วิธีการตั้งจิตอธิษฐานให้ได้ผล โดย ธ. ธรรมรักษ์

ในห้อง 'บุญ-อานิสงส์การทำบุญ' ตั้งกระทู้โดย supatorn, 13 พฤษภาคม 2018.

  1. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,488
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    BuddhaPratanporn.jpg
    วิธีการตั้งจิตอธิษฐานให้ได้ผล โดย ธ. ธรรมรักษ์

    การจะตั้งจิตอธิษฐานให้ได้ผลชื่อของมันก็บอกไว้ตั้งแต่คำแรกเลยว่า “ตั้งจิต” แปลว่า จิตใจต้องมีความสงบแน่วแน่เป็นสมาธิและต้องมีความจดจ่ออยู่กับสิ่งที่เราต้องการจริงๆ ไม่วอกแวกหรือซัดส่ายออกไป

    1. ทำสมาธิก่อน

    ปกติแล้วจิตของคนเรามักจะซัดส่ายไปไหนต่อไหนได้ตลอดเวลาเพราะมีสิ่งเร้าที่ทำให้มันไม่อยู่นิ่งๆ และมีสิ่งเร้าต่างๆ ที่จะทำให้มันขุ่นมัวให้ไหลไปในทางที่ต่ำลง ทำให้ความถี่ของจิตเกิดการสั่นสะเทือนด้วยความถี่ต่ำมันจึงไม่มีอำนาจจะน้อมนำอะไรให้เกิดขึ้นมาได้ การที่จะทำให้จิตนิ่งคลื่นความถี่เรียบสงบก็คือ การทำสมาธิ

    การทำสมาธิเป็นการข่มจิตให้แน่นิ่งอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งทางที่ง่ายและมีความปลอดภัยที่สุดคือการทำสมาธิแบบ “อานาปานสติ”โดยการกำหนดลมหายใจเข้าออกโดยการภาวนาตามลมหายใจ ซึ่งมีอยู่หลายแบบการภาวนา เช่นการภาวนาว่า “พุทธ” ขณะหายใจเข้า และภาวนาว่า “โธ” ขณะหายใจออก หรือไม่ก็ ยุบหนอ พองหนอ จนกระทั่งจิตเป็นสมาธิแล้วจึงได้เลิกภาวนากำหนดรับรู้ที่ลมหายใจอย่างเดียว เมื่อจิตนิ่งไม่สั่นไหว ไม่คิดเรื่องอื่น จิตก็มีความบริสุทธิ์ตามสูตรองค์ประกอบเลยครับ
    2. นึกถึงบุญและความดีที่ได้กระทำมา
    อย่างที่บอกครับว่า บุญเป็นอาหารและปัจจัยสำคัญในการอธิษฐานจิตให้มีพลังและประสบความสำเร็จ เพราะการทำบุญและได้ระลึกถึงบุญที่ได้ทำนั้นเป็นการยกระดับความถี่ของจิตให้สูงขึ้นและลดแรงต้านจากจิตฝ่ายต่ำได้ดีด้วย จิตที่มีความถี่สูงนี้จะสามารถน้อมนำสิ่งที่มุ่งมาดปรารถนามาสู่เราได้จะเห็นได้ว่าคนมักจะอธิษฐานขอพรต่างๆ หลังจากทำบุญแล้วเพราะเป็นช่วงเวลาที่จิตสงบผ่องใสที่สุด
    3. เชื่อมบุญกุศลกับสิ่งที่ปรารถนาเอาไว้
    นึกถึงบุญไม่พอครับต้องเชื่อมบุญไปยังสิ่งที่เรามุ่งความปรารถนาด้วย ขออธิบายเรื่องการเชื่อมบุญก่อนนะครับว่ามันคืออะไร “การเชื่อมบุญ” ก็คือ การนำบุญที่เราได้กระทำมานั้นส่งต่อไปยังสิ่งที่เราปรารถนาเพื่อเป็นกำลังส่งให้เกิดความสัมฤทธิ์ผลหรือส่งบุญไปให้ผู้อื่นเพื่อต้องการให้เขาเหล่านั้นมีความสุข เพราะเมื่อคนอื่นมีความสุขเราก็จะมีความสุขไปด้วย

    คนส่วนใหญ่เวลาทำบุญทำทานใดๆ แล้วจึงต้องมีการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้คนที่ตัวเองนึกถึงหรือมีความปรารถนาดีให้เพื่อต้องการให้เขาได้รับบุญนั้นไปและเอาไปใช้อย่างมีความสุข ดังคำกล่าวอุทิศบุญหรือบทกรวดน้ำแบบพิสดาร ยกตัวอย่างเช่นการทำบุญแล้วเชื่อมบุญไปถึงพ่อกับแม่ให้ได้รับบุญในบทกรวดน้ำก็จะมีคำกล่าวว่า
    “อิทังเม มาตาปิตูนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ มาตาปิตะโร” ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่บิดามารดาของข้าพเจ้า
    ดังนั้นการอธิษฐานก็เช่นกันต้องส่งบุญไปยังสิ่งที่เราปรารถนาจะได้เป็นการเชื่อมกันระหว่างจิตที่บริสุทธิ์กับสิ่งที่ปรารถนาให้ต่อติดถึงกัน
    เรื่องการอุทิศบุญเชื่อมบุญนี่มีความสำคัญมากที่จะทำให้คำปรารถนาของเราเป็นจริงและมีความราบรื่น ยกตัวอย่างกรณีในอดีตชาติของ หมอชีวกโกมารภัจจ์ ขณะที่ท่านตั้งจิตอธิษฐานในอดีตชาติหลังจากทำบุญ พระพุทธเจ้าปทุมุตตระ ก็ตรัสว่า “เอวัง โหตุ” เป็นการส่งบุญที่ได้กลับคืนไปให้กับอดีตชาติของหมอชีวกโกมารภัจจ์ แปลว่า ขอโมทนาบุญนี้และขอให้คำอธิษฐานสัมฤทธิ์ผลตามความปรารถนาแล้วท่านก็ได้ในสิ่งที่ต้องการจริงๆ

    หากเป็นกรณีของสุเมธดาบส หลังจากได้รับคำพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าทีปังกร ท่านก็ได้นั่งลงพิจารณานึกถึงบุญของตัวเองที่ได้สั่งสมมา ทำให้ทราบว่าตนเองนั้นได้สั่งสมบุญบารมีมาหลายภพหลายชาติแล้วก็เชื่อมั่นว่าตนเองจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าอย่างแน่นอน
    รวมทั้ง มีเหล่าเทพยดาลงมากราบไหว้พร้อมกันมากมาย ก็ตั้งจิตอธิษฐานขอให้ผลบุญช่วยส่งให้ตนได้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตแล้วจึงได้เหาะกลับไปยังมหาอรัญวิเวก ซึ่งเป็นที่อยู่ของตน
