รู้เท่าทันโลกและชีวิตแก้ไขวิกฤตด้วยพระไตรปิฎกสำหรับผู้เริ่มศึกษา

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย NoOTa, 28 กรกฎาคม 2006.

  1. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,494
    รู้เท่าทันโลกและชีวิตแก้ไขวิกฤตด้วย' พระไตรปิฎก'สำหรับผู้เริ่มศึกษา



    คอลัมน์ ภูมิสังคมวัฒนธรรม

    โดย ผู้สื่อข่าวชาวสยาม



    [​IMG]

    พระไตรปิฎกสำหรับผู้เริ่มศึกษา ควรหาไปถวายพระตามศรัทธา ทั้งช่วงเข้าพรรษาและออกพรรษา รวมทั้งมีไว้ประจำบ้านทุกครัวเรือน ถึงยังไม่อ่านวันนี้ก็เป็นสิริมงคลแก่ครอบครัวและตัวเองที่มีไว้ เมื่อข้องใจสงสัยอะไรในโลกและชีวิตทั้งยามวิกฤตและยามปกติ ย่อมเปิดอ่านเพื่อให้รู้เท่าทันโลกและชีวิตได้ง่ายๆ ดังประสงค์ทุกโมงยาม เพราะทำให้ง่ายอย่างไม่เคยมีมาก่อนด้วยความรักและความศรัทธาของปราชญ์รู้ธรรมร่วมสมัย ชื่ออุทัย บุญเย็น

    ท่านเจ้าประคุณพระพรหมคุณาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) มีอนุโมทนากถาถึงหนังสือเล่มนี้โดยมีธรรมลิขิตถึงมหาอุทัย ตอนหนึ่งว่า

    "งานแห่งโครงการพระไตรปิฎกเฉลิมพระเกียรติฯนี้ เห็นได้ง่ายว่าเป็นงานที่ยากยิ่งนัก จะสำเร็จมิได้หากมิใช่เพราะอาศัยทั้ง วิริยะ คือความพากเพียรมุ่งแน่วที่ต่อเนื่องมั่นคงตลอดกาลเวลายาวนาน และทั้งปัญญา คือความรู้ความเข้าใจทั้งด้านพระธรรมวินัยและภาษาบาลี พร้อมทั้งวิชาการร่วมสมัย กับทั้งความฉลาดสามารถที่จะจำแนกแยกแยะจัดตั้งวางระบบลำดับหมวดหมู่ เป็นต้น แต่ที่เป็นฐานสำคัญลึกซึ้งที่สุด คือความมีน้ำใจรักต่อพระพุทธศาสนา และมุ่งหวังประโยชน์สุขแก่ประชาชน ด้วยศรัทธาและฉันทะอันแรงกล้า

    ด้วยเหตุดังกล่าวมา บุญกิริยาของอุบาสกอุทัย บุญเย็น ผู้จัดทำพระไตรปิฎกเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษานี้ จึงเป็นมหากุศลที่ควรแก่การชื่นชมสดุดีอย่างยอดยิ่ง

    ผลงานนั้น แสดงให้เห็นว่าอุบาสกอุทัย บุญเย็น ผู้จัดทำพระไตรปิฎกเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษานี้ ซึ่งเป็นเปรียญธรรม ผู้ได้เล่าเรียนมาในระบบการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี และเป็นศาสนศาสตรบัณฑิต ผู้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย แม้จะได้ไปศึกษาเล่าเรียนวิชาการสมัยใหม่ จบปริญญาชั้นสูงจากต่างประเทศมาแล้วด้วย ก็ได้นำเรี่ยวแรงความเพียรและสติปัญญาของตนมาใช้ในการทำงานที่เป็นแกนเป็นฐานของพระพุทธศาสนาอย่างเต็มกำลังความสามารถ

