ผจญมาร

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย anand, 27 กรกฎาคม 2009.

  1. anand

    anand เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    1,118
    ค่าพลัง:
    +641
    ผจญมาร
    บันทึกชีวิต ๕ ปี ในห้องขัง
    ของพระพิมลธรรม (อาสภมหาเถระ)


    คำนำ

    งานบำเพ็ญกุศลฉลองชนมายุครบ ๘๐ ปี ของหลวงพ่อใหญ่ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาสภมหาเถร) เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๒๖ ในสมัยที่หลวงพ่อยังดำรงสมณศักดิ์เป็นพระพิมลธรรม งานเฉลิมฉลองครั้งนั้น จัดเป็นงานใหญ่มากมีถึง ๓ วัน ข้าพเจ้าได้รับมอบหมายให้เป็นประธานกรรมการจัดงานฝ่ายบรรพชิต

    ในงานบำเพ็ญกุศลครั้งนั้น คณะศิษยานุศิษย์ได้พิมพ์หนังสือหลายเล่ม เพื่อมอบให้เป็นธรรมบรรณาการ แก่ผู้มาร่วมงาน ปรากฎว่า บรรดาหนังสือที่พิมพ์ชำร่วยเหล่านั้น หนังสือที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ เรื่อง "ผจญมาร" ซึ่งเป็นเรื่องบันทึกชีวิตในห้องขัง ๕ ปี ของหลวงพ่อสมเด็จฯ เมื่อครั้งที่ถูกคุมขังอยู่ที่ห้องขังสันติบาล ในคดีข้อหาคอมมูนิสต์ หนังสือเล่มนี้ได้พิมพ์ครั้งนั้น จำนวน ๕,๐๐๐ เล่ม

    มาภายหลังจากเสร็จงานแล้ว ปรากฎว่ามีผู้มาขอรับหนังสือเรื่องนี้อยู่เรื่อยๆ จนหนังสือหมดไม่มีแจกจ่าย แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีผู้มาขอรับหนังสืออยู่เรื่อยๆ และต้องผิดหังกลับไป เพราะไม่มีหนังสือจะมอบให้

    ต่อมาวันหนึ่ง พันเอกวัชระ คงอดิศักดิ์ หัวหน้ากองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารบก ซึ่งเคยบรรพชาอุปสมบทอยู่ที่วัดมหาธาตุ สำเร็จการศึกษาเป็นเปรียญธรรม ๙ ประโยคและเป็นลัทธิวิหาริกเปรียญธรรม ๙ ประโยค รูปแรกของหลวงพ่อสมเด็จฯ โดยมีหลวงพ่อสมเด็จฯ เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อครั้งอุปสมบทที่วัดมหาธาตุ ต่อมาได้ลาสิกขาแล้วเข้ารับราชการเป็นอนุศาสนาจารย์กองทัพบก และได้เลื่อนขึ้นครองตำแหน่งสูงสุดของอนุศาสนาจารย์ทหารบก คือมีตำแหน่งเป็นหัวหน้ากองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารบก และมียศเป็นพันเอก (พิเศษ) ท่านผู้นี้ได้มาหาข้าพเจ้าและขอหนังสือ "ผจญมาร" เพื่อนำไปมอบให้แก่นายทหารชั้นผู้ใหญ่ในกองทัพบก ข้าพเจ้าได้ตอบว่า หนังสือหมดแล้ว เธอได้ปรารถแก่ข้าพเจ้าว่า หนังสือดีมีคุณค่ามหาศาลเช่นนี้ ทางสำนักวิปัสสนาวัดมหาธาตุ น่าจะได้พิมพ์จำหน่าย เพื่อหาทุนส่งเสริมการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ซึ่งหลวงพ่อสมเด็จฯ ได้มีกุศลจิตริเริ่มวางรากฐานตั้งสำนักวิปัสสนาในประเทศไทยเป็นองค์แรก ข้าพเจ้าได้ตอบเธอว่า ความคิดนี้ประเสริฐมาก แต่สำนักวิปัสสนาฯ ไม่มีผู้ใดจะดำเนินการเรื่องการจัดพิมพ์นี้ สำหรับเรื่องเงินเป็นทุึนดำเินินการนั้นพอมีอยู่สามารถจะนำไปใช้ดำเนินการได้ทันที พันเอกวัชระฯ ได้พูดกับข้าพเจ้าว่า ขอรับดำิเนินการจัดพิมพ์หนังสือนี้ทุกอย่าง แล้วเธอก็ได้ไปติดต่อกับโรงพิมพ์เสนอราคาค่าพิมพ์ให้ข้าพเจ้าพิจารณา ข้าพเจ้าจึงอนุมัติให้เธอดำเินินการเรื่องการพิมพ์จนกระทั่งหนังสือสำเร็จเรียบร้อย ดังปรากฎที่ท่านเห็นอยู่นี้