    ตัวอย่างที่สำคัญที่สุดก็คือ การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าหลังจากที่พระองค์ตั้งจิตอธิษฐานไปแล้วว่า หากไม่ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าจะไม่ลุกขึ้นเป็นอันขาด ด้วยความตั้งใจที่แน่วแน่บริสุทธิ์ขณะที่พระองค์กำลังต่อสู้กับพญามาร (ซึ่งในมุมมองของนักวิชาการทางพุทธศาสนาสมัยใหม่ตีความว่า พญามารนั้นที่แท้คือ กิเลสทั้งหลายที่ยังอยู่ในกมลสันดานความรัก ความโลภ ความโกรธ ความหลงทั้งหลาย) กิเลสเหล่านั้นถือเป็นมารอันใหญ่ที่ต้องใช้ความสามารถในการตัดทิ้งเป็นอย่างมาก
    พระองค์จึงต้องทำการเชื่อมบุญบารมีมาใช้ก็คือ ตอนที่พระองค์ทรงเชื่อมบุญด้วยการชี้นิ้วลงสู่ธรณีแล้วพระแม่ธรณีได้โผล่ขึ้นมานำน้ำในมวยผม ซึ่งเป็นบุญของพระองค์เองมาเป็นพลังช่วยในการปัดกวาดล้างชำระกิเลสทั้งหลายที่อยู่ในกมลสันดานให้หมดสิ้น นอกจากพระองค์จะมีการตั้งพระทัยด้วยจิตใจอันบริสุทธิ์แน่วแน่แล้ว ยังเชื่อมบุญกับจุดประสงค์ที่พระองค์ได้ตั้งจิตเอาไว้ด้วย สิ่งที่พระพุทธองค์ตั้งความหวังเอาไว้จึงประสบความสำเร็จทุกประการ
    4. เปล่งคำอธิษฐานด้วยความตั้งใจที่แน่วแน่
    เมื่อเชื่อมบุญเรียบร้อยแล้ว ทีนี้ก็ตั้งจิตเอ่ยคำอธิษฐานที่ต้องการด้วยใจที่ตั้งมั่นเป็นสมาธิเลยครับการเปล่งอธิษฐานอาจเปล่งออกมาเป็นคำพูดหรือตั้งจิตอธิษฐานในใจก็ได้ขอให้นึกถึงและพยายามตั้งจิตอธิษฐานเน้นย้ำๆ ซ้ำๆ ไปบ่อยๆ เป็นประจำเพื่อเป็นการตอกย้ำเจตนาทางจิตและจะส่งผลไปสู่การปฏิบัติด้วย ที่สำคัญคืออย่าเพิ่งกังวลกับ “ผล”ของการอธิษฐานนั้นว่าจะเป็นจริงหรือไม่ เพราะมีหลายคนที่อธิษฐานแล้วมักจะหวังให้ผลแห่งการอธิษฐานนั้นเกิดความสัมฤทธิ์ผลทันทีหรืออยากได้ผลแบบรวดเร็วทันตาเห็น
    แต่พอยังไม่ได้ในสิ่งนั้นก็เกิดมีความกังวลขึ้นมาแล้วทำให้พลอยเลิกอธิษฐานไปเลยพอเลิกอธิษฐานก็หมายถึงการเลิกเชื่อในผลบุญกุศลที่ตนเองได้ทำมาด้วยเพราะคิดว่าทำแล้วไม่ได้ผลอะไรไม่ทำเสียดีกว่าก็จะยิ่งแย่ไปกันใหญ่ การหวังผลที่จะได้รับนั้นมันเป็นเรื่องของกรรมด้วยครับ ยิ่งกังวลก็ยิ่งทำให้อำนาจจิตมีพลังลดทอนลงไปรบกวนสิ่งที่ปรารถนา ก็จะทำให้ผลที่ต้องการได้ล่าช้าออกไปอีก ดังนั้นขอให้เปล่งคำวาจาอธิษฐานด้วยความเชื่อมั่นไร้กังวลเชื่อว่ามันจะเป็นจริง แล้วมันก็จะเป็นจริงเองครับ
    จากหลักการอธิษฐานข้อนี้ทำให้นึกได้ถึงการอธิษฐานขอเอาสรณะสามเป็นที่พึ่งคือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ในทางพระพุทธศาสนาครับที่พระพุทธองค์จะให้กล่าวถึง 3 ครั้ง ก็คือ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ แล้วว่าด้วย ทุติยัมปิ และ ตะติยัมปิก็เป็นการเน้นย้ำถึงเจตนา เพราะการพูดอะไรครั้งเดียวนั้นอาจเป็นการพูดเพียงครั้งเดียวลอยๆ อาจเป็นเพราะพูดในขณะที่สติยังเผลอตัวอยู่ไม่อาจเน้นย้ำถึงความตั้งใจที่มุ่งมั่นและแสดงความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะทำให้เป็นจริงได้
    แม้แต่ในเรื่องของการเขียนก็เหมือนกันครับ อย่างในอักษรเทวานาครีของพวกที่นับถือศาสนาพราหมณ์กล่าวว่าเป็นอักษรศักดิ์สิทธิ์ใช้ในการสวดและประกอบพิธีกรรมทั้งหลายเพราะการเขียนแต่ละตัวต้องเน้นย้ำเขียนกันด้วยสมาธิที่แน่วแน่แรงกล้าไม่เหมือนการเขียนอักษรภาษาอังกฤษหรือภาษาอื่นๆ ที่เขียนได้อย่างลวกๆ ไม่ได้เป็นการเน้นย้ำถึงเจตนา การอธิษฐานก็เช่นกันครับขอให้แน่วแน่และบ่อยๆครั้งเข้าไว้จะสัมฤทธิ์ผลได้เช่นกัน
    5. ต้องปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับสิ่งที่ตั้งจิตอธิษฐานไปแล้ว
    พูดจาภาษาชาวบ้านก็คือ “ปากร้องขอแล้วมือก็ต้องทำ” ด้วยครับถึงจะสมบูรณ์ไม่อย่างนั้นก็ไม่เกิดผลอะไรขึ้น ชีวกโกมารภัจจ์ไม่ได้จู่ๆ กลายเป็นแพทย์ประจำพระพุทธองค์ด้วยการอธิษฐานเพียงอย่างเดียว แต่ด้วยความมุมานะบากบั่นพยายามร่ำเรียนอยู่ในสำนักตักศิลาอยู่นานถึง 7 ปี
    หลังเรียนจบแล้วยังไม่พอต้องไปสร้างชื่อเสียงด้วยการออกรักษาผู้ป่วยทั้งยากดีมีจนทั้งหลาย กว่าจะได้เป็นแพทย์ประจำราชสำนักและด้วยความที่เป็นแพทย์ประจำราชสำนักพระอานนท์จึงได้เชิญไปรักษาพระพุทธเจ้า
    กรณีของสุเมธดาบสเมื่อได้รับพุทธทำนายแล้วก็ตั้งจิตอธิษฐานกลับไปปฏิบัติความเพียรบำเพ็ญภาวนาเพื่อให้ได้เข้าถึงการเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต และตัวอย่างที่สำคัญที่สุดก็คือ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในตอนที่กำลังตรัสรู้พระองค์ตั้งอธิษฐานจิตแล้วถึง 3 ครั้งและก็ได้บำเพ็ญการปฏิบัติต่อเนื่องในแต่ละครั้งมาโดยตลอดเพื่อการหลุดพ้น ไม่มีวันใดที่พระองค์ไม่ได้ละเว้นการปฏิบัติเลยผลจึงประสบความสำเร็จ
    การอธิษฐานจะมีความศักดิ์สิทธิ์จึงต้องกระทำไปควบคู่กับกรรมดี (การกระทำดี) ด้วยเป็นเรื่องที่ต้องฝึกทำและตอกย้ำบอกตนเองอยู่เสมอๆ ว่าจะพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะทำให้ได้ตามที่ได้เปล่งสัจจะวาจาอธิษฐานไปให้ได้
    คุณต้องการอธิษฐานอะไรให้กับตัวเอง?
