สติปัฏฐานสี่ตามแนววิชชาธรรมกาย

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย นโมพุทธายะ๕, 21 สิงหาคม 2014.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,875
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,146
    ค่าพลัง:
    +70,543
    (ต่อจากโพสข้างบน)

    การเจริญจิตตานุปัสสนา เห็นจิตในจิต ตามแนววิชชาธรรมกาย




    ให้ท่านผู้ปฏิบัติรวมใจของทุกกายให้หยุดอยู่ ณ ศูนย์กลางกายธรรมที่ละเอียดที่สุด แล้วให้ญาณ หรือ ตาพระธรรมกายเพ่งลงไปที่กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์

    หยุดนิ่ง ให้ดวงเห็น(รับ) ดวงจำ ดวงคิด ดวงรู้หยุดนิ่งเป็นจุดเดียวกันทั้งหมด

    แล้วตรวจพิจารณารอบๆดวงรู้ ก็จะเห็นเครื่องหุ้มของรู้อยู่รอบๆรู้ หนาประมาณ ๑ กระเบียด มีลักษณะสัญฐานกลมประมาณเท่าเมล็ดพริกไทยสีดำ มัวๆ ถ้าเป็นผู้มีกิเลสมาก ก็จะเห็นเป็นสีดำเข้มมาก ถ้าเป็นผู้มีกิเลสน้อยก็จะเห็นเป็นสีมัวๆฝ้าๆเหมือนกระจกฝ้า เครื่องหุ้ม"รู้"อยู่รอบนอกดวงรู้(ดวงวิญญาณ หรือที่เรียกว่าตัวรู้)นี้เองคือ "อวิชชานุสัย"


    ทีนี้ก็ให้ตรวจพิจารณาดูรอบๆดวงคิด หรือ"ดวงจิต" ก็จะเห็นเครื่องหุ้มของคิดมีลักษณะสัญฐานกลม โตประมาณเท่าลูกตาดำหนาประมาณ ๑ กระเบียด สีมัวๆ หุ้มดวงคิด(จิต)อยู่รอบนอก คือ "กามราคานุสัย" สำหรับผู้มีกามราคะกล้า ก็จะเห็นเป็นสีเข้มมาก ถ้ามีกามราคะเบาบางลงมากแล้ว ก็จะเห็นสีมัวๆฝ้าๆ

    เมื่อพิจารณาผ่านไปยังดวงจำและดวงเห็น(รับ) ก็จะเห็นเครื่องหุ้มของเห็นและจำอยู่โดยรอบ มีสัญฐานกลมประมาณเท่าลูกตาขาวทั้งหมด สีดำมัวๆ หนาประมาณ ๑ กระเบียด คือ "ปฏิฆานุสัย" ผู้ที่มีกิเลสประเภทเจ้าโทสะ ก็จะเห็นเป็นสีดำเข้มมาก ถ้ามีกิเลสประเภทโทสะน้อย ก็จะเห็นเป็นสีจางๆมัวๆ

    ตามนัยที่พิจารณานี้ เป็นการพิจารณาจากละเอียดมาหาหยาบ ที่เรียกว่า ปฏิโลม คือจากตัวรู้มาหาตัวเห็น(รับ)




    แต่ถ้าพิจารณาจากหยาบไปหาละเอียดเป็น อนุโลม ก็จะเห็นว่า ปฏิฆานุสัย หุ้มเห็นและจำอยู่ชั้นนอก เหมือนลูกตาขาว, กามราคานุสัย ก็หุ้มคิด(จิต)อยู่ชั้นกลางเข้าไปเหมือนลูกตาดำ, และอวิชชานุสัย ก็หุ้มตัวรู้(วิญญาณ)อยู่ชั้นในเข้าไปอีก เหมือนแววตาดำฉะนั้น

    เนื่องด้วยอนุสัยทั้งสาม คือ ปฏิฆานุสัย กามราคานุสัย และอวิชชานุสัยนี้ต่างก็หุ้ม เห็น จำ คิด รู้ เป็นไส้กัน คือในกลางของกลาง เป็นชั้นๆกันเข้าไปในจิต นี้ประการหนึ่ง, และตัวอนุสัยกิเลสเอง ก็เกิดจากความนอนเนืองของกิเลส ทั้งหยาบ กลาง ละเอียด ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมอกุศลจิตที่ฟุ้งซ่านออกไปรับ-ไปยึด ไปเกาะอารมณ์ภายนอกที่ถูกใจบ้าง ที่ไม่ถูกใจบ้าง และที่เฉยๆบ้าง แล้วประกอบกรรมที่เป็นอกุศลด้วย กาย วาจา ใจ ไปโดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือเพราะความมืดมน ไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษ หรือไม่รู้จักทางเจริญ ทางเสื่อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิเลสประเภทโมหะและมิจฉาทิฏฐิ ได้แก่ความหลงผิด เห็นผิด ความไม่รู้แจ้ง แล้วหมักหมมนอนเนื่องอยู่ในจิตสันดาน นี้อีกประการหนึ่ง

    การกำจัดหรือปหานอนุสัยกิเลสเหล่านี้ จึงต้องกระทำที่จิตใจ อันประกอบด้วย เห็น(รับ) จำ คิด รู้ ซึ่งเป็นชุมทางของกิเลสนั่นเอง

    กล่าวคือ ผู้ถึงธรรมกายแล้ว ก็ให้หมั่นพิสดารกายไปสู่สุดละเอียดอยู่เสมอ หรือให้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของใจรวมหยุดอยู่ ณ ศูนย์กลางกายธรรมที่สุดละเอียด ทุกอริยาบถ ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน ก็ให้เห็นละเอียดอยู่เสมอ เห็นดำหรือขุ่นมัวก็รู้แล้วละจนใสสะอาดทันที เพราะดำหรือขุ่นมัวนั้นก็คือ ธรรมฝ่ายอกุศลและอัพยากฤต ซึ่งกำลังแทรกซ้อนเข้ามาในจิตใจ เอิบอาบ ซึมซาบ ปนเป็น เข้ามาในจิตใจ จึงต้องมี"สติพิจารณาเห็นจิตในจิต"เป็นภายในแล้วเร่งกำจัดเพื่อชำระจิตใจให้ใสสะอาดบริสุทธิ์อยู่เสมอ โดยให้รวมใจหยุดในหยุดกลางของหยุดในหยุด กลางของกลางๆๆลงไป ณ ที่ศูนย์กลาง เห็น จำ คิด รู้ นั่นแหละ

    พอใจหยุดนิ่งได้ถูกส่วนเข้า จิตดวงเดิมซึ่งตั้งอยู่ในท่ามกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์หยาบก็ตกสูญ ลงไปยังฐานที่ ๖ แนวสะดือ เมื่อจิตดวงเดิมว่างหายไป จิตดวงใหม่พร้อมด้วยดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียดก็จะบังเกิดขึ้นมาแทนที่ เครื่องหุ้ม เห็น จำ คิด รู้ คือ ปฏิฆานุสัย กามราคานุสัย และอวิชชานุสัย ก็จะจางลงและกลับใสละเอียด บริสุทธิ์ยิ่งขึ้นกว่าเดิม ทำให้ดวงเห็น จำ คิด รู้ของกายมนุษย์ละเอียดขยายส่วนโตขึ้นกว่าของกายมนุษย์หยาบ คือโตขึ้นเป็นประมาณสองเท่าของไข่แดงของไข่ไก่

    ทีนี้ก็ให้ใจของกายมนุษย์ละเอียดรวมหยุดนิ่งลงไปที่ตรงกลางเห็น จำ คิด รู้ ของกายมนุษย์ละเอียดต่อไป พอใจหยุดถูกส่วนเข้า จิตดวงเดิมพร้อมด้วยดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียดนั้นก็ตกสูญว่างหายไปอีก แล้วจิตดวงใหม่พร้อมด้วยดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ก็ปรากฎขึ้นแทนที่ เครื่องหุ้มเห็น จำ คิด รู้ คือปฏิฆานุสัย กามราคานุสัย และอวิชชานุสัยของทิพย์ก็จางลง ใสละเอียดและสะอาดบริสุทธิ์ยิ่งกว่าของกายมนุษย์ละเอียด ดวงเห็น จำ คิด รู้ก็ขยายส่วนโตขึ้นไปอีก เป็นประมาณสามเท่าของไข่แดงของไข่ไก่... พอใจหยุดนิ่งถูกส่วน จิตดวงเดิมและดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ก็ตกสูญ ว่างหายไป ปรากฎดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ละเอียด เป็นไปในลักษณะนี้ตามลำดับในกายต่างๆ กายรูปพรหม กายรูปพรหมละเอียด กายอรูปพรหม

    จนถึงใจของกายอรูปพรหมละเอียด หยุดนิ่งลงไปที่กลางเห็น จำ คิด รู้ ตรงกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหมละเอียดต่อไปอีก พอใจหยุดถูกส่วนเข้า ก็จะตกสูญพร้อมด้วยดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหมละเอียด ว่างหายไป แล้วจะเห็นจิตของธรรมกายโคตรภู พร้อมด้วยดวงธรรมของธรรมกายโคตรภู ก็ปรากฎขึ้นแทนที่ อวิชชานุสัย เครื่องหุ้มรู้ ก็ยิ่งใสละเอียดยิ่งขึ้น และกลับเป็น"วิชชา" ธรรมเครื่องช่วยให้รู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรมและสภาวะที่แท้จริงของธรรมชาติ ทั้งที่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง และไม่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่งตามความเป็นจริง ดวงเห็น ดวงจำ ดวงคิด ดวงรู้ ก็ขยายขึ้นโตเต็มส่วนเท่าหน้าตักและความสูงของธรรมกาย

    "กาย กับ ใจ" ของธรรมกายก็กลับเป็น ปฐมมรรค เป็นเนื้อหนังที่แท้จริง รวบยอดกลั่นออกมาจากพระวินัยปิฎก(สภาวะ) ดวงศีล ก็เป็นอธิศีลไป คือศีลยิ่งอย่างแท้จริง กาย วาจา ใจตลอดทั้งเจตนา ความคิดอ่านทั้งหลาย เป็นอันสะอาดบริสุทธิ์ทั้งหมด

    "จิต" ก็กลับเป็น มรรคจิต เป็นเนื้อหนังอันแท้จริง รวบยอดกั่นมาจากพระสุตตันตปิฎก(สภาวะ) เป็น อธิจิต คือ จิตอันยิ่งแท้ๆ

    "ตัวรู้"หรือ"วิญญาณ" ก็เป็น มรรคปัญญา เป็น ญาณ เพราะอวิชชานุสัย เครื่องหุ้มของรู้จางลงมาก จึงใสละเอียดบริสุทธิ์จากเครื่องเศร้าหมองมาก และขยายโตเต็มส่วนของธรรมกาย มรรคปัญญานี้เป็นเนื้อหนังที่แท้จริง รวบยอดกลั่นออกมาจากพระอภิธรรมปิฎก(สภาวะ) จึงเป็น อธิปัญญาแท้ๆ

    กายธรรมนี้เองคือพุทธรัตนะ ดวงธรรมของธรรมกาย คือ ธรรมรัตนะ และกายธรรมละเอียดๆในท่ามกลางพุทธรัตนะนี้คือ สังฆรัตนะ

    ก็ให้ใจของกายธรรมหยุดในหยุด ลงไปที่กลางของกลางๆๆ ต่อๆไปอีก ก็จะถึงจิตและดวงธรรมของกายธรรมที่ละเอียดๆต่อไป คือ ธรรมกายโคตรภูละเอียด, ธรรมกายโสดาบัน, ธรรมกายโสดาบันละเอียด, ธรรมกายสกิทาคามี, ธรรมกายสกิทาคามีละเอียด, ธรรมกายอนาคามี, ธรรมกายอนาคามีละเอียด, ธรรมกายอรหัตต์, ธรรมกายอรหัตต์ละเอียด ซึ่งใสละเอียด บริสุทธิ์จาก
    เครื่องหุ้มฝ่ายอกุศลทั้งปวง ดวงธรรมของธรรมกายก็ขยายส่วนโตขึ้นไป ตามลำดับยิ่งดำเนินไปสุดละเอียดเพียงใด จิตใจก็จะยิ่งใสสะอาดบริสุทธิ์จากเครื่องเศร้าหมองยิ่งขั้นไปเพียงนั้น

    ทั้งหมดนี้ คือการเจริญภาวนาพิจารณาสภาวะของจิตให้รู้จริงเห็นจริงตามธรรมชาติ พร้อมด้วยถอนอนุสัยกิเลสจากจิตของกายหยาบ ไปสู่จิตที่ละเอียดยิ่งกว่า จนถึงโลกุตตรจิต คือจิตของธรรมกายซึ่งเป็นกายในกายที่สุดละเอียด พ้นจากกายในภพสามนี้ตั้งแต่กายที่เก้าเป็นต้นไปจนสุดละเอียด ช่วยให้ปัญญาหยั่งรู้เจริญขึ้นอย่างรวดเร็วจากการที่ได้ทั้งรู้และทั้งเห็น พร้อมด้วยวิชชา ได้แก่ วิชชาสาม วิชชาแปด ที่จะใช้ปหานอวิชชาอันเป็นมูลรากฝ่ายเกิดบาปอกุศลทั้งปวงให้หมดสิ้นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

    เพราะฉะนั้น แนวทางปฏิบัติภาวนาตามแนววิชชาธรรมกาย ที่ให้ผู้ปฏิบัติรวมใจหยุดในหยุด กลางของหยุดในหยุด ผ่านกาย เวทนา จิต และธรรม หรือที่เรียกว่า พิสดารกายจนสุดละเอียด

    แล้วก็รวมใจหยุดในหยุดไว้ ณ ศูนย์กลางกายธรรมที่ละเอียดที่สุดที่เข้าถึงอยู่เสมอ อย่างน้อยก็ครึ่งหนึ่งของใจ ให้เห็นใส ละเอียด สะอาดบริสุทธิ์จากเครื่องเศร้าหมองอยู่เสมอนั้น ก็คือการปฏิบัติภาวนาที่ให้ผลเป็นการดับกิเลสจากจิตของกายหยาบไปสู่จิตของกายละเอียด

    ที่เรียกว่า "ดับหยาบไปหาละเอียด"ไปจนสุดละเอียด อันเป็นธรรมเครื่องปหานหรือกำจัดอนุสัยกิเลสที่ละเอียดๆและนอนเนื่องอยู่ในจิตสันดานให้หมดสิ้นไป ด้วยโลกุตตรปัญญา คือมรรคจิตและมรรคปัญญา(โลกุตตรฌานและโลกุตตรวิปัสสนา)อันเจริญขึ้นเมื่อถึงธรรมกายแล้ว

    พร้อมด้วยวิชชา ธรรมเป็นเครื่องช่วยให้รู้แจ้งเห็นจิรงในสัจธรรม และสภาวะของธรรมชาติที่เป็นจริงจากการได้ทั้งรู้และเห็นนั่นเอง


    และในขณะเดียวกัน การเจริญภาวนาดังกล่าวก็มีลักษณะเป็นการถอดขันธ์จากกายโลกียะทั้งแปด ซึ่งเป็นกายที่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง และต้องตกอยู่ในอาณัติแห่งไตรลักษณ์ ไปสู่กายที่ละเอียดกว่า คือ ธรรมขันธ์ ซึ่งเป็นกายที่พ้นภพสามไปแล้ว และไม่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง เป็นอสังขธาตุ อสังขตธรรมล้วนๆ จึงไม่ต้องตกอยู่ในอาณัติแห่งไตรลักษณ์

    ผลจากการเจริญภาวนาดังกล่าวนี้เอง ที่สามารถช่วยให้เจโตวิมุตติ หลุดพ้นจากกิเลสเครื่องร้อยรัดให้ติดอยู่กับโลก ได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน ตามระดับภูมิธรรมที่ปฏิบัติได้ และเสวยสุขจากความสงบด้วยปัญญาอันเห็นชอบต่อไป



    [​IMG]
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 4 ตุลาคม 2014
  2. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,875
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,146
    ค่าพลัง:
    +70,543
    [​IMG]




    เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานทั้งเก้าบรรพ 
     
    เมื่อจะพูดถึงเรื่องเวทนาก็จะต้องพูดเรื่องของจิตด้วย กล่าวคือจิตทำหน้าที่น้อมไปสู่อารมณ์ต่างๆ จึงมีชื่อทางบาลีในที่มากแห่งว่า "สังขาร" ส่วนเวทนา ก็ทำหน้าที่รับอารมณ์และเสวยอารมณ์ที่จิตคิดหรือน้อมไปหา และภายในจิตก็มี"วิญญาณ" ทำหน้าที่รับรู้อารมณ์ และภายในเวทนาก็มี"สัญญา" ทำหน้าที่รวบรวมจดจำอารมณ์ ธรรมชาติ ๔ อย่างนี้ ทำหน้าที่สัมพันธ์กันหมด ประดุจข่ายของใยแมงมุม
     
    พิจารณาขันธ์ ส่วนเห็น จำ คิด รู้
     
    รวม ใจของทุกกายให้หยุดอยู่ ณ ศูนย์กลางกายพระอรหัตละเอียด แล้วหยุดนิ่งไปที่ศูนย์กลางดวงธรรมกายมนุษย์ ตรงกลางดวงกำเนิดเดิมนั้นก็จะเห็นดวงกลมใสๆ ซ้อนกันอยู่เป็นชั้นๆ ตั้งอยู่ในใจนั้นแหละ คือ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ซ้อนกันอยู่เป็นชั้นๆข้างใน ใสละเอียดกว่ากันตามลำเอียด เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ซึ่งเป็นธาตุละเอียดนี้เองที่ขยายส่วนหยาบออกมาเป็น ดวงเห็น ดวงจำ ดวงคิด ดวงรู้ เป็นการทำงานระดับนามธรรม
     
    ดวงเห็น มีขนาดเท่ากับเบ้าตาของกาย ธาตุเห็นอยู่ในท่ามกลางดวงเห็น มีหน้าที่รับอารมณ์ หรือเสวยอารมณ์
     
    ดวงจำ มีขนาดเท่ากับดวงตาของกาย ธาตุจำอยู่ในท่ามกลางดวงจำ มีหน้าที่รวบรวมและจดจำอารมณ์
     
    ดวงคิด มีขนาดเท่ากับตาดำ ธาตุคิดอยู่ในท่ามกลางดวงคิด มีหน้าที่คิด หรือน้อมเข้าสู่อารมณ์ ไม่ว่าจะอยู่ไกลแสนไกล ก็ไปถึงได้
     
    ดวงรู้ มีขนาดเท่ากับแววตาดำข้างใน ธาตุรู้อยู่ในท่ามกลางดวงรู้ มีหน้าที่รู้หรือรับรู้อารมณ์
     
    เห็น จำ คิด รู้ สี่อย่างนี้ที่รวมเรียกว่า "ใจ" เมื่อรวมหยุดเป็นจุดเดียว เรียกว่า เอกัคตารมณ์ หรือ ใจมีอารมณ์เป็นหนึ่ง
     
    พึงพิจารณาต่อไปให้ถี่ถ้วน ก็จะเห็นว่า ในเบญจขันธ์ ก็มีเห็น จำ คิด รู้ ทั้งสี่อย่างนี้เจืออยู่ด้วยหมดทุกกอง
     
    และก็ เห็น จำ คิด รู้ นี้เอง ที่ขยายส่วนหยาบออกมาอีก เป็น กาย ใจ จิต วิญญาณ ของมนุษย์หรือสัตว์ทั้งหลาย
     
    อัน ดวงคิด หรือ จิต นั้น ลอยอยู่ในเบาะน้ำเลี้ยงหัวใจ(ไม่ใช่มังสหทัยหรือหัวใจเนื้อ) อันใสบริสุทธิ์ มีประมาณเท่าหนึ่งซองมือของผู้เป็นเจ้าของ และจิตนี้ โดยสภาพเดิมของมันแล้ว เป็นธรรมชาติอันประภัสสร จึงชื่อว่า "ปัณฑระ" แต่เนื่องจากจิตมักตกในอารมณ์ที่น่าใคร่ และมักน้อมไปสู่อารมณ์ภายนอกอยู่เสมอ จึงเปิดช่องทางให้อุปกิเลสจรมาทำให้จิตใจเศร้าหมอง ขุ่นมัว สีน้ำเลี้ยงของจิตจึงเปลี่ยนสีไปตามสภาพของกิเลสแต่ละประเภทที่จรเข้ามา เป็นต้นว่า เมื่อจิตระคนด้วยโลภะหรือราคะก็จะเป็นสีชมพู เกือบแดง,  เมื่อจิตระคนด้วยโทสะ ก็จะมีสีเกือบดำ, ถ้าจิตระคนด้วยโมหะ ก็จะมีสีขุ่นๆเทาๆ ขึ้นอยู่กับสภาพของอุปกิเลสว่าหนักเบาเพียงใด
     
    นอกจากนี้ อาการลอยตัวของจิตในเบาะน้ำเลี้ยง ก็บอกอาการของจิต กล่าวคือ ถ้า จิตลอยอยู่เหนือระดับน้ำเลี้ยงหทัยมาก แสดงว่า ฟุ้งซ่าน, ถ้าลอยอยู่เหนือน้ำเลี้ยงเล็กน้อย ก็เป็นสภาพธรรมดา, ถ้าลอยปริ่มพอดีกับระดับน้ำเลี้ยง ก็อยู่ในเอกัคคตารมณ์, ถ้าจมลงไปมาก ก็หลับไปเลย เป็นต้น
     
    "จิต"เป็น ธรรมชาติอันรู้ได้เห็นได้ แต่มิใช่เห็นด้วยมังสจักษุหรือตาเนื้อ หากแต่เป็นทิพยจักษุหรือตาละเอียด อันเป็นผลการเจริญสมถภาวนาอันถูกส่วน
     
     
    การพิจารณาอายตนะ ๑๒ และธาตุ ๑๘
     
    เดิน สมาบัติอนุโลม-ปฏิโลม จนจิตอิ่มเอิบแจ่มใสดีแล้ว รวมใจของทุกกายให้หยุดอยู่  ศูนย์กลางกายพระอรหัตละเอียด แล้วก็ขอให้ใจของธรรมกายพระอรหัตละเอียดเพ่งลงไปที่ศูนย์กลางดวงธรรมกาย มนุษย์ ให้เห็นขันธ์ ๕ ส่วนละเอียด ทีนี้ให้เพ่งลงไปที่กลางวิญาณขันธ์ ซึ่งเป็นขันธ์ที่ละเอียดที่สุด ก็จะเห็นธาตุธรรมส่วนละเอียดของอายตนะทั้ง ๑๒ ซ้อนกันอยู่เป็นชั้นๆ เข้าไปข้างใน คือ อายตนะ ตา,หู,จมูก,ลิ้น,กาย,ใจ นี้เป็นธาตุธรรมละเอียดของอายตนะภายใน ๖ กลางอายตนะภายใน ๖ ก็ยังมีธาตุธรรมละเอียดที่ทำหน้าที่เป็นอายตนะภายนอกอีก ๖ คือ รูป,เสียง,กลิ่น,รส,สัมผัส,อารมณ์ทางใจ อายตนะทั้ง ๑๒
     
    บาลีว่า "สฬายตนะ" สัณฐานเป็นดวงกลมใสดวงเล็กๆ ซ้อนกันอยู่ ละเอียดกว่ากันเข้าไปตามลำดับ
     
    ตรง กลางสฬายตนะ ที่สุดละเอียดนี้เอง ยังมีธาตุธรรมละเอียดของธาตุ ๑๘ ซ้อนอยู่อีก คือ ธาตุรับรูป,ธาตุรับเสียง,ธาตุรับกลิ่น,ธาตุรับรส,ธาตุรับสัมผัส,ธาตุรับ อารมณ์ทางใจ รวมเรียกว่าธาตุรับ ๖
     
    ต่อไปก็จะเป็น ธาตุรูป,ธาตุเสียง,ธาตุกลิ่น,ธาตุรส,ธาตุสัมผัส,ธาตุอารมณ์ทางใจ รวมเป็นธาตุกระทบ(เร้า) ๖
     
    ต่อ ไปอีกเป็น ธาตุรับรู้การรับรูป,ธาตุรับรู้การรับเสียง,ธาตุรับรู้การรับรส,ธาตุรับรู้ การรับสัมผัส,ธาตุรับรู้การรับรู้อารมณ์ทางใจ รวมเป็นธาตุประมวลผลอีก ๖
     
    เรา จะเห็นว่า ในธาตุธรรมละเอียดเหล่านี้ ยังมีเห็น จำ คิด รู้ เจืออยู่ด้วยทุกๆดวง เพราะเหตุนี้ ธาตุธรรมทั้งหลายเหล่านี้ แม้จะทำหน้าที่ต่างๆกัน แต่ก็สัมพันธ์กันเป็นอัตโนมัติ ฉะนั้น เมื่อมีอะไรมากระทบ ก็จะกระเทือนไปถึง"ใจ"อันประกอบด้วยเห็น จำ คิด รู้ เป็นต้นว่า เมื่อจิตคิดไปถึงสิ่งที่น่ากำหนัดยินดี และไปยึดมั่นถือมั่น แม้ว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย จะยังมิได้สัมผัสรูป เสียง กลิ้น รส สัมผัส อารมณ์กำหนัดยินดีก็ไม่กระเทือนถึงแต่เฉพาะ"ใจ"เท่านั้น หากแต่จะกระเทือนถึงกายด้วย ทั้งนี้ก็เพราะเหตุว่า "ดวงเห็น" ซึ่งทำหน้าที่รับและเสวยอารมณ์อันเป็นเปลือกนอกของ "ใจ"ทำหน้าที่เป็น "ดวงกาย"ซึ่งขยายส่วนหยาบ เจริญเติบโตออกมาเป็นกาย ซึ่งเป็นที่อาศัยและยึดเกาะของ"ใจ"นั่นเองอีกด้วย
     
    และเนื่อง จาก"ใจ"ตั้งอยู่อาศัยกับขันธ์ ๕ ทั้งในส่วนที่เป็นธาตุธรรมละเอียด และส่วนหยาบ มีอุปาทานยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ เพราะความไม่รู้แจ้ง หรือ "อวิชชา"ครอบคลุมอยู่ เมื่อมีสิ่งหนึ่งอันจะก่อให้เกิดอารมณ์มากระทบส่วนใดส่วนหนึ่งของขันธ์ ๕ นี้ ก็จะรู้สึกสุข ทุกข์ เฉยๆ(อทุกขมสุขเวทนา หรือ ไม่สุข ไม่ทุกข์) โดยจะแสดงออกทางดวงเห็น ดวงจำ ดวงคิด ดวงรู้นี้เอง กล่าวคือ เวลาที่เป็นสุข ก็จะเห็นเป็นใสๆ เวลาทุกข์ ก็จะเห็นเป็นมัวๆขุ่นๆ ถ้าเวลาเฉยๆ ก็จะไม่ใส ไม่ขุ่น กลางๆ
     
     
    การพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา สติพิจารณาเวทนาขันธ์อยู่เนืองๆ มี ๙ บรรพด้วยกัน คือ
     
    ๑. เมื่อรู้รสสุขเวทนา ก็รู้ชัดว่า บัดนี้เรารู้ชัดซึ่งสุขเวทนา
    ๒. เมื่อรู้รสทุกขเวทนา ก็รู้ชัดว่า บัดนี้เรารู้ชัดซึ่งทุกขเวทนา
    ๓. เมื่อรู้รสอทุกขมสุขเวทนา ก็รู้ชัดว่า บัดนี้เรารู้ชัดซึ่งอทุกขมสุขเวทนา (เสวยอารมณ์ไม่ทุกข์ ไม่สุข)
    ๔. เมื่อรู้รสสามิสสสุขเวทนา(สุขอันเจือด้วยอามิส) ก็รู้ชัดว่า บัดนี้เรารู้ชัดซึ่งสุขเวทนาอันมีอามิส
    ๕. เมื่อรู้รสสามิสสทุกขเวทนา(ทุกข์อันเจือด้วยอามิส) ก็รู้ชัดว่า บัดนี้เรารู้ชัดซึ่งทุกขเวทนาอันมีอามิส
    ๖. เมื่อรู้รสสามิสสทุกขมสุขเวทนา(ไม่ทุกข์ ไม่สุขอันเจือด้วยอามิส) ก็รู้ชัดว่า บัดนี้เรารู้ชัดซึ่งทุกขมสุขเวทนาอันมีอามิส
    ๗. เมื่อรู้รสนิรามิสสสุขเวทนา(สุขอันปราศจากอามิส) ก็รู้ชัดว่า บัดนี้เรารู้ชัดซึ่งสุขเวทนาอันไม่มีอามิส
    ๘. เมื่อรู้รสนิรามิสสทุกขเวทนา(ทุกข์อันปราศจากอามิส) ก็รู้ชัดว่า บัดนี้เรารู้ชัดซึ่งทุกขเวทนาอันไม่มีอามิส
    ๙. เมื่อรู้รสนิรามิสสทุกขมสุขเวทนา(ไม่ทุกข์ ไม่สุขอันปราศจากอามิส) ก็รู้ชัดว่า บัดนี้เรารู้ชัดซึ่งทุกขมสุขเวทนาอันไม่มีอามิส
     
    อามิส แปลว่า เครื่องล่อใจ ดังนั้น เรียกว่า สุขเวทนาที่เจือด้วยกามคุณ(เกิดจากรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส) ทุกขเวทนาที่เจือด้วยกามคุณ ฯลฯ
    ส่วน สุขเวทนาที่เกิดขึ้น ด้วยสมถภาวนาหรือวิปัสสนาภาวนาก็ดี ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นจากสภาพแห่งสังขารก็ดี และทุกขมสุขเวทนาซึ่งเกิดมีความสงบจากอารมณ์ของ สมถะหรือวิปัสสนาก็ดี จัดว่าเป็นสุขเวทนา ทุกขเวทนา ทุกขมสุขเวทนาเวทนา ที่ไม่เจือด้วยอามิส
     
    การเสวยเวทนาโดยมีอามิสหรือไม่ก็ตาม ย่อมเปลี่นแปลงแปรผันตามเหตุปัจจัยเสมอๆ อารมณ์ทั้งหลายเหล่านี้ หาได้จีรังไม่ ย่อมเกิดขึ้น และเสื่อมสลายไป เมื่อเห็นเป็นธรรมดาในความเกิดดับของเวทนาแล้ว แม้จะรู้ว่าเวทนามีอยู่ ก็จงระลึกได้ว่า "สักแต่เป็นเวทนา" หามีสาระแก่นสารให้ยึดถืออย่างใดไม่ ทำให้คลายความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์และ สิ่งที่จะก่อให้เกิดอารมณ์ทั้งหลายลง จิตใจก็เบิกบาน เพราะความหลงผิดสิ้นไป กิเลส ตัณหา อุปาทาน ก็ไม่สามารถที่จะเข้ามาย้อมหรือดลจิตให้เป็นไปตามอำนาจของมันได้ เมื่อเหตุแห่งทุกข์ดับ ทุกข์ก็ไม่เกิดขึ้น นี้คือทางแห่งมรรค ผล นิพพาน อันเป็นความว่างเปล่าจากกิเลส อาสวะทั้งปวง
     
     
    วิธีพิจารณาระบบการทำงานของขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ เห็นเวทนาในเวทนา ตามแนววิชชาธรรมกาย
     
          รวมใจของทุกกายหยุด ณ กลางกายธรรมอรหัตละเอียด แล้วเพ่งไปที่กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ หยุด ตรึก นิ่ง ให้ดวงธรรมสว่างไสวทั่วทั้งกาย แล้วพิจารณาทวารทั้ง ๕ คือ จักขุทวาร(ตา) โสตทวาร(หู) ฆานทวาร(จมูก) ชิวหาทวาร(ลิ้น) กายทวาร โดยเริ่มที่ตาก่อน ตรงกลางแววตาทั้งซ้าย-ขวา พิจารณาให้ดีจะเห็น จักขุปสาท ซึ่งทำหน้าที่เป็นจักขุอายตนะ สำหรับรับรูป มีสัณฐานกลมสะอาด ตั้งอยู่ตรงกลางแววตา ตรงกลางจักขุปสาทก็มี จักขุธาตุ ซึ่งละเอียดกว่า ซ้อนอยู่ข้างใน สำหรับเห็นรูป แล้วที่กลางจักขุธาตุก็มี จักขุวิญญาณธาตุ ละเอียดกว่าจักขุธาตุ ซ้อนอยู่อีก สำหรับรู้ว่าเห็นรูปอะไร และมีสายเล็กๆขาวใส บริสุทธิ์ ทอดออกไปจากตรงกลางแววตาทั้งสองข้าง ผ่านขึ้นไปสมอง ศีรษะ แล้วหยั่งไปในเยื่อพื้นหลัง ลงไปรวมจรดอยู่ที่กลางขันธ์ ๕ ตรงกำเนิดธาตุธรรมเดิม
     
    อะไรทำให้เห็น?
     