    ข้าพเจ้าขอขอบใจและขออนุโมทนาในกุศลจิตของ พันเอกวัชระ คงอดิศักดิ์ หัวหน้ากองอนุศาสนาจารย์ฯ ที่ได้เป็นผู้เสนอให้สำนักวิปัสสนาวัดมหาธาตุ ได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง "ผจญมาร" เพื่อจำหน่ายนำรายได้อุดหนุนส่งเสริมการปฏิบัติวิปัสสนา ซึ่งเป็นยอดมหากุศล

    อนึ่ง ข้าพเจ้าใคร่ขอเล่าประวัติและผลงานของหลวงพ่อสมเด็จฯ เกี่ยวกับการจัดตั้งสำนักวิปัสสนากัมมัฏฐาน เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ให้ท่านทั้งหลายได้ทราบโดยสังเขป ดังนี้

    หลวงพ่อสมเด็จฯ ได้ย้ายจากวัดมหาธาตุยุวราษฎร์รังสฤษฏิ์ ไปอยู่ประจำ ณ วัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อันเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกพิเศษ เพื่อช่วยปฏิบัติศาสนกิจด้านพระพุทธศาสนามาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๕ ในฐานะ พระมหาอาจ อาสโภ เปรียญธรรม ๘ ประโยค และได้ย้ายกลับคืนมาอยู่วัดมหาธาตุอีก ในฐานะตำแหน่งเจ้าอาวาส ที่พระธรรมไตรโลกาจารย์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๑

    ในปี ๒๔๙๑ นั่นเอง หลวงพ่อสมเด็จฯ ได้ไปในงานกิจนิมนต์ในรัฐพิธีที่ท้องสนามหลวง วันที่ ๑ มกราคม ๒๔๙๑ ฯพณฯ อูละหม่อง เอกอัครราชทูตสหภาพพม่าประจำประเทศไทยคนแรก ได้ไปร่วมงานนั้นด้วย ภายหลังจากการประกอบศาสนพิธีเสร็จแล้ว หลวงพ่อสมเด็จฯ ได้ถือโอกาสสนทนากับ ฯพณฯ อูละหม่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการพระศาสนาทั้งในประเทศไทยและประเทศพม่า หลวงพ่อสมเด็จฯ ได้สนทนาถึงสิ่งที่เป็นสาระ ๒ ประการคือ
    ประการที่ ๑ หลวงพ่อสมเด็จฯ ให้ทรรศนะว่า พระภิกษุพม่าที่อยู่ในประเทศไทยปัจจุบัน มีแต่พระที่แก่ๆ หย่อนสมรรถภาพเข้ากับคนไทยมิได้สนิท ทำให้คนไทยเข้าใจไปว่า พระภิกษุในประเทศพม่าก็เหมือนกันนี้ ความจริงพระภิกษุพม่าที่อยู่ในประเทศพม่า ที่มีความเชี่ยวชาญแตกฉานในพระไตรปิฎกมีจำนวนมาก ควรจะจัดส่งพระประเภทนี้มาอยู่ประเทศไทยบ้าง หลวงพ่อสมเด็จฯ มีความยินดีที่จะสนับสนุนให้ได้โอกาสเผยแพร่พระพุทธศาสนาร่วมกัน

