ขยับปีกอิสระ...สู่ตาน้ำแห่งโพธิ

ในห้อง 'ข่าวพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย paang, 8 ตุลาคม 2005.

  1. paang

    paang เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 เมษายน 2005
    โพสต์:
    9,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +34,328
    [​IMG]

    วันที่ 29 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2548 นี้ ทางสังฆะหมู่บ้านพลัม (Plum Village) ประเทศฝรั่งเศส นำโดย ภิกษุณีนิรามิสา ชาวไทย ลูกศิษย์ ท่านติช นัท ฮันห์ พระภิกษุมหาเถระชาวเวียดนาม ในพระพุทธศาสนานิกายเซนที่ชาวโลกนับถือ และ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี แห่งวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม จับมือกันจัดงาน ภาวนา...สามัญวิถีแห่งความเบิกบาน ครั้งที่ 3 'สู่ตาน้ำแห่งโพธิ : วิถีแห่งความตื่นรู้ เบิกบาน ของเถรวาท-มหายาน อันเป็นหนึ่งเดียว' ณ สำนักปฏิบัติธรรมสันกู่ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่


    ก่อนจะถึงวันนั้น พระมหาวุฒิชัย หรือ ว.วชิรเมธี เปิดใจในการเตรียมงานมาเกือบปี ว่ากว่าจะตั้งชื่อได้ ต้องส่งอีเมลข้ามทวีปหลายรอบ ช่วยกันตั้งกับท่านนิรามิสา ซึ่งสอนภาวนาอยู่ที่หมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศส

    "สู่ตาน้ำแห่งโพธิ เป็นชื่อธรรมบรรยายของอาตมาชุดหนึ่ง และวิถีแห่งความตื่นรู้ เบิกบานของเถรวาท-มหายานอันเป็นหนึ่งเดียว ก็ช่วยกันตั้งกับท่านนิรามิสา เพราะอาตมาเห็นว่า ท่านมาจัดในเมืองไทย 2 ครั้งผ่านไป น่าจะมีสมาชิกของสังฆะเพิ่มขึ้น แต่เท่าที่ดู เหมือนรู้จักอยู่ในแวดวงคนคอเดียวกัน เมล็ดพันธุ์ไม่กระจายไปไหนเลย ทำให้สงสัยว่า ของที่ดี ที่วิเศษ ทำไมปริมาณไม่เพิ่มขึ้น"

    0 0 0

    นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นหนึ่งของการขยายความคิดของพระมหาวุฒิชัย ซึ่งได้แรงบันดาลใจในการบวชเรียน และการปฏิบัติธรรมเจริญสติภาวนาจากหนังสือของท่านนัท ฮันห์มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ สันติภาพทุกย่างก้าว ปัจจุบันเป็นเวลาประเสริฐสุด ตั้งแต่เป็นพระหนุ่มเณรน้อย จนกระทั่งเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ท่านได้เข้าร่วมภาวนา... สามัญวิถีแห่งความเบิกบานครั้งที่ 2 กับหลวงพี่นิรามิสา และสังฆะจากหมูบ้านพลัมที่เดินทางมาประเทศไทย หลังจากนั้นเมล็ดพันธุ์พุทธะที่ไม่แยกนิกายเถรวาทหรือมหายาน ก็เบ่งบานจากตัวหนังสือของท่านนัท ฮันห์ และฐานการปฏิบัติจากพระไตรปิฎกมาสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง และเป็นจุดเริ่มต้นของการภาวนาที่จะจัดขึ้นในครั้งนี้ด้วย

    พระมหาวุฒิชัย ขยายความว่า เท่าที่ได้คุยกับท่านนิรามิสา ก็เลยคิดว่า เอาอย่างนี้ดีไหม เรามาร่วมกันจัด เพราะในเมืองไทยคำว่ามหายานก็ดี คำว่าเซนก็ดี คนไทยยังไม่เปิดกว้าง

