เรื่องเด่น พบสัดส่วนใช้เงินทำบุญ ‘คนรายได้น้อย’ สูงกว่า ‘คนรวย’

ในห้อง 'ข่าวพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ เตือนภัย, 22 กันยายน 2019.

  1. โพธิสัตว์ เตือนภัย

    โพธิสัตว์ เตือนภัย เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    1,565
    กระทู้เรื่องเด่น:
    441
    ค่าพลัง:
    +655
    0b988e0b8a7e0b899e0b983e0b88ae0b989e0b980e0b887e0b8b4e0b899e0b897e0b8b3e0b89ae0b8b8e0b88d-e0b884.jpg

    สถิติชี้คนทั่วไปใช้เงิน ‘ทำบุญ’ สัดส่วนประมาณ 2.69% ของรายได้ โดย‘คนรายได้สูง 10% บนสุด’ มีสัดส่วนแค่ 1.4% สวนทาง ‘ครัวเรือนรายได้น้อย 10% ล่างสุด’ กลับสูงถึง 5.1% พบ ‘คนต่างจังหวัด-เกษตรกร-หัวหน้าครอบครัวมีการศึกษาไม่สูง-ชอบซื้อหวย’ จะมีสัดส่วนทำบุญสูงกว่าคนทั่วไป วัฒนธรรมระดมทุนช่วยเหลือในไทยเติบโตขึ้น จุดเปลี่ยนจากเหตุ ‘ภัยพิบัติสึนามิ’ คนไทยทำบุญมากขึ้น 39.6%

    ครัวเรือนไทย 96% ใช้จ่ายเพื่อการกุศล คนรายได้น้อยใช้จ่ายสูงกว่าคนรวย

    ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ทำการวิเคราะห์ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือนไทยในปี 2552-2560 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าร้อยละ 96 ของครัวเรือนไทยทั้งหมดมีรายจ่ายเพื่อการกุศล (คือมีสมาชิกในครัวเรือนอย่างน้อย 1 คนที่มีรายจ่ายเพื่อการกุศลตั้งแต่ 1 บาทขึ้นไปภายในระยะเวลา 1 ปี) โดยรายจ่ายในส่วนนี้ประกอบไปด้วย ค่าอาหาร/ของถวายพระ/ไหว้เจ้า และเงินทำบุญและการซื้อของให้แก่องค์กรต่าง ๆ ทั้งนี้มูลค่าของรายจ่ายเพื่อการกุศลรวมทั้งประเทศในปี 2560 อยู่ที่ประมาณ 1.3 แสนล้านบาท (6.2 พันบาทต่อครัวเรือนต่อปี) เพิ่มขึ้นจากประมาณ 9.4 หมื่นล้านบาทในปี 2552 (5.0 พันบาทต่อครัวเรือนต่อปี) หรือ คิดเป็นการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 3.8 ต่อปี ซึ่งน้อยกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยทางเศรษฐกิจ (nominal GDP) ที่ร้อยละ 6.0 ต่อปี ในช่วงเวลาเดียวกัน

    สัดส่วนของรายจ่ายเพื่อการการกุศลต่อรายได้ครัวเรือนโดยเฉลี่ยลดลง จากร้อยละ 2.8 ต่อรายได้ครัวเรือนในปี 2552 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.6 ในปี 2560 โดยเป็นการลดการใช้จ่ายลงของครัวเรือนในทุกระดับชั้นรายได้ ซึ่งครัวเรือนรายได้ปานกลางมีอัตราการลดลงมากที่สุด ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากภาระหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้ครัวเรือนมีแนวโน้มลดสัดส่วนการใช้จ่ายลง โดยเฉพาะส่วนที่เป็นรายจ่ายไม่ประจำ (discretionary spending)

    ครัวเรือนรายได้น้อยมีสัดส่วนรายจ่ายเพื่อการกุศลต่อรายได้มากกว่า แม้ครัวเรือนไทยจะทำบุญตามกำลังทรัพย์ที่มี (รายได้มากทำมาก รายได้น้อยทำน้อย) แต่เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนของรายจ่ายเพื่อการทำบุญต่อรายได้ระหว่างครัวเรือนในระดับรายได้ต่าง ๆ แล้วจะพบว่า ครัวเรือนรายได้น้อยมีสัดส่วนรายจ่ายเพื่อการกุศลต่อรายได้สูงกว่า โดยในปี 2560 คนรายได้สูงร้อยละ 10 แรก (คนรายได้สูง 10% บนสุด) มีสัดส่วนรายจ่ายเพื่อการกุศลอยู่ที่ร้อยละ 1.4 ขณะที่ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยที่สุดร้อยละ 10 ท้าย (คนรายได้ต่ำ 10% ล่างสุด) มีสัดส่วนดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละ 5.1 ทั้งนี้ความสัมพันธ์ดังกล่าวเกิดขึ้นทั้งในระดับประเทศ และระดับภูมิภาค

