(๑๗) มรดกธรรมพระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ.๙)

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย anand, 28 กรกฎาคม 2009.

  1. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    ครั้งที่ ๑๒๕
    บรรยายวันจันทร์ที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๖
    เรื่อง


    มหาสติปัฏฐาน
    (ข้อว่า อุดมธรรม ต่อ)

    วันนี้ จะได้บรรยายเรื่องมหาสติปัฏฐาน ข้อที่ว่า "วิเนยฺย" แปลว่า นำผู้ปฏิบัติไปสู่อุดมธรรม อุดมธรรมนั้น มีอยู่ ๑๐ ประการ
    ประการที่ ๑ ถึง ๘ ได้บรรยายมาแล้ว เฉพาะวันนี้จะได้บรรยายประการที่ ๙ คือ วิมุติ และประการที่ ๑๐ คือวิมุตติญาณทัสสนะ สืบต่อไป

    ถ. คำว่า "วิมุติ" แปลและหมายความว่าอย่างไร?
    ต. วิมุติ แปลว่าหลุดพ้น หมายความว่า ไม่มีเครื่องผูก คือกิเลส สรรพสัตว์ถูกกิเลสผูกไว้ในภพน้อยภพใหญ่ ถ้าใครแก้ได้แล้ว ผู้นั้นก็หลุดจากเครื่องผูก พ้นจากเครื่องผูก เมื่อไม่มีเครื่องผูก ก็ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความเดือดร้อนอะไรเลย

    ถ. เครื่องผูกนั้นนอกจากเรียกว่ากิเลสแล้ว จะเรียกว่าอย่างได้อีกบ้าง?
    ต. เรียกได้หลายอย่าง คือเรียกว่า โอฆะบ้าง โยคะบ้าง อาสวะบ้าง คัณฐะบ้าง อุปาทานบ้าง

    ถ. ทำไมจึงมีชื่อมากมายอย่างนั้น?
    ต. ที่มีชื่อมากเช่นนั้น ก็เพราะหน้าที่ประจำ เช่นเดียวกันกับบุคคลเรานี้เอง คนๆ เดียว มีชื่อเรียกหลายๆ อย่าง เช่น ถ้าแม่เรียก ก็เรียกว่าลูก ถ้าลูกเรียก ก็เรียกว่าพ่อ ถ้าพี่เรียก ก็เรียกว่าน้อง ถ้าน้องเรียก ก็เรียกว่าพี่ ถ้าลูกศิษย์เรียก ก็เรียกว่าครู หรืออาจารย์ อันที่จริงก็คนๆ เดียวนั้นแหละ แต่ได้ชื่อตามหน้าที่

    ถ. คำว่าโอฆะ โยคะ เป็นต้นนั้น หมายความว่าอย่างไร มีเท่าไร อะไรบ้าง?
    ต. โอฆะ แปลว่า ห้วงน้ำ หมายความว่า น้ำภายนอกตามปกติธรรมดา ถ้าท่วมนา ก็ทำให้ข้าวตายหรือเสียหาย ถ้าท่วมสวนก็ทำให้ผลหมากรากไม้ต่างๆ เช่น ส้ม ทุเรียน ผัก เป็นต้นตาย เสียหาย ถ้าท่วมคน ก็ทำให้คนตาย ฉันใด กิเลสก็ฉันนั้น ถ้าท่วมกาย ท่วมวาจา ท่วมใจ ของผู้ใด ก็สามารถจะทำผู้นั้นให้รับทุกข์ทรมานจนตาย หรือเกือบตายก็ได้ ดังนั้นท่านจึงเปรียบกิเลสว่า เป็นเหมือนกันกับห้วงน้ำใหญ่
    โอฆะ นั้น มีอยู่ ๔ อย่าง คือ

