโลกสุธาในที่แห่งใดในกรุงศรีอยุธยาอีกเลย และหากพิจารณาความหมายของชื่อวัดทั้ง ๒ ชื่อก็มีความหมายทำนองเดียวกัน คือ

    โลก (น) หมายถึง แผ่นดินหรือส่วนหนึ่งของสกลจักรวาล เช่น มนุษยโลก เทวโลก พรหมโลก โลกพระอังคาร

    โลกยะ, โลกย์ (ว) หมายถึง ของโลก

    สุธา (น) หมายถึง ๑. น้ำอมฤต อาหารทิพย์ ๒. ปูนขาว,
    เครื่องโบกและทา

    ดังนั้น โลกสุธา น่าจะหมายความว่า แผ่นดินหรือสกลจักรวาลที่มีน้ำอมฤต

    โลกยสุธา น่าจะหมายความว่า น้ำอมฤตของโลก

    อย่างไรก็ตามยังมีชื่อ “วัดสุทธาวาส” เป็นวัดที่ตั้งอยู่ในเขตกำแพงเมืองกรุงศรีอยุธยา ตามที่ปรากฏเรื่องราวในพระราชพงศาวดารเกี่ยวข้องกับวัดนี้หลายตอนแต่ยังไม่ทราบที่ตั้งของวัดนี้แน่ชัด แม้ในแผนที่ของพระยาโบราณราชธานินทร์ซึ่งเข้ามาศึกษาโบราณสถานกรุงศรีอยุธยา ในช่วงแรกๆ ก็ไม่ปรากฏชื่อวัดนี้ในแผนที่แต่อย่างใด


    [​IMG]

    วัดสุทธาวาสปรากฏในพระราชพงศาวดารครั้งแรกในรัชกาลสมเด็จพระเชษฐาธิราช ตอนที่เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ทำการรัฐประหารปลดสมเด็จพระเชษฐาธิราชออกจากราชสมบัติ โดยเจ้าพระยากลาโหมยกพลจากวัดกุฎ (บริเวณวัดไชยวัฒนาราม) ทางเรือมาขึ้นบกที่ท่าประตูชัย ประตูเองด้านทิศใต้ เดินทางตามถนนป่าตองแวะสักการะศาลพระกาฬแล้วไปประชุมที่วัดสุทธาวาส ครั้นเพลา ๘ ทุ่ม นั่งคอยฤกษ์พร้อมกันเห็นพระบรมสารีริกธาตุเสด็จมาเป็นนิมิตมงคล จึงยกพลเข้าโจมตีพระราชวังทางประตูมงคลสุนทรยกพระอาทิตยวงศ์ขึ้นครองราชสมบัติ
    การรัฐประหารครั้งนี้มิใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันเป็นเรื่องที่ฝ่ายพระราชวังหลวงล่วงรู้เหตุการณ์อยู่แล้ว การที่เจ้าพระยากลาโหมสามารถยกพลเข้ามาถึงกลางเมืองถึงศาลพระกาฬก็เป็นสถานที่ใกล้พระราชวังมากพร้อมจะปะทะกับกำลังฝ่ายวังหลวง การที่พงศาวดารกล่าวว่า ไปชุมพลที่วัดสุทธาวาส จึงเป็นการยกกำลังเข้าล้อมพระราชวังทุกด้านอย่างใกล้ชิดโดยยึดวัดสุทธาวาสเป็นศูนย์กลางบัญชาการรบ ดังนั้นวัดสุทธาวาสจะต้องเป็นวัดที่ตั้งอยู่ในละแวกเดียวกับพระราชวังหลวง

    ต่อมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าปราสาททองขึ้นครองราชสมบัติแล้วทรงสถาปนาพระอนุชาเป็นพระศรีสุธรรมราชาให้ตั้งบ้านหลวงอยู่ริมวัดสุทธาวาส เมื่อสมเด็จพระเจ้าปราสาททองสวรรคตทรงมอบราชสมบัติให้เจ้าฟ้าไชย ทำให้สมเด็จพระนารายณ์ไม่พอพระทัย จึงทรงลอบหนีออกจากพระราชวังทางประตูตัดสระแก้ว ไปเฝ้าพระเจ้าอา คือพระศรีสุธรรมราชารวบรวมกำลังพลยกเข้ามาในพระราชวังหลวงปลดเจ้าฟ้าไชยออกจากราชสมบัติ พระศรีสุธรรมราชาได้ครองราชบัลลังก์

    ในช่วงเวลาที่เจ้าฟ้าไชยครองราชสมบัติ สมเด็จพระนารายณ์ซึ่งทรงเป็นพระอนุชาต่างพระมารดาคงจะประทับอยู่ภายในพระราชวังหลวงด้วย เมื่อทรงไม่พอพระทัยพระเชษฐาด้วยสาเหตุใด สาเหตุหนึ่งจึงเสด็จออกจากพระราชวังไปสมทบกับพระเจ้าอาซึ่งตั้งบ้านหลวงอยู่บริเวณวัดสุทธาวาส ซึ่งพระราชพงศาวดารกล่าวว่าเสด็จออกทางประตูผ่านสระแก้ว คือออกจากพระราชวังไปทางทิศตะวันตกถึงบ้านของพระศรีสุธรรมราชา ซึ่งเมื่อพิจารณาวัดที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระราชวังหลวงประกอบด้วย วัดสำคัญที่อยู่ใกล้พระราชวัง ๓ วัด คือ วัดระฆัง (วัดวรโพธิ์) วัดวรเชษฐาราม และวัดโลกยสุธา เป็นไปได้หรือไม่ว่าวัดสุทธาวาสที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารเป็นวัดเดียวกับวัดโลกสุธาหรือวัดโลกยสุธา เพราะว่า

    สุทธ สุทธ์ (ก) หมายถึง หมดจด สะอาด หรือ ล้วนแท้

    วาสะ (น) หมายถึง การอยู่ การพัก ที่อยู่ บ้าน

    สุทธาวาส จึงน่าจะหมายความว่า ที่อยู่ที่สะอาดบริสุทธิ์ หรือเป็นชื่อพรหมโลกซึ่งเป็นดินแดนที่มีน้ำอมฤต ดังนั้น ทั้ง “โลกสุธา” “โลกยสุธา” และ "สุทธาวาส” จึงมีความหมายไปในทำนองเดียวกัน คือหมายถึง สิ่งที่ดี สถานที่ดีหรือดินเป็นที่มีน้ำอมฤตทั้งสิ้น จึงน่าจะเป็นไปได้ว่าชื่อ “วัดสุทธาวาส” เป็นชื่อวัดเมื่อแรกสร้างและเป็นที่รู้จักกัน ในชุมชนสมัยอยุธยา เมื่อถึงสมัยอยุธยาตอนปลายอาจจะมีการปรับปรุงเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดโลกสุธา” ซึ่งเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าใน พ.ศ. ๒๓๑๐ ชาวอยุธยาที่ถูกกวาดต้อนไปพม่าจึงให้การไว้ในคำให้การชาวกรุงเก่าทั้ง ๒ ชื่อ ทั้ง “วัดสุทธาวาส” และ “วัดโลกสุธา” ซึ่งคงจะเป็นคำให้การจากหลายปาก ส่วนชื่อ “วัดโลกยสุธา” เป็นชื่อเรียกภายหลังเสียกรุงแล้วเมื่อชาวอยุธยาที่หลบหนีภัยสงครามกลับมาอยู่อาศัยบริเวณนี้อีกครั้งหนึ่ง จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ พระยาโบราณราชธานินทร์เข้ามาสำรวจวัดร้างในกรุงเก่าจึงลงชื่อวัดนี้ไว้ว่า “วัดโลกยสุธา”



    ..................................................

    [MUSIC]http://palungjit.org/attachments/a.2332195/[/MUSIC]

    ..................................................​
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • IMG_9266_1a.JPG
      IMG_9266_1a.JPG
      ขนาดไฟล์:
      469 KB
      เปิดดู:
      1,900
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 31 กรกฎาคม 2013
  2. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    สถาปัตยกรรมที่วัดโลกยสุธา


    [​IMG]

    ๑. ปรางค์ประธาน เป็นปรางค์ก่ออิฐถือปูนตั้งอยู่บริเวณกึ่งกลางของวัด หันหน้าไปทางทิศตะวันออก องค์ปรางค์ตั้งอยู่บนฐานยกระดับซึ่งอาจจะประกอบด้วยฐานเรียงซ้อนกันประมาณ ๓ ชั้น ส่วนล่างขององค์ปรางค์คงจะเป็นฐานบัวซ้อนกัน ๓ ชั้นรองรับเรือนธาตุ (เหลือหลักฐานชั้นที่ ๒ และ ๓) เรือนธาตุก่อซุ้มทิศยื่นออกมาจากเรือนธาตุเท่ากันทั้ง ๔ ด้าน เป็นซุ้มตื้น หลังคามุขลด ๒ ชั้น ภายในซุ้มเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปแต่ปัจจุบันหลุดร่วงลงทั้งหมด ซุ้มทิศตะวันออกเจาะเป็นทางเข้าสู่เรือนธาตุ ส่วนยอดของปรางค์เป็นชั้นรัดประคดซ้อนกัน ๗ ชั้น แต่ละชั้นเคยประดับซุ้มบันแถลง ทั้ง ๔ ทิศ ตามมุมปักกลีบขนุนประจำทุกชั้น กลีบขนุนชั้นล่างสุดปั้นปูนเป็นรูปพระพุทธเจ้าประทับยืนปางถวายเนตร ยังคงเหลือหลักฐานที่มุมด้านตะวันตกเฉียงเหนือ ๑ องค์ ด้านตะวันตกเฉียงใต้ ๒ องค์ ดังนั้นกลีบขนุนทุกใบที่ชั้นล่างนี้คงจะปั้นปูนเป็นรูปพระพุทธเจ้าประทับยืนปางถวายเนตรเหมือนกัน ร่องรอยการปฏิสังขรณ์ที่ปรางค์องค์นี้อย่างน้อยครั้งหนึ่ง โดยก่ออิฐฉาบปูนหุ้มองค์ปรางค์ทั้งองค์ตามทรวดทรงเดิม และระเบียบการประดับที่ส่วนยอดเปลี่ยนไป คือกลีบขนุนซึ่งเคยเป็นแบบลอยตัวถูกเปลี่ยนแปลงเป็นกลีบขนุนแบบแปะแนบชิดกับองค์ปรางค์และซุ้มบันแถลงหายไป ซึ่งเป็นแบบนิยมที่พบเสมอในปรางค์ที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย เช่น ปรางค์รายคู่หน้าวัดโลกยสุธา ปรางค์วัดบรมพุทธาราม และปรางค์น้อยวัดไชยวัฒนาราม เป็นต้น

    รูปแบบของปรางค์ประธานวัดโลกยสุธาองค์ที่สร้างขึ้นครั้งแรกดังได้กล่าวมาข้างต้น ควรเป็นรูปแบบของปรางค์ในสมัยอยุธยาตอนต้น เพราะมีระเบียบบางประการเหมือนกับปรางค์วัดส้ม ปรางค์วัดลังกา ปรางค์ประธานและปรางค์รายบางองค์ที่วัดมหาธาตุ เป็นต้น

    [​IMG]

    ๒. อุโบสถ ตั้งอยู่ด้านหลังของปรางค์ประธาน ปัจจุบันเหลือเฉพาะส่วนฐาน มีร่องรอยการก่อสร้างทับซ้อน ๓ ครั้ง
    ครั้งแรก อุโบสถมีแผนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีมุขยื่นออกทั้งหน้าหลังและน่าจะเป็นมุขโถง ส่วนล่างก่อฐานบัวลูกแก้วอกไก่รองรับผนัง มีบันไดทางเข้าออกด้านหน้า – หลัง ด้านละ ๒ ประตู ขนาบข้างมุขโถง ในอาคารมีเสาร่วมใน ๒ แถว เป็นเสา ๘ เหลี่ยม ก่อด้วยศิลาแลง พื้นอุโบสถปูด้วยกระเบื้องดินเผา ๘ เหลี่ยม