    ‘คน ตจว.-เกษตรกร-หัวหน้าครอบครัวการศึกษาไม่สูง-ชอบซื้อหวย’ จ่ายทำบุญสูงกว่าคนทั่วไป

    SCB EIC ยังระบุว่าได้ทำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการใช้จ่ายกับพฤติกรรมในด้านอื่นๆ โดยมีการควบคุมปัจจัยด้านรายได้ อายุ และช่วงเวลา พบลักษณะที่น่าสนใจระหว่างการใช้จ่ายเพื่อการกุศลกับพฤติกรรมในด้านอื่น ๆ ในช่วงปี 2552-2560 พบว่าครัวเรือนในต่างจังหวัดมีรายจ่ายเพื่อการกุศลมากกว่าครัวเรือนในกรุงเทพฯ โดยสัดส่วนรายจ่ายเพื่อการกุศลต่อรายได้ของครัวเรือนในต่างจังหวัดอยู่ที่ร้อยละ 2.8 ขณะที่สัดส่วนของครัวเรือนในกรุงเทพฯ อยู่ที่ร้อยละ 1.3

    นอกจากนี้ ครัวเรือนที่ประกอบอาชีพในภาคเกษตรมีรายจ่ายเพื่อการกุศลมากกว่าครัวเรือนนอกภาคเกษตร โดยครัวเรือนที่มีรายได้จากการประกอบอาชีพในภาคเกษตร สัดส่วนรายจ่ายเพื่อการกุศลต่อรายได้จะอยู่ที่ร้อยละ 3.3 ขณะที่ในส่วนของครัวเรือนนอกภาคเกษตรจะอยู่ที่ร้อยละ 2.5 รวมทั้งครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุจะมีรายจ่ายเพื่อการกุศลมากกว่าครัวเรือนที่ไม่มี โดยครัวเรือนที่มีสมาชิกในครัวเรือนอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปอย่างน้อย 1 คนจะมีสัดส่วนรายจ่ายเพื่อการกุศลอยู่ที่ร้อยละ 3.2 ต่อรายได้ ขณะที่ครัวเรือนที่ไม่มีผู้สูงอายุจะมีสัดส่วนของรายจ่ายดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละ 2.3

    ครัวเรือนที่หัวหน้าครอบครัวมีการศึกษาสูงกว่าจะมีรายจ่ายเพื่อการกุศลน้อยกว่า โดยครัวเรือนที่หัวหน้าครอบครัวมีระดับการศึกษาตั้งแต่ปริญญาตรีขึ้นไปจะมีสัดส่วนรายจ่ายเพื่อการกุศลอยู่ที่ร้อยละ 1.7 ต่อรายได้ ขณะที่ครัวเรือนที่หัวหน้าครัวเรือนมีระดับการศึกษาต่ำกว่านั้น สัดส่วนดังกล่าวจะอยู่ที่ร้อยละ 2.8 และครัวเรือนที่มีรายจ่ายเพื่อการซื้อสลากกินแบ่งจะมีรายจ่ายเพื่อการกุศลมากกว่าเล็กน้อย โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 2.7 ต่อรายได้ ขณะที่ครัวเรือนที่ไม่มีการใช้จ่ายในสลากกินแบ่ง จะใช้จ่ายเพื่อการกุศลที่ร้อยละ 2.6 ต่อรายได้ [1]

    ตัวเลข ‘บริจาคเงิน/สิ่งของให้แก่องค์กรต่างๆ’ ยังน้อยกว่า ‘การทำบุญ’

    988e0b8a7e0b899e0b983e0b88ae0b989e0b980e0b887e0b8b4e0b899e0b897e0b8b3e0b89ae0b8b8e0b88d-e0b884-1.jpg
    จากข้อมูล ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือน จำแนกตามประเภทค่าใช้จ่าย รายภาคและเขตการปกครอง (ปี 2561) สำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าในระดับประเทศเมื่อพิจารณาค่าใช้จ่ายด้านการกุศล อันได้แก่ ‘บริจาคเงิน/สิ่งของให้แก่องค์กรต่างๆ’ และ ‘เงินทำบุญ/เงินช่วยเหลืออื่นๆ’ รวมกันมี 303 บาท ต่อเดือน แบ่งเป็น บริจาคเงิน/สิ่งของให้แก่องค์กรต่างๆ 29 บาท, เงินทำบุญ/เงินช่วยเหลืออื่น 274 บาท

