(๙) มุนีนาถทีปนี: ศาสตร์ว่าด้วยการเป็นพระพุทธเจ้า

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย anand, 14 กรกฎาคม 2009.

  1. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    สัตตุตาปะราชา


    หลังจากที่ได้ตั้งปรารถนาพระพุทธภูมิ ในพระชาติที่เป็นมาณพผู้ยากจนเข็ญใจเป็นประเดิมเริ่มแรกแล้ว พระโพธิสัตว์เจ้าก็ท่องเที่ยวเสวยสุขอยู่ ณ สวรรค์เทวโลกอยู่นานแสนนานแล้วจึงจุติจากเทวโลกลงมาบังเกิดในขัตติยตระกูล ณ พระนครที่ปรากฎนามว่า สิริบดีนคร เมื่อพระชนมพรรษาทรงเจริญแล้ว สมเด็จพระชนกธิราชก็เสด็จทิวงคตล่วงลับไป พระองค์จึงได้เสวยมไหศูรยสมบัติ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าสัตตุตาปนราธิราช มีพระบรมเดชานุภาพเป็นอันมาก ทรงปกครองไพร่ฟ้าประชาชนโดยทศพิธราชธรรม ก็สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์เจ้านั้น ทรงมีพระหฤทัยรักใคร่ในหัตถีพาหนะคือช้างเป็นอย่างยิ่ง พระองค์ได้ทรงสดับว่ามีมงคลคชสารอยู่ ณ ประเทศที่ใดแล้ว ก็ทรงพระอุตสาหะเสด็จไปประทับแรมอยู่ ณ ประเทศนั้น จนกว่าจะจับมงคลคชสารได้ จึงจะเสด็จกลับนำมาสู่พระนคร แล้วทรงมอบให้นายหัตถาจารย์ผู้วิเศษชำนาญเวทย์ฝึกสอนต่อไป

    สมัยนั้น ที่แขวงเมืองสิรบดี มีพรานไพรพเนจรผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นคนเจนจัดสันทัดเที่ยวไปในทางเถื่อนทุรประเทศ วันหนึ่ง เขาสัญจรไปในอรัญราวป่าเพื่อแสวงหาเนื้อ แต่มิได้ประสบพบพานหมู่มฤคแลฟานโดยที่สุด แม้แต่สัตว์เดียรฉานสักตัวเดียวพอที่จะล่าได้ ก็ไม่อาจกลับบ้านได้ด้วยมือเปล่าตามวิสัยพราน จึงลดเลี้ยวเที่ยวไปในป่าลึก จนล่วงหนทางที่ท่องเที่ยวไปของมนุษย์ ก็บังเอิญไปพบมงคลคชสารสีเสวตผู้ผ่องพรรณงามด้วยงวงงาปรากฎขาวราวขนทรายจามรี ท่องเที่ยวอยู่ที่ถิ่นสถานสระโบกขรณีแห่งหนึ่ง แล้วจึงคิดรำพึงว่า

    "แต่อาตมาเที่ยวป่ามาช้านาน นับเดือนและปีก็ได้มากแล้ว ยังไม่เคยพบมงคลหัตถ์เช่นนี้เลย ก็คราวนี้ตั้งแต่ออกจากบ้านมา เราไม่ได้ประสบเนื้อถึกมฤคี แม้แต่หมีเม่น กระต่าย ฟานทราย นกกระทา ตัวใดตัวหนึ่งก็ไม่ได้พบพาน จึงได้ล่วงดงกันดารมาถึงสถานที่นี้ บุตรภริยาเราก็ไม่ได้สิ่งใดเลี้ยงชีวิต อย่ากระนั้นเลย เราจะนำเอาข่าวพญาคชสารสีเสวตนี้เข้าไปเป็นบรรณการกราบทูลให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราทรงทราบ น่าที่จะได้ทรัพย์ข้าวของรางวัลสืบชีวิตได้"

