อานิสงส์ของกฐินสำคัญที่สุดตรงผ้าไตร

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 15 ตุลาคม 2024.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,817
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,568
    ค่าพลัง:
    +26,408
    IMG_3127.jpeg

    ในส่วนของงานกฐินนั้น ที่สำคัญอีกอย่างก็คือผู้ครองผ้ากฐิน ถ้าว่ากันโดยพระธรรมวินัยแล้ว ท่านให้บุคคลที่มีจีวรเก่าที่สุดในวัดได้ผ้านั้นไป แต่ว่าระยะหลัง ส่วนใหญ่เจ้าอาวาสมักจะเป็นผู้ครองผ้ากฐิน

    เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะ บางท่านถือว่าผู้ครองกฐินจึงมีสิทธิ์ที่จะรับบริวารกฐินทั้งหมด ผู้อื่นไม่มีสิทธิ์รับ เจ้าอาวาสก็เลยมักจะครองกฐินเสียเอง แต่ความจริงแล้วเป็นการเข้าใจผิด เพราะว่าบางวัดมีพระไม่ครบ ๕ รูป ไม่สามารถที่จะรับกฐินได้ ต้องไปยืมพระวัดอื่นมา

    การไปยืมพระวัดอื่นมานั้น พระวัดอื่นที่มานั้น ไม่มีสิทธิ์ไม่มีส่วนในกฐินนั้นทั้งสิ้น ให้เฉพาะบุคคลที่จำพรรษาในวัดนั้นเท่านั้น ดังนั้น...จึงมีการเข้าใจผิดกันว่า ถ้าไม่ครองกฐินแล้วจะไม่มีโอกาสได้รับบริวารกฐิน ซึ่งก็คือไม่มีสิทธิ์รับเงิน ก็ขอให้เข้าใจให้ถูกเสียใหม่

    สำหรับวัดท่าขนุนของเรานั้น ครองกฐินกันไปตามอายุพรรษา ก็คือถ้าปีนี้ไปถึงใคร ปีหน้าท่านถัดไปก็จะรู้เองว่าถึงคิวของตนเองครองกฐินแล้ว สำหรับผู้ครองกฐินนั้นต้องรับภาระหนัก เพราะว่าต้องเป็นผู้รักษาผ้าครองแทนพระทั้งวัด ในเมื่อเป็นผู้รักษาผ้าครองแทนพระทั้งวัด บุคคลที่ได้อานิสงส์กฐินสามารถผ่อนคลายสิกขาบทได้หลายข้อ พูดง่าย ๆ ก็คือ ละเว้นให้ไม่ต้องรักษาศีลหลายข้อ อย่างเช่นว่าการเที่ยวไปโดยไม่ต้องบอกลา ซึ่งปกติแล้ววัดท่าขนุนของเราไม่ยอมให้ไปโดยไม่ต้องบอกลา ออกจากวัดไปไหนจะต้องลาทุกคน อานิสงส์กฐินข้อนี้จึงไม่มีประโยชน์สำหรับพระวัดท่าขนุน

    สามารถฉันคณะโภชนาได้ ก็คือโดยปกติแล้ว ถ้าญาติโยมบอกว่านำอาหารอะไรมาถวายพระ พระไม่สามารถที่จะฉันรวมกันตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไปได้ เพราะว่าเป็นการผิดพระวินัย สาเหตุมาจากสมัยพุทธกาล เมื่อมหาเศรษฐีท่านบอกว่าจะถวายภัตตาหารอะไร พอเป็นอาหารที่ประณีต มีรสดี บรรดาพระก็แห่กันไปจนเขาเลี้ยงไม่ไหว พระพุทธเจ้าจึงต้องตรัสห้ามไว้ว่า ถ้าเป็นอาหารที่เจ้าภาพออกชื่อ ให้ฉันได้ไม่เกิน ๓ รูปเท่านั้น ถ้าถึงรูปที่ ๔ ขึ้นไปเรียกว่าคณะ ถ้าฉันคณะโภชนาแบบนั้น โดนปรับอาบัติทุกคำที่กลืนลงไป ก็แปลว่าศีลขาดทุกคำที่กลืน แต่หากว่ารับกฐินแล้วสามารถฉันคณะโภชนาได้