    ประการที่ ๒ พระไตรปิฎกภาษาบาลีพร้อมทั้งอรรถกถาและฎีกา ฉบับอักษรพม่าได้อ่านมาบริสุทธิ์บริบูรณ์มาก ใคร่ขอให้ทางประเทศพม่าได้ส่งมาให้ประเทศไทยบ้าง จะเป็นมหากุศลอย่างมาก
    ด้วยเหตุที่ หลวงพ่อสมเด็จฯ ได้สนทนากับ ฯพณฯ เอกอัครราชทูตครั้งนั้น เป็นปัจจัยต่อมา คือเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๒ สภากาพุทธศาสนาแห่งสหภาพพม่า ได้จัดส่งพระภิกษุระดับบัณฑิต ชั้นธรรมจริยะ มายังประเทศไทยตามคำแนะนำของหลวงพ่อสมเด็จ ๒ รูป คือ ท่านสัทธัมมดชติกะ ธรรมาจริยะ ๑ ท่านเตชินทะ ธรรมาจริยะ ธัมมกถิกะ ๑ ครั้งแรกเมื่อยังไม่รู้ภาษาไทย ได้จัดให้พักอยู่ที่วัดปรกพม่า ต่อมาได้จัดให้ท่านสัทธััมมโชติกะ ธัมมาจริยะ ไปตั้งสำนักสอนพระอภิธรรมปิฎกอยู่ที่วัดระฆังโฆสิตาราม และทำการสอนประจำจนเป็นหลักฐานอยู่ ณ วัดระฆัง นั้น จนกระทั่งถึงแก่มรณภาพ เมื่อพ.ศ.๒๕๐๙ ส่วนท่านเตชินทะ ธัมมาจริยะ ธัมมกถิกะ ได้จัดให้สอนอยู่ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ จนกระทั่งคืนสู่ประเทศพม่า เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๔

    ถึงแม้ว่าท่านพระอาจารย์สอนพระอภิธรรมปิฏก ได้ถึงมรณภาพและกลับคืนสู่ประเทศของตนแล้ว แต่ก็ได้ฝังรากฐานวิชาความรู้พระอภิธรรมปิฎกไว้อย่างดี เป็นระเบียบเป็นหลักฐาน คือเขียนและแปลเป็นหลักสูตรไว้ จนได้ใช้ศึกษาเล่าเรียนสืบต่อกันมาจนทุกวันนี้ ปัจจุบันสำนักใหญ่ส่วนกลางตั้งอยู่ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ มีสำนักสาขาอยู่ทั่วไปทั้งภายในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดประมาณ ๗๐ สำนักเรียน

    เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๓ สภากการศึกษาพุทธศาสนาแห่งสหภาพพม่า ได้ส่งสมณทูตทั้งอัญเชิญพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรพม่่าพร้อมอรรถกถาและฎีกา ตามที่หลวงพ่อสมเด็จฯ ขอไว้ มายังประเทศไทย โดยมีท่านยานิกเถร เจ้าอาวาสวัดอัมพวันาราม พระนครย่างกุ้ง เป็นหัวหน้า มีมหาเศรษฐีเซอรอูต่วยเป็นไวยาวัจกร ได้ถวายพระไตรปิฎกอักษรพม่า แก่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ๑ ชุด ถวายแก่มหามกุฎราชวิทยาลัย วัดบวรนิเวศวิหาร ๑ ชุด ถวายแก่สำนักเรียนพระอภิธรรมปิฎกวัดระฆังโฆสิตาราม จำนวน ๑ ชุด

    เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๔ ทางการคณะสงฆ์แห่งประเทศไทย ได้จัดส่งพระสมณทูต พร้อมทั้งพระไตรปิฎกฉบับอักษรไทย ไปเยี่ยมตอบและมอบให้แก่ประเทศพม่า โดยมีเจ้าคุณพระศาสนโสภณ อุฏฐายีเถร เป็นหัวหน้า เจ้าคุณพระพิมลธรรม อาสภเถร วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เป็นรองหัวหน้า เจ้าคุณพระศรีวิสุทธิฐาณ วัดกันมาตุยารามเป็นคณะปูรกะ และมีนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นไวยาวัจกร

    เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๕ หลวงพ่อสมเด็จฯ ได้ส่งพระเปรียญวัดมหาธาตุ ไปดูการศึกษาวิชาพระพุทธศาสนา ทั้งด้านคันถธุระและวิปัสสนาธุระที่ประเทศพม่า โดยนำไปฝากด้วยตนเอง ๓ รูป คือ ๑. พระมหาโชดก ญานสิทธิ ป.ธ.๙ เรียนฝ่ายวิปัสสานาธุระ ๒. พระมหาบำเพ็ญ ป.ธ.๕ และ ๓. สามเณรไสว ป.ธ. ๕ เรียนฝ่ายคันถธุระ โดยให้พระมหาโชดก อยู่สำนักวิปัสสนากัมมัฏฐานศาสนายิสสา ภายใต้การปกครองของท่านมหาสีสยาดอ โสภณเถร พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ พระมหาบำเพ็ญ และสามเณรไสว อยู่วัดอัมพวนาราม ภายใต้การปกครองของท่านยานิกเถร เจ้าอาวาส ซึ่งเป็นประธานเชิญพระไตรปิฎกฉบับอักษรพม่ามามอบให้ประเทศไทย