    ครั้นคิดสำเร็จตกลงใจดังนี้แล้ว ตะแกก็ตั้งจิตกำหนดแนวพนารัญสิขรินทรบรรพตให้ถนัดแน่ แล้วก็กลับมาในเมืองเข้าไปหยุดอยู่แทบพระทวารพระราชวังแล้ว จึงบอกความนั้นให้ท่านข้างในนำไปกราบทูลสมเด็จพระบรมกษัตริย์ เพื่อทราบเนื้อความ ครั้นสมเด็จพระเจ้าสัตตุตาปะบรมโพธิสัตว์ทรงทราบความแล้ว ก็พระราชทานทรัพย์เป็นราวัลแก่พรานไพรเป็นอันมาก แล้วมีรับสั่งให้ตระเตรียมพลพาหนะเสด็จออกจากพระนคร ให้พรานนั้นเป็นมรรคนายกนำทาง เสด็จมาตามระหว่างเขาไม้ไพรพนมโดยลำดับ จนบรรลุถึงประเทศที่นั้น

    ครั้นได้ทอดพระเนครเห็นมงคลคชสาร ก็ทรงโสมนัสดำรัสส่งให้แวดล้อมด้วยคชพาหนะคชาะารเป็นอันมาก ก็ทรงจับพญาคชสารนั้นได้โดยไม่ยาก แล้วนำมาพระนครดำรัสสั่งให้นายหัตถาจารย์ผู้ฝึกช้างเข้ามา เมื่อพระราชทานรางวัลแล้วจึงมีราชโองการว่า

    "ดูกร พ่อหัตถาจารย์! ในระหว่างกาล ๗-๘ วันนี้ ท่านจงเร่งฝึกสอนมงคลคชสารที่เราจับมาจากป่าให้มีมารยาทเป็นอันดี เราจะเล่นนักขัตฤกษ์มหรสพด้วยมงคลหัตถีสีเสวตอันประเสริฐตัวนี้"

    ฝ่ายนายหัตถาจารย์ รับพระราชโองการแล้วก็เข้าทำการฝึกสอนคชสารให้สำเหนียกโดยให้โอสถ และให้หญ้าเป็นอาหารเพราะความที่ตนเป็นผู้ชำนาญในการฝึกช้างเป็นอย่างเยี่ยม ทั้งรอบรู้ในคชวิชาเป็นอย่างดี ต่อมาไม่ช้าล่วงมาได้ ๓ วันพญาคชสารประเสริฐตัวนั้นเป็นอันถูกฝึกสอนทรมานเป็นอันดีแล้ว จึงนำมาถวายไดตามกำหนด ครั้นพอถึงวันนักขัตฤกษ์ สมเด็จพระบรมกษัตริย์จึงสั่งให้ประดับมงคลคชสารนั้น ด้วยมงคลหัศดาภรณ์พิเศษ ซึ่งล้วนแล้วด้วยแก้วแลทองกุก่องตระการเสร็จแล้ว ก็เสด็จทรงมงคลคชสารนั้นออกด้วยจตุรงนิกรเสนาโยคะมหาราชบริวารเป็นอิสสริยยศใหญ่ยิ่ง เพื่อจะทรงเล่นนักขัตฤกษ์ แล้วก็เลยเสด็จทำประทักษิณพระนคร คือเลียบเมืองเป็นที่พระสำราญพระราชหฤทัย

    ก็ในเวลาราตรีที่ล่วงหน้า ได้มีฝูงช้างโขลงทั้งหลายมาแต่ราวป่าเข้าลุยเล่นในสวนพระราชอุทยาน ไล่หักรานพรรณพฤกษาที่ทรงผลพวงผกาบุบผาชาติใหญ่น้อยทั้งสิ้นให้แหลกย่อยยับแล้ว มิหนำซ้ำยังถ่ายมูตกรีสลงไว้ในที่นั้นเกลื่อนกลาดแล้วก็พากันหลีกไป ครั้นเวลารุ่งสางสว่างกาล นายอุทยานบาลเห็นอุทยายยับอยู่เช่นนั้น จึงด่วนพลันนำเอาเนื้อความเข้าไปเพื่อจะกราบทูล ในขณะที่สมเด็จพระบรมกษัตริย์เสด็จกลับจากประทักษิณพระนคร เมื่อถึงที่เฝ้าแล้ว ก็ยอกรประณมบังคมทูลว่า

    "ข้าแต่พระองค์! เมื่อเวลารัตติกาลนี้มีฝูงช้างโขลงมาแต่ไพร บุกเข้ามาลุยไล่หักรานพรรณพฤกษาในพระราชอุทยานแหลกเหลวสิ้นแล้วพระเจ้าข้า"

