บทความให้กำลังใจ(ธรรมิกชนของคนร่วมสมัย)

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย supatorn, 8 พฤษภาคม 2017.

  1. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,923
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,057
    (ต่อ)
    รู้จักคิดหรือฉลาดคิด เป็นเรื่องของปัญญา หากมีปัญญาก็สามารถเปลื้องใจออกจากความทุกข์ และเข้าถึงความสุขได้ไม่ยาก ในโลกที่เต็มไปด้วยความผันผวน ปรวนแปร ไม่แน่นอน เราไม่สามารถควบคุมหรือแม้แต่คาดหวังให้ทุกอย่างเป็นไปตามใจเราได้ แต่หากเรามีปัญญา ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นกับเรา ก็ยังมีความสุขอยู่ได้ ดังมีพุทธพจน์ว่า “สำหรับผู้มีปัญญา แม้ตกทุกข์ ก็ยังหาสุขพบ”

    ปัญญาคือหลักประกันแห่งความสุขที่แท้จริง ในทางตรงข้ามหากขาดปัญญาเสียแล้ว แม้ร่ำรวย มีอำนาจ สูงด้วยยศศักดิ์ ก็หาความสุขได้ยาก อย่างมากก็สุขกาย แต่ใจเต็มไปด้วยความทุกข์ ทุกข์เพราะรู้สึกว่ายังมีไม่พอ ทุกข์เพราะอยากได้มากกว่านี้ ทุกข์เพราะเห็นคนอื่นมีมากกว่าตน หรือทุกข์เพราะกลัวว่าคนอื่นจะมาแย่งชิงของของตนไป เมืองไทยทุกวันนี้เต็มไปด้วยคนที่ทุกข์เพราะเหตุเหล่านี้มาก

    ทั้ง ๆ ที่มีอะไรต่ออะไรมากมาย ก็ยังเป็นทุกข์ จะกล่าวไปไยถึงคนที่ล้มเหลวในการตักตวงสิ่งต่าง ๆมาครอบครอง แต่จะมีมากหรือน้อยก็ตาม ที่เป็นทุกข์ก็เพราะขาดปัญญานี้เอง อย่าว่าแต่ปัญญาระดับสูงถึงขั้นเห็นแจ้งในอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จนปล่อยวางได้อย่างสิ้นเชิงเลย แม้แต่ปัญญาระดับพื้นฐาน ก็ถูกละเลยไปมาก จึงเกิดปัญหามากมายทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว ไปจนถึงสังคม

    กล่าวโดยรวมแล้ว ความทุกข์ส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นกับผู้คนในเวลานี้ มาจากทัศนคติ ๔ ประการ ซึ่งสวนทางกับวิถีแห่งปัญญาได้แก่

    ๑. คิดถึงตนเองมากกว่าผู้อื่น
    ยิ่งคิดถึงตนเองมากเท่าไร ก็ยิ่งทุกข์มากเท่านั้น เพราะจะมองเห็นปัญหาของตนเป็นเรื่องใหญ่อยู่เสมอ ความเห็นแก่ตัวที่เพิ่มพูน จะทำให้กลายเป็นคนทุกข์ง่ายและสุขยาก

    ๒. ยึดติดความสุขทางวัตถุ
    ทัศนคติดังกล่าวทำให้หมกมุ่นกับการเสพและแสวงหาวัตถุ ได้เท่าไรก็ไม่รู้จักพอ เพราะคิดว่ายิ่งมีมาก ก็ยิ่งเป็นสุขมาก ชีวิตจึงไม่รู้จักกับความสงบเย็น

    ๓. หวังลาภลอยคอยโชคและมุ่งทางลัด
    ทัศนคติเช่นนี้ทำให้ขาดความเพียร แต่ผลักให้เข้าหาการพนัน การพึ่งพาไสยศาสตร์ ส่งเสริมให้เกิดการคอร์รัปชั่น และการลักขโมย ซึ่งมีแต่จะทำให้ชีวิตตกต่ำลง

    ๔. คิดอย่างไม่ถูกวิธี
    ทำให้ตัดสินใจไปตามความชอบความชัง หรือตกอยู่ภายใต้อารมณ์และอคติ ถือเอา “ความถูกใจ”มากกว่า “ความถูกต้อง” ทำให้ไม่อาจทำการงานให้สำเร็จหรือแก้ปัญหาของตนได้

    สังคมจะเจริญก้าวหน้า และผู้คนจะมีความสุข หากมีทัศนคติที่ตรงข้ามกับ ๔ ประการข้างต้น กล่าวคือมีปัญญาเป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิต ทัศนคติ ๔ ประการดังกล่าวได้แก่

    ๑. คิดถึงผู้อื่นมากกว่าตนเอง
    เมื่อเราคิดถึงผู้อื่นอยู่เสมอ ตัวตนจะเล็กลง ความทุกข์ของเราจะกลายเป็นเรื่องเล็กน้อย ยิ่งช่วยผู้อื่นมากเท่าไร ก็ยิ่งมีความสุขเพราะได้เห็นผู้อื่นมีความสุขด้วย

    ๒. เข้าถึงความสุขที่ไม่อิงวัตถุ
    มีความสุขมากมายที่ประเสริฐและประณีตกว่าความสุขทางวัตถุ สามารถสัมผัสได้โดยไม่ต้องใช้เงิน เช่น สุขจากการทำความดีและมีสัมพันธภาพที่อบอุ่นราบรื่น คนที่เข้าถึงความสุขชนิดนี้ย่อมเป็นคนสุขง่าย ทุกข์ยาก

    ๓. เชื่อมั่นในความเพียรของตน
    ความสุขและความสำเร็จนั้นล้วนอยู่ในวิสัยที่เราจะทำให้เกิดขึ้นได้ด้วยความเพียรของเราเอง ทัศนคติดังกล่าวทำให้เรารู้จักพึ่งตน ไม่หวังพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือโชควาสนาและห่างไกลจากการพนันและการฉ้อโกง

    ๔. รู้จักคิดอย่างมีเหตุผลและเป็นประโยชน์เกื้อกูล
    คิดดี คิดเป็น และเห็นชอบ ทำให้เราสามารถอยู่ในโลกนี้ได้อย่างมีความสุข นอกจากไม่เบียดเบียนใครแล้ว ยังสามารถแก้ทุกข์ได้ด้วยตนเอง รวมทั้งเปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดีได้ จึงมีชีวิตได้ด้วยความมั่นใจในตนเอง

