เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพฤหัสบดีที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๗

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 22 สิงหาคม 2024.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,827
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,570
    ค่าพลัง:
    +26,413
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพฤหัสบดีที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๗


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,827
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,570
    ค่าพลัง:
    +26,413
    วันนี้ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๒๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗ กระผม/อาตมภาพเดินทางไปถึงวัดบึงไม้ หมู่ที่ ๕ บ้านบึงไม้ ตำบลชะอม อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ตั้งแต่ประมาณ ๖ โมงครึ่ง เมื่อไปถึงพระมหาสังวาลย์ ปญฺญาธโร ป.ธ. ๓ เจ้าอาวาสก็ออกมาต้อนรับ

    สิ่งที่ประทับใจที่สุดก็คือ รอบ ๆ วัดมีต้นไม้ที่ล้อมเอาไว้ บริเวณโคนที่ล้อมนั้นเป็นก้อนดินที่ใหญ่มาก น้ำหนักน่าจะถึงประมาณ ๑ ตัน ต้นไม้เหล่านั้นได้รับการห่อด้วย "สแลน" เป็นอย่างดี และตั้งเอาไว้เป็นจุดรอบบริเวณ ซึ่งต้นไม้ทั้งหลายเหล่านี้นั้นเป็นต้นไม้ล้อม ที่ทางบรรดาร้านขายต้นไม้ของตำบลชะอม ได้ไปซื้อหาและทำการขุดล้อมมาจากทางภาคอีสาน ก็คือเป็นไม้ตามหัวไร่ชายนาต่าง ๆ

    เท่าที่ดูก็มีต้นโมกมัน มีบรรดาไม้สำคัญ อย่างเช่นต้นกระโดน ซึ่งปัจจุบันนี้ทางภาคกลางหาดูได้ยากแล้ว หลายต้นใช้คำประมาณว่า ตั้งชื่อให้ดูไพเราะ อย่างมะยมเงิน มะยมทอง กระผม/อาตมภาพรู้จักแต่เดิมว่าชื่อต้นยมหิน เหล่านี้เป็นต้น

    ต้นไม้ทั้งหลายเหล่านี้ถ้าหากว่าไปถึงร้านขายต้นไม้แถวจตุจักร หรือว่าบรรดาคลองต่าง ๆ รอยต่อระหว่างปทุมธานีและนครนายก ราคาก็จะขึ้นไปเป็นเท่า ๆ ตัว ทางด้านพระมหาสังวาลย์ท่านบอกว่า ถ้าเรื่องต้นไม้ล้อมแล้ว ทั้งประเทศไทยต้องยกให้ตำบลชะอม อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรีนี้เป็นที่หนึ่ง ที่อื่นส่วนใหญ่ก็รับไปจากที่นี่ทั้งนั้น

    เมื่อได้ฉันเช้าเป็นข้าวต้มกุ้งที่อร่อยมาก และขณะเดียวกันก็ทึ่งมาก เนื่องเพราะว่าพระภิกษุสามเณรที่วัดนี้มีมาก เมื่อสอบถามว่าเป็นพระจากวัดใกล้เคียงท่านมาช่วยทำงานหรืออย่างไร ? ท่านเจ้าอาวาสบอกว่าเป็นพระภิกษุสามเณรของวัดนี้เอง ซึ่งมีถึง ๓๐ กว่ารูป..!

    ในส่วนของเณรนั้นเป็นเด็กด้อยโอกาส เนื่องเพราะว่าฐานะยากจน ไม่มีโอกาสที่จะศึกษา จึงรับมาบวชเณรเพื่อที่จะได้เรียนหนังสือ ในเมื่อมีโอกาสทางการศึกษาและบอกต่อ ๆ กันไป จึงมีชาวบ้านที่ฐานะยากจน ส่งลูกเรียนไม่ไหว ได้นำเอาลูก ๆ มาบวชสามเณรเป็นจำนวนมาก จึงได้เห็นว่ามีถึง ๓๐ กว่ารูปด้วยกัน
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,827
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,570
    ค่าพลัง:
    +26,413
    กระผม/อาตมภาพไปนึกถึงบรรดาบุคคลผู้ไร้สติที่กล่าวว่า พระภิกษุสามเณรของเรานั้นเป็น "กาฝากสังคม" เอาเปรียบชาวบ้าน ขอเขากินแล้วยังไม่พอ ยังเรียนในหน่วยกิตที่ถูกมาก บ้านไม่ต้องเช่า ข้าวไม่ต้องซื้ออีกต่างหาก อยากจะให้มาดูงานของทางวัดบึงไม้แห่งนี้ ว่าช่วยเด็กด้อยโอกาสในสังคมแทนส่วนราชการไปเท่าไร ?

