เสียงธรรม ภัทเทกรัตตคาถา

ในห้อง 'บทสวดมนต์' ตั้งกระทู้โดย supatorn, 12 กรกฎาคม 2019.

  1. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,942
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    beautyBuddha.jpg
    ภัทเทกรัตตคาถา


    Npaskorn Tanapornsri
    Published on Jul 14, 2011

    ภัทเทกรัตตคาถา
    อะตีตัง นานวาคะเมยยะ นัปปะฏิกังเข อะนาคะตัง
    ยะทะตีตัมปะหีนันตัง อัปปัตตัญจะ อะนาคะตัง
    ปัจจุปปันนัญจะ โย ธัมมัง ตัตถะ ตัตถะ วิปัสสะติ
    อะสังหิรัง อะสังกุปปัง ตัง วิทธา มะนุพ๎รูหะเย
    อัชเชวะ กิจจะมาตัปปัง โก ชัญญา มะระณัง สุเว
    นะ หิโน สังคะรันเตนะ มะหาเสเนนะ มัจจุนา
    เอวัง วิหาริมาตาปิง อะโหรตตะมะตันทิตัง
    ตังเว ภัทเทกะรัตโตติ สันโตอาจิกขะเต มุนีติ

    คำแปล ความหมาย ภัทเทกรัตตคาถา

    (ผู้มีราตรีเดียวอันเจริญ)

    ผู้มีปัญญา ไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ไม่ควรตั้งความหวังกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง, สิ่งที่ล่วงไปนั้น ก็ได้ล่วงไปแล้ว สิ่งที่ยังไม่มีมานั้น ก็ยังไม่มาถึง, ก็ผู้ใดเห็นแจ้งชัดในสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ณ ที่นั้น ๆ แล้ว ใจไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลน และผู้ที่ทราบชัดถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว สิ่งที่ยังไม่มาถึง และไม่มีความง่อนแง่น คลอนแคลนในเหตุปัจจุบันนั้นแล้ว พึงพอกพูนความรู้นั้นให้มากยิ่งขึ้น

    ความเพียรเพื่อเผากิเลส ควรทำในวันนี้เท่านั้น ก็ใครเล่าจะสามรถรู้ได้ว่าความตายจะมีในวันพรุ่งนี้ก็ได้, ไม่มีใครที่จะสามารถต่อสู้กับพญามัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่ได้,

    ผู้เป็นบัณฑิตย่อมกล่าวสรรเสริญผู้มีธรรมเครื่องเผากิเลสเป็นเครื่องอยู่ผู้มีความเพียรแผดเผากิเลสทั้งกลางวันกลางคืนนั้นแล ว่าเป็นมุนีผู้สงบ เป็นผู้มีราตรีเดียวอันเจริญ ดังนี้แล ฯ

    ....................................................................................................................................
     
  2. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,942
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    มองเป็นเห็นธรรม : ภัทเทกรัตตคาถา คาถาที่ทำให้ชีวิตปัจจุบันมีความสุข
    เผยแพร่: 2 พ.ค. 2560 11:38 โดย: MGR Online
    ในการสวดพระพุทธมนต์ บทสวดต่อจากพุทธอุทานคาถา คือ ภัทเทกรัตตคาถา ซึ่งเป็นบทสุดท้าย ที่แสดงถึงธรรมปฏิบัติในพระพุทธศาสนา

    สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ทรงอธิบายถึง ภัทเทกรัตตคาถา ในพระธรรมเทศนา ชุดธรรมอบรมจิต ตอน พระพุทธคุณบทว่า ภควา (๕) ว่า

    “....ภัทเทกรัตตสูตร พระสูตรที่ว่าด้วยมีราตรีเดียวอันเจริญ พระสูตรนี้เป็นคาถาพุทธภาษิตไม่ยาวนัก และถือว่าเป็นหลักสำคัญในการปฏิบัติ ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงจำแนกแจกแจงแสดงไว้ เพราะฉะนั้น จึงจะยกเอาพระคาถานี้มาแปลให้ฟัง ว่าพระพุทธเจ้าตรัสไว้จริงๆนั้น อันเป็นที่นับถือว่าเป็นพุทธภาษิตว่าอย่างไร ได้ตรัสไว้ว่า