    ครั้งที่ ๒ เป็นการขยายอุโบสถให้กว้างยิ่งขึ้นเฉพาะด้านหน้าโดยขยายออกทั้งตัวอาคารและมุข

    ครั้งที่ ๓ เป็นการรื้อโครงสร้างอุโบสถหลังเดิมลงสร้างใหม่ทั้งหมด การสร้างอุโบสถครั้งนี้ขยายกว้างขึ้นทุกด้าน ในแผนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าไม่มีมุขหน้าหลัง ส่วนล่างก่อฐานบัวคว่ำรองรับผนัง ในอาคารมีแถวเสาร่วมใน ๒ แถว ซึ่งยังคงเป็นเสา ๘ เหลี่ยม ก่อด้วยศิลาแลงกับมีแถวเสานางจรัลรองรับ ชายคาปีกนก ภายนอกอาคารอีกข้างละแถว มีประตูทางเข้าออกที่ผนังด้านสกัดด้านละ ๒ ประตู ใบเสมาของอุโบสถมีขนาดใหญ่ทำมาจากหินชนวน ปัจจุบันปักอยู่กับพื้นดิน

    ๓. วิหารหลวง ตั้งอยู่ด้านหน้าทางทิศตะวันออกในแนวแกนเดียวกับปรางค์ประธานและอุโบสถ ส่วนท้ายของวิหารสร้างยื่นล้ำเข้าไปในระเบียงคด มีหลักฐานการก่อสร้างทับซ้อนถึง ๒ ครั้ง
    ครั้งแรก สร้างวิหารหลวงในแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด ๑๖ x ๕๐ เมตร มีมุขโถงด้านหน้า ส่วนฐานอาคารก่อฐานบัวคว่ำรองรับผนัง มีประตูทางเข้าด้านหน้า ๓ ประตู มีประตูเข้าออกที่ผนังด้านยาวตรงท้ายฐานชุกชีด้านละ ๑ ประตู ในอาคารมีเสาร่วมใน ๒ แถว ซึ่งคงจะเป็นเสา ๘ เหลี่ยม ก่อด้วยศิลาแลงมีแถวเสานางจรัลรองรับชายคาปีกนกทั้ง ๒ ข้าง มีอาสนสงฆ์ภายในอาคารก่อด้วยอิฐเป็นแนวยาวแนบผนังด้านใต้ มีฐานชุกชีสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปภายในอาคารหลายองค์ มีทั้งพระพุทธรูปนั่งและพระพุทธรูปยืนทำจากหินทรายและปูนปั้น พระพุทธรูปประธานน่าจะเป็นพระพุทธรูปยืนทำจากหินทรายขนาดใหญ่ ที่ฐานชุกชีประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งองค์หนึ่งทำเป็นฐานสิงห์ประดับลายปูนปั้น ส่วนของน่องสิงห์ประกอบด้วยวงโค้งหลายวงซึ่งเป็นลักษณะที่เหมือนกับแข้งสิงห์ของวิหารหลวงวัดพระศรีสรรเพชญ์สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๐๔๒

    ครั้งที่ ๒ มีการปรับระดับพื้นวิหารให้สูงขึ้น ฐานวิหารก่อฐานบัวคว่ำพอกทับของเดิม เสาร่วมในทั้ง ๒ แถว เปลี่ยนเป็นเสากลมก่ออิฐ หมายความว่าการก่อสร้างครั้งนี้เป็นการรื้อโครงสร้างส่วนหลังคาลงทำใหม่ทั้งหมด แต่ผนังคงใช้ของเดิมก้อนศิลาแลงแปดเหลี่ยม ซึ่งเป็นโครงสร้างของเสาเดิมนำมาก่อเสริมฐานชุกชีให้สูงขึ้น


    ๔. วิหารราย อยู่ทางด้านเหนือของวิหารหลวง มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด ๑๑ x ๓๐ เมตร ก่อฐานบัวคว่ำรองรับผนังมีประตูทางเข้า – ออก ด้านหน้า – หลัง ด้านละ ๒ ประตู มีบันไดทางขึ้นสู่วิหาร มีฐานชุกชีสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปแต่ชำรุดมาก ลักษณะวิหารน่าจะมีห้องโถงด้านหน้า ๒ ห้อง ก่อนถึงตัววิหารซึ่งมีผนังคั่น วิหารหลังนี้มีร่องรอยการซ่อมอย่างน้อย ๑ ครั้ง

    ๕. วิหารทราย อยู่ทางด้านใต้ของวิหารหลวง ลักษณะและขนาดเดียวกับวิหารทรายทางด้านทิศเหนือ

    ๖. วิหารพระพุทธไสยาสน์ ตั้งอยู่ทางด้านหลังของปรางค์ประธานต่อจากอุโบสถ ซึ่งเป็นด้านท้ายของวัดวิหารพังทลายลงเหลือเฉพาะส่วนฐาน เป็นอาคารที่ก่อสร้างอยู่ในแผนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีร่องรอยการก่อสร้างทับซ้อนกันอย่างน้อย ๓ ครั้ง การก่อสร้างแต่ละครั้งเป็นการขยายขนาดของอาคารให้กว้างขึ้นโดยการรื้อโครงสร้างเดิมลงทำใหม่ทุกครั้ง ครั้งหลังสุดอาคารอยู่ในแผนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีมุขยื่นหน้าหลังและมีร่องรอยของการก่อสร้างระเบียงคดให้เชื่อมต่อกับวิหารพระพุทธไสยาสน์

    [​IMG]

    องค์พระพุทธไสยาสน์ก่อด้วยอิฐฉาบปูน มีความยาว ๔๒ เมตร และสูง ๘ เมตร นอนตะแคงขวาหันพระเศียรไปทางทิศเหนือ หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตก องค์พระพุทธรูปประทับนอนบนอาสนะซึ่งก่อเป็นฐานปัทม์ ยกพระหัตถ์ขวาขึ้นรองรับพระเศียรโดยปลายพระหัตถ์ชี้ไปในทางเดียวกับพระเศียร และทำบัวกลุ่มซ้อนกันรองรับพระเศียรอีกชั้นหนึ่ง ลักษณะพระพักตร์เป็นรูปไข่ องค์พระพุทธรูปครองจีวรห่มเฉียงพระบาทซ้ายวางทับพระบาทขวาแนบสนิท การก่อสร้างครั้งแรกพบหลักฐานจากการขุดค้นทางโบราณคดีว่าพระเศียรพระพุทธไสยาสน์เป็นแบบพระพุทธรูปไม่ทรงเครื่อง เม็ดพระศกทำมาจากดินเผาเป็นรูปก้นหอย ครองจีวรห่มเฉียงชายผ้าสังฆาฏิเป็นเขี้ยวตะขาบ การซ่อมครั้งหลังได้ก่อปูนพอกทับของเดิมตลอดทั้งองค์โดยพยายามจะทำเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องจึงปั้นปูนรูปมงกุฎครอบพระเศียรไว้โดยไม่ทำลวดลายปูนปั้นประดับแต่อย่างใด ชายสังฆาฏิทำปลายตัดตรง การซ่อมครั้งหลังดังภาพที่ปรากฏปัจจุบันมีหลักฐานว่าดำเนินการโดยผู้จัดการโรงงานแอลกอฮอล์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗ โดยกรมศิลปากรเป็นผู้ขุดแต่ง
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • IMG_9274_1a.JPG
      IMG_9274_1a.JPG
      ขนาดไฟล์:
      405 KB
      เปิดดู:
      1,265
    • IMG_9283_1a.JPG
      IMG_9283_1a.JPG
      ขนาดไฟล์:
      483.2 KB
      เปิดดู:
      1,141
    • IMG_9280_1a.JPG
      IMG_9280_1a.JPG
      ขนาดไฟล์:
      509.6 KB
      เปิดดู:
      2,228
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 31 กรกฎาคม 2013
  3. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    ๗. เจดีย์แปดเหลี่ยม จำนวน ๔ องค์ ตั้งอยู่ภายในวงล้อมของระเบียงคดตรงมุขหักทั้ง ๔ แห่ง เหลือเฉพาะรากฐานและปล้องไฉน สันนิษฐานว่าเป็นเจดีย์ทรงกลมฐานแปดเหลี่ยมลักษณะเดียวกับเจดีย์มุมบนฐานทักษิณปรางค์วัดราชบูรณะ ซึ่งสร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น

    ๘. ระเบียงคด ก่อสร้างล้อมปรางค์ประธานและอุโบสถไว้ภายใน ระเบียงคดด้านตะวันออกมีแนววิหารหลวงสร้างล้ำเข้ามาภายใน แนวระเบียงคดด้านเหนือและใต้ก่อชนผนังด้านตะวันออกของวิหาร ดังนั้นวิหารพระพุทธไสยาสน์จึงใช้ประโยชน์เป็นระเบียงคดด้านตะวันตกด้วยหลักฐานจากการขุดแต่งทางโบราณคดีพบว่าการก่อสร้างวัดโลกยสุธาครั้งแรกสร้างกำแพงล้อมรอบปรางค์ประธานและอุโบสถขุดพบรากฐานของกำแพงใต้แนวระเบียงคดด้านเหนือ ระเบียงคดเป็นการก่อสร้างครั้งหลังน่าจะพร้อมกับการปฏิสังขรณ์วิหารพระพุทธไสยาสน์ครั้งหลังสุด

    ๙. กำแพงแก้ว เป็นแนวกำแพงล้อมรอบโบราณสถานสำคัญที่กล่าวแล้วข้างต้นไว้ภายใน คงจะเป็นกำแพงเตี้ยๆ มีหัวเม็ดประจำมุมกำแพงที่ก่อหักฉากทุกมุม พื้นภายในกำแพงแก้วสูงกว่าภายนอกเล็กน้อย

    ๑๐. เจดีย์ทรง ๘ เหลี่ยมมีชั้นซ้อน ตั้งอยู่ตรงมุมกำแพงชั้นนอกด้านตะวันตกเฉียงเหนือ คงจะเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นครั้งแรกพร้อมกับการสร้างวัดโลกยสุธาและน่าจะมีเจดีย์ลักษระเดียวกันนี้อีกอย่างน้อย ๓ องค์ ตั้งอยู่ประจำมุมกำแพงชั้นนอกทั้ง ๔ ทิศ ลักษณะของเจดีย์ส่วนล่างชำรุดมากแต่มีร่องรอยว่าน่าจะเป็นฐานซึ่งอยู่ในแผนผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม เหนือขึ้นไปเป็นส่วนที่เหลือหลักฐานค่อนข้างสมบูรณ์ลักษณะเป็นฐานปัทม์ที่ยึดส่วนท้องไม้ให้สูงขึ้นมาซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป ๔ ชั้น ทั้งหมดอยู่ในแผนผังแปดเหลี่ยมที่มีด้านตรงทิศหลักกว้างกว่าด้านตรงทิศเฉียง (สี่เหลี่ยมจัตุรัสตัดมุม) แต่ละชั้นมีซุ้มทิศประจำทั้ง ๘ ด้าน โดยมีเสากรวยซุ้มร่วมกันตรงมุมของ ๘ เหลี่ยม ภายในซุ้มมีร่องรอยประดิษฐานพระพุทธรูปทุกซุ้ม โดยจะกำหนดนับชั้นแปดเหลี่ยมจากชั้นล่างขึ้นไป เรียกว่า ชั้นที่ ๑, ๒, ๓, และ ๔ ตามลำดับ เพื่ออธิบายลักษณะพระพุทธรูป ดังนี้

    ชั้นที่ ๑ ภายในซุ้มจระนำประจำทิศหลักทั้ง ๔ ทิศ ประดิษฐานพระพุทธรูป ปางรำพึงประทับยืนบนดอกบัว ซุ้มจระนำประจำทิศเฉียงประดิษฐานพระพุทธรูปปางถวายเนตร ประทับยืนบนดอกบัว