    เวลา ที่จักขุอายตนะ กับ รูปายตนะ กระทบกัน (เมื่อสายตากระทบรูป) ก็จะมีดวงใส คือส่วนละเอียดของจักขุอายตนะ ซึ่งจะมีจักขุธาตุ จักขุวิญญาณธาตุซ้อนอยู่ แล่นจากศูนย์กลางขันธ์ ๕ ที่ตรงกลางกำเนิดเดิม ขึ้นมาตามสาย ผ่านสมอง มาจรดที่จักขุปสาท ที่ตรงกลางแววตาทั้งซ้ายขวา ซึ่งทำหน้าที่รับรูป แล้วนำรูปนั้นแล่นผ่านสมอง ตามสายกลับมาที่กลางขันธ์ ๕ ตรงกำเนิดธาตุธรรมเดิม เป็นไปอย่างรวดเร็วมากการเห็นรูปก็เกิดขึ้นตั้งแต่ดวงกลมขาวใส มาจรดที่กลางจักขุปสาท ที่กลางแววตา เพราะที่กลางจักขุปสาทก็มีจักขุธาตุสำหรับเห็นรูป และมีจักขุวิญญาณธาตุ สำหรับรับรู้ว่าเป็นรูปอะไร ซ้อนอยู่ด้วยแล้ว และการเห็นนี้ ไม่เฉพาะแต่ที่ตรงกลางแววตาเท่านั้น หากแต่เห็นไปถึง"ใจ" อันประกอบด้วย เห็น จำ คิด รู้ เป็นอัตโนมัติ เพราะเหตุที่ดวงกลมใสที่แล่นขึ้นมารับรูปจากตา กลับไปสู่กลางขันธ์ ๕ ที่กำเนิดธาตุธรรมเดิม ก็คือธาตุธรรมละเอียดของจักขุอายตนะ ซึ่งทำหน้าที่รับรูป และจักขุธาตุซึ่งทำหน้าที่เห็นรูป และจักขุวิญญาณธาตุที่ทำหน้าที่รับรู้ว่ารูปอะไร มีลักษณะ สี สัณฐานอย่างไร ซ้อนอยู่ด้วยอีกเช่นกัน
     
    และนอกจากนี้ ในธาตุธรรมละเอียดเหล่านี้ ก็ยังมี ดวงเห็น ดวงจำ ดวงคิด ดวงรู้ เจืออยู่ด้วยทุกดวง จึงทำหน้าที่เกี่ยวเนื่องกันโดยตลอดเป็นอัตโนมัติ เพราะเมื่อตากระทบรูปนั้น รูปธาตุย่อมผ่านเห็น จำ คิด รู้เสมอ
     
    อนึ่ง ดวงรู้ของสัตว์ที่ยังไม่บรรลุโลกุตตรธรรมนั้นมี อวิชชานุสัย ห่อหุ้มหนาแน่น ส่วนดวงเห็นกับดวงจำก็มี ปฏิฆานุสัย ห่อหุ้มอยู่ และดวงคิดก็มี กามราคานุสัย ห่อหุ้มอยู่ จึงไม่ขยายโตเต็มส่วนเหมือนกายธรรม (จึงทำให้ทัสสนะไม่บริสุทธิ์เหมือนกายธรรม)
     
    เพราะฉะนั้น เวลาที่สายตากระทบรูป ถ้าเป็นรูปที่ถูกอารมณ์น่ายินดี เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ในสภาวะจริงของธรรมชาติตามที่เป็นจริง ซึ่งกล่าวโดยย่อว่า อวิชชา จิตใจจึงมักเลื่อนลอยตามอารมณ์นั้น ทำให้รู้สึกเป็นสุขตา-สุขใจไปตามอารมณ์ที่น่าพอใจนั้น เรียกว่าเกิด สุขเวทนา หรือ โสมนัสเวทนา ในกรณีเช่นนี้ ก็จะเห็น"ใจ"มีลักษณะใส
     
    แต่ ถ้าเป็นรูปที่ไม่น่าพอใจ และปล่อยใจคล้อยไปตามอารมณ์ที่ว่านั้น ก็จะเกิดความไม่สบายตา-ไม่สบายใจ หรือที่เรียกว่าเป็นทุกขเวทนาหรือโทมนัสเวทนา ในกรณีเช่นนี้ก็จะเห็น"ใจ"มีลักษณะขุ่นมัว
     
    ทีนี้ ถ้าหากจิตใจไม่ได้รับการอบรมให้สงบ ให้หยุด ให้นิ่ง ปล่อยใจให้เคลิบเคลิ้มไปในอารมณ์ต่างๆนี้มากๆเข้า กิเลสที่สะสมหมักดองอยู่ในจิตใจ ได้แก่ กามราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อวิชชานุสัย ก็จะฟุ้งขึ้นมาครอบคลุมจิตใจย้อมจิตย้อมใจให้เป็นไปตามสภาพของมัน ด้วยเหตุนี้ สีน้ำเลี้ยงของจิตซึ่งถูกเจือด้วยกิเลสนั้น เปลี่ยนสีจากที่เคยขาว ใส สะอาด เป็นสีต่างๆตามสภาพกิเลสที่จรมาผสม เป็นต้นว่าจิตที่ประกอบด้วยกามตัณหา และภวตัณหา หรือรวมเรียกว่า โลภะ-ราคะ ก็จะเห็นเป็นสีชมพู จนถึงเกือบแดง, จิตที่ระคนด้วยวิภวตัณหา หรือโทสะ ก็จะเป็นสีเขียวคล้ำ จนเกือบดำ, และจิตที่ระคนด้วยโมหะ ก็จะเห็นเป็นสีขุ่นเหมือนตม หรือเกือบเทา เป็นต้น
     
    นอกจากนี้ อาการที่จิตฟุ้งออกไปรับอารมณ์ภายนอกมากเพียงใด ก็จะเห็นจิต คือ ดวงคิดลอยอยู่เหนือน้ำเลี้ยงหทยรูปมากขึ้นเพียงนั้น การเห็นลักษณะของใจตนเองที่เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ก็ดี โดยจะเห็นดวงใสหรือขุ่นหรือปานกลางนั้น เรียกว่า เห็นเวทนาในเวทนา เป็นภายใน แต่ถ้าเห็นเวทนาของผู้อื่น ก็เรียกว่า เห็นเวทนาในเวทนา เป็นภายนอก ซึ่งเป็นลักษณะของการเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
     
    ส่วน การเห็นสภาวะของจิตของตนว่าระคนด้วยกิเลส โดยเห็นสีน้ำเลี้ยงที่เปลี่ยนไปตามสภาวะกิเลสที่เข้ามาผสมก็ดี หรือเห็นว่าจิตฟุ้งซ่าน หรือสงบ โดยอาการลอยของจิตในเบาะน้ำเลี้ยงหทยรูปในลักษณะต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วก็ดี เรียกว่า เห็นจิตในจิต เป็นภายใน และถ้าเห็นสภาวะจิตของผู้อื่น ก็เรียกว่า เห็นจิตในจิต เป็นภายนอก ซึ่งเป็นลักษณะของการเจริญจิตตานุปัสสนสติปัฏฐาน
     
    การเจริญภาวนาตามแนววิชชาธรรมกาย ช่วยให้ผู้ปฏิบัติสามารถเจริญปัญญา จากการที่ได้ทั้งรู้และทั้งเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิตเป็นทั้งภายในและภายนอก ดังนี้จึงควรที่สาธุชนจะพึงเจริญให้มาก
     
    ในลำดับนี้ จะได้แนะนำวิธีพิจารณาที่โสตทวาร ฆานทวาร ชิวหาทวาร กายทวาร และมโนทวารต่อไป
     
    สำหรับ ผู้ถึงธรรมกายแล้ว ให้รวมใจของทุกกายให้หยุดอยู่ ณ ศูนย์กลางกายธรรมอรหัตละเอียด แล้วให้ญาณพระธรรมกายเพ่งลงไปที่กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ หยุดในหยุด ตรึกในตรึก นิ่งในนิ่ง ให้ดวงธรรมนั้นใสสว่าง ขยายโตขึ้นจนเห็นใสสว่างหมดทั้งกาย แล้วเริ่มพิจารณาที่โสตทวาร(หู)ก่อน
     
    ที่ตรงกลางแก้วหูทั้งซ้ายและขวานั้น จะเห็นมี"โสตปสาท" ซึ่งทำหน้าที่เป็น "โสตายตนะ" คือ อายตนะหู สำหรับรับเสียง มีลักษณะสัณฐานกลมใส สะอาดบริสุทธิ์ ประมาณเท่าขนจามรี ขดเป็นวงซ้อนกันอยู่ ๗ ชั้น ตั้งอยู่ที่ตรงกลางแก้วหูทั้งสองข้าง ตรงกลางโสตประสาทก็มี "โสตธาตุ" ซึ่งละเอียดกว่า เล็กกว่า ซ้อนอยู่ข้างใน สำหรับฟังเสียง และในกลางโสตธาตุ ก็มี "โสตวิญญาณธาตุ" ซึ่งใสกว่า เล็กกว่าโสตธาตุ ซ้อนอยู่ภายในเข้าไปอีก สำหรับให้รู้ว่าเป็นเสียงอะไร แลมีสายใยสีขาว ใส ทอดออกไปจากโสตประสาททั้งซ้ายขวา ผ่านขึ้นไปบนสมองศีรษะ แล้วหยั่งลงไปภายในเยื่อพื้นข้างหลัง ไปรวมจรดอยู่ที่ตรงกลางของขันธ์ ๕ ที่กำเนิดธาตุธรรมเดิม
     
    ทำหน้าที่ได้ยินเสียง ก็เป็นไปในลักษณะเดียวกันกับการหน้าที่มองเห็นของอายตนะตา กล่าวคือ เมื่อเสียงมากระทบประสาทหูซึ่งทำหน้าที่เป็นโสตายตนะนั้น จะมีดวงกลมขาว ใส คือธาตุละเอียดของโสตายตนะ ซึ่งมีโสตธาตุ และโสตวิญญาณธาตุซ้อนอยู่ แล่นจากศูนย์กลางขันธ์ ๕ ที่ตรงกลางกำเนิดธาตุธรมเดิม ขึ้นมาตามสายสีขาวบริสุทธิ์ มาจรดที่โสตประสาทตรงกลางแก้วหูซ้ายขวาซึ่งทำหน้าที่รับเสียง แล้วนำเสียงนั้นแล่นกลับไปที่กลางขันธ์ ๕ กลางกำเนิดธาตุธรรมเดิม เพื่อทำหน้าที่ต่อไป
     
    ทีนี้ให้พิจารณาต่อไปที่ขื่อจมูกข้างในทั้งซ้ายและขวา จะเห็น"ฆานปสาท" ซึ่งทำหน้าที่เป็น "ฆานายตนะ"ทำ หน้าที่รับกลิ่น มีลักษณะสัณฐานเหมือนกีบกวางหรือปีกริ้น ใสสะอาดบริสุทธิ์ ตั้งอยู่ตรงกลางขื่อจมูกข้างในทั้งซ้ายและขวา แล้วตรงกลางประสาทจมูก ก็มี "ฆานธาตุ" ซึ่งใสสะอาดบริสุทธิ์ และเล็กกว่าประสาทจมูก สำหรับทำหน้าที่ดมกลิ่น และที่ตรงกลางฆานธาตุก็มี "ฆานวิญญาณธาตุ" ซึ่งมีลักษณะสัณฐานอย่างเดียวกัน แต่ใส สะอาด และเล็กกว่าฆานธาตุ สำหรับทำหน้าที่รู้ว่าคุณสมบัติกลิ่นเป็นอย่างไร และมีสายใยสีขาวทอดออกจากตรงกลางฆานปสาททั้งสองข้าง ผ่านขึ้นไปบนสมองศีรษะ แล้วหยั่งลงภายในพื้นเยื่อพังผืดข้างหลัง ไปรวมจรดอยู่ที่กลางขันธ์ ๕ ตรงกำเนิดธาตุธรรมเดิม
     
    แล้วต่อไปก็ให้พิจารณาที่ลิ้น จะเห็น"ชิวหาปสาท" กระจายอยู่ทั่วลิ้น มีลักษณะสัณฐานเหมือนดอกบัวหรือกลีบบัว ขาวใส ทำหน้าที่เป็น "ชิวหายตนะ"สำหรับทำหน้าที่รับรส และตรงกลางชิวหาปสาทก็มี "ชิวหาธาตุ"ซึ่งมีลักษณะสัณฐานเดียวกัน แต่ใสสะอาด และเล็กกว่าชิวหาปสาท ซ้อนอยู่ภายในเข้าไป สำหรับทำหน้าที่ลิ้มรส แล้วก็ตรงกลางชิวหาธาตุก็มี "ชิวหาวิญญาณธาตุ" ซึ่งใสสะอาด และเล็กกว่าชิวหาธาตุ ซ้อนอยู่ภายในเข้าไปอีก สำหรับทำหน้าที่รู้คุณสมบัติรส แล้วก็มีสายใยสีขาว ใสสะอาด ทอดออกไปจากตรงกลางชิวหาปสาททั้งหลาย ผ่านขึ้นไปบนสมองศีรษะ แล้วหยั่งลงไปภายในเยื่อพังผืดพื้นหลัง แล้วไปจรดอยู่ที่กลางขันธ์ ๕ ที่กำเนิดธาตุธรรมเดิม
     
    ทีนี้ให้พิจารณาดูหมดทั่วสรรพางค์กาย จะเห็น"กายปสาท" มีลักษณะสัณฐานเหมือนดอกบัว ขาว ใส สะอาด ตั้งอยู่ทั่วทั้งกาย ทุกขุมขนทีเดียว ทำหน้าที่เป็น "กายายตนะ" ทำหน้าที่รับสัมผัส และตรงกลางกายปสาททั้งหลาย ก็มี "กายธาตุ" ซึ่งมีลักษณะสัณฐานเดียวกัน แต่เล็กกว่า ใสสะอาดกว่ากายปสาท สำหรับทำหน้าที่สัมผัสสิ่งที่มาถูกต้องทางกาย และมี "กายวิญญาณธาตุ" ซึ่งมีลักษณะสัณฐานนเดียวกัน แต่ใสสะอาด และเล็กกว่ากายธาตุ ซ้อนอยู่ชั้นในเข้าไปอีก สำหรับทำหน้าที่รู้คุณสมบัติสิ่งที่มาสัมผัสถูกต้องทางกาย ว่าเย็น ร้อน อ่อน แข็งอย่างไร แล้วก็มีสายใยสีขาวใส ทอดออกไปจากกายปสาททั่วทั้งกาย ขึ้นไปสู่สมองศีรษะ แล้วไปรวมจรดที่ขันธ์ ๕ ตรงกลางกำเนิดธาตุธรรมเดิม
     
    ที่ตรงกลางหทยรูป(ไม่ใช่มังสหทยรูป แต่เป็นของละเอียด) หรือที่เรียกว่ามโนทวาร ก็มี "มนายตนะ" มีลักษณะสัณฐานเป็นดวงกลมใส ขนาดประมาณเท่าเมล็ดโพธิ์เมล็ดไทร ซึ่งทำหน้าที่น้อมไปสู่อารมณ์ และที่ตรงกลางมโนทวารนี้เองเป็นที่ตั้งของ "มโนธาตุ" มีลักษณะสัณฐานกลมใสยิ่งกว่า เล็กกว่ามนายตนะ ซ้อนอยู่ข้างใน สำหรับรู้ธรรมารมณ์ที่มากระทบใจ และตรงกลางมโนธาตุ ก็มี "มโนวิญญาณธาตุ" ซึ่งใส สะอาดกว่า และเล็กละเอียดกว่ามโนธาตุ ซ้อนอยู่ข้างในเข้าไปอีก สำหรับรู้คุณสมบัติอารมณ์ที่มากระทบ และมีสายใยสีขาวใสหยั่งลงไปจรดรวมอยู่ที่กลางขันธ์ ๕ ตรงกำเนิดธาตุธรรมเดิม แต่สายของมนายตนะนี้ ไม่ผ่านขึ้นสู่สมองศีรษะเหมือน ๕ สายข้างต้น
     
    การรู้กลิ่น รู้รส รู้การสัมผัสทางกาย และรู้อารมณ์ที่ผ่านเข้ามาทางใจ ก็เป็นลักษณะเดียวกันกับการเห็นรูป หรือ ได้ยินเสียง ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น และสิ่งที่จะก่อให้เกิดอารมณ์จากภายนอกที่มากระทบนั้น เป็นสิ่งที่น่าพอใจ ยินดี ก็จะรู้สึกเป็นสุข เรียกว่า "เสวยสุขเวทนา" และในกรณีเช่นนี้ ก็จะเห็น "ใจ" มีลักษณะใส แต่ถ้าอายตนะภายนอกที่มากระทบทวารทั้งหลายเหล่านี้ ไม่เป็นที่น่าพอใจ ยินดี ก็เป็นทุกข์ใจ เรียกว่า "เสวยทุกขเวทนา" ในกรณีเช่นนี้ ก็จะเห็น "ใจ" ทั้งดวงมีลักษณะขุ่นมัว
     
    ทีนี้ถ้าหากไม่รู้เท่าทันในสภาวะจริงตามธรรมชาติของเวทนา ไม่รู้ข้อดี ข้อเสียของเวทนา และไม่รู้ทางออกจากเวทนาทั้งหลายเหล่านั้น แล้วปล่อยให้จิตใจเลื่อนลอยไปตามอารมณ์ จนถึงกับต้องสยบอยู่ในอารมณ์ที่น่ารัก น่ายินดี หรือจนถึงกับเคียดแค้น ชิงชังในอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจยินดี กิเลสอนุสัยต่างๆ เป็นต้นว่า กามราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อวิชชานุสัย ก็จะฟุ้งขึ้นมาครอบคลุมจิตใจดลจิตดลใจให้ปฏิบัติตามอำนาจของมัน อันเป็นทางให้เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อนตามมาได้
     
    แต่ถ้ารู้เท่าทันในสภาวะของเวทนาตามที่เป็นจริง ว่าอยู่ในอาณัติแห่งไตรลักษณ์ และรู้เท่าทันเวทนาว่า ถ้าปล่อยจิตใจให้เลื่อนลอยตามอารมณ์ที่มากระทบแล้ว ก็จะเป็นทางให้กิเลส ตัณหา อุปาทานเข้ามาครอบคลุมจิตใจ ดลจิตดลใจให้ปฏิบัติตามอำนาจของมันได้แล้ว ก็รู้วิธีออกจากเวทนานั้นๆ โดยรวมใจหยุดในหยุด กลางของหยุดในหยุด ให้ละเอียดหนักเข้าไป ไม่ถอยหลังกลับ เมื่อใจไม่น้อมไปสู่อารมณ์และหยุดในหยุด กลางของหยุดในหยุดหนัก เข้าไป(หยุดปรุงแต่ง ส่งจิตส่งใจไปตามอารมณ์) ก็พ้นอำนาจของอนุสัยที่เคยนอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน กิเลส ตัณหา อุปาทานก็ไม่มีทางที่จะเข้ามาย้อมจิตย้อมใจ ทุกข์จะมีมาแต่ไหน จิตใจก็กลับใส สะอาด ปราศจากเครื่องเศร้าหมองทั้งปวง เป็นสุขจากความสงบรำงับด้วยประการฉะนี้แล
     
    นตฺถิ สนฺติ ปรํ สุขํ - สุขอื่นยิ่งกว่า กาย วาจา และใจ สงบ ไม่มีอีกแล้ว
    จิตฺตํ ทนฺตํ สุขาวหํ - จิตที่ฝึกแล้ว นำสุขมาให้
     
     
     
    จงพิจารณาให้เห็นสภาวะจริงของเวทนาที่เป็นจริงต่อไปอีกว่า เวทนานั้นเกิดแต่จิต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของใจอันมีอวิชชา ความไม่รู้สภาวะจริงนั้นเอง ทำหน้าที่ปรุงแต่งอารมณ์ เรียกว่า จิตสังขาร อันเป็นเหตุให้เกิดการรับรู้อารมณ์จากภายนอกที่สัมผัสกับทวารต่างๆ ทั้ง ๖ ทวาร แล้วจิตนั้นเองก็เสวยอารมณ์สุข ทุกข์ หรืออทุกขมสุขเวทนา แล้วแต่กรณี
     
    เมื่อพิจารณาถึงเหตุที่เกิดเวทนาทั้งหลาย นับตั้งแต่อวิชชาเอง ก็ไม่เที่ยง มีการเกิดดับไปพร้อมกับจิต ซึ่งไม่เที่ยงอีกเช่นเดียวกัน ทั้งอวิชชาและจิต จึงต่างก็หามีตัวตนแท้จริงไม่ ต่างก็เป็นอนัตตา ด้วยกันทั้งสิ้น นี้ข้อหนึ่ง
     
    อาการปรุงแต่งอารมณ์ของจิต นั้นอีกเล่า ก็ไม่เที่ยง มีเปลี่ยนแปลง แปรผันอยู่เสมอ, วันนี้เห็นบุคคล รูปร่างอย่างนี้ แต่งกายอย่างนี้ มีกิริยาอาการอย่างนี้ว่า น่ารัก น่าพอใจ แต่พอภายหลัง กลับไม่ชอบ ไม่ยินดี หรือขัดหูขัดตาไปก็มี ดังนี้เป็นต้น มันไม่เที่ยงอย่างนี้ หากยึดถือก็เป็นทุกข์ เพราะไม่มีแก่นสารให้ยึดถือ อาการปรุงแต่งของจิตจึงเป็นอนัตตา นี้ก็อีกข้อหนึ่ง
     
    ทวารต่างๆ หรือ อายตนะภายใน ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กับสิ่งที่จะก่อให้เกิดอารมณ์ คือ อายตนะภายนอกเอง ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งสัมผัสกาย และอารมณ์ทางใจ ก็ไม่เที่ยงอีกเหมือนกัน รวมตลอดทั้งสิ่งที่จะก่อให้เกิดอารมณ์จากภายนอกในรูปอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โลกธรรม ๘ ประการ ไม่ว่าจะเจือด้วยอามิสหรือไม่ก็ตาม เป็นต้นว่า การเกิด แก่ เจ็บ ตาย หรือการได้กำเนิด เสวยวิบากกรรมจากผลบุญ-บาปในภพภูมิใหม่ใดๆก็ตาม ก็ล้วนแต่ไม่เที่ยงทั้งสิ้น มีเปลี่ยนแปลงตามเหตุปัจจัยนเสมอ ผู้ใดยึดถือก็เป็นทุกข์ เพราะต่างก็ไม่มีแก่นสารตัวตนให้ยึดถือได้ตลอดไป มีเกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมสลายดับสิ้นไปเป็นธรรมดา นี้เป็น อนัตตา อีกข้อหนึ่ง
     
    ก็เมื่อเหตุ-ปัจจัยที่เกิดของเวทนา และสิ่งที่เกี่ยวเนื่องด้วยเวทนาทั้งหลายต่างก็ไม่เที่ยง เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็เปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัย ผู้ใดยึดถือก็เป็นทุกข์เพราะไม่มีตัวตนให้ยึดถือได้ จึงเป็นอนัตตาไปหมด ดังนี้แล้ว เวทนาเองก็จึงหาได้มีแก่นสารแต่ประการใดไม่ อีกเช่นกัน มีเกิดดับเป็นธรรมดา หากผู้ใดยึดมั่นถือมั่นในเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีตก็ได้ อนาคตก็ดี ปัจจุบันก็ดี ภายในก็ดี ภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี มีในที่ไกลก็ดี ในที่ใกล้ก็ดี, ด้วยความเห็นผิดว่าเป็นของเรา หรือว่า เราเป็นตัวเวทนา เวทนามีในตัวเรา หรือตัวเรามีในเวทนา ซึ่งเรียกว่า สักกายทิฏฐิ ๔ แล้วย่อมเป็นเหตุแห่งความทุกข์ เพราะสภาวะจริงของเวทนานั้น ก็สักแต่เป็นเวทนา หาใช่เป็นของผู้ใดไม่ เป็นอนัตตาแท้ๆ
    
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 4 ตุลาคม 2014
  3. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,875
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,146
    ค่าพลัง:
    +70,543
    [​IMG]



    ศีลเบื้องต่ำและศีลเบื้องสูง



    เทศน์โดย พระมงคลเทพมุนี (สด จันทสโร)
    ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๗


    นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส. (๓ หน)


    อเนกปริยาเยน โข ปน เตน ภควตา ชานตา ปสฺสตา อรหตา สมฺมาสมฺพุทฺเธน สีลํ สมฺมทกฺขาตํ สมาธิ สมฺมทกฺขาโต ปญฺญา สมฺมทกฺขาตา.
    กถญฺจ สีลํ สมฺมทกฺขาตํ ภควตา. เหฏฺฐิเมนปิ ปริยาเยน สีลํ สมฺมทกฺขาตํ ภควตา. อุปริเมนปิ ปริยาเยน สีลํ สมฺมทกฺขาตํ ภควตา.
    กถญฺจ เหฏฺฐิเมน ปริยาเยน สีลํ สมฺมทกฺขาตํ ภควตา. อิธ อริยสาวโก ปาณาติปาตา ปฏิวิรโต โหติ อทินฺนาทานา ปฏิวิรโต โหติ กาเมสุ มิจฺฉาจารา ปฏิวิรโต โหติ มุสาวาทา ปฏิวิรโต โหติ สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา ปฏิวิรโต โหตีติ เอวํ โข เหฏฺฐิเมน ปริยาเยน สีลํ สมฺมทกฺขาตํ ภควตา.
    กถญฺจ อุปริเมน ปริยาเยน สีลํ สมฺมทกฺขาตํ ภควตา. อิธ ภิกฺขุ สีลวา โหติ ปาติโมกฺขสํวรสํวุโต วิหรติ อาจารโคจรสมฺปนฺโน อณุมตฺเตสุ วชฺเชสุ ภยทสฺสาวี สมาทาย สิกฺขติ สิกฺขาปเทสูติ เอวํ โข อุปริเมน ปริยาเยน สีลํ สมฺมทกฺขาตํ ภควตาติ.

