“สื่ออิหร่าน” ยกย่อง “ในหลวงรัชกาลที่ 9” เป็นพระบิดาของชาวมุสลิมในประเทศไทย

ในห้อง 'ในหลวงกับพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย NoOTa, 31 ตุลาคม 2016.

  1. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,494
    “สื่ออิหร่าน” ยกย่อง “ในหลวงรัชกาลที่ 9” เป็นพระบิดาของชาวมุสลิมในประเทศไทย

    [​IMG]


    สื่ออิหร่านทำสกู๊ปยกย่อง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระบิดาของชาวมุสลิมในประเทศไทย อีกทั้งยังทรงให้แปลคัมภีร์อัลกุรอานเป็นภาษาไทยด้วย
    เว็บไซต์ abnewstoday.com ได้แปลข่าวจากสำนักข่าว Iqna ของประเทศอิหร่าน ซึ่งเรียบเรียงจากบทความของท่านผู้หญิงสมร ภูมิณรงค์ หัวข้อ พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยมุสลิม โดยมีรายละเอียดว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อชาวมุสลิมในประเทศไทย แม้ประชากรชาวมุสลิมในไทยจะมีน้อยก็ตาม มีรายละเอียดทั้งหมดดังนี้
    ทรงมีพระราชดำรัสให้แปลคัมภีร์อัลกุรอานเป็นภาษาไทย
    ก่อนปี พ.ศ. 2505 จะเป็นปีใดไม่แน่ชัด ท่านกงสุลแห่งประเทศซาอุดิอาระเบีย ได้เข้าเฝ้าถวายพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ฉบับที่มีความหมายเป็นภาษาอังกฤษ เมื่อในหลวงทอดพระเนตรและทรงศึกษาดู ทรงมีพระราชดำริว่าควรจะมีพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานฉบับความหมายภาษาไทย ให้ปรากฏเป็นศรีสง่าแก่ประเทศชาติ
    เมื่อนายต่วน สุวรรณศาสน์ จุฬาราชมนตรีในสมัยนั้น เป็นผู้นำผู้แทนองค์การ สมาคม และกรรมการอิสลามเข้าเฝ้าถวายพระพรในนามของชาวไทยมุสลิมในวันเฉลิมพระชนมพรรษาปีนั้น ในหลวงทรงมีพระกระแสรับสั่งให้จุฬาราชมนตรีแปลความหมายของพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน จากพระมหาคัมภีร์ฉบับภาษาอาหรับโดยตรง สิ่งนี้เป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อศาสนาอิสลาม และทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภกอย่างแท้จริง
    ในช่วงเวลาที่จุฬาราชมนตรีแปลพระมหาคัมภีร์ถวาย ทุกครั้งที่เข้าเฝ้า ในหลวงจะทรงแสดงความห่วงใยตรัสถามถึงความคืบหน้า อุปสรรค ปัญหาที่เกิดขึ้น และทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้พิมพ์เผยแพร่

    [​IMG]