    สมเด็จพระบรมกษัตริย์ได้ทรงสดับเช่นนั้น ก็ตรัสสั่งให้เดินขบวนด่วย เสด็จออกไปเพื่อจะทรงทอดพระเนครพระราชอุทยาน ครั้นถึงแล้วก็ทรงเที่ยวทอดพระเนตรดูไปจนทั่ว ในขณะนั้น พญามงคลคชาธารพระที่นั่งทรงตัวประเสริฐก็บังเอิญได้สูดดมกลิ่นแห่งนางพังช้างตัวเมียทั้งหลาย ซึ่งมีกลิ่นติดอยู่ในที่นั้นๆ ก็เกิดความเมามัวขึ้นมาภายในด้วยอำนาจราคะดำกฤษณาให้เกิดความเสียวกระสัน จึงสลัดกายให้นายควาญท้ายตกลงแล้ว ก็คลุ้มคลั่งแทงสถานกำแพงอุทยานทะลายลง แล้วก็ลุแล่นไปไม่หยุดยั้ง สมเด็จพระบรมกษัตริย์จึงทรงพระแสงขอคอเกี่ยวเหนี่ยวไว้ด้วยพละกำลัง ก็มิสามารถจะให้พญาคสารนั้นหมดความบ้าคลั่ง และรู้สึกตัวกลัวเจ็บได้ พญามงคลคชสารตัวใหญ่จึงพาพระองค์สละจาตุรงค์นิกายน้อยใหญ่ทั้งปวงไปโดยเร็ว ครั้นแล่นเข้ามาถึงอรัญราวไพรแล้ว พระองค์ได้เสวยความลำบากบอบช้ำระกำพระองค์ แต่ก็จำต้องทรงพระทรมานมากับพญาหัตถี ทรงหมดพระปัญญาที่จะหยุดยั้งไว้ได้ ครั้นยิ่งแล่นไปนานนักหนา สมเด็จพระราชก็ให้เกิดมีอันเป็นทรงพระมึนงง มิอาจที่จะทรงกำหนดทิศานุทิศได้ จึงทรงวินิจนึกในพระหฤทัยว่า "ถ้าเราจักไม่ปล่อยพญาช้างที่กำลังบ้าคลั่งตัวนี้เสียแล้ว เกลือกว่าไปประสบได้ประสานสัปยุทธกับช้างอื่นก็น่าที่จะทำให้อาตมาแตกกายทำลายชีวิตเสียเป็นแน่แท้ อย่ากระนั้นเลย จำเราจะสละพญาหัตถีนี้เสียก่อนเถิด" มีพระสติดังนี้แล้ว จึงทอดพระเนตรสังเกตดูหมู่ไพรริมทางจร ครั้นถึงไม้อุทุมพรคือมะเดื่อใหญ่ต้นหนึ่ง มีกิ่งทิ้งทอดห้อยลง พระองค์จึงโน้มพระกายขึ้นเกาะบนกิ่งไม้อุทุมพรนั้นได้ แล้วปล่อยให้พญาหัตถีวิ่งเตลิดไปตามเรื่อง ส่วนพระองค์ทรงนั่งบนกิ่งไม้ให้ทรงหิวกระหายนักหนา จึงทรงเสวยผลมะเดื่อนั้นไปพลาง

    ข้างฝ่ายพวกพลนิกาย ก็มีใจเป็นห่วงสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของตนยิ่งนัก จึงพากันเร่งรีบตามรอยช้าง ส่วงทางมาได้ไกลนักหนาจนเข้ามาถึงป่าใหญ่ ครั้นยังไม่พบพระบรมกษัตริย์ ก็กระทำอุโฆษประสานศัพท์สำเนียงบันลือลั่นสนั่นมา สมเด็จพระราชาได้ทรงสดับ จึงทรงอุโฆษร้องรับ พวกพลนิกายได้ยินพระสุรเสียงก็พากันเข้าไปถึง จึงเห็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสถิตอยู่บนคบไม้มะเดื่อ ก็เชิญเสด็จรับพระองค์ลงมาจากคบพฤกษาแล้ว ก็ประโคมดุริยดนตรีเชิญองค์บรมนราธิบดีเสด็จกลับสู่พระนคร ครั้นประทับแท่นสีห์อาสน์อันประเสริฐแล้ว จึงดำรัสสั่งให้หานายหัตถาจารย์เข้ามาเฝ้า แล้วตรัสถามว่า

    "ดูกร นายหัตถาจารย์ผู้เจริญ! ตัวท่านนี้มีความผิด ด้วยประสงค์จะใคร่ฆ่าเราเสียมิใช่หรือ?"