    ณ บัดนี้ อาตมภาพจักได้แสดงธรรมีกถา แก้ด้วยธรรมที่เป็นหลักของพระพุทธศาสนา ที่พระศาสดาทรงวางพระพุทธศาสนา และตั้งหลักเกณฑ์เป็นเบื้องต้น พุทธศาสนิกชนต้องรีบล้นขวนขวายให้มีศีลตั้งมั่นอยู่ในธรรมของตนทุกถ้วนหน้า เพราะการปฏิบัติพระพุทธศาสนา ไม่มีศีลแล้วจะปฏิบัติศาสนาให้ถูกต้องร่องรอยความประสงค์พุทธศาสนาไม่ได้ จำจะต้องให้มีศีล ศีลที่มีแล้วตัวก็ต้องรู้ด้วย ตัวเองมีศีลให้แน่นอนในใจทีเดียว จะชี้แจงตามวาระพระบาลีว่า อเนกปริยาเยน โข ปน เตน ภควตา ชานตา ปสฺสตา อรหตา สมฺมาสมฺพุทฺเธน สีลํ สมฺมทกฺขาตํ ศีลที่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ผู้รู้แล้วเห็นแล้ว เป็นองค์พระอรหันต์ ตรัสรู้แล้วเองโดยชอบ ทรงรับสั่งแล้วโดยปริยายมิใช่น้อย หรือโดยปริยายมิใช่อย่างเดียว กถญฺจ สีลํ สมฺมทกฺขาตํ ศีลที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วนั้นเป็นไฉน เหฏฺฐิเมนปิ ปริยาเยน สีลํ สมฺมทกฺขาตํ ภควตา ศีลที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับสั่งแล้วโดยปริยายเบื้องต่ำบ้าง อุปริเมนปิ ปริยาเยน สีลํ สมฺมทกฺขาตํ ภควตา ศีลที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วโดยปริยายเบื้องสูงบ้าง
    กถญฺจ เหฏฺฐิเมน ปริยาเยน สีลํ สมฺมทกฺขาตํ ภควตา ศีลที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วโดยปริยายเบื้องต่ำเป็นไฉนเล่า อิธ อริยสาวโก พระอริยสาวกในธรรมวินัยของพระตถาคตเจ้านี้ ปาณาติปาตา ปฏิวิรโต โหติ ย่อมเป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต คือ ฆ่าสัตว์ที่เป็นให้จำตาย อทินนาทานา ปฏิวิรโต โหติ ย่อมเป็นผู้เว้นขาดจากการถือเอาวัตถุที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ด้วยอาการแห่งขโมย กาเมสุ มิจฉาจารา ปฏิวิรโต โหติ ย่อมเป็นผู้เว้นขาดจากความประพฤติผิดในกามทั้งหลาย มุสาวาทา ปฏิวิรโต โหติ ย่อมเป็นผู้เว้นขาดจากคำเท็จไม่จริง สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา ปฏิวิรโต โหติ ย่อมเป็นผู้เว้นขาดจากน้ำที่ทำให้บุคคลผู้ดื่มเมา คือ สุราและเมรัย อันเป็นเหตุที่ตั้งแห่งความประมาท เอวํ โข เหฏฺฐิเมน ปริยาเยน สีลํ สมฺมทกฺขาตํ ภควตา อย่างนี้แหละ ศีลที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วโดยปริยายเบื้องต่ำ
    กถญฺจ อุปริเมน ปริยาเยน สีลํ สมฺมทกฺขาตํ ภควตา ศีลที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วโดยปริยายเบื้องสูงเป็นไฉน อิธ ภิกฺขุ สีลวา โหติ ปาติโมกฺขสํวรสํวุโต วิหรติ อาจารโคจรสมฺปนฺโน อณุมตฺเตสุ วชฺเชสุ ภยทสฺสาวี สมาทาย สิกฺขติ สิกฺขาปเทสูติ ภิกษุในธรรมวินัยของพระตถาคตเจ้านี้ สีลวา โหติ ย่อมเป็นผู้มีศีล ปาติโมกฺขสํวรสํวุโต วิหรติ ย่อมเป็นผู้สำรวมในพระปาติโมกข์ เว้นข้อที่พระพุทธเจ้าห้าม ทำตามข้อที่พระองค์ทรงอนุญาตอยู่ อาจารโคจรสมฺปนฺโน ถึงพร้อมแล้วด้วยมารยาทเครื่องมาประพฤติโดยเอื้อเฟื้อและโคจร อณุมตฺเตสุ วชฺเชสุ ภยทสฺสาวี เห็นภัยทั้งหลายในโทษมีประมาณน้อย สมาทาย สิกฺขติ สิกฺขาปเทสูติ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย เอวํ โข อุปริเมน ปริยาเยน สีลํ สมฺมทกฺขาตํ ภควตา อย่างนี้แหละ ศีลที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วโดยปริยายเบื้องสูง กล่าวถึงศีล แต่ว่าสมาธิ ปัญญา ยังจะมีต่อไป
    ส่วนศีลนี้ให้เข้าเนื้อเข้าใจเสียก่อน ผู้พุทธศาสนิกชน ทั้งคฤหัสถ์ บรรพชิต ให้รู้จักบริสุทธิ์สนิท ศีลมีทั้งคฤหัสถ์ บรรพชิต ไม่ใช่มีแต่คฤหัสถ์ บรรพชิตด้วย คฤหัสถ์ตั้งอยู่ในศีลเบื้องต่ำ เพียงศีล ๕ ประการของคนครองเรือน ส่วนศีล ๘ ประการ เป็นอติเรกศีล สูงขึ้นไปกว่าศีล ๕ แต่ว่าศีล ๕ ประการให้มั่นในขันธสันดานเสียก่อน ต้องสละขาดจากใจนะว่าเราเป็น คนมีศีล แล้วก็เริ่มต้นมีศีล ๕ ทีเดียว ศีล ๕ รู้จักกันพร้อมดี บริบูรณ์ดี ต้องให้รู้จักแม่นยำ แน่นอนว่าการฆ่าสัตว์น่ะ ต้องให้รู้จักสัตว์เสียก่อนว่าอย่างไรจึงจะเรียกว่าสัตว์ คำที่เรียกว่า สัตว์น่ะ ผู้ข้องอยู่ในภพ แปลว่าผู้ข้องอยู่ ลกฺขตีติ แปลว่าข้องอยู่ สัตว์ที่ข้องอยู่มีกำเนิดถึง ๔ คือ อัณฑชะ สังเสทชะ ชลาพุชะ อุปปาติกะ นี่กำเนิด ๔
    อัณฑชะ สัตว์ที่เกิดด้วยฟองไข่ สัตว์ชนิดอะไรไม่ว่าที่เกิดด้วยฟองไข่แล้วก็ฟักเป็นตัวอีกหนหนึ่ง เรียกว่าอัณฑชะทั้งนั้น นี่เราก็ระวังยากนะ ไข่เป็ด ไข่ไก่ ระวังยากเหมือนกัน ไข่มด ไข่เหา ไข่เรือด ไข่เล็น ไข่เหล่านี้ระวังยากทั้งนั้น มีไข่ทั้งนั้นสัตว์พวกนี้ นี่เรียกว่าอัณฑชะ ต้องเว้นกันจริงๆ
    สังเสทชะ สัตว์ที่เกิดด้วยเหงื่อไคล เหา เล็น เรือด ไร ที่กัดเราอยู่ทุกวันนี้ อ้ายนั่นสำคัญอีกเหมือนกัน ยุงไม่ได้เกิดด้วยเหงื่อไคล ถ้าว่าพวกสังเสทชะเกิดด้วยเหงื่อไคล เหา เล็น เรือด ไร เหล่านี้ทุกชนิด อาศัยเหงื่อไคลเป็นแดนเกิดละก้อ เรียกว่าสังเสทชะทั้งนั้น
    ชลาพุชะ สัตว์อาศัยน้ำบังเกิดขึ้น ถ้าไม่มีน้ำเกิดไม่ได้ ต้องมีน้ำจึงบังเกิดขึ้น นั่นเรียกว่า ชลาพุชะ มนุษย์เป็นอันมากก็เรียกว่าชลาพุชะทั้งนั้น แพะ แกะ วัว ควาย ช้าง ม้า อาศัยน้ำเป็นแดนเกิดทั้งนั้น สัตว์เกิดในน้ำเป็นอเนกประการ เกิดในน้ำก็อาศัยไข่บ้าง อาศัยเหงื่อไคลบ้าง มนุษย์ก็เกิดด้วยเหงื่อไคลได้ มนุษย์นี่แหละที่เรียกว่าชลาพุชะ นี่มีเหงื่อไคลเป็นแดนเกิดได้เหมือนกัน เหมือนพระปัจเจกโพธิ ๕๐๐ อาศัยครรภ์มลทินของมารดาคลอดออกมาคนเดียว อาศัยครรภ์มลทินเหงื่อไคลของครรภ์นั้น ด้วยของสกปรกโสโครกเหล่านั้น เกิดเป็น ๔๙๙ นี่ เกิดด้วยเหงื่อไคลเหมือนกัน มนุษย์เรียกว่าสังเสทชะเหมือนกัน
    อุปปาติกะ ลอยขึ้นบังเกิด เกิดขึ้นละ อายุ ๑๔-๑๕ ทีเดียว นั่นก็เป็นสัตว์อีกพวกหนึ่ง เช่นนี้เราจะฆ่าเขาไม่ค่อยได้หรอก แต่ว่าได้เหมือนกัน เช่น นางอัมพปาลีเกิดในค่าคบต้นมะม่วง แล้วอยู่ร่วมด้วยมนุษย์ราชกุมาร ๕๐๐ เป็นสามี ๕๐๐ ต้องผลัดกันอยู่ร่วมคนละ ๗ วันไป ๕๐๐ นี่ก็เต็มทีไม่มีเวลา สร้างปราสาทขึ้นไว้ในสวนมะม่วงนั้นไม่ให้เป็นของใคร ถ้ามิฉะนั้นราชกุมารจะเกิดทะเลาะกัน จะเกิดฆ่าฟันทะเลาะบาดหมางกันขึ้น นี่พราหมณ์ตัดสินให้เป็นไปดังนั้น นี่นางอัมพปาลีอาศัยค่าคบมะม่วงเกิดขึ้น นี่ก็เป็นมนุษย์ เกิดเป็นอุปปาติกะ แปลกไหมล่ะ เป็นอุปปาติกะ กำเนิดทั้ง ๔ นี้ มนุษย์มีทั้งสิ้น พระเถระ ๒ รูป ลูกนางกุลตีกินรีไข่ออกมา ออกมาเป็นไข่ พอกะเทาะออกมาเป็นมนุษย์ เป็นชาย ๒ คน เป็นชายด้วยกันทั้ง ๒ คนนั่นแหละ นี้ก็เกิดด้วยฟองไข่ เกิดด้วยฟองไข่ก็มี เกิดด้วยเหงื่อไคลก็มี เกิดเป็นอุปปาติกะก็มี เกิดเป็น ชลาพุชะก็มี กำเนิดทั้ง ๔ มนุษย์มีพร้อม
    สัตว์ที่เป็นอยู่ปรากฏไปไหนไปได้ กระดุกกระดิกได้ หรือมีชีวิตเป็นอยู่กระดุกกระดิกไม่ได้ เช่น สัตว์เกิดในฟองไข่ ยังไม่ออกตัว อยู่ในฟองไข่ดิ้นไม่ได้ ไม่มีตัวดิ้น นี่ก็เป็นกำเนิดของสัตว์เหมือนกัน ที่เรียกว่า ปาณาติบาต ฆ่าสัตว์เหล่านี้ไม่ได้เลย ฆ่าแล้วด้วยเจตนาน่ะ ศีลขาดทีเดียว รู้ว่าสัตว์มีชีวิตเป็นอยู่ เมื่อรู้ว่าชีวิตเป็นอยู่แล้ว ก็จิตคิดจะฆ่าเสีย ถ้าทำความเพียร เพื่อจะฆ่า ฆ่าได้สมเจตนา สัตว์มีชีวิตเป็นอยู่เรียกว่า ปาโณ หรือรู้ว่าสัตว์มีชีวิตเป็นอยู่เรียกว่า ปาณสญฺญี จิตคิดจะฆ่าเรียกว่า วธกจิตฺตํ ถ้าทำความเพียรเพื่อจะฆ่าเรียกว่า อุปกฺกโม เตน มรณํ สัตว์ตายด้วยความเพียรทีเดียว สัตว์ตายสมเจตนา ยกมือแพล็บเดียวก็พร้อมด้วยองค์ ๕ นิดเดียวเท่านั้น พร้อมด้วยองค์ ๕ จัดเป็นองค์ ๕ การฆ่าสัตว์ ให้รู้จักชัดๆว่าการฆ่าสัตว์น่ะ เป็นอย่างนี้
    ถ้าว่าผู้มีศีล ๕ นี้ ต้องเว้นขาดจริงๆ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ท่านยกเอาอริยบุคคล อริยสาวโก อริยสาวกในพระธรรมวินัยของพระตถาคตเจ้า ตั้งต้นแต่พระโสดาขึ้นไป ท่านยกเป็นตัวอย่าง พระโสดาเจตนาฆ่าสัตว์ของท่านไม่มีเลยทีเดียว เจตนาฆ่าสัตว์ของท่านไม่มีเลยทีเดียว ที่เรารักษาปาณาติบาตนี้ ต้องตัดเจตนาให้ขาด เจตนาไม่ฆ่าสัตว์ต้องขาดจากใจทีเดียว ไม่ฆ่าอย่างเด็ดขาดทีเดียว เจตนาของปุถุชนก็มีที่ไม่คิดฆ่าสัตว์เลยทีเดียว นี่แหละเป็นศีลกันจริงๆ ทีเดียว ขึ้นถึงปาณาติบาตทีเดียว
    ส่วนอทินนาทานล่ะ วัดปากน้ำเราก็ยังใช้ไม่ใคร่ได้นะ ดูข้าวของอะไรเล็กน้อยๆ ก็เผลอกันไม่ใคร่ได้ หายกันเป็นควันไปทีเดียว ดูๆ ก็เป็นซ่องขโมยทีเดียว นี่ร้ายกาจนักทีเดียว จะมีศีลอย่างไรกัน ถ้ามีศีลแล้วของเหล่านี้ไม่ต้องเอื้อเฟื้อ ไม่ต้องห่วงใย ลักกันเป็นไม่มี ไม่ใช่แต่ลักฝ่ายเดียว ฉ้อโกงกันเป็นไม่มี อทินนาทานน่ะขาดจากใจทีเดียว ขึ้นชื่อว่าลักละก็ หรือ เจ้าของเขาไม่ได้ให้ละก็ เป็นไม่ถือเอาทีเดียว ต้องถืออย่างเด็ดขาด อย่างพระอริยบุคคล เจตนาจะลักเขาก็ไม่มี ปรปริคฺคหิตํ วัตถุมีเจ้าของหวงห้าม ปรปริคฺคหิตสญฺญิตา รู้อยู่วัตถุมีเจ้าของหวงห้าม เถยฺยจิตฺตํ จิตคิดจะลักก็ไม่มี อุปกฺกโม ความเพียรเพื่อจะลักก็ไม่มี เตน หรณํ นำไปด้วยความเพียรขโมยก็ไม่มี นี้ได้ชื่อว่ามีศีลล่ะ มีศีลอทินนาทาน แต่ว่าศีลอทินนาทานนี้ต้องมั่นในขันธสันดานทีเดียว อย่าให้เคลื่อนคลาดได้ ถ้าเคลื่อนคลาดเป็นใช้ไม่ได้ทีเดียว เรียกว่าจอมปลอม พวกจอมปลอมนี่แหละทำศาสนาให้เสื่อม เข้ามาประพฤติปฏิบัติในศาสนา ทำศาสนาให้เสื่อม ผู้ประพฤติจริงทำศาสนาให้เจริญ อย่างพระอริยบุคคลนะ เป็นตัวทำศาสนาให้เจริญ ถ้าว่าปุถุชนประพฤติอย่างพระอริยบุคคล เจตนาจะลักก็ไม่มี อ้ายการลักน่ะ เงินทองเล็กน้อยพออดได้ ไม่พอใช้พอกินอะไร พออดได้ แต่ว่าอ้ายเพชรนิลจินดา ราคามันมากขึ้นมาล่ะ ราคาตั้งหมื่น ยังไม่พอใจ ยังไม่ลักเลย ทีนี้ราคามันสูงกว่าหมื่นขึ้นไป สองหมื่น สามหมื่น สี่หมื่น ห้าหมื่น ถึงแสนหนึ่ง ราคาถึงแสนหนึ่ง เอาแล้ว ทำใจคนมีศีลกระดุกกระดิกไปอีกแล้ว เอ๊ะ นี่ยังไง ถ้าคว้าหมับเลี้ยงชีพได้ตลอดตายทีเดียว แสนหนึ่ง ให้เขากู้เอาร้อยละ ๒ บาท ก็เอาเดือนละสองพัน นั่นแน่ อ้ายนี่พอเลี้ยงชีพตลอดเวลาเชียวนะ ลาศีลกันเสียเถอะน่ะ เอาแล้ว ใจกระดุกกระดิกอีกแล้ว อย่างนี้ก็ยังใช้ไม่ได้ เรียกว่ามีศีลไม่จริง มีศีลจอมปลอม ต้องไว้วางใจได้ทีเดียว จะมีค่าสักแสนหนึ่ง สักล้านหนึ่ง สักโกฏิหนึ่ง ก็ช่าง ถ้าว่าไม่ใช่ของตัวละก้อ จิตไม่แลบไม่ขยับไปทีเดียว ไม่ลักไม่ขโมย ไม่มีทีเดียว ปกครองป้องกันรักษาไว้ให้เจ้าของทีเดียว ไม่พลาดพลั้งอย่างหนึ่งอย่างใด อย่างนี้เรียกว่ามีศีลใช้ได้ มีศีลจริงๆ ละ อย่างพระอริยบุคคลในธรรมวินัยของพระศาสดาละ อย่างนี้ใช้ได้ อทินฺนาทานา มีพอใช้ได้แล้ว ให้ความสุขแก่ตนได้แล้ว ให้ความสุขแก่คนอื่นได้ละ ถ้าไว้ใจยังไม่ได้ให้ความสุขแก่ตัวก็ยังไม่ได้ ให้ความสุขแก่คนอื่นจะให้ได้อย่างไร ให้ไม่ได้ทีเดียว นี่ข้อที่ ๒
    ข้อที่ ๓ ประพฤติผิดล่วงกามทั้งหลาย การประพฤติผิดล่วงกามทั้งหลายน่ะ ทำมรรคต่อมรรคให้ถึงกัน ยืนยันใกล้ๆ อย่างนี้ ทำมรรคต่อมรรคให้ถึงกัน อาการที่ทำมรรคต่อมรรคให้ถึงกันน่ะ เป็นอันผิดในกามทั้งหลาย ล่วงล้ำประเวณีชั่วช้าลามก ปรกติที่ลับต้องล่วงไม่ได้ ที่ลับลมบังลมอยู่ข้างใน ถ้าล่วงล้ำเข้าไปเช่นนั้นเท่าเส้นผมเดียวเท่านั้น ก็เป็นกาเมแล้ว ผิดในกามทั้งหลายแล้ว การประพฤติในกามทั้งหลายนี้โทษร้ายนัก ให้ความทุกข์แก่มนุษย์มากมายในโลก ถ้าโลกเว้นขาดหมดทั้งสากลโลก ทั้งหญิงทั้งชายประพฤติซื่อตรงในกามทั้งหลาย เมื่อถือสิทธิ์ร่วมสามีภรรยากันแล้ว ก็ร่วมแต่เท่านั้น นอกจากสามีภรรยาไม่ล่วงทีเดียวเด็ดขาด อย่างพระอริยบุคคลเจตนาที่ล่วงกามเช่นนั้นไม่มีเลย ไม่ได้คิดเลย ไม่คิดเลยทีเดียวที่จะล่วงกาม นอกจากบุคคลที่มีศีลไม่สมบูรณ์บริบูรณ์ ถ้ามีศีลสมบูรณ์บริบูรณ์แล้วก็ไม่คิดล่วงเหมือนกัน ในกามเช่นนั้น ไม่คิดล่วงทีเดียว ขาดจากใจทีเดียวที่มีศีลไม่สมบูรณ์บริบูรณ์ ศีลอับปางทีเดียว อำพรางศีล หลบศีล หลอกศีล หลอกตัวเอง โกงตัวเองอยู่นั่น ถ้าว่าอ้ายที่ไม่พอใจก็พออดได้ ถ้าพอใจอยู่สิ้นกาลช้านาน พอใจอยู่ ต้องแก่พอใจอยู่หลายปี หลายสิบปี เมื่อมาสมเจตนาของตัวเข้าละก้อ กลัวจะทนทานไม่ไหว จะขยับเขยื้อนไปอีก จะล่วงกามนั้นๆ เข้าอีก อย่างนี้ก็ใช้ไม่ได้ เรียกว่าศีลไม่สมบูรณ์บริบูรณ์ หรือขาดตกบกพร่อง ยังไม่แน่นอนในใจอยู่ในกาเมสุมิจฉาจาร นี่ก็สำคัญอยู่ ท่านจัดไว้มีประพฤติเป็น ๒๐ นั่นแน่ แต่ว่าเคยได้กล่าวมาแล้ว เรื่องกาเมสุมิจฉาจาร
    มุสาวาท มุสาวาทก็ให้เดือดร้อนอยู่ ถ้าว่ากล่าวจริงๆ กันเสีย ไม่พลั้งเผลอละก็ ไม่เดือดร้อน ถ้าว่าอำพรางกันเสีย ต้องพูดกันหลายคำ ต้องทำสัญญา ถ้าเลิกมุสากันหมดทั้งประเทศเสีย คำเดียวเท่านั้นแหละ สบายกันหมดทั้งประเทศทีเดียว อ้ายมุสานี่ร้ายกาจนัก ให้โทษมาก กล่าวคำเท็จไม่จริง ท่านกล่าวหลักไว้ อตถํ วตฺถุ เรื่องไม่จริง วิสํวาทกจิตฺตํ จิตคิดจะกล่าวให้คลาด ปชฺโช วายาโม ทำความเพียรเพื่อจะกล่าว ปรสฺส วิชานนํ บุคคลอื่นรู้ ความที่ตนกล่าวนั้นๆ มันก็เริ่มเป็นปดขึ้น ถ้าไม่จริงก็เป็นปดทีเดียว เป็นมุสาทีเดียว ถ้ากล่าวตามจริงครบองค์อยู่เช่นนั้น เรื่องนั้นก็ได้ชื่อว่าเป็นถ้อยคำที่จริงไม่มีโทษ ถ้อยคำเหล่านี้แหละ ผู้มีศีล ผู้ถือศีลในสิกขาบทมุสาวาทแล้ว ต้องเว้นขาดจากใจเหมือนพระอริยบุคคล ไม่มีกริกในใจทีเดียวที่จะปดน่ะ ไม่มีเลือกไม่มีเฟ้นต่อไป นี้ต้องแก้ไขตัวของตัวให้ดีนะ ถ้ายังมีเลือกเฟ้นว่า จะปดดีหรือไม่ปดดี ยังงี้ละก็ ศีลยังเหลวอยู่ ศีลมุสายังเหลวอยู่ ต้องไว้ใจได้ว่าจะตัดหัวคั่วแห้งอย่างหนึ่งอย่างใด ตีรันฟันแทงสักเท่าหนึ่งเท่าใด จะตัดชีวิตจิตใจสักเท่าหนึ่งเท่าใด จะให้กล่าวเท็จน่ะ กล่าวไม่ได้เสียแล้ว ขาดจากใจเสียแล้วว่า คำเท็จเป็นอันไม่กล่าว กล่าวแต่คำจริงทั้งนั้น อย่างนี้ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีศีล ยกตัวอย่างพระอริยบุคคลเป็นตัวหลัก รักศีลเหมือนอย่างกับพระอริยบุคคลดังนั้น ได้ชื่อว่ามีศีลมุสาวาทล่ะ
    สุรา ทั้งสี่สิกขาบทนั่นแหละ ถ้าเว้นสุราไม่ได้ตัวเดียว หมด ละลายหมด สุราเป็นตัวสำคัญ สุราเป็นเจ้าโขลงทีเดียว เป็นเจ้าหมู่ทีเดียว เจ้าหมู่เจ้าหมวดของศีลทั้ง ๕ นี่แหละสุรา เป็นเจ้าหมู่ทีเดียว ยกออกไปเสีย ยกสุราออกเป็นเจ้าหมู่เสีย เหลืออีก ๔ สุราบังคับได้ทุกข้อทุกสิกขาบท เหตุฉะนั้นต้องงดสุราให้ขาด ถ้างดสุราไม่ขาดละก็ หมด ไม่ได้เลยสักข้อหนึ่ง สุราน่ะ น้ำที่ทำบุคคลผู้ดื่มให้เมา คือสุราและเมรัย ดื่มเข้าไปแล้วก็เมา ส่วนพระอริยบุคคล จิตของท่านที่จะคิดดื่มสุราสักนิดนั่นก็ไม่มี เหมือนพวกเราบัดนี้ก็มีถมไป ที่ไม่คิดจะดื่มสุราแม้แต่นิด เหมือนพระอริยบุคคลทีเดียว ไม่คิดเลยที่จะดื่มสุรา นั่นแหละ คนอย่างนั้นเขามีศีลสุรามั่นในขันธสันดานละ ถ้าว่ายังจะดื่มอยู่ละก็ ไม่มั่นในขันธสันดาน ยังคลอนแคลนอยู่ ต้องตัดสินตัวเสียใหม่ น้ำที่ทำบุคคลผู้ดื่มให้เมาสุราและเมรัย จิตคิดจะดื่ม ทำความเพียรเพื่อจะดื่ม ดื่มให้ล่วงล้ำลำคอเข้าไป ก็ได้ชื่อว่าล่วงสิกขาบท คือศีลสุรานี้
    ศีลสุราสิกขาบทนี้ ท่านวางหลักไว้เทียบด้วยคชสารช้างตัวหนึ่ง มีเท้า ๔ มีงวง ๑ และ ช้างนั่นมันเป็นอยู่ด้วยงวงมัน ถ้าว่าเมื่องวงมันมีอยู่ตราบใดละก็ งวงนั่นมันเลี้ยงชีพของมัน มันฉุดหญ้ามาเลี้ยงร่างกายมัน ใส่ปากมันได้ ถ้าไม่มีงวงละก้อ ช้างมันจะก้มลงกินหญ้าอย่างกับโค อย่างกับกระบือ อย่างไรล่ะ มันสูง มันก้มไม่ถึงนี่ จะต้องนอนลงละซี ทำลำบาก เหตุนี้ งวงจึงเป็นตัวสำคัญ เป็นชีวิตของช้างทีเดียว ศีลทั้ง ๕ สิกขาบท สุราเป็นชีวิตทีเดียวหนา ถ้าเลิกสุราไม่ได้ละก็ มารักษาศีลมันลำบากนักละ เพราะว่าได้แต่ ๔ สิกขาบท ๕ ไม่ได้ นั้นก็พูดเอาตามชอบใจ ถ้าล่วงสุราเสียสิกขาบทเดียวเท่านั้นแหละ อีก ๔ สิกขาบทรักษาอยู่ไม่ได้ สลายหมด ล้มละลายหมด สุราสิกขาบทเดียว เขาจึงได้ตั้งว่า พระนครๆ หนึ่งมีประตู ๕ แห่ง ถ้าออกประตูที่ ๑ จะต้องฆ่าสัตว์ ออกประตูที่ ๒ จะต้องลักทรัพย์สมบัติ ออกประตูที่ ๓ จะต้องล่วงกาม ออกประตูที่ ๔ จะต้องพูดปด ออกประตูที่ ๕ จะต้องดื่มสุรา จะออกประตูไหน ถ้าออกไปประตูที่ ๑ ต้องฆ่าสัตว์ ก็ล่วงสิกขาบทเดียวเท่านั้น ถ้าออกประตูที่ ๒ จะต้อง ลักทรัพย์สมบัติ ล่วงสิกขาบทเดียวเท่านั้น ถ้าออกประตูที่ ๓ จะต้องล่วงกาเมสุมิจฉาจาร ก็ล่วงสิกขาบทเดียวเท่านั้น ถ้าออกประตูที่ ๔ จะต้องพูดปด ก็ล่วงสิกขาบทเดียวของตามประตูนั้นๆ ถ้าออกประตูที่ ๕ จะต้องล่วงสุรา ดื่มสุราละก็ หมดทั้ง ๔ สิกขาบท ๕ สิกขาบท ล้มหมดทีเดียว ท่านวางหลักไว้อย่างนี้
    เมื่อรู้จักดังนี้แล้ว ศีล ๕ สิกขาบท สุราเป็นตัวสำคัญ ตัวสำคัญทีเดียว แบบเดียวกัน โลภะ โทสะ โมหะ ๓ ข้อนี้ ใครเป็นสำคัญ โมหะเป็นสำคัญ ตัวหลงเป็นตัวสำคัญ เพราะฉะนั้น สุรานี้เป็นตัวประมาททีเดียว ธรรมที่เป็นกุศลในพระไตรปิฎกมากน้อยเท่าใด สรุปลงในความไม่ประมาททั้งนั้น ถ้าว่าประมาทแล้วออกนอกธรรมทีเดียว ไม่อยู่ในธรรมเสียแล้ว ถ้าประมาทละก็ ออกนอกธรรม ไม่อยู่ในธรรมทีเดียว ถ้าว่าไม่ประมาทละก็ อยู่ในธรรมที่เป็นกุศลทีเดียว ถ้าประมาทขึ้นแล้ว อยู่ในธรรมที่เป็นอกุศลทีเดียว ตรงกันข้าม เพราะฉะนั้นสุรานี่เป็นที่ตั้งของความประมาท ถ้าเลิกสุราเสียได้ ก็เป็นเหตุของความไม่เป็นที่ตั้งของความประมาท ศีล ๔ สิกขาบทก็รวมอยู่ในสุรานั่น อยู่ในความประมาทนั่น นี่เป็นตัวสำคัญ
    ให้รู้จักหลักมั่นดังนี้ละก็ เป็นภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ต้องมั่นอยู่ในศีลทั้ง ๕ นี้ ได้ชื่อว่าพุทธศาสนิกชน หรือเรียกว่าชนภายในพระพุทธศาสนา ต้องให้มีศีล ๕ นี้ให้มั่นอยู่ในขันธสันดานเสียตอนหนึ่ง นี้เรียกว่าศีลโดยปริยายเบื้องต่ำนะ
    แต่โดยปริยายเบื้องต่ำนี่แหละ ศีลของภิกษุก็มีเหมือนกัน ๕ สิกขาบทนี่ก็เป็นสิกขาบทของภิกษุเหมือนกัน แต่ท่านจัดศีลของภิกษุโดยปริยายเบื้องสูงขึ้นไปอีกว่า อิธ ภิกฺขุ ภิกษุใน ธรรมวินัยของพระตถาคตเจ้านี้ สีลวา โหติ ย่อมเป็นผู้มีศีล ภิกษุมีศีลน่ะมีอย่างไร ไม่ต้องสมาทานเหมือนอุบาสกอุบาสิกาอย่างนี้หรอก ภิกษุมีศีลน่ะ ศีลสำเร็จด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา พระสงฆ์ในปัจจันตประเทศตั้งแต่ ๕ รูปขึ้นไป ในมัชฌิมประเทศตั้งแต่ ๑๐ รูปขึ้นไป มาประชุมพร้อมกัน ต้องมีอุปัชฌาย์ มีพระกรรมวาจา พระอุปัชฌาย์ตรัสขึ้นในหมู่พระสงฆ์นั้นให้สวดญัตติจตุตถกรรมวาจา สมมุติกุลบุตรคนใดคนหนึ่งขึ้นให้เป็นภิกษุภาวะในพุทธศาสนา เหมือนเราที่เรียกว่า เราบวชนาคบวชพระกันอยู่ทุกวันนี้ ที่เป็นเจ้าภาพบวชให้ภิกษุสามเณรน่ะ บวชให้เป็นภิกษุทีเดียว หรือสามเณรก็ต้องมีศีล ๑๐ ขึ้นไป
    ศีล ๕ เป็นเหฏฐิมศีล ศีล ๘ ที่เรารักษาวันนี้เป็นเหฏฐิมศีลไหมล่ะ ไม่เป็นเหฏฐิมศีล เป็นอติเรกศีล ศีลสูงกว่าศีล ๕ ขึ้นไป สำคัญอยู่ข้อไหน ศีล ๘ น่ะ ที่ยกขึ้นเป็นอติเรกศีลขึ้นไปน่ะ สำคัญในข้อ วิกาลโภชนา นัจจคีตะ มาลา อุจจา ชาตรูปะ คือเว้นจากบริโภคอาหารในเวลาวิกาล การบริโภคอาหารเป็นอย่างไรหรือ ? การบริโภคอาหารนั้นเป็นรสตัณหา ถ้าว่าเว้นเสียละก็ เว้นรสตัณหาทีเดียว บริโภคอาหารที่เป็นรสที่อร่อย มีรสมีชาติขึ้นสำคัญนัก อ้ายรสอันนั้นสำคัญ นัจจคีตะ ฟ้อนรำ ขับร้อง เครื่องประโคมขับร้องดีดสีตีเป่าต่างๆ ฟ้อนรำ ขับร้อง ให้เกิดเป็นสัททตัณหา [ตัณหาในเสียง] ฟ้อนรำ ขับร้อง เหล่านี้ ดีดสีตีเป่าเหล่านี้ เป็นสัททตัณหา เป็นสัททตัณหาขึ้น ตรึงใจสัตว์โลกให้หมุนเวียนอยู่ในภพ ออกจากภพไม่ได้ ทัดทรงประดับ ประดาด้วยดอกไม้ของหอม เครื่องให้เกิดยั่วยวนต่างๆ เครื่องลูบไล้ละลายทาต่างๆ นี่เป็นรูปตัณหา [ตัณหาในรูป]และคันธตัณหา [ตัณหาในกลิ่น] ขึ้น นั่งนอนอาสนะสูงใหญ่ ภายในมีนุ่นและสำลี ให้เกิดเป็นโผฏฐัพพตัณหา [ตัณหาในสัมผัส] ขึ้น
    รับเงินและทองเหล่านี้ เงินทองอันเดียวเป็นตัวสำคัญใน ๑๐ สิกขาบทนั่น เงินทองเป็นตัวสำคัญ ถ้าว่าเงินทองหยิบเข้าได้แล้ว อื่นหมด เสียหมด ใช้ไม่ได้แบบเดียวกับสุรา สำคัญนัก ถ้าว่าศีล ๘ ไม่ถึงเงินและทอง ไม่ห้ามเงินและทองเพียงแค่ ๘ สิกขาบท ก็เพื่อตัดตัณหา เหล่านั้น เพราะฉะนั้นจึงเป็นอติเรกศีล เป็นอุดมศีลขึ้น ไม่ใช่ศีล ๕ ธรรมดา ศีล ๕ ธรรมดาเป็นเหฏฐิมศีล
    ภิกษุเป็นผู้มีศีล ศีลของภิกษุ ศีล ๕ ก็รวมอยู่ด้วย ศีล ๘ ศีล ๑๐ รวมอยู่ด้วยทั้งนั้น เข้ามารวมอยู่ในศีลของภิกษุหมด แต่ภิกษุเป็นผู้มีศีลน่ะ เมื่อสำเร็จญัตติจตุตถกรรมวาจาในท่ามกลางพระสงฆ์ สำเร็จญัตติจตุตถกรรมในท่ามกลางของสงฆ์แล้ว ศีลสิกขาบทบัญญัติน้อยใหญ่ ไม่ได้สมาทานเลย สมบูรณ์บริบูรณ์เมื่อจบญัตติจตุตถกรรมวาจา เป็นภิกษุภาวะในพุทธศาสนาขึ้น
    ศีลของภิกษุเป็นอปริยันตปาริสุทธิสีลทีเดียว ศีลไม่มีที่สุด ในวิสุทธิมรรคแสดงไว้ ศีลมีสามล้านกว่าสิกขาบท ศีลของภิกษุจบพระวินัยปิฎกเป็นศีลของภิกษุน่ะ มากมายนัก เพราะเหตุนั้น ภิกฺขุ สีลวา ภิกษุเป็นผู้มีศีลนะ มีจริงนะ มีทั้งหมดทีเดียว แต่นี้ท่านจำแนกแยกย่นลงไป ปาติโมกฺขสํวรสํวุโต วิหรติ ผู้สำรวมในพระปาติโมกข์ เว้นข้อที่พระพุทธเจ้าห้าม ทำตามที่พระองค์ทรงอนุญาตอยู่นี้น้อยนิดเดียว ขึ้นสู่พระปาติโมกข์นี้น้อยนิดเดียว โดยสามัญทั่วไปละก็ ๒๒๗ สิกขาบทนิดเดียว ศีลขึ้นสู่พระปาติโมกข์ แต่ว่าข้อสำคัญทั้งนั้น ไม่ใช่ข้อเล็กน้อย เพราะฉะนั้น ควรไหว้ควรบูชา ภิกษุประพฤติได้ในสิกขาบทบัญญัติน้อยใหญ่ของตัวได้ละก็ น่าไหว้น่าบูชานัก เป็นของทำยาก ไม่ใช่เป็นของทำง่าย
    อาจารโคจรสมฺปนฺโน ถึงพร้อมด้วยอาจารมารยาท เครื่องมาประพฤติโดยเอื้อเฟื้อ และโคจรมารยาท เครื่องมาประพฤติและโคจรของภิกษุน่ะ ภิกษุจะเดินไป หาตำหนิไม่ได้ ตาก็ทอดลงมองชั่วแอกหนึ่ง เรียกว่า ตาตายไม่ใช่ตาเป็น ทอดลง แม้จะเบิกตาขึ้นก็เพียงว่าดู อันตรายเท่านั้น ที่จะแสวงหาวิสภาคารมณ์ ที่จะแสวงหารูปที่จะชอบก็ไม่มีเสีย ไม่มีแก่ภิกษุเลย ภิกษุเดินไปก็ตั้งอยู่ในความสำรวม เรียกว่า อินทรียสังวร สำรวมทีเดียว สำรวมอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ได้ยินดียินร้าย เวลาเห็นรูป ได้ยินเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้อง โผฏฐัพพะ รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ สำรวมระวังไม่ให้โทมนัสเล็ดลอดเข้าไปประทุษร้ายจิตได้ คอยระแวดระวังอยู่ทีเดียวนั่น ภิกษุหน้าที่สำรวมล่ะ เรียกว่าอาจาระ นั่นแหละเรียกว่าอาจาระทั้งนั้น มารยาทของภิกษุด้วยกาย หาติเตียนไม่ได้ ด้วยวาจาก็หาติเตียนไม่ได้ จะเปล่งวาจาใดๆ ไม่ครูดโสต ไม่กระทบโสตใครเลย สำรวมทางวาจาทีเดียว มารยาทของกาย ของวาจา ตลอดจนกระทั่งถึงใจ เป็นอัพโพหาริกลงไปในเจตนาของภิกษุก็ไม่ประทุษร้ายผู้หนึ่งผู้ใด เจตนาประกอบอยู่ด้วยเมตตา เป็นปุเรจาริกทีเดียว นั่นเรียกว่าอาจาระทั้งนั้น ไม่ใช่โคจรสัมปันโน เป็นอาจารสัมปันโน ถึงพร้อมแล้วด้วยมารยาท เครื่องมาประพฤติโดยเอื้อเฟื้อ นี่ย่อลงไปได้ความดังนี้
    โคจรสัมปันโน ภิกษุถึงพร้อมด้วยโคจร อโคจร ภิกษุไม่ไปในที่อโคจร ที่อโคจรมากนัก กว้างขวาง โคจรสัมปันโน ถึงพร้อมแล้วด้วยโคจรน่ะ ไปในที่โคจรของตัว ท่านกล่าวที่อโคจรไว้ เวสิยาทิเภเท ภิกษุไม่ไปหาในหญิงแพศยา หญิงม่าย หญิงสาวใหญ่ ภิกษุไม่ไปมาหาสู่ เมื่อเขาเชื้อเชิญนิมนต์ก็ไปตามหน้าที่ แต่ว่าเรื่องจะไปเรื่องกิจอื่นนอกจากเขานิมนต์ไปเช่นนั้น จะไปสนทนาปราศรัยอย่างสามัญชนธรรมดาไม่มี เพราะภิกษุไม่ไปในที่เช่นนั้น ในสกุลหญิง แพศยา หญิงม่าย หญิงสาวใหญ่ ภิกษุไม่ไป เรียกว่าเป็นอโคจรของภิกษุ หรือในโรงสุรา โรงยาฝิ่น เหล่านี้เป็นอโคจรของภิกษุ ภิกษุไม่เข้าไป ถ้าภิกษุสามเณรองค์หนึ่งองค์ใดเข้าไป ในโรงสุรายาฝิ่นเป็นอย่างไร ๒-๓ หนเท่านั้นแหละ ภิกษุอื่นก็นึกว่ามันกระไรๆ เสียแล้วล่ะ ภิกษุองค์นั้นน่ะ เห็นจะไปติดฝิ่นเสียก็ไม่รู้ หรือจะไปดื่มสุราก็ไม่รู้ แม้โรงดื่มที่เขาตั้งในถนนหนทางก็ไม่เข้าไปนั่ง เข้าไปนั่งในที่นั้น กลัวเพื่อนสหพรหมจารีรังเกียจ จะไม่นั่งดื่มแต่กาแฟน่ะซี จะกระซิบหรือใช้เลศนัยให้เจ้าของกาแฟส่งสุรามาให้น่ะซี ไม่เข้าไปนั่งทีเดียว โรงดื่มเช่นนั้น ละอายแก่ใจไม่เข้าไป กลัวจะเสียชื่อ อโคจรของภิกษุยังมีอีกมาก โรงมหรสพต่างๆ เป็นอโคจรทั้งนั้น ที่ใดเขาประชุมกันในเรื่องพลเมือง เขาต้องการสนุกสนานกันในสถานที่ใดๆ เป็นอโคจรของภิกษุทั้งนั้น แม้เขากรีฑาทัพกันภิกษุเข้าไปดูไม่ได้ เป็นอโคจรของภิกษุ ที่ไปแล้วเขาติเตียนในสถานที่ใดๆ ในสถานที่นั้นๆ เป็นอโคจรของภิกษุทั้งนั้น อโคจรของภิกษุมีมากอย่างนี้ เมื่อเป็นภิกษุเข้าแล้ว มีศีลแล้ว มีในพระปาติโมกข์แล้ว อยู่ในมารยาทที่ดีแล้ว อโคจรก็ไม่มี ตั้งอยู่ในโคจรทีเดียว ไปในที่ๆ ควรไปทีเดียว
    อณุมตฺเตสุ วชฺเชสุ ภยทสฺสาวี เห็นภัยทั้งหลายในโทษมีประมาณน้อย ขึ้นชื่อว่าโทษแล้ว เท่าปลายผมปลายขน ไม่ให้กระเซ็นถูกทีเดียว อุปมาดุจดังว่าอุจจาระ ของที่เหมือนเท่าปลายผม ปลายขน กระเซ็นถูกเข้า รู้สึกว่าเหม็นสกปรก ภิกษุระวังความบริสุทธิ์ของภิกษุไม่ให้กระทบ ไม่ให้เข้าไปใกล้ของโสโครกปฏิกูลทีเดียว สิ่งที่เป็นโทษแล้วมีประมาณน้อยเท่าปลายผมปลายขน ก็ถอยใจออกห่าง เหมือนยังกับปีกไก่ใส่เข้าไปในไฟ ปีกไก่ไม่เข้า งอกลับเสีย ร่นตัวถอยเข้ามา ถอยเข้ามา ไม่ไปฉันใด ใจของภิกษุที่บวชในพระธรรมวินัยโดยซื่อตรงแล้ว ไม่เข้าไป ในโทษแม้มีประมาณน้อย ใจถอยกลับ ไม่เข้าไปในโทษทีเดียว สิ่งที่เป็นโทษไม่เข้าไปทีเดียว สิ่งที่เป็นอาบัติ สิ่งที่เป็นโทษ ไม่เอาใจสอดเข้าไปทีเดียว ไม่เจตนาทีเดียว ถอยกลับทีเดียว นี้ได้ชื่อว่า เห็นภัยทั้งหลายในโทษมีประมาณน้อย อณุมตฺเตสุ วชฺเชสุ ภยทสฺสาวี เห็นภัยทั้งหลายในโทษมีประมาณน้อย
    สมาทาย สิกฺขาปเทสูติ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบทน้อยใหญ่ สิกขาบททั้งหลายมากน้อยเท่าใด สมบูรณ์บริบูรณ์ เหมือนน้ำในมหาสมุทร น้ำจะไหลไปในทิศทั้ง ๔ ทั้ง ๘ ใน แม่น้ำน้อยใหญ่ ไหลเข้าไปในมหาสมุทรเท่าหนึ่งเท่าใด มหาสมุทรก็มีฝั่งรักษาน้ำไว้ได้ ไม่ให้ล้นบ่าท่วมไปในประเทศที่ไม่มีน้ำ รักษาไว้จำเพาะที่มีน้ำเท่านั้น นี้ฉันใด ภิกษุเมื่อเป็นภิกษุในธรรมวินัยเข้าแล้ว อยู่ในศีลของตัว ไม่ล้นกรอบศีลของตัวไปฉันนั้นเหมือนกัน อยู่ในกรอบของพระวินัยไม่ล้นกรอบพระวินัยฉันนั้นเหมือนกัน อย่างนี้ได้ชื่อว่าภิกษุนั่นแหละตั้งอยู่ในศีลเบื้องบน ไม่ใช่ศีลเบื้องต่ำ ศีลเบื้องสูงเป็นศีลของภิกษุ ต้องรักษาปฏิบัติดังนี้ สามเณรก็อยู่ในหน้าที่ของสามเณร ศีลเพียง ๑๐ สิกขาบทก็หนักมืออยู่เหมือนกัน นั่นก็หนักมือเหมือนกัน ถ้าว่าสะเพร่าละก็ รักษาได้ยาก ต้องละเอียดจึงจะรักษาได้ง่าย ฝ่ายภิกษุเล่า ถ้าว่าสะเพร่า ก็รักษาไม่ได้ เป็นของสูง ของละเอียด ต้องละเอียดทีเดียวจึงรักษาได้