    กรณีของปุถุชนคนธรรมดาเช่นเราๆ การตั้งจิตอธิษฐานก็มักเป็นไปเพื่อสิ่งที่เรียกว่าสุขทางโลกโดยเฉพาะความสุขส่วนตัวก่อนไม่ว่าจะเป็นเรื่อง หน้าที่การงาน ความรัก ชีวิตส่วนตัว แก้ปัญหาครอบครัวแตกแยก หรือแม้แต่การต้องการบันดาลโชคลาภที่ยิ่งใหญ่ให้กับตน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ขอเพียงมีเจตนาที่ดีเป็นไปเพื่อความสุขไม่ก่อความเดือดร้อนให้ใครก็ถือว่าครบองค์ประกอบการอธิษฐานครับ
    ดังนั้น การปฏิบัติตนเพื่อให้สมหวังกับสิ่งที่ตั้งการอธิษฐานไว้ก็มีหลักปฏิบัติวิธี 5 วิ จึงจะสมหวังครับ หลัก 5 วิ แห่งการปฏิบัติเพื่อการสมหวังนั้นได้แก่
    5.1 วิชา
    การมีวิชาความรู้ในด้านใดๆ ก็ตามเป็นความรู้ที่เกิดมาจากการศึกษาและการฝึกฝนรู้ในหลักที่ได้เรียนรู้มา คือ “รู้หลักการ” เป็นอย่างที่หนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น อยากจะร่ำรวยเป็นพ่อค้าที่ประสบความสำเร็จก็ต้องรู้หลักการค้าขายที่ถูกวิธี ซื้อมาให้ถูก ขายออกไปให้ได้กำไรอย่างยุติธรรมเป็นต้น
    แต่การมีวิชานั้นไม่ได้หมายความว่ารู้หลักเพียงอย่างเดียวต้อง “รู้รอบ” คือต้องอาศัยประสบการณ์มาช่วยด้วยประสบการณ์ต่างๆ จะทำให้รู้แจ้งมากยิ่งขึ้นกว่าการรู้ในในหลักทฤษฎี ในที่นี้ผมขอยกตัวอย่างกรณีของพระพุทธองค์อีกสักครั้งหนึ่งครับ
    พระพุทธองค์ทรงได้ร่ำเรียนมาในฐานะกษัตริย์ย่อมมีความรู้สูงในศิลปะวิทยาการอยู่แล้ว ภายหลังออกผนวชเป็นพระโพธิสัตว์ก็ยังไปร่ำเรียนทางธรรมเพิ่มกับพระอาจารย์อีกถึง 2 สำนักจนอาจารย์หมดภูมิสอนพระองค์ก็ยังไม่ได้ตรัสรู้ จนต้องออกไปเก็บประสบการณ์การบำเพ็ญเพียรด้วยการประพฤติตนแบบนักบวชเดียรถีย์หลายๆ แบบจนเกือบสิ้นพระชนม์ เมื่อทรงทราบแล้วว่าวิธีการเหล่านั้นไม่ได้ผลจึงต้องเปลี่ยนวิธี และในที่สุดพระองค์ก็ตรัสรู้ได้
    ความสุขและความสำเร็จจะมีได้ด้วยการอาศัยว่ารู้วิชาดีและมีการปฏิบัติชอบด้วยในแง่อื่นๆ ก็เช่นกันครับ อยากให้ครอบครัวมีความสงบสุขก็ต้องรู้หลักการอยู่ร่วมกัน รู้วิธีเอาชนะใจคนแล้วนำไปปฏิบัติให้ถูกวิธีจากประสบการณ์ที่ได้สั่งสมควบคู่กับการอธิษฐานที่ดีรับรองว่าได้ผลอย่างแน่นอน
    5.2 วินัย
    อย่างที่เกริ่นนำไปแล้วครับแม้แต่การอธิษฐานด้วยวาจายังต้องมีวินัยอธิษฐานกันซ้ำแล้วซ้ำเล่าและการอธิษฐานซ้ำๆ แบบนี้นี่เองที่จะยังผลมาสู่การปฏิบัติด้วย ความดีและผลสัมฤทธิ์ทางความดีทั้งหลายจะมีได้ก็ต้องอาศัยวินัยหรือความมีระบบระเบียบแบบแผนให้ปฏิบัติดังคำพระที่ท่านว่า คนจะดีเพราะมีวินัย คนจะร้ายเพราะว่าวินัยไม่มี ขออนุญาตยกตัวอย่างเกี่ยวกับตัวผู้เขียนเองนี่แหละครับ ปกติการเขียนงานต้นฉบับเรื่องหนึ่งจะมีความยากง่ายแตกต่างกันไป
    สิ่งที่ผู้เขียนได้กระทำมาตลอดเป็นประจำก็คือ การอธิษฐานขอให้ต้นฉบับแต่ละเล่มปิดลงอย่างเสร็จสิ้นด้วยดี และองค์ประกอบที่สำคัญก็คือ “วินัย” นี่เองที่จะต้องกำหนดหน้ากระดาษไว้เสมอว่า วันหนึ่งๆ ต้องเขียนให้ได้จำนวนหน้าที่กำหนดไว้อย่างมีคุณภาพ ถ้าเขียนไม่ครบหน้าจะไม่เลิกเขียนอย่างเด็ดขาด วินัยข้อนี้ก็สะท้อนถึงผลสัมฤทธิ์ของการกระทำประกอบแรงอธิษฐานด้วยเช่นเดียวกัน
    ขอยกอีกตัวอย่างประกอบง่ายๆ ครับเป็นเรื่องของ “ความรัก” ที่คนมักจะอธิษฐานขอพรให้มีแฟนกันมาก บางคนอธิษฐานขอให้ได้แฟนแต่ไม่ว่าจะปฏิบัติอย่างไรเท่าไหร่ก็ยังไม่สัมฤทธิ์ผลเพราะขาดวินัยในการจีบ ก็คือ ความสม่ำเสมอ นั่นเองคือต้องเสมอต้นเสมอปลาย หมั่นเอาใจใส่ดูแลอย่างสม่ำเสมอเป็นองค์ประกอบสำคัญข้อหนึ่งในหลายๆ ข้อที่จะต้องมี นอกจาก บุญวาสนาที่มีต่อกัน ไม่อย่างนั้นคงจะไม่มีคำว่า “ตื๊อเท่านั้นที่ครองโลก” หรอกครับ
    5.3 วิสัย
    วิสัยในที่ว่านี้ก็คือ ขอบเขตของความเป็นอยู่ครับ คนดีๆ ต่อให้ตั้งจิตอธิษฐานด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ทำบุญเชื่อมบุญอย่างต่อเนื่องและมีจุดมุ่งหมายของการอธิษฐานมีความบริสุทธิ์เพียงใดหรือมีการปฏิบัติที่ดีแค่ไหนหากอยู่ สภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ที่ไม่ดี ไม่เอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติก็ส่งผลให้บรรลุความสำเร็จได้ยาก
    เรื่องนี้ขอยกตัวอย่างเรื่อง นักศึกษาที่ต้องการบรรลุผลการสอบครับ หากคุณผู้อ่านยังอยู่ในวัยเรียนหรือแม้จะเรียนจบมาแล้วคงต้องมีสักหนึ่งครั้งที่ต้องเคยอธิษฐานขอให้สอบได้คะแนนดีๆ หรืออย่างน้อยๆ ก็สอบผ่านในวิชาที่สุดแสนจะยากใช่หรือเปล่าครับ การจะเตรียมตัวเพื่อสอบให้ผ่านก็ต้องอยู่ในวิสัยของผู้ที่จะสอบผ่านด้วย เช่น มีวิสัยอ่านหนังสือในที่สงบและเป็นสมาธิ อยู่กับเพื่อนๆ ในกลุ่มที่มีจุดมุ่งหมายจะผ่านการสอบเหมือนๆ กันคือตั้งหน้าตั้งตาทบทวนบทเรียนด้วยกันไม่มีการแหกความประพฤติไปเที่ยวเล่นระหว่างการเตรียมสอบ