    ชั้นที่ ๒ ภายในซุ้มจระนำทิศทั้งแปดประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งปางสมาธิ

    ชั้นที่ ๓ ภายในซุ้มจระนำทิศทั้งแปดประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ภายใต้ร่มโพธิ์

    ชั้นที่ ๔ ภายในซุ้มจระนำทิศทั้งแปดประดิษฐานพระพุทธรูปปางสมาธิ

    [​IMG]

    พระพุทธรูปแต่ละปางถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นแสดงเรื่องราวแต่ละตอนในพุทธประวัติสำคัญ สำหรับพระพุทธรูปที่ประดับประจำชั้นต่างๆ ของเจดีย์องค์นี้ กล่าวได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของเหตุการณ์ในพุทธประวัติเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ที่ใต้ร่มมหาโพธิ์ ตำบลพุทธคยา พระพุทธรูปปางสมาธิที่ประดิษฐานประจำซุ้มจระนำทิศ ทั้ง ๘ ซุ้ม บนชั้นที่ ๔ แสดงเหตุการณ์เมื่อวันเพ็ญเดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี พระพุทธองค์เสด็จขึ้นประทับขัดสมาธิเหนือรัตนบัลลังก์ใต้ร่มมหาโพธิ์ หันพระพักตร์ไปทางทิศบูรพาตั้งพระสติเจริญสมาธิภาวนาหาทางหลุดพ้นจากทุกข์ แล้วออกพระโอษฐ์ดำรัสพระสัตยาธิษฐานว่า หากไม่บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณจะไม่เสด็จลุกขึ้น เรื่องราวตอนนี้แสดงด้วยพระพุทธรูปปางสมาธิ คือ พระนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ขวาวางทับพระหัตถ์ซ้ายอยู่เหนือพระเพลา ในขณะที่พระพุทธเจ้ากำลังบำเพ็ญสมาธิใกล้จะตรัสรู้พระยาวัสวดีมารซึ่งเฝ้าพยายามจะขัดขวางพระพุทธองค์มาหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ จึงใช้ความพยายามจะทำลายสมาธิของพระพุทธเจ้าอีกครั้งหนึ่ง โดยให้ประชุมพลเสนามารทั้งหลายยกมาจะทำร้ายพระพุทธองค์ด้วยอาวุธ เวทมนตร์ และอิทธิฤทธิ์นานาประการ แต่พระพุทธองค์ มิได้หวั่นไหว พระยามารพยายามบังคับให้เสด็จลุกจากรัตนบัลลังก์ ซึ่งพระยามารอ้างว่าเกิดขึ้นด้วยบารมีของตนและถามว่ามีหลักฐานอันใดแสดงว่าได้ทรงบำเพ็ญบุญบารมีมากมายจนเกิดรัตนบัลลังก์ พระพุทธองค์ขณะนั้นพระหัตถ์ขวาวางซ้อนพระหัตถ์ซ้ายอยู่บนเพลาทำปางสมาธิ ทรงยกพระหัตถ์ขวาวางพาดพระชานุ ปลายพระหัตถ์ชี้ลงยังพื้นพสุธาอ้างพระธรณีเป็นพยาน ทันใดนั้นแม่พระธรณีปรากฏกายขึ้นบิดมวยผม น้ำไหลออกมาจากผมแม่พระธรณีเกิดน้ำท่วมพัดพาพลพรรคพระยามารแตกหนีไปหมดสิ้น การที่พระพุทธองค์มีชัยชนะเหนือหมู่มารเสมือนสามารถขจัดกิเลสทั้งปวง พระพุทธรูปแทนเหตุการณ์ในพุทธประวัติตอนนี้เรียกว่าพระพุทธรูปปางมารวิชัย ดังปรากฏในซุ้มจระนำทิศทั้ง ๘ ซุ้ม บนชั้นที่ ๓ ของเจดีย์องค์นี้ เมื่อพระพุทธองค์สามารถขจัดพลพรรคพระยามารพ่ายแพ้ไปสิ้นแล้วทรงยกพระหัตถ์ขวากลับมาทำสมาธิต่อไปจนตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณเมื่อใกล้รุ่งวันเพ็ญเดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี เหตุการณ์ตอนนี้แสดงด้วยพระพุทธรูปปางสมาธิดังปรากฏในซุ้มจระนำทิศทั้ง ๘ ซุ้ม บนชั้นที่ ๒ ของเจดีย์องค์นี้
    เมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้แล้วยังคงประทับเสวยวิมุตติสุขอยู่ใต้ต้นมหาโพธิ์เป็นเวลา ๑ สัปดาห์ ในสัปดาห์ที่ ๒ จึงลุกจากรัตนบัลลังก์ไปประทับยืนอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของต้นมหาโพธิ์ลืมพระเนตรเพ่งดูพระมหาโพธิ์อยู่ ๗ วัน พระพุทธรูปที่เป็นตัวแทนของเหตุการณ์ในพุทธประวัติตอนนี้เรียกว่า พระพุทธรูปปางถวายเนตร ทำเป็นพระพุทธรูปยืน พระหัตถ์ทั้งสองห้อยลงมาประสานกันอยู่หน้าพระเพลา พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย ลืมพระเนตรทั้ง ๒ ข้าง อยู่ในอาการสังวร พระพุทธรูปปางถวายเนตรประดิษฐานอยู่ซุ้มจระนำประจำทิศเฉียงทั้ง ๔ ซุ้มของชั้นที่ ๑ ของเจดีย์องค์นี้ ในสัปดาห์ที่ ๓ เสด็จพระดำเนินกระทำรัตนจงกรมทางทิศเหนือของต้นมหาโพธิ์ สัปดาห์ที่ ๔ เสด็จพระดำเนินประทับนั่งในรัตนฆระเรือนแก้ว ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของต้นมหาโพธิ์ สัปดาห์ที่ ๕ เสด็จพระดำเนินไปประทับนั่งใต้ต้นไทรทางทิศตะวันออกของต้นมหาโพธิ์ สัปดาห์ที่ ๖ เสด็จพระดำเนินไปประทับนั่งใต้ต้นจิกทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของต้นมหาโพธิ์ สัปดาห์ที่ ๗ ซึ่งเป็นสัปดาห์สุดท้ายที่พระพุทธองค์ทรงเสวยวิมุตติสุข ทรงเสด็จพระดำเนินไปประทับใต้ต้นเกตุทางด้านทิศใต้ของต้นจิก เมื่อพระพุทธองค์เสวยวิมุตติสุขครบ ๗ สัปดาห์แล้วทรงรำถึงถึงพระธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้นั้นเป็นสิ่งลึกซึ้งยากที่จะสั่งสอนมนุษย์ให้เข้าใจก็ทรงท้อพระทัยจะไม่โปรดสัตว์โลก ท้าวสหัมบดีพรหมล่วงรู้จึงมาเฝ้าอาราธนาให้แสดงพระธรรมแก่มวลมนุษย์ เหตุการณ์ตอนนี้แสดงด้วยพระพุทธรูปปางรำพึงซึ่งทำเป็นพระพุทธรูปยืนพระหัตถ์ทั้ง ๒ ข้างประสานกันอยู่ที่พระอุระ พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย พระพุทธรูปปางรำพึงประดิษฐานอยู่ที่ซุ้มจระนำประจำทิศหลักทั้ง ๔ ซุ้ม ของชั้นที่ ๑ ของเจดีย์องค์นี้

    การนำพระพุทธรูปปางต่างกันประดับประจำชั้นต่างๆ ของเจดีย์องค์นี้เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่แสดงอย่างเด่นชัดว่าชั้นต่าง ๆ ของเจดีย์นี้ถูกก่อสร้างให้มีความหมายแสดงเหตุการณ์ในพุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าตรัสรู้ตามที่อธิบายมาแล้ว เมื่อเป็นดังนี้สามารถคิดต่อไปได้หรือไม่ว่าส่วนฐานล่างซึ่งน่าจะเป็นผังสี่เหลี่ยมย่อมุมอาจจะหมายถึงสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้คืออริยะสัจ ๔ และชั้นแปดเหลี่ยมที่อยู่เหนือขึ้นไปหมายถึงมรรค ๘ อย่างไรก็ตาม น่าจะกล่าวได้ว่าการก่อสร้างสถาปัตยกรรมเนื่องในพุทธศาสนาโดยเฉพาะสถูปเจดีย์น่าจะมีแนวความคิดและปรัชญาเนื่องมาจากพุทธศาสนา เช่น พุทธประวัติ ชาดกพระธรรม และไตรภูมิ เป็นแรงบันดาลใจให้สถาปนิกแต่โบราณสร้างสรรค์สถูปเจดีย์ขึ้นมาได้หลากหลายรูปแบบ ที่ประกอบด้วยเชิงชั้นสลับซ้บซ้อนและมีพัฒนาการควบคู่มากับพระพุทธศาสนาถึงปัจจุบัน แต่สถูปเจดีย์เหล่านั้นจะแฝงไว้ด้วยความคิดและปรัชญาอย่างใดย่อมไม่อาจยืนยันให้แน่ชัดลงไปได้ หากมิได้มีโบราณวัตถุบางชิ้นกำกับไว้อย่างชัดเจน สถูปเจดีย์ที่มีรูปแบบเดียวกันอาจจะมีแนวความคิดและปรัชญาเมื่อแรกสร้างต่างกันก็เป็นได้ ซึ่งเรื่องเคยมีผู้ศึกษาแปลความหมายตัวเลขของชั้นต่างๆ ในสถาปัตยกรรมไทยเป็นแนวทางการศึกษาไว้มากแล้ว

    [​IMG]

    ๑๑. ปรางค์ราย ตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกของวัดนอกกำแพงแก้ว มีจำนวน ๒ องค์ ซึ่งมีลักษณะเดียวกันแต่มีขนาดและทรวดทรงต่างกันเล็กน้อย ส่วนฐานอยู่ในแผนผังสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้ ๑๒ ประกอบด้วยฐานเรียงซ้อนกัน ๒ ชั้น ต่อด้วยฐานบัวลูกแก้วอกไก่ ถัดขึ้นไปเป็นฐานหน้ากระดาน ๘ เหลี่ยม ๑ ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นฐานสิงห์ ซ้อนกัน ๓ ชั้น ในแผนผังสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้ ๒๐ รองรับเรือนธาตุ มีซุ้มจระนำยื่นออกมาจากเรือนธาตุเท่ากันทั้ง ๔ ด้าน ส่วนยอดเป็นชั้นกลีบขนุนซ้อนกันหลายชั้น ซึ่งชั้นบนๆ หักพังลง กลีบขนุนปั้นแนบชิดกับองค์ไม่มีซุ้มบันแถลงที่ชั้นรัดประคด องค์ปรางค์มีลวดลายปูนปั้นประดับตามชั้นต่างๆ ลักษณะของปรางค์ที่มีซุ้มบันแถลงประจำชั้นรัดประคดยังคงปรากฏที่ปรางค์มุมวัดไชยวัฒนาราม (ซึ่งน่าจะเป็นปรางค์ที่มีลักษณะตามสมัยนิยมเวลานั้น พ.ศ. ๒๑๗๓) แต่ลักษณะคลี่คลายไปจากซุ้มบันแถลงสมัยอยุธยาตอนต้นมากแล้ว ต่อมาที่ปรางค์วัดบรมพุทธาราม (สร้าง พ.ศ. ๒๒๓๓) ซึ่งมีลักษณะเดียวกันกับปรางค์วัดโลกยสุธาไม่ทำซุ้มบันแถลง จึงเชื่อว่าปรางค์วัดโลกยสุธาน่าจะสร้างหลังจากปรางค์วัดไชยวัฒนา แต่คงไมก่อนปรางค์วัดบรมพุทธาราม เนื่องจากลักษณะแข้งสิงห์ของปรางค์วัดโลกยสุธายังมีลักษณะใกล้เคียงกับแข้งสิงห์ที่วัดไชยวัฒนารามมาก แต่แข้งสิงห์ของปรางค์วัดบรมพุทธาวาสมีบัวหลังสิงห์ซึ่งเป็นงานชั้นหลัง ดังนั้นปรางค์วัดโลกยสุธาจึงน่าจะเป็นงานก่อสร้างในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งลวดลายปูนปั้นประดับองค์ปรางค์ก็แสดงการสืบทอดและเกี่ยวข้องกับลวดลายที่วัดไชยวัฒนารามมากพอสมควร