    และเมื่อพิจารณารายภูมิภาคพบว่าคนกรุงเทพและปริมณฑล มีค่าใช้จ่ายด้านการกุศล (‘บริจาคเงิน/สิ่งของให้แก่องค์กรต่างๆ’ และ ‘เงินทำบุญ/เงินช่วยเหลืออื่นๆ’) เฉลี่ยต่อเดือนรวมกัน 288 บาท คนภาคกลาง 318 บาท คนภาคเหนือ 218 บาท คนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 279 บาท และคนภาคใต้ 461 บาท [2]

    ทัวร์ ‘ทำบุญ 9 วัด-เข้าพรรษา-ทอดกฐิน-วันสำคัญทางศาสนา’ เม็ดเงินสะพัดสู่หลายธุรกิจ

    988e0b8a7e0b899e0b983e0b88ae0b989e0b980e0b887e0b8b4e0b899e0b897e0b8b3e0b89ae0b8b8e0b88d-e0b884-2.jpg
    ปี 2550 มีการคาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวที่เดินทางไปทำบุญไหว้พระตามวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ก่อให้เกิดการใช้จ่ายในด้านต่างๆ คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ยประมาณ 2,000 ล้านบาท ที่มาภาพประกอบ: My Wave Pics (CC BY-NC-ND 2.0)

    การทำบุญมีหลายรูปแบบ ตั้งแต่การตักบาตร ถวายสังฆทาน ทำบุญเลี้ยงพระ ไปจนถึงการไหว้พระและปิดทอง คนไทยที่นับถือศาสนาพุทธส่วนใหญ่จะทำบุญในวาระต่างๆต่อเนื่องตลอดทั้งปี ทั้งการทำบุญตามประเพณีในช่วงวันสำคัญทางศาสนาและเทศกาลงานบุญต่างๆ (เช่น วันพระ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา งานทอดกฐิน และทอดผ้าป่า เป็นต้น) และการทำบุญไหว้พระ ไหว้เจ้า และสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย เพื่อเป็นสิริมงคลกับตนเองหรือครอบครัว ทั้งนี้พบว่า การเดินทางไปทำบุญมักจะแฝงไปกับการท่องเที่ยว และทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยอย่างมหาศาลในแต่ละปี

    ในปี 2550 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวที่เดินทางไปทำบุญไหว้พระตามวัดต่างๆ โดยเฉพาะมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 2.5 ของตลาดคนไทยเที่ยวในประเทศ ที่คาดว่าจะมีจำนวนประมาณ 82 ล้านคนครั้งในปี 2550 หรือมีจำนวนประมาณกว่า 2 ล้านคนครั้ง ก่อให้เกิดการใช้จ่ายในด้านต่างๆ คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ยประมาณ 2,000 ล้านบาท เม็ดเงินดังกล่าวส่วนใหญ่ คือ ประมาณร้อยละ 80 จะเป็นค่าใช้จ่ายในการทำบุญ และค่าพาหนะเดินทาง รองลงมาเป็นค่าอาหาร ค่าบริการนำเที่ยว ค่าใช้จ่ายในการซื้อของพื้นเมืองและผลิตภัณฑ์โอทอป ตามลำดับ

    การเดินทางท่องเที่ยวทำบุญไหว้พระส่วนใหญ่คือกว่าร้อยละ 90 เป็นทัวร์ทำบุญไหว้พระในลักษณะเช้าไปเย็นกลับตามจังหวัดใกล้ๆ ที่เหลือเป็นกลุ่มที่เดินทางไปทำบุญในลักษณะค้างคืนช่วงเทศกาลงานบุญสำคัญๆ อาทิ ช่วงเทศกาลเข้าพรรษา เทศกาลตรุษจีน และเทศกาลกินเจ เป็นต้น การจัดการเดินทางท่องเที่ยวทำบุญไหว้พระมี 2 รูปแบบซึ่งมีสัดส่วนใกล้เคียงกัน คือรูปแบบที่ผู้เดินทางจัดการเดินทางไปกันเองในกลุ่มครอบครัว หรือเพื่อนฝูง และรูปแบบที่ผู้เดินทางซื้อรายการท่องเที่ยวทำบุญไหว้พระเดินทางไปเป็นกลุ่มจากบริษัทนำเที่ยวหรือผู้ประกอบการธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง (อาทิ ธุรกิจบริการด้านการขนส่ง)