    ลองคิดดูเล่นๆ ก็ได้ครับ ตั้งจิตอธิษฐานเพื่อขอให้สอบผ่านมีความรู้อยู่ในตัว ขยันอ่านหนังสือ แต่ถ้าเวลาดูหนังสือต้องอยู่ในสถานที่ที่อึกทึกอยู่ตลอดก็คงจะอ่านหนังสือไม่รู้เรื่องหรือหากมีเพื่อนที่เอาแต่ชวนไปเที่ยวเล่น แล้วไปเที่ยวกับเขาจนไม่มีเวลากลับมาทบทวนหนังสือต่อให้มีวินัยมาท่องมาอ่านทุกวันก็คงจะได้ผลน้อยกว่าคนที่มีวิสัยเหมาะสมกับการอ่านหนังสือให้มีประสิทธิภาพเป็นแน่
    เรื่องวิสัยที่เหมาะสมนี้ตัวอย่างในทางธรรมก็มีครับ อย่างกรณีของพระมหากัสสปะเถระที่ถือการอยู่ป่าเป็นวัตรนั่นอย่างไรครับ ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อปฏิบัติทางธุดงควัตรที่ท่านได้ปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเพียงแค่ 7 วัน ท่านก็สามารถบรรลุความเป็นพระอรหันต์ได้
    ในข้อปฏิบัติทางสงฆ์พระพุทธองค์จึงบัญญัติเอาไว้ครับว่า การเป็นภิกษุต้องพึงอยู่ในที่สงัด จึงจะได้เหมาะสมกับการบำเพ็ญเพียร เรื่องวิสัยการอยู่ป่าของพระอรหันต์นี่เอง มีเรื่องราวเรื่องหนึ่งในทางพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับ สามเณรที่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์นามว่า “เรวตะ”ที่มีวิสัยชอบอยู่ป่า
    ครั้งหนึ่งที่พระพุทธเจ้าต้องเดินทางไปเมืองราชคฤห์ ซึ่งระหว่างทางมีเส้นทางสองทางให้เลือกเดินทางซึ่งทางแรกเป็นทางกันดารมีระยะทางประมาณ 30 โยชน์ ส่วนอีกทางเป็นทางสะดวกไม่มีอันตรายแต่ต้องเดินทางไกลถึง 60 โยชน์ พระพุทธองค์เลือกเดินทางสั้นโชคดีที่การเดินทางคราวนั้นมีพระสีวลีไปด้วยจึงไม่อดและขาดเรื่องอาหารเพราะพระสีวลีเป็นพระเถระที่ทรงคุณเรื่องลาภสักการะอยู่แล้ว
    สามเณรเรวตะอรหันต์น้อยผู้นี้เป็นน้องชายของพระสารีบุตรอยู่ในป่าระหว่างทางของเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ส่วนวัดที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่คือวัด พระเชตวันอยู่เมืองสาวัตถีแคว้นโกศลระยะทางห่างกันพอสมควร พอทราบว่าพระพุทธเจ้าจะเสด็จมาก็ทำการนิรมิตพระคันธกุฎีถวายในป่าสะแกที่ตนพำนักอยู่ มีการสร้างเรือนยอด สถานที่จงกรม สถานที่พักทั้งกลางวันและกลางคืนทั้งที่อยู่ในป่าสะแกด้วยวิสัยอิทธิฤทธิ์ของผู้เป็นอรหันต์
    พระแก่สองรูปเห็นกุฏิสวยงามในป่า ก็นึกตำหนิสามเณร เรวตะว่าคงเอาแต่คิดจะก่อสร้างจนไม่มีเวลาปฏิบัติธรรม พระพุทธองค์ทรงทราบด้วยฌานว่ามีภิกษุที่มีจิตอกุศลต่อพระอรหันต์เรวตะ เกรงว่าจะเป็นบาปกรรมเสียเปล่าๆ จึงบันดาลด้วยอิทธิฤทธิ์ให้พระทั้งสองลืมบริขารเอาไว้ที่วัดป่าสะแกนั้นโดย ไม่เห็นตึกรามหรือกุฏิที่สวยงามเลย ทั้งสองจึงต้องบุกป่าฝ่าดงหนามสะแกไปจนพบห่อของที่ลืมไว้
    หนึ่งเดือนให้หลังพระนางวิสาขามหาอุบาสิกาได้นิมนต์พระพุทธองค์และเหล่าสาวกไปฉันภัตตาหารที่บ้าน ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับวัดบุพพารามที่ตนเองสร้างไว้และพระพุทธองค์โปรดประทับอยู่ ก็ได้ถามถึงความเป็นอยู่ของพระเรวตะในการอยู่ในป่าต่อภิกษุทั้งสองโดยบังเอิญขณะที่กำลังจะกลับวัด
    ด้วยความที่ต้องบุกป่าฝ่าดงเข้าไปเอาของจนถูกหนามของป่าสะแกตำเท้าเอาจึงบอกว่า ที่อยู่นั่นไม่น่าจะเป็นที่ของพระเลยน่าจะเป็นที่อยู่ของเปรตมากกว่า แต่พอคล้อยหลังมีพระอีกกลุ่มหนึ่งจะเดินกลับวัดเหมือนกันก็เล่าให้ฟังว่าวัดป่าสะแกของพระเรวตะนั้นน่าอยู่สวยงามร่มรื่นดุจดั่งเทวสภาก็ไม่ปาน
    เมื่อพระทั้งสองกลุ่มพูดไม่เหมือนกันก็เกิดความสงสัยจึงได้ไปสอบถามพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์จึงบอกนางวิสาขาว่า ไม่ว่าจะเป็นที่ใดก็ตามไม่ว่าอยู่ที่บ้านหรืออยู่ในป่าที่ใดมีพระอรหันต์อยู่ก็น่าอยู่ทั้งสิ้น แม้พระองค์จะไม่ได้ตรัสบอกความตรงแก่นางวิสาขา แต่ก็ชี้ให้เห็นว่า การที่พระอรหันต์ผู้ทรงคุณควรจะอยู่ในป่านั้นเป็นที่ที่เหมาะสมแล้วด้วยประการทั้งปวง
    พระเรวตะหลังจากได้อุปสมบทก็ได้รับการยกย่องจากพระพุทธองค์ว่าเป็นเอตทัคคะผู้เป็นเลิศในการอยู่ป่าเป็นวัตร คือท่านถืออยู่ป่าเสมอโดยเฉพาะป่าสะแกที่ท่านชอบมากจนได้ฉายาว่า “ขทิรวนิยเรวตะ” แปลว่าพระเรวตะ ผู้ชอบอยู่ป่าสะแก
    เป็นพระอรหันต์นี่ครับจะให้ท่านชอบอยู่ในเมืองที่มีเสียงอึกทึกก็คงไม่ใช่วิสัย ยิ่งการอยู่เพื่อการบำเพ็ญปฏิบัติแล้วอยู่ป่าจึงถือว่าเหมาะสมที่สุด
    5.4 วิสุทธิ์