    จึงควรจะกล่าวย้ำเน้นไว้เป็นที่สังเกตอันสำคัญ โดยพึงถือได้ว่าอุบาสกอุทัย บุญเย็น นั้น เป็นนิทัศน์แห่งการสัมฤทธิ์จุดหมายของสถาบันปริยัติศึกษาและมหาวิทยาลัยสงฆ์ ที่มุ่งให้นิสิตเล่าเรียนแตกฉานช่ำชองในพระธรรมวินัยเป็นหลัก และรู้เท่าทันวิทยาการสมัยใหม่และร่วมสมัยเป็นเครื่องแวดล้อม แล้วสำเร็จเป็นบัณฑิตผู้ใฝ่ใจและสามารถใช้วิทยาการแวดล้อมนั้น เป็นเครื่องมือที่จะนำพระธรรมวินัยออกสื่อสารสำแดงให้โลกประจักษ์ในคุณค่าของพระพุทธศาสนธรรม โดยรู้เข้าใจ ได้ศรัทธา และสามารถนำไปปฏิบัติให้สัมฤทธิ์ประโยชน์สุขแก่ชีวิตและสังคมอย่างสมสมัย
    <TABLE style="BORDER-RIGHT: #ffffff 1px dotted; BORDER-TOP: #ffffff 1px dotted; BORDER-LEFT: #ffffff 1px dotted; BORDER-BOTTOM: #ffffff 1px dotted" cellSpacing=5 cellPadding=1 width="20%" align=right border=1><TBODY><TR bgColor=#ffe9ff><TD>[​IMG]</TD></TR></TBODY></TABLE>

    กว่าจะเป็นพระไตรปิฎกสำหรับผู้เริ่มศึกษา มีประวัติความเป็นมาอย่างไร? เห็นได้จากคำโสมนัสของบรรณาธิการบริหาร (หนังสือชุดนี้) ชื่อนายสุขพัฒน์ ทองเพ็ง เล่าว่า การทำสังคายนาพระธรรมวินัยมาเป็นลำดับ สมัยแรกๆ พระอริยเจ้าทั้งหลายท่องจำสอบทานสืบต่อกันมาด้วยปากเปล่าที่เรียกว่ามุขปาฐะ ต่อมาได้มีการจารึกเป็นอักษรบาลี จัดหมวดหมู่คำสอนเป็นชุดพระคัมภีร์ (ปิฎก) 3 ชุด เรียกว่า พระไตรปิฎก

    พระไตรปิฎกประกอบด้วย 1.พระวินัยปิฎก เนื้อหาว่าด้วยวินัยสงฆ์และระเบียบวิธีปฏิบัติต่างๆ ของภิกษุและภิกษุณี 2.พระสุตตันตปิฎก เนื้อหาว่าด้วยพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าและพระสาวก รวมถึงคติธรรมต่างๆ ของบุคคลในสมัยพุทธกาล มีเรื่องราวเหตุการณ์สะท้อนข้อมูลทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี ฯลฯ ในสมัยพุทธกาลเชื่อมโยงอยู่ในคำสอน 3.พระอภิธรรมปิฎก เนื้อหาว่าด้วยสภาวธรรมของรูป จิต และเจตสิกล้วนๆ มีลักษณะเป็นวิชาการอธิบายคำสอนของพระพุทธเจ้าให้แจ่มชัดขึ้น

    การจารึกพระไตรปิฎกเป็นลายลักษณ์อักษร เริ่มขึ้นที่ประเทศลังกา เมื่อพุทธศตวรรษที่ 5 (ราว พ.ศ.433-450)

    ประเทศไทยมีการจารึกพระไตรปิฎกลงใบลานครั้งแรกที่เมืองเชียงใหม่ ประมาณ พ.ศ.2020 และเริ่มมีการพิมพ์เป็นเล่มหนังสือครั้งแรกที่กรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 5 (เมื่อ พ.ศ.2431-2436) โดยปริวรรตจากอักษรขอมเป็นอักษรไทย ได้พระไตรปิฎก 39 เล่ม หนังสือในการพิมพ์ครั้งแรก 1,000 ชุด พิมพ์จบบริบูรณ์ทั้ง 45 เล่มในสมัยรัชกาลที่ 7 (ระหว่าง พ.ศ.2468-2473)