    ๑. กามโอฆะ ห้วงน้ำ คือกามคุณ ๕ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
    ๒. ภวโอฆะ ห้วงน้ำ คือ ภพ ได้แก่ กามภพ รูปภพ อรูปภพ
    ๓. ทิฏฐิ ห้วงน้ำ คือทิฏฐิ ได้แก่ทิฏฐิต่างๆ เช่นทิฏฐิ ๓ ทิฏฐิ ๖๒
    ๔. อวิชโชฆะ ห้วงน้ำคือ อวิชชา ได้แก่ ความรู้อริยสัจ ๔

    ส่วนโยคะ ซึ่งแปลว่า กิเลสเป็นเครื่องประกอบสรรพสัตว์ไว้ในกองทุกข์ ในภพ ในสังสารวัฏฏ์ ก็มี ๔ เช่นกัน อาสวะ คัณฐะ อุปาทาน ก็มีอย่างละ ๔ เช่นเดียวกันนี้

    ถ. เราจะปฏิบัติอย่างไร จึงจะหลุดพ้นได้?
    ต. ต้องปฏิบัติตามทางสายกลาง คือมรรค ๘ จนพบวิมุติ จึงจะหลุดพ้นได้

    ถ. วิมุติมีเท่าไร อะไรบ้าง ปฏิบัติถึงวิมุติไหนจึงจะหลุดพ้นได้โดยเด็ดขาด?
    ต.วิมุติมี ๕ คือ ตฑังวิมุติ วิกขัมภนวิมุติ สมุจเฉทวิมุติ ปฏิปัสสัทธิวิมุติ นิสสรณวิมุติ ต้องปฏิบัติถึงสมุจเฉทวิมุติ จึงจะหลุดพ้นได้โดยเด็ดขาด

    ถ. วิมุติทั้ง ๕ นี้ มีอธิบายต่างกันไอย่างไรบ้าง?
    ต. วิมุติทั้ง ๕ นั้น มีอธิบาย ดังนี้ คือ

    ๑. ตฑังควิมุติ

    หลุดพ้นด้วยองค์นั้นๆ หมายความว่า หลุดพ้นไปชั่วขณะหนึ่งๆ เช่น ขณะฟังเทศน์ ขณะนั่งเจริญพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ขณะบริกรรมบทพระกรรมฐานบทใดบทหนึ่ง เช่น พุทโธ หรือ พองหนอ ยุบหนอ เป็นต้น ขณะนั้นถ้่าทำถูกหลัก คือพร้อมไปด้วยองค์ ๓ ได้แก่ มีความเพียร ตั้งใจทำ ๑ มีสติระลึกได้อยู่เสมอ ๑ มีสัมปชัญญะรู้ตัวอยู่ทุกขณะ ๑ จิตจะหลุดพ้นไปด้วยองค์ของพระธรรมนั้นจริง หลุดพ้นอย่างนี้เพียงชั่วขณะเท่านั้น ยังเป็นโลกียะอยู่

    ๒. วิกขัมภนวิมุติ

    หลุดพ้นด้วยการข่มไว้ หมายความว่า ข่มกิเลสไว้ด้วยองค์ของฌานทั้ง ๕ ผู้ที่จะข่มได้อย่างนี้ ต้องเจริญสมถกรรมฐานจนได้บรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน เป็นต้นก่อน องค์ฌาน ๕ นั้น คือวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เป็นคู่ปรับกับกิเลสขั้นกลาง คือนิวรณ์ ๕ ได้แก่ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจะ กุกกุจจะ วิจิกิจฉา เมื่อปฏิบัติธรรม คือเจริญสมถกรรมฐาน จนได้บรรลุฌานอย่างนี้ ชื่อว่าหลุดพ้นจากกิเลสด้วยการข่มไว้เพียงชั่วคราว ดุจเอาหินทับหญ้าไว้เท่านั้น กิเลสยังมีอยู่ กิเลสยังไม่หมด ฌานเสื่อมเมื่อใด เมื่อนั้น ก็พาให้ได้รับทุกข์อีก เหมือนกับต้นอุตพิษ ถ้ารากยังมีอยู่ ก็จะต้องมีดอกออกมาส่งกลิ่นเหม็นต่อไปได้อีกฉะนั้น ความหลุดพ้นขั้นนี้ยังเป็นโลกียะอยู่