    ทรงรับสั่งให้กระจายอัลกุรอานออกไปทั่วประเทศ
    ในปี พ.ศ. 2511 อันเป็นปีครบ 14 ศตวรรษแห่งอัลกุรอาน ประเทศมุสลิมทุกประเทศต่างก็จัดงานเฉลิมฉลองกันอย่างสมเกียรติ ประเทศไทยแม้จะไม่ใช่ประเทศมุสลิม แต่ก็ได้มีการจัดงานเฉลิมฉลอง 14 ศตวรรษแห่งอัลกุรอานขึ้น ณ สนามกีฬากิตติขจร เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2511 เป็นวันเดียวกันกับการจัดงานเมาลิดกลาง ในปีนั้นในหลวงพร้อมด้วยสมเด็จพระราชินีเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธี และในวันนั้นเป็นวันแรกที่พระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ฉบับความหมายภาษาไทย ได้พิมพ์ถวายตามพระราชดำริ และได้พระราชทานแก่มัสยิดต่างๆ ทั่วประเทศ สื่ออิหร่านทำสกู๊ปยกย่อง รัชกาลที่ 9 เป็นพระบิดาของชาวมุสลิมในประเทศไทยพระดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับคัมภีร์อัลกุรอานในหลวงทรงมีพระราชดำรัสในงานเฉลิมฉลอง14 ศตวรรษแห่งอัลกุรอาน ว่า
    “คัมภีร์อัลกุรอาน มิใช่จะเป็นคัมภีร์ที่สำคัญในศาสนาอิสลามเท่านั้น แต่ยังเป็นวรรณกรรมสำคัญของโลกเล่มหนึ่ง ซึ่งมหาชนรู้จักยกย่อง และได้แปลเป็นภาษาต่างๆ อย่างแพร่หลาย การที่ท่านทั้งหลาย ได้ดำเนินการแปลออกเผยแพร่เป็นภาษาไทยครั้งนี้ เป็นการสมควรชอบด้วยเหตุผลอย่างแท้จริง เพราะจะเป็นการช่วยเหลือให้อิสลามิกชนในประเทศไทยที่ไม่รู้ภาษาอาหรับ ได้ศึกษาเล่าเรียนธรรมมะในศาสนาได้สะดวกและแพร่หลาย ทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้สนใจทั่วไปได้ศึกษา ทำความเข้าใจหลักคำสอนของศาสนาอิสลามอย่างถูกต้องและกว้างขวางยิ่งขึ้น เป็นที่ทราบกันดีว่า คัมภีร์อัลกุรอานมีอรรถรสลึกซึ้ง การที่จะแปลออกมาเป็นภาษาไทยโดยพยายามรักษาใจความแห่งคัมภีร์เดิมไว้ให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ และพิมพ์ขึ้นให้แพร่หลายเช่นนี้ จึงเป็นที่ควรอนุโมทนาสรรเสริญ และร่วมมือสนับสนุนอย่างยิ่ง…”
    ทรงเป็นบิดาของชาวมุสลิมในประเทศไทย
    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเปรียบดั่งพระบิดาของพสกนิกรชาวไทยมุสลิม พระองค์ทรงมีพระบรมราโชวาทกับชาวมุสลิมว่า “อิสลามิกชนมีพระคัมภีร์อัลกุรอาน อันประกอบพร้อมด้วยบทบัญญัติทางศีลธรรม จริยธรรม นิติธรรม เป็นแม่บทศักดิ์สิทธิ์สำหรับการประพฤติปฏิบัติและการดำเนินชีวิต ส่วนใหญ่จึงมีชีวิตที่เจริญมั่นคง มีความฉลาด รู้ผิดชอบชั่วดี มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม และนับเป็นบุคคลที่มีคุณค่า ถ้าแต่ละคนจะพยายามศึกษาพระคัมภีร์ให้เข้าใจถ่องแท้ยิ่งขึ้น พร้อมกับเอาใจใส่วิทยาการด้านอื่นๆ ให้กว้างขวางและก้าวหน้าอยู่เสมอ ก็จะส่งเสริมให้เป็นผู้มีความดี มีความรู้ความสามารถครบถ้วน สมควรยิ่งที่จะเป็นหลักและเป็นกำลังในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม”
    การรอรับเสด็จแม้จะมีฝนตกหนัก
    ในหลวงเสด็จเยี่ยมราษฎรในจังหวัดชายแดนทางภาคใต้หลายครั้ง โดยจะเสด็จแปรพระราชฐานประทับ ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส ในช่วงประมาณเดือนกันยายนถึงตุลาคม คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด คณะกรรมการมัสยิด และชาวไทยมุสลิมทั้งที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล ต่างรอรับเสด็จแม้ว่าจะมีฝนตก ทุกคนต่างก็เต็มใจรอรับเสด็จ จนมีอยู่ครั้งหนึ่งในหลวงทรงทราบว่ามีราษฎรยืนตากฝนรอรับเสด็จอยู่ จึงทรงมีรับสั่งให้เข้าไปหลบฝนก่อนที่คณะเสด็จจะเสด็จผ่าน