    พระมหาโชดก ญานสิทธิ ได้ศึกษาวิปัสสนากัมมัฏฐานอยู่เป็นเวลา ๑ ปี แล้วกลับคืนสู่ประเทศไทย พ.ศ.๒๔๙๖ ในขณะเดียวกัน หลวงพ่อสมเด็จฯ ได้แดสงความจำนงไปยังสภาการพุทธศาสนาสหภาพพม่า ขอให้จัดส่งพระวิปัสสนาจารย์ผู้เชี่ยวชาญมายังประเทศไทย ๒ รูป พร้อมกับการคืนสู่ประเทศไทยของพระมหาโชดก ญาณสิทธฺ สภาการพุทธศาสนามีความเห็นอกเห็นใจ และเชื่อถือหลวงพ่อสมเด็จฯ สนิทชิดชอบอย่างมาก ดังนั้น จึงจัดส่งพระวิปัสสนาจารย์ผู้เชี่ยวชาญมายังประเทศไทย ๒ รูป คือ ๑. ท่านอาสภเถร ปธานกัมมัฏฐานาจริยะ ๒. ท่านอินทวังสะ ธัมมาจริยะ กัมมัฏฐานาจริยะ ทั้งสองรูปจัดให้พำนักอยู่ ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ช่วยเป็นอาจารย์สอนวิปัสสนากัมมัฏฐานร่วมกับพระมหาโชดก ป.ธ.๙ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๖ เป็นต้นมา นับว่าได้เป็นกำลังเสริมสร้างพระปฏิบัติศาสนาให้เจริญขึ้นในประเทศไทย และยังดำรงคงอยู่ในปัจจุบันนี้

    ท่านอินทวังสะ กัมมัฏฐานาจริยะ ได้กลับคืนสู่ประเทศพม่า ภายหลังเมื่อหลวงพ่อสมเด็จฯ ถูกทางการตำรวจจับไปขังในสันติบาล ส่วนท่านอาสภเถร ปธานกัมมัฏฐานาจริยะ เมื่อหลวงพ่อสมเด็จฯ ถูกจับไปขังแลว ตั้งห้องวิปัสสนากัมมัฏฐานอยู่ที่สำนักวิปัสสนากัมมัฏฐาน วิเวกอาศรม จังหวัดชลบุรี ภายใต้ความอุปถัมภ์จองนายธรรมนูญ สิงคาลวนิช คหบดีชาวจังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นศิษย์ฝ่ายวิปัสสนากัมมัฏฐานผู้หนึ่ง และท่านได้ทำงานอบรมสั่งสอนวิปัสสนากัมมัฏฐานอย่างจริงจัง เป็นหลักฐานมั่นคง จนกระทั่งปัจจุบันทุกวันนี้ ท่านอาสภเถร ปธานกัมมฐานาจริยะนี้ เป็นอาจารย์สอบอารมณ์วิปัสสนากัมมัฏฐานเป็นประจำของข้าพเจ้า ครั้งกระโน้น คือเมื่อข้าพเจ้าไปเรียนวิปัสสนากัมมัฏฐานอยู่ ณ วัดศาสนายิสสานั้น ท่านมหาสีสยาดอ พระอาจารย์ใหญ่ นานๆ จึงจะสอบและสอบอารมณ์สักครั้งหนึ่ง โดยมากท่านได้มอบให้พระอาจารย์อาสภเถร ปธานกัมมัฏฐานาจริยะนี้ เป็นผู้สอนและสอบอารมณ์เป็นประจำ