    แล้ววัดประเภทนี้ไม่ได้มีแค่วัดสองวัดเท่านั้น ที่โดดเด่นมาก ๆ อย่างเช่นว่าวัดโมลีโลกยาราม ราชวรวิหาร ของท่านเจ้าคุณสุทัศน์ - พระพรหมวชิโรดม, ดร. (สุทัศน์ วรทสฺสี ป.ธ.๙) ซึ่งท่านเองเปิดสำนักเรียนบาลี ผลิตสามเณรประโยค ๙ เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะปีนี้สามเณรที่จบประโยค ๙ แล้วอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ ก็คือเพิ่งจะอายุ ๑๗ ปีเท่านั้น..!

    บรรดาเด็กด้อยโอกาสทั้งหลายเหล่านี้ เป็นส่วนที่ทางราชการไม่สามารถจะหนุนเสริมได้ เนื่องเพราะว่าอันดับแรกก็คือพ่อแม่มีฐานะยากจน ไม่สามารถที่จะส่งบุตรหลานเข้าเรียนตามโรงเรียนรัฐบาลได้ แม้ที่โฆษณากันปาว ๆ ว่าเรียนฟรี ๑๒ ปี ก็ฟรีเฉพาะไม่มีค่าเทอมเท่านั้น ในเรื่องของเครื่องแบบ เรื่องของสมุดดินสอ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ล้วนแล้วแต่มีทั้งสิ้น

    ใครที่จะปฏิเสธก็ต้องบอกว่า "ท่านเป็นส่วนน้อยที่แปลกแยกจากสังคม" เนื่องเพราะว่ากระผม/อาตมภาพคลุกคลีอยู่ในวงการศึกษามานับสิบปี ซาบซึ้งเป็นอย่างดีว่า "คำว่าเรียนฟรีนั้นไม่มีในโลก" ขนาดการศึกษาของคณะสงฆ์ที่ต้องถือว่าราคาถูกมากแล้วก็ยังไม่ใช่ของฟรี เพียงแต่ว่าเรามีโครงการอุปถัมภ์ค้ำจุนกัน

    อย่างที่กระผม/อาตมภาพสนับสนุนค่าเดินทาง ให้กับพระภิกษุสามเณร
    ของอำเภอทองผาภูมิทุกรูป ซึ่งไปเรียนที่วิทยาลัยสงฆ์กาญจนบุรีศรีไพบูลย์ โดยที่ถวายค่ารถให้รูปละ ๓,๐๐๐ บาทต่อเดือน หรือว่าท่านที่มาเรียนห้องเรียนวัดปรังกาสี ซึ่งเปิดให้เรียนทั้งระดับประกาศนียบัตรและระดับปริญญาตรีนั้น กระผม/อาตมภาพก็เหมาจ่ายค่าเทอมให้ทั้งหมด โดยเฉพาะในส่วนของวิทยาลัยสงฆ์เอง ในแต่ละปีกระผม/อาตมภาพก็สนับสนุนค่าเล่าเรียนเป็นจำนวนมาก ๆ ด้วยกัน แล้วยังได้สนับสนุนการศึกษาของโรงเรียนต่าง ๆ ด้วยการให้ทุนการศึกษาทั้ง ๓๓ โรงเรียนในเขตอำเภอทองผาภูมิ