    นายหัตถาจารย์ผู้ฝึกช้าง จึงกลับทูลสนองพระราชปุจฉาว่า
    "ข้าแต่พระราชาผู้เป็นใหญ่! เหตุไฉน พระองค์จึงดำรัสเหนือเกล้ากับข้าพระพุทธเจ้าฉะนี้ ก็พญามงคลราชหัตถีนั้น เกล้ากระหม่อมก็ได้ฝึกสอนด้วยดีเป็นอย่างยิ่งแล้ว พระเจ้าข้า"

    "ก็...เหตุใด พญาช้างจึงอาละวาดวิ่งพาเราเข้าป่าไปให้ได้รับความลำบากแทบล้อมประดาตาย เป็นการสนุกอยู่เมื่อไหร่?" พระราชาทรงถามด้วยความขุ่นพระทัย

    "พระเจ้าข้า" นายหัตถาจารย์ทูลตอบ "ซึ่งพญาหัตถีให้มีอันเป็นวิปริตไปเช่นนี้นั้น เป็นเพราะอำนาจความเร่าร้อนแห่งราคะกิเลส แม้ได้สมความต้องการของตนแล้ว ก็คงจะกลับมาดอก พระเจ้าข้า" เขาทูลอธิบายด้วยความเชี่ยวชาญมั่นใจในวิทยาการ

    "เออ...ดีแล้ว" พระราชายังไม่หายขุ่นพระทัย "ถ้ากระนั้น จงยับยั้งอยู่ก่อน กว่ามงคลกุญชรนั้นจะกลับมา ถ้าพญามงคลหัตถีกลับมาก็เป็นบุญวาสนาของเจ้า ถ้าแม้นมิได้กลับมา ชีวิตของเจ้าก็จักมิได้มี" ดำรัสฉะนี้แล้ว ก็รับสั่งให้คุมตัวนายหัตถาจารย์ผู้วิเศษนั้นไว้ให้มั่นคง เพื่อรอการลงพระราชอาญา หากว่าพญามงคลหัตถีไม่กลับมาตามคำ

    ส่วนพญามงคลหัตถีตัวประเสริฐนั้น ครั้นวิ่งคลุ้มคลั่งไปด้วยอำนาจราคะดำกฤษณาไปทันนางช้างเถื่อนในไพร สำเร็จมโนรถประสงค์ของตนแล้ว ก็รีบกลับมาในเมืองเข้าไปในที่ตนอยู่ เมื่อเวลาปัจจุสมัยใกล้รุ่ง นายหัตถาจารย์ก็ตื่นขึ้นเห็นมงคลคชสารยืนอยู่ในโรงแล้ว รุ่งเช้าจึงเข้าไปเฝ้ากราบทูลแต่สมเด็จพระราชา พระองค์ก็ทรงพระโสมนัสปรีดาหายโกรธเคือง รีบเสด็จลงมาจากปราสาทโดยด่วน ถึงโรงมงคลคชาธารทอดพระเนตรเห็นมงคลคชสารสีเสวต จึงเสด็จเข้าไปใกล้ ยกพระกรขึ้นปรามาสลูบคลำท้องและงาพญาช้างแล้ว จึงมีพระดำรัสว่า

    "เออ...ก็มงคลราชหัตถี ท่านสามารถฝึกสอนให้รู้ดีถึงเพียงนี้แล้ว เหตุไฉน เมื่อยามแล่นไปในวันนั้น เรากดเกี่ยวเหนี่ยวไว้โดยแรงด้วยพระแสงขออันคมยิ่ง ยังไม่สามารถที่จะห้ามได้ มันเป็นเพราะเหตุใดหนอ พ่อหัตถาจารย์?"