    เหตุนี้ ศีลที่แสดงมานี้ในเหฏฐิมศีลและอุปริมศีลทั้ง ๒ ประการนี้ เป็นเบื้องต้นของพุทธศาสนิกชนทั้งคฤหัสถ์บรรพชิตทุกถ้วนหน้า


    ถ้าว่าไม่มีศีลจริงแล้ว จะอวดว่าปฏิบัติศาสนาละโกงตัวเอง ไม่ทำตัวเองให้พ้นจากทุกข์ได้ ตัวเองจะต้องอยู่ในปลักกิเลสนั่นเอง เปลื้องตนพ้นกิเลสไม่ได้



    เหตุนี้ต้องคอยระแวดระวัง ต้องตั้งตนให้อยู่ในศีลจริง เหมือนพระอริยบุคคล อิธ อริยสาวโก ให้ตั้งอยู่ในศีล ๕ จริงๆ เหมือนพระอริยบุคคลตั้งอยู่ในศีล ๘ จริงๆ เหมือนพระอริยบุคคลตั้งอยู่ในศีล ๑๐ จริงๆ เหมือนพระอริยบุคคลตั้งอยู่ในศีล ๒๒๗ เหมือนยังกับ ภิกษุในพุทธศาสนาที่เป็นผู้มีความประพฤติดีงามตามพระธรรมวินัยของพระศาสดา


    ที่ได้ชี้แจงแสดงมาตามวาระพระบาลี คลี่ความเป็นสยามภาษา แห่งศีล ทั้งเหฏฐิมศีลและอุปริมศีล ตามวาระพระบาลีคลี่ความเป็นสยามภาษา ตามมตยาธิบาย พอสมควรแก่เวลา

    เอเตน สจฺจวชฺเชน ด้วยอำนาจความสัจที่ได้อ้างธรรมปฏิบัติ ในศีลเบื้องต่ำและเบื้องสูงทั้ง ๒ ประการนี้ พอสมควรแก่เวลา ด้วยอำนาจสัจจวาจาที่ได้อ้างธรรมเทศนาตั้งแต่ต้นจนอวสานนี้ ขอความสุขสวัสดีจงบังเกิดมีแก่ท่านทั้งหลาย ทั้งคฤหัสถ์บรรพชิตบรรดามาสโมสรในสถานที่นี้ ทุกถ้วนหน้า อาตมภาพชี้แจงแสดงมาพอสมควรแก่เวลา สมมุติว่ายุติธรรมีกถาโดยอรรถนิยมความเพียงเท่านี้ เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้.
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • y-03.1.jpg
      y-03.1.jpg
      ขนาดไฟล์:
      65.5 KB
      เปิดดู:
      668
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 4 ตุลาคม 2014
  4. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,875
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,146
    ค่าพลัง:
    +70,543
    ผู้ปฏิบัติสายอื่นแต่ไม่เห็น "ธรรมกาย" แต่ระดับจิตถึงพระธรรมกาย นั้นมีไหม ?

    
    ผู้ปฏิบัติไม่เห็น "นิมิตธรรมกาย" (นี่คิดผิดนะครับ) คือปฏิบัติสายอื่น แต่ระดับจิตถึงพระธรรมกาย นั้นมีไหม ?


    ----------------------------------------------------------
    ตอบ:

    ข้อหนึ่ง คำว่า “นิมิตธรรมกาย” นั้นอย่าพูดเลยนะครับ ธรรมกายไม่ใช่นิมิต นะครับ... ของจริงนิมิตมีสองสามอย่างให้เข้าใจ ประเภทของนิมิต

    หนึ่ง.. นึกขึ้น นึกให้เห็น เช่น นึกให้เห็นดวงแก้ว เรียกว่าบริกรรมนิมิต เจริญภาวนา ไป ใจมันหยุดรวม ได้อุคคหนิมิตเห็นเป็นดวงใสขึ้นมา แต่เห็นอยู่ไม่ได้นาน ใจก็รวมหยุดแน่วแน่ เข้าไปอีกถึงปฏิภาคนิมิต (นิมิตติดตา) ระดับสมาธิมันก็ชั้นสูงจาก ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ นี่ระดับต่ำสูงขึ้นไปเป็นปฏิภาคนิมิต ก็อัปปปนาสมาธินั่นระดับปฐมฌาน ตรงนั้นชื่อว่านิมิต อย่างหนึ่ง คิดเอาแล้วจิตมันค่อยหยุดนิ่ง ถ้าที่คิดเอานั้น กลายเป็นอุคคหนิมิต และปฏิภาคนิมิต นี่ประเภทหนึ่ง

    อีกประการหนึ่ง..นอนฝัน ฝันก็เป็นนิมิตเรียกว่า สุบินนิมิต ถ้าไม่นอนฝัน..อะไร ๆ ที่เรามองเห็น นี่เรียกว่า นามรูป ก็เห็นเป็นนิมิตก็ได้ อย่างตัวท่านจะเรียกเป็นนิมิตก็ได้.. การมองเห็นข้างในก็เป็นนิมิต คือจากการมนุษย์ เห็นกายมนุษย์ละเอียด ทิพย์ ทิพย์ละเอียด พรหม พรหมละเอียด อรูปพรหม อรูปพรหมละเอียด แต่นิมิตมันมีของปลอมกับของจริง

    ของปลอม คือ ไม่นึกจะเห็น แต่ก็เห็นแปลกประหลาดไป ไม่เป็นไปตามที่เป็นจริง จริงนี้หมายถึงจริงโดยสมมติบางทีนั่งแล้วเห็นเสือกระโดด โฮ้ก..เข้าใส่ แต่เปล่า เสือไม่มี นี่ก็เห็นได้เช่นกัน หรือบางคนนั่งแล้วเห็นผี.. แต่เปล่าผีไม่มี นี่เรียกว่า เห็นของไม่จริง จะเกิดแก่ ผู้ที่เอาใจออกนอกตัว หลวงพ่อวัดปากน้ำจึงให้เอาใจเข้าในตัว เพื่อชำระใจของเราให้สะอาด บริสุทธิ์ หยุดนิ่งเป็นอารมณ์เดียว ปราศจากกิเลสนิวรณ์ จิตใจก็เที่ยง เห็นตามที่เป็นจริง พอ..ใจ หรือเห็น จำ คิด รู้ ที่มันเห็นนะ มันไปวางอยู่ตรงกำเนิดธาตุธรรมเดิม ซึ่งเป็นที่ตั้งของกาย เวทนา จิต ธรรม ณ ภายใน มันก็เห็นตรงตามนั้น สิ่งที่เห็นอย่างนั้น เห็นจริงโดยสมมติ

    นิมิตจริง ก็เห็น นาย ก. นาย ข. เห็นพระ เห็นเณร แม่ชี เห็นของจริงทั้งนั้น ที่เห็น ๆ อยู่นี่ เห็นเข้าไปข้างในตามที่เป็นจริง ก็จริง แต่ว่าจริงโดยสมมติ

    นี่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อไม่โดดเดี่ยว ยินดียิ่งในความ เงียบสงัดแล้ว จักถือเอานิมิตแห่งสมาธิจิต และวิปัสสนาจิตได้นั้น ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่มีได้เป็นได้”

    แต่ถ้ามันเลยนิมิตนี่ไปเห็นธาตุล้วนธรรมล้วน จริง ๆ เขาไม่เรียกว่านิมิต เพราะนิมิต ชื่อว่า เบญจขันธ์หรือนามรูป เกิดแต่อวิชชา แต่ธรรมกาย ไม่ใช่เบญจขันธ์ เป็นธรรมบริสุทธิ์ จึงเรียกว่า ธรรมขันธ์ เหมือนพระรุ่น 4 ที่ว่าดัง ๆ นั่น...พระผงธรรมขันธ์ ก็ธรรมกายนั่นแหละ ไม่เกิดแต่อวิชชา เป็นกายที่พ้นภพ 3 นี้ไป เป็นของจริงครับ เป็นปรมัตถธรรม แต่ว่าจำเพาะส่วน ที่ยังไม่บรรลุ คือจัดเป็น โคตรภู คืออยู่ระหว่างโลกิยะกับโลกุตตระ แต่กำลังจะขึ้นไป แต่ถ้าว่า เป็นธรรมกาย มรรค ธรรมกายผล พระนิพพาน แล้วหละก็เป็นธรรมขันธ์แท้ ๆ ชัดเจน ไม่เรียกว่า นิมิตครับ ไปเข้าใจผิดกันแล้วเอามาโจมตีกันเรื่องนี้แหละครับ เพราะเขาแยกนิมิต แยกของจริง ของปลอมไม่ค่อยชัดเจน ก็มั่วไป ก็ไปคลุมว่าเห็นอะไรเห็นได้ เรียกว่านิมิต จริง ๆ นิมิตอยู่ใน ครรลอง ในสภาวะที่จะสัมผัสได้ด้วยอายตนะของกายในภพ 3 ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เช่นเห็นกายมนุษย์ คือ ตาเห็นรูป หรือว่า ทิพพจักขุ เห็นกายทิพย์ พรหมจักขุเห็นกายพรหม อย่างนี้เป็นของในภพ 3

    แต่ว่าเห็นโดยพุทธจักขุ ตรงนี้ไม่ใช่นิมิตหละ ของจริง..มันเข้าเขตปรมัตถ์ ที่โจมตีกัน มันไม่ถูกหรอกครับ เพราะมันเข้าไม่ถึง มันเลยไม่รู้เรื่อง ก็ตีกันไป ก็ไม่ว่ากระไร เป็นเรื่องของท่าน จะเข้าใจอย่างไรก็ว่ากันไปตามเรื่อง แต่ว่าจะได้ผลเป็นบุญเป็นบาปอย่างไร นั่นก็เป็นเรื่องของท่าน อีกเหมือนกัน

    สรุปว่า เขาถามว่าปฏิบัติสายอื่น แต่ระดับจิตถึงธรรมกายน่ะ มีไหม?

