การถวายไทยธรรมแด่พระสงฆ์ พระผู้ปฏิบัติดี มีอานิสงส์ที่ทำให้ได้รับความสุขมากมาย ดังต่อ

ในห้อง 'บุญ-อานิสงส์การทำบุญ' ตั้งกระทู้โดย rinnn, 9 มีนาคม 2007.

  1. rinnn

    rinnn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤศจิกายน 2005
    โพสต์:
    7,666
    ค่าพลัง:
    +24,027
    ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑
    ปิลินทวรรคที่ ๔๐

    ปิลินทวัจฉเถราปทานที่ ๑ (๓๙๑)

    ว่าด้วยผลแห่งการถวายไทยธรรมที่สมควร
    ...


    เราได้ถวายฉัตรในพระสุคตเจ้าและในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว ได้เสวยอานิสงส์ ๘ ประการ อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ เราไม่รู้สึกหนาว ๑ ไม่รู้สึกร้อน ๑ ละอองและธุลีไม่แปดเปื้อน ๑ เราเป็นผู้ไม่มีอันตราย ๑ ไม่มี[^_^] ๑ อันมหาชนยำเกรงทุกเมื่อ ๑ เป็นผู้มีผิวพรรณละเอียด ๑ เป็นผู้ มีใจกว้างขวาง (ไม่หดหู่) ๑ เมื่อเราท่องเที่ยวอยู่ในภพ ฉัตรหนึ่งแสนคัน อันประกอบด้วยเครื่องประดับทุกอย่าง เว้นชาตินี้แล้ว ทรงไว้เหนือศีรษะของเรา เพราะผลแห่งกรรมนั้น เพราะฉะนั้น ในชาตินี้ การทรงฉัตรจึงมีแก่เรา กรรมทั้งปวงที่เราทำแล้ว เพราะผลบุญแห่งฉัตรหลุดพ้นไป


    เราได้ถวายผ้าในพระสุคตเจ้า และในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว ย่อมได้เสวยอานิสงส์ ๘ ประการ อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ เราเป็นผู้มีผิวพรรณเปล่งปลั่งดังทอง ๑ ปราศจากธุลี ๑ มีรัศมีผ่องใส ๑ มีเดช ๑ ตัวของเราละเอียดอ่อน ๑ เมื่อเราท่องเที่ยวอยู่ในภพ มีผ้าสีขาวแสนผืน ๑ สีเหลืองแสนผืน ๑ สีแดงแสนผืน ๑ ทรงอยู่เหนือศีรษะของเรา นี้เป็นผลแห่งการถวายผ้า เราย่อมได้ผ้าไหม ผ้ากัมพล ผ้าป่าน และผ้าฝ้ายในที่ทุกแห่ง เพราะผลอันหลั่งออกแห่งการถวายผ้านั้น

    เราได้ถวายบาตรในพระสุคตเจ้า และในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว ย่อมได้เสวยอานิสงส์ ๑๐ ประการ อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ เราย่อมบริโภคโภชนาหารในภาชนะทองคำ ภาชนะแก้วมณี ภาชนะเงิน และภาชนะที่ทำด้วยทับทิมในกาลทั้งปวง ๑ เราเป็นผู้ไม่มีอันตราย ๑ ไม่มีจั ญ ไร ๑ มหาชนยำเกรงทุกเมื่อ ๑ เป็นผู้ได้ข้าว น้ำ ผ้า และที่นอน เป็นปกติ ๑ โภคสมบัติของเราไม่พินาศ ๑ เราเป็นผู้มีจิตมั่นคง ๑ เป็นผู้ใคร่ธรรมทุกเมื่อ ๑ เป็นผู้ไม่มีกิเลส ๑ ไม่มีอาสวะ ๑ คุณเหล่านี้ ติดตามเราไปทั้งในเทวโลกและมนุษยโลก ย่อมไม่ละเราในที่ทุกแห่ง เปรียบเหมือนเงาไม่ละรูป ฉะนั้น