    ๑๒. หอระฆัง ตั้งอยู่ทางด้านใต้ของวิหารพระพุทธไสยาสน์นอกกำแพงแก้ว ลักษณะของหอระฆังเป็นอาคารทรงบุษบกหรือมณฑปขนาดเล็ก ส่วนฐานเป็นฐานสิงห์ซ้อนกัน ๓ ชั้น ส่วนกลางคือเรือนธาตุเจาะประตูทรงกลีบบัวทั้ง ๔ ด้าน ส่วนยอดเป็นรูปเจดีย์สี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ลักษณะของฐานสิงห์ที่หอระฆังเป็นแบบเดียวกับฐานสิงห์ที่ปรางค์รายด้านหน้าวัดเดียวกัน จึงเชื่อว่าเป็นงานก่อสร้างพร้อมกันในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์

    การกำหนดอายุสมัยวัดโลกยสุธา
    วัดโลกยสุธาคงจะเป็นวัดเดียวกับวัดโลกสุธา และวัดสุทธาวาส น่าจะสร้างมาแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น ในการก่อสร้างครั้งแรก สร้างปรางค์เป็นประธานของวัดมีวิหารหลวงตั้งอยู่ทางด้านหน้า อุโบสถอยู่ทางด้านหลังในแกนเดียวกัน โดยมีกำแพงล้อมรอบปรางค์ประธานและอุโบสถไว้ภายใน ที่มุมภายในกำแพงมีเจดีย์ ๘ เหลี่ยม มุมละองค์ วิหารรายขนาบข้างเหนือ – ใต้ของวิหารหลวง ด้านท้ายวัดมีวิหารพระพุทธไสยาสน์ ทั้งหมดล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วและกำแพงชั้นนอก และที่มุมในกำแพงชั้นนอกน่าจะมีเจดีย์เรือนธาตุ ๘ เหลี่ยม ซ้อนชั้นมุมละองค์ การปฏิสังขรณ์วัดโลกยสุธาครั้งสำคัญที่สุดเกิดขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ สิ่งก่อสร้างเดิมทุกหลังมีร่องรอยการปฏิสังขรณ์พร้อมกับมีการก่อสร้างสิ่งต่างๆ เพิ่มเติม คือ ปรางค์รายระเบียงคด และหอระฆัง เป็นต้น
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • IMG_9282_1a.JPG
      IMG_9282_1a.JPG
      ขนาดไฟล์:
      398.9 KB
      เปิดดู:
      1,120
    • IMG_9277_1a.JPG
      IMG_9277_1a.JPG
      ขนาดไฟล์:
      464.7 KB
      เปิดดู:
      1,629
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 31 กรกฎาคม 2013
  4. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    [​IMG]


    พวกเราออกจากวัดโลกยสุทธาราม....ก็ขับรถมั่วเหมือนเดิม ไปๆ มาๆ มาออกตรงถนนฝั่งตรงข้ามวังหลวง แล้วก็มาออกข้างๆ วัดตึกอีกครั้ง ตอนที่ขับมาถึงวัดตึกก็นึกว่าเป็นทางข้างๆ วัด แต่พอไปๆ มาๆ อ้าวเจดีย์ศรีสุริโยทัยอยู่ข้างหน้าอีกแล้ว นี่อยู่บนถนนอู่ทองตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่รู้เลย ก็ต้องหาทางกลับรถย้อนทางเดิมเพราะว่าจะไปดูที่เขาว่าเป็น UNSEEN ที่เป็นเศียรพระพุทธรูปอยู่ในรากต้นไม้แต่ว่าวัดอะไรจำไม่ได้ รู้แต่เพียงว่าอยู่แถวบึงพระราม ระหว่างขับรถไปใกล้จะถึงทางเข้าวัดศาลาปูน เห็นมีร้านขายอาหารเจอยู่ก็เลยจอดซื้อเป็นก๋วยเตี๋ยวเจแห้งใส่ถุง ซื้อเสร็จก็มุ่งหน้าหาวัดดังกล่าว ระหว่างทางก็ผ่านทางไปวัดหน้าพระเมรุ แต่พวกเราไม่ได้แวะ แล้วก็ผ่านวัดธรรมิกราชวัดนี้ไม่เคยเข้า มองเข้าไปเห็นคนเยอะ พวกเราก็ไม่ได้แวะ พอจะจำได้เลาๆ ว่าน่าจะเป็นวัดราชบูรณะที่มีเศียรพระอยู่ในรากไม้ พอเห็นป้ายชี้ว่าวัดราชบูรณะ ก็เลยแวะเข้าไปเสียค่าเข้า ๑๐ บาทต่อคน มีเจ้าหน้าที่นั่งอยู่หน้าวัด ถามเจ้าหน้าที่ว่าตอนน้ำท่วมสูงขนาดไหน ได้รับคำตอบว่า มิดหัวค่ะ แต่ก็ดีหน่อยที่วัดนี้ไม่ได้ถูกห้ามเข้า แต่ก็อยู่ระหว่างปรับปรุงและบูรณะเหมือนกัน โดยเฉพาะพระปรางค์ประธาน มีเชือกขึงห้ามขึ้นไป แต่บริเวณอื่นๆ ในวัดเข้าได้
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • IMG_9354_1a.jpg
      IMG_9354_1a.jpg
      ขนาดไฟล์:
      376.4 KB
      เปิดดู:
      1,069
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 31 กรกฎาคม 2013
  5. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    [​IMG]


    วัดราชบูรณะ

    ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของวัดมหาธาตุ มีฐานะเป็นพระอารามหลวงในสมัยอยุธยา ภายในวัดประกอบด้วยองค์ปรางค์ประธาน ซึ่งล้อมรอบด้วย ระเบียงคด มีพระวิหารตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก ส่วนพระอุโบสถตั้งอยู่ทางด้านหลังของวัดทางทิศตะวันตกในแนวประธานเดียวกัน

    วัดราชบูรณะปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารว่า สร้างขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ หรือ เจ้าสามพระยา ในปี พ.ศ. ๑๙๖๗ คือภายหลังจากสมเด็จพระนครินทราธิราชาสวรรคต พระราชโอรสองค์ใหญ่สองพระองค์ คือเจ้าอ้ายพระยาทรงครองเมืองสุพรรณบุรี และเจ้ายี่พระยาทรงครองเมืองสรรค์บุรี สองพระองค์เสด็จลงมาชิงพระราชสมบัติกันเอง ต่างทรงช้างเคลื่อนผลมาปะทะกัน ทรงพระแสงของ้าวต้องพระศอขาดพร้อมกัน เจ้าสามพระยาทรงเป็นโอรสองค์ที่สามเสด็จลงมาจากชัยนาทมาถึงภายหลังจึงได้เสวยราชสมบัติทรงพระนามว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒
    เมื่อเจ้าสามพระยาทรงขึ้นครองราชย์แล้ว จึงจัดการถวายเพลิงพระศพพระเชษฐาธิราชทั้งสองพระองค์พร้อมกัน สถานที่ที่ถวายพระเพลิงนั้นก็ทรงอุทิศสร้างพระปรางค์และพระวิหารมีนามว่า เจดีย์เจ้าอ้ายพระยาเจ้ายี่พระยา

    สิ่งที่น่าสนใจ
    ปรางค์ประธานมีขนาดสูงใหญ่ ก่อด้วยศิลาแลงบนฐานสี่เหลี่ยมซึ่งมีเจดีย์อยู่ทั้งสี่ทิศมีบันไดขึ้นสู่องค์ปรางค์ทางทิศตะวันออกถือเป็นปรางค์แบบไทยที่นิยมทำฐานสูงต่างจากปรางค์แบบขอมที่มักมีฐานเตี้ย นอกจากนี้หน้าปรางค์เป็นมุขใหญ่ยืนออกมาเป็นห้องคูหา ส่วนยอดเรียวแหลมสูงคล้ายฝักข้าวโพดยอดมีฝักเพกาในขณะที่ขอมไม่มี


    [​IMG]

    กรุมหาสมบัติ จะมี ๒ ตอน คือตอนที่เป็นเรือนธาตุ และตอนกลางองค์พระปรางค์

    กรุชั้นบนสูงจากระดับพื้นดินประมาณ ๕ เมตร มีลักษณะเป็นกรุสี่เหสี่ยมจัตุรัสขนาดกว้างด้านละ ๔ เมตร มีภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยาตอนต้น มีภาพเทพชุมนุมลอยอยู่ บางองค์มีดอกไม้เป็นก้านชูออกไปข้างหน้า ลวดลายเครื่องประดับต่างๆมีลักษณะแบบศิลปะสุโขทัยและมีรูปกษัตริย์หรือนักรบจีนองค์หนึ่งสวมชุดเขียวองค์หนึ่งสวมชุดขาวและอีกองค์สวมชุดแดง ภาพแสดงเป็นเรื่องราว

    กรุชั้นล่างอยู่สูงจากพื้นดินประมาณ ๒.๒๐ เมตร มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างด้านละ ๑.๒๐ เมตร สูง ๒.๖๕ เมตร ฝาผนังกรุชั้นล่างเจาะลึกเข้าไปเป็นช่องคูหาทั้ง ๔ ด้าน เพดานเขียนลายดาวตรงกลางล้อมรอบด้วยลายและเขียนกรอบด้วยเส้นลวดเขียนเป็นลายเส้นดอกไม้สีแดงปิดทองเป็นวงกลมๆ ผนังเหนือซุ้มคูหาแบ่งเป็น ๔ ชั้น ชั้นบนเขียนรูปพระพุทธรูปสลับกับสาวก ผนังซุ้มคูหาสันนิษฐานว่าเขียนภาพชาดกในพระพุทธศาสนานับได้ ๖๐ ชาติ มีภาพพระโพธิสัตว์ในชาดกต่างๆ นั้น มีภาพที่พอเห็นชัดคือภาพโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็น นก กวาง ช้าง กาเผือก คนขี่ม้า นกเขา สุนัข และหงส์นอกนั้นเลือนราง ภายในห้องกรุชั้นนี้เคยเป็นสถานที่เก็บสมบัติและของมีค่าไว้มากมาย อาทิ เช่น พระแสงขันธ์ มงกุฎ และมงกุฏราชินี เสื้อทองคำ และพระพุทธรูปต่างๆ พระแก้ว พระทองคำ พระนาก เป็นต้น

    ในปี พ.ศ.๒๔๙๙ ขณะที่กรมศิลปากรดำเนินการขุดแต่งภายในวัดมหาธาตุ คนร้ายได้ลักลอบขุดกรุในองค์ปรางค์ประธานวัดราชบูรณะได้ของมีค่าจำนวนมาก กรมศิลปากรจึงดำเนินการขุดกรุในองค์ปรางค์ประธานอีกครั้ง พบเครื่องราชูโภคซึ่งทำด้วยทองคำ พระพิมพ์ส่วนหนึ่งนั้น กรมศิลปากรได้เปิดให้ประชาชนเช่าไปบูชา เพื่อนำเงินส่วนหนึ่งมาสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยาและนำสิ่งของที่ได้จากกรุมาเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • IMG_9291_1a.JPG
      IMG_9291_1a.JPG
      ขนาดไฟล์:
      470.4 KB
      เปิดดู:
      1,146
    • IMG_9307_1a.jpg
      IMG_9307_1a.jpg
      ขนาดไฟล์:
      468.5 KB
      เปิดดู:
      1,127
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 31 กรกฎาคม 2013
  6. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    [​IMG]