    ๓. สมุจเฉทวิมุติ

    หลุดพ้นโดยเด็ดขาด ด้วยอำนาจแห่งอริยมรรค หมายความวาอนุสัยกิเลสที่นอนดองอยู่ในขันธสันดาน จะหลุดออกไปได้ ต้องอาศัยปัญญาขั้นสูงสุดเหนือโลกทั้ง ๓ คือ เหนือกามโลก เหนือรูปโลก เหนืออรูปโลก ได้แก่โลกุตตรปัญญานั่นเอง ปัญญาขั้นนี้จะเกิดขึ้นได้โดยวิธีเดียวเท่านั้น คือเจริญวิปัสนากรรมฐานตามแบบของสติปัฏฐานทั้ง ๔ เช่น กำหนดกาย เวทนา จิต ธรรม เมื่อปฏิบัติถูกต้องแล้ว จะเกิดปัญญาขึ้นมาโดยลำดับๆ นับตั้งแต่โลกียะจนถึงโลกุตตระ
    ตัวอย่าง
    ๑. เกิด นามรูปปริจเฉทญาณ พิจารณาแยกรูปกับนามออกจากกันได้
    ๒. เกิด ปัจจยปริคคหญาณ พิจารณารู้เหตุ รู้ผล รู้ปัจจัยของรูปนาม
    ๓. เกิด สัมมสนญาณ พิจารณารูปนาม เห็นว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
    ๔. เกิด อุทยัพพยญาณ พิจารณาเห็นความเกิด ความดับของรูป นาม ตั้งแต่ข้อนี้ไป จัดเป็นภาวนามยปัญญา
    ๕. เกิด ภังคญาณ พิจารณาเห็นเฉพาะความดับไปของรูปนามฝ่ายเดียว
    ๖. เกิด ภยญาณ พิจารณาเห็นว่า รูปนามเป็นของน่ากลัว
    ๗. เกิด อาทีนวญาณ พิจารณาเห็นทุกข์โทษของรูปนาม
    ๘. เกิด นิพพิทาญาณ พิจารณาเห็นรูปนามเป็นของที่น่าเบื่อหน่าย แล้วเบื่อหน่ายในรูปนาม
    ๙. เกิด มุญจิตุกัมยตาญาณ อยากจะหลุดพ้นจากรูปนาม
    ๑๐. เกิด ปฏิสังขาญาณ ใจเข้มแข็ง ตั้งใจปฏิบัติจริงๆ เพื่อให้หลุดพ้น
    ๑๑. เกิด สังขารุเปกขาญาณ ใจเฉยๆ แต่มีสติสัมปชัญญะดี ดูความเกิดดับของรูปนามอยู่
    ๑๒. เกิด สัจจานุโลมิกญาณ เป็นรูปนามเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง และแทงตลอดอริยสัจจธรรมทั้ง ๔ ยังเป็นโลกียปัญญาอยู่
    ๑๓. เกิด โคตรภูญาณ ปัญญาที่ครอบงำและทำลายโคตรของปุถุชนเข้าสู่เขตของพระอริยเจ้่า อยู่ในระหว่างกลางแห่งโลกียะกับโลกุตตระต่อกัน แต่มีนิพพานเป็นอารมณ์แล้ว ถึงขึ้นนี้ก็ยังละกิเลสไม่ได้โดยเด็ดขาด
    ๑๔. เกิด มรรคญาณ ปัญญาที่ตัดกิเลส ที่เป็นตัวเหตุนำไปสู่อบายภูมิได้อย่างเด็ดขาด คือ โลภะ ๔ กับโมหะ ๑ นิยมเรียกตามสำนวนพระสูตรว่า สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ปัญญาขั้นนี้เป็นโลกุตตระแท้ มีนิพพานเป็นอารมณ์ ปฏิบัติถึงขั้นนี้ หลุดพ้นได้จริงๆ อย่างนี้ จึงเรียกว่า เป็นสมุทเฉทวิมุติ ได้
    ๑๕. เกิด ผลญาณ ปัญญาที่สัมปยุตด้วยผล มีนิพพานเป็นอารมณ์ เป็นโลกุตตระ
    ๑๖. เกิด ปัจเวกขณญาณ ปัญญาที่หวนกลับไปพิจารณากิเลสที่ละแล้ว กิเลสที่ยังเหลืออยู่ มรรค ผล นิพพาน ปัญญาขั้นนี้เป็น โลกียะ
    ๔. ปฏิปัสสัทธิวิมุติ