    "คือเราเป็นเถรวาท โดยเฉพาะพระสงฆ์เรา เวลาพูดถึงมหายานขึ้นมา ยังมีอคติด้วยซ้ำไป ยังเหมารวมว่า มหายานเป็นศาสนาที่ประยุกต์ ไม่เคร่งครัดเหมือนเถรวาท แต่แท้ที่จริงก็ลืมไปว่า มหายานก็มีหลายนิกาย บางนิกายก็เคร่งครัดมาก เพราะฉะนั้นอาตมาคิดว่า เพื่อที่จะสะสางความเข้าใจในเรื่องระหว่างนิกาย และเพื่อที่จะแสวงหาความร่วมมือระหว่างคนทำงานทางด้านพุทธศาสนาด้วยกัน ก็เลยร่วมมือกันกับทางหมู่บ้านพลัม โดยผ่านทางท่านนิรามิสานี่แหละ ร่วมกันจัดการภาวนาในครั้งนี้ขึ้น จะได้ทะลุนิกายเสียที หลังจากที่ท่านพุทธทาสทำมานาน แต่ไม่มีใครสานต่อ"

    ในอดีตที่ผ่านมา ท่านพุทธทาสภิกขุ แห่งสวนโมกขพลาราม ก็พยายามทะลุนิกาย ไปไกลจากความยึดติดในพระไตรปิฎกด้วยการแปล 'สูตรของเว่ยหล่าง' แปล 'คำสอนของฮวงโป' แปล 'ลังกาวตาลสูตร' ซึ่งเป็นของมหายานทั้งหมด เพื่อให้เรามองลอดแว่นทิฐิออกไปสู่การมองเห็นตามความเป็นจริงอย่างไม่แบ่งเราแบ่งเขา แต่พอท่านสิ้นดูเหมือนการบุกเบิกมหายานจะเงียบลงไป

    ว.วชิรเมธี ศิษย์ของตถาคตผู้ศึกษางานของท่านพุทธทาสมาไม่น้อยกล่าวต่อมา

    "อาตมาคิดว่าเราต้องทะลุนิกาย ก็เลยมาทำตรงนี้จะได้อยู่เหนือนิกาย ถ้าอยู่เหนือนิกายได้ พลังของชาวพุทธทั้งสองฟาก ทั้งตะวันออก-ตะวันตก หรือเถรวาทกับมหายาน จะขับเคลื่อนโลกได้มาก อาตมามองว่า เถรวาทและมหายานคือปีกทั้งสองของนกตัวเดียวกัน ถ้าปีกทั้งสองสามัคคีกัน นกคือพระพุทธศาสนา ก็จะบินได้ไกล"

    ในการจัดงานภาวนาครั้งนี้ ว.วชิรเมธีก็เลยอาสาเป็นสื่อในการเชื่อมร้อยดวงใจพุทธศาสนาให้เป็นหนึ่งเดียว ท่านอธิบายว่า แทนที่ท่านนิรามิสาจากหมู่บ้านพลัมจะมาจัดเอง ทำงานกันเอง เสร็จแล้วก็บินกลับฝรั่งเศส

    "อาตมาคิดว่าจะไม่มีผลมาก เราก็เลยมาร่วมมือกันจัด เมื่อจัดเสร็จแล้วมีผลสะท้อนอย่างไร สามารถติดต่อประสานงานกับอาตมาได้ที่เมืองไทย แล้วอาตมาก็จะติดต่อกับหมู่บ้านพลัมต่ออีกทีหนึ่ง คือแทนที่จะทำแล้วทิ้ง เราทำแล้วก็มีตาน้ำอยู่ที่นี่ด้วย การจัดครั้งนี้ อาตมาไม่คิดว่าเป็นเรื่องของหมู่บ้านพลัม หรือของมหายานอะไรหรอก แต่เป็นการนำธรรมะของพระพุทธเจ้าออกมาวางให้คนได้รู้ ได้เห็นมากที่สุด

