พระนางพญาพิษณุโลกราชินีในเบญจภาคี

ในห้อง 'ประสบการณ์ เรื่องเล่า' ตั้งกระทู้โดย vacharaphol, 24 พฤษภาคม 2009.

  1. vacharaphol

    vacharaphol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    8,849
    ค่าพลัง:
    +27,175
    พระนางพญาพิษณุโลก เป็นอีกหนึ่งในพระชุดเบญจภาคี จัดว่าเป็นพระชั้นนำแห่งยุคนิยม เรียกกันว่าเป็น "ราชินีแห่งพระเครื่อง" เป็นพระเครื่องที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดของเมืองพิษณุโลก พระนางพญาพิษณุโลก เป็นพระเครื่องที่พบอยู่ในพระเจดีย์ และบริเวณวัดนางพญา ในเขตอำเภอเมืองฯ จังหวัดพิษณุโลก ริมแม่น้ำน่าน ซึ่งเดิมนั้นเป็นวัดเดียวกันกับวัดราชบูรณะ ซึ่งเป็นวัดที่ประดิษฐานพระพุทธชินราชที่สำคัญยิ่ง และเป็นพระคู่บ้านคู่เมือง
    วัดราชบูรณะเป็นวัดที่สมเด็จพระมหาธรรมราชาเป็นผู้สร้างขึ้นมา แล้วก็ถือว่าเป็นวัดหลวงวัดใหญ่ ต่อมาทางการได้ตัดถนนผ่านกลางพื้นที่วัด จึงถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน แต่ก็ยังเป็นวัดราชบูรณะอยู่ จนกระทั่งมีการพบพระนางพญา ก็มีการแบ่งแยกฝั่งที่ไม่ใช่เจดีย์ใหญ่ คือฝั่งที่เจอพระนางพญาที่มีเจดีย์เล็กกว่าว่า "วัดนางพญา"
    พระนางพญาพิษณุโลก สร้างโดยพระวิสุทธิกษัตริย์ พระมเหสีของพระมหาธรรมราชา และทรงเป็นพระราชมารดาของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระองค์ทรงสร้างพระนางพญาขึ้น บรรจุไว้ในเจดีย์วัดราชบูรณะ ในราวปี พ.ศ.2090-2100 เหตุที่สร้างก็เพื่อเป็นพุทธบูชาและเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนาตามคตินิยมมาแต่โบราณกาล ตามความเชื่อและคตินิยมของคนในสมัยนั้น และเพื่อเสริมสร้างบารมีให้แก่ผู้สร้าง ในครั้งที่ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดราชบูรณะ ซึ่งเป็นวัดที่สร้างโดยพระมหาธรรมราชา
    สมัยนั้นพิษณุโลกเป็นเมืองลูกหลวง ขณะนั้นพระองค์ดำรงพระอิสริยยศเป็นแม่เมืองสองแคว และพระมหาธรรมราชาทรงพระอิสริยยศที่ พระอุปราช แห่งแผ่นดินพระมหาจักรพรรดิ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี
    พระนางพญาถูกค้นพบครั้งแรกประมาณปี พ.