    ทัศนคติทั้ง ๔ ประการข้างต้นเป็นพื้นฐานของสุขภาวะทางปัญญา ซึ่งสังคมไทยต้องการเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้เครือข่ายพุทธิกาจึงร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดทำโครงการ “สุขแท้ด้วยปัญญา” ขึ้น เพื่อสนับสนุนกิจกรรมที่มุ่งส่งเสริมให้เกิดทัศนคติดังกล่าว โดยมีเงื่อนไขว่ากิจกรรมเหล่านี้ต้องประกอบด้วยกระบวนการ ๔ ขั้นตอนคือ

    ๑. การบำเพ็ญสาธารณประโยชน์
    ๒. การร่วมกันทำงานเป็นกลุ่ม
    ๓. การร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็น
    ๔. การสรุปบทเรียนจากประสบการณ์เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตและงาน

    เราพบว่า กระบวนการทั้ง ๔ ขั้นตอนสามารถบ่มเพาะทัศนคติและส่งเสริมให้เกิด
    ปัญญาได้ดีกว่าการฟังคำบรรยายหรือการประชุมสัมมนา เพราะเปิดโอกาสให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์และการปฏิบัติโดยตรง ซึ่งให้ผลที่ยั่งยืนกว่าการฟังเรื่องราวของคนอื่น ความรู้ที่เกิดจากการบรรยายหรือการเทศนานั้น อย่างมากก็เป็นได้แค่ “ความรู้ชั้นสอง”สำหรับผู้ฟัง แม้ความรู้ดังกล่าวจะจำเป็น แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ “ความรู้ชั้นหนึ่ง” ที่เกิดจากการปฏิบัติและใคร่ครวญด้วยตนเอง

    โครงการสุขแท้ด้วยปัญญาเริ่มต้นเมื่อปีที่แล้ว มี ๕๔ โครงการเข้าร่วมจากทั่วประเทศ ครอบคลุมประเด็นที่หลากหลาย อาทิ สิ่งแวดล้อม การศึกษา ศิลปวัฒนธรรม และศาสนา ผู้เข้าร่วมมีตั้งแต่ ภิกษุสามเณร นักเรียน นักศึกษา เด็กออทิสติค ผู้พิการ จนถึง ผู้ติดเชื้อ

    หลังจากทำกิจกรรมเสร็จ แกนนำและผู้เข้าร่วมของทุกกิจกรรมได้ส่งตัวแทนมาร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสรุปบทเรียน ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่หลากหลายและลุ่มลึกขึ้น หลายคนได้เล่าถึงบทเรียนและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตนเองจากกิจกรรมเหล่านี้

    เด็กหญิงวัย ๑๓ ปีเล่าว่า เธอสมัครเข้าค่ายละครด้วยความหวังที่สดสวย แต่ทันทีที่มาเห็นค่ายเธอก็รู้สึกผิดหวังอย่างแรง เพราะค่ายตั้งอยู่กลางทุ่งนา เธอต้องนอนในเต๊นท์ อาหารการกินก็ไม่ถูกปาก ที่ร้ายกว่านั้นก็คือไม่มีโทรทัศน์และสัญญาณโทรศัพท์ เธอต้องใช้ชีวิตที่ไม่คุ้นเคยและไม่สะดวกสบายเลย แต่หลายวันผ่านไปเธอก็เพลินกับกิจกรรม เพราะมีโอกาสได้คิดและทำละครด้วยตนเอง อีกทั้งยังได้พบปะสังสรรค์กับเพื่อน ๆ เมื่อค่ายใกล้จะจบเธอก็ฉุกคิดขึ้นมาว่า ทำไมเธอถึงมีความสุขในค่าย ทั้ง ๆ ที่ไม่มีความสะดวกสบายเลย แล้วเธอก็พบว่า ความสุขไม่ได้อยู่ที่วัตถุหรือมีสิ่งอำนวยความสะดวก มิตรภาพกับการได้ทำสิ่งที่ตนเองรักก็เป็นบ่อเกิดแห่งความสุขเช่นกัน

    นักศึกษาอีกคนเล่าว่า เธอกับเพื่อน ๆ ไปเข้าค่ายบำเพ็ญประโยชน์ที่จังหวัดลำปาง ทีแรกเธอรู้สึกไม่พอใจที่อาจารย์พานักศึกษานั่งรถไฟชั้นสาม ซึ่งมีผู้โดยสารแออัด ที่แย่กว่านั้นก็คือพอเธอกลับจากห้องสุขา ก็พบว่าที่นั่งของเธอมีชาวบ้านมานั่งแทน เธอขุ่นเคืองใจมาก แต่หลังจากที่ยืนไปได้พักใหญ่ เธอก็ฉุกคิดขึ้นมาว่า เธอเดินทางครั้งนี้ก็เพื่อจะไปช่วยชาวบ้านมิใช่หรือ แล้วทำไมเธอถึงโมโหที่มีชาวบ้านมานั่งที่ของเธอ แค่นี้เธอก็เสียสละไม่ได้หรือ ถึงตรงนี้เธอก็หายโมโหชาวบ้านทันที ขณะเดียวกันก็เห็นตัวเองชัดว่ายังมีความเห็นแก่ตัวอยู่ ทั้ง ๆ ที่กำลังจะไปช่วยชาวบ้านแท้ ๆ

    ผู้ติดเชื้อHIV คนหนึ่งถูกชวนเข้าร่วมกิจกรรมถ่ายภาพ แต่แทนที่จะถ่ายภาพทั่ว ๆ ไป ผู้จัดให้เขาอ่านหนังสือธรรมะบทหนึ่ง จากนั้นก็ให้เขาเลือกประโยคใดประโยคหนึ่งออกมา แล้วลองคิดดูว่าจะถ่ายทอดข้อความนั้นด้วยภาพนิ่งและภาพวีดีโออย่างไร เขายอมรับว่าทีแรกนึกไม่ออก เพราะรู้สึกว่าธรรมะนั้นเป็นเรื่องยากและห่างไกลตนเหลือเกิน แต่หลังจากใคร่ครวญเพ่งพินิจ และมองรอบตัว ก็เริ่มมองเห็นว่าต้นไม้ ก้อนหิน สระน้ำ เป็นสื่อถ่ายทอดธรรมะประโยคนั้นได้อย่างไร เขาถ่ายภาพแล้วภาพเล่า จากนั้นผู้จัดก็พิมพ์และนำภาพเหล่านั้นไปติดบนผนัง รวมทั้งนำคลิปวีดีโอของเขาและเพื่อน ๆ ออกฉายให้ดูกันด้วย หลายคนชมว่าเขาถ่ายภาพสวยและสื่อธรรมะได้ดี เขาไม่เคยรู้มาก่อนว่าตัวเองมีความสามารถอย่างนั้น ความภาคภูมิใจในตนเองทำให้เขาไม่รู้สึกต่ำต้อยในความเป็นผู้ติดเชื้ออีกต่อไป