    พระปรางค์วัดราชบูรณะมีกรุใหญ่และลึก กรมศิลปากรทำการขุดเรียบร้อยแล้ว เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๐ ในปัจจุบันเปิดให้เข้าไปชมกรุได้ตามปกติ กรุพระปรางค์วัดราชบูรณะมีทั้งหมด ๔ ห้องใหญ่ๆ เรียงกันลงไปแนวดิ่งโดยชั้นล่างสุดอยู่ในแนวระดับพื้นดิน ดังนี้

    กรุชั้นที่ ๑
    เป็นชั้นที่อยู่บนสุด เดิมมีผนังก่อปิดภาพทั้งหมด (ภาพคนจีน เทพชุมนุม ฯลฯ) หลังผนังทำเป็นช่องเล็กๆ ใส่พระพิมพ์และพระพุทธรูปไว้จนเต็ม และในนั้น คนร้ายพบพระพุทธรูปทองคำขนาดหน้าตัก ๑ ศอกอยู่ ๓-๔ องค์

    กรุชั้นที่ ๒
    เป็นชั้นกลาง มีถาดทองคำ ๓ ใบเต็มไปด้วยเครื่องทอง กรมศิลปากรได้รื้อพื้นออก จึงทำให้กรุห้องที่ ๒ และ ๓ เชื่อมกัน มีจิตรกรรมเป็นภาพอดีตชาติพระพุทธเจ้าวาดอยู่ในช่องสี่เหลี่ยมและรอบๆ มีโต๊ะสำริดเล็กๆ ตั้งอยู่ทุกซุ้มเว้นด้านใต้ใช้วางเครื่องทองและผ้าทองที่ขโมยให้การว่าแค่แตะก็ป่นเป็นผงแล้ว

    กรุชั้นที่ ๓
    เป็นห้องที่อยู่ในสุด เป็นห้องที่สำคัญที่สุดบรรจุพระบรมธาตุซึ่งเก็บรักษาอย่างดีในเจดีย์ทองคำและรอบๆ ยังเต็มไปด้วยพระพุทธรูปต่างๆ

    กรุแตก
    การค้นพบกรุเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๙ เป็นข่าวโด่งดังไปทั่วประเทศ ปีถัดมาทำให้มีขโมยกลุ่มใหญ่ลักลอบมาขุดกรุวัดราชบูรณะ พบเครื่องทองและอัญมณีจำนวนมหาศาล แต่ทว่าฝนตกหนักและรับเร่งกลุ่มขโมยจึงขนของไปไม่หมด เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้เวลาไม่กี่วันก็จับและยึดของกลางได้บางส่วน
    หลังจากนั้นกรมศิลปากรได้เข้ามาขุดปรากฏว่าพบสิ่งของกว่า ๒๐๐๐๐ รายการ พระพิมพ์กว่าแสนองค์ ทองคำกว่า ๑๐๐ กิโลกรัม ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา


    [​IMG]

    เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๘ มีเหตุการณ์ได้มาโด่งดังขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากมีข่าวว่าพบพระมาลาทองคำอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งยังเป็นที่ถกเถียงว่าเป็นของโบราณจริงหรือไม่และหากจริงจะเป็นของกรุวัดราชบูรณะหรือไม่
    ข่าวการพบพระมาลาทองคำโบราณของพระมหากษัตริย์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาที่อาจถูกโจรกรรมไปจากวัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แล้วถูกนำไปแสดงในพิพิธภัณฑ์อาเซียนอาร์ตมิวเซียม นครซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ก่อให้เกิดกระแสการหวงแหนโบราณวัตถุของชาติขึ้นมาบนผืนแผ่นดินไทยอีกครั้ง

    แน่นอนว่าสิ่งที่หลายคนคงอยากรู้ก็คือเรื่องราวของพระมาลาที่เกี่ยวพันกับวัดราชบูรณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์เมื่อคราวที่กรุแตกและมีการขนสมบัติออกไปเป็นจำนวนมาก โดยที่จำนวนไม่น้อยถูกส่งออกไปขายยังต่างประเทศ

    ทั้งนี้เนื่องเพราะในบรรดากรุมหาสมบัติโบราณล้ำค่าของไทยนั้น กรุวัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา คือแหล่งที่มีทรัพย์สินอยู่มากที่สุดแหล่งหนึ่งของประเทศเลยก็ว่าได้
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • IMG_9292_1a.jpg
      IMG_9292_1a.jpg
      ขนาดไฟล์:
      472.1 KB
      เปิดดู:
      3,043
    • IMG_9303_1a.jpg
      IMG_9303_1a.jpg
      ขนาดไฟล์:
      335.3 KB
      เปิดดู:
      1,434
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 31 กรกฎาคม 2013
  7. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    [​IMG]


    ย้อนรอยวันกรุแตก

    ในราวปี พ.ศ.๒๔๙๙ ขณะที่กรมศิลปากรกำลังบูรณะวัดราชบูรณะก็ปรากฏว่ามีคนร้ายลักลอบเข้าไปขุดกรุ ต่อมามีการรวบรวมของมีค่าในกรุวัดราชบูรณะทำบัญชีไว้เฉพาะที่ทำด้วยทอง เงิน นาก เพชรนิลจินดา ๒,๑๒๑ ชิ้น ชั่งน้ำหนักได้ ๑๐,๙๑๙.๕ กรัม ส่วนพระพุทธรูปสำริด พระพิมพ์เนื้อชิน เครื่องสังคโลก เครื่องเคลือบดินเผา มีมากจำนวนนับไม่ถ้วน จากนั้นได้มีการติดตามเอาเครื่องราชูปโภคทองคำที่คนร้ายขโมยไปได้คืนมา รวมแล้วเฉพาะทองคำน้ำหนักไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ กิโลกรัม พลอยหัวแหวน ทับทิม หนัก ๑,๘๐๐ กรัม แก้วผลึกชนิดต่างๆ ๑,๐๕๐ กรัม ลูกปัดเงินกับทับทิมปนกัน หนัก ๒๕๐ กรัม ส่วนพระพุทธรูปทองคำขนาดใหญ่มีอยู่หลายสิบองค์ พระปั้นทองและเงินสองกระสอบข้าว

    นายลิ เกษมสังข์ อายุ ๗๘ ปี(ขณะนี้อายุเท่าไหร่แล้วไม่รู้) หนึ่งในทีมขุดกรุโบราณสถานวัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เมื่อปี ๒๔๙๙ ได้ร่วมกับเพื่อนๆ อีก ๒๐ คน เข้าไปที่บริเวณโบราณสถานวัดราชบูรณะ ซึ่งขณะนั้นมีสภาพเป็นป่ารกชัฏมากขาดการดูแล ช่วงนั้นเป็นช่วงที่กรมศิลปากรเริ่มบูรณะ ตนกับเพื่อนๆ ช่วงนั้นต้องการพระเครื่องเก่าจึงตัดสินใจเข้าไปขุดกรุที่พระปรางค์ประธานองค์ใหญ่ของวัดโดยเริ่มกันตั้งแต่เวลา ๒๐.๐๐ น.วันที่ ๒๗ ตุลาคม ปีเดียวกันนั้น บรรยากาศตอนนั้น จู่ๆ ก็มีลมฝนกระหน่ำอย่างแรงแบบไม่มีเค้า น้ำที่พื้นด้านล่างสูงเกือบถึงหน้าแข้ง เมื่อขึ้นไปถึงชั้นบนของพระปรางค์ก็ใช้ชะแลงงัดเข้าไปและเพื่อนๆ พากันลงไปด้านล่างตรงกลางองค์พระปรางค์ แต่เพื่อนที่ลงไปบอกไม่พบอะไร แต่เมื่อผมลงไปก็มีความรู้สึกว่าแผ่นหินที่เหยียบอยู่นั้นเหมือนเป็นแผ่นศิลาที่ปิดเอาไว้เฉยๆ จึงได้ช่วยกันยกออก ทุกคนก็ต้องตกตะลึงเพราะเมื่อมองลงไปด้านล่างพบว่ามีสิ่งของภาชนะ พระพุทธรูป เครื่องอาภรณ์สีเหลืองอร่ามมากมายรวมทั้งยังมีพระแสงดาบและมงกุฎ

    "เมื่อทุกคนเห็นถึงกับตกใจ เนื่องจากรู้ว่าต้องเป็นของกษัตริย์แน่นอน ผมจึงหยิบเพียงเครื่องทองเล็กๆ น้อยๆ ส่วนเพื่อนๆ แบ่งกันไปจนหมด โดยใช้ถุงแป้งใส่แล้วใช้เชือกโยงขึ้นไปใช้เวลาเกือบ ๓ วัน จึงนำสิ่งของออกมาจนหมด ส่วนพระแสงดาบนั้นไม่มีใครเอาไป ทิ้งไว้ที่ต้นไม้และต่อมาก็ไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา"

    นายลิ เปิดเผยอีกว่า ส่วนที่ขนไปได้นั้นบางส่วนถูกนำกลับมาได้หลังจากที่เพื่อนๆ รวม ๘ คน ถูกจับกุมในเวลาต่อมา ส่วนที่เหลือนั้นก็ใช้ชีวิตอยู่อย่างยากลำบากเช่นเดียวกับตน เงินทองที่ได้มาจากการขายสมบัติเหล่านั้น ก็ต้องใช้กับการหลบหนี ในที่สุดเพื่อนๆ ที่เคยร่วมทีมกับตนก็เสียชีวิตไปหมดแล้ว เหลืออยู่อีกคนชื่อวิ ที่ยังนอนรักษาตัวเจาะคอเพราะพูดไม่ได้

    ส่วนตนก็ไปขอขมาและพยายามทำบุญ อุทิศส่วนกุศลให้ เพราะหลังจากขุดเอาของเก่ามาแล้วชีวิตก็ไม่ได้มีความสุขต้องเข้าเรือนจำด้วยเรื่องต่างๆ ๗ ครั้ง ครอบครัวก็ไม่มีความสุข เชื่อว่าเป็นผลมาจากการที่ก้าวล่วงนำของกษัตริย์ไป

    สำหรับตัวพระมาลาทองคำที่จัดแสดงอยู่ในอาเซียนอาร์ต มิวเซียม ซานฟรานซิสโกนั้น ศรีศักร วัลลิโภดม นักโบราณคดี บอกว่า ถ้ามองแง่ศิลปะร่วมสมัยกับของที่พบที่กรุวัดราชบูรณะเป็นของรุ่นเดียวกัน ยกเว้นแต่เป็นของปลอม แต่ถ้าปลอมก็ทำได้แนบเนียน ซึ่งถ้าเป็นของจริงจะมีความสำคัญมาก

    ที่จริงแล้ว ของอันนี้อยู่ในกรุวัดราชบูรณะคือสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) สร้างถวายในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระนครินทราชาธิราช พระบิดา พระมาลานี้จึงเป็นของสมเด็จพระนครินทราชาธิราช ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ที่สำคัญองค์หนึ่งแต่ประวัติศาสตร์จะให้ความสำคัญน้อยอาจารย์ศรีศักรอธิบาย


    [​IMG]

    ด้าน น.ส.สุบงกช ธงทองทิพย์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า พระมาลาทองคำที่จัดแสดงอยู่ที่สหรัฐฯ ขณะนี้เป็นชุดเดียวกับที่ถูกลักลอบขุดไปจากกรุวัดราชบูรณะอย่างแน่นอน โดยดูจากลักษณะลวดลาย แม้ว่าจะมีความแตกต่างของลักษณะรูปแบบ เนื่องจากการใช้สอย

    ทั้งนี้ การโจรกรรมหรือลักลอบขุดนั้นเกิดขึ้นในช่วงปี ๒๔๙๙ ซึ่งเป็นช่วงที่กรมศิลปากรเตรียมการบูรณะวัดและโบราณสถานอื่นๆ ซึ่งพระปรางค์ประธานที่ถูกขุดนั้น มีความเชื่อตามหลักฐานว่าเป็นการสร้างของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ ที่สร้างถวายเจ้าอ้าย เจ้ายี่