    พระไตรปิฎกที่จัดพิมพ์ในสมัยรัชกาลที่ 7 นี้เอง ได้มีการส่งไปเผยแพร่ในต่างประเทศ ทำให้มีผู้พยายามอ่านอักษรไทยเพื่อจะได้อ่านประไตรปิฎกฉบับนี้ได้ พระเถระชาวเยอรมันในลังการูปหนึ่ง คือพระนยานติโลก ได้เขียนยกย่องพระไตรปิฎกของไทยฉบับนี้ว่า มีความสมบูรณ์กว่าฉบับที่พิมพ์ด้วยอักษรโรมันของสมาคมบาลีปกรณ์ (P.T.S.) ในประเทศอังกฤษเป็นอันมาก

    โดยที่พระไตรปิฎกฉบับดังกล่าว เกิดจากพระราชทรัพย์บริจาคของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และเงินบริจาคโดยเสด็จในพระราชกุศลของพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการทวยราษฎร์ชาวสยามทั้งฝ่ายบรรพชิตและคฤหัสถ์ ที่ประชุมชำระพระไตรปิฎกในครั้งนั้น จึงขนานนามพระไตรปิฎกในฉบับนั้นว่า "สยามรฏฐสฺสเตปิฎก" ซึ่งมีชื่อเป็นไทยว่า "พระไตรปิฎกสยามรัฐ" อันหมายถึงพระไตรปิฎกฉบับของประเทศไทย

    การมีพระไตรปิฎกของประเทศครั้งนั้น มีแต่ฉบับภาษาบาลี ผู้ที่จะเข้าถึงเนื้อหาของพระไตรปิฎกยังจำกัดวงผู้อ่านเข้าใจความในพระไตรปิฎกอยู่นั่นเอง เพราะคำสอนในพระไตรปิฎกเป็นภาษาของพระอริยเจ้า ซึ่งเต็มไปด้วยอรรถและพยัญชนะอันพิเศษ ผู้ศึกษาต้องอาศัยคัมภีร์ไขความไขศัพท์เป็นเครื่องมือที่จำเป็น หาไม่แล้วก็ยากที่จะเข้าใจความได้ หรือถ้าคิดว่าเข้าใจ ก็อาจจะเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้โดยง่าย

    ด้วยเหตุนี้ จึงมีหนังสือแนวพระไตรปิฎกฉบับเรียบเรียงโดยท่านผู้รู้ ให้เห็นอยู่ประปราย แต่ก็ทำได้เป็นบางส่วนบางตอน ที่ทำได้ครอบคลุมเนื้อหาของพระไตรปิฎกมากกว่าทุกฉบับ คือหนังสือ "พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน" โดยอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ แต่ก็ทำในรูปสรุปความพอได้เป็นแนวทางสืบค้น บางช่วงตอนก็แจ้งไว้แต่เพียงชื่อหมวดหมู่ (เช่น หมวดสังยุตตนิกาย ในฉบับบาลีมี 5 เล่ม ก็แจ้งชื่อหมวดหมู่ให้จบใน 5 หน้า เป็นต้น) ทั้งนี้ เป็นเพราะข้อจำกัดด้านการจัดพิมพ์ กระนั้นก็เป็นอุปการคุณอันใหญ่หลวงที่ผลงานดังกล่าวมีส่วนอย่างสำคัญในการนำพาผู้คนให้ได้สัมผัสพระไตรปิฎกที่พอจะทำความเข้าใจได้ส่วนหนึ่ง

    และหนังสือพระไตรปิฎกฉบับนั้นเอง ได้จุดประกายให้เกิดโครงการพระไตรปิฎกสำหรับผู้เริ่มศึกษานี้ขึ้นมา โดยเริ่มงานกันเงียบๆ ตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา

    หนังสือพระไตรปิฎกสำหรับผู้เริ่มศึกษาชุดนี้ อุบัติขึ้นในห้วงเวลาที่พระไตรปิฎกมีเครื่องมือให้ศึกษาเข้าใจได้มากขึ้น มีท่านผู้รู้ฝากคำอธิบายภาษาธรรมไว้มากขึ้น มีคอมพิวเตอร์ช่วยงานอีกทางหนึ่ง จึงสามารถสร้างระบบเนื้อหาสนองความต้องการได้มากขึ้นอีกระดับหนึ่ง