    "คือถ้าทะลุนิกายแล้ว สิ่งที่หมู่บ้านพลัมสอน คือเรื่องการเจริญสติ ซึ่งเป็นแก่นอันเดียวกัน สอนเรื่องเดียวกัน แต่ด้วยวิธีการอันแตกต่างเท่านั้นเอง การสอนสมาธิภาวนา โดยที่ท่านนัท ฮันห์ ท่านก็นำไปประยุกต์ให้เข้ากับวัฒนธรรมตะวันตก ให้มีความหลากหลายมากขึ้น มีการอธิบายพิธีกรรมต่างๆ ให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น มาบวกกับความเข้มข้นจริงจังของเถรวาท ก็น่าจะเป็นปีกทั้งสองของนกตัวเดียวกันที่ขับเคลื่อนในเมืองไทยได้อย่างมีพลัง แล้วเวลานี้ทั่วโลกกำลังต้องการสมานฉันท์"

    เรื่องนี้เป็นเรื่องที่พูดกันทุกวันบนหน้าหนังสือพิมพ์ และบนสื่อทุกแขนง หากแต่ว่าสมานฉันท์ที่แท้นั้นเป็นอย่างไร พระมหาวุฒิชัย อธิบาย...

    "สิ่งแรกก็คือ คนในศาสนาต้องสมานฉันท์ก่อน คือทุกๆ วิกฤติในโลกนี้ ถ้าสาวไปจริงๆ ฐานของวิกฤติมาจากศาสนา ความเชื่อ ซึ่งก็คือทิฐิมานะไง คนเรามีความคิดเห็นไม่ตรงกัน ความคิดเห็นไม่ตรงกันเป็นเรื่องของความเชื่อทั้งนั้น ศาสนาแห่งความรุนแรงก็คือโทสะไง ศาสนาของทุนนิยมก็คือโลภะ ศาสนาของการคิดว่าตัวเองเคารพศรัทธาดีที่สุดก็คือโมหะ สงวนลิขสิทธิ์สัจจะไว้เฉพาะกลุ่มของตน คนอื่นเป็นคนนอกศาสนา เป็นคนที่ควรจะถูกทำร้าย ทำลาย พอคิดอย่างนี้ก็เป็นฐานของสงคราม สรุปแล้วก็มาจากกิเลสสามตัวหลักๆ คือ โลภ โกรธ หลง เท่านั้นเอง อันนี้คือฐานของสงคราม

    "พระพุทธเจ้าพูดไว้ว่า มิจฉาทิฐิ คือจุดเริ่มต้นของความเลวร้าย ก็ต้องกลับไปหาต้นตอของปัญหาทั้งหมด คือศาสนาก่อน แล้วคนในศาสนาก็ต้องออกจากความคับแคบในศาสนาให้ได้ด้วย ต้องออกจากความคับแคบในลัทธินิกายให้ได้ด้วย บางทีอาตมายังคิดเลยว่า ถ้าศาสนามันล้าหลัง ก็ต้องทิ้งศาสนา เพราะว่าพระพุทธเจ้าสอนพุทธศาสนาประมาณ 20 ปีแรก ไม่ตั้งชื่อศาสนาเลย คือสอนแต่วิถีชีวิตเท่านั้นเอง"

    ท่านโกเอ็นก้า อาจารย์สอนวิปัสสนากรรมฐานชาวพม่า ก็เคยตั้งข้อสังเกตว่า พุทธศาสนาเริ่มตกต่ำลงทันทีเมื่อเราตั้งชื่อให้กับสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนว่า นี่คือพระพุทธศานา เพราะคนเริ่มไปติดที่ป้าย หรือยี่ห้อ

    พระมหาวุฒิชัยกล่าวต่อมาว่า สมัยก่อนเราเคยดื่มน้ำสายนี้มาด้วยกัน ไทยดื่ม จีนดื่ม ฝรั่งดื่ม ไม่ทะเลาะกัน ต่อมาตั้งชื่อว่าฝั่งนี้เรียกว่าเจ้าพระยานะ ฝั่งนี้เรียกว่าแม่น้ำป่าสักนะ คนสองฝั่งมองหน้ากันไม่ติดแล้ว ทะเลาะกันเพราะชื่อที่ไม่เหมือนกัน แต่จริงๆ แล้วเป็นสายน้ำเดียวกัน