    ผู้ร่วมโครงการคนหนึ่งพูดว่า สิ่งที่เขาประทับใจโครงการนี้ก็คือ เป็นโครงการที่กระตุ้นให้เกิด “เอ๊ะ” มากกว่า “อ๋อ” กล่าวคือทำให้เกิดการฉุกคิดและตั้งคำถามกับความคิดหรือความเข้าใจเดิม ๆ ไม่เหมือนกับการไปเข้าสัมมนาหรือฟังคำบรรยาย ที่ได้แต่ทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้มากขึ้น แต่ไม่กระตุ้นให้เกิดการฉุกคิด

    เนื่องจากความสำเร็จในปีแรก โครงการสุขแท้ด้วยปัญญาจึงดำเนินการต่อเป็นปีที่สอง โดยจะให้ทุนสนับสนุนแก่กิจกรรมที่ผ่านการคัดเลือกไม่เกิน ๒ แสนบาทต่อทุน ทั้งนี้โดยมีเงื่อนไขว่า กิจกรรมที่ทำจะจัดเพียง ๑ ครั้ง ( ไม่น้อยกว่า ๕ วัน ๔ คืน ) หรือ ต่อเนื่องมากกว่า ๑ ครั้งก็ได้ แต่จำนวนผู้เข้าร่วมต้องไม่น้อยกว่า ๓๕ คน โดยเน้นผู้เข้าร่วมที่เป็นเยาวชนคนหนุ่มสาว เปิดรับโครงการระหว่างวันที่ ๑ กรกฎาคม -๑๔ สิงหาคม
    :- https://visalo.org/article/matichon255206.htm
     
  2. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,923
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,057
    สังคมที่เป็นปฏิปักษ์กับความดี
    พระไพศาล วิสาโล
    พฤติกรรมทางศีลธรรมของคนเราไม่ได้ขึ้นอยู่กับทัศนคติหรือความรู้สึกผิดชอบชั่วดีภายในใจเท่านั้น แต่ยังถูกกำหนดโดยสิ่งแวดล้อมรวมถึงสถานการณ์และผู้คนรอบตัวด้วย หากมีใครสักคนเป็นลมอยู่บนถนนที่มีคนพลุกพล่าน ถ้าทุกคนพากันเดินผ่านผู้เคราะห์ร้ายโดยไม่หยุดช่วยเหลือเขาเลย คนที่เดินตามมาก็มีแนวโน้มที่จะเดินผ่านเขาไปด้วยเช่นกัน แต่ถ้าบังเอิญมีใครสักคนหยุดเดินแล้วเข้าไปช่วยเขา ก็จะมีใครต่อใครอีกหลายคนเข้าไปทำอย่างเดียวกัน เช่น ซื้อยาดมหรือหาน้ำให้กิน
    นักจิตวิทยาคู่หนึ่ง แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เคยทำการทดลองด้วยการมอบหมายให้นักศึกษาคนหนึ่งแกล้งทำเป็นโรคลมบ้าหมูอยู่คนเดียวในห้อง โดยมีนักศึกษาอีกคนหนึ่งนั่งอยู่ในห้องติดกัน (แต่ไม่รู้ว่ามีการทดลอง) จากการทดลองทำซ้ำหลาย ๆ ครั้ง พบว่านักศึกษาข้างห้องเมื่อได้ยินเสียงร้องจะเข้าไปช่วย “ผู้ป่วย” ถึงร้อยละ ๘๕ ของการทดลอง แต่ถ้าหากในห้องข้าง ๆ นั้นมีคนอยู่ ๕ คน ร้อยละ ๓๑ เท่านั้นที่จะมีคนจากห้องนั้นไปช่วย
    เขายังได้ทดลองด้วยการสุมควันในห้อง ปรากฏว่าคนที่อยู่นอกห้องหากเห็นควันพวยพุ่งจากใต้ประตูจะรีบวิ่งไปบอกเจ้าหน้าที่ถึงร้อยละ ๗๕ ถ้าเขาอยู่คนเดียว แต่ถ้าอยู่กันเป็นกลุ่ม จะมีการรายงานเจ้าหน้าที่เพียงร้อยละ ๓๘ ของการทดลองเท่านั้น

    การทดลองนี้ได้ข้อสรุปว่า ผู้คนมีแนวโน้มที่จะทำตัวพลเมืองดีหากว่าอยู่คนเดียว แต่ถ้าอยู่กันหลายคน ความใส่ใจที่จะเป็นพลเมืองดีก็ลดลง

     
  3. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,923
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,057
    (ต่อ)
    กล่าวกันว่าคนเรามักจะทำดีต่อหน้าผู้คน ข้อนี้มีความจริงอยู่ แต่ถ้าผู้คนส่วนใหญ่ทำตัวเฉยเมย ดูดายต่อปัญหา ไม่อนาทรต่อผู้เดือดร้อน คนอื่นก็มักจะทำตามด้วย นี้คือเหตุผลว่าเหตุใดผู้หญิงจึงถูกลวนลามในรถเมล์หรือถูกฉุดกระชากลากถูเข้าพงหญ้าโดยไม่มีใครเข้าไปช่วยเหลือเลย ในสถานการณ์เช่นนี้ต่างคนต่างโยนความรับผิดชอบให้คนอื่น ( “แกทำสิ ๆ” หลายคนคงนึกเช่นนี้ในใจ) หาไม่ก็นึกในใจว่า “ถึงฉันไม่ทำ คนอื่นก็ทำ” สุดท้ายก็ไม่มีใครทำอะไรเลยสักคน อันธพาลจึงทำร้ายผู้หญิงได้สมใจและลอยนวลไปได้
    นอกจากผู้คนแวดล้อมแล้ว สถานการณ์หรือสถานภาพของแต่ละคนก็มีส่วนกำหนดพฤติกรรมของเขาด้วย เมื่อเกือบ ๔๐ ปีที่แล้วมีการทดลองที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด โดยทำคุกจำลองขึ้นและมีอาสาสมัครจำนวน ๒๔ คนมารับบทเป็นผู้คุมและนักโทษ อาสาสมัครเหล่านี้ล้วนคัดมาจากผู้ที่มีสุขภาพจิตดีมาก ผู้ที่รับบทเป็นผู้คุมซึ่งมีอยู่ครึ่งหนึ่งนั้นได้รับเครื่องแบบ ใส่แว่นตาดำและมีอุปกรณ์ทุกอย่างเหมือนจริง รวมทั้งมีอำนาจเช่นเดียวกับผู้คุมทั่วไป