    "พระเจ้าข้า เหตุไฉน พระองค์จึงตรัสดังนี้เล่า" ท่านอาจารย์ช้างผู้ขมังเวทย์ได้ทีจึงรับทูลตอบ "ขึ้นชื่อว่าราคะดำกฤษณานี้ ย่อมมีคมเฉียบแหลมยิ่ง เกินกว่าคมแห่งพระแสงขอนั้นไปร้อยพันทวี อนึ่ง ถ้าจะว่าช้างร้อนเล่า ขึ้นชื่อว่าร้อนแห่งเพลิงคือราคะดำกฤษณานี้ ย่อมร้อนรุ่มอยู่ในทรวงของสัตว์บุคคลอย่างเหลือร้อน ยิ่งกว่าร้อนแห่งเพลิงตามปกติเป็นไหนๆ ...อนึ่ง ถ้าจะว่าไปข้างเป็นพิษเล่า ขึ้นชื่อว่าพิษคือราคะดำกฤษณานี้ ย่อมมีพิษซึมซาบฉุนเฉียวเรี่ยวแรงรวดเร็วยิ่งเกินกว่าพิษแห่งจตุรภิธภุชงค์ คือพิษพระยานาคทั้งสี่ชาติ สี่ตระกูลเป็นไหนๆ เพราะเหตุนั้น ฝ่าละอองธุลีพระบาท จึงไม่อาจเพื่อจะเที่ยวกดพญามงคลราชหัตถี ซึ่งแล่นได้ด้วยแรงแห่งราคะดำกฤษณานั้น ให้หยุดยั้งด้วยกำลังพระแสงขอได้ พระเจ้าข้า" นายหัตถาจารย์ผู้เชี่ยวชาญพูดอธิบายอย่างยืดยาว

    "เออ...ก็ไฉนพญาคชสารนี้ จึงกลับมาโดยลำพังใจตนเอง?" พระเจ้าอยู่หัวทรงถามขึ้น หลังจากที่ทรงนิ่งฟังท่านอาจารย์ช้างอธิบายอยู่ นายหัตถาจารย์จึงทูลตอบว่า

    "พระเจ้าข้า ข้อซึ่งพญาช้างไปแล้วและกลับมานั้น ใช่ว่าจะมาโดยใจตนก็หาไม่ โดยที่แท้ กลับมาด้วยกำลังอำนาจมนตรามหาโอสถของข้าพระพุทธเจ้า"
    ได้ทรงสดับดังนั้น พระองค์จึงดำรัสว่า "ถ้ากระนั้น ท่านจงแสดงกำลังมนต์และโอสถให้เราเห็นสักหน่อยเถิดเป็นไร"

    นายหัตถาจารย์ผู้เรืองเวทย์ รับพระราชโองการแล้ว หวังจักสำแดงอำนาจมนต์ของตนให้ประจักษ์แก่สายตาชาวพระนคร จึงสั่งให้บริวารไปนำเอาก้อนเหล็กก้อนใหญ่มา แล้วให้ช่างทอเอาใส่เตาสูบ เผาด้วยเพลิงให้ก้อนเหล็กนั้นสุกแดงแล้ว จึงเอาคีมหยิบออกจากเตา เรียกพญาช้างเข้ามาแล้วก็ร่ายมนต์มหาโอสถประเสริฐ พลางบังคับให้คชสารจับเอาก้อนเหล็กแดงนั้นด้วยคำกำชับสั่งว่า "ดูกร พญานาคินทร์ผู้ประเสริฐ! ตัวท่านจงหยิบเอาก้อนเหล็กนั้นในกาลบัดนี้ แม้นเรายังไม่ได้บอกให้วาง ท่านจงอย่าได้วางเลยเป็นอันขาด"

    พญาคชสารตัวทรงพลัง ครั้นได้ฟังคำนายหัตถาจารย์สั่งบังคับ ก็ยื่นงวงมาจ้องจับเอาก้อนเหล็กซึ่งลุกเป็นไฟ แม้วาจะร้อนงวงเหลือหลาย จนงวงไหม้ลุกเป็นเปลวควันขึ้นก็ดี ก็ไม่อาจจะทิ้งก้อนเหล็กนั้นเสียได้" ด้วยกลัวต่อกำลังมนตราของนายหัตถาจารย์นั้นเป็นกำลัง สมเด็จพระบรมกษัตริย์ทอดพระเนตรเห็นงวงคชสารถูกเพลิงไหม้อยู่เช่นนั้น ก็ทรงเกรงพญาช้างจะถึงแก่กาลมรณะ จึงดำรัสสั่งให้นายหัตถาจารย์ บอกให้พญาช้างสารทิ้งก้อนเหล็กนั้นเสียแล้ว ทรงหวนคิดถึงราคะดำกฤษณาของพญาช้างที่ยืนอยู่ตรงพระพักตร์ พร้อมกับคำชักอุปมาอธิบายของนายหัตถาจารย์เมื่อครู่นี้ ทรงรำพึงไป ก็ยิ่งทรงสังเวชในพระราชหฤทัยแสนทวี จึงทรงเปล่งออกซึ่งสังเวชาวาทีว่า