    เราได้ถวายมีดโกนที่ทำอย่างสวยงาม อันเนื่องด้วยเครื่องผูกอย่างวิจิตร มากมาย แก่พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุดและแก่พระสงฆ์แล้ว ย่อมได้เสวยอานิสงส์ ๘ ประการ อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ เราเป็นผู้กล้า ๑ เป็นผู้ไม่มีความเดือดร้อน ๑ ถึงที่สุดในเวสารัชธรรม ๑ เป็นผู้มีธิติ ๑ มีความเพียร ๑ มีใจอันประคองไว้ทุกเมื่อ ๑ ย่อมได้ญาณอันสุขุมเครื่องตัดกิเลส ๑ ความบริสุทธิ์อันชั่งไม่ได้ ๑ ในที่ทั้งปวง เพราะผลอันหลั่งออกแห่งกรรมของเรานั้น


    เรามีจิตเลื่อมใสได้ถวายพร้าอันราบเรียบ ไม่หยาบ ไม่ต้องขัดถู เป็นอันมากในพระพุทธเจ้าและในสงฆ์แล้ว ย่อมได้เสวยอานิสงส์ ๕ ประการ อันสมควรแก่กรรมของเรา คือเราย่อมได้ความ เพียรอันเป็นกัลยาณมิตร ๑ ขันติ ๑ ศาตราคือความไมตรี ๑ ศาตราคือปัญญาอันยิ่งเพราะตัดลูกศรคือตัณหา ๑ ญาณอันเสมอด้วยแก้ววิเชียร ๑เพราะผลอันหลั่งออกแห่งกรรมเหล่านั้น


    เราได้ถวายเข็มในพระสุคตเจ้า และในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว ย่อมได้เสวยอานิสงส์ ๕ ประการอันสมควรแก่กรรมของเรา คือ เมื่อเราท่องเที่ยวอยู่ในภพน้อยใหญ่ ย่อมเป็นผู้อันมหาชนนอบน้อม ๑ ตัดความสงสัยได้ ๑ มีรูปงาม ๑ มีโภคสมบัติ ๑ มีปัญญากล้า ๑ ทุกเมื่อ เราพิจารณาเห็นอรรถอันเป็นฐานะละเอียดลึกซึ้งด้วยญาณ ญาณของเราเสมอด้วยแก้ววิเชียรอันเลิศ เป็นเครื่องกำจัดความมืด

    เราได้ถวายมีดตัดเล็บในพระสุคตเจ้าและในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐแล้ว ย่อมได้เสวยอานิสงส์ ๕ ประการ อันสมควรแก่กรรม ของเรา คือ เราย่อมได้ทาสชายหญิง วัวและม้า ลูกจ้าง คนฟ้อนรำช่างตัดผม พ่อครัวผู้ทำอาหารเป็นอันมาก ในที่ทั้งปวง


    เราได้ถวายพัดใบตาลอันงามในพระสุคตเจ้าแล้ว ย่อมได้เสวยอานิสงส์ ๕ ประการ อันสมควรแก่กรรมของเรา คือเราย่อมไม่รู้สึกหนาว ๑ ร้อน ๑ ความเร่าร้อนไม่มีแก่เรา ๑ ไม่รู้สึกความกระวนกระวาย ๑ ไม่รู้สึกความเดือดร้อนจิตของเรา ๑ เราดับไฟ คือ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ และไฟทั้งปวงได้แล้ว เพราะผลอันหลั่งออกแห่งกรรมนั้นของเรา


    เราได้ถวายพัดจามรี มีขนนกยูงเป็นด้ามในคณะสงฆ์ผู้สูงสุดแล้ว ย่อมเป็นผู้มีกิเลสสงบระงับ ไม่มีกิเลสเครื่องยั่วยวนอยู่


    เราได้ถวายผ้ากรองน้ำและธรรมกุตตระในพระสุคตเจ้าแล้ว ย่อมได้เสวยอานิสงส์ ๕ ประการ อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ เราก้าวล่วงอันตรายทั้งปวง ๑ ย่อมได้อายุอันเป็นทิพย์ ๑ เป็นผู้อันโจรหรือข้าศึกไม่ข่มขี่ในกาลทุกเมื่อ ๑ ศาตราหรือยาพิษย่อมไม่ทำ ความเบียดเบียนเรา ๑ ไม่มีความตายในระหว่าง ๑ เพราะผลอันหลั่งออกแห่งกรรมนั้นของเรา