    การทดลองมีกำหนด ๑๔ วัน แต่หลังจากดำเนินไปได้เพียง ๖ วันก็ต้องยุติ เพราะนักโทษทนสภาพที่ถูกบีบคั้นในคุกไม่ไหว เนื่องจากผู้คุมใช้อำนาจอย่างเต็มที่ เพียงแค่คืนแรกนักโทษก็ถูกปลุกให้ขึ้นมาวิดพื้นตั้งแต่ตี ๒ และทำอะไรต่ออะไรอีกหลายอย่าง วันต่อมาเมื่อนักโทษแสดงอาการต่อต้านขัดขืน ก็ถูกลงโทษหนักขึ้น มีการเปลื้องผ้าและจับขังคุกเดี่ยว หลังจากนั้นนักโทษหลายคนมีอาการหงอย หงอ และซึม ขณะที่ผู้คุมแสดงอาการข่มขู่ก้าวร้าวมากขึ้น ผ่านไปไม่กี่วันนักโทษ ๔ คนถูกพาออกจากการทดลองเพราะมีอาการคลุ้มคลั่งและซึมเศร้าอย่างหนัก สถานการณ์เลวร้ายกว่าที่คิด จึงต้องยุติการทดลองก่อนกำหนด ๘ วัน

    อาสาสมัครที่รับบทผู้คุมบางคนเปิดเผยในเวลาต่อมาว่า พฤติกรรมที่เขาทำในคุกนั้นตรงข้ามกับที่เขาทำในยามปกติ บางคนยอมรับว่า ไม่คิดมาก่อนว่าตนจะมีพฤติกรรมรุนแรงอย่างนั้นเพราะเชื่อว่าตัวเองเป็นคนรักสันติ ส่วนฟิลิป ซิมบาร์โดซึ่งเป็นผู้ทำการทดลองอันลือชื่อดังกล่าว ยอมรับเช่นกันว่า ไม่คาดคิดว่าพฤติกรรมของผู้คนในคุกจำลองจะเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วและเข้มข้นขนาดนั้น

    การทดลองดังกล่าวชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสถานการณ์บางอย่างนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คนได้ มันสามารถดึงเอาด้านลบหรือความรุนแรงก้าวร้าวในตัวของผู้คนออกมาอย่างคาดไม่ถึง “คนดี”ในยามปกติอาจกลายเป็นคนที่เห็นแก่ตัว บ้าอำนาจ หรือนิยมความรุนแรงได้หากมีอำนาจมากมายในมือ

    ดังที่คุณหมอประเวศ วะสีได้เปรียบเปรยไว้ ไก่ ๒ ตัวเมื่อถูกสุ่มครอบ จากเดิมที่เคยหากินอย่างสงบ ก็จะเริ่มจิกตีกัน คนเมื่อถูกครอบด้วยโครงสร้างที่คับแคบ ก็จะกลายเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน แสดงความรุนแรงต่อกัน สังคมเผด็จการเบ็ดเสร็จอย่างคอมมิวนิสต์ (โดยเฉพาะรัสเซียสมัยสตาลิน และจีนยุคปฏิวัติวัฒนธรรม) เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ดึงเอาด้านลบของมนุษย์ออกมาอย่างน่าเกลียด ผู้คนไม่เพียงระแวงต่อกันเท่านั้น แต่ยังพร้อมที่จะปรักปรำใส่ร้ายกัน เพื่อความอยู่รอดของตัว แม้กระทั่งสามีภรรยาก็ไม่ไว้ใจกัน เพราะกลัวว่าต่างฝ่ายจะเป็นสายให้ตำรวจ

    ที่มักพูดกันว่า “ถ้าทุกคนเป็นคนดี สังคมก็จะดีด้วย” เป็นความจริงเพียงครึ่งเดียว คนมิใช่เป็นผู้กำหนดสังคมฝ่ายเดียวเท่านั้น สังคมก็เป็นตัวกำหนดผู้คนด้วย นั่นก็คือ “ถ้าสังคมเลว ทุกคนก็(มีสิทธิ)เป็นคนเลว”

    อิทธิพลของสังคมมีผลทางลบต่อจิตใจของผู้คนเพียงใด พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ในจักกวัตติสูตร โดยทรงชี้ให้เห็นถึงผลกระทบเป็นลูกโซ่ กล่าวคือ เมื่อ(ผู้ปกครอง)ไม่จัดสรรปันทรัพย์ให้แก่เหล่าชนผู้ไร้ทรัพย์ ย่อมทำให้ความยากจนระบาดทั่ว จากนั้นก็จะมีการลักขโมยแพร่หลาย มีการใช้อาวุธระบาดทั่ว มีการฆ่าผู้คน โกหก ส่อเสียด ประพฤติผิดในกาม ฯลฯ จนเกิดมิจฉาทิฏฐิ ความฝักใฝ่ในอธรรม ความละโมบ และมิจฉาธรรม เป็นต้น

    เห็นได้ว่าการปกครองที่ไม่ก่อให้เกิดการแบ่งปันทรัพย์อย่างทั่วถึง สามารถก่อผลกระทบต่อเนื่อง ไม่เพียงทำให้ผู้คนกินอยู่ฝืดเคืองเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อพฤติกรรมของประชาชน เริ่มจากการผิดศีลผิดธรรม ตามมาด้วยการกัดกร่อนจิตสำนึกของผู้คน ทำให้กิเลสและความหลงผิดเพิ่มพูนขึ้น
    อิทธิพลของสังคมที่มีต่อจิตสำนึกของผู้คน เป็นเรื่องที่ชาวพุทธและคนไทยทั่วไปไม่สู้ตระหนัก หรือยังให้ความสำคัญน้อยมาก ดังจะเห็นได้จากการนิยมเปลี่ยนจิตสำนึกของผู้คนด้วยวิธีการเทศนาสั่งสอน (รวมทั้งพานั่งสมาธิ) ซึ่งแม้จะมีประโยชน์ แต่ก็ยังไม่พอ เพราะได้ผลในระดับบุคคล หรือกับคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่ส่งผลน้อยมากต่อสังคมโดยรวม