    เรื่องพวกนี้ส่วนราชการบางทีก็ทำไม่ได้ หรือว่าทำได้ งบประมาณก็อาจจะหายหกตกหล่นไปกลางทาง ทั้ง ๆ ที่กระทรวงศึกษาธิการของเรานั้นมีงบประมาณมากที่สุด แต่ว่าไม่สามารถที่จะจูงใจให้คุณครูทุ่มเทให้กับการสอนอย่างเต็มที่ แล้วขณะเดียวกันก็ไม่อาจจะที่จะจูงใจให้เด็กสนใจในเรื่องของการเรียน เนื่องเพราะว่า "กลัดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรก" ก็เลยผิดต่อมาโดยตลอด
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,827
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,570
    ค่าพลัง:
    +26,413
    เนื่องเพราะว่าคนรุ่นเก่านั้น ถ้าหากว่าเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ ก็มักจะเข้าเรียนที่วิทยาลัยครู ซึ่งปัจจุบันก็คือมหาวิทยาลัยราชภัฏของจังหวัดต่าง ๆ ในเมื่อบุคคลที่เป็นครูควรที่จะเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถเก่งกาจที่สุด เพื่อที่จะได้ถ่ายทอดต่อให้คนรุ่นหลังได้ดีที่สุด กลายเป็นว่าบุคคลที่เป็นครูตั้งแต่รุ่นก่อนกระผม/อาตมภาพ มาจนถึงรุ่นของกระผม/อาตมภาพ และรุ่นหลัง ๆ อย่างที่เห็นอยู่นี้ก็คือ มักจะเป็นบุคคลที่เหลือเลือกแล้ว..!

    ในเมื่อเป็นเช่นนั้น วัตถุซึ่งจะเอามาเข้ากระบวนการให้ออกมาเป็นแม่พิมพ์ที่ดี เป็นวัตถุที่มีคุณภาพต่ำมาก สามารถประคองการศึกษาของประเทศเรา ทุลักทุเลมาจนทุกวันนี้ได้ ต้องถือว่าคุณครูทั้งหลายทำหน้าที่ของตนเองได้สุดยอดแล้ว เหลือแต่บรรดานักการเมืองและเจ้าหน้าที่การศึกษาระดับต่าง ๆ เท่านั้น ว่าเมื่อไรจะมีจิตสำนึกที่ดีเสียที

    การเร่งรัดโครงการต่าง ๆ ที่ให้ทำ เพราะหวังจะให้การศึกษาของเราก้าวหน้านั้น ทำให้บรรดาครูต้องมีงานเอกสารต่าง ๆ ท่วมหัว ไม่มีเวลาในการเตรียมการเรียนการสอนให้ดี แล้วอีกประการหนึ่งก็คือ หลักสูตรต่าง ๆ ก็ไม่ได้ปรับให้เข้ากับบริบทสังคมในที่นั้น ๆ ยกเว้น คุณครูบางท่านที่มีความรู้ความสามารถ สามารถที่จะปรับให้เข้ากับบริบทสังคมนั้นได้ ก็ถือว่าเป็นความโชคดีของเด็ก ๆ ในบริเวณนั้นไป

    กระผม/อาตมภาพรอจนกระทั่งพระเดชพระคุณพระธรรมวชิรานุวัตร, ดร. (แย้ม กิตฺตินฺธโร) เจ้าคณะภาค ๑๔ ประธานคณะกรรมการโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ด้วยหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา (หมู่บ้านรักษาศีล ๕) ในส่วนของกรรมการบริหารกลางเดินทางมาถึง ขณะที่เดินดูนิทรรศการต่าง ๆ เพื่อรอจนกระทั่งท่านเจ้าคุณอาจารย์พระเดชพระคุณพระเทพปวรเมธี, รศ. ดร. (ประสิทธิ์ พฺรหฺมรํสี ป.ธ.๙) รองเจ้าคณะภาค ๑๕ ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ด้วยหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา (หมู่บ้านรักษาศีล ๕) ระดับหน ในส่วนของหนกลางเดินทางมาแล้ว ก็ได้เข้าสู่พระอุโบสถ ทำการเจริญพระพุทธมนต์ถวายองค์พระประธาน ถ่ายรูปหมู่เป็นที่ระลึกแล้วออกมาชมนิทรรศการต่าง ๆ