    "เหมือนพุทธศาสนาก็คือสายน้ำแห่งความตื่นรู้ แต่พอไปแยกเป็นเถรวาท มหายาน เถรวาทก็ไปตั้งแง่ว่ามหายานเป็นสายที่ประยุกต์เกินไป ไม่ใช่ของจริง มหายานก็มาดูถูกเถรวาทว่าเป็นพวกคับแคบเห็นแก่ตัว เป็นยานเล็กๆ เราเป็นมหายาน เป็นยานใหญ่ ก็เกิดการดูถูกกันระหว่างศาสนา สุดท้ายคนในศาสนาทะเลาะก่อนชาวบ้านชาวเมืองเขา

    "คนที่กำลังทะเลาะกันอยู่จะไปสอนให้คนอื่นเลิกทะเลาะกันได้อย่างไร ใช่ไหม อาตมาก็คิดว่าการจัดภาวนาครั้งนี้จะเป็นนิมิตหมายของการสอนพระพุทธศาสนาที่อยู่เหนือนิกาย ในแง่หนึ่งเป็นการกลับไปหาต้นตอที่พระพุทธเจ้าเคยทำ เพราะตอนที่ท่านสอนพุทธศาสนาครั้งแรก ไม่มีคำว่านิกายเกิดขึ้น ไม่มีเถรวาท ไม่มีมหายานหรอก สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนเป็นวิถีชีวิตที่ประเสริฐ คือพรหมจรรย์ คำว่าพุทธศาสนาเกิดขึ้นหลังจากพุทธปรินิพพานตั้งนานหลายร้อยปี"

    อีกเหตุผลหนึ่งในการจัดงานครั้งนี้ 5 วัน ที่สำนักปฏิบัติธรรมสันกู่ จ.เชียงใหม่นั้น พระมหาวุฒิชัยอธิบายว่า ท่านเจ้าอาวาสสนใจการภาวนาของท่านนัท ฮันห์มานานแล้วเช่นกัน และถ้าจัดเพียง 2-3 วัน ก็เหมือนเพาะถั่วงอก แต่เราจะเพาะชำต้นสัก ต่อไปเมืองไทยจะได้มีอีกทางเลือกหนึ่งของการฝึกสมาธิวิปัสสนา

    "คนไทยจะได้เห็นว่า นอกจากเราจะมีการฝึกเจริญสติสายยุบหนอ-พองหนอ สายพุทโธ สายอานาปานสติอย่างที่เราคุ้นชินแล้ว ก็ยังมีอีกสายหนึ่งก็คือ สายหมู่บ้านพลัม ที่เน้นการเจริญสติในทุกๆ อิริยาบถ โดยที่ไม่จำเป็นต้องเอาวัด หรือเอาสมาธิวิปัสสนาไปเชื่อมโยงไว้กับสถาบันศาสนาเสมอไป แต่ใครก็ได้ที่จะมาเข้าสู่ความมีสติ ความรู้เนื้อรู้ตัว โดยผ่านการใช้ชีวิต การทำงาน การปฏิสัมพันธ์ โดยอยู่เหนือรูปลักษณ์ทางศาสนา ทางพิธีกรรม ทางเครื่องแต่งตัวทั้งหมด เพื่อให้เห็นผลมากขึ้น จึงจัด 5 วัน"

    การภาวนาในแต่ละวันนั้น เริ่มต้นตั้งแต่ 05.00 น. ตื่นนอน นั่งสมาธิ สวดมนต์ เดินวิถีแห่งสติ ออกกำลังกาย รับประทานอาหารเช้าในความเงียบ และฟังบรรยายธรรม จากนั้นรับประทานอาหารเพลร่วมกันเป็นสังฆะ และพักผ่อนตามอัธยาศัย

    ในช่วงบ่ายเริ่มต้นด้วยการนอนกลางวัน หรือผ่อนคลายอย่างสมบูรณ์ มีการนำเสนอข้อฝึกอบรมสติ 5 ประการ หรือที่เรารู้จักกันในนาม 'ศีล 5' จากนั้นเป็นการภาวนากันเป็นกลุ่ม วิธีเริ่มต้นใหม่ในความสัมพันธ์ มีการสวดเพลง ฝึกกราบสัมผัสพื้นดิน อันเป็นแผ่นดินแม่ที่ให้กำเนิดเรามา จากนั้นเป็นพิธีน้ำชา และการสร้างสังฆะแห่งสติ

    สำหรับช่วงเย็นเริ่มต้นด้วยการดื่มน้ำปานะ และอาหารเบา จากนั้นสนทนาธรรมในกลุ่มย่อย นั่งสมาธิ สวดมนต์ และก่อนเข้านอนสัมผัสความนิ่งเงียบภายในและภายนอก...