    ตามที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่า การเรียนวิชาพุทธศาสนาแผนกพระอภิธรรมปิฎกที่เรียนกันอยู่ในปัจจุบัน จัดแบ่งการเรียน ๙ ชั้น คือ จูฬอภิธรรม ๓ ชั้น มัฌิมอภิธรรม ๓ ชั้น และมหาอภิธรรม ๓ ชั้น โดยย่อออกเป็นชั้นตรี ชั้นโท ชั้นเอก เหมือนกันทั้ง ๓ ชั้น เมื่อเรียนสำเร็จมหาอภิธรรมเอกแล้ว ถือว่าจบหลักศุตรพระอภิธรรมปิฎก ยกให้เป็นอภิธรรมบัณฑิต ซึ่งปัจจุบัน พระครูธรรมธรสุมนต์ อภิธรรมบัณฑิต เป็นพระอาจารย์ใหญ่ประจำสำนักเรียนส่วนกลาง วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ พระครูสังวรสมาธิวัตร วัดเพลงวิปัสสนา เป็นประธานบริหารการศึกษา การเรียนพระอภิธรรมปิฎกดัังกล่าวมานี้ ได้ปรากฎบังเกิดขึ้นในประเทศไทยด้วยอำนาจสติปัญญา ความอุตสาหะและการเสียสละของหลวงพ่อสมเด็จฯ โดยแท้

    แม้การศึกษาเล่าเรียนแผนกนี้ ที่ดำรงทรงสภาพอยู่ได้ด้วยดี ก็เพราะได้อาศัยบารมีของหลวงพ่อสมเด็จฯ คอยช่วยอุปถัมภ์คุ้มครองตลอดมา และจะต้องอาศัยความคุ้มครองของหลวงพ่อสมเด็จฯ ต่อไป ทั้งนี้เป็นที่น่าอนุโมนาสาธุการเป็นอย่างยิ่ง ปัจจุบัน มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้บรรจุเข้าไว้ในมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นแขนงหนึ่งของมหาวิทยาลัยแล้ว

    อนึ่ง การบฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานอย่างเอาจริงเอาจัง และเป็นหลักฐานมั่นคงนั้นเล่า ก็กล้าอวดได้แก่มวลบัณฑิตนักปราชญ์ผู้มีกุศลจิตเป็นมูลฐาน ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ดังที่ปรากฎให้เห็นประจักษ์ในปัจจุบันทุกวันนี้ และได้กำเนิดเกิดขึ้นในประเทศไทย ก็ด้วยปรีชาญาณที่มองเห็นการณ์ไกลของหลวงพ่อสมเด็จฯ โดยประการทั้งปวง

    เนื่องมาจากการที่หลวงพ่อสมเด็จฯ ได้ใช่ปรีชาญาณและความอุตสาหะวิริยะอย่างจริงจังชนิดไม่ย่อท้อต่อเหตุการณ์ใดๆ จนพระปฏิบัติศาสนาและการศึกษาพระอภิธรมปิฎก ได้มาสถิตประดิษฐานอยู่ในวงการพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ประสบภยันตรายน่าหวาดเสียวอย่างยิ่ง ถึงขนาดถูกบังคันให้สึกแล้วนำไปคุมขังไว้ในห้องขังภายในบริเวณกรมตำรวจเป็นเวลายาวนานถึง ๕ ปี

    สำนักวิปัสสนาวัดมหาธาตุฯ รู้สึกเป็นหนี้พระคุณของหลวงพ่อสมเด็จฯ เป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มีเมตตากรุณาริเริ่มให้มีการปฏิบัติวิปัสสนาธุระอย่างจริงจัง จนปรากฎแพร่หลายทั่วไปทั้งภายในประเทศไทยและต่างประเทศขณะนี้ จึงได้จัดพิมพ์เรื่อง "ผจญมาร" เพื่อเผยแพร่เกียรติคุณของหลวงพ่อสมเด็จฯ ที่มีจิตใจเปี่ยมด้วยคุณธรรมสูงมาก จนสามารถเอาชนะอุปสรรคและความเลวร้ายต่างๆ ที่เข้ามาผจญฃีวิตและมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นหลักชัยแห่งพระพุทธศาสนา เป็นร่มโพธิ์ทองของศิษยานุศิษย์และผู้มีความเลื่อมใสในหลวงพ่อสมเด็จฯ ตลอดไป อนึ่งในการพิมพ์ครั้งนี้ ได้นำอนุโมทนากถาของหลวงพ่อสมเด็จฯ ที่ลงพิมพ์ครั้งแรกมาลงพิมพ์ครั้งนี้ด้วย