    เราได้ถวายภาชนะน้ำมัน ในพระสุคตเจ้า และในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว ย่อมได้เสวยอานิสงส์ ๕ ประการ อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ เราเป็นผู้มีรูปสวยงาม ๑ มีความเจริญดี ๑ มีใจเบิกบานดี ๑ มีใจไม่ฟุ้งซ่าน ๑ เป็นผู้อันอารักขาทั้งปวงรักษาแล้ว ๑


    เราได้ถวายกล่องเข็มในพระสุคตเจ้า และในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้วย่อมได้เสวยอานิสงส์ ๓ ประการ อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ เราย่อมได้คุณทั้งหลายนี้ คือ ความสุขใจ ๑ ความสุขกาย ๑ ความสุขเกิดแต่ อิริยาบถ ๑ เพราะผลอันหลั่งออกแห่งกรรมนั้น


    เราได้ถวายผ้าอังสะในพระชินเจ้าและในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว ย่อมได้อานิสงส์ ๔ ประการอันสมควรแก่กรรมของเรา คือ เราย่อมได้ความหนักในพระสัทธรรม ๑ย่อมระลึกถึงภพที่สองได้ ๑ เป็นผู้มีฉวีวรรณงามในที่ทั้งปวง ๑ เพราะผลอันหลั่งออกแห่งกรรมนั้น


    เราได้ถวายประคตเอวในพระชินเจ้าและในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว ย่อมได้เสวยอานิสงส์ ๖ ประการ อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ เราย่อมไม่หวั่นไหวในสมาธิ ๑ เป็นผู้มีความชำนาญใน สมาธิ ๑ มีบริษัทไม่แตกกัน ๑ มีถ้อยคำอันมหาชนเชื่อถือทุกเมื่อ ๑มีสติตั้งมั่น ๑ ความสะดุ้งกลัวไม่มีแก่เรา ๑ คุณเหล่านี้ ติดตามเราไปทั้งในเทวโลกและมนุษยโลก



    ...อานิสงส์ของการถวายของพระปิลินทวัจฉะนั้นมีมาก หากท่านใดต้องการร่วมบุญ ขอเชิญลงข้อความต่อจากบรรทัดนี้ สำหรับท่านที่เข้ามาในภายหลังได้อ่านต่อ หรืออ่านข้อความต่อจากลิ้งค์นี้ได้ต่อไป ขออนุโมทนาทุกท่านและขอบพระคุณครับ





    เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๒ บรรทัดที่ ๗๙๒๕ - ๘๒๘๗. หน้าที่ ๓๖๕ - ๓๗๘.
    http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=32&A=7925&Z=8287&pagebreak=0

    เราได้ถวาย เชิงรองบาตร ในพระชินเจ้าและในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่มีภัยในเพราะวรรณะ ๕ ไม่หวั่นไหวด้วยอะไรๆ ธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่งอันเป็นเครื่องตรัสรู้ญาณด้วยสติ เราฟังแล้ว ธรรมที่เราทรงไว้ย่อมไม่พินาศ เป็นอันวินิจฉัยดีแล้ว

    เราได้ถวาย ภาชนะ และเครื่องบริโภค ในพระพุทธเจ้าและในคณะสงฆ์ผู้อุดมแล้ว ย่อมได้เสวยอานิสงส์ ๓ ประการ อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ เราย่อมได้ภาชนะทองคำ ภาชนะแก้วมณี ภาชนะแก้วผลึก และภาชนะแก้วทับทิม ๑ ภริยา คนใช้ชายหญิง พลช้าง พลม้า พลรถ พลเดินเท้าและหญิง มีวัตร ยำเกรงนาย ๑ ได้เครื่องบริโภคทุกเวลา ๑ วิชาในบทมนต์ และในอาคมต่างๆ เป็นอันมาก เราย่อมใคร่ครวญศิลปะทั้งปวงใช้ได้ทุกเวลา