     
  4. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,923
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,057
    (ต่อ)
    การยกระดับจิตสำนึกหรือเสริมสร้างพฤติกรรมทางศีลธรรมของผู้คนนั้น ไม่อาจเกิดขึ้นในวงกว้างได้เลยตราบใดที่โครงสร้างหรือเงื่อนไขทางสังคมยังอยู่ในสภาพที่เป็นปฏิปักษ์กับความดี สภาพดังกล่าวได้แก่ ความยากจนที่แพร่ระบาด การมีอบายมุขทั่วบ้านทั่วเมือง สื่อมวลชนที่ถูกครอบงำด้วยบริโภคนิยม การศึกษาที่ไม่ส่งเสริมการเรียนรู้และใฝ่ธรรม ประเด็นเหล่านี้มีการพูดกันมากแล้ว แต่ที่ยังพูดถึงน้อยก็คือ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม
    ปัจจุบันมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ยืนยันว่า นอกจากความยากจนแล้ว ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมส่งเสริมให้เกิดอาชญากรรมและความรุนแรงในสังคมโดยตรง ล่าสุดคืองานวิจัยของริชาร์ด วิลคินสัน ซึ่งเป็นที่กล่าวขานอย่างแพร่หลายในขณะนี้ เขาได้ชี้ว่าเมื่อเทียบระหว่างประเทศต่อประเทศ รัฐต่อรัฐ เมืองต่อเมือง จะพบว่า สังคมที่มีความแตกต่างทางด้านรายได้สูงมาก(เช่น สหรัฐอเมริกา) มีอาชญากรรมและนักโทษในสัดส่วนที่สูงกว่าสังคมที่มีความแตกต่างทางด้านรายได้น้อยกว่า (เช่น ญี่ปุ่น นอร์เวย์)
    ความรุนแรงนั้นเกิดจากคนระดับล่างที่รู้สึกคับแค้น ต่ำต้อย และไม่พอใจคนระดับบนที่ดูถูกตน รวมทั้งเกิดจากความรู้สึกว่าตนถูกเอารัดเอาเปรียบด้วย ขณะที่คนระดับบนนั้นนอกจากมีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรมากกว่าแล้ว ยังใช้อภิสิทธิ์ดังกล่าวเบียดบังผลประโยชน์ของผู้ที่อยู่ต่ำกว่า ทำให้ช่องว่างทางเศรษฐกิจถ่างกว้างขึ้น

    ความรุนแรงยังเกิดจากช่องว่างทางสถานภาพ ซึ่งก่อให้เกิดความเหินห่างหมางเมินและพัฒนาไปสู่ความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อกันได้ง่ายมาก งานวิจัยดังกล่าวชี้ว่าในประเทศที่มีความแตกต่างทางรายได้สูงมาก จะมีความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจสูงมาก เช่น ในสิงคโปร์ มีเพียงร้อยละ ๒๐ เท่านั้นที่บอกว่าผู้คนส่วนใหญ่ไว้ใจได้ ขณะที่ผู้ที่มีความเห็นดังกล่าวมีมากถึงร้อยละ ๖๕ ในสวีเดน เดนมาร์ค ซึ่งเป็นประเทศที่มีแตกต่างทางรายได้น้อยมาก

    ดังที่การทดลองของซิมบาร์โดได้ชี้ชัด สถานภาพที่ต่างกันสามารถดึงเอาด้านลบหรือส่วนที่เลวร้ายในใจมนุษย์ออกมา เพราะต่างฝ่ายต่างมองซึ่งกันและกันเป็นคนละพวกคนละฝ่าย แม้สังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูงมากจะแตกต่างจากสภาพในคุก แต่การที่ผู้คนแบ่งกันตามสถานภาพที่มีความแตกต่างอย่างชัดเจน (เช่น รายได้ซึ่งเชื่อมโยงกับการศึกษาและรสนิยมการบริโภค รวมทั้งอิทธิพลทางการเมือง และ “เส้นสาย”) ก็ย่อมทำให้แต่ละฝ่ายมีแนวโน้มที่จะแสดงพฤติกรรมทางลบต่อกันและกัน ตรงกันข้ามกับมิตรภาพ ที่มักจะดึงด้านบวกหรือคุณธรรมออกมา (เช่น แย่งกันออกเงินค่าอาหาร)

    แม้ว่าการวิจัยของวิลคินสันเน้นเฉพาะประเทศที่ร่ำรวย ๒๐ ประเทศ ไม่รวมประเทศระดับกลางหรือยากจน แต่ก็บอกอะไรหลายอย่างเกี่ยวกับประเทศไทยซึ่งมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมสูงกว่าประเทศเหล่านั้นมาก (เมื่อปี ๒๕๔๙ กลุ่มคนที่รวยสุดมีทรัพย์สินสูงเป็น ๖๙ เท่าของกลุ่มที่จนสุด) อย่างน้อยการศึกษาเปรียบเทียบดังกล่าวบอกเป็นนัยว่า อาชญากรรม ความรุนแรง ตลอดจนความร้าวฉานของคนไทยทั้งประเทศเวลานี้ เป็นผลมาจากความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมไม่น้อยเลย ปฏิเสธไม่ได้ว่าความแตกต่างทางด้านสถานภาพทำให้คนไทยเกิดความไม่ไว้วางใจต่อกันมากขึ้น โดยเฉพาะชนชั้นกลางมีแนวโน้มดูแคลนคนระดับล่างที่มีฐานะและการศึกษาต่ำกว่าตนอย่างเห็นได้ชัด

    เมื่อเร็ว ๆ นี้มีการเปิดเผยผลการสำรวจทัศนคติของประชาชนในเอเชีย พบว่าคนไทยเพียงร้อยละ ๑๕ เท่านั้นที่เห็นว่า คนที่มีการศึกษาน้อยหรือไร้การศึกษาควรมีสิทธิทางการเมืองเท่ากับคนที่มีการศึกษาสูง ตัวเลขดังกล่าวนับว่าต่ำที่สุดในเอเชีย นั่นหมายความว่าร้อยละ ๘๕ เห็นว่าคนที่มีการศึกษาน้อย(หรือคนจน)ควรมีสิทธิทางการเมืองน้อยกว่าคนที่มีการศึกษาสูง (หรือคนมีเงิน) ทัศนคติดังกล่าวเป็นทั้งผลพวงและสาเหตุของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในประเทศไทยในเวลานี้

    การเรียกหาความสามัคคีหรือสมานฉันท์ของคนในชาติ จะเกิดขึ้นได้อย่างไรหากบ้านเมืองมีความเหลื่อมล้ำกันมากมายขนาดนี้ ในทำนองเดียวกันการหวังให้คนมีความเมตตากรุณาหรือมีศีลธรรมต่อกันจะเกิดขึ้นได้อย่างไรหากสภาพสังคมที่เป็นอยู่มีแนวโน้มที่จะดึงเอาด้านลบของผู้คนออกมา สังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูงมากไม่เพียงบั่นทอนสายสัมพันธ์ของผู้คนในสังคมเท่านั้น หากยังกัดกร่อนจิตวิญญาณของผู้คนด้วย มิพักต้องเอ่ยถึงการบั่นทอนสุขภาพ (การวิจัยของวิลคินสันชี้ว่าในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง มีอัตราการตายของทารก โรคอ้วน การใช้ยาเสพติด และมีความเครียดสูงตามไปด้วย)