    กระผม/อาตมภาพได้ชมเป็นรอบที่สอง โดยมีการควักเงินให้กับเด็ก ๆ ทั้งหลายที่ออกบูธแสดงงานต่าง ๆ ให้ดู ว่าสามารถปรับเอาศีล ๕ มาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างไรได้บ้าง แต่ว่าเด็ก ๆ โรงเรียนบ้านบึงไม้นั้น บางทีก็ไม่สามารถที่จะตอบคำถามคณะกรรมการได้ เพราะว่าสิ่งที่กรรมการถามกับสิ่งที่ตนเองท่องไว้นั้นเป็นคนละเรื่องเดียวกัน พวกเราเมื่อแจกรางวัลให้กับเด็ก ๆ และให้กำลังใจในส่วนของนิทรรศการทั้งหมดแล้ว ก็ได้ขึ้นสู่ศาลาการเปรียญวัดบึงไม้ ทำพิธีตรวจประเมินต่าง ๆ ตามขั้นตอน
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,827
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,570
    ค่าพลัง:
    +26,413
    วันนี้ด้วยความที่กระผม/อาตมภาพมาถึงก่อน ได้คุยกับท่านอาจารย์พระมหาสังวาลย์ ปญฺญาธโร เจ้าอาวาสก็ดี หรือว่าคุยกับบรรดาแม่ชี และแม่ออกแม่ขาวที่ใส่ชุดขาวปฏิบัติธรรมอยู่ก็ตาม ตลอดจนกระทั่งบรรดาแม่ครัวและเจ้าหน้าที่ ซึ่งดูแลการจราจรและดูแลสถานที่ต่าง ๆ ได้เก็บข้อมูลเอาไว้ทั้งหมดแล้ว

    จึงได้กล่าวชมเชยท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ตลอดจนกระทั่งนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และส่วนราชการต่าง ๆ ที่สามารถดึงเอาศักยภาพของบุคคลในพื้นที่ออกมา จนทำให้บริเวณบ้านบึงไม้และตำบลชะอมนี้ กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญมาก ๆ เพราะว่ามีลานกางเต็นท์ตลอดลำธารถึงสองสามร้อยแห่งด้วยกัน ลำธารสายนี้ก็มาจากน้ำตกโกรกอีดก ซึ่งถือว่าเป็นน้ำตกที่สูงเป็นระดับต้น ๆ ของประเทศไทย ตลอดจนกระทั่งงานขายต้นไม้ล้อมทั้งหลายเหล่านี้

    และส่วนที่น่าทึ่งก็คือมีสวนทุเรียน สวนมังคุดเป็นจำนวนมาก น่าเสียดายที่ว่าเรามาผิดฤดู ถ้าทำการตรวจประเมินตั้งแต่สองเดือนที่แล้ว ก็คงจะได้ชิมรสชาติของทุเรียนภูเขา ซึ่งดูจากรูปแล้ว หน้าตาน่ารับประทานเป็นอย่างยิ่ง..!

    เมื่อกล่าวชมเชยทุกท่านที่สามารถดึงเอาสมรรถภาพ ตลอดจนกระทั่งต้นทุนวัฒนธรรมในท้องที่ออกมาแปรเป็นมูลค่า สนับสนุนให้ทุกคนสามารถที่จะรักษาศีลปฏิบัติธรรมได้อย่างสบายใจ เนื่องเพราะว่าทุกคนมีกินมีใช้ มีงานมีการทำโดยทั่วถึงกัน จึงทำให้บ้านบึงไม้ หมู่ที่ ๕ ตำบลชะอม อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรีแห่งนี้ เป็นหมู่บ้านที่สมควรจะได้ยกขึ้นเป็นหมู่บ้านรักษาศีล ๕ ต้นแบบ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรีเอง ก็เป็นบุคคลที่นำปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ และนำข้าราชการทุกหมู่เหล่า ในการปฏิญาณตนนำเอาศีล ๕ ไปเป็นเครื่องดำเนินชีวิตด้วย จึงทำให้เกิดความประทับใจมาก

    เมื่อกระผม/อาตมภาพมอบใบให้คะแนนกับทางคณะกรรมการไปแล้ว ก็ลงไปฉันเพลร่วมกับบรรดาพระสังฆาธิการ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล และเจ้าอาวาสของทางคณะสงฆ์จังหวัดสระบุรี อิ่มแล้วก็ขออนุญาตเดินทางไปให้หมอซ่อมสุขภาพ

    ปรากฏว่าการนั่งรถไปตรวจประเมินโครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕ ได้แค่ ๖ จังหวัด ก็ทำให้ออกอาการ "เดี้ยง" จนกระทั่งหมอต้องจับทั้งดัดทั้งดึงให้ยุ่งไปหมด กว่าที่จะกลับคืนเข้าที่เดิม แล้วก็เข้าสู่ที่พัก ซึ่งมีผู้เมตตาเช่าโรงแรมอย่างดีให้นอน รอเวลาการเดินทางไปทำหน้าที่ของตนเองในวันพรุ่งนี้ต่อไป

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันพฤหัสบดีที่ ๒๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...