    เราได้ถวาย ขัน ในพระสุคตเจ้าและในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว ย่อมได้เสวยอานิสงส์ ๓ ประการ อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ เราย่อมได้ขันทองคำ ขันแก้วมณี ขันแก้วผลึก และขันแก้วทับทิม ย่อมได้ขัน อสฺสฏ..เก ผลมเย อโถ โปกฺขรปตฺตเก มธุปานกสงฺเข จ ย่อมได้คุณเหล่านี้ คือ ข้อปฏิบัติในวัตรอันงาม ในอาจาระและกิริยา เพราะผลอันหลั่งออกแห่งกรรมนั้น

    เราได้ถวาย เภสัช ในพระสุคตเจ้าและในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว ย่อมได้อานิสงส์ ๑๐ ประการ อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ เราเป็นผู้มีอายุยืน ๑ มีกำลัง ๑ มีปัญญา ๑ มีวรรณะ ๑ มียศ ๑ มีสุข ๑ ไม่มีอันตราย ๑ ไม่มีจันไร ๑ มหาชนยำเกรงทุกเมื่อ ๑ เราไม่มีความพลัดพรากจากของที่รัก ๑ เพราะกรรมนั้นให้ผลแก่เรา

    เราได้ถวาย รองเท้า ในพระชินเจ้าและในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว ย่อมได้อานิสงส์ ๓ ประการ อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ ยาน ช้าง ยานม้า วอ ย่อมไหลมาเทมา ๑ รถ ๖ หมื่นคันแวดล้อมเราทุกเมื่อ ๑ เมื่อเราท่องเที่ยวอยู่ในภพ รองเท้าแก้วมณี รองเท้าทองแดง รองเท้าทองคำ รองเท้าเงิน ย่อมเกิดขึ้นในขณะที่ยกเท้าขึ้น ๑ บุญกรรมทั้งหลายย่อมช่วยชำระอาจารคุณให้สะอาดแน่นอน เราย่อมได้คุณเหล่านี้ เพราะกรรมนั้นให้ผล

    เราได้ถวาย เขียงเท้า ในพระสุคตเจ้าและในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว ได้สวมเขียงเท้ามีฤทธิ์แล้วอยู่ได้ตามปรารถนา

    เราได้ถวาย ผ้าเช็ดหน้า ในพระสุคตเจ้าและในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว ย่อมได้เสวยอานิสงส์ ๕ ประการ อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ เราเป็นผู้มีผิวพรรณดุจทองคำปราศจากธุลี ๑ มีรัศมีผ่องใส ๑ มีเดช ๑ ตัวของเราละเอียดอ่อน ๑ ฝุ่นละอองไม่ติดตัวเรา ๑ เราได้คุณเหล่านี้เพราะกรรมนั้นให้ผล


    เราได้ถวาย ไม้เท้าคนแก่ ในพระสุคตเจ้าและในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว ย่อมได้อานิสงส์ ๕ ประการ อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ เรามีบุตรมาก ๑ เราไม่มีความสะดุ้งกลัว ๑ เป็นผู้อันอารักขาทุกอย่างรักษาไว้ ใครๆ ข่มขี่ไม่ได้ทุกเมื่อ ๑ ย่อมไม่รู้สึกความพลั้งพลาด ๑ ใจของเราไม่ขลาดกลัว ๑

    เราได้ถวาย ยาหยอดตา ในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว ย่อมได้เสวยอานิสงส์ ๘ ประการ อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ เราเป็นผู้มีนัยน์ตากว้างใหญ่ ๑ โลหิตของเราขาว ๑ เหลือง ๑ เป็นผู้มีนัยน์ตาไม่มัว ๑ มีนัยน์ตาแจ่มใส ๑ เว้นจากโลกตาทั้งปวง ๑ ย่อมได้ตาทิพย์ ๑ ได้ปัญญาจักษุอันสูงสุด ๑ เราได้คุณเหล่านี้เพราะกรรมนั้นให้ผล

    เราได้ถวาย ลูกกุญแจ ในพระสุคตเจ้าและในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว ย่อมได้ลูกกุญแจ คือ ญาณอันเป็นเครื่องเปิดทวารธรรม

    เราได้ถวาย เรือนกุญแจ ในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว ย่อมได้เสวยอานิสงส์ ๒ ประการ อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ เมื่อเราท่องเที่ยวอยู่ในภพ เป็นผู้มีความโกรธน้อย ๑ ไม่มีความคับแค้น ๑