    มีครับ..ต้องมีครับ อันนี้ไม่ปฏิเสธนะครับ จะสายพุทโธ ยุบหนอ พองหนอ สัมมา­อะระหังหรือว่าอะไร ๆ ก็ตาม ถ้าจิตถึงก็ถึงครับ ไม่มีปัญหาครับ

    ถ้ามีจะหลุดพ้นหรือไม่ ? หลุดสิครับ ทำไมจะไม่หลุด
     
  5. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,875
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,146
    ค่าพลัง:
    +70,543
    วิธีเดินสมาบัติในวิชชาธรรมกายอาจทำได้สองวิธี

    วิธีแรกเป็นวิธีสำหรับผู้มีสมาธิแก่กล้า เมื่อได้ปฐมฌาน
    แล้ว ก็อธิษฐานจิตให้ได้ฌานที่ละเอียดกว่าขึ้นไป แล้วย้อนลง
    มา

    อีกวิธีหนึ่ง เริ่มด้วยการดูดวงธรรมที่ทำให้เป็นกาย
    มนุษย์ หรือ ปฐมมรรคที่ศูนย์กลางกายมนุษย์ ให้เห็นเป็นดวง
    ใส แล้วขยายให้กว้างออกไป วัดเส้นผ่าศูนย์กลางด้วยฌาน
    ได้ 2 วา หนา 1 คืบ วัดโดยรอบ 6 วา สัณฐานกลมใส
    เหมือนกระจกส่องหน้า นี่เป็นปฐมฌาน แล้วธรรมกายนั่งบน
    นั้น ดังนี้เรียกว่าธรรมกายเข้าปฐมฌาน แล้วเอาตาธรรมกายที่
    นั่งบนฌานนั้น เพ่งดูดวงธรรมที่ศูนย์กลางกายทิพย์ ให้เห็นเป็น
    ดวงใส แล้วขยายส่วนให้เท่ากัน นี่เป็นทุติยฌาน เอา
    ธรรมกายน้อมเข้าฌานที่ได้จากศูนย์กลางกายรูปพรหม และ
    อรูปพรหม จะได้ตติยฌานและจตุตถฌานตามลำดับ แล้วเอา
    ธรรมกายเข้าฌาน คือ นั่งอยู่บนฌานนั้น เหล่านี้เป็นรูปฌาน
    ต่อจากนี้ไป ให้ใจธรรมกายน้อมไปในเหตุว่าง หรือ ตรงกลาง
    ของปฐมฌาน จะเห็นเป็นดวงใสเท่าจตุตถฌาน ธรรมกายก็นั่ง
    บนดวงนั้น เมื่อธรรมกายนั่งอยู่บนอากาสานัญจายตนฌานดัง
    นี้แล้ว ใจธรรมกายน้อมไปในรู้ ในเหตุว่างของ ทุติยฌาน
    อากาสานัญจายตนฌานก็จางหายไป เกิด วิญญาณัญจา
    ยตนฌาน ธรรมกายนั่งอยู่บนวิญญาณัญจายตนฌานนั้น ใจ
    ธรรมกายน้อมไปในรู้ละเอียด ในเหตุ ว่างของ ตติยฌาน วิญ
    ญาณัญจายตนฌานก็จางหายไป เกิดอากิญจัญญายตนฌาน
    ธรรมกายนิ่งอยู่บนอากิญจัญญายตนฌานนั้น ใจธรรมกายน้อม
    ไปใน รู้ก็ใช่ ไม่รู้ก็ใช่ ในเหตุว่างของจตุตถฌาน อา
    กิญจัญญายตฌานก็จางหายไป เกิดเนวสัญญานาสัญญายตน
    ฌานขึ้นมาแทน ขณะนี้ จะมีฌานรู้สึกว่าละเอียดจริง ประณีต
    จริง เอา ธรรมกายนั่งอยู่บนเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน
    นั้น ถ้าเข้าฌานตั้งแต่ 1 ถึง 8 เรียกว่า อนุโลม การเดิน
    ฌานในวิชชาธรรมกาย กระทำได้ง่ายกว่าที่เข้าใจกันโดยทั่ว
    ไปมากนัก

    อันที่จริงนั้น เมื่อเห็นปฏิจจสมุปบาทธรรมแล้ว ย่อม
    ถือได้ว่า ได้เห็นอริยสัจ 4 ด้วย แต่ในด้านการปฏิบัติ เรา
    จะต้องเดินฌานแทงตลอดอริยสัจ 4 ทุกระยะ มิฉะนั้นแล้ว
    วิปัสสนาญาณจะไม่เกิดขึ้น ดวงอริยสัจ 4 นี้ ซ้อนอยู่ที่ดวง
    ธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์นั้นเอง

    ดวงอริยสัจชั้นแรกมี 4 ดวง เป็นดวงเกิด แก่ เจ็บ ตาย
    ซึ่งรวมเรียกว่าทุกข์ มีขนาดอย่างใหญ่เท่าดวงจันทร์ ขนาดเล็ก
    เท่าไข่แดงของไก่

    -ดวงเกิด มีสีขาวใส
    -ดวงแก่ มีสีดำแต่ไม่ใส ถ้าดวงยังเล็กก็เริ่มแก่ ถ้า
    ใหญ่ก็แก่มาก
    -ดวงเจ็บ สีดำเข้มยิ่งกว่าดวงแก่ ถ้าดวงเจ็บมาจรด
    เข้าในศูนย์กลางดวงแก่ ผู้นั้นจะเจ็บไข้ได้ป่วยทันที
    -ดวงตาย เป็นสีดำใสประดุจนิลทีเดียว ดวงตายนี้ถ้า
    มาจรดตรงกลางดวงเจ็บ แล้วมาจรดตรงหัวต่อของกายมนุษย์
    กับกายทิพย์ พอมาจรดเข้าเท่านั้น หัวต่อของกายมนุษย์กับ
    กายทิพย์ก็จะขาดจากกัน เมื่อใดกายมนุษย์ไม่ต่อเนื่องกับกาย
    ทิพย์ เมื่อนั้นกายมนุษย์ก็ตายทันที

    ดวงเกิด แก่ เจ็บ ตายของแต่ละคนไม่เท่ากัน
    อย่างเล็กขนาดไข่แดงของไก่ขนาดกลาง อย่างใหญ่เท่าดวง
    พระจันทร์ ทั้งนี้แล้วแต่ว่าเกิดมามีบุญบาปติดตัวมามากน้อย
    เท่าใด แก่เจ็บจวนจะตายเร็วช้ากว่ากันเท่าใด

    ดวงอริยสัจชั้นที่สองมี 3 ดวง รวมเรียกว่า ดวง
    สมุทัย มีขนาดอย่างใหญ่เท่าดวงจันทร์ อย่างเล็กเท่าเมล็ด
    โพธิ์เมล็ดไทร ดวงแรกสีดำเข้ม ดวงต่อไปมีความ
    ละเอียด และเข้มมากขึ้น ดวงทั้ง 3 ดวงนี้ คือ ดวงกาม
    ตัณหา ดวงภวตัณหา และดวงวิภวตัณหา

    ขั้นต่อไป เป็นดวงกลมใหญ่ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์
    กลางวัดด้วยญาณได้ 5 วา มีสีขาวใสเรียกว่า ดวงนิโรธ
    เมื่อเข้าถึงดวงนิโรธ ความใสสว่างของนิโรธจะดับ ดวง
    สมุทัย ให้หายวับไป เสมือนแสงตะวัน ขจัดความมืดให้มลาย
    ไปฉะนั้น

    ขั้นต่อไป เป็น ดวงมรรค มีอยู่ 3 ดวง เป็นดวงศีล
    ดวงหนึ่ง สมาธิดวงหนึ่ง ปัญญาดวงหนึ่ง แต่ละดวงมีขนาด
    5 วา มีสัณฐานกลม ใสบริสุทธิ์ยิ่งนัก

    การแทงตลอดอริยสัจ ทำให้มีปัญญารู้ญาณ 3 ญาณ คือ

    มีปัญญารู้ว่า การเกิด แก่ เจ็บ ตายนี้ ไม่เที่ยง ไม่แน่
    นอนจริง รู้ว่าสมุทัยทำให้ทุกข์เกิดจริง นิโรธสามารถดับทุกข์
    ได้จริง มรรคเป็นทางหลุดพ้นได้จริง เรียกว่า สัจจญาณ

    มีปัญญารู้ว่า การเกิด แก่ เจ็บ ตาย นี้เป็นทุกข์จริง
    เป็นสิ่งควรรู้ รู้ว่าสมุทัยเป็นสิ่งควรละ รู้ว่านิโรธเป็นสิ่งที่ควร
    ทำให้แจ้ง และ รู้ว่ามรรคเป็นทางที่ควรเจริญ เรียกว่า กิจจญาณ

    มีปัญญารู้ว่า ได้รู้ทุกข์ชัดเจนแล้ว ละสมุทัยได้ขาด
    แล้ว สามารถทำนิโรธให้แจ้งได้แล้ว และสามารถทำมรรคให้
    เจริญได้แล้ว เรียกว่า กตญาณ

    สัจจญาณ กิจจญาณ และ กตญาณ ตามที่เขียน
    อย่างข้างบนนี้ เขียนเพื่อให้อ่านเข้าใจได้ง่าย ในด้านการ
    ปฏิบัติจริงๆ เมื่อปฏิบัติถึงดวงทุกข์ก็จะกำหนด รู้ทุกข์ทั้งในแง่
    สัจจญาณ กิจจญาณ และ กตญาณ เมื่อถึงสมุทัย นิโรธ
    มรรค ก็จะกำหนดรู้ได้เช่นเดียวกัน

    ญาณทั้งสามนี้เป็นปัญญาที่ผุดขึ้นมาเอง ในระหว่าง
    การปฏิบัติ ไม่ได้เป็นวิปัสสนึก เป็นปัญญาที่ทำให้รู้ว่าสัจ
    จธรรมนั้นมีจริง ถ้าเพียรปฏิบัติอย่างถูกทางไม่ท้อถอยก็จะพ้น
    จากทุกข์ได้ ญาณทั้งสามกลุ่มรวม 12 ญาณของอริยสัจ
    (4x3=12) ในตอนนี้ เปรียบเหมือนจอบเสียมที่นำมาใช้ใน
    การขุดพื้นดิน เพื่อกระแสธารปัญญาจะสามารถไหลไปสู่ นิพพิ
    ทาญาณ ที่นั้น ฐานทั้ง 12 ญาณของอริยสัจ จะวิวัฒนาการ
    เป็น ปฏิจจสมุปบาทธรรม 12 (โปรดดูปฏิสัมภิทามัคค์ มหา
    วรรคญาณกถา ข้อ 10 ถึงข้อ 29 ) ทำให้สามารถกำหนดรู้
    อนิจจัง และ สมุทัย ซึ่งเป็นต้นทางให้กำหนดรู้ อริยสัจ และ
    พระไตรลักษณ์ขั้นละเอียด ซึ่งเป็นธรรมาวุธ อันคมกล้า
    ประหารสังโยชน์พินาศไปในพริบตา

    ญาณทั้งสามกลุ่ม คือ สัจจญาณ กิจจญาณ และ
    กตญาณ หรืออริยสัจ 12 นี้ จะเห็นและกำหนดรู้ได้ ก็โดย
    การปฏิบัติทางเจโตสมาธิประการหนึ่ง หรือวิชชาธรรมกาย ประการหนึ่งเท่านั้น

    (ในพระไตรปิฎกมีระบุอย่างชัดแจ้งไว้ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
    ปฐมเทศนา พระวินัยปิฎกข้อ 15 และ 16 ว่า เป็นญาณทัส
    สนะ มีรอบ 3 มีอาการ 12)

    ผู้ที่ปฏิบัติวิปัสสนาแบบไตรลักษณ์ ที่เคยปฏิบัติสมถะ
    มาก่อน กำหนดรู้ญาณทั้งสามนี้ได้ เมื่ออุทยัพพยญาณเกิด จะ
    ต้องแทงตลอดอริยสัจขั้นหยาบนี้ก่อน ภังคญาณจึงจะเกิด
    ตามมา







    --------------------------------------------------
    เมื่อบุคคลใดได้เจริญวิปัสสนากรรมฐานมากขึ้นเรื่อย ๆ
    แล้ว ก็จะเกิดปัญญามองเห็นธรรมชาติที่แท้จริงของสิ่งต่าง ๆ
    มากขึ้นเรื่อย ๆ ที่เรียกว่าญาณขั้นต่าง ๆ (คำว่าญาณนี้เป็นชื่อ
    ของปัญญาในวิปัสสนา ต่างจากฌานซึ่งเป็นขั้นต่าง ๆ ของ
    สมาธิ) จนกระทั่งปัญญาญาณนั้นแก่กล้าจนสามารถทำลาย
    ความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่าง ๆ อย่างถาวร อันเป็นผลให้กิเลสที่
    เกิดจากความยึดมั่นในขั้นนั้นถูกทำลายลงไปอย่างสิ้นเชิง จิต
    ในขณะที่เห็นแจ้งในความที่ไม่สามารถยึดมั่นในสรรพสิ่งทั้งปวง
    ได้อย่างชัดเจน จนสามารถทำลายกิเลสได้นี้เรียกว่ามรรคจิต
    ซึ่งจะเกิดขึ้นเพียงแค่ขณะจิตเดียว คือเกิดอาการปิ๊งขึ้นมาแว๊ป
    เดียว กิเลสและความยึดมั่นในขั้นนั้นก็จะไม่เกิดขึ้นอีกเลย

    บุคคลในขณะที่มรรคจิตเกิดขึ้นนี้เรียกว่ามรรคบุคคล
    ซึ่งนับเป็นอริยบุคคลประเภทหนึ่ง


    บุคคลจะเป็นมรรคบุคคลแค่เพียงชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้น
    หลังจากนั้นก็จะได้ชื่อว่าผลบุคคล คือบุคคลผู้เสวยผลจากมรรค
    นั้นอยู่ ไปจนกว่ามรรคจิตในขั้นที่สูงขึ้นไปจะเกิดขึ้นอีกครั้ง เพื่อ
    ทำลายความยึดมั่นและกิเลสที่ประณีตขึ้นไปอีก

    มรรคจิตแต่ละขั้นนั้นจะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวเท่านั้น
    แล้วจะไม่เกิดขึ้นในขั้นเดิมซ้ำอีกเลย จะเกิดก็แต่ขั้นที่สูงขึ้นไป
    เท่านั้น เพราะความยึดมั่นในขั้นที่ถูกทำลายไปแล้ว จะไม่มี
    โอกาสกลับมาให้ทำลายได้อีกเลย


    อริยบุคคล 8 ประเภทนั้นประกอบด้วยมรรคบุคคล
    4 ประเภท และผลบุคคล 4 ประเภท ดังนี้คือ
    1.) โสดาปัตติมรรคบุคคล คือบุคคลในขณะที่มรรคจิตเกิดขึ้น

    เป็นครั้งแรก ที่เรียกว่าโสดาปัตติมรรคจิต โสดาปัตติมรรค
    บุคคลนี้นับเป็นอริยบุคคลขั้นแรก และได้ชื่อว่าเป็นผู้หยั่งลงสู่
    กระแสพระนิพพานแล้ว มรรคจิตในขั้นนี้จะทำลายกิเลสได้ดังนี้
    คือ(ในที่นี้จะใช้สัญโยชน์ ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการแบ่ง
    ประเภทของกิเลส เป็นหลักในการอธิบาย - ดูเรื่องสัญโยชน์
    10 ประกอบ)

    - สักกายทิฏฐิ
    - วิจิกิจฉา
    - สีลพตปรามาส

    รวมทั้งโลภะ(ความโลภ) โทสะ(ความโกรธ, ขัดเคืองใจ,
    กังวลใจ, เครียด, กลัว) โมหะ(ความหลง คือไม่รู้ธรรมชาติที่
    แท้จริงของสรรพสิ่ง) ในขั้นหยาบอื่น ๆ อันจะเป็นผลให้ต้องไป
    เกิดในอบายภูมิ (เดรัจฉาน, เปรต, อสุรกาย, นรก) ด้วย

    2.) โสดาปัตติผลบุคคล หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าโสดาบัน
    คือผู้ที่ผ่านโสดาปัตติมรรคมาแล้ว

    คุณสมบัติที่สำคัญของโสดาบันก็คือ

    - พ้นจากอบายภูมิตลอดไป คือจะไม่ไปเกิดในอบายภูมิอีกเลย
    เพราะจิตใจมีความประณีตเกินกว่าที่จะไปเกิดในภูมิเหล่านั้นได้
    (ใครจะไปเกิดในภูมิใดนั้น ขึ้นกับสภาพจิตตอนใกล้ตายที่เรียก
    ว่ามรณาสันนวิถี ถ้าขณะนั้นจิตมีสภาพเป็นอย่างไร ก็จะส่งผล
    ให้ไปเกิดใหม่ในภูมิที่มีสภาพใกล้เคียงกับสภาพจิตนั้นมากที่สุด)

    - อีกไม่เกิน 7 ชาติจะบรรลุเป็นพระอรหันต์

    - มีศรัทธาในพระรัตนตรัยอย่างมั่นคง ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน
    จะไม่คิดเปลี่ยนศาสนาอีกเลย

    - มีศีล 5 บริบูรณ์ (ไม่ใช่แค่บริสุทธิ์) คือความบริสุทธิ์ของศีล
    นั้นเกิดจากความบริสุทธ์/ความประณีต ของจิตใจจริง ๆ
    ไม่ใช่ใจอยากทำผิดศีลแต่สามารถข่มใจไว้ได้ คือใจสะอาด
    จนเกินกว่าจะทำผิดศีลห้าได้

    3.) สกทาคามีมรรคบุคคล หรือสกิทาคามีมรรคบุคคล
    คือบุคคลที่เจริญวิปัสสนาต่อไปอีกจนกระทั่ง มรรคจิตเกิดขึ้น
    เป็นครั้งที่ 2 ที่เรียกว่าสกทาคามีมรรคจิต มรรคจิตในขั้นนี้ ไม่
    สามารถทำลายกิเลสตัวใหม่ให้หมดไปได้อย่างสิ้นเชิงเหมือน
    มรรคจิตขั้นอื่น ๆ เป็นแต่เพียงทำให้ โลภะ โทสะเบาบางลงเท่า
    นั้น โดยเฉพาะกามฉันทะ และปฏิฆะ ถึงแม้ว่าความยึดมั่นที่มี
    อยู่จะน้อยลงไปก็ตาม ทั้งนี้เพราะกามฉันทะและปฏิฆะนั้นมี
    กำลังแรงเกินกว่า จะถูกทำลายไปได้ง่าย ๆ

    4.) สกทาคามีผลบุคคล หรือสกิทาคามีผลบุคคล คือผู้ที่ผ่าน
    สกทาคามีมรรคมาแล้ว

    คุณสมบัติสำคัญของสกทาคามีผลบุคคลก็คือ ถ้ายังไม่
    สามารถบรรลุธรรมที่สูงขึ้นไปได้ในชาตินี้ ก็จะกลับมาเกิดใน
    กามภูมิอีกเพียงครั้งเดียวก็จะบรรลุธรรมที่สูงขึ้นไปได้ แล้วจะ
    พ้นจากกามภูมิตลอดไป เพราะอริยบุคคลขั้นนี้เป็นขั้นสุดท้าย
    ที่จะเกิดในกามภูมิได้อีก

    คำว่ากามภูมินั้นได้แก่ สวรรค์ 6 ชั้น มนุษยภูมิ เดรัจฉาน
    เปรต อสุรกาย นรก แต่สกทาคามีบุคคลนั้นพ้นจากอบายภูมิไป
    แล้วตั้งแต่เป็นโสดาบัน จึงเกิดได้เพียงในสวรรค์ และมนุษย์เท่านั้น

    5.) อนาคามีมรรคบุคคล คือบุคคลที่เจริญวิปัสสนาต่อไป
    อีกจนกระทั่ง มรรคจิตเกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ที่เรียกว่าอนาคามี
    มรรคจิต ทำลายกิเลสได้เด็ดขาดเพิ่มขึ้นอีก 2 ตัวคือ

    - กามฉันทะ
    - ปฏิฆะ


    6.) อนาคามีผลบุคคล คือผู้ที่ผ่านอนาคามีมรรคมาแล้ว

    คุณสมบัติที่สำคัญของอนาคามีผลบุคคลคือ ถึงจะยังไม่บรรลุ
    เป็นพระอรหันต์ ก็จะไม่กลับมาเกิดในกามภูมิอีกเลย แต่จะไป
    เกิดในภูมิที่พ้นจากเรื่องของกามคือรูปภูมิ หรืออรูปภูมิเท่านั้น
    (ดูหัวข้อรูปราคะ และอรูปราคะในเรื่องสัญโยชน์ 10 ประกอบ)
    ในรูปภูมิ 16 ชั้นนั้น จะมีอยู่ 5 ชั้นที่เป็นที่เกิดของอนาคามีผล
    บุคคลโดยเฉพาะ ซึ่งรวมเรียกว่าสุทธาวาสภูมิ ดังนั้น ใน
    สุทธาวาสภูมิทั้ง 5 ชั้นนี้ จึงมีเฉพาะอนาคามีผลบุคคล อรหัต
    ตมรรคบุคคล และพระอรหันต์ (ที่บรรลุเป็นพระอรหันต์ในภูมินี้
    แล้วยังมีชีวิตอยู่) เท่านั้น

    สุทธาวาสภูมิ 5 ชั้นประกอบด้วย

    - อวิหาภูมิ
    - อตัปปาภูมิ
    - สุทัสสาภูมิ
    - สุทัสสีภูมิ
    - อกนิฏฐาภูมิ

    7.) อรหัตตมรรคบุคคล คือบุคคลที่เจริญวิปัสสนาต่อไป
    อีกจนกระทั่ง มรรคจิตเกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 ที่เรียกว่าอรหัตต
    มรรคจิต ทำลายกิเลสที่เหลือทุกตัวได้อย่างหมดสิ้น จนไม่มี
    กิเลสใด ๆ เหลืออีกเลย สัญโยชน์ที่มรรคจิตขั้นนี้ทำลายไป
    ได้แก่

    - รูปราคะ
    - อรูปราคะ
    - มานะ
    - อุทธัจจะ
    - อวิชชา

    8.) อรหัตตผลบุคคล หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าพระอรหันต์
    คือผู้ที่ปราศจากกิเลสอย่างสิ้นเชิงแล้ว เพราะกิเลสตัวสุดท้าย
    ถูกทำลายไปในขณะแห่งอรหัตตมรรคจิตที่ผ่านมาแล้ว เป็นผู้ที่
    พ้นจากทุกข์ทางใจทั้งปวง เพราะไม่ยึดมั่นในสิ่งใดเลย แต่ยังคง
    ต้องทนกับทุกข์ทางกายต่อไป จนกว่าจะปรินิพพาน เพราะตราบ
    ใดที่ยังมีร่างกายอยู่ก็ไม่อาจพ้นจากทุกข์ทางกายไปได้


    นิพพานนั้นมี 2 ชนิด คือ

    - สอุปาทิเสสนิพพาน หรือนิพพานเป็น หมายถึงนิพพาน
    ที่ยังมีส่วนเหลือ คือกิเลสทั้งหลายดับไปหมดแล้ว พ้นจากทุกข์
    ทางใจทั้งปวงแล้ว แต่ยังมีร่างกายอยู่ ได้แก่พระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่นั่นเอง

    - อนุปาทิเสสนิพพาน หรือนิพพานตาย หมายถึงนิพพาน
    โดยไม่มีส่วนเหลือ คือพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ทั้งทางกาย และทาง
    ใจอย่างสิ้นเชิง ได้แก่พระอรหันต์ที่ตายแล้วนั่นเอง ซึ่งเรียกได้
    อีกอย่างว่าปรินิพพาน (ปริ = โดยรอบ, ปรินิพพาน = นิพพาน
    โดยรอบทุกส่วน คือทั้งร่างกายและจิตใจ คือนิพพานจากทุกข์
    ทั้งปวงนั่นเอง)




    พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบชีวิตในวัฏสงสารว่า
    ปุถุชนทั้งหลายเหมือนผู้คนที่ผุด ๆ โผล่ ๆ อยู่กลางน้ำลึก
    ต้องทนทุกข์ทรมาน สำลักน้ำอยู่อย่างไม่รู้อนาคต
    ต้องเสี่ยงภัยจากปลาร้ายทั้งหลาย

    โสดาบันเปรียบเหมือนผู้ที่พยุงตัวพ้นจากผิวน้ำขึ้นมาได้
    จนสามารถมองเห็นฝั่ง(แห่งพระนิพพาน)
    แล้วเตรียมตัวว่ายเข้าหาฝั่งนั้น

    สกทาคามีบุคคลเปรียบเหมือนผู้ที่กำลังว่ายเข้าหาฝั่ง

    อนาคามีบุคคลเปรียบเหมือนผู้ที่เข้าใกล้ชายฝั่งมาก
    คือถึงจุดที่น้ำตื้นพอที่จะหยั่งเท้าถึงพื้นดินได้
    แล้วเดินลุยน้ำเข้าหาฝั่ง จึงพ้นจากการสำลักน้ำแล้ว

    พระอรหันต์เปรียบเหมือนผู้ที่เดินขึ้นฝั่งได้เรียบร้อยแล้ว
    พ้นจากอันตรายทั้งปวงแล้ว รอวันปรินิพพานอยู่
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 5 ตุลาคม 2014
  6. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,875
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,146
    ค่าพลัง:
    +70,543
    ....วันๆหนึ่ง สำหรับผู้ที่เข้าถึงพระธรรมกาย
    ที่สามารถพิศดารกาย สับกาย ซ้อนกาย เดินสมาบัติ เป็นอนุโลม-ปฏิโลม แล้วปล่อยความยินดีในฌาณสมาบัติ จนเข้าถึงอายตนะพระนิพพานได้แล้ว


    ......ใน่ชีวิตประจำวันที่ต้องพบปะ ทำหน้าที่ในสังคม
    ควรแบ่งใจไว้ครึ่งหนึ่งเป็นอย่างน้อย ไว้ที่กลางของกลาง

    ทันที ที่ดวงธรรมหรือกาย หรือสภาวะธรรมใดๆ ที่ปรากฏ ไม่มีความผ่องใส ขาว ใส
    แต่มีความขุ่นมัว หมอง หรือ เป็นสีต่างๆที่ไม่ใส

    ......ให้ เจริญวิชชาให้ขาว ให้ใส โดยทันที

    เพื่อละ เพื่อดับ กิเลส นิวรณ์ ฯลฯ ที่เข้ามา

    ที่ฟูขึ้น ให้หมดกำลังลง (แม้ชั่วคราว)

    การรู้ การเห็น สภาวะธรรมจะไม่ผิดพลาดหรือผิดพลาดน้อยลง

    ...การศึกษาธรรมที่ละเอียดขึ้นไป ก็จะทำได้ดียิ่งขึ้น


    ........ทำไปเรื่อยๆ จนกว่ามรรคจิต มรรคปัญญา
    จะเจริญจนเข้าเขตอริยมรรค อริยผล หรือ ตามที่
    อธิษฐานจิตเอาไว้


     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 5 ตุลาคม 2014
  7. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,875
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,146
    ค่าพลัง:
    +70,543
    วิธีเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เห็นธรรมในธรรมคือ อุปาทานในขันธ์5

    .. ................และกุศลาธัมมา อกุศลาธัมมา อัพยากฤตธัมมา


    [​IMG]

    [​IMG]

    [​IMG]

    [​IMG]

    [​IMG]

    [​IMG]

    [​IMG]

    [​IMG]
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • T8.PNG
      T8.PNG
      ขนาดไฟล์:
      1.2 MB
      เปิดดู:
      740
    • T7.PNG
      T7.PNG
      ขนาดไฟล์:
      1.3 MB
      เปิดดู:
      696
    • T6.PNG
      T6.PNG
      ขนาดไฟล์:
      1.3 MB
      เปิดดู:
      756
    • T5.PNG
      T5.PNG
      ขนาดไฟล์:
      1.3 MB
      เปิดดู:
      951
    • T4.PNG
      T4.PNG
      ขนาดไฟล์:
      1.3 MB
      เปิดดู:
      1,234
    • T3.PNG
      T3.PNG
      ขนาดไฟล์:
      1.2 MB
      เปิดดู:
      1,045
    • T2.PNG
      T2.PNG
      ขนาดไฟล์:
      1.2 MB
      เปิดดู:
      1,187
    • T1.PNG
      T1.PNG
      ขนาดไฟล์:
      1.2 MB
      เปิดดู:
      1,113
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 5 ตุลาคม 2014
  8. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,875
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,146
    ค่าพลัง:
    +70,543
    ...........สติปัฏฐาน 4 ตามแนววิชชาธรรมกาย.............<!-- google_ad_section_end -->
    <HR style="BACKGROUND-COLOR: #ffffff; COLOR: #ffffff" SIZE=1><!-- google_ad_section_start -->ให้เพ่งตรงกลางดวงปฐมมรรค เมื่อถูกส่วน
    ก็จะเห็นดวงศีล ในกลางดวงศีลเห็นดวงสมาธิ ในกลางดวง
    สมาธิเห็นดวงปัญญา ในกลางดวงปัญญาเห็นดวงวิมุตติ
    ในกลางดวงวิมุตติเห็นดวงวิมุตติญาณทัสสนะ เมื่อได้ครบทั้ง
    5 ดวง ในกลางวิมุตติญาณทัสสนะ จะเห็นรูปคล้ายตัวผู้ปฏิบัติ
    เองนั่งอยู่ ในดวงกายนี้เรียกว่ากายมนุษย์ละเอียด เป็นกายที่
    เห็นได้ในความฝัน ถ้าเพ่งที่กลางกายมนุษย์ ก็จะมีดวงอีก 5
    ดวง คือดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ
    แล้วก็มีกายทิพย์เกิดขึ้น ตั้งแต่กายทิพย์นี้เป็นต้นไป จะมีกาย
    ประเภทเดียวกันเกิดขึ้นสองครั้ง ครั้งแรกเป็นกายสบายหรือ
    กายอดีต กายปัจจุบันเป็นกายละเอียด เมื่อเพ่งที่รูปกายเหล่า
    นี้ จะมีดวงอีก 5 ดวง เช่นนี้ทุกกาย ที่กลางกายทิพย์จะมีกาย
    รูปพรหม กลางกายรูปพรหม มีกายอรูปพรหม กลางกายอรูป
    พรหม มีกายธรรม

    พอปฏิบัติมาได้ถึงตอนนี้ ผู้ปฏิบัติจะเห็นสติ
    ปัฏฐาน 4 อย่างครบถ้วน

    การเห็นกายในกาย ได้แก่ การเห็นกายต่างๆดังได้กล่าว
    มาแล้ว กายเหล่านี้เป็นกายหยาบ กายละเอียด เป็นการเห็น
    กายหยาบละเอียด

    การเห็นเวทนาในเวทนา ได้แก่ การเห็นดวงในดวงขุ่น และ
    ดวงไม่ใส ไม่ขุ่น ถ้าสุขก็ใส ถ้าทุกข์ก็ขุ่น ถ้าไม่สุขไม่ทุกข์
    ก็เป็นสีตะกั่วตัด จะว่าดำก็อมขาว จะว่าขาวก็อมดำ
    ปรากฏการณ์นี้ จะเห็นได้ด้วยตากายมนุษย์ละเอียด

    การเห็นจิตในจิต ได้กล่าวมาแล้วว่า จิตนั้นลอยอยู่ในเบาะ
    น้ำเลี้ยงหัวใจ การเห็นจิตในจิต ก็คือ การเห็นจิตของกาย
    มนุษย์ กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม ที่เปลี่ยน
    ไป ตามสีของน้ำเลี้ยงหัวใจ

    ในเวลาเรียนอภิธรรมตอนวิถีจิต อาจารย์มักเขียนทาง
    เดินของจิตเป็นวงกลม ตามหางกันเป็นแถว ๆ ด้วยท่าทางอัน
    ทะมัดทะแมง มอง ๆ ดูคล้ายกับว่าอาจารย์กำลังสอนวิธี
    เล่นงูกินหาง ทำให้สำคัญไปว่า จิตคงเดินเช่นนั้น แต่ความ
    จริงแล้ว จิตเกิดขึ้นในจิตเอง คล้ายน้ำพุ


    การเห็นธรรมในธรรม ก่อนจะได้กายมนุษย์ กายทิพย์ และ
    กายอื่นๆ แต่ละกายจะมีดวงธรรม ขนาดไข่แดงของไก่นำมา
    ก่อน แล้วกายจึงจะเกิด การเห็นดวงธรรมหรือดวงขันธ์ 5
    ที่ทำให้เป็นกายต่างๆนี้แหละ คือการเห็นธรรมในธรรม จะรู้ว่า
    ดวงนั้นเป็นกุศล อกุศล อพยากฤต ก็คือสีของดวงนั้น
    ทำนองเดียวกันกับ การเห็นเวทนาในเวทนา เมื่อปฏิบัติได้จน
    เห็นกายทิพย์ ผู้ปฏิบัติจะมีอภิญญาขั้นต่ำ สามารถเห็นโลก
    ทิพย์บนพื้นพิภพนี้ได้ คือ สามารถเห็นพวกอมนุษย์ แต่ไม่
    สามารถทำจิตให้ลอยเหนือพื้นดินได้ อย่างสูงได้เพียงทำจิต
    ให้กระโดดไปอยู่บนตึก 10 ชั้น 20 ชั้น อย่างในนิยายจีน
    เท่านั้น ทั้งนี้เพราะกิเลสยังหนา ดวงจิตจึงหนัก ถ้าปฏิบัติ
    ได้ถึงกายธรรม ก็สามารถจะไปเที่ยวนรก สวรรค์ หรือ ชั้น
    พรหม ได้