    คำว่า วิสุทธิ์ในที่นี้ก็คือ ความบริสุทธิ์ในการกระทำซึ่งข้อนี้เป็นผลต่อเนื่องมาจากการตั้งจิตให้บริสุทธิ์เป็นพื้นฐานอยู่แล้วครับเมื่อความคิดที่เป็นจิตพื้นฐานบริสุทธิ์ก็จะส่งผลให้การกระทำบริสุทธิ์ตามไปด้วย
    ยกตัวอย่างในทางโลกก่อนครับ ถ้าตั้งจิตอธิษฐานขอให้เจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน การประพฤติปฏิบัติงานก็ต้องมีความสุจริตโปร่งใสไปด้วย ไม่ใช่ว่าอุตส่าห์ตั้งจิตอธิษฐานทำบุญเสียดิบดีแต่ตกม้าตายตอนที่ลงมือทำงาน เห็นโอกาสโกยเงินมากๆ ก็คิดว่านี่คงเป็นช่องทางสวรรค์เปิดให้สมดังคำอธิษฐานแล้ว ก็ทำการทุจริตเพื่อให้ได้ทรัพย์หรือสิ่งที่คิดว่าเป็นความเจริญก้าวหน้ามาโดยการเหยียบย่ำคนอื่นขึ้นไปเป็นใหญ่หรือมีอำนาจ อย่างนี้ต่อให้ได้ทรัพย์สินหรือหน้าที่ตำแหน่งไปจริงๆ อีกไม่นานก็ต้องสูญเสียงานไปอย่างแน่นอน
    ตัวอย่างในทางธรรมก็มีครับ เป็นเรื่องของสามเณรน้อยรูปหนึ่งที่ชื่อ สุมน สามเณรรูปนี้เป็นสามเณรที่ได้ชื่อว่ามีฤทธิ์มาก คือเป็นอรหันต์ผู้บรรลุอภิญญา 6 หมายความว่าไม่ใช่เพียงแค่หมดกิเลสเพียงอย่างเดียวแต่ มีความสามารถพิเศษทั้งหลาย อย่างเช่น มีอิทธิปาฏิหาริย์ เหาะได้ มีตาทิพย์ เป็นต้น
    วันหนึ่งสามเณรสุมนก็เข้าไปในป่าหิมพานต์ (เขาหิมาลัย) พร้อมกับพระอนุรุทธะผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ บังเอิญว่าท่านอนุรุทธะท่านเกิดอาการของโรคลมจุกเสียดขึ้นมาอย่างรุนแรงจึงสั่งให้สามเณรไปเอาน้ำจากสระอโนดาตมาเพื่อช่วยบรรเทาอาการโรคลม ที่แต่แห่งนั้นมีพญานาคอยู่ชื่อว่า ปันนกะซึ่งมีความรู้จักกับท่านให้ไปขอน้ำจากพญานาคเสียก่อน สามเณรก็เหาะไปเอาน้ำตามคำสั่ง ขณะนั้นปันนกะกำลังสำราญกับการลงเล่นน้ำพร้อมๆ กับบริวารสาวๆ อยู่พอดี เห็นสามเณรเหาะลอยข้ามหัวมาก็โกรธเพราะคิดว่าถูกลบหลู่และกล่าวหาว่า สามเณรน้อยเหาะลอยมาเอาขี้ฝุ่นที่เท้ามาโปรยใส่หัวของตน ทั้งที่ความจริงไม่มีแม้แต่นิดเดียว
    เมื่อสามเณรอ้างถึงชื่อพระอาจารย์แล้ว เจ้าพญานาคปันนกะก็ยังไม่สนใจจะไล่กลับเสียท่าเดียวแถมยังแผ่พังพานปิดสระอโนดาตเสียมิดแถมยังร้องท้าว่า ถ้าแน่จริงก็มาเอาน้ำในสระไปได้เลย สามเณรสุมนถือว่าตนเองได้รับอนุญาตแล้ว ก็เลยแสดงฤทธิ์แปลงร่างเป็นพรหมสูงใหญ่เหยียบตรงหัวพังพานให้สระน้ำเปิดออกให้สายน้ำพุ่งขึ้นมาแล้วเอาบาตรรองน้ำจนเต็มแล้วก็เหาะกลับไปหาพระอาจารย์
    ปันนกะก็พาลหาเรื่องต่อทั้งเจ็บใจทั้งอายที่ถูกสามเณรน้อยเหยียบหัวเสียแบนก็เลยตามไปถึงป่าหิมพานต์กล่าวตู่ว่า สามเณรรังแกตนและเอาน้ำมาอย่างไม่ชอบธรรม พระอนุรุทธะก็ถามเณรตามตรงและสามเณรก็เรียนพระอาจารย์ตามตรงว่าได้เอาน้ำมาอย่างชอบธรรมแล้วเพราะพญานาคเป็นผู้อนุญาตเอง ท่านเชื่อศิษย์ของท่านเพราะพระอรหันต์ย่อมไม่กล่าวเท็จอย่างแน่นอนเมื่อดื่มน้ำแล้ว โรคลมในกายของท่านก็สงบลง
    เห็นผลดังนั้นก็รู้แล้วครับว่าใครผิดใครถูกกันแน่ถ้าเณรน้อยทำผิดไม่บริสุทธิ์จริงโรคในกายท่านคงไม่หายแน่ และอาจจะเป็นหนักกว่าเดิมก็ได้ ยิ่งท่านพระอนุรุทธะเป็นพระอรหันต์ที่เป็นเลิศกว่าผู้อื่นในด้านมีตาทิพย์ (ทิพยจักษุ)ด้วยแล้วพญานาคก็คงแก้ตัวอะไรไม่ขึ้นจึงบอกให้พญานาคขอโทษสามเณรเสีย พญานาคจึงยอมขอโทษสามเณรสุมน และบอกว่าต่อไปหากต้องการน้ำเมื่อไหร่ขอเพียงแต่สั่งมาเท่านั้นตนจะเอามาถวายให้เองทันทีอีกต่างหาก
    ความสะอาด ความสุจริต ความยุติธรรมนี่เป็นกำแพงป้องกันศัตรูชั้นยอดเลยจริงๆ ครับต่อให้มีคนคิดร้ายหรือริษยาก็ทำอะไรไม่ได้ เหมือน ฝ่ามือที่ไม่มีแผลต่อให้กำยาพิษอยู่ก็ยังปลอดภัย
    5.5 วิธี
    ว่ากันว่าการจะทำอะไรให้สำเร็จนอกจากความพยายาม ความตั้งใจ การลงมือทำด้วยความบริสุทธิ์อย่างสุดท้ายที่ต้องมีก็คือ “วิธีการ”ที่ดีครับ คำฝรั่งว่า มี Heart มี Hand แล้วต้องมี Head ด้วยวิธีการที่ดีก็จะส่งผลให้สิ่งที่หวังสำเร็จได้โดยง่าย
    ลองนึกดูก็ได้ครับถ้านึกจะขุดสระเพื่อทำสระน้ำสักบ่อหนึ่งถ้ามัวใช้จอบใช้เสียมค่อยๆ แซะค่อยๆ ขุดใช้ความเพียรเสียหน่อยก็คงเสร็จได้สักวัน แต่คงให้เวลานานเป็นเดือนเป็นปีไม่ทันกินกว่าจะเสร็จ ถ้าใช้รถขุดไม่กี่วันก็คงจะเรียบร้อย
    เรื่องเล่าต่อไปนี้เป็นประสบการณ์เรื่องการทำงานของผู้เขียนโดยตรงครับ เมื่อหลายปีก่อนได้ทำงานอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งงานก็เป็นงานด้านเอกสารและธุรการในออฟฟิศทั่วๆ ไป แต่ที่โรงงานแห่งนี้ยังมีระบบการจัดการที่ไม่ดีพอ ไม่มีการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในการประมวลผลในเนื้องานใดๆ เลย ทุกอย่างยังใช้ระบบ “อัตโนมือ” อยู่ คือจดบันทึกลงสมุดบัญชีเล่มหนาๆ เสมียนผู้ทำหน้าที่นี้ก็เป็นคนขยันครับ วันทั้งวันแกก็ต้องนั่งเขียนบันทึกเอกสารอยู่เป็นกองพะเนินอยู่คนเดียวแทบไม่ได้ทำอย่างอื่นเลย