    เราได้ถวาย สายโยค ในพระสุคตเจ้าและในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว ย่อมได้เสวยอานิสงส์ ๕ ประการ อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ เราย่อมไม่หวั่นไหวในสมาธิ ๑ มีความชำนาญในสมาธิ ๑ มีบริษัทไม่แตกกัน ๑ มีถ้อยคำอันมหาชนเชื่อถือทุกเมื่อ ๑ โภคสมบัติย่อมเกิดแก่เรา เมื่อท่องเที่ยวอยู่ในภพ ๑

    เราได้ถวาย กล้องเป่าควัน ในพระชินเจ้าและในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว ย่อมได้เสวยอานิสงส์ ๓ ประการ อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ สติของเราเป็นธรรมชาติตรง ๑ เส้นเอ็นของเราต่อเนื่องกันดี ๑ เราย่อมได้ตาทิพย์ ๑ เพราะกรรมนั้นให้ผล

    เราได้ถวาย ตะเกียงตั้ง ในพระชินเจ้า และในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว ย่อมได้เสวยอานิสงส์ ๓ ประการ อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ เราเป็นผู้มีสกุล ๑ มีอวัยสมบูรณ์ ๑ มีปัญญาอันพระพุทธเจ้าสรรเสริญ ๑ เราได้คุณเหล่านี้เพราะกรรมนั้นให้ผล

    เราได้ถวาย คนโทน้ำและผอบ ในพระพุทธเจ้าและในคณะสงฆ์ผู้อุดมแล้ว ย่อมได้เสวยอานิสงส์ ๑๐ ประการ อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ ในกาลนั้น เราได้เป็นผู้คุ้มครองแล้ว ๑ พร้อมพรั่งด้วยสุข ๑ มียศมาก ๑ มีคติ ๑ มีตัวอันจำแนกไป ๑ เป็นสุขุมาลชาติ ๑ เว้นจากอันตรายทั้งปวง ๑ เป็นผู้ได้คุณอันไพบูลย์ ๑ หวั่นไหวด้วยความนับถือ ๑ มีความหวาดเสียวอันเว้นดีแล้ว ๑ เพราะการถวายคนโทน้ำและผอบ เราได้วรรณะ ๔ ช้างแก้วและม้าแก้ว คุณของเราเหล่านั้นไม่พินาศ ผลนี้ เพราะถวายคนโทน้ำและผอบ

    เราได้ถวาย หตฺถลีลงฺคเก ในพระพุทธเจ้าและในคณะสงฆ์ผู้อุดมแล้ว ย่อมได้เสวยอานิสงส์ ๕ ประการ อันสมควรแก่กรรมของของเรา คือ เราเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยลักษณะทั้งปวง ๑ มีอายุยืน ๑ มีปัญญา ๑ จิตมั่นคง ๑ กายของเราพ้นแล้วจากความยากลำบากทุกอย่างในกาลทั้งปวง ๑

    เราได้ถวาย มีดบางอันลับคมดีและกรรไกร ในสงฆ์แล้ว ย่อมได้ญาณเป็นเครื่องตัดกิเลส อันหาน้ำหนักมิได้ สะอาด เราได้ถวายคีมพระสุคตเจ้าและในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว ย่อมได้ญาณเป็นเครื่องถอนกิเลสอันหาน้ำหนักมิได้ สะอาด <!--MsgFile=4-->


    เราได้ถวาย ยานัตถุ์ ในพระสุคตเจ้าและในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว ย่อมได้เสวยอานิสงส์ ๘ ประการ อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ ศรัทธา ๑ ศีล ๑ หิริ ๑ โอตตัปปะ ๑ สุตะ ๑ จาคะ ๑ ขันติ ๑ และปัญญาเป็นคุณข้อที่ ๘ ของเรา

    เราได้ถวาย ตั่ง ในพระสุคตเจ้าและในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว ย่อมได้เสวยอานิสงส์ ๕ ประการ อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ เราย่อมเกิดในสกุลสูง เป็นผู้มีโภคสมบัติมาก ๑ ชนทั้งปวงยำเกรงเรา ๑ ชื่อเสียงของเราฟุ้งไป ๑ บัลลังก์สี่เหลี่ยมจัตุรัส ย่อมแวดล้อมเราเป็นนิตย์ตลอดแสนกัลป ๑ เราเป็นผู้ยินดีในการจำแนกทาน ๑