    มีผู้กล่าวว่า การเห็นเทวดา พรหม นรก สวรรค์ เป็น
    ภาพลวง หรือได้เห็นภาพในโลกมนุษย์ แล้วติดตาไปปรากฏ
    เป็นนิมิตขึ้น ถ้าเป็นนักปฏิบัติเพียงได้สมาธิชั้นจตุตถฌาน จะ
    ไม่กล้ากล่าวอย่างนี้เลย เพราะถึง แม้ปรากฏการณ์ในนรก
    สวรรค์ และความเป็นไปของเทวดา พรหม จะได้มีผู้นำมา
    ใช้ประโยชน์ในการสร้างวิจิตรศิลป์ หรือสถาปัตยกรรมบ้างแล้ว
    ก็ตาม ก็ยังไม่อาจนำมาได้หมด ทั้งในการเห็นนรกสวรรค์
    เทวดา พรหม นักปฏิบัติก็ไม่ได้กำหนดรายละเอียด และการ
    เคลื่อนไหวของสิ่งเหล่านั้น ทั้งบางทีสิ่งเหล่านั้น ก็เกิดขึ้น
    เอง โดยไม่ได้อธิษฐาน
    <!-- google_ad_section_end -->
     
  9. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,875
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,146
    ค่าพลัง:
    +70,543
    การอาศัยกสิณ10 มาช่วยให้เกิดปัญญา ตามวิธีดั้งเดิม

    วิธีตั้งมณฑลกสิณด้วยดวงธรรมในกายมนุษย์และกายทิพย์

    หมายเหต* ศัพท์บัญญัติเฉพาะ (กายโลกีย์)
    ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ เรียกว่า ดวงปฐมมรรค
    ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ เรียกว่า ดวงทุติยมรรค
    ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายรูปพรหม เรียกว่า ดวงตติยมรรค
    ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหม เรียกว่า ดวงจตุตถมรรค

    คราวนี้จะใช้เฉพาะกายโลกีย์ทั้ง ๘ (กายที่ไม่ใช่กายธรรม) เพื่อประกอบโลกียฌาน สับกาย ซ้อนกาย เฉพาะกายโลกีย์ สัก ๗ เที่ยว ให้กายใสทุกกาย

    เมื่อ กายใสดีแล้ว

    เข้าตั้งกสิณในดวงทุติยมรรคของกายทิพย์(หรือที่ดวงปฐมมรรคในกายมนุษย์ก็ได้) พอดวงทุติยมรรคใสใหญ่เท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ นึกบริกรรมว่า ปฐวีกสิณัง ดินก็เกิดขึ้นในดวงนั้นเป็นปฐวีกสิณ น้อมจิตนิ่งแน่นเลยดินลงไป

    น้ำก็ผุดขึ้นเป็นอาโปกสิณ

    ไฟก็ซ้อนอยู่ในน้ำเป็นเตโชกสิณ

    ลมซ้อนอยู่ในไฟเป็นวาโยกสิณ

    สีเขียวอยู่ในลมเป็นนีลกสิณ

    สีเหลืองอยู่ในสีเขียวเป็นปีตกสิณ

    สีแดงอยู่ในสีเหลืองเป็นโลหิตกสิณ

    สีขาวอยู่ในสีแดงเป็นโอทาตกสิณ

    แสงสว่างอยู่ในสีขาวเป็นอาโลกกสิณ

    อากาศว่างอยู่ในแสงสว่างเป็นอากาสกสิณ


    แล้วเดินสมาบัติในกสิณนั้น

    หลวงปู่สดท่านเมตตาสอนวิธีการเดินสมาบัติในกสิณ เพื่อตรวจดูภพต่างๆไว้ ว่าเวลาจะเดินสมาบัติในกสิณเหล่านี้ ก็ต้องซ้อนดวงกสิณให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ตามลำดับ แล้วจึงเดินสมาบัติ วิธีเดินสมาบัติต้องใช้ธรรมกายเดิน(ทีนี้ไม่ใช่โลกียฌานแล้ว)


    เวลาจะตรวจดูภพไหนให้เห็นชัด ก็ประกอบดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายระดับนั้นๆ*เป็นสมาบัติ

    ที่ตั้งของดวงธรรมนั้นเป็นกสิณ

    (ตรวจโลกมนุษย์ *ทวีปทั้ง ๔ ในจักรวาลนี้ ก็ใช้ดวงธรรมในกายมนุษย์ ตรวจภพเทวโลกใช้ดวงธรรมในกายทิพย์ ตรวจพรหมโลกใช้ดวงธรรมในกายรูปพรหม ตรวจอรูปพรหมใช้ดวงธรรมในกายอรูปพรหม)


    เดินสมาบัติในกสิณ ใช้กายธรรมเป็นผู้เดินสมาบัติ ตรวจดูให้รู้ตลอด เป็นอยู่กันอย่างไร ฯลฯ ดังนี้เป็นต้น
     
  10. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,875
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,146
    ค่าพลัง:
    +70,543
    กสิณ กองพิเศษ

    ยังมีกสิณอีกกองหนึ่ง ซึ่งจะมีปรากฎอยู่ในพระไตรปิฎก แต่ไม่มีปรากฎในวิสุทธิมรรค
    กล่าวคือ ในวิสุทธิมรรค นำอาโลกกสิณมาแทนที่วิญญาณกสิณ ซึ่งอาโลกกสิณไม่มีปรากฎในพระไตรปิฎก มีแต่การเจริญอาโลกสัญญา


    อาจเพราะว่าวิญญาณเป็นกสิณที่ทำได้ยาก คือการเพ่งธาตุรู้ เป็นอารมณ์ ซึ่งเอื้อต่อญาณทัสสนะได้อย่างดีวิเศษ

    วิธีเจริญวิญญาณกสิณ

    ตามแนววิชชาธรรมกาย ถือเป็นหลักปฏิบัติธรรมดาอยู่แล้ว กล่าวคือวิธีการเข้าฌานตามแนววิชชาธรรมกาย ก็คือการเจริญวิญญาณกสิณ


    ข้อที่ว่านั้นเป็นเช่นนี้... กล่าวคือวิญญาณกสิณท่านให้เพ่งธาตุรู้เป็นอารมณ์ ในวิชชาธรรมกายก็ให้ญาณธรรมกายเพ่งดวงธรรม ซึ่งดวงธรรมนั้นก็คือมนายตนะ ประกอบด้วยเห็น(รับ) จำ คิด รู้ หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ในดวงนั้นมีศูนย์ซ้าย ขวา หน้า หลัง เป็นธาตุ ๔ ตรงศูนย์กลางนั้นเป็นอากาศธาตุ และกลางของศูนย์กลางนั้นเป็นวิญญาณธาตุ ก็ตรงด้วยส่วนนี้ที่วิชชาธรรมกาย เน้นให้เข้ากลางของกลางถูกตัววิญญาณธาตุ ละเอียดๆเข้าไปทุกที นี้คือการเจริญ วิญญาณกสิณ ไปในตัวพร้อมเสร็จ

    เหตุใดจึงเลื่อนไปเพ่งดวงธรรมกายทิพย์ พรหม อรูปพรหม ตามลำดับองค์ฌานที่ละเอียดยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ?
    ก็เพราะว่ากายยิ่งละเอียด ตัวรู้ก็ยิ่งละเอียด (แต่เป็นคนละอย่างกับอรูปฌาน เนื่องจากมีขอบเขตจำกัด) จึงได้องค์ฌานละเอียดๆไปตามลำดับ ถือได้ว่าวิชชาธรรมกายเดินสมาบัติด้วยวิญญาณกสิณเป็นบาทเลยทีเดียว จึงเอื้อต่อการเข้าอรูปฌาน เจริญสมาบัติ ๘ (เพราะวิญญาณกสิณ เป็นกรรมฐานที่ละเอียดที่สุดในกสิณทั้งหมด เป็นสุดยอดแห่งกสิณ มีอารมณ์ที่ละเอียดที่สุด และน้อมสู่อารมณ์ที่ละเอียดยิ่งขึ้นได้ไวที่สุด)


    นี้แหละ คือคุณอีกข้อหนึ่งของวิชชาธรรมกาย ซึ่งหาได้ยาก ในปัจจุบัน... เพราะแทบไม่มีวิธีให้ฝึกกันแล้ว เพราะตัวรู้นั้นกำหนดยากและจะเพ่งไม่ได้ถ้ากำหนดรู้อย่างเดียว ต้อง"ทั้งรู้ทั้งเห็น" ไม่ใช่นึกเอา คิดเอา
     
  11. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,875
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,146
    ค่าพลัง:
    +70,543
    เรามาเกิดอย่างไร และตายไปอย่างไร

    ส่วนการที่จะปฏิบัติ ให้เห็น ให้รู้ได้เอง ต้องรอ

    ไว้เมื่อรู้วิธีแทงตลอดอริยสัจแล้ว



    กายไปเกิด กายมาเกิดเรียกว่า กายสัมภเวสี ๆ วัดด้วย

    ญาณได้สูง 8 ศอก เมื่อมาเกิดจะเข้าไปทางช่องจมูกของ

    บิดา ถ้าเป็นชายเข้าช่องขวา หญิงเข้าช่องซ้าย ตอนนี้กาย

    สัมภเวสี มีชื่อเรียกใหม่ว่าเป็นกายทิพย์ ๆ เข้าไปตั้งอยู่ในศูนย์

    กลางกายบิดา รอกำหนดอยู่ที่นั่น ช้าวันบ้าง เร็ววันบ้าง

    แล้วบังคับบิดาให้ไม่อาจทนอยู่ได้ ต้องวิ่งพล่านเข้าไปหา

    มารดา การสัมผัสจะทำให้เกิดการประกอบกิจร่วมกัน เมื่อ

    แรงปรารถนามีความเข้มข้นยิ่งขึ้น ดวงใจทั้งสามจะแนบสนิท

    นิ่งแน่นเป็นจุดเดียวกัน ดวงเห็นจำคิดรู้ของบิดาอยู่บน ของลูก

    อยู่กลาง ของมารดาอยู่ล่าง กายทิพย์ของลูกซึ่งนิ่งอยู่ตรง

    สะดือของบิดา จะเข้าศูนย์กลางตัวกลายเป็นดวงกลมโต

    ประมาณไข่แดงของไก่ การดึงดูดต่อจากนั้นจะทำให้ดวงกาย

    ทิพย์ของลูกเข้าสิบ คือลอยขึ้นมาอยู่ที่ฐานที่ 7 หรือเหนือ

    สะดือของบิดาสองนิ้ว โอกาสนี้การดึงดูดจะหนักหน่วงรุนแรง

    ยิ่งขึ้น คล้ายกับการตอกตะปู จนกระทั่งบิดา และมารดาลืม

    ตัวไปกับความเพลิดเพลินจนตากลับ พอบิดามารดาเผลอ

    ตัว กายทิพย์จะเคลื่อนที่จากบิดาเข้าสู่อู่ มดลูกของมารดา

    แล้วก็ไปตั้งอยู่ตรงกลางต่อมเลือดที่ขั้วมดลูก ที่ขั้วมดลูกมีทาง

    เดินของระดู คล้ายหัวนมมีทางเดินของน้ำนม เมื่อกายทิพย์มา

    ปิดทางเดินของเลือด ระดูก็ขาดไป และกลละรูปก็เกิดขึ้น มี

    ขนาดเล็ก และใสสะอาด ประมาณเท่าหยาดน้ำมันงาที่เหลือติด

    ปลายขนจามรี หลังจากสลัดเสียแล้ว 7 ครั้ง หรือ เท่าเมล็ด

    โพธิ์เมล็ดไทร บางทีเราเรียกกลละรูปนี้ว่า กำเนิดธาตุธรรม

    เดิมบ้าง พืดเดิมบ้าง ต่อแต่นี้ไป กำเนิดธาตุธรรมเดิมนั้น ก็เริ่ม

    งอกงามเจริญขึ้นเป็นลำดับไป การที่ผู้เฒ่าผู้แก่นิยมให้ลูกบวช

    เณรแทนคุณแม่เมื่ออายุ 12 ขวบ และบวชแทนคุณพ่อเมื่อ

    อายุ 21 ปีนั้น เป็นเพราะลูกได้อาศัยธาตุดิน 21 ประเภทจาก

    มารดา มาประกอบเป็นกายขึ้น อาการตากลับเป็นเคล็ดลับ

    ประการหนึ่งของวิชชาธรรมกาย ถ้าในตอนเริ่มปฏิบัติครั้งแรก

    ไม่อาจทำให้ดวงนิมิตลงไปยังศูนย์กลางกายได้ ต้องทำ

    อาการตากลับ ดวงจึงจะเคลื่อนลงไปได้ สมตามความ

    ปรารถนา



    ส่วนกายไปเกิดนั้น เมื่อกายจะแตก ชีพจะสลาย ดวง

    เห็นจำคิดรู้ จะกลับเข้าข้างในกาย ดึงดูดกันนิ่งแนบหนักเข้า

    จนหัวต่อที่เชื่อมกายมนุษย์กับกายทิพย์ หลุดออกจากกัน เจ้า

    ตัวจะรู้สึกคล้ายมีอะไรดึงดูดจิตอย่างแรงคล้ายถูกกระชาก ตอน

    นี้จะมีสังหรณ์ให้ทราบคติในอนาคต แล้วกาลกิริยาก็เกิดขึ้น มี

    อาการบิดตัวบ้าง สยิวหน้าบ้าง หรือคว้าไขว่บ้าง อย่างใด

    อย่างหนึ่งแล้วก็ลืมตัว ต่อจากนั้นกายทิพย์จะสลายตัว หรือ

    เข้าศูนย์กลาง เป็นวงกลมใสสะอาดเท่าไข่แดงของไข่ไก่

    ลอยอยู่ที่สะดือหรือฐานที่ 6 เมื่อดวงเห็นจำคิดรู้ดึงดูดหนักยิ่ง

    ขึ้น ก็ลอยขึ้นมาอยู่ฐานที่ 7 เมื่อดึงดูดหนักยิ่งขึ้น ก็เคลื่อน

    ถอยกลับไปอยู่ที่ฐานที่ 6 แล้วกลายกลับเป็นกายทิพย์ เดินย้อน

    ผ่านฐานต่าง ๆ ออกไปทางช่องจมูก หญิงช่องซ้าย ชายช่อง

    ขวา ต่อจากนั้น ก็เที่ยว แสวงหาที่เกิดต่อไป ในนามกาย

    สัมภเวสี วิธีไปเกิด ก็ต้องเข้าสิบเข้าศูนย์ เหมือนวิธีมาเกิด

    เหมือนกัน



    ที่อธิบายมาข้างต้นนี้คือ ปฏิจจสมุปบาทธรรม โอกาส

    นี้จะได้เห็นและทราบว่ามนุษย์เรา เวียนเกิดเวียนตาย เดี๋ยวไป

    เกิดในสวรรค์บ้าง ในนรกบ้าง มีความเป็นอยู่ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง

    เหมือนคนดำน้ำจากที่นี่ แล้วไปโผล่ที่โน่น เปลี่ยนแปลง

    ไปต่างๆ ไม่มีอะไรคงที่แน่นอน ดุจ ดังความฝัน ต้องละทิ้ง

    สมบัติพัสถานบุตรภรรยา หรือสามีที่รักยิ่งไป อย่างน่าเศร้า

    ด้วยผลของเครื่องล่อเครื่องหลง ชีวิตต้องหมุนเวียนไปตาม

    ผลแห่งกรรม อย่างไม่มีทางที่จะขัดขืน จะได้เห็นได้รู้ด้วยตน

    เองว่า ชีวิตนี้ไม่มีอะไรแน่นอน ต้องเปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ

    ไม่มีทางที่จะเป็นตัวของเราเองได้ และไม่ได้ถูกปล่อยให้อยู่

    ตามลำพัง แม้แต่โอกาสเดียว ล้วนแต่เป็นอนิจจัง ทุกขัง

    อนัตตา ถ้าสามารถดับตัณหาและอุปาทาน โดยการพิจารณา

    ให้บังเกิดความสังเวช ในการเวียนว่ายตายเกิด อวิชชาและ

    กรรมก็จะดับไป ถ้าเห็นเฉพาะตัวเราเอง ก็เป็นปุพเพนิวาสานุ

    สสติญาณ ถ้าเห็นของผู้อื่นและสัตว์ทั้งหลายด้วย เรียกว่า

    จุตูปปาตญาณ



    ผู้ได้สมาธิอย่างคล่องแคล่ว ตั้งแต่ชั้น จตุตถฌาน เป็น

    ต้นไป จะสามารถถอดกาย หรือ ที่พูดกันติดปากว่า ถอด

    จิตออกไปหาที่อยู่ใหม่ เสียก่อนที่จะตายไปจริงๆได้ การถอด

    จิตนี้ ก็คือ ถอดกายทิพย์ออกไป จากกายเนื้อ กายทิพย์นี้ มี

    ความงดงามและมีรัศมีเรืองรอง กายทิพย์เมื่อออกจากกาย

    เนื้อแล้ว ก็ตรงไปยังวิมานของตน อันเกิดขึ้นสืบแต่บุญบารมี

    ที่ได้สร้างสะสมไว้ นักปฏิบัติผู้ที่ยังไม่เป็นพระอนาคามี มักไป

    อยู่ชั้นดุสิต ที่วิมานนั้นจะมีบริวารรอท่าอยู่แล้วหน้าสลอน แต่

    บางท่านอาจผิดหวัง เพราะเทวภูมิเฉพาะในชั้นดุสิต ไม่มี

    เทพธิดาเลย มีแต่เทพบุตรเท่านั้น ก่อนจะไปวิมาน ถ้าผู้

    ปฏิบัติหยุดพิจารณากายมนุษย์ของตนเอง จะเห็นว่า ถ้าไป

    เทียบกับความงามของเทพบุตรเทพธิดาแล้ว มนุษย์มีความ

    งามเท่ากับหน้าตาของลิงเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีกลิ่นสาบอีก

    ด้วย กลิ่นสาบนี้คล้ายกลิ่นผมเหม็น คล้ายกลิ่นเหงื่อไคลที่

    หมักหมม ซึ่งก็นับได้ว่าใกล้เคียงกัน ส่วนมติของตำราบาง

    ตำราที่ว่ากลิ่นสาบของมนุษย์นั้น คล้ายกลิ่นซากศพหรือสุนัข

    เน่านั้น ไม่ถูกต้อง เพราะกลิ่นเน่ากับกลิ่นสาบไม่เหมือนกัน

    เรื่องความสวยของมนุษย์เมื่อเปรียบกับเทวดา เท่ากับความ

    สวยของลิงนี้ ในพระไตรปิฎกบอกใบ้ไว้แล้ว ในเรื่องของพระ

    นันทะ มนุษย์เราเหม็นสาบนี้เองกระมัง ที่เป็นสาเหตุสำคัญที่

    เทพธิดาท่านไม่แยแสด้วย ผู้ที่ถอดกายไปเลือกที่อยู่ใหม่นี้

    ต้องหมดเวรกรรมแล้ว จึงจะไปอยู่ที่อยู่ใหม่ได้ตลอดไป ถ้า

    ยังมีเวรอยู่จะต้องกลับมาเมืองมนุษย์อีก จะไปได้แน่ๆก็ตอน

    จวนตาย ซึ่งมักจะรู้ก่อน อย่างน้อย ก็มีเวลาพอที่จะถอด

    จิตออกไปได้ทัน
     
  12. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,875
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,146
    ค่าพลัง:
    +70,543
    อกุศลจิต......ปรมัตถ

    [​IMG]




    ...ปรมัตถปิฎกนี้เป็นเนื้อหนังของธรรมจริงๆ นะ ที่ดับสูญไปเสีย ไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย เรียนกันแต่เปลือกๆ ผิวๆ เป็นแต่กระพี้ๆ ไป ก็เพราะมารขวางกีดกันไว้ ให้ศึกษาเผินไปหมด พุทธศาสนาก็จะถล่มทลายเพราะเนื้อธรรมไม่มีใครรู้แน่แท้ลงไป รู้แต่เปลือกแต่ผิวไปเสีย เหตุนี้ เราทั้งหลายควรตั้งใจเสียให้ดี ทั้งภิกษุสามเณรจงอุตส่าห์เล่าเรียนปรมัตถคัมภีร์อภิธรรมปิฎก นี้ให้แตกฉานชำนาญเถิด ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์พบพุทธศาสนา



    ณ บัดนี้ อาตมภาพจักได้แสดงธรรมีกถา แก้ด้วยปรมัตถเทศนา ซึ่งมีมาในพระปรมัตถปิฏก ยกอุเทศในเบื้องต้นขึ้นแสดงก่อน เพื่อจะได้เป็นอุทาหรณ์แนะนำแก่ท่านทั้งหลายสืบไปเป็นลำดับๆ ตามวาระพระบาลีคลี่ความเป็นสยามภาษา เริ่มต้นแห่งปรมัตถปิฎกนี้ว่า
    ตตฺถ วุตฺตาภิธมฺมตฺถา ในพระอภิธรรมปิฏกนั้น กล่าวโดยความประสงค์แล้ว ถ้าจะกล่าวโดยอรรถอันลึกซึ้ง โดยปรมัตถ์ ก็จัดเป็น ๔ ประการ (๑) จิต (๒) เจตสิก (๓) รูป (๔) นิพพาน, ๔ ประการเท่านี้ พระพุทธศาสนามีปิฎก ๓ คือ วินัยปิฎก สุตตันตปิฎก ปรมัตถปิฎก ที่ท่านทั้งหลายได้เคยสดับตรับฟังแล้วโดยมาก ในพระวินัยบ้าง พระสูตรบ้าง ในพระปรมัตถ์ไม่ค่อยจะได้ฟังนัก วันนี้จะแสดงในพระปรมัตถปิฎก เพราะเวลานี้วัดปากน้ำกำลังเล่าเรียนพระปรมัตถปิฎกอยู่ ควรจะฟังพระปรมัตถปิฎกนี้ให้ชำนิชำนาญ ให้เข้าเนื้อเข้าใจ จะได้จำไว้เป็นข้อวัตรปฏิบัติ เป็นธรรมอันพระพุทธเจ้าทรงตรัส
    ในเริ่มแรกเริ่มเบื้องต้น ทรงตรัสในดาวดึงส์เทวโลก ได้ทรงตรัสพระปรมัตถปิฎกนี้ สนองคุณพระพุทธมารดา และแก่หมู่เทพเจ้าทั้งหลาย ที่พากันมาสดับตรับฟัง ทรงตรัสอยู่ถ้วนไตรมาสสามเดือน เมื่อเวลารุ่งเช้า สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพุทธนิมิตให้ตรัสพระอภิธรรมปิฎก พระบรมครูทรงไปแสวงหาอาหารบิณฑบาตในอุตตรกุรุทวีป ไปฉันในป่าหิมพานต์ พระสารีบุตรเถรเจ้าไปปฏิบัติสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทุกๆ วัน แล้วพระองค์ทรงแสดงพระอภิธรรมปิฎกนั้นแก่พระสารีบุตร พระสารีบุตรก็นำเอาพระอภิธรรมปิฎกนั้นมาแก่มนุษย์ มนุษย์ทั้งหลายจึงได้สดับฟัง
    เมื่อพระองค์ทรงตรัสเทศนาจบพระปรมัตถปิฎกแล้ว เสด็จลงจากดาวดึงส์เทวโลกที่เมืองสังกัสสนคร ในคราวนั้นพระองค์ทรงเปิดโลก ให้สัตว์นรก เทวดา มนุษย์ เห็นกันและกัน พร้อมกัน เห็นปรากฏเป็นมหัศจรรย์ ในครั้งนั้นพระพุทธาภินิหารเป็นมหัศจรรย์ สรรพสัตว์เหล่านั้นตั้งความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า อยากเป็นพระพุทธเจ้า จนกระทั่งมดดำแดง อยากเป็นพระพุทธเจ้ากันทั้งนั้น อันนี้เป็นความมหัศจรรย์ของพระพุทธเจ้า เพราะเหตุนั้น ที่ท่านทั้งหลายจะพึงได้สดับในเนื้อความของปรมัตถปิฎก ณ เวลาวันนี้ นับว่าเป็นกุศลอันยิ่งใหญ่ ดังจะแสดงต่อไป
    ตามวาระพระบาลีที่ได้ยกขึ้นไว้ในเบื้องต้นว่า ตตฺถ วุตฺตาภิธมฺมตฺถา จตุธา ปรมตฺถโต จิตฺตํ เจตสิกํ รูปํ นิพฺพานมิติ สพฺพถาติ แปลว่า เนื้อความในพระปรมัตถปิฎกนั้น ถ้าจะกล่าวโดยเนื้ออันยิ่งใหญ่แล้ว กล่าวโดยปรมัตถ์ จัดเป็น ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน ๔ ประการนี้เท่านั้นเรียกว่า พระปรมัตถปิฎก เป็นเนื้อความของพระปรมัตถปิฎกทีเดียว จำไว้ให้มั่น จิตถ้าจำแนกแยกออกไปมีถึง ๘๙ ดวง หรือ ๑๒๑ ดวง เจตสิก ถ้าจำแนกแยกออกไปมีถึง ๕๒ ดวง นี่ส่วนเจตสิก รูปถ้าจำแนกแยกออกไปมีถึง ๒๘ รูป มหาภูตรูป ๔, อุปาทายรูป ๒๔ รวมเป็น ๒๘ นิพพานแยกออกไปเป็น ๓ คือ กิเลสนิพพาน ขันธนิพพาน ธาตุนิพพาน นิพพานแยกเป็น ๓ ดังนี้
    วันนี้จะแสดงในเรื่อง จิต เป็นลำดับ จิต ๘๙ ดวง หรือจิต ๑๒๑ ดวง ท่านจัดไว้ดังนี้ อกุศลจิต ๑๒ ดวง อเหตุกจิต ๑๘ ดวง กามาวจรจิต ๒๔ ดวง รูปาวจรจิต ๑๕ ดวง อรูปาวจรจิต ๑๒ ดวง และโลกุตตรจิต ๘ ดวง นี่เป็นจิต ๘๙ ดวง จำไว้เสียให้มั่น คือ อกุศลจิต ๑๒ ดวง อเหตุกจิต ๑๘ ดวง ๑๘ กับ ๑๒ รวมกันเป็น ๓๐ กามาวจร ๒๔ รวมกันเข้าเป็น ๕๔ ดวง รูปาวจรจิต ๑๕ รวมกันเข้าเป็น ๖๙ ดวง อรูปาวจรจิต ๑๒ รวมกันเข้า เป็น ๘๑ ดวง โลกุตตรจิต ๘ ดวง รวมเข้าเป็น ๘๙ ดวง ดังนี้ นี่โดยย่อ ถ้าโดยพิสดาร ต้องแยกโลกุตตรจิตออก ยกฌานขึ้นรับรองจิตทั้ง ๘ ดวงนี้ คงเหลือจิต ๘๑ ดวง จิต ๘๙ ดวง ยกเอาโลกุตตรจิต ๘ ดวงออกเสีย ยกฌานทั้ง ๕ ขึ้นเป็นที่ตั้ง จิตเดินในฌานทั้ง ๕ นั้น ฌานละ ๘ ดวง คูณกับ ๕ เป็น ๔๐ ดวง จิต ๘๑ ดวงเป็นโลกิยจิต ยกเอาโลกุตตรจิต ๔๐ ดวง มาบวกกันเข้า ๘ ก็รวมเป็นจิต ๑๒๑ ก็จิต ๘๑ ดวงนั่นเอง แต่ว่ายกเอาโลกุตตรจิต ๘ ดวง ออกเสีย ถ้าว่าเอาโลกุตตรจิตมาเพียง ๘ ดวง ก็เป็นจิต ๘๙ ดวง ถ้าหากว่าโลกุตตรจิต ๘ ดวงนั้นแยกพิสดารออกไปตามฌานทั้ง ๕ ก็เป็น ๑๒๑ ดวง นี่รู้จักแล้วว่าจิตมีเพียงเท่านี้ จะชี้แจงแสดงจิตเป็นลำดับไป ให้จำไว้เป็นหลักฐานเป็นประธาน
    ต่อไปนี้จะแสดงคัมภีร์ปรมัตถ์ที่เป็นหลักเป็นประธานให้เข้าเนื้อเข้าใจทีเดียว เพราะเป็นเนื้อธรรมจริงๆ ที่เราได้ยินได้ฟังเข้าเนื้อเข้าใจแล้วนั้นยังไม่ถึงเนื้อธรรม เมื่อถึงจิต เจตสิก รูป นิพพาน เป็นเนื้อหนังของธรรมจริงล่ะ จงตั้งอกตั้งใจฟัง ยาก ไม่ใช่เป็นของง่าย เป็นของละเอียดด้วย ไม่ใช่เป็นของพอดีพอร้าย ไม่ใช่อยู่กับคนที่มีกิเลสหนาปัญญาหยาบ ต้องมีกิเลสบาง ปัญญาละเอียดทีเดียว จึงจะฟังเข้าเนื้อเข้าใจได้ ถ้าจะเทียบละก้อ ต้องเข็มเล็กๆ ด้ายเส้นเล็กๆ เย็บตะเข็บผ้าจึงจะละเอียดได้ ถ้าเข็มโตไป ด้ายเส้นโต จะเย็บตะเข็บผ้าให้เล็กลงไปไม่ได้ ฉันใดก็ดี ปรมัตถปิฎกนี้เป็นของละเอียด ต้องปัญญาละเอียดไปตามกัน จึงจะฟังเข้าเนื้อเข้าใจ เหตุนั้นจงตั้งใจฟังให้ดี
    ในอกุศลจิต ๑๒ ดวงนี้นั้น แบ่งออกเป็น ๓ จำพวก โลภมูล ความโลภ มี ๘ ดวง โทสมูล ความโกรธมี ๒ ดวง โมหมูล ความหลงมี ๒ ดวง ๘ กับ ๔ รวมเป็น ๑๒ ดวง นี้อกุศลจิต อกุศลจิตนี้แหละที่สากลโลก ภิกษุก็ดี สามเณรก็ดี อุบาสกก็ดี อุบาสิกาก็ดี ที่จะทำความชั่วร้ายไม่ดีไม่งามก็เพราะอกุศลจิต ๑๒ ดวงนี้แหละ ไม่ใช่ทำด้วยอย่างอื่นเลย ทำด้วยอกุศลจิต ๑๒ ดวงนี้ทั้งนั้น ทำชั่วน่ะ เราต้องรู้ตัวเสีย ให้เข้าเนื้อเข้าใจทีเดียว คำว่าที่เรียกว่าจิตน่ะมันเป็นดวงๆ ที่จะจัดนี้มีถึง ๑๒ ดวง ดังนี้คือ

