บทความให้กำลังใจ(สุขภาพกับมิติทางสังคมและจิตใจ)

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย supatorn, 8 พฤษภาคม 2017.

  1. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    51,428
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,068
    สุขภาพกับมิติทางสังคมและจิตใจ
    พระไพศาล วิสาโล
    สุขภาพของบุคคลแม้กระทั่งในทางกายนั้น ผูกพันแนบแน่นกับสุขภาวะทางใจและทางสังคม จิตใจที่แช่มชื่น เป็นสุข ไม่เครียด ความสัมพันธ์ที่ราบรื่น ไม่ร้าวฉาน เป็นปัจจัยสำคัญต่อสุขภาพของบุคคล หากมีปัญหาทางจิตใจและความสัมพันธ์ทางสังคมแล้ว บุคคลก็สามารถล้มป่วยได้ โดยที่การล้มป่วย (illness)นั้นอาจไม่เกี่ยวข้องกับโรค (disease) เลย ด้วยเหตุนี้ การปลอดโรคจึงไม่ใช่หลักประกันแห่งสุขภาพอย่างแท้จริง เพราะถึงแม้ไม่เป็นโรค แต่ก็อาจล้มป่วยได้ด้วยสาเหตุทางจิตใจและความสัมพันธ์ทางสังคม ทัศนะที่ว่า สุขภาพหมายถึงการปลอดโรค จึงไม่ครอบคลุมเพียงพอ นอกจากจะเน้นเฉพาะมิติทางกายภาพแล้ว ยังเป็นการมองสุขภาพในเชิงลบ เพราะสุขภาพที่แท้จริงเกิดจากสภาวะที่เป็นบวกทั้งในทางกาย ใจ และสังคม คือร่างกายแข็งแรง ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้ดี ใจเป็นสุข แช่มชื่น รู้จักมองในแง่บวก ส่วนความสัมพันธ์กับผู้อื่นก็เป็นไปอย่างราบรื่น กลมเกลียวกัน

    ด้วยเหตุนี้ เมื่อล้มป่วย สิ่งที่ขาดไม่ได้ในกระบวนการรักษาก็คือการมีพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้อง เช่น การกินที่ถูกสุขลักษณะและสมดุล ห่างไกลจากยาเสพติดและสารพิษ การนอนและพักผ่อนอย่างพอเพียง รวมทั้งการอยู่ในสถานที่เอื้อต่อสุขภาพ มีอากาศและน้ำสะอาด ไม่อุดอู้ ทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลต่อการฟื้นฟูและรักษาร่างกาทั้งระบบให้เป็นไปด้วยดี

    แต่การรักษาทางกายเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการรักษาแบบองค์รวมเท่านั้น สิ่งที่ต้องทำไปพร้อมกันคือการเยียวยารักษาทางใจและทางสังคม ความเครียด วิตกกังวล ความเศร้าโศก ผิดหวัง ท้อแต้ การคิดเอาแต่ได้ ไม่ยอมปล่อยวาง มีผลบั่นทอนสุขภาพเช่นเดียวกับความเหงา ว้าเหว่ หรือความร้าวฉานกับผู้อื่น

    การวิจัยตลอด ๒ ทศวรรษที่ผ่านมาได้ชี้ว่า มีหลายโรคที่เกี่ยวข้องกับจิตใจและความสัมพันธ์กับผู้คน ที่ชัดเจนได้แก่โรคหัวใจ คนที่มักโกรธ เครียดจัด มุ่งมั่นเอาชนะ ไม่ยอมแพ้ มีโอกาสเป็นโรคนี้สูงกว่าคนที่มีจิตใจผ่อนคลาย เมื่อปี ๒๕๓๘ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ทำการศึกษาคนไข้โรคหัวใจขาดเลือดจำนวนกว่า ๑,๖๐๐ คน พบว่าคนที่ไม่สามารถควบคุมความโกรธได้ มีอัตราการกำเริบของโรคหัวใจขาดเลือดมากกว่าถึง ๒ เท่าเมื่อเทียบกับคนที่มีอารมณ์สงบและสามารถควบคุมตนเองได้ นอกจากนั้นยังมีการค้นพบว่าการจัดการกับความเครียดที่ไม่เหมาะสมเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการตายมากกว่าการสูบบุหรี่เสียอีก
    ป่วยเพราะโกรธ
    หญิงสาวคนหนึ่งมีอาการปวดท้องและปวดหัวเรื้อรัง ทั้งยังมีความดันโลหิตสูงด้วย ไปหาหมอครั้งแล้วครั้งเล่าก็ไม่มีอาการดีขึ้น น่าแปลกก็คือหมอหาสาเหตุของโรคไม่พบ ร่างกายของเธอเป็นปกติทุกอย่าง สุดท้ายหมอก็ถามเธอว่า “ชีวิตของคุณเป็นอย่างไรบ้าง เล่าให้ผมฟังหน่อยสิ”