    หลักฐานฉบับหลวงประเสริฐ ระบุว่าเป็นการสร้างถวายสมเด็จพระนครินทรา พระมหากษัตริย์ที่มีชื่อเสียงในสุพรรณภูมิ ซึ่งทรงครองราชย์อยู่ในราว พ.ศ.๑๙๕๒ - ๑๙๖๗ ซึ่งพระองค์เป็นกษัตริย์รัชกาลที่ ๖ ของกรุงศรีอยุธยา และเป็นกษัตริย์ที่มีการค้าขายกับประเทศจีน จนประเทศจีนมีบันทึกพงศาวดารกล่าวถึงความรุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยาในช่วงดังกล่าวไว้ด้วย จึงเชื่อว่าเป็นของสมเด็จพระนครินทรา ซึ่งสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ ทรงสร้างพระปรางค์นี้ถวายหลัง พ.ศ.๑๙๖๗

    โดยหลังการสวรรคตก็นำเครื่องราชูปโภค พระแสงดาบ เครื่องมหรรฆภัณฑ์ซึ่งเป็นทรัพย์สมบัติของพระราชวงศ์ชั้นสูง บรรจุเอาไว้จนมีการมาขุดค้นขโมยไป และติดตามคืนมาได้เพียง ๒๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งตนก็เห็นว่ามงกุฎกษัตริย์และเครื่องราชูปโภคอีกหลายรายการที่อยู่ที่พิพิธภัณฑ์เอกชนในต่างประเทศก็สมควรที่จะทวงกลับมายัง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คิดว่ารัฐบาลคงดำเนินการทวงกลับมาได้ หากได้ทุกชิ้นกลับมาคืนยังพิพิธภัณฑ์ก็จะทำให้เห็นภาพของราชวงศ์กษัตริย์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยามากขึ้น
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • IMG_9314_1a.jpg
      IMG_9314_1a.jpg
      ขนาดไฟล์:
      381.5 KB
      เปิดดู:
      1,126
    • IMG_9324_1a.jpg
      IMG_9324_1a.jpg
      ขนาดไฟล์:
      361.7 KB
      เปิดดู:
      2,761
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 31 กรกฎาคม 2013
  8. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    [​IMG]


    ... เดินหาUNSEEN ทั่ววัดก็ไม่เจอ สงสัยมาผิดวัดแล้ว ระหว่างเดินเห็นผู้หญิงเดินพูดโทรศัพท์อยู่คนเดียว แล้วหันโทรศัพท์ไปรอบๆ บริเวณ อ้อ เขาแทงโก้กับเพื่อนอยู่ ก็เลยลอง ๓จีบ้าง หาข้อมูลวัด UNSEEN ปรากฏว่าเป็นวัดมหาธาตุ แล้ววัดมหาธาตุอยู่ตรงไหนหล่ะ....

    พวกเราก็เลยเดินออกจากวัดราชบูรณะ ก่อนออกก็ถามเจ้าหน้าที่คนเดิมว่าวัดมหาธาตุอยู่ตรงไหน เขาบอกว่า ให้ยูเทิร์นรถกลับขับตรงไปหน่อยเดียวเห็นตึกสีน้ำตาลแล้วก็กลับรถก็ถึงวัดมหาธาตุ เจ้าหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใสดีอยากเจอเจ้าหน้าที่อย่างนี้บ่อยๆ จัง

    แล้วพวกเราก็มาถึงวัดมหาธาตุ วนหาที่จอดรถ หาไม่ได้เลย มีรถสามล้อจอดไปแล้วเศษหนึ่งส่วนสี่ของพื้นที่ได้ แล้วก็เป็นรถตู้ของทัวร์ส่วนมาก รถส่วนตัวเป็นส่วนน้อย ก็เลยขับออกมาจอดริมถนนใต้ต้นก้ามปูต้นใหญ่ ตอนนี้เป็นเวลาเที่ยงกว่า หาที่กินข้าวกลางวันของมื้อเช้าไม่ได้ เลยหอบเสื่อออกมาปูริมฟุตบาทพร้อมกับหิ้วถุงก๋วยเตี๋ยวเจมานั่งกินตรงนั้น ฝรั่งเดินผ่านมาก็มองๆ นะ ครั้งแรกเลยที่นั่งกินข้าวอย่างนี้อ่ะ...
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • IMG_9358_1a.jpg
      IMG_9358_1a.jpg
      ขนาดไฟล์:
      390.4 KB
      เปิดดู:
      1,114
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 31 กรกฎาคม 2013
  9. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    พอกินเสร็จเก็บเสื่อ ก็เข้าวัดกัน ที่นี่เสียค่าเข้า ๑๐ บาทต่อคน(สำหรับคนไทยนะ ชาวต่างชาติอีกราคานึง) แต่ก่อนอื่นต้องเข้าห้องน้ำทำธุระก่อนที่นี่ห้องน้ำหญิงมีห้องเดียวต่อคิวยาว ถ้าใครปวดหนักมีหวังเสร็จแน่...

    ในวัดมหาธาตุมีเจดีย์ทรงแปลกๆ อยู่หลายที่ เป็นวัดใหญ่ไม่แพ้วัดราชบูรณะที่อยู่กันอีกคนละฝั่งของถนน แล้วพวกเราก็มาถึงจุด UNSEEN เห็นเขาทำรั้วเตี้ยๆ ล้อมเศียรพระไว้มีเจ้าหน้าที่ผู้ชายนั่งยองๆ อยู่ด้านข้าง ส่วนด้านหน้าเห็นฝรั่งนั่งยองๆ ถ่ายรูปกับเศียรพระอยู่ เห็นเข้าก็เลย งง ว่าทำไมนั่งยองๆ ถ่ายรูปกันแต่คนที่ถ่ายรูปไม่ต้องนั่งก็ได้ คนที่ถูกถ่ายรูปต้องนั่งยองๆ ก็เลยเข้าไปใกล้ๆ อ่านป้ายได้ความว่า เพื่อเป็นการเคารพเศียรพระพุทธรูปไม่ให้ยืนถ่ายรูปคู่กับเศียรพระเพราะจะทำให้สูงกว่าเศียรพระ ระหว่างที่ถ่ายรูปเศียรพระอยู่นั้น ก็มีฝรั่งชายหญิงมาขอให้สร้อยฟ้าฯ ถ่ายรูปคู่ให้เขาหน่อย เกือบเปลี่ยนโหมดภาษาไม่ทัน แต่ก็ดีนะที่เขาเข้าใจคนไทยไม่พูดเร็วไม่งั้นฟังไม่ทันเหมือนกัน...


    [​IMG]

    ตอนนี้มีทัวร์ญี่ปุ่นกับทัวร์ฝรั่งสองทัวร์มาเจอกัน เมื่อก่อนดูฝรั่งแต่งตัวไม่สุภาพ แต่ตอนนี้กลายเป็นญี่ปุ่นเสียแล้วเจอใส่เสื้อกล้ามนุ่งกางเกงสั้นเต่อรัดรูป สงสัยอากาศเมืองไทยคงร้อน... ในขณะที่ฝรั่งนุ่งกางเกงแต่ไม่สั้นขนาดนั้น(ขนาดไหนนึกเองนะ) บางคนก็นุ่งกระโปรงยาว... ขอหยุดเรื่องนุ่งสั้นไว้แค่นี้ก่อนเดี๋ยวกู่ไม่กลับ มาเข้าเรื่องของวัดมหาธาตุต่อ
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • IMG_9366_1a.jpg
      IMG_9366_1a.jpg
      ขนาดไฟล์:
      430.8 KB
      เปิดดู:
      1,306
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 31 กรกฎาคม 2013
  10. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    [​IMG]


    วัดมหาธาตุ หมายถึงวัดอันเป็นที่สถิตของพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า
    ตั้งอยู่เชิงสะพานป่าถ่าน ทางทิศตะวันออกของวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ พงศาวดารบางฉบับ กล่าวว่าวัดนี้ สร้างในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ (ขุนหลวงพระงั่ว) พ.ศ.๑๙๑๗ แต่ยังไม่ทันแล้วเสร็จทรงเสด็จสวรรคตเสียก่อน และได้สร้างเพิ่มเติมจนเสร็จในสมัยสมเด็จพระราเมศวรเมื่อครั้งพระองค์ได้กลับมาครองราชสมบัติอีกครั้ง โดยได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระปรางค์ประธานและอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ใต้ฐานพระปรางค์ประธานของวัดมหาธาตุเมื่อปี พ.ศ.๑๙๒๗ ซึ่งเป็นจุดที่พระองค์เคยทอดพระเนตรเห็นพระบรมสารีริกธาตุเปล่งแสงสว่างและลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า พระปรางค์วัดมหาธาตุถือเป็นปรางค์ที่สร้างในระยะแรกของสมัยอยุธยาซึ่งได้รับอิทธิพลของปรางค์ขอมปนอยู่ ชั้นล่างก่อสร้างด้วยศิลาแลงแต่ที่เสริมใหม่ ตอนบนเป็นอิฐถือปูน สมเด็จพระเจ้าปราสาททองได้ทรงปฏิสังขรณ์พระปรางค์ใหม่โดยเสริมให้สูงกว่าเดิมแต่ขณะนี้ยอดพังลงมาเหลือเพียงชั้นมุขเท่านั้นจึงเป็นที่น่าเสียดายเพราะมีหลักฐานว่าเป็นปรางค์ที่มีขนาดใหญ่มากและก่อสร้างอย่างวิจิตรสวยงามมาก

    จารีตของการสร้างพระเจดีย์ขนาดใหญ่เอาไว้ในเมืองซึ่งถือสมมติว่าพระเจดีย์นั้นเป็นที่สถิตของพระบรมสารีริกธาตุ และวัดนั้นถือว่าเป็นวัดศักดิ์สิทธิ์มักจะมีชื่อว่า วัดมหาธาตุ หรือวัดพระศรีมหาธาตุ หรือวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ปรากฏโดยทั่วไปในทุกภูมิภาค จารีตดังกล่าวนี้จะเริ่มในสมัยใดนั้นไม่ทราบได้ แต่หากจะพิจารณาเฉพาะอาณาจักรอยุธยาจะเห็นได้ว่าธรรมเนียมดังกล่าวเริ่มตั้งแต่สมัยแรกๆ ทีเดียววัดมหาธาตุจึงเป็นวัดที่สำคัญที่สุดวัดหนึ่งของอาณาจักรในฐานะที่เป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า อีกทั้งหากจะพิจารณาดูสถานที่ตั้งก็จะเห็นว่าอยู่ใกล้ชิดกับพระบรมมหาราชวังเป็นอย่างยิ่ง
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • IMG_9363_1a.jpg
      IMG_9363_1a.jpg
      ขนาดไฟล์:
      560.7 KB
      เปิดดู:
      986
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 31 กรกฎาคม 2013
  11. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    [​IMG]

    ความสำคัญของวัดมหาธาตุนั้น นอกจากจะเป็นที่ประดิษฐานองค์พระบรมสารีริกธาตุแล้ว ยังถือเป็นวัดที่เป็นศูนย์กลางเมืองและเป็นสถานที่จัดพระราชพิธีต่างๆ ของกรุงศรีอยุธยาอีกด้วย โดยมีสมเด็จพระสังฆราชฝ่ายคามวาสีประทับอยู่ภายในวัด ส่วนพระสังฆราชฝ่ายอรัญวาสีนั้นประทับอยู่ที่วัดป่าแก้ว (วัดใหญ่ชัยมงคล) อีกทั้งยังมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ตามพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาคือได้เคยเป็นสถานที่ๆ พระศรีสิน (สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม) และจมื่นศรีเสาวรักษ์พร้อมคณะได้ซุ่มพลที่ปรางค์วัดมหาธาตุก่อนยกพลเข้าพระราชวังทางประตูมงคลสุนทร เพื่อจับกุมพระศรีเสาวภาคย์

    ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ยอดพระปรางค์องค์ใหญ่ได้ทลายลงบางส่วนและได้มีการบูรณะอีก ๒ ครั้งในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเมื่อปี พ.ศ.๒๑๗๖ และในสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ เมื่อปี พ.ศ.๒๒๗๕ - ๒๓๐๑

    เมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ ๒ ในปี พ.ศ.๒๓๑๐ นั้น วัดมหาธาตุได้ถูกเพลิงไหม้เสียหายเป็นอันมากจนถูกทิ้งร้างตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • IMG_9373_1a.jpg
      IMG_9373_1a.jpg
      ขนาดไฟล์:
      548.5 KB
      เปิดดู:
      1,132
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 31 กรกฎาคม 2013
  12. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    สิ่งที่น่าสนใจ

    [​IMG]

    ๑. พระปรางค์ประธานขนาดใหญ่ ซึ่งในปัจจุบันพังทลายลงมาหมดแล้ว แต่ราชทูตลังกาที่ได้เคยมาเยี่ยมชมวัดมหาธาตุในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศไว้ว่า ที่ฐานของพระปรางค์มีรูปราชสีห์ หมี หงส์ นกยูง กินนร โค สุนัขป่า กระบือ มังกร เรียงรายอยู่โดยรอบ รูปเหล่านี้อาจหมายถึงสัตว์ในป่าหิมพานต์ที่รายล้อมอยู่เชิงเขาพระสุเมรุซึ่งเป็นแกนกลางของจักรวาลเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ พระปรางค์ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมยกสูงโดยมีระเบียงคดล้อมรอบทั้งสี่ด้านเป็นปรางค์ในยุคแรกของสมัยอยุธยาซึ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะขอม โดยมีปรางค์บริวารประจำอยู่ทั้งสี่ทิศ กรมศิลปากรได้ทำการขุดแต่งบูรณะวัดมหาธาตุขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๙ โดยให้ความสำคัญที่ตรงกลางพื้นห้องคูหาเรือนธาตุของปรางค์ประธาน ทำให้ได้พบปล่องภายในเป็นกรุใต้ห้องเรือนธาตุของพระปรางค์ พบตลับทองรูปปลาภายในบรรจุสิงโตทองคำมีสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุอยู่ด้วย การค้นพบนี้ทำให้เรามีความรู้เกี่ยวกับการบูชาพระบรมสารีริกธาตุในสมัยอยุธยาเพิ่มมากขึ้น กล่าวคือ พระบรมสารีริกธาตุนั้นบรรจุอยู่ในผอบ ๗ ชั้น จากชั้นในสุดออกมาชั้นนอก ดังนี้ พระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งเป็นผลึกขนาดประมาณ ๑ ใน ๓ ของเมล็ดข้าวสารนั้นบรรจุในตลับทอง ชั้นที่ ๒ คือ สถูปแก้วผลึกซึ่งประดับด้วยทองอัญมณี ได้แก่ โกเมน มรกต และทับทิม ชั้นที่ ๓ เป็นสถูปไม้แดง ชั้นที่ ๔ เป็นสถูปไม้ดำ ชั้นที่ ๕ สถูปนาก ชั้นที่ ๖ สถูปเงิน ชั้นที่ ๗ สถูปชิน สถูปทั้ง ๗ ชั้นบรรจุในเสาหินสูง ๓.๒๐ เมตร ภายในกลวงมีฝาปิด เสาหินนี้อยู่ภายในช่องเป็นปล่องยาวจากตรงกลางห้องคูหาเรือนธาตุจนจรดระดับพื้นดิน ปัจจุบันเก็บรักษาและประดิษฐานอยู่ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา


    [​IMG]

    ๒. พระอุโบสถ ตั้งอยู่ด้านหลังปรางค์ประธาน ผนังก่ออิฐเหลืออยู่บางส่วน ภายในปรากฏเสาแปดเหลี่ยม ด้านหลังเป็นที่ตั้งของฐานชุกชี


    [​IMG]

    ๓. เจดีย์แปดเหลี่ยม เป็นเจดีย์ลดหลั่นกัน ๔ ชั้น ๘ เหลี่ยม ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้ยี่สิบ ชั้นบนสุดประดิษฐานปรางค์ขนาดเล็ก ผนังประดับด้วยปูนปั้นรูปเทวดา ซึ่งเจดีย์องค์นี้จัดว่าเป็นเจดีย์ที่แปลกตาพบเพียงองค์เดียวในพระนครศรีอยุธยา

    [​IMG]

    ๔. พระวิหารหลวง ตั้งอยู่ด้านหน้าของวัด บริเวณใต้ฐานชุกชีภายในพระวิหาร กรมศิลปากรพบว่ามีผู้ลักลอบขุดลงไปลึกถึง ๒ เมตร จึงดำเนิน การขุดต่อไปอีก ๒ เมตรได้ค้นพบภาชนะดินเผาขนาดเล็ก ๕ ใบ ภายในบรรจุแผ่นทองดุนลายรูปพระพุธรูปและรูปสัตว์ต่างๆ


    [​IMG]

    ๕.วิหารเล็ก วิหารเล็กแห่งนี้ มีรากไม้แผ่รากขึ้นเกาะเต็มผนัง รากไม้ส่วนหนึ่งได้ล้อมเศียรพระพุทธรูปไว้ ธรรมดากรมศิลปากรจะต้องตัดต้นไม้ออก แต่ที่นี่ดูจะว่าเป็นที่ยกเว้น เป็นจุดดึงดูดความสนใจจากนักท่องเที่ยวจุดหนึ่งของวัดมหาธาตุ

    ๖.พระปรางค์ขนาดกลางภายในพระปรางค์ มีภาพจิตรกรรมเรือนแก้วซึ่งเป็นตอนหนึ่งในพุทธประวัติ

    ๗. ตำหนักพระสังฆราช บริเวณพื้นที่ว่างทางด้านทิศตะวันตก เป็นสถานที่ที่เป็นที่ตั้งพระตำหนักพระสังฆราช ราชทูตลังกาได้บอกไวว่าเป็นตำหนักที่สลักลวดลายปิดทอง มีม่านปักทอง พื้นปูพรม มีขวดปักดอกไม้เรียงรายเป็นแถวเพดานแขวนอัจกลับ (โคม) มีบัลลังก์ ๒ แห่ง
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • IMG_9407_1a.jpg
      IMG_9407_1a.jpg
      ขนาดไฟล์:
      373 KB
      เปิดดู:
      1,120
    • SAM_2913aa.jpg
      SAM_2913aa.jpg
      ขนาดไฟล์:
      549.3 KB
      เปิดดู:
      1,334
    • SAM_2930ab.jpg
      SAM_2930ab.jpg
      ขนาดไฟล์:
      543 KB
      เปิดดู:
      2,406
    • SAM_2917ab.jpg
      SAM_2917ab.jpg
      ขนาดไฟล์:
      464.8 KB
      เปิดดู:
      2,181
    • IMG_9371_1a.jpg
      IMG_9371_1a.jpg
      ขนาดไฟล์:
      383.4 KB
      เปิดดู:
      3,658
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 31 กรกฎาคม 2013
  13. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    [​IMG]


    เดินออกจากวัดมหาธาตุได้ก็หิว(กระหาย)น้ำ แวะซื้อน้ำก่อน มีร้านผลไม้ขายด้วย ระหว่างซื้อของอยู่นั้นเห็นมีคนเดินเข้ามาข้างหลังทีแรกไม่สนใจนึกว่าจะมาซื้อของเหมือนกัน แต่ตามมาด้วยคำถามว่า Execute me. Can you help me? แป๋ว ภาษาอังกฤษมาอีกแล้ว ก็เลยหันมาไป Say Yes.... ได้ความว่าจะหา Bus station เอาแล้ว เราไม่ใช่คนแถวนี้ แล้ว Bus station อยู่ตรงไหนก็ไม่รู้ ก็เลยหันไปถามแม่ค้าว่า Bus station อยู่ตรงไหน แม่ค้า งง ว่า Bus station คืออะไร อ้อ ลืมแปลเป็นไทย ขอโทษที ทีแรกหวังให้แม่ค้าอธิบายให้ฝรั่งให้หน่อยเพราะเราก็ไม่ได้พูดอังกฤษเป็นกิจวัตร แต่แม่ค้าก็เป็นเหมือนกับเรา ไม่เป็นไรพูดเองก็ได้ เลยให้แม่ค้าอธิบายแล้วเป็นล่ามให้อีกที ขุดศัพท์ตอนเรียนประถมกับมัธยมมาใช้ อิ อิ... ยู โก สเตรงออน... ยู วิว ซีแทรฟฟิกไลท์ แอนด์เทิร์นไรท์ ฝรั่งก็พยักหน้าแล้วถามว่า ฮาว เมตร ก็เลยหันไปถามแม่ค้าบอกว่าไกลเท่าไหร่ ประมาณ ๑๐๐ เมตร ก็ตอบฝรั่งไปว่า วันฮันเดรต เมตรลืมเติมเอส... thank you..... you’re welcome จ้า.... นานๆ จะได้speakที ผิดถูกไม่รู้ สื่อสารเข้าใจก็คงใช้ได้....
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • SAM_2932aa.jpg
      SAM_2932aa.jpg
      ขนาดไฟล์:
      547.1 KB
      เปิดดู:
      966
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 31 กรกฎาคม 2013
  14. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    [​IMG]


    ตอนนี้บ่ายสองโมงกว่า เริ่มเพลียเพราะแดดเผากะว่าจะไปวัดสุดท้ายแล้วก็กลับบ้าน เอาแผนที่ออกมาดูก็เห็นวัดสุวรรณดารารามอยู่ใกล้ๆ กับป้อมเพชรก็ไม่เคยไป ลองไปกันสักหน่อย เมื่อถึงวัดสุวรรณดารารามราชวรวิหารเป็นวัดไม่ใหญ่มากและเป็นวัดที่สงบ คนน้อย(ไม่รู้ว่าวันอื่นคนเยอะหรือเปล่านะ แต่วันนี้คนน้อย) พอไปถึงจอดรถได้ก็ไปไหว้พระในพระอุโบสถก่อน วัดนี้ไม่เจอทัวร์ฝรั่งกับทัวร์ญี่ปุ่น แต่เจอทัวร์ครอบครัวของคนไทยครอบครัวใหญ่อยู่ในพระอุโบสถ ตอนนี้พระอุโบสถกำลังบูรณะภาพจิตรกรรมฝาผนังอยู่ เห็นจิตรกรน่าจะเป็นของกรมศิลปากรทำนั่งร้านกำลังเขียนภาพอยู่สามคน โบสถ์หลังนี้มีประตูหน้าโบสถ์อยู่ ๓ บาน ซึ่งเปิดหมดทั้งสามบาน บานทางด้านขวามือถูกนั่งร้านขวางอยู่จึงเข้าออกไม่ได้เหลือแต่บานกลางกับบานทางซ้ายมือ บานตรงกลางก็เข้าไม่ได้เพราะมีป้ายเขียนเป็นภาษาไทยวางไว้ตรงธรณีประตูว่าจุดธูปไหว้พระด้านนอกพระอุโบสถ ก็เข้าได้แค่บานซ้ายมือ แต่พวกเราเมื่อจุดธูปไหว้พระอยู่ข้างนอกเสร็จจึงจะเข้าไปไหว้พระด้านในโบสถ์ แต่ก็เข้าไม่ได้เพราะติดคณะครอบครัวที่มาด้วยกันคณะใหญ่เป็นสิบคนและมีเด็กซนอยู่ด้วยหนึ่งคน วิ่งเข้าวิ่งออกในโบสถ์ วิ่งข้ามป้ายตัวหนังสือประตูกลางโบสถ์ วิ่งเลาะลอดนั่งร้านแล้วออกมาทางประตูด้านขวาของโบสถ์ นี่ถ้าวิ่งไปชนนั่งร้านที่เขากำลังเขียนภาพอยู่จะทำยังไง สักพักก็วิ่งขึ้นไปบนแท่นกลางโบสถ์ของพระ ผู้ปกครองก็ได้แต่ร้องห้ามแต่เด็กก็ไม่ฟัง ปล่อยให้เด็กวิ่งอยู่อย่างนี้ พวกเราก็ยืนคอยอยู่ตรงประตูโบสถ์อยู่อย่างนั้นเป็นสิบสิบนาที เขาก็เห็นนะว่าพวกเราคอยอยู่ ก็ได้แต่ร้องบอกว่าถ่ายรูปเร็วๆ คนอื่นจะได้เข้าบ้าง กล้องหนึ่งก็แล้ว กล้องสองก็แล้ว กล้องสามก็แล้ว โทรศัพท์ถ่ายรูปก็แล้ว ไอแพดถ่ายรูปก็แล้ว เอ้า ให้เด็กซนมาถือกล้องถ่ายรูปให้อีก กล้องหนึ่งก็แล้ว กล้องสองก็แล้ว ไอแพดก็แล้ว อ่ะถ่ายกันให้พอใจก่อนแล้วกัน ไม่ต้องเกรงใจ (ใจเย็น ใจเย็นไว้ มาทำบุญ) สมัยนี้ได้แต่พูดห้ามแต่ไม่รู้จักการอบรมสั่งสอนบุตรหลาน ทำอะไรผู้ใหญ่ก็จะเป็นตัวอย่างแก่เด็ก ไม่อยากว่าเด็ก ต้องว่าที่ผู้อบรมว่าไม่สั่งสอนให้ดี โตขึ้นต่อไปก็ไม่รู้จักคำว่าเกรงใจคนอื่นอย่างที่ผู้ใหญ่ทำเป็นตัวอย่าง.... พอคณะครอบครัวออกจากโบสถ์ พวกเราถึงได้เข้า ทุกอย่างกลับคืนสู่ความสงบ ไหว้พระประธานในโบสถ์เสร็จ ก็ถ่ายรูปองค์พระ ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ระหว่างนั้นก็สังเกตช่างเขียนภาพไม่เห็นเขาคุยกันเลย ได้ยินแต่เสียงพู่กันกวาดสีกับผนังอยู่ ไม่รู้ว่าใจของเขาจะรำคาญไหมแต่คิดว่าไม่เพราะว่าที่รู้ๆ มา ช่างเขียนภาพจิตรกรรมไทยโบราณมีสมาธิและใจเย็น....
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • IMG_9413_1a.jpg
      IMG_9413_1a.jpg
      ขนาดไฟล์:
      371.2 KB
      เปิดดู:
      929
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 31 กรกฎาคม 2013
  15. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    [​IMG]