ศ.2444 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ครั้งที่พระองค์เสด็จประพาสเมืองพิษณุโลก เพื่อทรงทอดพระเนตรการหล่อพระพุทธชินราชจำลอง เพื่อนำมาเป็นพระประธานที่วัดเบญจมบพิตร และได้เสด็จวัดนางพญา เมื่อเสด็จฯ ถึงเมืองพิษณุโลก ทางจังหวัดได้เตรียมการต้อนรับเสด็จฯ ที่วัดนางพญา จึงมีการปรับพื้นที่และขุดหลุมเพื่อฝังเสาจัดสร้างปะรำพิธี ได้พบพระเครื่องจำนวนมาก ก็คือพระนางพญานั่นเอง ทางจังหวัดและเจ้าอาวาสวัดได้ทำการเก็บพระเครื่องที่พบเหล่านั้นไว้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ ถึง จึงได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย พระองค์ได้พระราชทานแจกจ่ายแก่ประชาชน และข้าราชบริพารที่ตามเสด็จฯ พระเครื่องที่เหลือก็นำกลับกรุงเทพฯ
    พระนางพญามีลักษณะเป็นพระพุทธปฏิมาแบบนูนต่ำ ในรูปทรงสามเหลี่ยมทุกพิมพ์ ประทับนั่งปางมารวิชัย ไม่มีอาสนะหรือฐานรองรับ รูปทรงอ่อนหวานละมุนละไมและงามสง่า งดงามแทบทุกพิมพ์ โดยเฉพาะจะเน้นบริเวณอกที่ตั้งนูนเด่นและลำแขนทอด อ่อนช้อยคล้ายกับ "ผู้หญิง" จึงเรียกพระพิมพ์นี้ว่า พระพิมพ์นางพญา อีกประการหนึ่งใช้ชื่อตามผู้สร้างคือ "พระวิสุทธิกษัตรีย์" นั่นเอง พิมพ์ทรงของพระนางพญา หากดูในเรื่องสัดส่วน ทรวดทรง ศิลปะ เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย จะเห็นว่าน่าได้จะรับอิทธิพลทางพุทธศิลป์มาจากสกุลช่างสุโขทัยในพระราชสำนักโดยตรง เพราะว่าความสัมพันธ์ระหว่างเมืองพิษณุโลกและสุโขทัย มีความใกล้ชิดกันมาตั้งแต่ราชวงศ์พระร่วงขึ้นครองเป็นใหญ่ในดินแดนภาคเหนือ อาจกล่าวได้ว่า การสร้างพระนางพญาเป็นการสืบสานพุทธศิลปะสมัยสุโขทัยในรูปพระเครื่องอีกประการหนึ่ง
    ลักษณะของเนื้อพระนางพญา เป็นพระเนื้อดินผสมว่านและเกสรดอกไม้ 108 ชนิด ตลอดจนมีแร่ กรวด ทรายต่างๆ เมื่อกดพิมพ์และตากแห้งแล้วจึงนำไปเผา อาจแบ่งเนื้อพระนางพญาออกได้ 2 ประเภทคือ
    1.เนื้อละเอียด คือ เนื้อพระจะมีส่วนผสมของว่านและเกสรดอกไม้มาก แต่มีแร่ กรวด ทรายน้อย หรือเกือบไม่มี ทำให้เนื้อพระดูหนึกนุ่มและสวยงาม แต่พบจำนวนน้อย
    2.เนื้อหยาบ คือ มีเนื้อพระผสมว่านน้อยหรืออาจจะไม่มีเลย จะมีส่วนผสมของแร่ กรวด ทรายมาก เนื้อพระจึงดูค่อนข้างหยาบ แกร่ง และแข็งมาก จะพบมากกว่าเนื้อละเอียด ถ้าหากนำไปใช้เนื้อพระสึกจะพบแร่ทรายปรากฏบนเนื้อขององค์พระ ที่เรียกว่า "แร่ลอย"
    พระนางพญา เป็นพระดินเผาที่มีเนื้อหยาบที่สุดในบรรดาพระเนื้อดินชุดเบญจภาคี มีสีสันของเนื้อพระเนื้อดินเผาทั่วไปคือ เนื้อสีอิฐ เนื้อแดง เนื้อเหลือง เนื้อเขียว เนื้อดำ ส่วนมากจะพบเนื้อเหลืองนวล จุดเด่นของเนื้อพระนางพญา คือ มวลดินประเภทเม็ดทรายที่แทรกปนอยู่ในเนื้อเป็นจำนวนมาก เรียกกันว่าเม็ดแร่ ขนาดสัณฐานของเม็ดทรายจะต้องใกล้เคียงกัน และกลมกลืนไม่เป็นเหลี่ยมคมอยู่ทั่วองค์พระ เพราะเป็นเนื้อที่ผ่านการกรองมาแล้ว พระนางพญาในองค์ที่ยังไม่ผ่านการใช้ จะมีลักษณะของผิวมีคราบนวลขาวบางๆ ฝังแน่นอยู่ในเนื้อองค์พระ ลักษณะด้านข้างจะเห็นรอยตัดตอกครูดเป็นแนวเฉียง หรือแนวราบตามยาว และมีแร่โผล่ ขอบจะมีความคมโดยรอบ มีรอยมือจับยกออกจากพิมพ์ ซึ่งมักจะพบตามมุมบนหรือมุมซ้าย