    เนื่องจากชาวไทยมุสลิมยังใช้ภาษาท้องถิ่นเป็นส่วนใหญ่ เมื่อในหลวงทรงรับสั่งถามถึงทุกข์สุขและการทำมาหาเลี้ยงชีพ ชาวไทยมุสลิมส่วนใหญ่จะไม่กล้าถวายคำตอบเนื่องจากเกรงว่าจะพูดโดยใช้ภาษาไม่เหมาะสม พวกเขาได้แต่ยิ้มด้วยความดีใจ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ในหลวงจึงทรงรับสั่งให้ใช้ภาษาท้องถิ่นธรรมดาสามัญไม่ต้องใช้ราชาศัพท์ แล้วจะมีผู้แปลความถวายให้
    ทรงช่วยขจัดปัญหาให้แก่ชาวนามุสลิม
    พระราชกรณียกิจในการเสด็จเยี่ยมราษฎรนั้น ทำให้ในหลวงทรงทราบถึงความแห้งแล้งของการขาดน้ำ สภาพดินเค็มดินเปรี้ยวในการทำนาทำสวน จึงทรงมีพระราชดำริให้มีโครงการต่างๆ ขึ้น ทรงพระราชทานพันธุ์ไม้ พันธุ์สัตว์ให้ชาวไทยมุสลิมนำไปเลี้ยงเป็นอาหารประจำวัน และสามารถนำไปเป็นอาชีพประจำได้ต่อไป
    ถ้าในบริเวณนั้นมีศาสนสถานหรือโรงเรียนสอนศาสนา ในหลวงจะเสด็จเยี่ยมพระราชทานเวชภัณฑ์ และพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้แก่ศาสนสถานและโรงเรียนสอนศาสนา ยิ่งกว่านั้นยังทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แพทย์หลวงทำการรักษาผู้ป่วย และผู้ป่วยบางรายหากไม่สามารถรักษาในท้องถิ่นได้ ก็จะทรงรับไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์
    ในปี พ.ศ. 2533 ในหลวงทรงแปรพระราชฐานประทับ ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน ทรงเยี่ยมราษฎรในหมู่บ้านชาวไทยมุสลิม ณ โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย ชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
    ทรงมีรับสั่งให้ออกเอกสารสำหรับมัสยิด “นูรุ้ลเอี๊ยะห์ซาน”
    ที่นั่นมีมัสยิดเล็ก ๆ หลังหนึ่ง ชื่อมัสยิดนูรุ้ลเอียะห์ซาน หมู่บ้านนี้เป็นชาวไทยมุสลิมยากจนที่อพยพมาจากที่อื่นเพื่อมาประกอบอาชีพ อิหม่ามได้กราบบังคมทูลเชิญในหลวงเสด็จประทับในมัสยิด ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดิน 1 ไร่ แต่ยังไม่สามารถจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติมัสยิดอิสลามได้ เนื่องจากที่ดินไม่ใช่ที่ของมัสยิด จึงขอพระราชทานที่ดินตรงนั้นให้เป็นที่ของมัสยิด
    ในหลวงได้พระราชทานตามคำกราบทูล และยังมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานเพิ่มให้อีก 5 ไร่ พร้อมทั้งมีรับสั่งให้เจ้าหน้าที่ช่วยดำเนินการให้เป็นของมัสยิดอย่างถูกต้องเรียบร้อย
    ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 เป็นต้นมา ในหลวงจะเสด็จเยี่ยมมัสยิดนูรุ้ลเอียะห์ซาน และพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้มัสยิดนี้เป็นประจำทุกครั้งที่เสด็จ เพื่อสมทบทุนสร้างโรงเรียนสอนศาสนา
    การบูรณะซ่อมแซมมัสยิดโดยการพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์