    แล้วหญิงผู้นั้นก็เล่าชีวิตของเธอให้ฟัง หมอสะดุดใจเมื่อเธอเล่าว่ามีเรื่องบาดหมางกับพี่สาวสองคน เพราะทั้งสองทิ้งเธอให้ต่อสู้กับปัญหาตามลำพังเมื่อหลายปีก่อน
    หมอสงสัยว่าเหตุการณ์นี้น่าจะเป็นต้นเหตุให้เธอเจ็บป่วยเรื้อรัง คำแนะนำของหมอก็คือ เธอควรยกโทษให้พี่สาวทั้งสอง
    หญิงสาวคงนึกไม่ถึงว่าจะได้รับคำแนะนำเช่นนี้จากหมอ แต่หลายปีต่อมาหมอก็ได้รับจดหมายจากคนไข้คนนี้ว่า เธอคืนดีกับพี่สาวแล้ว และอาการเจ็บป่วยเรื้อรังก็หายเป็นปลิดทิ้ง
     
  2. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    51,428
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,068
    (ต่อ)
    ความขุ่นข้อง โกรธเคือง และน้อยเนื้อต่ำใจ ไม่ใช่เป็นแค่อารมณ์ที่มาแล้วก็ผ่านไปดังสายลม บ่อยครั้งมันถูกเก็บสะสมและหมักหมมจนไม่เพียงทำให้ร้าวรานใจเท่านั้น หากยังบั่นทอนร่างกายจนเจ็บป่วยเรื้อรังดังหญิงสาวผู้นี้

    อารมณ์ที่หมักหมมเรื้อรังนั้นมีพิษต่อจิตใจและร่างกายอย่างที่เราอาจคาดไม่ถึง เราจำเป็นต้องรู้จักจัดการกับอารมณ์เหล่านี้ไม่ให้หมักหมมเรื้อรัง สำหรับอารมณ์ขุ่นข้อง โกรธเคือง และน้อยเนื้อต่ำใจ คงไม่มีวิธีการใดดีกว่าการให้อภัย ดังที่หญิงสาวผู้นี้ได้ค้นพบด้วยตัวเอง

    จิตผ่อนคลาย กายฟื้นฟู

    ในขณะที่ความเครียดและความวิตกกังวลมีผลในการก่อโรค ความรู้สึกผ่อนคลาย แช่มชื่นเบาสบาย ไร้วิตกกังวล ก็ย่อมช่วยให้สุขภาพดีขึ้น หายจากโรคภัยไข้เจ็บได้เร็วขึ้น หรือมีอายุยืน มีการวิจัยเป็นอันมากที่ยืนยันเรื่องนี้ เมื่อปี ๒๕๔๐ ได้มีการศึกษาผู้มีอายุระหว่าง ๕๕-๘๕ ปีจำนวนกว่า ๒,๘๐๐ คนในอเมริกา พบว่าคนที่รู้สึกว่าควบคุมชีวิตตนได้มีอัตราการตายน้อยกว่าคนที่รู้สึกท้อแท้กับชีวิตถึงร้อยละ ๖๐ ส่วนผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มองโลกในแง่ดีหรือสามารถจัดการกับความโกรธได้ดีมีแนวโน้มที่จะอยู่ยืนยาวกว่าผู้ป่วยที่มีความเครียดหรือเก็บกดความโกรธเอาไว้

    นอกจากจิตใจที่สงบ ผ่อนคลายแล้ว ความสัมพันธ์กับผู้อื่นก็มีผลต่อสุขภาพมาก เคยมีการศึกษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านม โดยแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่ม ทั้ง ๒ กลุ่มได้รับการศึกษาตามมาตรฐานการแพทย์แผนใหม่ทุกประการ แต่กลุ่มที่หนึ่งนั้นมีการพบปะพูดคุยกันระหว่างคนไข้ และช่วยเหลือกันตามโอกาส โดยทำเช่นนี้สม่ำเสมอสัปดาห์ละ ๙๐ นาที ต่อเนื่องนาน ๑ ปี อีกกลุ่มไม่มีกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ในกลุ่ม ปรากฏว่าอัตราการอยู่รอดของกลุ่มแรกมากเป็น ๒ เท่าของกลุ่มที่สอง และยังพบอีกว่าในกลุ่มที่สองนั้น เมื่อเวลาผ่านไป ๕ ปี ไม่มีผู้ป่วยคนใดมีชีวิตรอดเลย