    เมื่อได้ลองสอบถามว่า ทำไมจึงไม่ใช้เครื่องทุ่นแรงอย่าง คอมพิวเตอร์กันดูบ้าง ก็ได้รับคำตอบว่าใช้คอมพิวเตอร์กันไม่เป็นครับ ถึงแม้จะมีเงินอยู่ในออฟฟิศอยู่มากก็ไม่ได้ซื้อ เพราะซื้อมาก็ไม่มีใครในที่แห่งนั้นใช้คอมพิวเตอร์เป็นเลยสักคนเดียว
    ในที่สุดทางแก้ปัญหาก็คือ บริษัทต้องมีการจัดอบรมเรียนรู้เรื่องคอมพิวเตอร์ให้กับพนักงานครับแม้ว่าจะสิ้นเปลืองเวลาและงบประมาณไปไม่น้อยแต่ก็ต้องทำเพราะยุคนี้ถ้าไม่ใช้คอมพิวเตอร์ให้เป็นแล้วล่ะก้อคงยากที่จะทำธุรกิจการงานให้สำเร็จเหนือคู่แข่งได้ พี่เสมียนคนที่ผมกล่าวถึงนั้น แกเป็นคนดีมากๆครับ ทั้งใจดี ขยันอดทน มีมานะอุตสาหะแต่วิธีการทำงานของแกกลับผิดวิธีและไม่ได้มีการเรียนรู้อะไรใหม่ๆ เพิ่มแกก็เลยเป็นแค่เสมียนอยู่อย่างนั้นพอให้เริ่มวิธีใหม่อย่างการใช้คอมพิวเตอร์แกก็รับไม่ค่อยได้คือไม่ยอมจะเรียน ในที่สุดแกก็ต้องลาออกไปเพราะรับระบบการทำงานแบบใหม่ๆ ทันสมัยไม่ทัน น่าเสียดายคนดีๆ ขยันทำงานแบบนี้จริงๆ
    ขอเล่าเรื่องในทางธรรมประกอบด้วยอีกสักหนึ่งเรื่องครับ เป็นเรื่องราวของพระพุทธเจ้าของเรานี่เองหลังจากที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้แล้วใหม่ๆ ก็ออกแสดงธรรมเพื่อโปรดสัตว์โลก ครั้งหนึ่งก็ได้เสด็จไปถึง อุรุเวลาประเทศในเขตเมือง ราชคฤห์ แห่งแคว้นมคธใกล้กับแม่น้ำเนรัญชราในเวลาเย็นเพื่อขอพบกับ อุรุเวลกัสสปะ พระองค์ต้องการที่พักแต่อุรุเวลกัสสปะก็ดูเหมือนจะไม่เต็มใจให้ โดยบอกว่าที่พักมีอยู่แห่งเดียวคือในถ้ำบูชาไฟที่มีพญานาคอยู่และเกรงว่าจะทำร้ายพระพุทธองค์ แต่พระพุทธองค์ก็ยืนยันถึง 2 ครั้งว่าไม่มีสิ่งใดทำร้ายพระองค์ได้ อุรุเวลกัสสปะจึงอนุญาตให้พระองค์เข้าไปในถ้ำด้วยความถือดีว่า ตนเตือนแล้วไม่ยอมเชื่อ
    พญานาคในถ้ำเมื่อเห็นพระพุทธองค์เข้ามาในถ้ำก็โกรธพ่นไฟใส่พระองค์ทำให้มีเปลวเพลิงจำนวนมากพุ่งออกมาจากถ้ำบูชาไฟแห่งนั้น เหล่าชฎิลผู้บูชาไฟก็ได้แต่มองยืนดูอยู่ห่างๆ และคิดว่าพระพุทธองค์คงจะสิ้นพระชนม์ด้วยน้ำมือพญานาคเป็นแน่ พอรุ่งเช้าพระพุทธองค์ทรงออกมาจากถ้ำอย่างปลอดภัยไร้รอยแผลใดๆ ทั้งสิ้น พร้อมกับจับพญานาคใส่บาตรแล้วนำมาให้แก่อุรุเวลกัสสปะ
    อุรุเวลกัสสปะผู้บูชาไฟนั้นมีศิษย์มากมายถึง 500 ตนก็ยังมีทิฐิมานะคิดว่าวิธีการบูชาไฟของตนนั้นทำให้ตนเป็นพระอรหันต์แล้ว แม้จะเกรงในพระอิทธิวิธีของพระพุทธเจ้าแต่ก็ไม่ละทิ้งวิธีการของตนได้กล่าวเชิญพระพุทธองค์ให้ประทับอยู่ที่อาศรมของตนแต่พระพุทธองค์ปฏิเสธ โดยพระองค์จะพำนักอยู่ในป่าใกล้ๆ กันนั้นแทน พอตกดึก อุรุเวลกัสสปะก็เห็นแสงสว่างทั่วทั้ง 4 ทิศใกล้ๆ กับที่พักของพระพุทธเจ้า รุ่งเช้าเมื่อพระพุทธองค์ไปรับภัตตาหาร อุรุเวลกัสสปะก็ออกปากถามว่าเหตุใดจึงมีแสงสว่างไสวไปทั่วทั้ง 4 ทิศ ณ ที่พำนักของพระองค์ พระพุทธองค์ก็ตอบว่า เป็นเพราะท้าวจตุมหราชทั้ง 4 แห่งสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ลงมาฟังธรรมของพระองค์ ในคืนต่อมาก็มีเทวดาชั้นสูงอีกหลายชั้นลงมาฟังธรรมเช่นกัน อุรุเวลกัสสปะก็ถามเช่นเดิม แม้จะทึ่งในบุญบารมีแต่ก็ยังคิดว่า พระพุทธองค์ยังไม่ได้เป็นอรหันต์เหมือนกับตนเอง
    พระพุทธองค์ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อีกหลายประการ เช่น การอ่านใจ, เสด็จเหาะเหินเดินอากาศต่อหน้าเพื่อทรมานอุรุเวลกัสสปะให้คลายความเห็นผิดจากทิฐิมานะที่มีว่า ตนเองนั้นได้ปฏิบัติบูชาไฟจนเป็นพระอรหันต์แล้ว (ทั้งที่ยังไม่ได้เป็น) แต่ทำอย่างไร อุรุเวลกัสสปะก็ยังไม่ยอมรับอยู่ดี จวบจนวันเพ็ญเดือน 2 พระพุทธองค์ก็ตรัสให้อุรุเวลกัสสปะเกิดความสลดใจว่า พระพุทธองค์ทราบมาตลอดว่า ชฎิลบูชาไฟอย่าง อุรุเวลกัสสปะ นั้นยังไม่ใช่พระอรหันต์ แต่ทำไมจึงยังดื้อดึงปฏิบัติในทางที่ไม่ใช่การบรรลุอรหันต์และเชื่อว่าตนเองเป็นอย่างนั้นทั้งที่ไม่ได้เป็น บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่จะยอมรับว่าตนเองยังไม่ใช่พระอรหันต์ หากได้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์ก็จะบรรลุอรหันต์ได้ในไม่ช้า
    อุรุเวลกัสสปะเมื่อทราบว่าพระพุทธองค์รู้ดีมาตลอดว่าความถือดีในตนเองว่าเป็นอรหันต์นั้นเป็นสิ่งผิดก็เกิดความสลดใจยอมก้มกราบขอขมาแต่โดยดี และยังชักชวนให้ชฎิลทั้งห้าร้อยตนนำบริขารเครื่องใช้ต่างๆ ที่มีไปลอยน้ำทิ้งให้หมดและกราบทูลของอุปสมบทพระองค์จึงบวชให้ด้วยวิธี เอหิภิกขุอุปสัมปทา