    พระพุทธเจ้าตรัสว่า ปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้เกิดความสามัคคีหรือสาราณียธรรมได้แก่ สาธารณโภคี หรือการแบ่งปันกัน ในสังคมระดับประเทศ การแบ่งปันไม่อาจทำด้วยการแจกเงินแบบประชานิยม ซึ่งให้ผลชั่วคราว และมิใช่เป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุด แต่จะต้องทำให้เกิดกลไกการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม ทั้งโดยอาศัยกลไกตลาด กลไกรัฐ และกลไกภาษี รวมทั้งกระจายอำนาจทางการเมืองเพื่อให้เกิดโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรอย่างเป็นธรรม

    ชาวพุทธพึงระลึกว่าธรรมอันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวใจบุคคลและประสานให้ผู้คนเกิดความสามัคคี หรือสังคหวัตถุ ๔ นั้น ข้อสุดท้ายได้แก่สมานัตตตา คือความมีตนเสมอ หรือปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียมกัน สิ่งที่ต้องตั้งคำถามก็คือสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูงมากอย่างสังคมไทยจะส่งเสริมให้เกิดธรรมข้อนี้ได้อย่างไร ถ้าไม่ส่งเสริม เราจะหวังให้คนไทยมีความรักและสามัคคีกันได้อย่างไร
    :- https://visalo.org/article/matichon255210_2.htm

     
  5. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,923
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,057
    ธรรมิกชนของคนร่วมสมัย
    พระไพศาล วิสาโล
    แม้ว่าวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ หรือ“มด”มิใช่ชาวพุทธที่ชอบเข้าวัด หรือเคร่งครัดในศีล แต่เธอก็จัดว่าเป็นธรรมิกชนผู้หนึ่งที่น่ายกย่องและถือเป็นแบบอย่างได้ ทั้งนี้เพราะมดมีองค์คุณแห่งความเป็นธรรมิกชนอย่างน้อยสามประการที่สำคัญ

    ประการแรก มดเป็นผู้ที่อุทิศตนเพื่อส่วนรวมโดยเฉพาะผู้ยากไร้ ความเสียสละดังกล่าวมิได้เกิดจากอุดมการณ์ที่ผ่านการไตร่ตรองด้วยเหตุผลเท่านั้น แต่ยังมาจากจิตใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาและอ่อนไหวต่อความทุกข์ของผู้คน ยิ่งโลกทัศน์ของเธอเปิดกว้างขึ้นหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ความรู้สึกสงสารเห็นใจของเธอก็ยิ่งแผ่ไปไกล ครอบคลุมถึงชาวนา กรรมกร และผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของโครงสร้างที่อยุติธรรม แต่เธอไม่ได้เพียงแค่เห็นใจเท่านั้น หากพร้อมที่จะเข้าไปช่วยเหลือเกื้อกูลเขาเหล่านั้นชนิดเคียงบ่าเคียงไหล่เลยทีเดียว จึงไม่น่าแปลกใจที่นักศึกษาปีหนึ่งอย่างเธอเข้าไปกินนอนในโรงงานนานนับเดือนเพื่อเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่กรรมกรฮาร่า ไม่ว่ากรรมกรหรือชาวบ้านที่เคยต่อสู้ร่วมกับเธอพูดตรงกันว่าเธอไปร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเขาดังเพื่อน ยิ่งกว่าไปเป็นผู้นำของเขา แม้จะมีการศึกษาสูงกว่าเขาเหล่านั้นก็ตาม

    ประการที่สอง มดเป็นผู้ที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนน้อยมาก คุณสมบัติดังกล่าวทำให้เธอสามารถอุทิศตนเพื่อผู้อื่นได้อย่างเต็มที่ แม้ตัวเองจะต้องประสบกับความยากลำบากนานาประการก็ตาม คนที่มีน้ำใจนึกถึงผู้อื่นนั้นมีจำนวนมากมายในประเทศนี้ก็จริง แต่หากช่วยคนอื่นแล้วตนเองเดือดร้อน ส่วนใหญ่ก็มักจะเลิกรา เพราะยังห่วงตนเองอยู่ แต่มดไม่ใช่คนเช่นนั้น เธอกลับมองด้วยซ้ำว่าความเดือดร้อนของเธอนั้นยังเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับคนอื่น

    เป็นเพราะนึกถึงตัวเองน้อยมาก เงินและอำนาจ ที่ใคร ๆ พยายามหยิบยื่นให้ จึงทำอะไรเธอไม่ได้ แม้จะเป็นแกนนำของขบวนการที่มีชื่อเสียงระดับชาติ แต่เธอก็ยังเป็นมดคนเดิมที่อยู่อย่างสมถะ พร้อมจะนอนกลางดินกินกลางทรายกับพี่น้องคนจน หรือหากจำเป็นก็พร้อมจะเข้าคุกโดยไม่ยอมลดราวาศอกให้กับอำนาจรัฐหรือความอยุติธรรม ความที่ไม่มีอะไรซื้อตัวเธอได้ มดจึงกลายเป็นตัวอันตรายในสายตาของผู้ที่มีอำนาจ นี้คือภาพที่ตัดกับผู้นำชาวบ้าน ผู้นำกรรมกร หรือผู้นำเอ็นจีโอหลายคนที่สยบยอมให้แก่สิ่งยั่วยวนจากผู้มีอำนาจ ยังไม่ต้องพูดถึงอดีตผู้นำนักศึกษาที่กลายไปเป็นนายทุนหรือนักการเมืองที่ไร้คุณภาพเสียเอง เพราะลึก ๆ คนเหล่านั้นยังเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนอยู่มาก