    จิตโลภ จัดเป็น ๘ ดวง
    จิตที่เกิดพร้อมด้วยความยินดีมาก ที่ประกอบด้วยความยินดีมาก ประกอบด้วยความ เห็นผิด และเกิดขึ้นตามลำพัง นี่ดวง ๑
    จิตประกอบด้วยความยินดีมาก ประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดขึ้นโดยถูกกระตุ้นหรือ ชักจูง นี้ดวง ๑
    จิตที่ประกอบด้วยความยินดีมาก ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดโดยลำพังนี้ดวง ๑ นี้ดวงที่ ๓
    จิตประกอบด้วยความยินดีมาก ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด และเกิดขึ้นโดยถูกกระตุ้น หรือชักจูง นี้อีกดวง ๑ รวมเป็น ๔ ดวง
    จิตที่เกิดประกอบด้วยความยินดีพอประมาณ ประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดขึ้น โดยลำพัง นี้ดวง ๑ เป็นดวงที่ ๕
    จิตที่ประกอบด้วยความยินดีพอประมาณ ประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดขึ้นโดย ถูกกระตุ้นหรือชักจูง นี้ดวง ๑ เป็นดวงที่ ๖
    จิตประกอบด้วยความยินดีพอประมาณ ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดขึ้นโดย ลำพัง นี้ดวง ๑ เป็น ๗ ดวง
    จิตประกอบด้วยความยินดีพอประมาณ ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด และเกิดโดย ถูกกระตุ้นหรือชักจูง นี้ดวง ๑ เป็น ๘ ดวง
    นี้ชั้นหนึ่ง ๘ ดวงนี้เป็นส่วนโลภะ ความอยาก

    จิตโกรธ จัดเป็น ๒ ดวง
    จิตโกรธเกิดขึ้นตามลำพัง ดวง ๑
    จิตโกรธเกิดขึ้นโดยถูกกระตุ้นหรือชักจูง นี้ดวง ๑
    จิตหลง ก็มี ๒ ดวง
    จิตหลงเกิดขึ้นโดยความสงสัย ดวง ๑
    จิตหลงเกิดขึ้นโดยความฟุ้งซ่าน ดวง ๑
    รวมเป็น ๑๒ ดวงด้วยกัน นี้เป็นอกุศลจิต ๑๒ ดวงเท่านี้ ฟังยากไหมล่ะ ยากจริงๆ ไม่เข้าเนื้อเข้าใจทีเดียว ฟังเหมือนบุรุษคนหนึ่งนั่งกินข้าวอยู่ทีละคำๆ มันก็อิ่มเป็นลำดับขึ้นไป บุรุษคนหนึ่งนั่งกินลมอยู่เป็นคำๆ เข้าไป พอเลิกแล้วไม่อิ่มสักนิด อ้ายกินข้าวกินลมมันลึกซึ้ง อย่างนี้จริงไหม นี้ฟังเรื่องปรมัตถ์เหมือนกินลม ไม่มีเนื้อมีหนังเลย ไม่อิ่มไม่ออกเลยทีเดียว เห็นไหมล่ะ แต่รสชาติอัศจรรย์นักนะ อุตส่าห์ตั้งอกตั้งใจฟัง
    จิตดวงที่ ๑ ที่ประกอบด้วยความยินดีมาก จิตดวงนี้เกิดขึ้นประกอบด้วยความยินดีมาก และประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดขึ้นตามลำพัง จิตดวงนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร นี่ต้องอย่างนี้ล่ะ จึงจะมีรส ค่อยมีรสหน่อย เราจะต้องพินิจพิจารณา หากว่าจิตของเราเองมันเกิดขึ้น มีความยินดีมาก ประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดขึ้นตามลำพัง เออ อ้ายประกอบด้วยความเห็นผิดน่ะ เห็นอย่างไร ลักษณะเห็นผิดน่ะเหมือนเรายินดีมากในสิ่งที่ผิด เมื่อเราเห็นทรัพย์เข้าก้อนหนึ่ง ไม่ใช่ของเรา มันเป็นของเขา ก็รู้เหมือนกันว่าเป็นของเขา แต่มันอยากได้เหลือทน ทรัพย์ก้อนนั้นมันใหญ่พอประมาณอยู่ ถ้าได้เข้าแล้วมันเลี้ยงชีพได้ตลอดสาย นับเป็นล้านๆ หรือนับเป็นแสนๆ ทีเดียว เมื่อไปเห็นทรัพย์เข้าเช่นนั้นแล้ว เราไม่ได้คิดไว้เลยว่าจะเอาทรัพย์ก้อนนั้น หรือจะขโมยหรือจะลักเขา ไม่ได้คิดเลย พอไปเห็นทรัพย์ก้อนนั้นเข้า ในที่ที่ควรจะได้ เจ้าของเผลอ พอเห็นทรัพย์เข้าเท่านั้น ใจมันปลาบปลื้มยินดีอย่างชนิดปล่อยชีวิตจิตใจทีเดียวอย่างนี้ ความยินดีมากมันเกิดขึ้นเองแล้ว จิตที่เกิดขึ้นประกอบด้วยความยินดีมากนั่นแหละ นี่ทรัพย์ก้อนนี้เราหยิบเอาเสีย ธนบัตรสักแสนหนึ่งไม่เท่าไร ถ้าใบละหมื่นก็ ๑๐ ใบ เท่านั้น ใบละพันๆ ก็ ๑๐๐ ใบเท่านั้น เป็นแสนหนึ่งเสียแล้ว เอ นี่จะเอาหรือไม่เอา นี่ความเห็นผิดเกิดขึ้น เอาได้ เราก็รวย พอเห็นผิดเกิดขึ้นเช่นนั้น ไม่ต้องมีใครชักชวนกระตุ้นละก้อ คว้าเอาทรัพย์ของเขาเข้าทีเดียว คว้าทีเดียวซ่อนทีเดียว นี่สำเร็จสมความปรารถนาของตัวแล้ว เอาไปได้สำเร็จ สมเจตนาด้วย และไม่มีใครรู้เห็นด้วย ทำสนิททีเดียว นี่แหละจิตดวงนั้นแหละเกิดขึ้นประกอบด้วยความยินดีมาก และประกอบด้วยความเห็นผิดด้วย มันเห็นว่าของเขา ไม่ใช่ของเรา นี่มันไปลักของเขานี้จะไม่ผิดอย่างไรเล่า มันก็ผิดนะซี่ เกิดขึ้นตามลำพังของตัว ไม่มีใครกระตุ้นหรือชักจูง ไม่ว่าในป่าหรือในที่ลับใดๆ หรือในที่มืดใดๆ ก็ตามเถอะ เอาทรัพย์ของเขามาได้สมเจตนา ไม่แต่เพียงแสนหนึ่งนะ สตางค์หนึ่งก็ดี สองสตางค์ก็ดี ถ้าว่าเป็นของเขาละก้อ แบบเดียวกัน อย่างนี้ทั้งหมด ถ้าว่าจิตเกิดขึ้นโดยความยินดีเช่นนั้น ถือเอาของเขามาเช่นนั้น นี่แหละโลภมูลดวงหนึ่ง นี้เป็นดวงต้นเกิดขึ้น เป็นอกุศลทีเดียว เราต้องไปนรกแน่ ต้องได้รับทุกข์แน่ เชื้อจิตดวงนี้ ต้องได้รับทุกข์แน่ รับบาปแน่ทีเดียว นี่ที่จะทำบาปลงไปชัดๆ มันปรากฏแก่ตนดังนี้ นี่ดวงหนึ่ง
    ดวงที่ ๒ ต่อไป จิตประกอบด้วยความยินดีมาก และเห็นผิดอีกเหมือนกัน คือ ประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดขึ้นโดยถูกกระตุ้นหรือชักจูง คราวนี้เห็นทองคำเข้าก้อนหนึ่ง หรือไปเห็นสายสร้อยเข้าเส้นหนึ่ง ราคานับแสนทีเดียว โดยเป็นของหลวงด้วย ราคานับแสนๆ ไม่ใช่ของราษฎร์ แต่ว่ามีผู้หนึ่งผู้ใดเขาเอามาซ่อนไว้ ไปเห็นเข้า หรือตกหล่นอยู่ อย่างหนึ่ง อย่างใดก็ตามเถอะ ไปเห็นเข้า รู้ทีเดียวนี่ไม่ใช่ของธรรมดา ราคามากทีเดียว เมื่อไปเห็นเข้า เช่นนั้นไม่กล้า เพราะรู้ว่าเป็นของหลวง มันไม่กล้าลักของหลวง กลัวติดคุกติดตะรางขึ้นมาเสียแล้ว ก็มากระซิบกับเพื่อนกัน เออ! ข้าไปพบของสำคัญไว้ที่นั่นแน่ะทำอย่างไรนี่ อยู่ที่นั่นแน่ะ ข้าไปพบเข้าแล้วจะทำอย่างไร อ้ายเพื่อนก็ว่า ทำไมไม่เอาเสียล่ะ เพื่อนกระตุ้นเข้าแล้วว่าทำไมไม่เอาเสียล่ะ พอว่าเท่านั้นแหละก็แพล็บไปเอามาสมความปรารถนา นี่ถูกกระตุ้น หรือชักจูงเข้าแล้ว ไปเอาของของเขามาแล้ว โดนอกุศลเข้าอีกดวงหนึ่ง นี้เป็นอกุศลสำคัญ นี้แหละเป็นโลภมูล เกิดจากความโลภ เป็นอกุศลร้ายกาจอย่างนี้หนา นี้ว่าถึงลักถึงขโมย ไม่ใช่ ลักไม่ใช่ขโมยอย่างเดียว ที่ชั่วละก้อ ทั้งนั้นแหละ แบบเดียวกัน ชักตัวอย่างให้เข้าใจ ให้เข้าใจ ว่าดวงจิตดวงนี้มันเป็นอย่างนั้น ให้รู้จักหลักนี้
    ดวงที่ ๓ จิตประกอบด้วยความยินดีมาก ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดขึ้นตามลำพัง ยินดีมากเมื่อไปเห็นสิ่งของของคนอื่นที่มีค่าเข้า ที่มีค่ามาก จะเป็นเงินทองหรือแก้วแหวนชนิดใดๆ หรือผ้านุ่งผ้าห่มชนิดใดๆ ก็ตามเถอะ เป็นวัตถุชนิดหนึ่งชนิดใดใช้ได้ จนกระทั่งสตางค์เดียวก็ใช้ได้ ใช้ได้ทั้งนั้น เมื่อไปเห็นเข้าแล้วก็รู้ว่าของนี่เจ้าของเขาพิทักษ์รักษาอยู่ เขาดูแลอยู่ เราไปพบทองเข้าหนักขนาดพันบาท นี่ก็มากอยู่หนักขนาดพันบาท แต่ว่าทองนี้ ถ้าเราเอาไปได้ เราก็ใช้ได้นาน ลงทุนลงรอนได้ ถ้าเราเอาไปไม่ได้เราก็จนอยู่แค่นี้ ถ้าเราเอาไปได้ละก้อ ตั้งเนื้อตั้งตัวได้เชียว ถ้าหากเขาจับเราได้ก็ต้องเข้าคุกตะรางไป ถ้าเขาจับเราไม่ได้ล่ะ เราก็ตั้งเนื้อตั้งตัวได้ แต่ว่าไม่มีความเห็นผิดอะไร เห็นว่าถ้าเราเอาไปได้ก็เป็นประโยชน์แก่เรา เราไม่เอาไปก็ไม่เป็นประโยชน์แก่เรา เข้าใจว่าจะหลบหลีกพ้น แต่เราต้องได้รับผลชั่วเพราะเราขโมยเขา จะทำอย่างไรได้ ก็มันจนนี่ มันก็ต้องขอไปทีสิ คว้าทองนั้นเข้าก้อนหนึ่งโดยความยากจน มาเป็นของตัวแล้ว ไม่มีใครกระตุ้นหรือชักจูงเลย คิดตกลงในใจของตัวเอง เอาของของเขาไปดังนี้ แล้วก็รู้ด้วยว่าเป็นบาปเป็นกรรมเป็นอกุศลเป็นโทษ เห็นก็ไม่ใช่เห็นผิด เห็นถูกนี่แหละเห็นว่าเป็นบาปเป็นกรรมเป็นโทษ แต่ว่ามันจนเต็มที มันก็ต้องขอไปที ใจกล้าหน้าด้านเอาทีหนึ่ง มันก็เป็นอกุศลจิตเหมือนกัน อกุศลอีกนั่นแหละ ลักเขาขโมยเขาไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด เห็นถูก นี้เป็นจิตอีกดวงหนึ่ง ดวงที่ ๓
    ดวงที่ ๔ ก็แบบเดียวกันอย่างนั้นอีก จิตที่ประกอบด้วยความอยากมาก ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด แบบเดียวกันกับเห็นทองอย่างนั้นแหละ เกิดขึ้นโดยถูกกระตุ้นหรือชักจูง ทีนี้เราเห็นเพชรสักเม็ดหนึ่งราคานับล้านแต่ไม่ใช่ของเราแบบเดียวกัน เออ! เมื่อไปเห็นเพชรเข้าเช่นนั้นแล้ว จะตกลงใจอย่างไรล่ะ ราคามันมากขนาดนี้เมื่อไรจะพบกันล่ะ แต่ยังไม่กล้า ที่จะเอาเพชรเม็ดนั้นด้วยกลัวเกรงอันตรายหรือกลัวติดคุกติดตะราง นำเอาเรื่องไปบอกพวกเพื่อนๆ พวกเพื่อนๆ บอกว่าทำไมจึงไม่เอา เอ็งนี่มันโง่เกินโง่อย่างนี้นี่ พอเพื่อนว่าเข้าเท่านั้น ก็ไปลักเพชรเม็ดนั้นได้สมความปรารถนา เอาไปเก็บไว้สมเจตนาของตน นี้ต้องมีผู้กระตุ้น หรือชักจูงเป็นจิตดวงที่ ๔
    สี่ดวงนี้เป็นโลภมูลทั้งนั้น โลภมูลอีกสี่ดวงต่อมาเป็น ๘ ดวง
    ดวงที่ ๕ จิตที่เกิดขึ้นประกอบด้วยความยินดีพอประมาณ แต่ว่าประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดขึ้นตามลำพัง จิตดวงนี้เกิดขึ้นด้วยความยินดีพอประมาณ ไม่มีความยินดีมากมายใหญ่โตนัก ได้ก็เอา ไม่ได้ก็แล้วไป พอสมควรแต่ว่ากิริยาแบบเดียวกัน นี่เป็นจิตดวงที่ ๕
    ดวงที่ ๖ จิตที่เกิดขึ้นด้วยความยินดีพอประมาณแบบเดียวกัน และประกอบด้วยความเห็นผิด ต้องมีผู้กระตุ้นหรือชักจูง จึงจะสำเร็จสมความปรารถนา ก็แบบเดียวกันอย่างที่ได้อธิบายมาแล้ว แต่ว่ามันไม่ยินดีมากนัก ดวงก่อนยินดีมาก ดวงหลังยินดีพอประมาณ จิตที่เกิดขึ้นเพราะความอยากได้พอประมาณ เช่น ไปเห็นทองหรือเพชรดังกล่าวแล้วแบบเดียวกัน ต้องมีผู้กระตุ้นหรือชักจูงจึงจะสำเร็จความปรารถนา นี้เป็นดวงที่ ๖
    ดวงที่ ๗ จิตที่อยากได้พอประมาณ จิตที่เกิดขึ้นมีความอยากได้พอประมาณ แต่ว่าไม่มีความเห็นผิด เกิดขึ้นโดยลำพัง ก็แบบเดียวกัน ดังอธิบายมาก่อน นี่เป็นดวงที่ ๗
    ดวงที่ ๘ จิตที่อยากได้พอประมาณ จิตที่เกิดขึ้นพร้อมด้วยความอยากได้พอประมาณ ไม่มีความเห็นผิด แต่ต้องมีผู้กระตุ้นหรือชักจูง จึงจะสำเร็จสมความปรารถนาแบบเดียวกันนั่นแหละ นี้เป็นดวงที่ ๘
    จิต ๔ ดวงก่อนกับ ๔ ดวงหลัง ไม่ได้ต่างจากกัน สี่ดวงก่อน จิตที่เกิดขึ้นด้วยความอยากมากยินดีมาก สี่ดวงหลังนี่ยินดีพอประมาณเท่านั้น เมื่อรู้จักจิต ๘ ดวงนี้แล้ว มันก็อยู่ในตัวของเรานี่เองเกิดขึ้นแก่เราเอง เราเคยพบมานี่ อ้ายพวกนี้ เคยพบเคยปะอยู่บ้าง แต่ว่าเราไม่รู้จักมัน วันนี้เราจะรู้จักมันล่ะ พอมีรสบ้าง แต่ว่ายังมีรสน้อยเต็มที กว้างกว่านี้ ยังจะมีรสมากว่านี้อีก แต่ว่าให้รู้จักเสียชั้นหนึ่งก่อนโดยย่อ
    จิตที่เป็นอกุศล จิตโทสะ มี ๒ ดวง
    จิตโทสะดวงที่ ๑ เกิดขึ้นโดยลำพัง อ้ายนี่อกุศลจิต เกิดขึ้นโดยลำพังมันเป็นอย่างไร อกุศลจิตเกิดขึ้นโดยลำพัง เช่น เราไปในสถานที่ใดๆ ก็ช่าง อยู่ในบ้านก็ช่าง ไม่มีใครชักจูง ไม่มีอะไรทั้งหมด ใจมันโกรธ จิตดวงนี้เป็นจิตโกรธ มันโกรธขึ้นไม่มีใครทำอะไรเลย อยู่ดีๆ มันก็พลุ่งพล่านโกรธขึ้นอย่างนั้น ไม่มีใครว่าไม่มีใครทำอะไรทั้งหมด โกรธขึ้นมาก็มีอาการต่างๆ ใครจะพูดกระทบกระเทียบเข้านิดๆ หน่อยๆ ไม่ได้ก็แปลบๆ ขึ้นมาทีเดียว นั่นมันเรื่องอะไร ไม่มีใครรู้เรื่องของตัวเลย มันโกรธอยู่ในใจอย่างนั้นแหละ นี่โกรธขึ้นโดยลำพัง ไม่มีใครชักจูง ไม่มีว่ากล่าวกระทบกระเทียบเลย มันเกิดขึ้น มันพลุ่งพล่านอยู่ภายในของตัวเอง อ้ายนี้แหละเขาเรียกว่าโทสจริต นี่แหละโทสจริตมันเกิดขึ้นอย่างนี้แหละ เกิดขึ้นโดยลำพัง
    จิตโทสะดวงที่ ๒ มันเกิดขึ้นโดยมีคนชักจูงหรือกระตุ้นเตือน มีคนชักจูงหรือกระตุ้นขึ้น อ้ายนั่นมันยั่วให้โกรธน่ะซี สามียั่วให้ภรรยาโกรธบ้าง ภรรยายั่วให้สามีโกรธบ้าง หรือชาวบ้านยั่วให้โกรธบ้าง คนโน้นคนนี้ยั่วให้โกรธบ้าง ไม่ได้เกิดขึ้นโดยลำพัง มีคนยั่วให้โกรธ เอารูปที่ไม่ชอบใจมายั่วบ้าง เอาเสียงที่ไม่ชอบใจมายั่วบ้าง เอากลิ่นที่ไม่ชอบใจมายั่วบ้าง เอารสที่ไม่ชอบใจมายั่วบ้าง ยั่วเข้ามันก็โกรธน่ะซี่ นั่นแหละมีผู้กระตุ้นหรือชักจูงให้โกรธขึ้น
    จิต ๒ ดวงนี้ก็ร้ายเหมือนกัน จิต ๒ ดวงนี้เกิดขึ้นโดยลำพังดวง ๑ เกิดขึ้นโดยมีผู้กระตุ้นหรือชักจูงดวง ๑ จิตเหล่านี้พออธิบายง่ายหรอก จิตโกรธนี่น่ะ
    จิตหลงนี่น่ะลึกซึ้งนัก จิตหลงมี ๒ ดวง
    จิตหลงดวงที่ ๑ เกิดขึ้นโดยสงสัยลังเลไม่ตกลงใจ อ้ายนี่สำคัญอยู่ จิตหลงเกิดขึ้นโดยสงสัยลังเลไม่ตกลงในใจ จะทำอะไรไม่ตกลงสักอย่าง ในการครองเรือนของตนก็ดี จะทำอะไรไม่ตกลงสักอย่าง หรือไม่ได้ครองเรือนก็ดี จะทำอะไรไม่ตกลงสักอย่าง ลังเล ไม่ตกลงในใจอย่างนั้นแหละร่ำไป อย่างนี้เขาเรียกว่าจิตหลง จะทำอะไรก็ไม่แน่นอนลงไป เข้าทำราชการก็ไม่แน่นอน แต่จะทำหรือไม่ทำก็ไม่แน่นอน ทำส่วนตัวก็ไม่แน่นอน ทำนา ทำไร่ ไม่แน่นอนทั้งนั้น ไม่ตกลงในใจ ถึงทำกิจการอันหนึ่งอันใดก็ไม่ตกลงในใจทั้งนั้น เมื่อสั่งการงานไม่ตกลงในใจอย่างนี้ มันลังเลอยู่เช่นนี้ มันก็ทำอะไรไม่ได้ มันก็หลงงมงายอยู่เช่นนั้น นี่เขาเรียกว่าจิตหลงมันเกิดขึ้น ลังเลไม่ตกลงในใจ สิ่งใดที่ลังเลไม่ตกลงในใจแล้ว พูดออกไปก็ดี ทำลงไปก็ดี มีผิดกับถูกสองอย่างเท่านั้น ถูกก็มี ผิดก็มี เพราะมันลังเล ไม่ตกลงในใจเสียแล้ว การที่จิตลังเลไม่ตกลงในใจน่ะ เช่น เรารักษาศีลอย่างนี้แหละไปเจอ ทรัพย์เข้าหรือสัตว์เข้าตัวใหญ่ๆ ที่ชอบอกชอบใจที่มีค่ามาก เราฆ่าลงไปเป็นอาหารของเราได้นาน เราลักเอาไป ก็เป็นอาหารได้นาน แต่เราไม่ตกลงในใจ เราจะรักษาศีลดี หรือรักชีวิตดี จะลักเขาดีหรือจะฆ่าเขาดี หรือว่าจะไม่ลักไม่ฆ่าเขาดี ถ้าไม่ลักไม่ฆ่าเขาเราก็อด เราก็จน ถ้าลักเขาฆ่าเขาได้ เราเลิกอดเลิกจน ลังเลไม่ตกลงในใจอย่างนี้ นี่เขาเรียกว่าจิตหลง มันระคนจิตหลงเข้าคละอยู่ด้วย ถ้าทำลงไปด้วยอำนาจจิตหลงอย่างนั้น ถ้าทำผิดมันก็ผิดไป ถ้าทำถูกมันก็ถูกไป แต่ว่าในที่นี้ประสงค์เอาที่ผิดเพราะว่าเป็นอกุศลจิต ไม่ใช่กุศลจิต ประสงค์ที่ผิดฝ่ายเดียว เรียกว่าลังเลไม่ตกลงในใจ นี้เป็นจิตหลงดวง ๑
    จิตหลงดวงที่ ๒ อาการทำโดยฟุ้งซ่านน่ะ อ้ายนี่มันครึ่งบ้าครึ่งดี ลูกเต้าใกล้เคียง เหวี่ยงปึงลงไปให้ก็ตายเลย กำลังมันไม่สบายอกสบายใจ ทำโดยฟุ้งซ่าน ด้วยหลงเหมือนกัน เหมือนคนทำโดยฟุ้งซ่านทำมันแรงเกินไป ไม่ปรารถนาให้ตายหรอก มันไปตายเข้าก็เลยติดคุก นั่นเพราะทำด้วยจิตฟุ้งซ่าน นี้เป็นจิตหลงดวง ๑
    จิตหลง ๒ ดวงนี้สำคัญมาก ต้องคอยระแวดระวังสำคัญอยู่ ไม่ให้ไปทางถูก ให้ไปทางผิดร่ำไป
    นี้จิต ๑๒ ดวงนี่แหละมันควบคุมเราอยู่ ให้เราไปเกิดในอบายภูมิทั้ง ๔ เราตกต่ำเลวทรามลงได้ด้วยประการใดๆ ก็เพราะจิต ๑๒ ดวงนี่เอง ต้องควบคุมไว้ให้ดี ต้องเล่าเรียนเสียให้ชัดทีเดียว ถ้าว่าเล่าเรียนเสียให้ชัดแล้ว รู้หน้ารู้ตารู้ขอบรู้เขตของมันแล้ว มันจะข่มเหงเราไม่ได้ ถ้าเราไม่รู้เท่าทันมันเสียแล้วมันก็จะข่มเหงเราตามชอบใจ ในตัวของเรานี้ไม่ใช่ที่อื่น นี่แหละมันเนื้อหนังปรมัตถ์ทีเดียว ฝ่ายความชั่วล่ะ เป็นเนื้อหนังของพระอภิธรรมปิฎกทีเดียว จิต ๑๒ ดวงนี่แหละ
    ที่แสดงวันนี้แสดงแต่เพียง ๑๒ ดวง เวลาไม่เพียงพอ แล้วต่อไปจะแสดงเป็นลำดับไป อเหตุกจิต กามาวจรจิต รูปาวจรจิต อรูปาวจรวิต พอหมดเรื่องจิตแล้วละก็จะแสดงรูป ๒๘ มหาภูตรูป ๔ อุปาทายรูป ๒๔ หมดรูปแล้วจะแสดงนิพพาน ให้เข้าเนื้อเข้าใจแตกฉานใน ๔ อย่างนี้ให้ได้ เพราะวัดปากน้ำเริ่มลงมือเล่าเรียนกันแล้วใน ๔ อย่างนี้ ภิกษุสามเณรเล่าเรียนกันแล้ว ที่แสดงนี้ก็เป็นอุปการะแก่ภิกษุสามเณรอุบาสกอุบาสิกาที่กำลังเล่าเรียนกันอยู่นี้ กำลังศึกษาอยู่ มีครูสอน พระทิพย์ปริญญาเป็นผู้สอนปรมัตถปิฎกนี้ ผู้สอนปรมัตถ์ ไม่ใช่เล่นๆ หนา ต้องมีภูมิพอ ต้องมีการศึกษาพอ ถ้าไม่มีการศึกษาพอละก้อ ลูกศิษย์สู้ครู ถามกันเจ๊งแน่ทีเดียว ไม่ต้องสงสัยละ เพราะเป็นของที่ลึกซึ้งมาก ถามเจ๊งแน่ ถามติดแน่ทีเดียว เพราะฉะนั้นอุบาสกอุบาสิกาควรตั้งอกตั้งใจศึกษาเถิด
    ปรมัตถปิฎกเป็นเนื้อหนังพุทธศาสนาจริงๆ ส่วนวินัยปิฎกเป็นข้อห้ามข้อปรามไม่ให้ทำชั่วด้วยกายด้วยวาจาเท่านั้น ส่วนสุตตันตปิฎก เป็นสายบรรทัด เป็นตัวอย่างว่าคนนั้นทำอย่างนี้เป็นสุขอย่างนี้ คนนั้นทำดังนี้ พ้นจากทุกข์ พ้นจากไตรวัฏ ไปสู่นิพพานอย่างนี้ นั่นเป็นหน้าที่ของสุตตันตปิฎก ไม่ใช่เนื้อหนังของธรรม ส่วนปรมัตถปิฎกนี้เป็นเนื้อหนังของธรรมจริงๆ นะ ที่ดับสูญไปเสีย ไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย เรียนกันแต่เปลือกๆ ผิวๆ เป็นแต่กระพี้ๆ ไป ก็เพราะมารขวางกีดกันไว้ ให้ศึกษาเผินไปหมด พุทธศาสนาก็จะถล่มทลายเพราะเนื้อธรรมไม่มีใครรู้แน่แท้ลงไป รู้แต่เปลือกแต่ผิวไปเสีย เหตุนี้ เราทั้งหลายควรตั้งใจเสียให้ดี ทั้งภิกษุสามเณรจงอุตส่าห์เล่าเรียนปรมัตถคัมภีร์อภิธรรมปิฎก นี้ให้แตกฉานชำนาญเถิด ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์พบพุทธศาสนา ที่ได้ชี้แจงแสดงมาตามวาระพระบาลีคลี่ความเป็นสยามภาษา ตามมตยาธิบาย พอสมควรแก่เวลา เอเตน สจฺจวชฺเชน ด้วยอำนาจความสัตย์ที่ได้อ้างธรรมปฏิบัติตั้งแต่ต้นจนอวสานนี้ สทา โสตฺถี ภวนฺตุ เต ขอความสุขสวัสดีจงบังเกิดมีแด่ท่านทั้งหลาย บรรดามาสโมสรในสถานที่นี้ทุกถ้วนหน้า อาตมภาพชี้แจงแสดงมาพอสมควรแก่เวลา สมมติว่ายุติธรรมีกถาโดยอรรถนิยมความเพียงเท่านี้ เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้


    จบเทศนา โดยหลวงปู่สดฯ เรื่อง พระปรมัตถปิฎก




    ............................................
     