    ในปี พ.ศ. 2539 มัสยิดนูรุ้ลเอียะห์ซาน ชำรุดทรุดโทรมมากและคับแคบ อิหม่ามจึงขอพระบรมราชานุญาต สร้างมัสยิดหลังใหม่แทนหลังเก่าบนที่ดินพระราชทาน ในหลวงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนหนึ่งแสนบาทในการสร้างให้ นับเป็นมัสยิดแห่งแรกที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ และเป็นมัสยิดที่อิหม่ามได้ทูลเกล้าฯ ถวายให้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ มัสยิดแห่งนี้ก่อสร้างขึ้นใหม่ด้วยความประณีตงดงาม โดยสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นปีแห่งมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
    ทรงยกระดับการศึกษาของชาวมุสลิม
    ในปี พ.ศ. 2512 พระราชกรณียกิจอีกประการหนึ่งคือ การส่งเสริมการศึกษาของชาวไทยมุสลิม โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งแต่เดิมเยาวชนไทยมุสลิมจะมีการศึกษาภาคสามัญอย่างสูงเพียงแค่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ซึ่งเป็นภาคบังคับแล้วจะเข้าเรียนภาคศาสนา
    เนื่องด้วยผู้ปกครองเกรงว่าบุตรหลานของตนจะไม่รู้ศาสนา ไม่สามารถปฏิบัติศาสนกิจได้ โรงเรียนสอนศาสนาในสมัยนั้นก็ยังเรียนกันแบบปอเนาะ คือ นักเรียนต้องไปอยู่กับโต๊ะครู ช่วยอาชีพและเรียนหนังสือ ไม่มีหลักสูตรว่านักเรียนจะต้องใช้เวลาเรียนกี่ปี ด้วยเหตุที่ชาวไทยมุสลิมส่วนใหญ่จะถนัดใช้ภาษาท้องถิ่น ไม่สามารถเขียนอ่านภาษาไทย และใช้ภาษาไทยในการติดต่อราชการได้
    ในหลวงทรงเป็นห่วงใยในเรื่องนี้ จึงมีพระกระแสรับสั่งให้กระทรวงศึกษาธิการหาหนทางส่งเสริมและปรับปรุงการเรียนการสอนภาคสามัญให้ดีขึ้น มีการประชุมปรึกษาหารือร่วมกันกับบรรดาโต๊ะครูปอเนาะ จัดให้มีการสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทั้งยังจัดให้มีการดูงานการศึกษาในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงด้วย ปอเนาะต่างๆ จึงเริ่มมีการพัฒนาปรังปรุงดีขึ้น ปอเนาะใดที่มีการพัฒนาปรับปรุงถึงเกณฑ์ก็จะได้รับการคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนที่มีการบริหารการเรียนการสอนดีเด่น และเข้ารับพระราชทานรางวัลประจำปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 เป็นต้นมา
    การสร้างงานสำหรับชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิม
    ในหลวงทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่ชาวไทยมุสลิมด้านการส่งเสริมอาชีพ ทรงให้มีโครงการศูนย์ศึกษาและพัฒนาการเกษตรอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์ฯ ที่ชาวไทยมุสลิมได้รับประโยชน์ เช่น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย จังหวัดเพชรบุรี ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง จังหวัดนราธิวาส ทำให้ชาวไทยมุสลิมที่เคยยากจนเพราะไม่มีอาชีพเป็นหลักแหล่ง ได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นจนสามารถยกระดับฐานะครอบครัวให้ดีขึ้นเหมือนกับชาวไทยภาคอื่นๆ ความพยายามและความเหน็ดเหนื่อยทั้งหมดเหล่านี้เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าพระมหากษัตริย์ของประเทศไทย แม้จะไม่ใช่มุสลิม แต่พระองค์ก็ทรงให้เกียรติและทรงมีความรักผูกพันต่อชาวมุสลิม และไม่ทรงเห็นความแตกต่างระหว่างชาวมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม พระองค์จะทรงให้การช่วยเหลือและบริการแก่ทุกคน


    ------
    ที่มา
    chaoprayanews
     

แชร์หน้านี้

Loading...