    "โอหนอ...น่าสมเพชนักหนา ด้วยฝูงสัตว์มาติดต้องข้องข้ดอยู่ด้วย ราคะดำกฤษณะอันมีพิษพิลึกน่าสพึงกลัวร้ายกาจยิ่งนัก ราคะคือความกำหนัดนี้ย่อมมีอาทีนวโทษเป็นอันมาก ก็เพราะเพลิงราคะมีกำลังหยาบช้ากล้าแข็ง ร้อนรุ่มสุมทรวงสัตว์ทั้งหลายอยู่อย่างนี้่ สัตว์ทั้งหลายจึงต้องถูกราคะกิเลสย่ำยีบีฑา นำทุกข์มาทุ่มถมให้จมอยู่ในอู่แอ่งอ่าวโลกโอฆสงสาร ไม่มีวันสิ้นสุดลงได้เพราะราคะกิเลสนี่แล สัตว์ทั้งหลายจึงต้องไปตกนรกหมกไหม้อยู่ในมหานรกทั้งแปดขุม และสัตว์ทั้งหลายบางหมู่ต้องไปเกิดอยู่ในอุสสทนรกบริวารมีประมาณร้อยยี่สิบแปดขุม อนึ่งเพราะอาศัยราคะกิเลสนี้ สัตว์ทั้งหลายจึงต้องทนทุกขเวทนาอยู่ในเปติวิสัยภูมิ และสัตว์ทั้งหลายบางหมู่ต้องไปเิกิดอยู่ในกำเนิดเดียรฉาน สัตว์ทั้งหลายที่ต้องบ่ายหน้าไปสู่อบายภูมิ ก็เพราะอาศัยราคะดำกฤษณาเป็นประการสำคัญ ฉะนั้นจึงน่าสมเพชนัก"

    ครั้นทรงแสดงสังเวชวาทีฉะนี้แล้ว สมเด็จพระบรมกษัตริย์หน่อพระพุทธากูร จึงตรัสแสดงอาทีนวโทษแห่งราคะดำกฤษณาต่อไปว่า

    "บรรดาสัตว์ทั้งหลายในโลกสันนิวาสนี้ เพราะอาศัยราคะดำกฤษณาย่อมเบียดเบียนบีฑาซึ่งกันและกัน เป็นต้นว่า

    บิดาย่อมเบียดเบียนบุตร บางทีฆ่าเสียก็มี
    บุตรย่อมเบียดเบียนบิดา บางทีฆ่าเสียก็มี
    บิดาย่อมเบียดเบียนธิดาตน เพราะร้อนรนด้วยราคะกฤษณาก็มี

    อนึี่ง ฝูงสัตว์ในโลกสันนิวาสนี้เพราะร้อนด้วยราคะย่อมเบียดเบียนซึ่งกันและกัน เป็นต้นว่า

    บุตรย่อมเบียดเบียนชนนี บางทีฆ่าเสียก็มี
    ชนนีย่อมเบียดเบียนบุตร บางทีฆ่าเสียก็มี
    บางทีพี่ชายมุ่งหมายปองร้าย ราวีตีรันฟันฆ่าน้องชายของตนให้ตายก็มี
    บางมีพี่หญิงย่อมบีฑาฆ่าน้องสาว ที่สืบกษิรมารดาเดียวกันมาก็มี
    บางทีหลานสาวบีฑาลุงตัวให้ตายก็มี
    บางทีลุงลุ่มหลงลงทัณฑกรรมบีฑาหลานสาวตนเองก็มี
    บางทีภัสดาย่อมบีฑาโบยรันฟันแทงภริยาตน ให้ถึงตายก็มี
    บางทีภริยาบีพ่าฆ่าตีสามีตน ให้ถึงตายก็มี

    สัตว์ทั้งหลายเห็นเช่นนี้เพราะอาศัยความร้อนแห่งพลังราคะดำกฤษณามาบีฑาให้ระทมตรมทุกข์ ถึงซึ่งความพินาศนานาประการ แม้แต่บุตรธิดา มารดาบิดา และภรรยาสามีที่แสนรักนักหนาแล้ว ยังเบียดเบียนบีฑากันเพราะอำนาจราคะกิเลสเป็นมูลฐานมากกว่ามากสุดประมาณ