    อตีตํ นานฺวาคเมยฺย ไม่พึงพะวงถึง หน่วงเหนี่ยวใจถึง ธรรมะหรือส่วนที่เป็นอดีตคือล่วงไปแล้ว
    นปฺปฏิกงฺเข อนาคตํ ไม่หวังถึงธรรมะหรือส่วนที่เป็นอนาคตยังไม่มาถึง
    ยทตีตมฺปหีนนฺตํ ส่วนที่เป็นอดีตก็ล่วงไปแล้ว
    อปฺปตฺตญฺจ อนาคตํ ส่วนที่เป็นอนาคตก็ยังไม่มาถึง
    ปจฺจุปฺปนฺนญฺจ โย ธมฺมํ ส่วนปัจจุบันธรรมคือธรรมะ หรือส่วนที่เป็นปัจจุบัน
    ตตฺถ ตตฺถ วิปสฺสติ เห็นแจ้งในที่นั้นๆ ในกาลนั้นๆ ในอารมณ์นั้นๆ
    อสํหิรํ อสงฺกุปฺปํ ไม่ง่อนแง่นไม่คลอนแคลน
    ตํ วิทฺธา มนุพฺรูหเย พึงเจาะแทงปัจจุบันธรรมนั้น พอกพูนความเจาะแทงนั้น
    อชฺเชว กิจฺจมาตปฺปํ ความเพียรพึงเร่งรีบกระทำในวันนี้ทีเดียว
    โก ชญฺญา มรณํ สุเว ใครเล่าจะรู้ว่าความตายจะมาแต่วันพรุ่งนี้
    น หิ โน สงฺครนฺเตน มหาเสเนน มจฺจุนา ความผัดเพี้ยนด้วยความตาย อันมีเสนาใหญ่มิได้เลย
    เอวํ วิหาริ มาตาปึ ผู้ที่มีความเพียรไม่ย่อหย่อนอยู่อย่างนี้
    อโหรตฺตมตนฺทิตํ ทั้งกลางวันและกลางคืน
    ตํ เว ภทฺเทกรตฺโตติ สนฺโต อาจิกฺขเต มุนี พระมุนีเรียกผู้ที่มีความเพียรไม่ย่อหย่อนนั้นว่าเป็นผู้สงบ เป็นผู้ที่มีราตรีเดียวเจริญ ดั่งนี้

    นี้เป็นพระพุทธภาษิตที่เป็นคาถาซึ่งบรรจุถ้อยคำไม่มาก แต่ว่าแสดงแนวปฏิบัติเป็นอย่างดียิ่ง และเพราะเหตุที่แนวปฏิบัติที่แสดงไว้ในพระพุทธภาษิตนี้ เมื่อปฏิบัติไปตามนี้แล้ว ก็จะเป็นผู้ที่มีความเจริญใจตลอดราตรี ซึ่งมีความหมายว่าตลอดทั้งกลางวันกลางคืนนั่นแหละ

    เพราะว่าจิตใจนี้เมื่อมิได้อบรมตามพระพุทธภาษิตนี้ ย่อมเป็นจิตใจที่ประกอบไปด้วยอกุศลวิตกต่างๆ หน่วงเหนี่ยวถึงอดีตบ้าง หวังถึงอนาคตบ้าง ง่อนแง่นคลอนแคลน ยินดียินร้ายอยู่ในปัจจุบันธรรมบ้าง เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเป็นจิตใจที่กระสับกระส่ายวุ่นวายไม่สงบ มีทุกข์อยู่ทั้งกลางวันทั้งกลางคืน

    แต่ถ้าปฏิบัติตามพระพุทธภาษิตนี้ ดับหรือหักกิเลส ดับหรือหักใจในส่วนที่เป็นอดีต ในส่วนที่เป็นอนาคต และในส่วนที่เป็นปัจจุบันได้ ก็จะเป็นผู้ที่มีจิตใจสงบ มีจิตใจมีความสุข ตลอดวันตลอดคืน ยกเอากลางคืนขึ้นเป็นที่ตั้ง ก็แปลว่าทั้งคืน ก็จะมีจิตใจที่สงบ มีสุขอยู่ตลอด ทั้งปฐมยาม มัชฌิมยาม ปัจฉิมยาม แปลว่าตลอดราตรีจิตใจเป็นจิตใจที่เจริญ ด้วยความสุขอันเกิดจากความสงบเป็นอันเดียวกันหมด

    เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า ภัทเทกรัตตสูตร เป็นพระสูตรที่ตรัสสอนทางปฏิบัติ ที่จะให้มีความสุขอันเกิดจากความสงบอยู่ตลอดคืนตลอดวัน หรือยกเอาราตรีขึ้นมาก็ตลอดราตรี...”

    หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต แสดงธรรมบรรยายเรื่อง ภัทเทกรัตตสูตร ว่า

    “...สมัยสมเด็จพระผู้มีภาคเจ้าเสด็จประทับที่พระเชตวนาราม กรุงสาวัตถี ได้ตรัสภัทเทกรัตตสูตรแก่ภิกษุทั้งหลายว่า

    ผู้มีปัญญา ไม่ควรให้สิ่งล่วงไปแล้วมาตาม ไม่ควรหวังสิ่งซึ่งยังมาไม่ถึง เพราะว่าสิ่งใดล่วงพ้นไปแล้ว สิ่งนั้นอันเราละเสียแล้ว อนึ่งสิ่งใดซึ่งไม่มาถึงเล่า สิ่งนั้นก็ยังไม่มาถึง เพราะฉะนั้นผู้มีปัญญาจึงไม่ควรให้สิ่งซึ่งล่วงไปแล้วมาตาม ไม่ควรหวังสิ่งซึ่งไม่มาถึง ก็ผู้มีปัญญาได้มาเห็นธรรม ซึ่งเป็นปัจจุบันเกิดขึ้นจำเพาะหน้าแจ้งชัดอยู่ในที่นั้นๆ ความเห็นแจ้งธรรม ซึ่งเป็นปัจจุบันของท่านนั้นไม่ง่อนแง่น ไม่กำเริบด้วยดี

    ผู้มีปัญญาอันมาได้ความเห็นแจ้งในธรรม ซึ่งเป็นปัจจุบันอันไม่ง่อนแง่นและไม่กำเริบด้วยดีแล้ว ควรเจริญความเห็นนั้นไว้เนืองๆ ความเพียรเผากิเลสให้เร่าร้อน อันผู้มีปัญญาควรรีบทำเสียในวันนี้ทีเดียว ใครจะพึงรู้ว่าความตายจักมีในวันพรุ่งนี้ เพราะว่าสู้ความหน่วงเหนี่ยว ความผูกพันกับด้วยมฤตยูความตายซึ่งมีเสนาใหญ่นั้นไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นความเพียรเผากิเลสให้เร่าร้อน อันผู้มีปัญญาควรทำเสียในวันนี้ทีเดียว นักปราชญ์ผู้สงบระงับ ย่อมกล่าวสรรเสริญผู้มีปัญญาซึ่งมีธรรมเป็นเครื่องอยู่ มีความเพียรเผากิเลสให้เร่าร้อน ไม่เกียจคร้าน ขยันหมั่นเพียรทั้งกลางวันและกลางคืนอย่างนี้ ผู้นั้นแล ว่าผู้มีราตรีเดียวเจริญดังนี้

    เมื่อตรัสอุเทศนี้จบแล้ว จึงตรัสวิภังค์ต่อไปว่า

    ภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลให้สิ่งซึ่งล่วงไปแล้วมาตามอยู่ไฉน? บุคคลมาคิดว่า ณ กาลล่วงไปแล้วเมื่อก่อน เราได้เป็นผู้มีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างนี้ๆแล้ว นำความเพลิดเพลินในขันธ์ มีรูปขันธ์เป็นต้น ซึ่งล่วงไปแล้วนั้นมาตามอยู่ ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้แล ชื่อว่าบุคคลให้สิ่งซึ่งล่วงไปแล้วมาตามอยู่

    ภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลไม่ให้สิ่งซึ่งล่วงไปแล้ว มาตามอยู่เป็นไฉนเล่า? บุคคลมาคิดว่า ณ กาลไกลล่วงไปแล้วเมื่อก่อน เราได้เป็นผู้มีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างนี้ๆ แล้วไม่นำความเพลิดเพลินในขันธ์ มีรูปขันธ์เป็นต้น ซึ่งล่วงไปแล้วนั้นมาตามอยู่ ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แลชื่อว่าบุคคลไม่ให้สิ่งล่วงไปแล้วมาตามอยู่ เบื้องหน้าก็ไม่ปรารถนา ไม่ให้มาตามอยู่ และปัจจุบันก็ไม่ให้มาตามอยู่ ไม่ถือว่าเราว่าเขา ชื่อว่าไม่ง่อนแง่นอยู่ในธรรมทั้งหลาย

    พระอริยสาวกและสัตบุรุษ ท่านไม่ตามเห็นว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ โดยความเป็นตัวตนบ้าง ไม่ตามเห็นตัวตนว่ามีรูป เวทนา สังขาร วิญญาณบ้าง ไม่ตามเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณในตัวตนบ้าง ไม่ตามเห็นตัวตนในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณบ้าง ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แลชื่อว่า บุคคลไม่ง่อนแง่นอยู่ในธรรมทั้งหลาย ซึ่งเกิดขึ้นจำเพาะหน้าฉะนี้แล...”