    มิตรภาพสร้างสุขภาพ

    ชายผู้หนึ่งถูกโรคหัวใจคุกคาม ตอนนั้นเขากำลังทำเรื่องขอหย่าจากภรรยาอยู่พอดี หลังจากแยกทางกันเขาก็อยู่คนเดียว แทบจะเก็บตัวก็ว่าได้ เขาพยายามทำทุกอย่างเพื่อสู้กับโรคหัวใจ เช่นคุมอาหาร เลิกบุหรี่ และออกกำลังกายมากขึ้น แต่เมื่อได้อ่านงานวิจัยล่าสุดก็พบว่าเพียงเท่านั้นยังไม่พอ คนที่ซึมเศร้าและเปล่าเปลี่ยวอ้างว้างอย่างเขามีโอกาสตายภายใน๖เดือนได้มากกว่าคนทั่วไปถึง ๔ เท่า

    ดังนั้นเขาจึงเริ่มพบปะผู้คนมากขึ้น ร่วมกิจกรรมกับกลุ่มต่าง ๆ รวมทั้งช่วยงานอาสาสมัครมากขึ้น ปรากฏว่าสุขภาพของเขาดีขึ้นเป็นลำดับ ไม่ใช่แค่สุขภาพกายเท่านั้น แต่รวมถึงสุขภาพใจด้วย การเปิดใจเข้าหาผู้คนและช่วยเหลือเอื้อเฟื้อผู้อื่นทำให้เขามีความสุขยิ่งกว่าก่อนเป็นโรคหัวใจเสียอีก
    เปิดปากเปิดใจ

    การมีสัมพันธภาพกับผู้คนนั้น แม้จะนำความสุขมาให้ แต่บ่อยครั้งก็อาจก่อให้เกิดความเครียดได้หากวางใจไม่ถูกต้อง ดังจะพบว่าปัญหาความกินแหนงแคลงใจและความร้าวฉานมักเกิดจากความเข้าใจผิด และความเข้าใจผิดมีจุดเริ่มต้นจากการด่วนสรุปและไม่สืบสาวหาความจริง ทั้ง ๆ ที่เพียงแค่เปิดปากซักถาม ความจริงก็ปรากฏ

    ไม่ว่าในครอบครัว หรือที่ทำงาน การรู้จักเปิดปากซักถามเป็นวิธีป้องกันความเข้าใจผิด และสกัดกั้นมิให้เกิดอารมณ์อกุศลได้เป็นอย่างดี แต่เท่านั้นคงไม่พอ นอกจากการเปิดปากซักถามแล้ว บางครั้งมีความจำเป็นที่ต้องมีการเปิดปากเล่าความในใจด้วย สาเหตุที่ความไม่พอใจสะสมมากขึ้นเพราะเราไม่กล้าเล่าความในใจให้อีกฝ่ายรับรู้ ว่ารู้สึกข้องขัดอย่างไรบ้าง การปิดปากเงียบ ทำให้อารมณ์คุกรุ่นจนอาจระเบิดออกมา และก่อความเสียหายอย่างคาดไม่ถึง

    ในการอยู่ร่วมกัน เราควรส่งเสริมซึ่งกันและกันให้พร้อมที่จะเปิดปากซักถามเมื่อมีความสงสัยไม่แน่ใจ หรือเปิดปากเล่าความในใจเมื่อมีความขุ่นข้องหมองใจกันขึ้นมา แต่จะทำเช่นนั้นได้ทุกฝ่ายต้องพร้อมเปิดใจรับฟังสิ่งที่อาจไม่ถูกใจ หรือไม่ตรงกับความคิดของตน การเปิดใจรับฟังอย่างมีสติ และความเห็นอกเห็นใจ จะช่วยให้ผู้คนพร้อมเปิดปากซักถามและเล่าความในใจได้อย่างเต็มที่ แล้วเราอาจพบว่าปัญหานั้นแก้ได้ไม่ยากเลย ใช่หรือไม่ว่าปัญหาเล็ก ๆ ลุกลามจนเป็นเรื่องใหญ่ได้ก็เพราะการไม่เปิดปากเปิดใจให้แก่กันและกัน

    การเปิดปากเปิดใจไม่จำเป็นต้องหมายถึงการใส่อารมณ์เข้าหากัน หากทุกฝ่ายมีสติรักษาใจ หรือแม้นว่าคนส่วนใหญ่ไม่มีสติ แต่ถ้าคนหนึ่งมีสติ ตั้งอยู่ในความนิ่งสงบ ก็สามารถช่วยลดทอนอารมณ์ของผู้อื่นได้ ขอให้คน ๆ นั้นเริ่มต้นที่ตัวเรา ที่เหลือก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็นแสนเข็ญอีกต่อไป
    :- https://visalo.org/article/healthsukapabkabMiti.htm

     

แชร์หน้านี้

Loading...