    ชฎิลผู้บูชาไฟ ณ ที่แห่งนี้มีอยู่ 3 พี่น้องครับ น้องคนที่สองของอุรุเวลกัสสปะก็คือ นทีกัสสปะเห็นบริขารของพี่ชายตนลอยมาก็พาเอาศิษย์กว่าสามร้อยตน มาเพื่อไต่ถามถึงสาเหตุพอมาถึง พระอุรุเวลกัสสปะก็เรียกให้นั่งฟังเรื่องราวที่ตนได้ประสบมาก็เกิดความศรัทธา ลอยบริขารของตนทิ้งพร้อมกับบริวารเหมือนกันทั้งสามร้อยตนเช่นกัน เครื่องบริขารทั้งสามร้อยก็ลอยไปยัง สำนักของ คยากัสสปะผู้เป็นน้องเล็ก คยากัสสปะ ก็เดินทางมาพอได้ฟังธรรมของพระพุทธองค์แล้วก็ตัดสินใจบวชพร้อมกับลูกศิษย์เช่นกัน รวมกันแล้ว ชฎิลผู้บูชาไฟทั้งหมดมีรวมกัน 1 พันกับ 3 รูป (3 รูปที่เหลือคงจะเป็นหัวหน้ากัสสปะทั้งสามพี่น้อง) หลังจากนั้น พระพุทธองค์ก็แสดงธรรมที่เรียกว่า “อทิตตปริยายสูตร” ซึ่งเป็นพระสูตรที่แสดงถึงการรับรู้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 6 ที่รุ่มร้อนเหมือนมีไฟติดอยู่ทั่วตัวจาก ไฟราคะ ไฟโทสะ และไฟของโมหะ รวมไปถึงร้อนไปด้วยทุกข์ อันมีชาติกำเนิด ความแก่ชราและความตาย จนทั้งหมดได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในที่สุด
    แทรกตรงนี้สักเล็กน้อยครับ การจะสั่งสอนสิ่งใดแก่ใครก็ต้องเลือกวิธีการสอนครับ ตัวอย่างนี้ก็เป็นตัวอย่างที่ดีครับ ในเมื่อชฎิลเหล่านั้นบูชาไฟเป็นเหตุอยู่แล้วพระองค์จึงใช้พระสูตรที่อธิบายเรื่องกิเลสราคะโมหะว่าเป็น ความร้อนเหมือนกับไฟเช่นกัน ชฎิลเหล่านั้นจึงบรรลุอรหันต์ได้ง่ายนั่นเอง
    ก่อนที่พระพุทธองค์จะทรงตรัสรู้ ท่านได้ลองทุกวิธีการมาแล้วนี่ครับวิธีไหนเป็นการบรรลุถึงอรหันต์ที่แท้จริงพระองค์ก็สอนให้ถือเอาสิ่งนั้น ในอดีตถ้าพระองค์ยังไม่ละเลิกวิธีทรมานกายแม้จะมีจิตเป็นสมาธิเพียงใด ได้ฌานกี่ขั้นก็คงไม่อาจบรรลุอรหันต์ได้ ดังนั้น ทุกอย่างต้องมีวิธีการที่ดีครับจึงจะประสบความสำเร็จสมดังคำอธิษฐานและปณิธานที่ได้ตั้งมั่นเอาไว้
    6. เมื่ออธิษฐานให้ตัวเองได้แล้วจงอธิษฐานให้คนอื่นด้วย
    แรงอธิษฐานที่ยิ่งใหญ่นั้นไม่ใช่มุ่งเน้นประโยชน์ความต้องการของตนเองเพียงอย่างเดียวครับเมื่อได้ในสิ่งที่ตนเองปรารถนาแล้วควรจะแบ่งปันสิ่งดีๆ ให้กับคนอื่นไปด้วยเพื่อให้คนที่เรารักและมีความปรารถนาดีมีความสุขไปพร้อมๆ กัน เรียกว่าเป็น พรหมวิหารธรรม คือ เมตตา ปรารถนาจะให้ผู้อื่นมีความสุขเหมือนกับที่ตนได้รับ
    การอธิษฐานในข้อนี้ในฐานะผู้เขียนแล้วเห็นว่ามีความสำคัญมากที่สุดเลยครับ เพราะความสุขที่แท้จริงนั้นคือคนรอบข้างมีความสุขด้วยตัวเราเองถึงจะมีความสุข สมมติว่าเราเป็นผู้ที่มีหน้าที่การงานสุจริตประกอบสัมมาอาชีวะค้าขายได้ร่ำรวยมหาศาลแต่ เพื่อนกิจการข้างๆ กลับอยู่ในสภาวะตกต่ำต้องประสบปัญหาขาดทุนอยู่ ถ้าเป็นผู้มีจิตเมตตาก็จะยังไม่รู้สึกว่ามีความสุขได้ต้องได้ช่วยเหลือให้คนอื่นมีความสุขได้เหมือนกันเสียก่อน
    ตัวอย่างเรื่องการอธิษฐานเพื่อคนอื่นนี่ ผู้เขียนเคยชมในภาพยนตร์เรื่องหนึ่งครับ เรื่องมีอยู่ว่าพระเอกเป็นคนธรรมดาคนหนึ่งที่ไปตกหลุมรักสาวคนหนึ่ง วันหนึ่งเจ้าหนุ่มบังเอิญได้พบกับซาตานจะมาเอาชีวิตเพราะถึงเวลาหมดอายุไขเสียแล้วเจ้าหนุ่มไม่อยากตายตอนนั้น ก็เลยขอคำอธิษฐานไว้ 6 อย่าง เพื่ออยากให้สาวคนที่ตัวเองหลงรักได้มารักกับตนแล้วค่อยตายก็ไม่เสียหาย คำอธิษฐาน 5 ข้อแรกนั้นเป็นไปเพื่อตัวเองทั้งสิ้นครับเช่น ขอให้รวยมากๆ , ขอให้หล่อ, เป็นศิลปิน, เป็นผู้มีชื่อเสียง, เป็นนักกีฬาชื่อดัง เหล่านี้เป็นต้น แต่แม้ว่ากลายเป็นคนรวยอย่างไร หล่อมากแค่ไหน เป็นศิลปินที่น่าจะพิชิตใจสาวได้ไม่ยาก หรือจะปรารถนาดีต่อสาวเจ้าขนาดไหน สาวสวยคนนี้ก็ไม่ได้หลงรักเจ้าหนุ่มอย่างที่ต้องการเสียที
    เจ้าหนุ่มจึงตัดสินใจเลิกและไม่ขอพรข้อสุดท้ายอีกต่อไปเพราะท้อแท้ใจและถือว่าสัญญากับซาตานเป็นโมฆะเพราะตนไม่ได้ขอพรจนครบ จบเรื่องกัน! ซาตานก็ไม่ยอมครับเพราะถือว่าได้ให้คำมั่นสัญญาด้วยวาจาไว้แล้วถ้าไม่อธิษฐานขอพรข้อสุดท้ายก็ต้องไปนรกทันที
    ด้วยความจนตรอก เจ้าหนุ่มหมดทางเลือกเนื่องจากถูกบีบบังคับแต่ในใจยังมีความปรารถนาดีต่อคนที่ตัวเองรักอยู่เสมอ จึงได้อธิษฐานขอพรข้อสุดท้ายว่า ขอให้สาวคนที่ตัวเองหลงรักนั้นมีความสุขไปตลอดชีวิต ด้วยคำขอนั้นซาตานจึงให้พรไปตามนั้นแต่ก็ต้องยกเลิกการเอาชีวิตของเจ้าหนุ่มไปด้วยเพราะกฎของนรกมีข้อยกเว้นว่า หากผู้ที่ถึงฆาตได้ทำการอธิษฐานขอพรให้ผู้อื่นมีความสุขแทนตนเองแล้ว ซาตานหรือยมทูตไม่อาจจะเอาชีวิตของคนผู้นั้นได้