    เราได้ถวาย ที่นอน ในพระสุคตเจ้าและในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว ย่อมได้เสวยอานิสงส์ ๖ ประการ อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ เรามีร่างกายสมส่วน อันบุญกรรมก่อให้ เป็นผู้อ่อนโยน มีรูปงาม น่าดู (ดูไม่เบื่อ) เราย่อมได้ญาณอันประเสริฐ นี้เป็นผลแห่งการถวายที่นอน เราย่อมได้นวม ผ้าลวดลายรูปสัตว์ ผ้าลาดทอด้วยไหม ผ้าลาดอันวิจิตร ผ้าลาดอย่างดี และผ้ากัมพลต่างๆ เป็นอันมาก ย่อมได้ผ้าปาวารก์มีขนอ่อนนุ่ม ผ้าทำด้วยขนสัตว์อ่อนนุ่ม ในที่ต่างๆ นี้เป็นผลแห่งการถวายที่นอน เมื่อใด เราระลึกถึงตน เมื่อใด เราเป็นผู้รู้เดียงสา เมื่อนั้น เราเป็นผู้ไม่เปล่า มีฌานเป็นเตียงนอน นี้เป็นผลแห่งการถวายที่นอน

    เราได้ถวาย หมอน ในพระชินเจ้าและในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว ย่อมได้เสวยอานิสงส์ ๖ ประการ อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ เราย่อมยังศีรษะของเรา ให้หนุนบนหมอนอันยัดด้วยขนสัตว์ หมอนยัดด้วยเกษรบัวหลวง และยัดด้วยจันทน์แดงทุกเมื่อ ๑ เรายังญาณให้เกิดในอัฏฐังคิกมรรคอันประเสริฐ และในสามัญผล ๔ เหล่านั้นแล้ว ย่อมอยู่ตลอดกาลเป็นนิตย์ ๑ ยังญาณให้เกิดในทาน ทมะ สัญญมะ อัปปมัญญา และรูปฌานเหล่านั้น แล้ว ย่อมอยู่ตลอดกาลทั้งปวง ๑ ยังญาณให้เกิดในวัตรคุณ รูปปฏิมา และในอาจารกิริยาแล้ว ย่อมอยู่ในกาลทั้งปวง ๑ ยังญาณให้เกิดในการจงกรม ความเพียรอันเป็นประธาน และในโพธิปักขิยธรรมเหล่านั้นแล้ว ย่อมอยู่ตามปรารถนา ๑ ยังญาณให้เกิดในศีล สมาธิ ปัญญาวิมุติ และในวิมุตติญาณทัสสนะเหล่านั้นแล้ว ย่อมอยู่เป็นสุข ๑

    เราได้ถวาย ตั่งแผ่นกระดาน ในพระชินเจ้า และในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้วย่อมได้เสวยอานิสงส์ ๒ ประการ อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ เราย่อมได้บัลลังก์อันประเสริฐ อันทำด้วยทอง แก้วมณี และทำด้วยงาช้างสารเป็นอันมาก นี้เป็นผลแห่งการถวายตั่งแผ่นกระดาน

    เราได้ถวาย ตั่งรองเท้า ในพระชินเจ้าและในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว ย่อมได้ เสวยอานิสงส์ ๒ ประการ อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ เราย่อมได้ยวดยานเป็นอันมาก นี้เป็นผลแห่งการถวายตั่งรองเท้า ๑ ทาสหญิงชาย ภรรยา และคนอาศัยเลี้ยงชีวิตเหล่าอื่น ย่อมบำเรอเราโดยชอบ นี้เป็นผลแห่งการถวายตั่งรองเท้า ๑

    เราได้ถวาย น้ำมันสำหรับทาเท้า ในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว ย่อมได้เสวยอานิสงส์ ๕ ประการ อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ ความที่เราเป็นผู้ไม่ป่วยไข้ ๑ มีรูปงาม ๑ เส้นเอ็น (ประสาท) รับรสได้เร็ว ๑ ความได้ข้าวและน้ำ ๑ ได้อายุยืนนานเป็นที่ห้า ๑