    พระมหาวุฒิชัย ขยายความว่า การนอนกลางวัน หรือการเจริญสติก่อนเข้านอนตอนค่ำนั้นก็คือการนอนสมาธิ เวลาที่ทุกคนนอน สังเกตดู เราทุกคนมีความเสมอภาคกันหมด

    สำหรับการนอนกลางวันที่บางคนอาจจะสงสัยนั้น ท่านอธิบายว่า ทางหมู่บ้านพลัมเขาเรียกว่า การพักผ่อนอย่างสมบูรณ์

    "เพราะปกติ คนเราจะพักผ่อนโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว พอกินอาหารอิ่มแล้วก็หลับบนโต๊ะเลย บางทีก็หลับบนเก้าอี้เลย แต่มีการหลับอีกอย่างหนึ่ง เขาเรียกว่าการหลับอย่างมีสติ คือก่อนที่เราจะหลับตาลง หรือก่อนที่เราจะก้าวลงสู่ภวังค์ จนเป็นการหลับจริงๆ เราก็เจริญสติตามลมหายใจไปจนหลับ อย่างนี้เรียกว่าเป็นการหลับอย่างรู้เนื้อรู้ตัว ไม่ใช่หลับเพราะว่าเมาอาหาร แน่นท้องเพราะว่ากินข้าวเหนียวเยอะ แล้วง่วงไปไม่รู้เนื้อรู้ตัว แต่ถ้าเราหลับ ก่อนที่จะหลับมีการเจริญสติไปด้วยแม้แค่ 5 นาที 10 นาที พอตื่นขึ้นมาจะเห็นผลชัดว่ากระปรี้กระเปร่า ดีกว่าการนอนแบบตามสัญชาตญาณ หรือตามกิเลส

    "เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่าคืนหนึ่งๆ พระพุทธเจ้าทรงจำวัดประมาณ 2 ชั่วโมง แต่ทรงมีพระชนมายุถึง 80 พรรษา เห็นไหมว่าการพักผ่อนที่แท้จริงไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณการนอนหลายๆ ชั่วโมง แต่ขึ้นอยู่กับความนิ่งสนิทของการพักผ่อนมากกว่า เพราะฉะนั้นการพักผ่อนในสมาธิ พระพุทธเจ้าเน้นว่าเป็นพรหมวิหาร หรือเป็นธรรมเครื่องอยู่ของพรหม เป็นวิธีพักผ่อนที่แท้จริงของผู้ที่ประเสริฐ"

    ดังนั้น พระในสมัยพุทธกาล หรือครูบาอาจารย์สายวิปัสสนากรรมฐาน อย่างหลวงพ่อชา เป็นต้น ท่านไม่เน้นการนอนมาก แต่จะเน้นการพักผ่อนในสมาธิ การปฏิบัติเช่นนี้ก็ไม่ต่างจากหมู่บ้านพลัม พระมหาวุฒิชัย อธิบายการนอนสมาธิให้กระจ่างมากขึ้น