    ลำดับต่อไป คือ ฉันปรัมปรโภชนาได้ คำว่า ปรัมประ ก็คือฉันจากที่หนึ่งแล้วไปฉันอีกที่หนึ่ง ซึ่งโดยปกติแล้วที่พระพุทธเจ้าทรงห้ามไว้ เพราะเกรงว่าจะฉันได้น้อย บางทีเจ้าภาพเขาก็เสียใจ แต่เรื่องนี้ไม่ต้องมาใช้กับอาตมา เพราะว่าฉันน้อยเป็นปกติอยู่แล้ว

    ข้อต่อไปท่านบอกว่า ไปไหนไม่ต้องเอาจีวรไปครบสำรับ เพราะว่ามีผู้ครองกฐินรักษาผ้าแทนเราแล้ว

    ข้อสุดท้าย ก็คือ จีวรที่เกิดขึ้นไม่ต้องทำวิกัปเป็น ๒ เจ้าของ สามารถที่จะใช้เป็นของตนเองได้เลย

    ในเมื่ออานิสงส์กฐินสามารถผ่อนคลายสิกขาบทได้หลายข้อ แต่ผู้ที่ครองกฐินจะไม่ได้อานิสงส์นี้ เพราะว่าต้องรักษาผ้ากฐินแทนผู้อื่นทั้งวัด ถ้าทำผ้าขาดครองก็ทำให้ขาดอานิสงส์กฐินทั้งวัดเหมือนกัน

    ดังนั้น...ในส่วนของผู้ครองกฐินจึงสำคัญมาก เพราะว่าห้ามเผลออย่างเด็ดขาด และอานิสงส์กฐินนี้จะมีแค่กลางเดือน ๔ เท่านั้น ถ้าท่านจำพรรษาแล้วไม่ได้รับกฐิน ได้รับอานิสงส์ ๑ เดือน ก็คือตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงกลางเดือน ๑๒ ถ้าจำพรรษาแล้วได้รับกฐิน ท่านขยายเวลาให้ถึงกลางเดือน ๔ ก็คือเพิ่มขึ้นมาอีก ๔ เดือน แต่อาตมาไม่เคยใช้อานิสงส์กฐิน เพราะว่าอานิสงส์กฐินนั้น ถ้าเผลอเราจะมักง่าย ไปไหนเอาจีวรไปครบไตรก็ไม่ได้หนักหนาสาหัสจนเกินไป จีวรชุดหนึ่งก็ใช้ได้หลายปี

    ขณะเดียวกันเรื่องของคณะโภชนา ปรัมปรโภชนานั้น ถ้าเราเผลอตัวเมื่อไร เกินกลางเดือน ๔ ไปก็จะโดนอาบัติ การไปไหนปกติก็ต้องบอกอยู่แล้วว่าไปไหน เพื่อที่เจ้าอาวาสหรือเพื่อนฝูงจะได้รู้ มีอะไรเร่งด่วนจะได้ตามตัวกันได้

    เมื่อเป็นเช่นนั้น อาตมาบวชมา ๓๐ กว่าปีไม่เคยใช้อานิสงส์กฐินเลย พูดง่าย ๆ ว่าไม่ต้องรอให้กฐินเดาะ แต่เป็นคนเดาะกฐินเสียเอง แต่ว่าในส่วนอื่น บุคคลอื่น โดยเฉพาะพระอื่น ๆ ในวัดท่าขนุน อาตมาไม่ได้บังคับ ใครจะใช้อานิสงส์กฐินก็อย่าเผลอ ถ้าใครไม่ใช้อานิสงส์กฐินก็ขออนุโมทนาด้วย เนื่องเพราะว่าในเรื่องของศีลพระนั้น ไม่มีอะไรน่าหนักใจ ๒๒๗ ข้อก็สามารถรักษาได้ ทำไมต้องไปผ่อนใน ๔ - ๕ ข้อเหล่านั้น