    ปฏิปัสสัทธิวิมุติ แปลว่า หลุดพ้นอย่างสงบระงับ หมายความว่ากิเลสไม่กลับฟูขึ้นมาได้อีกแล้ว ภพชาติก็น้อยลงไปมากแล้ว อย่างมากก็เหลือเพียง ๗ ชาติเท่านั้น เป็นโลกุตตระอยู่เหนือโลกทั้ง ๓ คือ เหนือกามโลก เหนือรูปโลก เหนืออรูปโลก โดยองค์ธรรมได้แก่ผลญาณ คือญาณที่ ๑๕ นั่นเอง

    ๕. นิสสรณวิมุติ

    นิสสรณวิมุติ แปลว่า หลุดพ้นโดยสลัดออกไม่มีเหลือ ได้แก่ละกิเลสได้โดยเด็ดขาด ด้วยไม่มีกิเลสเหลือเป็นเชื้อที่จะก่อภพก่อชาติอีกต่อไปด้วย เป็นอันว่ากิจที่ควรทำได้ทำสำเร็จแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจอื่นที่จะต้องทำไม่มีอยู่อีกเลย โดยองค์ธรรมได้แก่ อมตมหานิพพาน นั่นเอง

    ๑๐.วิมุติญาณทัสสนะ

    คำว่า "วิมุติญาณทัสสนะ" แปลว่า พิจารณาเห็นว่าได้หลุดพ้นแล้ว" หมายความว่า ได้พิจารณาด้วยปัญญาอันเป็นผลแห่งการปฏิบัติ รู้แน่ชัดแล้วว่า ละกิเลสได้หมดสิ้นไม่มีเหลือ โดยองค์ธรรมได้แก่ปัจจเวกขณญาณ ปัจจเวกขณญาณนั้น ทั้งหมดมีอยู่ ๑๙ อย่างคือ

    ปัจจเวกขณญาณ ของพระโสดาบัน ๕ ได้แก่ พิจารณากิเลสที่ละได้แล้ว ๑ พิจารณากิเลสที่ยังเหลืออยู่ ๑ พิจารณามรรค ๑ พิจารณาผล ๑ พิจารณานิพพาน ๑

    ปัจจเวกขณญาณของพระสกิทาคามี ๕ ได้แก่ พิจารณากิเลสที่ละได้แล้ว ๑ พิจารณากิเลสที่ยังเหลืออยู่ ๑ พิจารณามรรค ๑ พิจารณาผล ๑ พิจารณานิพพาน ๑

    ปัจจเวกขณญาณของพระอนาคามี ๕ ได้แก่ พิจารณากิเลสที่ละได้แล้ว ๑ พิจารณากิเลสที่ยังเหลืออยู่ ๑ พิจารณามรรค ๑ พิจารณาผล ๑ พิจารณานิพพาน ๑

    ปัจจเวกขณญาณของพระอรหันต์ ๔ ได้แก่ พิจารณากิเลสที่ละแล้ว ๑ พิจารณามรรค ๑ พิจารณาผล ๑ พิจารณานิพพาน ๑