    สำนักวิปัสสนาวัดมหาธาตุฯ ขออนุโมทนาต่อท่านผู้บริจาคทรัพย์ซื้อหนังสือ "ผจญมาร" ท่านย่อมได้รับประโยชน์ถึง ๒ ชั้น คือได้ร่วมทำบุญส่งเสริมการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานซึ่งเป็นยอดมหากุศล และได้หนังสือเล่มนี้ที่มีคุณค่าสูงไว้เป็นสมบัติ เพื่อศึกษาชีวิตของหลวงพ่อสมเด็จฯ จะได้จำเป็นแบบอย่างสำหรับต่อสู้อุปสรรคปัญหาชีวิตต่างๆ ให้อยู่รอดปลอดภัย ประสบความสุขสวัสดีทุกเมื่อ

    พระเทพสิทธิมุนี
    พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ

    สำนักงานกองกลางวิปัสสนาธุระ
    คณะ ๕ วัดมหาธาตุฯ กรุงเทพ ๑๐๒๐๐
    โทร.๒๒๒๖๐๑๑
    ๑๙ มกราคม ๒๕๓๐


    เรื่อง ข้าพเจ้าถูกจับกุมคุมขัง
    "อยู่ในห้องขังสันติบาลกรมตำรวจ"
    ตั้งแต่วันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๐๕
    ถึงวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๑๙

    เป็นเวลา ๕ พรรษา หรือ ๑๖๐๓ วัน

    ปฐมเหตุ

    ข้าพเจ้าได้กำเนิด ณ หมู่ที่ ๙ บ้านโต้น ตำบลบ้านโต้น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันอาทิตย์ แรม ๔ ค่ำเดือน ๑๒ ปีเถาะ วันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๔๖ เวลา ๐๙.๓๙ น. เมื่ออายุได้ ๑๔ ปี พ.ศ.๒๔๕๙ ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดศรีจันทร์ บ้านโต้น โดยมีท่านอาญา ครูหน้อ เจ้าอาวาสวัดศรีจันทร์ เป็นพระอุปัชฌายะ เมื่ออายุ ๑๖ ปี พ.ศ. ๒๔๖๑ ได้เข้าไปฝึกอบรมวิชาครูที่โรงเรียนประจำจังหวัดขอนแก่ ขอนแก่นวิทยายน พักอาศัยอยู่ที่วัดกลางเมืองเก่า อันเป็นวัดเจ้าคณะเมืองสมัยนั้น

    ใช้เวลารับการฝึกอบรมวิชาครูอยู่ ๖ เดือนก็สอบไล่ ข้าพเจ้าสอบไล่ได้เป็นอันดับที่ ๔ ในจำนวนนักเรียน ๒๐๐ เศษ ศึกษาธิการจังหวัดบรรจุให้เป็นครุสอนโรงเรียนประชาบาลประจำตำบลเมืองเก่า ณ ที่วัดกลางเมืองเก่า ได้รับเงินเดือนๆ ละ ๖ บาท ครั้นอายุย่างขึ้นปีที่ ๑๘ พ.ศ.๒๔๖๓ ลาออกจากครูประชาบาล แล้วลงมาเรียนวิชาการพระพุทธศาสนาที่กรุงเทพมหานคร ด้วยความอุปการะของหลวงน้าพระครูพิศาลอรัญเขตร วัดกลางเมืองเก่า เจ้าคณะเมืองขอนแก่นสมัยนั้น พำนักอาศัยอยู่ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ภายใต้ความปกครองดูแลของเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต เขมจารีมหาเถร เมื่อดำรงตำแหน่งพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพโมลี เจ้าประคุณสมเด็จปู่ คือ สมเด็จพระวันรัต ฑิต อุทยมหาเถร เป็นอธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์

    ข้าพเจ้าได้ลงมือเรียนภาษาบาลี เร่ิมแต่บาลีไวยากรณ์ชั้นต้นและเรียนนักธรรมควบกันไป จนได้เป็นเปรียญธรรม ๘ ประโยค และเป็นนักธรรมชั้นเอก เป็นครูสอนประจำสำนักวัดมหาธาตุฯ มาแต่พ.ศ.๒๔๖๘ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้ถูกส่งไปอยู่ประจำวัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ไปตั้งสำนักเรียนสอนภาษาบาลีและนักธรรม ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งเ้จ้าอาวาสวัดสุวรรณดารารามนั้น และเป็นเจ้าคณะตรวจการภาคเหนือ ตั้งแต่จังหวัดพิษณุโลกไปจนถึงจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย เป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การศึกษา เป็นแม่กองธรรมสนามหลวง เป็นเจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