    "ถ้าเราพักผ่อนในสมาธิ 1 ชั่วโมง เท่ากับนอนทั้งวัน เพราะจิตได้พักจริงๆ แต่คนทั่วไป เวลานอนจิตไม่ได้พัก สังเกตจากเวลาเราฝัน หรือเวลาใครขึ้นบันไดมา เรารู้หมดเลย เพราะหูมันรับก่อน มีอะไรตกเราได้ยินหมดเลย แต่ถ้าเราพักผ่อนในสมาธิ เป็นการพักผ่อนที่พระพุทธเจ้าเคยยกตัวอย่างเอาไว้ว่า ใกล้ๆ กันนั้นมีฝนตกฟ้าร้อง วันนั้นฟ้าผ่าวัวของชาวนาตาย 7 ตัว พระพุทธเจ้าเข้าสมาธิอยู่ใต้ต้นไม้ถัดออกไป มีคนไปถามว่าพระองค์ไม่ได้ยินหรือ พระองค์ตอบว่า ไม่ได้ยินเลย นั่นแสดงว่า พระองค์ทรงพักผ่อนอย่างสมบูรณ์อยู่ สามารถปิดการรับรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง แม้ชั่วโมงเดียวก็เป็นการพักผ่อนนานกว่าคนที่นอนมาทั้งคืน"

    การนอนสมาธิจึงเป็นรูปแบบหนึ่งในการฝึกการพักผ่อนอย่างรู้เนื้อรู้ตัว ซึ่งมีสอนทั้งในเถรวาทและมหายาน ผลที่ได้รับนั้นพระมหาวุฒิชัย กล่าวว่า ในขณะที่เราพักผ่อนอย่างนี้ เราจะหายใจช้าและเบามาก บางทีจะไม่หายใจทางจมูก แต่เป็นการหายใจทางผิวหนัง เมื่อเราไม่หายใจแรงๆ นาทีละเป็น 100 ครั้ง แต่นาทีละสองสามครั้ง บางทีมองหาลมหายใจไม่เจอเลย

    "อานิสงส์ก็คือ ร่างกายลดการเผาผลาญลง เมื่อลดการเผาผลาญ ระบบอวัยวะต่างๆ ในร่างกายก็ทำงานน้อย เมื่อร่างกายทำงานน้อยก็ได้พักผ่อนมาก เราก็แก่ช้า อายุก็จะยืน นี่คือการพักผ่อนอย่างสมบูรณ์"

    0 0 0

    "สิ่งที่เป็นแก่นเลยก็คือเรื่องการเจริญสติในวิถีประจำวัน" พระมหาวุฒิชัยกล่าว และว่า หลักการภาวนาของหมู่บ้านพลัมจึงเน้นทุกๆ อิริยาบถ ตั้งแต่ตื่นนอนมา เข้าห้องน้ำ รับประทานอาหาร เล่นโยคะ เดินจงกรม หรือแม้แต่ร้องเพลง หรือสวดเพลง จนกระทั่งถึงการเจริญสมาธิและการสนทนาธรรม

    "ทุกกิจกรรมไม่มีการแบ่งแยก เราอยู่ที่ไหนธรรมะอยู่ที่นั่น เรากำลังทำอะไร การเจริญสติก็อยู่ตรงนั้น ทุกๆ อิริยาบถเป็นการเจริญสติทั้งหมด"

    และนั่นคือหนทางแห่งการฝึกบินที่ไปไกลจากความเชื่อ ลัทธิ นิกาย ไปสู่การรู้เห็นตามความเป็นจริง (ล้อมกรอบ) ออกพรรษานี้ หากใครเหนื่อยนัก อยากเดินทางไปพักผ่อนอย่างสมบูรณ์ พร้อมสัมผัสกับตาน้ำอันนิ่ง สงบ สดใส ซึ่งมีอยู่แล้วในกายและใจของเราทุกคน กับพระมหาวุฒิชัย และภิกษุณีนิรามิสา กับสังฆะภิกษุและภิกษุณีที่จะเดินทางมาจากฝรั่งเศสและเวียดนาม อีก 5 รูป ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ โครงการการอบรมภาวนา สู่ตาน้ำแห่งโพธิ โทร.0-2628-6873, 0-6786-2616 และ 0-9893-2136

    ที่มา : http://www.nationweekend.com
     
  2. Pavitta

    Pavitta เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 กรกฎาคม 2005
    โพสต์:
    144
    ค่าพลัง:
    +411
    ความคิดของท่านกว้างไกลและนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้จริงๆครับ ขออนุโมทนาสาธุด้วย ขอความปราถนาอันดีงามของท่านจงสำเร็จๆเถิด
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 8 ตุลาคม 2005

แชร์หน้านี้

Loading...