    อีกประการหนึ่ง ฝูงสัตว์ในโลกสันนิวาสนี้ เพราะอาศัยอำนาจราคะดำกฤษณา บางคราย่อมจ่ายทรัพย์สินไปในทางไร้ประโยชน์ บางทีย่อมเสื่อมจากยศและเกียรติคุณ บางทีย่อมประกอบกรรมทำสิ่งที่เป็นโทษ บางทีย่อมทำความสุขให้เสื่อมสิ้นทุกเมื่อและให้ใจเชือนเบือนเบื่อจากกุศล ห้ามทางข้างฝ่ายสุคติภพ บางทีให้ลุอำนาจแก่ความโลภและความโกรธ และให้เจริญโทษทุกภพทุกชาติที่เกิด ให้ถือกำเนิดในอบายภูมิทั้งสี่เพียงเท่านี้ก็หาไม่ ฝูงสัตว์ทั้งหลายในโลกสันนิวาสนี้ เพราะอาศัยอำนาจราคะดำกฤษณา บางคราย่อมทำตนให้พินาศจากศีลสมาทาน บางกาลย่อมทำตนให้เสื่อมจากเานภาวนาสมาธิจิตเป็นนิจกาล ก็อันว่าความอากูลด้วยราคะกิเลส ย่อมเป็นเหตุให้เกิดอาทีนวโทษให้เสวยทุกข์มากกว่ามาก และเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายต้องเศร้าหมองมีประการต่างๆ อย่างพรรณนามาฉะนี้

    สมเด็จพระนราธิบดีสัตตุตาประชา ตรัสแสดงอาทีนวโทษแห่งราคะดำกฤษณาอย่างมากมายดังนี้แล้ว จึงพระราชทานรางวัลแก่นายหัตถาจารย์เป็นอันมาก แล้วก็ทรงคำนึงในพระราชหฤทัยว่า สัตว์ทั้งหลายในโลกสันนิวาสนี้ จักพ้นจากอำนาจราคะดำกฤษณา อันเป็นทุกข์ภัยในวัฏฏะนี้ได้ด้วยประการใด? แล้วจึงทรงเห็นแท้แน่ในพระราชหฤทัยว่า รวมทั้งหลายอื่นนอกจากพุทธกรกธรรมแล้ว ก็ไม่เห็นว่าสิ่งไรอื่นจะมี ที่จะเปลื้องตนไปให้พ้นจากวัฏฏะ เพราะฉะนั้น พระองค์จึงหยั่งพระราชหฤทัยลงเที่ยง ถือเอาพระพุทธภูมิปณิธานว่า

    "เราได้ตรัสรู้ซึ่งพระโพธิญาณแล้ว ก็จักทำสัตว์ทั้งหลายให้รู้ด้วย เราพ้นจากทุกข์ในวัฏสงสารเมื่อใด ก็จักทำสัตว์ทั้งหลายให้พ้นจากทุกข์ในวัฏสงสารเมื่อนั้นด้วย"

    ครั้นทรงกระทำปณิธานปรารถนา เฉพาะพระพุทธภูมิในพระราชหฤทัยด้วยประการฉะนี้แล้ว ก็ทรงสละสิริราชสมบัติประหนึ่งบุคคลสลัดเสียซึ่งก้อนข้าวอันคั่งค้างอยู่ปลายลิ้น สิ้นเยื่อใยในฆราวาสวิสัย พระองค์แต่ผู้เดียวเที่ยวไปสู่ป่าหิมวันต์ประเทศ แล้วทรงเพศเป็นดาบส บำเพ็ญพรตปฏิบัติชอบอยู่ตราบเท่าพระชนมายุขัยแล้ว ไปบังเกิดในสวรรค์เทวโลกเสวยสุขอยู่สิ้นกาลนาน

    เรื่องในอดีตที่พรรณนามานี้ มีข้อความประการหนึ่งซึ่งควรนำมากล่าวไว้ในทีนี้ด้วย เพื่อเป็นเครื่องช่วยให้เห็นการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารอย่างแจ่มชัดก็คือว่า