    ในเรื่องของการขอกฐิน วัดท่าขนุนจะไม่มีเรื่องนี้ เนื่องเพราะว่าอาตมาจะตั้งกองกฐินขึ้นมาเอง หลังจากนั้นญาติโยมก็มาสมทบ ร่วมเป็นเจ้าภาพกฐินสามัคคีเท่านั้น เมื่อทราบเช่นนี้แล้ว ถ้ามีวัดใดมาขอกฐิน ญาติโยมจะเป็นเจ้าภาพจะเป็นอะไรก็ตาม ให้รู้ว่าบุญกฐินนั้นโยมได้ไปเต็ม ๆ แต่อานิสงส์กฐินสำหรับพระไม่มีใครได้เลย เพราะว่าในพระวินัยท่านห้ามขอกฐิน

    ญาติโยมที่อยากจะเป็นเจ้าภาพกฐิน ให้ไปปวารณาตนแจ้งต่อเจ้าอาวาสวัดใดวัดหนึ่งที่เราจะเอากฐินไปทอด ว่าเราขอเป็นเจ้าภาพทอดกฐิน ถ้าอย่างนั้นพระในวัดท่านถึงจะได้อานิสงส์กฐินไปเต็ม ๆ

    ในส่วนของการที่พระไปขอจากญาติโยม ก็คาดว่าเกิดจาก ๒ สาเหตุด้วยกัน

    สาเหตุแรก ก็คือ ไม่รู้ว่าในพระบาลีท่านห้ามขอกฐิน

    อย่างที่ ๒ ก็คือ แกล้งไม่รู้ เพราะว่าอยากได้กฐิน เนื่องจากว่าเจ้าภาพหลายรายมาปวารณากฐินกับอาตมาแล้วถามว่า ต้องการยอดปัจจัยเท่าไร ซึ่งถ้าเป็นวัดอื่น ๆ ก็อาจจะมีการบอกว่าเท่านั้นแสน เท่านี้ล้าน แต่สำหรับวัดท่าขนุน มีโยมถามอยู่ ๒ ปี ปีแรกที่ถาม อาตมาบอกว่าเอามา ๑๖ บาท เป็นเลขมงคลโสฬสสวยดี ปีถัดมาถามอีก บอกว่าเอามา ๙ บาทก็แล้วกัน ก็เป็นอันว่าจบกันแค่นั้น เนื่องจากว่ากฐินอยู่ที่ศรัทธาของโยม ไม่ใช่ว่าพระไปตั้งยอด แล้วให้โยมตะเกียกตะกายหามาด้วยความยากลำบาก

    เรื่องของพระธรรมวินัยแล้ว ส่วนใหญ่พระเณรสมัยนี้ไม่ค่อยที่จะเข้มงวดกัน อาจจะเป็นเพราะว่าพระอุปัชฌาย์อาจารย์ของท่านไม่ได้สั่งสอนไว้ ไม่ได้อบรมไว้ หรือไม่ก็ความที่อยากได้ยอดปัจจัยกฐินมาก ๆ ก็เลยต้องไปเที่ยวขอกฐินจากญาติโยมหลาย ๆ คน เพื่อให้มารวมกันทอด

    ในส่วนของกฐิน ขอย้ำอีกครั้งว่า อานิสงส์กฐิน สำคัญที่สุดตรงผ้าไตร จะเป็นผืนเดียว หรือครบไตรก็ตาม ถ้าไม่มีผ้าไตรก็ไม่เป็นกฐิน ถ้ามีผ้าไตรแล้วบริวารกฐินอื่นไม่จำเป็นต้องมีก็ได้

    เมื่อญาติโยมทราบแล้วจะได้รู้ว่า ในเรื่องของกฐินแต่โบราณมานั้น เขาเน้นกันเรื่องผ้าไตรครองสำหรับพระ แต่ปัจจุบันนี้ผิดเพี้ยนไป กลายเป็นว่าวัดไหนทำยอดเงินได้มาก ก็ถือว่าได้บุญมาก อย่าลืมว่าเงินเป็นแค่บริวารกฐินเท่านั้น ตัวบุญกฐินเต็ม ๆ อยู่ที่ผ้าไตรต่างหาก

    เมื่อญาติโยมได้ทราบในเรื่องของกฐิน ตลอดกระทั่งแบบธรรมเนียมในการปวารณาเป็นเจ้าภาพกฐิน หรือว่าในการถวายกฐินแล้ว ต่อไปก็จะได้ปฏิบัติกันได้ถูกต้อง
    ...................................
    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. วัดท่าขนุน
    www.watthakhanun.com
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...