    พ.ศ.๒๔๗๗ ได้รับสมณศักดิ์เป็นพระราชคณะชั้นสามัญที่ "พระศรีสุธรรมมุนี" แล้วเลื่อนเป็นพระราชาคณะชั้นราช ในนามเดิม เลื่อนเป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ "พระเทพเวที" เลื่อนเป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ "พระธรรมไตรโลกาจารย์" สมัยเมื่อเป็นเจ้าอาวาสวัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยานั่นเอง

    ครั้น ถึง พ.ศ.๒๔๙๑ ได้ย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์สืบแทนพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระพิมลธรรม ฐานฑตฺตมหาเถร ซึ่งได้ถึงแก่มรณภาพไป นับเป็นระดับเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ รูปที่ ๑๖ ได้เลื่อนเป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองสมเด็จที่ "พระพิมลธรรม" และเป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง

    เมื่อข้าพเจ้าได้กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพมหานครแล้ว ก็พยายามในการที่จะฟื้นฟูการพระพุทธศาสนาให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป อย่างน้อยก็ให้ทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ ที่นับถือพระพุทธศาสนาด้วยกัน ก็ผู้นับถือพระพุทธศาสนานั้น มีธุระหน้าที่ที่จะพึงปฏิบัติ ๒ ประการคือ คันถธุระ ได้แก่ การศึกษาเล่าเรียนให้รู้ ให้เข้าใจพระไตรปิฎก เพื่อเสริมสร้างความรู้ขั้นทฤษฎีให้ตรงตามเป้าหมายที่เรียกว่า กัมมักสสกตาสมัมทิฏฐิ วิปัสสนาธุระ ได้แก่ ปฏิบัติให้บังเกิดผลตามทฤษฎีนั้น คือ เจริญสมถกัมมัฏฐาน เพื่อสำรวมรักษาใจให้สงบจากนิวรณกิเ้ลสทั้ง ๕ ประการ จนเป็นสมถสัมมาทิฏฐิ และเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน เพื่อเสริมสร้างวิปัสสนาปัญญาให้เห็นแจ้งรู้เท่าทันต่อสภาวธรรมทั้งปวง จนเป็นวิปัสสนาสัมมาทิฏฐิ แล้วตัดกิเลสขั้นสมุจเฉทปหานด้วยมรรคญาณและผลญาณที่เรียกว่า มัคคสัมมาทิฏฐิ และผลสัมมาทิฏฐิ อันนับเป็นวิชาความรู้ชั้นสูงสุดของการพุทธศาสนา


    เพื่อเสริมสร้างความรู้ขั้นคันถธุระ ข้าพเจ้าได้เร่ิมจัดส่งพระภิกษุสามเณรออกไปเรียนต่างประเทศ คือประเทศพม่า ประเทศอินเดีย ประเทศศรีลังกา และประเทศญี่ปุ่น โดยข้าพเจ้านำไปส่งด้วยตนเอง คือจัดให้พระมหาบำเพ็ญ พระมหาไสว พระมหาแสวง เรียนปริยัติธรรมที่ประเทศพม่า จัดให้พระมหามนัส พระมหานคร เรียนที่ประเทศอินเดีย จัดให้พระมหาชูศักดิ์ เรียนที่ประเทศศรีลังกา จัดให้พระมหาสุพันธุ์ มุ่งวิชา สามเณรพิทักษ์ ไปเรียนที่ประเทศญี่ปุ่น และในขณะเดียวกัน ก็ได้ขอพระภิกษุชั้นธรรมาจริยะ ซึ่งเป็นนักเรียนชั้นสูงในประเทศพม่า ให้มาช่วยสอนวิชาพระอภิธรรมปิฎก ซึ่งไม่มีสอนในประเทศไทยมาในกาลก่อน