    องค์สมเด็จพระนราธิบดีสัตตุตาปะราชา กลับชาติมาก็คือองค์สมเด็จพระศรีศากยมุนีโคดมบรมครูเจ้าของชาวเราพุทธบริษัททั้งหลาย

    พญามงคลหัตถี กลับชาติมาในชาติสุดท้ายภายหลัง คือพระมหากัสสปเถรเจ้าสังหวุฒาจารย์ ซึ่่งเป็นพระมหาเถระอรหันต์สำคัญที่สุดองค์หนึ่งในศาสนาของเรานี้

    นายหัตถาจารย์ผู้ชำนาญเวทย์ กลับมาในชาติสุดท้ายภายหลัง จักได้ตรัสเป็นสมเด็จพระมิ่งมงกุฏศรีอริยเมตไตรยสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งจักมาตรัสในอนาคตกาล หลังจากศาสนาของสมเด็จพระศรีศากยมุนีโคดมบรมครูเจ้า ที่เราท่านทั้งหลายเคารพนับถือกันอยู่ทุกวันนี้ เสื่อมคลายสลายสูญไปจากโลกนี้แล้ว และเมื่อสมเด็จพระศรีอริยเมตไตรยได้ตรัสรู้ประกาศพระศาสนาแล้ว คราวหนึ่งพระองค์จักเสด็จไปที่ภูเขากุกกุฏสัมปาตบรรตอันเป็นที่บรรจุศพของพระมหากัสสปเถรเจ้าแล้ว พระองค์เจ้าจักยื่นพระหัตถ์เบื้องขวาช้อนเอาซากศพของพระสังฆวุฒาจารย์อรหันต์กัสสปนั้น ขึ้นชูไว้บนฝ่าพระหัตถ์อันประกอบด้วยจักรลักษณะแล้ว จะมีพระพุทธฏีกาตรัสแก่พระอริยสงฆ์ทั้งหลายว่า

    "ดูกร เธอผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย! เธอจงพากันมองดูซึ่งซากศพนี้ นี่คือศพของผู้เป็นพี่ชายของตถาคต ซึ่งเป็นสาวกผู้ใหญ่ในศาสนาของสมเด็จพระมิ่งมงกุฏศรีศากยมุนีโคดมบรมครูเจ้า (สมเด็จพระศรีอริยเมตไตรย เคยบวชเป็นพระภิกษุในสมัยพุทธกาล มีนามว่า อชิตภิกษุ เป็นภิกษุหนุ่มมีพรรษาน้อย ฉะนั้น พระองค์จึงทรงเรียกพระมหากัสสปเถรเจ้าด้วยคำกล่าวออกนามว่า "พี่ชายของตถาคต" ในกาลครั้งนั้น) มีนามว่าพระอริยกัสสปเถระ เป็นผู้ทรงคุณพิเศษถือธุตังควัตรจนตราบเท่าดับขันธปรินิพพาน"

    ทรงมีพระพุทธฏีกาตรัสแนะนำดังนี้แล้ว สมเด็จพระศรีอริยเมตไตรยก็ทรงสรรเสริญคุณแห่งพระมหากัสสปเถรเจ้าอีกมากมายลึกซึ้งนักหนา ต่อหน้าพระอริยสงฆ์ทั้งหลายเป็นอันมาก ในขณะนั้น เปลวอัคคีก็จะบันดาลมีเกิดขึ้นเองในซากอสุภของพระเถรเจ้า แล้วก็ค่อยลามเลียลุกไหม้ศพให้สิ้นซากปราศจากเถ้าถ่าน อยู่บนฝ่าพระหัตถ์ ของสมเด็จพระสรรเพชญศรีอริยเมตไตรย ในกาลครั้งนั้นเป็นอัศจรรย์

    บัดนี้ เพื่อป้องกันความไขว้เขวออกไปนอกเรื่องมากมายเกินไป จะได้กลับมากล่าวถึงการสร้างพระบารมีเพื่อพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณขององค์สมเด็จพระบรมโลกกุตตมาจารย์ของเราทั้งหลาย ตั้งแต่ครั้งพระองค์ยังทรงเป็นพระโพธิสัตว์สืบต่อไป

    ;aa41​


    พระเทพมุนี

    มุนีนาถทีปนี : ศาสตร์ว่าด้วยการเป็นพระพุทธเจ้า
    หน้า ๙๗-๑๐๘
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 15 กรกฎาคม 2009

แชร์หน้านี้

Loading...