    ลักษณะของด้านหลังพระนางพญา
    1.จะพบรอยยุบตามธรรมชาติของเนื้อดิน และรอยปูดคล้ายผิวของมะระ ซึ่งเกิดจากการดันตัวของเม็ดแร่
    2.มีลายมือกดพิมพ์ทุกองค์
    3.ปรากฏเม็ดแร่และผุดขึ้นมาบนพื้นผิวเนื้อขององค์พระ
    4.รอยครูดที่เกิดจากการพิมพ์พระและรอยบุบย่นขณะที่ดันพระออกจากพิมพ์
    5.คราบราดำที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ
    6.ว่านดอกมะขามเห็นได้อย่างชัดเจน
    7.คราบกรุที่เกิดจากการบรรจุไว้ในกรุที่ต่างกัน
    8.รอยครูดตามธรรมชาติเห็นเป็นริ้วๆ และรอยบุบเล็กๆ โดยทั่วไป
    พระนางพญาทุกพิมพ์ เป็นพระนั่งปางมารวิชัย กรอบตัดเป็นรูปสามเหลี่ยม มีด้วยกัน 3 พิมพ์หลัก 7 พิมพ์เล็ก และ 1 พิมพ์พิเศษ แบ่งตามลักษณะพิมพ์ได้ดังนี้
    1.กลุ่มพิมพ์ใหญ่ประกอบด้วย
    1.1 พิมพ์เข่าโค้ง 1.2 พิมพ์เข่าตรง (ซึ่งมีด้วยกัน 2 พิมพ์คือ พิมพ์เข่าตรงธรรมดาและ
    พิมพ์มือตกเข่า) อยู่ในความนิยมเหมือนกันทั้งคู่ 1.3 พิมพ์อกนูน พิมพ์ใหญ่ มีจำนวนน้อยมาก
    2.กลุ่มพิมพ์กลาง มีเฉพาะพิมพ์สังฆาฏิ
    3.กลุ่มพิมพ์เล็ก มี
    3.1 พิมพ์ทรงเทวดา หรือพิมพ์อกแฟบ 3.2 พิมพ์อกนูนเล็ก
    4.พิมพ์ใหญ่พิเศษ คือพิมพ์เข่าบ่วง อยู่ในกลุ่มพิมพ์ใหญ่ แต่พบน้อยมาก ไม่รู้จักแพร่หลายเหมือนพิมพ์อื่นๆ
    การค้นพบพระนางพญาในยุคหลังในเวลาประมาณ พ.ศ.2470 องค์พระเจดีย์ด้านตะวันออกของวัดนางพญาได้พังลง เจ้าอาวาสในยุคนั้นคือ พระอธิการถนอม ได้ให้ชาวบ้านและพระเณรช่วยกันขนเอาดิน และเศษอิฐ เศษปูน จากซากเจดีย์ล่มนั้นมาถมคูน้ำ ต่อมาอีกหลายปีก็กลายเป็นดงกล้วย เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2485 ชาวบ้านได้หนีภัยสงครามเข้าไปหลบอยู่ในดงกล้วย และได้ทำการขุดหลุมหลบภัย จึงพบพระพญากระจายตัวจมอยู่ใต้พื้นดิน
    นอกจากค้นพบที่วัดนางพญาแล้ว พระนางพญาถูกค้นพบต่อมาอีกหลายกรุ แต่ก็เป็นพระพิมพ์เดียวกันกับพระที่พบที่วัดนางพญาทุกอย่าง และเนื้อพระก็เนื้อเดียวกัน อาจจะแตกต่างกันก็เพียงภูมิประเทศที่ค้นพบ เช่น กรุบางสะแกหรือ ที่เรียกว่ากรุน้ำ พบบริเวณพื้นที่ตำบลบางสะแก ริมฝั่งของแม่น้ำน่านด้านทิศตะวันตกของพิษณุโลก มักเรียกกันว่ากรุเหนือ พบประมาณปี พ.ศ.2497 พบพระนางพญาบรรจุอยู่ในหม้อดินฝังในดินจำนวน 3 ใบ พบพระมากกว่า 1,000 องค์ ที่พบพระนั้นมักจะมีน้ำท่วมขัง พระจึงเสียผิวและมีเม็ดแร่กรวดทรายปรากฏอยู่เรียกกันว่า "แร่ลอย"