    ออกจากพระอุโบสถก็จะไปไหว้พระที่พระวิหารข้างๆ แต่เมื่อเดินไปถึงก็ต้องชะงักเพราะเจอกับคณะครอบครัวก่อนหน้านี้ แต่ด้านหลังวิหารมีพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ถ้าเช่นนั้นไปทำทักษิณาวัตรไหว้พระบรมสารีริกธาตุก่อนดีกว่า เมื่อระหว่างไหว้พระบรมสารีริกธาตุ เหลือบไปเห็นเด็กๆ วัยรุ่นพากันมาไหว้พระกำลังเดินออกจากโบสถ์และมานั่งอยู่ที่เก้าอี้ใต้ต้นไม้ นั่งคุยกันเงียบๆ มีมารยาท ไม่เอะอะ เสียงดัง พอไหว้พระบรมสารีริกธาตุเสร็จก็เดินลงมาจากบนเจดีย์ เห็นคณะครอบครัวมานั่งอยู่ตรงเก้าอี้ใต้ต้นไม้เหมือนกันพร้อมกับเสียงเอะอะเหมือนเดิม ไม่อยากนำมาใส่ใจให้ขุ่นมัว ไหว้พระในพระวิหารดีกว่า ส่วนประวัติของวัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร อ่านได้ตามนี้เลย
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • IMG_9443_1a.jpg
      IMG_9443_1a.jpg
      ขนาดไฟล์:
      294.2 KB
      เปิดดู:
      850
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 31 กรกฎาคม 2013
  16. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    [​IMG]


    วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร
    พระอารามหลวง ชั้นเอก ชนิดวรวิหาร อยู่ในเขตพระนครด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะเมือง เป็นวัดที่เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจมาดูภาพจิตรกรรมที่ฝาผนังใน

    ประวัติวัดสุวรรณดาราราม ตั้งอยู่ภายในกำแพงกรุงศรีอยุธยาทางทิศใต้ใกล้ป้อมเพชร ตำบลหอรัตไชย อำเภอพระนครศรีอยุธยา สมเด็จพระบรมราชชนกของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้สร้าง “วัดทอง” ขึ้นใกล้กับบริเวณนิวาสถานเดิม

    ต่อมาเมื่อ พ.ศ.๒๓๑๐ พม่าได้ยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาแตก วัดทองก็ถูกพม่าทำลายกลายเป็นวัดร้างมานานถึง ๑๘ ปี ครั้นใน พ.ศ.๒๓๒๕ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปราบดาภิเษกและสร้างกรุงเทพมหานครเป็นราชธานีแล้ว ต่อมาใน พ.ศ.๒๓๒๘ ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดทองที่ถูกทิ้งร้างมาตั้งแต่กรุงแตกใหม่ทั้งอาราม ในการปฏิสังขรณ์และการก่อสร้างครั้งนี้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พระอนุชาได้ทรงร่วมปฏิสังขรณ์และก่อสร้างพระอุโบสถ พระเจดีย์ และหมู่กุฏิทั้งหมดด้วย เมื่อการบูรณปฏิสังขรณ์แล้วเสร็จ พระองค์ได้พระราชทานนามใหม่ตามพระนามของสมเด็จพระบรมราชชนก(ทองดี) และพระราชชนนี (ดาวเรือง) ว่า “วัดสุวรรณดาราราม”

    เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จสวรรคต พระมหากษัตริย์รัชกาลต่อมาแห่งราชวงศ์จักรี ได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดนี้ต่อมาเป็นลำดับ มีการก่อสร้างพระวิหารเจดีย์ กำแพงแก้ว และปูชนียสถานอื่นๆ ภายในพระอารามแห่งนี้ นับได้ว่าวัดสุวรรณดาราเป็นพระอารามแห่งราชวงศ์จักรีโดยแท้ และเป็นวัดที่สวยงามมีสง่าน่าชมยิ่งนัก
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • IMG_9418_1a.jpg
      IMG_9418_1a.jpg
      ขนาดไฟล์:
      354.5 KB
      เปิดดู:
      1,023
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 31 กรกฎาคม 2013
  17. tips2513

    tips2513 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 มิถุนายน 2009
    โพสต์:
    127
    ค่าพลัง:
    +185
    รูปสวยแจ่มชัดมากค่ะ ชอบเข้าวัด ชมโบราณสถาน อิ่มเอมใจ ขอบคุณมากค่ะ
     
  18. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837

    ขอบคุณสำหรับคำติชมจ้า.....

    อยุธยา มีโบราณสถานเยอะมาก เห็นแล้วก็เสียดายถ้าไม่พังทลายยังคงสภาพเหมือนแต่ก่อนคงจะอลังการมาก.....
     
  19. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    จุดน่าสนใจ

    [​IMG]

    พระอุโบสถที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ สิ่งที่สวยงามสะดุดตาก็คือ หลังคาพระอุโบสถประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันทำด้วยไม้สัก แกะสลักลายกนกเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ ปิดทอง ประดับกระจกตลอด เฉพาะคันทวยที่ประดับรับเชิงชายคาพระอุโบสถทุกตัวได้แกะสลักเป็นรายนกพันรอบทวย ลวดลายอ่อนช้อยงดงามยิ่งนักรูปทรงพระอุโบสถภายนอกเป็นรูปทรงเรือสำเภาซึ่งนับเป็นศิลปะสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ที่ยังเหลือไว้ให้ได้ศึกษา

    [​IMG]


    ภายในพระอุโบสถ ประดิษฐานพระประธานซึ่งจำลองขยายส่วนจากพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรพระแก้วมรกต (พระแก้วมรกต) วัดพระศรีรัตนศาสดาราม รูปทรงงดงาม ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทอง ปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบเหนือพระรัตนบัลลังก์ที่ประดับกระจกสีด้านซ้าย และขวาเป็นที่ประดิษฐานนภดลมหาเศวตรฉัตร เพดานพระอุโบสถเป็นไม้จำหลักลายดวงดาราบนพื้นสีแดง ลงรักปิดทองประดับกระจก ตรงกลางเป็นดาวประธาน ล้อมรอบด้วยดาวบริวาร ๑๒ ดวง ภายในกรอบย่อมุมไม้สิบสอง

    [​IMG]

    ภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถสมัยรัชกาลที่ ๑ เขียนเรื่องพุทธประวัติ ไตรภูมิ ทศชาติชาดก การลำดับภาพ คือฝาผนังด้านข้างแบ่งเป็น ๒ ส่วน คือส่วนบนเหนือขอบหน้าต่าง เขียนภาพเทพชุมนุม ๒ ชั้น ชั้นละ ๑๖ องค์ ชั้นบนเป็นรูปเทพ ชั้นล่างเป็นรูปเทพและยักษ์ซึ่งเทพชั้นนี้ถือเป็นเทพชั้นต่ำสุด เทพทุกพระองค์พนมมือหันหน้าไปทางองค์พระประธาน ภาพส่วนล่าง ที่ห้องภาพระหว่างช่องหน้าต่างเป็นภาพเรื่องทศชาติชาดก ส่วนฝาผนังด้านหน้าเป็นภาพพุทธประวัติ ตอนมารวิชัย มีขนาดใหญ่เต็มผนัง และด้านหลังเป็นภาพเรื่องไตรภูมิ
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • IMG_9442_1a.jpg
      IMG_9442_1a.jpg
      ขนาดไฟล์:
      443.4 KB
      เปิดดู:
      978
    • IMG_9422_1a.jpg
      IMG_9422_1a.jpg
      ขนาดไฟล์:
      446.4 KB
      เปิดดู:
      1,294
    • IMG_9432_1a.jpg
      IMG_9432_1a.jpg
      ขนาดไฟล์:
      539.4 KB
      เปิดดู:
      1,386
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 31 กรกฎาคม 2013
  20. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    [​IMG]


    วิหาร
    พระวิหารนี้ถูกสร้างขึ้นในสมัย รัชกาลที่ ๔ มีลักษณะเป็นอาคารเครื่องก่อ ด้านหลังมีเจดีย์ใหญ่ โครงสร้างพระวิหารเหมือนกับอุโบสถแต่ไม่มีคันทวยและหน้าบันเป็นรูปช้างเอราวัณยืนแท่น ทูนแว่นฟ้า บนพานมีฉัตร ๕ ชั้น ภายในพระวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปโลหะลงรักปิดทอง มีเรือนแก้วแบบเรือนแก้วพระพุทธชินราช แต่เป็นจำหลักเขียนสีปิดทองในพระวิหาร

    [​IMG]

    มีภาพเขียนสีน้ำมันฝีมือของ มหาเสวกตรี พระยาอนุศาสน์จิตร เป็นผู้วาดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๔ สมัยรัชกาลที่ ๗ เป็นภาพ เรื่องพระราชพงศาวดารสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นภาพเขียนที่มีความเหมือนจริงมีใบหน้า ร่างกายกล้ามเนื้อ และสัดส่วนต่างตามสรีระของบุคคลจริง อันมีอิทธิพลมาจากตะวันตกและได้นำมาประยุกต์ใช้ในจิตรกรรมไทย ซึ่งเชื่อว่าเป็นจิตรกรรมสีน้ำมันบนฝาผนังปูนแห่งแรกในประเทศไทย


    [​IMG]
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • IMG_9463_1a.jpg
      IMG_9463_1a.jpg
      ขนาดไฟล์:
      448.9 KB
      เปิดดู:
      891
    • IMG_9454_1a.jpg
      IMG_9454_1a.jpg
      ขนาดไฟล์:
      446 KB
      เปิดดู:
      4,844
    • IMG_9459_1a.jpg
      IMG_9459_1a.jpg
      ขนาดไฟล์:
      403.1 KB
      เปิดดู:
      868
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 31 กรกฎาคม 2013

แชร์หน้านี้

Loading...