    ตอนจบของภาพยนตร์เรื่องนี้คือ ชายหนุ่มแม้จะไม่ได้สมหวังกับสาวคนที่ตนหลงรักแต่ก็ได้พบกับสาวคนใหม่ที่มีบุคลิกลักษณะคล้ายกันอีกคนหนึ่งและอยู่อย่างมีความสุขกับเธอคนนั้นไปตลอดชีวิต
    การอธิษฐานให้คนอื่นมีความสุขไปด้วยนั้นจะทำให้ผู้ที่อธิษฐานมีความสุขที่แท้จริงครับในที่นี้ผมขอยกตัวอย่างประกอบจากเรื่องจริงในสมัยพุทธกาลเป็นการส่งท้ายบทการอธิษฐานให้ได้ผลนี้
    เรื่องนี้เป็นเรื่องราวของพระอานนท์ครับ
    พระอานนท์นั้นกว่าที่ท่านจะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ก็ต้องเป็นช่วงหลังจากพุทธปรินิพพานไปแล้วภายหลังการถวายพระเพลิงพุทธสรีระพระมหากัสสปะเถระก็ได้เรียกประชุมสงฆ์เพื่อหารือเรื่องการสังคายนาพระธรรมวินัย โดยที่ที่ประชุมสงฆ์นั้นตกลงกันว่าจะทำการเลือกพระมหาเถระ 3 รูปเป็นประธาน คือ พระอุบาลี พระอานนท์และ พระมหากัสสปะเป็นประธานใหญ่ เหตุที่พระอานนท์ได้รับเลือกนั้นก็ยังมีเสียงคัดค้านอยู่บ้าง และที่สนับสนุนก็มีเพราะว่า พระอานนท์เป็นผู้ที่ใกล้ชิดพระพุทธเจ้ามากกว่าใครมีความจำดีและรู้เรื่องคำสอนทั้งหมดแต่เสียงที่คัดค้านก็เพราะว่าท่านยังไม่บรรลุอรหันต์
    แม้ท่านจะมีภารกิจมากเพราะต้องติดต่อกับบุคคลหลายฝ่ายทำให้ไม่มีเวลาปฏิบัติธรรมมากเพียงพอแต่ท่านก็ไม่ได้ละความเพียรพยายามปฏิบัติธรรมอย่างหนักโดยปลีกตัวไปยังใต้ต้นไทร ด้วยจิตปรารถนาจะบรรลุอรหันต์ให้ได้เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งสงสัยในตัวท่านจะได้ไม่เกิดปัญหาเรื่องความเหมาะสมในหมู่คณะสงฆ์ซึ่งเป็นเรื่องส่วนรวมอีก ท่านได้พยายามปฏิบัติธรรมเพื่อการบรรลุเป็นอรหันต์อยู่หลายแห่ง แต่ทว่าแม้จะเปลี่ยนไปอยู่ในถ้ำเล็กๆ ก็ยังไม่อาจบรรลุอรหันต์ได้แต่ก็ยังตั้งจิตอธิษฐานเพื่อหวังจะได้บรรลุเป็นอรหันต์อยู่เป็นประจำ และในวันสุดท้ายหนึ่งวันก่อนการสังคายนาพระไตรปิฏกจะเริ่มต้น พระอานนท์เกิดความอ่อนล้ามากจึงได้เดินทางกลับไปยังกุฏิเพื่อพักผ่อน ณ เชิงเขาเวภาระ
    ก่อนจะขึ้นนอนที่กุฏิท่านก็ล้างเท้าและกำหนดสติวิปัสสนาอยู่ตลอดทุกลมหายใจเข้าออกจนเมื่อพระอานนท์กำลังเอนกายลงบนเตียงศีรษะกำลังจะถึงหมอนและเท้าลอยยกจากพื้นก็เกิดปาฏิหาริย์ขึ้น จิตที่ตั้งมั่นได้เป็นฌานด้วยความตั้งใจที่แน่วแน่ ท่านก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ในอิริยาบถนั้นเองนับว่าเป็น อิริยาบถที่แปลกกว่าพระเถระรูปอื่นๆ โดยสิ้นเชิง
    ก่อนการทำสังคายนาจะเริ่มขึ้น พระมหากัสสปะได้ซักถามเรื่องความบกพร่องหรือกิริยาทั้งหลายที่ไม่เหมาะสมของพระอานนท์หลายประการซึ่งพระอานนท์ก็สามารถตอบชี้แจงแถลงไขได้อย่างชัดเจนทุกอย่างและได้กล่าวว่า หากคณะสงฆ์ทั้งหลายเห็นว่ามีความผิดก็จะขอรับเอาไว้ คำตอบของพระอานนท์นั้นทำให้พระมหากัสสปะและคณะสงฆ์ทุกรูปพอใจมาก นั่นแสดงออกโดยชัดเจนว่าท่านได้บรรลุความเป็นอริยบุคคลชั้นสูงสุดแล้ว
    เมื่อการสังคายนาเริ่มขึ้น พระอานนท์ก็มีส่วนช่วยอย่างมากในการตีความพระธรรมให้กระจ่างการที่พระอานนท์เป็นผู้มีความเป็นเลิศในด้านความจำดีทำให้พระธรรมวินัยถูกบันทึกไว้ได้อย่างครบถ้วนการตั้งจิตอธิษฐานเพื่อเป็นพระอรหันต์ในครั้งนี้จึงเป็นการยังประโยชน์เพื่อส่วนรวมโดยแท้จริง
    และการอธิษฐานครั้งสุดท้ายของพระอานนท์ก็เกิดขึ้นในตอนที่ท่านจะปรินิพพานนั่นเองครับที่สำคัญเป็นการตั้งจิตอธิษฐานเพื่อประโยชน์สุขของคนส่วนใหญ่เสียด้วย พระอานนท์มีชีวิตอยู่ล่วงเลยมาได้จนอายุ 120 ปี ก่อนจะปรินิพพาน พระญาติของทั้งสองฝั่งแม่น้ำโรหิณีก็คือเมืองกบิลพัสดุ์และเมืองเทวทหะต่างฝ่ายต่างก็พยายามต้องการจะให้พระอานนท์ได้ไปนิพพานทางฝั่งบ้านเมืองของตนเอง จนไม่มีฝ่ายฝั่งไหนยินยอมให้แก่กัน
    พระอานนท์พิจารณาเป็นครั้งสุดท้ายว่าหากปล่อยให้เรื่องราวกลายเป็นแบบนี้ต่อไปจะก่อให้เกิดความขัดแย้งที่รุนแรงและก่อการทะเลาะเบาะแว้งกันได้จึงได้ตั้งจิตอธิษฐานให้ลอยขึ้นไปในอากาศให้ร่างเผาไหม้กลางอากาศแล้วแตกออกเป็นสองส่วนส่วนหนึ่งตกลงในเมืองกบิลพัสดุ์อีกส่วนก็ตกลงยังฝั่งเมืองเทวทหะเพื่อให้พระญาติของทั้งสองฝั่งได้นำอัฐิไปบรรจุสถูปสักการบูชากันได้ทั้งสองฝ่าย
    การอธิษฐานเพื่อหวังผลประโยชน์สุขของผู้อื่นด้วยจะยังก่อให้เกิดความสุขที่ยิ่งใหญ่ได้อย่างแท้จริงด้วยประการฉะนี้
    .................................... RoseUnderline.gif
    :- http://watconcord.org/miscellaneous/225-2011-12-12-18-55-59?showall=&start=3

     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 13 พฤษภาคม 2018

แชร์หน้านี้

Loading...