    ปัจจุบันมีผู้ประกอบการจัดทัวร์ทำบุญไหว้พระกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น โดยต่างพัฒนาเส้นทางที่หลากหลายขึ้นและรายการที่น่าสนใจเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว เช่น องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ซึ่งจัดโครงการท่องเที่ยวระยะใกล้ในลักษณะเช้าไปเย็นกลับช่วงวันเสาร์และอาทิตย์ ตั้งแต่ต้นปี 2549 โดยมีโปรแกรมนำเที่ยวที่ให้บริการอยู่ 35 รายการ สำหรับรายการที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ รายการท่องเที่ยวไหว้พระ 9 วัดของเขตบริการเดินรถที่ 1 บางเขน ซึ่งมีอยู่ 12 เส้นทาง อัตราค่าบริการเฉลี่ยประมาณคนละ 300 บาท ได้แก่ เส้นทางกรุงเทพฯ,พระนครศรีอยุธยา,สุพรรณบุรี,สมุทรสงคราม,สระบุรี,กาญจนบุรี,เพชรบุรี,ปทุมธานี-อ่างทอง,สิงห์บุรี,นครปฐม และนครนายก นอกจากรายการทัวร์ไหว้พระ 9 วัดในวันเสาร์และอาทิตย์แล้ว ขสมก.ยังจัดรายการทัวร์เวียนเทียน ไหว้พระ 9 วัดในวันสำคัญทางศาสนา เช่น วันมาฆบูชาที่ผ่านมาซึ่งมีผู้ใช้สูงถึงกว่า 1,000 คน และคาดว่าโดยรวมตลอดทั้งปี 2550 จะมีผู้ใช้บริการท่องเที่ยวไหว้พระกับ ขสมก.ประมาณกว่า 1 แสนคน [3]

    ปี 2554 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้คาดการณ์ว่าการจัดกิจกรรมต่างๆในงานประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานีประจำปี 2554 จะช่วยเกื้อหนุนให้มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเดินทางเข้าไปเที่ยวในจังหวัดอุบลฯตลอดช่วงเดือนกรกฎาคมประมาณ 1.4 แสนคน และมีเม็ดเงินสะพัดสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวภายในจังหวัดคิดเป็นมูลค่าประมาณ 360 ล้านบาท โดยการใช้จ่ายส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 60 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 230 ล้านบาท มีแนวโน้มจะกระจายไปสู่ธุรกิจบริการด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญๆ คือ ธุรกิจจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง (ได้แก่ ผ้าทอพื้นเมือง อาทิ ผ้ากาบบัว และผ้ามัดหมี่ เป็นต้น และอาหารพื้นเมืองที่เลื่องชื่อ คือ หมูยอ และเส้นก๋วยจั๊บ) รองลงมา คือ ธุรกิจจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม และธุรกิจบริการด้านที่พัก ตามลำดับส่วนค่าใช้จ่ายที่เหลืออีกเกือบร้อยละ 40 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 130 ล้านบาท ส่วนใหญ่มีแนวโน้มกระจายไปสู่ธุรกิจบริการพาหนะเดินทางภายในจังหวัด ธุรกิจบริการด้านบันเทิง (ซึ่งรวมทั้งกีฬา และบริการสปา) และธุรกิจนำเที่ยวในจังหวัด [4]

    ในปี 2556 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินมูลค่าการจับจ่ายใช้สอยเกี่ยวเนื่องจากการทำบุญในช่วงเทศกาลทอดกฐิน โดยได้ประมาณการค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ (อาทิ ค่าเดินทาง อาหาร และซื้อของฝาก) ระหว่างเดินทางไปร่วมงานทอดกฐินตามต่างพื้นที่พำนักอาศัยของคนกรุงเทพฯและคนต่างจังหวัด ในช่วง 1 เดือนของเทศกาลทอดกฐินในปีนี้ว่า มีแนวโน้มก่อให้เกิดเม็ดเงินคิดเป็นมูลค่าประมาณ 8,700 ล้านบาทสะพัดสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องหลักๆ ดังเช่น สะพัดสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องหลักๆ ดังนี้ธุรกิจบริการด้านคมนาคม เม็ดเงินในสัดส่วนร้อยละ 41.4 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 3,600 ล้านบาท มีแนวโน้มกระจายไปสู่ธุรกิจบริการรถเช่า รวมทั้งธุรกิจบริการน้ำมันเชื้อเพลิง และก๊าซ LPG และ NGV ตามเส้นทางเดินทาง

    ธุรกิจจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม เม็ดเงินในสัดส่วนร้อยละ 37.9 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 3,300 ล้านบาท มีแนวโน้มสะพัดสู่ภัตตาคารและร้านอาหาร รวมทั้งร้านค้าสะดวกซื้อ ในแหล่งท่องเที่ยว หรือในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ตามเส้นทางเดินทางไปและกลับ ธุรกิจจำหน่ายสินค้าประเภทของฝากของที่ระลึก เม็ดเงินในสัดส่วนร้อยละ 20.7 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,800 ล้านบาท มีแนวโน้มสะพัดสู่ร้านจำหน่ายสินค้าประเภทของฝากของที่ระลึก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น อาทิ สินค้าหัตถกรรม และผลิตภัณฑ์อาหารพื้นเมือง เป็นต้น [5]

    จุดเปลี่ยนจากเหตุ ‘ภัยพิบัติสึนามิ’ คนไทยทำบุญมากขึ้น 39.6%

    988e0b8a7e0b899e0b983e0b88ae0b989e0b980e0b887e0b8b4e0b899e0b897e0b8b3e0b89ae0b8b8e0b88d-e0b884-3.jpg
    เหตุการณ์สึนามิเมื่อช่วงปลายปี 2547 ได้กระตุ้นให้คนไทยหันมาทำบุญกันมากขึ้น ที่มาภาพ: Peregrine981 (อ้างใน wikipedia.org) (Creative Commons Attribution-Share Alike 2.0 Canada)

    แม้การ ‘ทำบุญ’ ตามประเพณีงานบุญจะมีสืบทอดมาช้านานในประเทศไทย แต่นับหลังจากการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงในช่วงปี 2540 ตามมาด้วยการแพร่ระบาดของโรคภัยต่างๆ รวมถึง ‘ภัยพิบัติจากสึนามิ’ พบว่าคนไทยตื่นตัวกับการบริจาคเพื่อการกุศลมากขึ้น

    ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย สำรวจเมื่อปี 2548 พบว่ามีคนไทยร้อยละ 39.6 ของกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจหันมาทำบุญกันมากขึ้น โดยประเภทของการทำบุญที่กลุ่มตัวอย่างระบุว่ามีการทำเพิ่มขึ้น 3 อันดับแรก คือ การบริจาคเงิน การบริจาคสิ่งของ และการบริจาคโลหิต อย่างไรก็ตามมีคนไทยถึงร้อยละ 57.1 ของกลุ่มตัวอย่างที่ระบุว่ายังคงทำบุญเหมือนเดิม ซึ่งคนไทยกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ทำบุญอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว ทำให้เมื่อเกิดเหตุการณ์สึนามิก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการทำบุญ ดังนั้น จึงพอจะสรุปได้ว่าเหตุการณ์สึนามินั้นมีส่วนทำให้คนไทยหันมาทำบุญกันมากขึ้น [6]

    ที่มาข้อมูล
    [1] SCB EIC: EIC Data Infographic: คนไทยใจบุญ (ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์, 30 ส.ค. 2562)
    [2] สำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2561 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 20 ก.ย. 2562)
    [3] ทัวร์ทำบุญไหว้พระ : ตลาดท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มมูลค่ากว่า 2 พันล้านบาท (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, 29 พ.ค. 2550)
    [4] ประเพณีแห่เทียนพรรษาปี ’54 : หนุนท่องเที่ยวเมืองอุบลฯ…คึกคัก (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, 14 ก.ค. 2554)
    [5] ช่วง 1 เดือนของเทศกาลทอดกฐินปี’56 : คนไทยร่วมงานทอดกฐินต่างจังหวัด…ใช้จ่ายสะพัดประมาณ 8,700 ล้านบาท (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, 25 ต.ค. 2556)
    [6] คนไทยทำบุญ : เม็ดเงินสะพัด 3,300 ล้านบาท..หลากธุรกิจรับทรัพย์ (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, 21 ก.พ. 2548)

    ขอบคุณที่มา
    https://www.tcijthai.com/news/2019/9/scoop/9417
     

แชร์หน้านี้

Loading...