    เราได้ถวาย เนยใสและน้ำมัน ในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว ย่อมได้เสวยอานิสงส์ ๕ ประการ อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ เราเป็นผู้มีกำลัง ๑ มีรูปสมบูรณ์ ๑ เป็นผู้ร่าเริงทุกเมื่อ ๑ มีบุตรทุกเมื่อ ๑ และเป็นผู้ไม่ป่วยไข้ทุกเมื่อ ๑ นี้เป็นผลแห่งการถวายเนยใสและน้ำมัน

    เราได้ถวาย น้ำบ้วนปาก ในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว ย่อมได้เสวยอานิสงส์ ๕ ประการ อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ เราเป็นผู้มีลำคอบริสุทธิ์ ๑ มีเสียงไพเราะ ๑ เว้นจากโรคไอ ๑ โรคหืด ๑ กลิ่นดอกอุบลฟุ้งออกจากปากของเราทุกเมื่อ ๑

    เราได้ถวาย นมส้ม อย่างดีในพระพุทธเจ้าและคณะสงฆ์ผู้อุดมแล้ว ได้บริโภคภัตอันไม่ขาดสาย คือ กายคตาสติอันประเสริฐ

    เราได้ถวาย น้ำผึ้ง อันประกอบด้วยสี กลิ่นและรสในพระชินเจ้าและในคณะสงฆ์แล้วย่อมได้รส คือ วิมุติอันไม่มีรสอื่นเปรียบ ไม่เป็นอย่างอื่น เราได้ถวายรสตามเป็นจริงในพระพุทธเจ้าและในคณะสงฆ์ผู้อุดมแล้ว ย่อมได้ เสวยผล ๔ ประการ อันสมควรแก่กรรมของเรา

    เราได้ถวาย ข้าวและน้ำ ในพระพุทธเจ้าและในคณะสงฆ์ผู้อุดมแล้ว ย่อมได้เสวยอานิสงส์ ๑๐ ประการ อันสมควรแก่กรรมของเรา คือเราเป็นผู้มีอายุยืน ๑ มีกำลัง ๑ เป็นนักปราชญ์ ๑ มีวรรณะ ๑ มียศ ๑ มีสุข ๑ เป็นผู้ได้ข้าว ๑ น้ำ ๑ เป็นคนกล้า ๑ มีญาณรู้ทั่ว ๑ เมื่อเราท่องเที่ยวอยู่ในภพ ย่อมได้คุณเหล่านี้

    เราได้ถวาย ธูป ในพระสุคตเจ้า และในคณะสงฆ์ผู้ประเสริฐสุดแล้ว ย่อมได้เสวยอานิสงส์ ๑๐ ประการ อันสมควรแก่กรรมของเรา คือ เมื่อเราท่องเที่ยวอยู่ในภพน้อยใหญ่ เป็นผู้มีกลิ่นตัวหอมฟุ้ง ๑ มียศ ๑ มีปัญญาเร็ว ๑ มีชื่อเสียง ๑ มีปัญญาคมกล้า ๑ มีปัญญากว้างขวาง ๑ มีปัญญาร่าเริง ๑ มีปัญญาลึกซึ้ง ๑ มีปัญญาเครื่องแล่นไปไพบูลย์ ๑ เพราะผลการถวายธูปนั้น บัดนี้ เราเป็นผู้บรรลุนิพพานอันเป็นสันติสุข ๑


    การที่เราได้มาในสำนักพระพุทธเจ้าของเรานี้ เป็นการมาดีแล้วหนอ วิชชา ๓ เราบรรลุแล้วโดยลำดับ พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ถอนภพขึ้นได้ทั้งหมดแล้ว ตัดกิเลสเครื่องผูกดุจช้างตัดเชือกแล้ว เป็นผู้ไม่มีอาสวะอยู่ คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ เราทำให้แจ้งชัดแล้ว พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้. ทราบว่า ท่านพระปิลินทวัจฉเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล.


    จบ ปิลินทวัจฉเถราปทาน.

    http://www.pantip.com/cafe/religious/topic/Y5204500/Y5204500.html

     

แชร์หน้านี้

Loading...