    ลำพังการไม่หลงใหลกับชื่อเสียง อำนาจ สถานภาพ และความสำเร็จที่ได้รับ ก็เป็นเรื่องยากอยู่แล้ว แต่ที่ยากกว่านั้นก็คือแม้ประสบกับสิ่งตรงกันข้ามก็ยังไม่หวั่นไหว ตรงนี้คือคุณสมบัติประการที่สามที่ทำให้มดโดดเด่นกว่าใคร ๆ ในรุ่นเดียวกัน มองตามมาตรฐานของคนทั่วไป การต่อสู้ของมดตลอด ๓๐ ปีที่ผ่านมาประสบความล้มเหลวแทบทั้งหมดก็ว่าได้ ต่อสู้เพื่อกรรมกรฮาร่าก็ไม่สำเร็จ เพื่อนกรรมกรถูกทุบตี ส่วนตนเองติดคุก ขบวนการนักศึกษาที่ตนเข้าร่วมก็ถูกบดขยี้ที่ธรรมศาสตร์ในเหตุการณ์ ๖ ตุลา ครั้นเข้าป่าร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ไม่นานขบวนการปฏิวัติก็ล่มสลาย เมื่อหันมาร่วมกับชาวบ้านต่อต้านเขื่อนปากมูลก็ล้มเหลวอีก แม้จะเรียกร้องให้มีการเปิดเขื่อนเป็นบางเดือน ก็ไม่สำเร็จ ส่วนสมัชชาคนจนที่เธอร่วมจัดตั้งก็ถูกรัฐบาลชุดแล้วชุดเล่าบิดพลิ้วตระบัดสัตย์ หาไม่ก็เมินเฉยข้อเรียกร้อง

    ใช่แต่เท่านั้นตัวเธอเองยังถูกใส่ร้ายป้ายสีมาโดยตลอด ทั้งทางบัตรสนเท่ห์และตามสื่อนานาชนิด จนกลายเป็นตัวเลวร้ายในสายตาของคนทั้งประเทศ เป็นพวกหัวรุนแรงบ้างล่ะ รับเงินต่างชาติบ้างล่ะ เป็นนายหน้าค้าความจนบ้างล่ะ ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงการข่มขู่คุกคามถึงชีวิต

    แต่ทั้งหมดนี้หาได้ทำให้มดท้อแท้หรือวางมือจากการต่อสู้ไม่ แม้จะล้มเหลวหรือพ่ายแพ้ครั้งแล้วครั้งเล่า เธอก็ยังอุทิศตนเพื่อผู้ยากไร้ต่อไป อันที่จริงหากมดต่อสู้ในประเด็นอื่นที่คนเห็นด้วยได้ง่าย เช่น ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน การอนุรักษ์ป่า เธอก็มีหวังว่าจะได้รับความสำเร็จอยู่บ้าง แต่การที่เธอเลือกต่อสู้เพื่อคนยากจน โดยมุ่งเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่
    อยุติธรรม และท้าทายแนวทางการพัฒนากระแสหลัก นั่นก็เท่ากับเธอกำลังทำสิ่งสวนทางกับผลประโยชน์ของชนชั้นนำรวมทั้งคนชั้นกลางโดยตรง เธอจึงประสบกับการต่อต้านอย่างเต็มที่ และลงเอยด้วยความล้มเหลวเป็นส่วนใหญ่

    ในยุคที่ใคร ๆ ต้องการอยู่ฝ่ายชนะ โดยไม่สนใจว่าจะยืนอยู่บนความถูกต้องหรือไม่ มดนับเป็นบุคคลพิเศษที่หาได้ยากอย่างยิ่ง เธอเลือกที่จะยืนอยู่บนความถูกต้อง แม้ว่าจะต้องประสบกับความพ่ายแพ้ครั้งแล้วครั้งเล่า แถมยังถูกใส่ร้ายป้ายสีอย่างน่าเกลียดก็ตาม ที่เธอทำเช่นนี้ได้ก็เพราะเธอคิดถึงตัวเองน้อยมากนั่นเอง อัตตาหรือความยึดติดในตัวตนจึงเบาบาง ธรรมชาติของอัตตานั้นไม่ได้ต้องการทรัพย์มาปรนเปรอ “ตัวกู”ให้มาก ๆ เท่านั้น หากยังต้องการคำสรรเสริญเยินยอเพื่อพะนอตัวตนให้พองโต ด้วยเหตุนี้มันจึงต้องการเป็นผู้ชนะเหนืออื่นใด โดยไม่สนใจว่าจะได้มาวิธีใด แต่เมื่อใดก็ตามที่อัตตาหรือความติดยึดในตัวตนเบาบาง การเป็นผู้ชนะหรือผู้สำเร็จก็มีความหมายน้อยมาก สิ่งที่สำคัญเหนืออื่นใดคือความถูกต้องหรือธรรมะนั่นเอง

    การถือเอาความถูกต้องเป็นใหญ่ เป็นหลักการสำคัญของพุทธศาสนา เรียกอีกอย่างว่า “ธรรมาธิปไตย” ซึ่งตรงข้ามกับ “อัตตาธิปไตย” หรือการถือเอาประโยชน์ส่วนตนเป็นใหญ่ การถือเอาความถูกต้องเป็นใหญ่ โดยไม่หวั่นไหวกับความพ่ายแพ้และการใส่ร้าย ทำให้มดนับว่าเป็นธรรมิกชนโดยแท้ ความถูกต้องในที่นี้มิได้หมายถึงการถือเอาประโยชน์ส่วนรวมหรือความยุติธรรมในสังคมเป็นเป้าหมายเท่านั้น หากยังรวมไปถึงการใช้วิธีการที่ถูกต้อง ไม่ฉ้อฉลหรือเอาเปรียบผู้อื่นด้วย ผู้ที่ทำงานร่วมกับมดย่อมตระหนักดีว่าเธอให้ความสำคัญกับความถูกต้องของวิธีการไม่น้อยไปกว่าเป้าหมาย เธอจึงพยายามต่อสู้ด้วยสันติวิธีและด้วยวิธีการที่ตรงไปตรงมา โดยเฉพาะนับแต่การต่อสู้ร่วมกับชาวบ้านปากมูลเป็นต้นมา แม้จะมีการละเมิดกฎหมายบ้าง เช่น ปิดถนน ยึดหัวเขื่อน บุกทำเนียบ แต่ก็มิได้มุ่งหมายทำร้ายร่างกายผู้ใด