    ในวิทยานิพนธ์ เรื่อง การศึกษาวิเคราะห์หลักการปฏิบัติธรรมในภัทเทกรัตตสูตร ของ พระครูพิสิฐสรภาณ (นิรันดร์ ศิริรัตน์) ได้กล่าวสรุปหลักการปฏิบัติธรรมในภัทเทกรัตตสูตร ว่า

    “หลักการปฏิบัติธรรมในภัทเทกรัตตสูตรนี้ ประกอบด้วยหลักธรรม คือ (๑) ไม่คํานึงถึงขันธ์ ๕ ที่ล่วงไปแล้ว (๒) ไม่คาดหวังขันธ์ ๕ ที่ยังไม่มาถึง (๓) เจริญสติสัมปชัญญะอยู่กับขันธ์ ๕ ปัจจุบันอย่างมั่นคงและต่อเนื่อง นอกจากนั้น ยังต้องประกอบไปด้วยความเพียรขยัน ตื่นตัวอยู่โดยการเจริญสติตามรู้ชัดถึงขันธ์ ๕ ที่กําลังปรากฏอยู่ ณ ปัจจุบันขณะ อยู่ตลอดเวลา ทั้งในการเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิอย่างมั่นคงและต่อเนื่องทั้งกลางวัน จนถึงกลางคืน ไม่เห็นแก่การนอน ไม่ประกอบในสุขในการนอนหลับ นอนในยามกลาง ๔ ชั่วโมง ต่อจากนั้นลุกขึ้นชําระจิตให้สะอาดจนตลอดยามสุดท้าย ทั้งนี้ต้องประกอบกับการระลึกถึงความตาย เพื่อจะทําให้ไม่ประมาท รีบเร่งขวนขวายในการเจริญสติสัมปชัญญะตามหลักของสติปัฏฐาน ๔ จึงจะถือว่าเป็นผู้มีชีวิตอยู่เพียงแค่คืนเดียว ก็นับว่าเป็นผู้เจริญ ซึ่งหมายถึงความเจริญในมรรค ผล และพัฒนาไปสู่การบรรลุธรรมได้ในที่สุด”

    เมื่อได้ศึกษาและปฏิบัติตามธรรมในภัทเทกรัตตสูตร ย่อมได้ข้อคิดว่า จงใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบัน อย่าไปอาลัยอดีต อย่าไปฟุ้งซ่านกับอนาคต ทุกขณะของปัจจุบันที่กอปรด้วยสติสัมปชัญญะ ย่อมทำให้ไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต เมื่อประสบกับความตาย ก็อาจหาญเผชิญกับความตายได้อย่างเข้าใจในกฎของธรรมชาติ

    ด้วยเหตุนี้ โบราณาจารย์จึงจัดบทสวดพระพุทธมนต์เริ่มต้นด้วย ปัพพโตปมคาถา, อริยธนคาถา, ธัมมนิยามสูตร, ติลักขณาทิคาถา, ปฏิจจสมุปบาท, พุทธอุทานคาถา และ ภัทเทกรัตตคาถา เป็นที่สุด ด้วยหวังว่าสาธุชนผู้มางานศพ จะได้ปลงสังเวชเมื่อได้ฟังการสวดพระพุทธมนต์ แล้วเกิดความไม่ประมาทในชีวิต ด้วยตระหนักถึงมรณภัย รีบเร่งขวนขวายนำตนให้บรรลุธรรมตามกำลังความสามารถ ซึ่งจะทำให้เข้าใกล้บรมสุขในพระพุทธศาสนาได้ในที่สุด แล้วจะสามารถดำเนินชีวิตของตนตามปัจฉิมโอวาทที่ทรงประทานไว้ว่า

    “ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนพวกเธอว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด”

    (จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 197 พฤษภาคม 2560 โดย พระครูพิศาลสรนาท (พจนารถ ปภาโส) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กทม.)
     

แชร์หน้านี้

Loading...