    ลักษณะผลงานหนังสือชุดนี้คือ เป็นหนังสือสำหรับให้ชาวบ้านทั่วไปอ่านได้ ขณะเดียวกัน ก็ให้เป็นหนังสือสำหรับวงการนักเรียน นักศึกษา ครูบาอาจารย์ ใช้ประกอบการเรียนการสอนและการศึกษาค้นคว้าได้ จึงได้จัดทำระบบสารบัญ ดัชนี และนามานุกรม ไว้ละเอียดเป็นพิเศษ จัดทำระบบให้อิงกับพระไตรปิฎกบาลีอย่างเคร่งครัด ให้สามารถใช้อ้างอิงและสอบทานเนื้อหาได้โดยตลอด

    ความรู้หรือคำสอนในพระไตรปิฎก เป็นเรื่องราวบนแผ่นดินที่มีทั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและผู้เป็นอริยบุคคล ซึ่งจะหาอ่านที่ไหนไม่ได้เลย

    เมื่อพระไตรปิฎกยังดำรงอยู่ ก็หมายถึงพระพุทธศาสนาในส่วนที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าก็ยังดำรงอยู่อย่างบริบูรณ์

    แต่โบราณมา งานดำรงรักษาพระไตรปิฎก นิยมจารลงบนใบลานหรือพิมพ์เป็นเล่มหนังสือ พระไตรปิฎกที่จารหรือพิมพ์นั้น คือพระไตรปิฎกชุดใหญ่ แม้จะอยู่ในรูปภาษาบาลี ก็ถือเป็นบุญกิริยาที่ชาวพุทธต้องทำ ทั้งนี้ ก็ด้วยหวังว่า พระสงฆ์องคเจ้าจะได้ขวนขวายศึกษา แล้วเผยแผ่คำสอนในพระไตรปิฎกแก่พุทธบริษัทสืบไป ผลจากการมีพระไตรปิฎกเช่นนั้นเอง จึงได้มีการเรียนการสอนให้เข้าถึงเนื้อหาพระไตรปิฎกกันทั่วถึง ไม่อยู่ในวงจำกัดที่วัดวาอารามเท่านั้น





    พระไตรปิฎกสำหรับผู้เริ่มศึกษา

    ลักษณะเนื้อหา เรียบเรียงจากพระไตรปิฎกบาลี (ฉบับสยามรัฐ) โดยวิธีสรุปความและเสริมความให้เข้าใจง่าย เพื่อการอ่าน และเพื่อเป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการ

    ผู้เรียบเรียง อุทัย บุญเย็น ป.ธ.8 (สำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร), ศน.บ. (ศาสนา-ปรัชญา) มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย, M.A. (University of Delhi, India)

    คุณสมบัติของหนังสือ ชุดละ 18 เล่ม เป็นพระวินัยปิฎก 4 เล่ม พระสุตตันตปิฎก 12 เล่ม พระอภิธรรม-ปิฎก 2 เล่ม, ความหนาเฉลี่ยเล่มละ 350-400 หน้า, ขนาด 16 หน้ายกพิเศษ, ปกแข็งสี่สี และปั๊มทอง,เนื้อในพิมพ์ด้วยกระดาษปอนด์เกรด A 80 แกรม, มีภาพประกอบ, บรรจุกล่องสี่สีและปั๊มทอง (รวม 5 กล่อง)

    การจัดจำหน่าย จำหน่ายเป็นชุด ชุดละ 12,500.- บาท (รวมค่าบริการส่งภายในประเทศ) รายได้ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นทุนส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรม วัดยานนาวา และเพื่อเป็นทุนส่งเสริมศาสนกิจของสถาบันแม่ชีไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์

    ข้อมูลเพิ่มเติม WWW.dictaphone.co.th

    หรือติดต่อไปที่ 0-2243-1842,0-2243-4066,0-2243-0922,0-2668-6700-1

    (เวลา 09.00-16.30 น. หยุดวันเสาร์-อาทิตย์) Fax : 0-2243-0638

    Email: bodhinet@dictaphone.co.th

    หรือติดต่อได้ทุกวันเวลาที่ 0-1627-9409, 0-1849-4205, 0-1942-6244


    ที่มา : [​IMG]
     

แชร์หน้านี้

Loading...