อัญชลี นมัสการ อภิวาท

ในห้อง 'ทวีป เอเซีย' ตั้งกระทู้โดย Wat Pa Gothenburg, 1 ธันวาคม 2008.

  1. Wat Pa Gothenburg

    Wat Pa Gothenburg เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 พฤศจิกายน 2008
    โพสต์:
    920
    ค่าพลัง:
    +260
    อัญชลี นมัสการ อภิวาท

    ารยาทประจำชาติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะอย่างหนึ่งของคนไทย คือ การไหว้ คนไทยจะทักทายกันเมื่อแรกพบหรือเมื่อลาจากกันด้วยการ ไหว้ แสดงความขอบคุณเมื่อมีผู้ทำคุณ หรือแสดงความเคารพนับถือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็แสดงด้วยการไหว้ หรือเมื่อประสงค์จะแสดงความเคารพสูงขึ้น ก็ใช้ การกราบ
    การไหว้และกราบ เป็นการแสดงความเคารพตามขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยที่สืบทอดมาช้านาน การไหว้และกราบ เป็นการ แสดงออกที่งดงาม เป็นที่ประทับใจของชาวต่างประเทศ เป็นวัฒนธรรม อันดีงามประจำชาติ มีวิธีการปฏิบัติต่างกัน และมีชื่อเรียกเป็นรูปศัพท์ บาลีต่างกัน ดังนี้
    ๑. ประนมมือ-อัญชลี คือ การยกมือทั้งสองประกบกัน นิ้วมือทั้ง สองข้างแนบประชิดกัน ส่วนฝ่ามือกระพุ่มมีลักษณะคล้ายดอกบัวตูม ยกขึ้นตั้งระหว่างอก แขนทั้งสองข้างอยู่แนบชิดสีข้างหรือชายโครง ไม่ยกกางขึ้น เช่นนี้เป็นการแสดงความเคารพที่เรียกว่า ประนมมือ ปฏิบัติเวลาตนเองสวดมนต์ หรือเวลาฟังพระสวดมนต์หรือเทศน์
    ลักษณะเช่นนี้ รูปศัพท์ภาษาบาลีเรียกว่า อัญชล
    ๒. ไหว้-นมัสการ คือ การยกมือประนมขึ้น แล้วก้มศีรษะลงให้ ปลายนิ้วมือที่พนมจรดหน้าผาก อยู่ระหว่างคิ้ว เรียกว่า ไหว้ ใช้แสดง ความเคารพ ถ้าแสดงความเคารพอย่างสูง เช่น ไหว้พระ หรือไหว้ผู้ใหญ่ ที่ยืนอยู่ เช่น ญาติผู้ใหญ่ พ่อแม่ บุคคลระดับสูงที่ยืนอยู่หรือนั่งเก้าอี้อยู่ให้ ก้มศีรษะต่ำลงมาก ๆ ยืนไหว้หรือนั่งคุกเข่าลงไหว้ ตามความเหมาะสม
    ถ้าไหว้บุคคลที่เสมอกัน เช่น มิตรสหาย ยกมือไหว้ให้ปลายนิ้ว จรดแค่จมูก ก้มศีรษะเล็กน้อย ถ้าไหว้บุคคลที่ต่ำกว่า เป็นผู้น้อยกว่า อายุน้อยกว่า หรือรับไหว้ เช่น หัวหน้ารับไหว้ลูกน้อง ครูรับไหว้ลูกศิษย์ ยกมือประนมแค่อก ไม่ต้องก้มศีรษะ
    ลักษณะเช่นนี้ รูปศัพท์ภาษาบาลีเรียกว่า นมัสการ
    ๓. กราบ-อภิวาท คือ การทำความเคารพด้วยการกราบ มีหลาย แบบ กราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ คือ นั่งคุกเข่า เข่าสองข้างจรดพื้น ยกมือประนมไหว้ แล้วก้มลงแบมือออกทาบพื้นในลักษณะการกราบ ให้ข้อศอกจรดเข่าทั้งสอง วางมือลงทีละข้าง นิ้วทั้งสิบเรียบเสมอกัน หน้าผากจรดพื้น โดยทั่วไปกราบ ๓ ครั้ง
    การนั่งคุกเข่าก่อนกราบ ชายนั่งคุกเข่าตั้งฝ่าเท้าชัน ก้นนั่งทับลง บนส้นเท้าทั้งคู่ ผายเข่าทั้งสองออกจากกันเล็กน้อยเป็นรูปตั้งฉากสาม เหลี่ยม ประนมมือก่อนก้มกราบ เรียกท่านั่งนี้ว่า นั่งท่าพรหม
    ส่วนหญิง นั่งคุกเข่าท่าราบ ไม่ต้องตั้งฝ่าเท้าชันขึ้นแล้วนั่งบนฝ่า เท้าอย่างชาย เหยียดฝ่าเท้าไปข้างหลัง ปลายเท้าทั้งสองทับกันเล็กน้อย นั่งให้ก้นอยู่บนฝ่าเท้าทั้งสอง เข่าทั้งสองชิดกัน ประนมมือก่อนก้มกราบ เรียกท่านั่งนี้ว่า นั่งท่าเทพธิดา การกราบของหญิงแบบนี้ ให้ก้มตัวปล่อย มือทอดลงที่พื้น โดยข้อศอกพับทั้งสองข้าง ขนาบเข่าทั้งสองไว้ ไม่ต้อง ให้ข้อศอกจรดเข่าทั้งสองแบบผู้ชาย
    ลักษณะเช่นนี้ รูปศัพท์ภาษาบาลีเรียกว่า อภิวาท
    การกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์นี้ เป็นการแสดงความเคารพ สูงสุด เช่น ผู้ชายที่จะบรรพชาเป็นสามเณร หรืออุปสมบทเป็นภิกษุ จะต้องกราบพระรัตนตรัยในระหว่างพิธีด้วยแบบเบญจางคประดิษฐและเมื่อบวชแล้วในการปฏิบัติกิจพิธีทางศาสนา ต้องกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์
    บุคคลทั่วไปเมื่อกราบพระรัตนตรัย กราบพระสงฆ์ แสดงความ เคารพปูชนียสถาน เช่น เจดีย์ พระประธาน ควรกราบตามแบบเบญจางคประดิษฐ์ ในพิธีที่มีทั้งพระพุทธรูปและพระสงฆ์ ต้องกราบ พระพุทธรูปก่อนและกราบ ๓ ครั้ง กราบแบมือ
    การกราบผู้ใหญ่ เช่น ปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ กราบครั้งเดียว ไม่แบมือ กราบแบบนั่งพับเพียบ ยกมือที่พนมจรดหน้าผาก แล้วก้มศีรษะ วางมือที่ พนมลงจรดพื้น ไม่ต้องแบมือออก
    (คัดมาจากคอลัมน์วัฒนธรรม นิตยสารสกุลไทย)
     

แชร์หน้านี้

Loading...