    กรุวังหน้าพบที่พระอุโบสถวัดพระแก้ววังหน้า ข้างโรงละครแห่งชาติ (ปัจจุบันเป็นวิทยาลัยนาฏศิลป์) โดยกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ได้จากเจ้าเมืองพิษณุโลก จึงทรงบรรจุไว้ในพระอุโบสถ ขณะที่กำลังบูรณะพระอุโบสถพบพระที่บริเวณใต้ฐานชุกชี พระที่พบเนื้อแห้งสนิทและลงรักปิดทองทุกองค์ สภาพของรักแห้งและร่อนออกง่าย พบจำนวนไม่มาก ต่อมามีผู้ค้นพบพระนางพญาที่วัดเลียบ (ราชบูรณะ) ในกรุงเทพฯ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะโดนระเบิดโจมตีโรงไฟฟ้าวัดเลียบจำนวนไม่มาก เป็นพระลงรักปิดทอง อีกครั้งพบที่วัดสังข์กระจาย ฝั่งธนบุรีที่กำลังรื้อพระเจดีย์ครั้งนี้ได้พระที่แห้งสนิท แต่ไม่ลงรักปิดทองจำนวนไม่มากนัก
    ปี พ.ศ.2497 พบที่พระเจดีย์องค์เล็ก ที่วัดอินทรวิหาร คนร้ายได้แอบเจาะพบพระนางพญาใส่ไว้ในบาตรพระที่ผุแล้ว พระชุดนี้จะมีคราบของสนิมเหล็กติดอยู่พบพระนางพญาครบทุกพิมพ์ และยังพบลานทองจารึกไว้ว่า "พระที่บรรจุอยู่ในกรุนี้เป็นพระพิมพ์ที่ได้นำมาจากวัดนางพญา จังหวัดพิษณุโลกในปี พ.ศ.2444" ซึ่งตรงกับปีที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ ประพาสเมืองพิษณุโลก
    ครั้งสุดท้ายพบที่วัดราชบูรณะ จังหวัดพิษณุโลก อีกครั้ง เมื่อมีการทำท่อระบายน้ำในบริเวณวัดในประมาณปี พ.ศ.2532 พุทธคุณ เป็นพระสร้างความเด่น ด้านเมตตากรุณา.
    @ ราช รามัญ
    พระนางพญาพิษณุโลกราชินีในเบญจภาคี | ไทยโพสต์
     
  2. karatekung

    karatekung เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 เมษายน 2008
    โพสต์:
    1,624
    ค่าพลัง:
    +2,195
    ขอบคุณครับ
     
  3. กำธร นครปฐม

    กำธร นครปฐม เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กรกฎาคม 2007
    โพสต์:
    2,756
    ค่าพลัง:
    +7,205
    อนุโมทนาครับ ขอบคุณครับสำหรับเรื่องราวดี ๆ อย่างนี้ครับ
     
  4. pharm.taung

    pharm.taung เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    5 มกราคม 2009
    โพสต์:
    945
    ค่าพลัง:
    +432
    ขอบคุณครับ

    ได้ความรู้เพิ่มขึ้นครับ ^^
     

แชร์หน้านี้

Loading...