     
  6. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,923
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,057
    (ต่อ)
    ผู้ที่ได้ยินกิตติศัพท์ของมดผ่านทางสื่อมวลชน มักวาดภาพว่ามดเป็นคนหัวรุนแรงที่ก้าวร้าวดื้อรั้น แต่เมื่อได้พบเธอและได้สนทนาวิสาสะกัน หลายคนอดแปลกใจไม่ได้ที่บุคลิกของเธอนั้นตรงข้ามกับภาพที่วาดเอาไว้ เธอเป็นคนนุ่มนวล สุภาพ ถ่อมตน และมีน้ำใจ มองในแง่หนึ่งก็นับว่าแปลกและสวนทางกับประสบการณ์การต่อสู้อันเข้มข้นของเธอ ซึ่งเต็มไปด้วยขวากหนาม อุปสรรค ความล้มเหลว และการถูกกระทำย่ำยีจากผู้มีอำนาจ ประสบการณ์ดังกล่าวตลอด ๓๐ ปีที่ผ่านมา น่าจะทำให้เธอเป็นคนกร้าว กระด้าง ชาเย็น เจ้าอารมณ์ หรือขมขื่น แต่เธอก็ยังเป็นมดคนเดิมที่ยิ้มง่าย ใจดี มีอารมณ์ขัน และหัวเราะเยาะตัวเองได้ แม้จะต้องต่อสู้กับอำนาจรัฐ เผชิญกับเล่ห์กลและความรุนแรงจากคู่กรณี แต่คนเหล่านั้นก็ไม่สามารถยัดเยียดความก้าวร้าวและเล่ห์กระเท่ห์ดังกล่าวให้แก่เธอได้ นับว่าผิดกับคนจำนวนไม่น้อยที่แม้จะดำเนินการเพื่อความถูกต้อง แต่ระหว่างที่ต่อสู้กับความชั่วร้ายนั้น ก็อดไม่ได้ที่จะซึมซับรับเอาความชั่วร้ายของคู่กรณีมาไว้กับตน คู่กรณีเป็นอย่างไร ตัวเองก็เป็นอย่างนั้นไปด้วย ไม่ต่างจากตำรวจที่สู้กับโจรปีแล้วปีเล่า สุดท้ายก็กลับมีพฤติกรรมเยี่ยงโจรเสียเอง ใช่หรือไม่ว่าเผด็จการจำนวนไม่น้อยก็เริ่มต้นจากการเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่ยิ่งสู้กับเผด็จการนานเท่าไร ตนเองก็ยิ่งกลายเป็นเผด็จการมากเท่านั้น ทีแรกก็ใช้อำนาจกับคนในขบวนการ แต่เมื่อกลายเป็นผู้ปกครอง ก็เผด็จอำนาจกับประชาชนทั้งประเทศ

    แม้ว่ามดจะคิดถึงตัวเองน้อยมาก แต่ระยะหลัง ๆ เธอก็หันมาสนใจสมาธิภาวนามากขึ้น มองในแง่หนึ่งสมาธิภาวนาได้ช่วยให้เธอมั่นคงในการเสียสละเพื่อผู้ยากไร้ และรักษาอุดมคติแห่งการมีชีวิตเรียบง่ายไว้ได้อย่างเสมอต้นเสมอปลาย ขณะเดียวกันก็คงช่วยให้เธอได้พบกับความสงบใจท่ามกลางการต่อสู้ที่เต็มไปด้วยอุปสรรคและความล้มเหลว เห็นได้ชัดว่ามิติทางจิตวิญญาณได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในอุดมคติของเธอ ดังมดได้บันทึกความในใจตอนหนึ่งว่า “ ฉันคือหิ่งห้อย ฉันจะเรืองแสงในยามที่ทุกสิ่งมืดมิด ฉันจะบินว่อนฉวัดเฉวียน เฝ้ามองความเป็นไปของสรรพสิ่งอย่างเงียบสงบ ฉันจะมีอุเบกขา ต่อทุกสิ่งที่พบเห็น จะไม่ยินดีหรือยินร้าย ต่อทุกข์โศกหรือรื่นรมย์”.”

    บันทึกดังกล่าวเขียนเมื่อปี ๒๕๔๖ ก่อนที่เธอจะพบว่าตนเองเป็นโรคมะเร็ง ตลอด ๒ ปีที่เธอเก็บเรื่องนี้เป็นความลับ มดคงได้ไตร่ตรองถึงชีวิตและความตายมากขึ้น สำหรับคนที่ประสบกับความยากลำบากและอุปสรรคมามาค่อนชีวิต การเป็นมะเร็งนับเป็นเหตุการณ์ร้ายแรงที่สุดที่เกิดกับชีวิตของเธอ สำหรับคนที่ต่อสู้เพื่อคนยากไร้มากว่า ๓๐ ปีโดยไม่มีอะไรมาหยุดยั้งได้ มะเร็งคืออุปสรรคที่เหนี่ยวรั้งขัดขวางเธออย่างได้ผล แต่สมาธิภาวนาคงมีส่วนไม่น้อยที่ช่วยให้เธอทำใจได้

    การสิ้นชีวิตเพราะโรคมะเร็ง ในสายตาของคนทั่วไปก็คือการพ่ายแพ้อีกครั้งหนึ่งของมด ที่ซ้ำรอยความพ่ายแพ้อีกมากมายก่อนหน้านั้น แต่สำหรับชาวพุทธ ความตายมิใช่การพ่ายแพ้เพราะนี่คือธรรมดาของชีวิต การดำรงชีวิตก่อนตายต่างหากที่สำคัญกว่า มดเป็นผู้ที่ใช้ชีวิตอย่างทรงคุณค่า เป็นแบบอย่างแห่งการเอาชนะความเห็นแก่ตัว ในยุคที่ผู้คนสยบยอมต่อเงินทอง ชื่อเสียง และอำนาจ มดเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนกล้าท้าทายสิ่งยั่วยวนดังกล่าว โดยยืนหยัดมั่นคงในความถูกต้อง ในยุคที่คนยากจนถูกย่ำยีบีฑา มดได้ช่วยให้เขาเหล่านั้นลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิทธิของตนเอง และขยายไปสู่การพิทักษ์ประโยชน์ของส่วนรวม โดยไม่หวั่นเกรงผู้มีอำนาจ คนรวย หรือผู้มีวุฒิการศึกษาสูงกว่า ขบวนการคนจนวันนี้สามารถลืมตาอ้าปากและมั่นใจในตนเองได้ก็เพราะมีมดเป็นกัลยาณมิตร

    หากโกมล คีมทอง อารมณ์ พงศ์พงัน และสืบ นาคะเสถียร คือตัวแทนที่โดดเด่นที่สุดของคนรุ่นเขาในด้านอุดมคติและความเสียสละ มดก็เป็นตัวแทนที่โดดเด่นที่สุดในรุ่นของเธอ เป็นธรรมิกชนที่เราควรก้มหัวและถือเป็นแบบอย่าง แม้ชีวิตเธอจะสั้น แต่ก็ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้แก่ประเทศไทย ที่ไม่สามารถมองข้ามคนยากจนอีกต่อไป แม้วันนี้เงินและอำนาจจะขึ้นมาเป็นใหญ่ แต่หากธรรมะหรือความถูกต้องยังดำรงอยู่ในแผ่นดินและในใจของผู้คน นั่นก็เป็นเพราะคุณูปการของมดส่วนหนึ่งด้วย
    :- https://visalo.org/article/matichon255102.htm
     

แชร์หน้านี้

Loading...