    คำว่า "วิเนยฺย" แปลว่า นำผู้ปฏิบัติไปสู่อุดมธรรม คือธรรมอันสูงสุด ๑๐ ประการ คือไม่มีตัณหา ๑ สันโดษ ๑ วิเวก ๑ ไม่ระคนด้วยหมู่ ๑ ปรารภความเพียร ๑ ศีล ๑ สมาธิ ๑ ปัญญา ๑ วิมุติ ๑ วิมุติญานทัสสนะ ๑ ซึ่งมีความพิสดารดังที่ได้บรรยายมาแล้วนั้น เมื่อจะย่อให้สั้นๆ ก็ได้แก่นำความโลภ ความโกรธ ความหลง ออกจากขันธสันดานโดยสิ้นเชิงนั่นเอง เป็นอันว่า อุดมธรรมนั้น ขอสมมติว่าจบลงเพียงเท่านี้

    ต่อนี้ไปจะได้บรรยายประเด็นที่ ๒ ที่ว่า "นำไปสู่ข้อปฏิบัติอันเป็นวงศ์ของพระอริยเจ้า"

    คำว่า "ข้อปฏิบัติอันเป็นวงศ์ของพระอริยเจ้า" นั้นมีอยู่มากมายหลายประการด้วยกัน เฉพาะในที่นี้ จะได้ยกมาบรรยายเพียง ๒ ประการ เท่านั้น คือ
    ๑. ความสันโดษในปัจจัย ๔
    ๒. ยินดีในภาวนา หรือมีภาวนาเป็นที่ยินดี

    ความสันโดษในปัจจัย ๔ นั้น ได้บรรยายมาแล้วในวันจันทร์ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๖

    คำว่า "ภาวนา" แปลว่า ทำให้เกิดให้มีขึ้น ได้แก่หมั่นทำบ่อยๆ หมั่นเจริญบ่อยๆ หมั่นฝึกบ่อยๆ จนกว่าจะได้ผลสุดยอดที่พระพุทธองค์ทรงชี้บอกไว้

    ภาวนา นั้น มีอยู่ ๒ อย่างคือ สมถภาวนา ๑ วิปัสสนาภาวนา ๑

    กรรมฐาน ทั้ง ๒ นี้ มีปรากฎอยู่ในพระไตรปิฎก ทั้งอรรถกถาและฎีกา ทางพระศาสนาถือว่า กรรมฐานทั้ง ๒ นี้ เป็นธุระอันสำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา ถ้าศาสนาปราศจากธุระทั้ง ๒ นี้เสียแล้ว จะไม่มีความหมายอะไรเลย ตัวอย่างเช่น จะพึงเห็นได้จากการบวชเป็นภิิกษุสามเณรนี้เอง คือผู้ที่บรรพชาเป็นสามเณรก็ดี ผู้ที่จะอุปสมบทเป็นพระก็ดี จะต้องเรียนให้รู้กรรมฐานเสียก่อน เรียนตั้งแต่ยังเป็นนาคอยู่ ต้องท่องกรรมฐานให้ได้คล่องแคล่วดี สามารถว่ากลับไปกลับมา ซึ่งเรียกว่า อนุโลม ปฏิโลม จนชำนาญแล้วจึงจะให้บวช ก่อนพระอุปัชฌาย์จะเอาผ้าอังสะใส่บ่าให้ ก็ต้องสอนให้ว่า "ตจปัญจกกรรมฐาน" ก่อน เมื่อว่าได้ดีแล้วจึงจะยอมเอาผ้าเหลืองไปสวมให้ แล้วบอกให้ออกไปนุ่งห่มผ้าได้ และเมื่อบวชแล้วก็ต้องอบรบเรียนทั้งภาคปริยัติ ภาคปฏิบัติอยู่ในสำนักของพระอุปัชฌาย์ครบ ๕ ปีก่อน จึงจะไปอยู่ที่อื่นได้ อย่างนี้ก็พอชี้ให้เห็นได้อย่างเด่นชัดแล้วว่า กรรมฐานเป็นหัวใจของนักบวชจริงๆ

    นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างอีกมากมาย เช่น สมัยพระพุทธองค์ประทับอยู่พระเชตวันมหาวิหาร ปรารภ พระเถระรูปหนึ่ง ชื่อว่า ธัมมาราม พอพระองค์ได้แจ้งข่าวว่า อีกประมาณ ๔ เดือนจักปรินิพพาน ภิกษุเป็นจำนวนหลายพันรูป ได้ตามแวดล้อมพระองค์ไป ที่เป็นปุถุชนก็ร้องไห้้ ที่เป็นพระขีณาสพก็เกิดธรรมสังเวช ส่วนพระธัมมารามไม่คลุกคลีกับใครๆ เลย ตั้งใจปฏิบัติกรรมฐานอย่างสุดความสามารถใส่ใจแต่เรื่องพระกรรมฐานเท่านั้น พระองค์ประทานสาธุการแก่ท่านว่า "สาธุ ๆ สาธุ ๆ" ดังนี้ ทรงชี้ให้ภิกษุทั้งหลายเอาตัวอย่างว่า

    "ภิกฺขเว อญฺเญนปิ มยิ สิเนหวนฺเตน ภิกฺขุนา ธมฺมารามสทิเสเนว ภวิตพฺพํ น หิ มยฺหํ มาลาคนฺธาทีหิ กโรนฺตา ปูชํ กโรนฺติ นาม"

    "ดูกร ท่านผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสารทั้งหลาย ภิกษุผู้มีความจงรักภักดีในเราจงเจริญกรรมฐานเช่นกับพระธัมมารามนั้นเถิด เพราะว่าผู้ที่เอาดอกไม้ของหอม เป็นต้น มาบูชาเรา ยังไม่ชื่อว่าได้บูชาเราอย่างแท้จริงเลย ส่วนผู้ที่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม คือเจริญกรรมฐานสมควรแก่มรรค ผล นิพพานเท่านั้น จึงจะชื่อว่า ได้บูชาเราอย่างแท้จริง"

    ดังนี้ แล้วทรงแสดงธรรมเทศนาอีกกัณฑ์หนึ่งว่า

    ธมฺมาราโม ธมฺมรโต ธมฺมํ อนุวิจินฺตยํ
    ธมฺมํ อนุสสรํ ภิกฺขุ สทฺธมฺมา น ปริหายติ


    "ภิกษุ มีธรรมคือสมถะและวิปัสสนาเป็นที่มายินดี ยินดียิ่งในธรรม คือ สมถะและวิปัสสนา คิดอยู่บ่อยๆ นึกถึงอยู่บ่อยๆ กระทำไว้ในใจบ่อยๆ อนุสรณ์ถึงอยู่บ่อยๆ ซึ่งสมถะและวิปัสสนานั้น ย่อมไม่เสื่อมจากโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ และไม่เสื่อมจากโลกุตตรธรรม ๙ คือ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑" ดังนี้

    ผู้ใดยินดี พอใจ ได้ลงมือปฏิบัติธรรม คือเจริญสมถะและิวิปัสสนา ผู้นั้น ชื่อว่าดำรงอยู่ในข้อปฏิบัติอันเป็นวงศ์แห่งพระอริยเจ้าแท้

    ได้บรรยายเรื่อง มหาสติปัฏฐาน เฉพาะคำ่ว่า "วิเนยฺย" มา ๓ ครั้งแล้ว ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๔ ก็จบบริบูรณ์ลงคงไว้แต่เพียงเท่านี้.


    thx1


    พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ.๙)

    คำบรรยาย : วิปัสสนากรรมฐาน เล่ม ๗
    หน้า๑๔๗-๑๕๔









     

แชร์หน้านี้

Loading...