    และเพื่อเสริมสร้างความรู้ความปฏิบัติขั้นวิปัสสนาธุระ ข้าพเจ้าจัดส่งพระนักเรียนของเราให้ไปเรียนถ่ายแบบปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฐานที่ประเทศพม่า คือเจ้าคุณพระเทพสิทธิมุนี เมื่อยังเป็นพระมหาโชฎก เปรียญธรรม ๙ ประโยค วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ที่เป็นพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระอยู่ทุกวันนี้ และเมื่อพระมหาโชฎกได้ศึกษาปฏิบัติจนเป็นที่พอใจแล้วจะกลับคืนมายังประเทศไทยนั้น ข้าพเจ้าได้ขอพระเถระฝ่ายวิปัสสนาจารย์ให้มาช่วยสอนด้วย ๒ รูป คือ ท่านอูอาสภะ กัมมัฏฐานาจริยะ และท่านอูอินทวํสะ กัมมัฏฐานาจริยะ ขณะที่เขียนนั้น ที่อูอาสภะ กัมมัฏฐานาจริยะ ยังสอนวิปัสสนากัมมฐานอยู่ที่สำนักวิเวกอาศรม จังหวัดชลบุรี

    ครั้นแล้ว ก็ได้ทำการเปิดการฝึกสอนวิปัสสนากัมมัฏฐานขึ้น ณ บริเวณพระอุโบสถวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๖ เป็นต้นมา ปรากฎว่ามีพระเถรานุเถระและคณะอุบาสก- อุบาสิกาสมัครมาเข้าปฏิบัติเป็นจำนวนมาก จนเต็มพระวิหารหลวงและเต็มพระระเบียงพระอุโบสถทั้ง ๔ ด้าน ภายใน ๑ ปี ก็ผลิตพระเถระชั้นพระวิปัสสนาจารย์จำนวนมาก

    เพื่อขยายการพระศาสนาด้านวิปัสสนาธุระไปให้กว้างขวาง จึงได้พยายามส่งพระเถระที่พอเป็นพระอาจารย์สอนได้ ออกไปตั้งสำนักสอนวิปัสสนากัมมัฏฐานอยู่ ณ จังหวัดนั้นๆ ทำให้การสอนพระพุทธศาสนาขั้นวิปัสสนาธุระ ขยายกว้างขวางออกไปมากขึ้นโดยลำดับ การประกอบพิธีเปิดตั้งสำนักวิปัสสนากัมมัฏฐาน ณ ที่นั้นๆ ส่วนมากข้าพเจ้าได้ไปเป็นประธานเปิดด้วยตนเอง ทั้งนี้เพื่อเป็นการให้กำลังใจแก่พระวิปัสสนาจารย์ใหม่ และช่วยปลูกฝังศรัทธาให้บังเกิดมีแก่สาธุชนพุทธบริษัททั้งหลายในถิ่นฐานนั้นๆ

    ด้านคันถธุระนั้น ก็จะมีพระภิกษุ นักเรียน นิยมชมชอบสมัครไปศึกษาเล่าเรียนในต่างประเทศมากขึ้นโดยลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือที่ประเทศอินเดียเป็นมูลฐานส่งเสริมให้พระนักเรียนที่สำเร็จปริญญาีตรี ที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยนี้แล้ว ได้ไปเรียนต่อสำเร็จเป็นปริญญาโท ปริญญาเอกมากขึ้น โดยลำัดับ

    ด้วยเหตุที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ได้เร่ิมสร้างการพระพุทธศาสนาให้เจริญก้าวหน้าขึ้น ทั้งด้านคันถธุระและด้านวิปัสสนาธุระ ครบทั้ง ๒ ประการดังกล่าวมาโดยสังเขป จึงเป็นเหตุให้พุทธศาสนิกชนผู้สนใจในพระพุทธศาสนา นิยมชมชอบไปบำเพ็ญบุญและไปประพฤติปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมากสืบจนเท่าทุกวันนี้ ถ้าเป็นวันอาทิตย์ก็เป็นจำนวนร้อยๆ ถ้าเป็นวันพระก็เป็นจำนวนพันๆ ซึ่งไม่เคยปรากฎมีมาแต่กาลก่อน มิใช่แต่อุบาสก อุบาสิกาเท่านั้น ที่มีจำนวนปริมาณมาก แม้พระภิกษุสามเณรที่สมัครมาศึกษาและปฏิบัติก็มีจำนวนมากเช่นกัน เช่นปี พ.ศ. ๒๕๐๑ วัดมหาธาตุฯ มีพระภิกษุจำนวน.... รูป สามเณร.... รูป ศิษย์วัดจำนวน.... คน และนับได้ว่าวัดมหาธาุตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ได้มีการฝึกมีการสอนวิชาพระพุทธศาสนาเต็มบริบูรณ์ ทั้งฝ่ายคันถธุระและฝ่ายวิปัสสนาธุระ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

    thx1



     

แชร์หน้านี้

Loading...