  13. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,875
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,146
    ค่าพลัง:
    +70,543
    ............................................
     
  14. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,875
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,146
    ค่าพลัง:
    +70,543
    อธิษฐานว่า วันนี้ถ้าบุญบารมีพอ ขอให้เห็นดวง แต่ถ้าไม่พอ จะขอหยุดไว้ก่อน ?

    
    เมื่อตอนแยกกลุ่มเริ่มปฏิบัติ ผมได้ตั้งจิตอธิษฐานต่อพระเดชพระคุณ พระมงคลเทพมุนี ว่า วันนี้ถ้าผมมีบุญบารมีพอที่จะเข้าถึง รู้วิชชาธรรมกาย ขอให้ผมนึกเห็นดวงแก้วกลมใสในฐานที่ ๗ พร้อมกับนิมิตอื่นๆ อีกที่เป็นสัมมาทิฏฐิ แต่ถ้าไม่มีบุญบารมีพอ ผมก็จะขอหยุดไว้ก่อน เพื่อตั้งหลักครั้งใหม่ พอเริ่มปฏิบัติไป ก็ปรากฏเห็นดวงแก้วกลมใสพร้อมองค์พระที่ใสในขณะเดียวกัน อาการเช่นนี้เป็นอยู่นานพอสมควร ความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับผม ปรากฏว่าดีขึ้นเป็นอย่างมาก




    ---------------------------


    ตอบ:

    คำอธิษฐานนี้เสี่ยงไปหน่อยนะครับ   เสี่ยงในข้อที่ว่า  ท่านอธิษฐานว่า “แต่ถ้าไม่มีบุญบารมีพอ  ผมก็จะขอหยุดไว้ก่อน  เพื่อตั้งหลักครั้งใหม่”

    ตรงนี้เป็นการอธิษฐานที่ไม่ถูกต้อง  เหตุที่ไม่ถูกต้องเพราะว่า  ถ้าไม่มีบุญบารมี   ก็ไม่ได้มาเรียนหรอกครับ  คือทุกคนมีบุญบารมีด้วยกันทั้งนั้น   ที่กระผมจะพูดหมายถึงอย่างนี้   แต่มีมากมีน้อย  ไม่ใช่ไม่มีคือศูนย์   ไม่ใช่อย่างนั้น   มีบุญบารมีด้วยกันทั้งนั้น

    พระคุณเจ้าเองก็มี    แต่ถ้าบุญบารมียังน้อยอยู่  มันก็ยังไม่เห็น  อย่าไปเอาเป็นอารมณ์มากนักในเรื่องของอธิษฐาน   ไม่อย่างนั้นเสียเปรียบภาคมาร   ภาคมารคอยสอดละเอียด หลอกเราแวบเดียว  เราพลาดไปเลย

    บางท่านอธิษฐานสร้างบุญบารมี เพียงปกติสาวก   ถ้าโดยนัยนั้นก็เหมือนว่า  เราจะบำเพ็ญบารมีเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพานในระดับมาตรฐานเบื้องต้น  คือระดับปกติสาวก

    มาตรฐานเบื้องต้นนั้น  เมื่อได้บำเพ็ญบุญกุศลได้เต็มหนึ่งคืบของเจ้าของ  บุญนั้นจะกลั่นตัวเองเป็นบารมี ได้ประมาณเท่าหนึ่งองคุลีมือ

    บำเพ็ญบารมีจนเต็มแก่กล้าได้หนึ่งคืบ   จึงจะกลั่นตัวเองเป็นอุปบารมี   เท่าหนึ่งองคุลีมือ

    แล้วก็บำเพ็ญอุปบารมีจนเต็มหนึ่งคืบ   จึงจะกลั่นตัวเองเป็นปรมัตถบารมี   ประมาณเท่าหนึ่งองคุลีมือ

    และถ้าบำเพ็ญปรมัตถบารมีได้เต็มหนึ่งคืบของตัวครบ หมดทั้ง 10 ประการ (ทานบารมี, ศีล, เนกขัมมะ, ปัญญา, วิริยะ, ขันติ, สัจจะ, อธิษฐาน, เมตตา และอุเบกขาบารมี) ในภพชาติใด   ภพชาตินั้น เมื่อบารมีเต็มก็เป็นอันว่าผู้บำเพ็ญบารมีนั้น  มีพลวปัจจัยให้สามารถทำที่สุดแห่งทุกข์ได้  หมายความว่า ถึงมรรคผลนิพพานได้

    เพราะฉะนั้นเรื่องบุญบารมี   อย่าเอาไปใช้ในลักษณะพนันหรือท้าทายว่า  ถ้าผมไม่มีบุญบารมี ก็หยุดไว้ก่อน   อย่างนั้นผิด   เพราะอะไร ?   มันผิดตรงที่ว่าเราแน่ใจแล้วหรือว่าเรามีบุญบารมีกี่มากน้อย ?   หากว่าเรามีบุญบารมียังไม่พอ   ก็ยังไม่เห็น (ดวงธรรม)

    แต่เราต้องถามตัวเองก่อนว่า  วิธีที่ให้ปฏิบัติอย่างนี้ผิดหรือถูก ?   เราพิจารณาดูเสียก่อนว่า ปฏิบัติอย่างนี้ผิดหรือถูก   ถ้าถูกแล้ว  แม้ยังไม่เห็นก็ตั้งใจปฏิบัติไป   สั่งสมบุญกุศลคุณความดีเรื่อยไป   หยุดทำไม ?   ถึงเวลาก็ได้เห็นเอง   หยุดไปก็ถูกมารหลอก

    การอธิษฐานนี่ นิดเดียวก็ถูกมารหลอกแล้ว   เห็นไหมล่ะ  ไปอธิษฐานว่า ถ้าไม่เห็นก็แปลว่าไม่มีบุญบารมี  จะหยุดเสียแล้ว   ไปเอาข้อนี้มาเป็นเงื่อนไข

    บุญมีนะ  แต่มันยังน้อยอยู่  หรือว่ามันมีเหตุปัจจัยอื่นๆ อะไรปิดบังอยู่   เราก็ไม่รู้   ไปตีความว่าเราไม่มีบุญเสียแล้ว   จะหยุดปฏิบัติเสียแล้ว   เหมือนกับเราจะขุดน้ำในบ่อ   พอไปเจอรากไม้หน่อย  โอ๊ย ไปไม่ได้แล้ว   ก็จบกัน

    เพราะฉะนั้น เมื่อไปเจอรากไม้ตอไม้หรืออะไร   เราก็พยายามขุดตัดออกอีกหน่อยก็ลงไปได้   แต่ต้องค่อยๆ ทำ   ไม่ใช่ว่าขุดไปต้องให้เจอน้ำนะ   ถ้าไม่เจอน้ำก็แปลว่าไม่มีน้ำ   อย่างนี้ก็เสร็จกัน

    เราถามตัวเองก่อนว่า  วิธีปฏิบัตินี้  ตามที่สอนไปนี้ผิดหรือถูก  ให้คุณหรือให้โทษ   ตรงนี้ต่างหากคือประเด็นที่ควรพิจารณา

    เผอิญท่านอธิษฐานแล้ว ท่านเห็น  นี่เป็นการดี   ท่านมีบุญบารมีอยู่แล้ว  ไม่ต้องไปอธิษฐานอย่างนั้นก็เห็นได้ เกิดหากว่ามารสอดละเอียดให้ท่านไม่เห็นซะนี่   ทั้งๆ ที่ท่านมีบุญ   เผอิญวันนี้มารสอดละเอียดท่านหน่อย  เลยยังไม่เห็น   ไม่เห็นท่านก็หยุดเสียแล้ว   ทั้งๆ ที่มันใกล้จะเห็นอยู่แล้ว

    หรือว่าเหมือนกับขุดน้ำ   มันจวนจะถึงน้ำอยู่แล้ว   อะไรมาคั่นหน่อยเดียว   บอกว่าถ้าไม่เห็น   น้ำผมจะหยุดแล้ว ไปเห็นอุปสรรคอะไรขวางหน่อย ก็คิดว่าผมจะหยุดแล้ว   เสร็จเลย   ทั้งๆ ที่เลยไปอีกหน่อยเดียวก็เห็น

    นี่แหละให้ระวังเรื่องอธิษฐาน   ให้ระวัง !   มีคนเคยเป็นแบบนี้มาแล้ว   อาตมาบอกแล้วก็ไม่ยอมเชื่อเสียด้วย

    เพราะฉะนั้นเรื่องอธิษฐาน   ต้องระวังให้ดี   บางทีกลายเป็นการผูกมัดตัวเอง    ไม่ใช่แต่เพียงเรื่องอธิษฐาน บางคนว่าฉันต้องรักษาวาจาสัตย์  พูดอะไรออกไปก็ต้องเป็นตามนั้นเสมอไป     ถ้าพูดถูกแล้วเป็นตามนั้นก็สมควร   แต่ถ้าพูดผิดด้วยอารมณ์   บางทีมันมีอารมณ์รัก โกรธ เกลียด ชอบ ชัง หลง กลัว  อะไรๆ ก็แล้วแต่   พอเราพูดว่าต่อไปนี้ฉันจะไม่ยังงั้น  ละฉันจะไม่อย่างงี้ละ   หรือว่าต่อไปนี้ฉันจะทำอย่างนั้น   ถ้าไม่เป็นอย่างนั้น   ฉันก็จะไม่เป็นอย่างนี้

    บางทีเราหลงเข้าใจผิดแล้ว   เลยอธิษฐานหรือพูดพลาดไปผิดๆ   ถ้าไม่ระวังให้ดี   หรือถ้ารู้ว่าอธิษฐานผิด/พูดผิดแล้วไม่แก้ให้ถูก   ก็เสียผลอย่างใหญ่หลวงได้

    เพราะฉะนั้น  การถือสัจจะหรืออธิษฐานนี่   ให้จำไว้ว่า  เราจงทำในขณะที่เรามีสติสัมปชัญญะดี มีปัญญาแจ้งชัดดีแล้ว   ถ้ายังไม่แจ้งชัดพอก็อย่าเพิ่งอธิษฐาน   อย่าเพิ่งลั่นวาจา   ตรงนี้สำคัญ...

    ถ้าลั่นวาจาแล้ว   ภายหลังเรารู้ว่าไม่ถูก  ไปพูดเข้าไปแล้ว   เลยกลับคำไม่ได้   หรืออย่างเช่น   การอธิษฐานนี่  บางท่านอธิษฐานกินเจ (มังสวิรัติ) ตลอดชีวิต   บางรายก็เป็นโรคขาดสารอาหาร  เลยแห้งเหี่ยว  เพราะร่างกายต้องการสิ่งที่มีประโยชน์มาบำรุงพอสมควร    แต่ไม่ใช่ว่าต้องรับประทานแต่อาหารที่ดีๆ เกินไป  จนเกินเหตุ  เราต้องมี “โภชเนมัตตัญญุตา”  คือ รับประทานแต่พอควร   ถ้าอดอาหารจนร่างกายไม่มีกำลัง   พระพุทธเจ้าทรงถือว่าเป็น “อัตตกิลมถานุโยค”  เป็นการทรมานร่างกายจนเกินเหตุ   ไม่ใช่ทางให้พ้นทุกข์  ไม่ใช่ทางให้เกิดปัญญา   ที่จะแทงตลอดอริยสัจได้   นี่ต้องระวัง  เรื่องนี้สำคัญ

    บางทีไปอธิษฐานว่า  ถ้าไม่เห็นไม่ยอมลุก   บางทีเราตายเปล่านะ   ผู้ที่อธิษฐานอย่างนี้ได้  อย่างหลวงพ่อท่านอธิษฐาน  ข้อนี้ดีจริงนะ   ไม่ใช่ไม่ดี   พระพุทธเจ้าก็อธิษฐาน   แต่นั่นท่านรู้ตัวท่านแล้วว่าบารมี ท่านแค่ไหน   คือปฏิบัติไปจะรู้ตัว   แต่ถ้าท่านผู้ใดรู้ตัวมีบารมีพอ   จึงค่อยอธิษฐาน  เอาเลย !   หรือว่ารู้ว่าสิ่งนี้ถูกต้องแน่   เราจะทำอย่างนี้  หรือจะไม่ทำอย่างนี้   ให้มันแน่นอนลงไปอย่างนั้นได้   แต่ถ้าเป็นไปด้วยอารมณ์   เป็นไปด้วยกิเลส  เหตุนำเหตุหนุนให้พูดหรืออธิษฐาน   ขณะมีความรัก โกรธ เกลียด ชอบ ชัง หลงอยู่ กลัวอยู่ อย่างนี้เป็นต้น   ไปพูดตั้งสัตยาธิษฐานด้วยอาการอย่างนั้นละก็เสร็จเลย   จะกลับคำก็ไม่ได้  กลับคำก็ถือว่าเสียสัจจะ  นี่ไปยึดผิดๆ อย่างนั้น

    แต่ผมน่ะพระคุณเจ้า จะบอกโยมด้วย  อาตมานี่ถ้าว่าจะตั้งใจทำอะไร  ตั้งใจทำให้สำเร็จจริง   แต่ถ้าเห็นมีอุปสรรค มีปัญหา  หรือเห็นว่านี่เรามาผิดทางแล้ว  เห็นว่าควรจะปรับปรุงแก้ไข   ก็แก้ไข  ไม่ใช่ว่าฉันตั้งสัตยาธิษฐานไว้แล้วว่าฉันจะเดินไปทางนี้   บางคนเดินไปแล้วมันจะชนเสา  หัวก็ โขกเสาอยู่นั่น แต่ผมไม่ยอมชนเสาละ  ผมหลีกนะ   แต่ไม่ใช่ถือว่าเสียสัจจะ เพราะวัตถุประสงค์ของผมอยู่ที่ว่าจะไปให้ถึงจุดโน้น   ไม่ใช่ว่าจะต้องเดินไปทางนี้   แม้จะตรงเสาก็ให้ชนเสาเพื่อไปถึงจุดโน้น ก็ย่อมไม่ถึง   เพราะเสาไม่หลีกให้เรา   เราก็ไปถึงจุดโน้นไม่ได้

    เพราะฉะนั้นเมื่อผมมีวัตถุประสงค์จะเดินให้ไปถึงจุดตรงนู้น   แม้เมื่อไปทางนั้นจะชนเสาก็หลีกได้  ขอให้ไปถึงจุดที่ต้องการก็แล้วกัน

    การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ  ให้ถูกต้องตรงตามหลักการ   เพื่อให้ถึงจุดหมายปลายทางที่ประสงค์  ไม่ใช่เป็นการเสียสัจจะ  เพราะจุดประสงค์เรามุ่งที่จะถึงจุดตรงนู้น  เข้าใจไหม ?

    เพราะฉะนั้นจะอธิษฐานอะไรต้องให้รอบคอบ    โดยเหตุนี้  อาตมาจึงนำอธิษฐานเป็นคำกลางๆ  แม้แต่การทำบุญกุศลก็จะนำอธิษฐานเพื่อไปมรรคผล นิพพาน   เป็นคำกลางๆ และถูกต้องแน่นอนดี อธิษฐานเพื่อถึงมรรคผลนิพพานฝ่ายสัมมาทิฏฐิ

    ทีนี้มีคนถามเหมือนกันว่า  “มรรคผล นิพพาน ฝ่ายมิจฉาทิฏฐิมีไหม   หลวงพ่อ [พระภาวนาวิสุทธิคุณ] จึงได้กล่าวอธิษฐานอย่างนี้ ?”

    มันมีได้ด้วยความหลงเข้าใจผิด คิดว่าที่ตนเองเคยเรียนรู้มา (ผิดๆ) ว่  านั่นเป็นมรรคผลนิพพานจริงๆ แต่นั่นเป็นมิจฉาทิฏฐิ   อย่างนี้ก็มี

    เพราะฉะนั้นนี่แหละที่อาตมาบอกว่า นิพพานมิจฉาทิฏฐิของคนที่สอนสืบต่อๆ กันมาก็มีอยู่

    อาจมีคนค้านว่านิพพาน  ต้องของจริงอย่างเดียวสิ   บางครั้ง   คนเกิดมาในยุคในสมัย หรือในครอบครัวหรือในสังคมที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ   พูดเรื่องนิพพาน   เราก็เห็นดีด้วย   เราก็เลยตามดุ่ยเลย  อย่าลืมว่ามิใช่ว่าสัตวโลกทุกผู้ทุกนาม ทุกชาติ ทุกศาสนา จะรู้เรื่องนิพพานแจ่มแจ้งดีแล้ว   แท้ที่จริง  ผู้รู้จริงก็มีแต่พระพุทธเจ้า  พระอรหันตเจ้า และพระอริยเจ้า ในพระธรรมวินัยนี้  คือในพระพุทธศาสนานี้เท่านั้น

    แต่สัตวโลกทั้งหลายมีความต้องการตามคุณสมบัติพระนิพพานที่จริงแท้ๆ  นั่นแหละคือ ไม่อยากมีทุกข์ ไม่อยากแก่-เจ็บ-ตาย   อยากจะมีแต่ความสุขอันถาวรนิตย์นิรันดร์

    มีใครอยากจะตายมั่ง   มีมั้ย ?   อยากจะเที่ยงกันทุกคน  ใครอยากได้รับความทุกข์บ้าง มีไหม ?   ก็ต้องการความสุขด้วยกันทุกคน

    ต้องการความเที่ยงเป็นสุข   และต้องการยั่งยืน คือไม่รู้จักตาย ไม่ว่าสัตว์ดิรัจฉาน ไม่ว่ามนุษย์ ไม่ว่าเทวดา พรหม อรูปพรหม   ล้วนต้องการคุณลักษณะของพระนิพพานแท้ๆ อย่างนี้ทั้งนั้น   แต่ว่าไม่รู้จักพระนิพพานของจริงในพระพุทธศาสนา   ทีนี้ ก็แล้วแต่ใครจะพูดจะแนะนำสั่งสอนอะไรไปผิดๆ ถูกๆ   นี่แหละ “นิพพานมิจฉาทิฏฐิ”   คือไม่รู้จัก พระนิพพาน ที่แท้จริง

    ที่อาตมาให้อธิษฐานแต่ละคำนั้น มีความหมายทั้งหมด   ไม่ใช่ว่าพอดีพอร้าย   ไม่ใช่ธรรมดา   ไม่ใช่สักแต่พูด  อาตมาจึงให้เน้นตรงนั้นตรงนี้   อย่างนั้นอย่างนี้   โปรดเข้าใจนะ

    สรุปว่า  ถ้ามั่นใจว่าเรามีบุญบารมีพอ ก็อธิษฐานเช่นนั้นได้   แบบพระพุทธเจ้า     แต่ถ้าไม่มั่นใจก็ไม่ต้องอธิษฐานอย่างนั้นหรอกครับ   อธิษฐานอย่างที่หลวงพ่อท่านสอนให้อธิษฐานนั่นแหละ  นี้แหละมันปลอดภัยที่สุด   อธิษฐานตามนั้นแหละว่า

    “ขอบารมีทั้งหลายเหล่านั้น จงมาบังเกิดในจักขุทวาร โสตทวาร ฆานทวาร ชิวหาทวาร กายทวาร มโนทวาร”

    คืออย่างไร ?   ก็คือมาเป็นตัวเรานั่นแหละ   พูดกันง่ายๆ ขอบุญบารมีทั้งหลายเหล่านั้นมาเป็นตัวเรา บุญบารมีที่บริสุทธิ์ผ่องใส  จะมาเป็นตัวเรา   คือกายเนื้อนี้ได้อย่างไร   เป็นไม่ได้   มาเป็นธรรมกายละก็ได้ เข้าใจไหม ?

    คำอธิษฐานของหลวงพ่อเป็นอย่างนี้   ทีนี้อาตมาก็เลยคิดว่า  อาจจะมีโยมที่อาจจะไม่ค่อยรู้ความหมาย  อาจจะมีพระไม่ค่อยรู้  เณรไม่ค่อยรู้   ก็เลยบอกให้ละเอียดลงไปหน่อยว่า  “จงมาช่วยประคับประคองใจให้หยุดให้นิ่ง”   เพราะถ้าใจไม่หยุดไม่นิ่งๆ  ก็ไม่ถึงพระ ใจต้องหยุดต้องนิ่งจึงถึงพระ คือ ต้องกำจัดกิเลสนิวรณ์ก่อน

    วิธีการปฏิบัติภาวนาให้ใจสงบ ให้หยุดให้นิ่งอย่างนี้   ผิดหรือถูกล่ะ  เมื่อรู้ว่าถูกแล้วก็ไม่ต้องไปคิดมาก เดินหน้าอย่างเดียว   ลุยอย่างเดียว  ลุยไปจนตาย   แล้วก็ได้เห็นเองเป็นเองเท่านั้นแหละ

    เราพิจารณาดูว่าทางปฏิบัตินั้นถูกมั้ย   ถ้าถูกแล้วก็ทำไปเลย   แต่ถ้าเมื่อไหร่เราเห็นว่าทางนี้ไม่ถูก ถ้าไม่ถูกก็เปลี่ยนหรือปรับปรุงให้มันถูก  ก็เท่านี้แหละ

    อาตมาใช้อย่างนี้   เพราะฉะนั้นหลวงพ่อวัดปากน้ำท่านจึงสอนว่า “ประกอบเหตุ สังเกตผล ทนเอาเถิด ประเสริฐนัก  ประกอบในเหตุ สังเกตในผล ทนเอาเถิด ประเสริฐดีนัก” ก็คือว่าปฏิบัติไปก็พิจารณาดูเหตุ ดูผลไป  คอยประคับประคองใจของเราให้ถูกทางว่า  ทำแล้วได้ผลไหม  อย่างนี้ๆๆ   ถ้าไม่ได้ผล   เป็นเพราะเราไม่ถูกต้องตรงไหน   เราก็ปรับตรงนั้นซะ

    จุดหมายปลายทาง ก็ต้องการให้ใจหยุด  จะให้ใจหยุดตรงไหน ?    ก็ให้หยุดตรงกลางกำเนิดธาตุธรรมเดิม   หยุดตรง นั้นแล้วได้อะไร ?   หยุดแล้วถึงดวงธรรมที่ทำให้เป็นกาย

    ถ้ามีคนถามว่านั่นนิมิตนี่   บอกเขาไปว่า คุณรู้จริงหรือเปล่าว่า นิมิตเป็นอย่างไร ?

    ถ้าเขาว่า นั่นปฏิภาคนิมิตยังไงล่ะ  เห็นเป็นดวงใสเหมือนกัน   ก็บอกเขาไปว่า “ใช่”

    แต่นี่เมื่อเห็นดวงใสตรงกลางกำเนิดธาตุธรรมเดิมนั้น   “ใจ” คือ เห็น จำ คิด รู้ (ที่ขยายส่วนหยาบออกมาจากธาตุละเอียดของนามขันธ์ 4 คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) หยุดตรงกลางกำเนิดธาตุธรรมเดิม  เมื่อใจหยุดตรงนั้นถูกส่วนเข้า   ศูนย์กลางนั้นก็ขยายว่างออกไป เราจะสังเกตเห็นหรือไม่เห็นก็แล้วแต่   แต่ศูนย์กลางตรงนั้นขยายว่างออกไป  ขยายออกแล้ว  แวบเดียวที่เรารู้สึกหวิวนิดหนึ่งนั่นแหละ   ก่อนที่เราจะเห็นดวงใสดวงใหม่   พอขยายออก  จิตดวงเดิมตกศูนย์ไปยังศูนย์กลางกายฐานที่ 6 จิตดวงเดิมนั่นละปฏิภาคนิมิต นั่นไปแล้ว    แล้วก็ปรุงเป็นจิตดวงใหม่  ตั้งอยู่กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายใหม่  ลอยเด่นขึ้นมาใสแจ่ม ตรงศูนย์กลางกายฐานที่ 7 อีก  ที่เห็นใสแจ่มลอยเด่นมานี้ ไม่ใช่ปฏิภาคนิมิตดวงใหม่แล้ว แต่เป็นดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายดวงใหม่  มีใจตั้งอยู่ตรงกลางนั้น ใสแจ่มขึ้นมา  และมีความแตกต่างจากดวงใส  ที่เป็นปฏิภาคนิมิตดวงเดิม

    กล่าวคือ ดวงใสดวงใหม่ จะปรากฏธาตุละเอียดของมหาภูตรูป 4 (คือ ธาตุน้ำ ดิน ไฟ ลม 4 อย่าง) ไม่ใช่เห็นดวงเฉยๆ  แต่ยังมีธาตุละเอียดข้างในอีกคือ  ธาตุน้ำ ดิน ไฟ ลม  ตรงกลางเป็นอากาศธาตุ (เป็นที่ 5) ตรง กลางอากาศธาตุมี “วิญญาณธาตุ” ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของนามขันธ์ 4 (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) หลวงพ่อถึงบอกว่า “ถ้าธาตุทั้ง 6 ไม่ประชุมกัน ปฐมมรรคก็ไม่เกิด”

    เพราะฉะนั้น  ที่เราเห็นคือ “ดวงปฐมมรรค” หนทางเบื้องต้นไปสู่มรรคผลนิพพาน หรือ “ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกาย” หรือ “ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน”  เพราะเราสามารถจะเข้าถึงและรู้เห็นกายในกาย  เวท นาในเวทนา  จิตในจิต  และธรรมในธรรม จากสุดหยาบไปสุดละเอียดได้ตรงนั้นเอง   จึงชื่อว่าดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

     เพราะฉะนั้น  คำพูดของหลวงพ่อ  ธรรมะของหลวงพ่อลึกซึ้งอย่างนี้

    เมื่อเราเข้าใจอย่างนี้แล้ว  ก็พิจารณาดูซิว่าวิธีของท่านผิดหรือถูกล่ะ ?   เราพิจารณาเห็นกายในกาย  เวทนาในเวทนา จิตในจิต  และก็เห็นธรรมในธรรม  คือว่าเมื่อใจหยุดนิ่ง  จิตไม่สังขาร (ไม่ปรุงแต่ง) ก็เป็นกุศลธรรม  เป็นบุญผ่องใส และค่อยๆ แก่กล้าไป  จนกระทั่งถึงเป็นบารมี อุปบารมี ปรมัตถบารมี  ละเอียดเข้าไปสุดละเอียด  จาก “มนุษยธรรม” ถึง “เทวธรรม” “พรหมธรรม” และถึง “พุทธธรรม” คือ ธรรมกาย ณ ที่สุดละเอียดของธรรมกาย ก็ คือ อายตนะนิพพาน  ได้รู้เห็นไปตลอดอย่างนี้   เป็นขั้นเป็นตอนอย่างนี้  ผิดหรือถูกล่ะ   เมื่อเราได้พิจารณาโดยแยบคายรู้ว่าถูกทางแล้ว ก็จงเพียรปฏิบัติไป   เดินหน้าลูกเดียว   แต่ถ้าเราพิจารณาเห็นว่า  ทางไม่ถูกหรอก   เอ้า! ไม่ถูกก็ไม่ถูก  ไม่ว่ากัน

    เพราะฉะนั้น  ข้อนี้ไม่ต้องอธิษฐานอย่างนั้น   แต่ถ้ามั่นใจว่า บุญบารมีของเรามีพอ  เอาละ !  อธิษฐานได้  แบบพระพุทธเจ้า   หลวงพ่อท่านก็อธิษฐานนะ   อธิษฐานอย่างที่พระสมุห์ท่านว่าเมื่อกี้นี้   ก็แสดงว่าท่าน (พระสมุห์ เขียน) มีบุญ  ท่านถึงได้เห็นได้  เห็นเพียงแวบหนึ่งนี่   หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านว่าเห็นเพียงแวบหนึ่ง ก็ใจหยุดเพียงแวบหนึ่ง  “เท่าช้างกระดิกหู”  ช้างกระดิกหูเป็นอย่างไร ?   เพียงกระพริบตาเดียวเท่านั้นแหละ  หรือว่า  “เท่างูแลบลิ้น”  แวบเดียวเท่านั้น   นั่นบุญใหญ่กุศลใหญ่ยิ่งกว่าการสร้างโบสถ์วิหารการเปรียญเสียอีก   เพราะเป็นทางมรรคผลนิพพาน  คือได้สัมผัสได้ลิ้มรส   ได้รู้ว่า “นิพพาน” บริสุทธิ์ผ่องใส คือ ใจที่บริสุทธิ์ผ่องใส  ได้สัมผัสธรรมที่ละเอียดสุขุมลุ่มลึก  อย่างนี้ทางนี้แหละเป็นมัชฌิมาปฏิปทา  เป็นทางสายกลาง  โดยทางปฏิบัติไม่ใช่ปริยัติ   ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ  ก็อยู่ที่นี่  อยู่ตรงกลางของกลางกำเนิดธาตุธรรมเดิมนี้   อริยมรรคมีองค์ 8 ก็อยู่ที่นี่   ไม่ได้อยู่ที่ไหน   ไม่ได้อยู่ที่ห้องสมุด  ไม่ได้อยู่ที่คัมภีร์  แต่อยู่ตรงที่ใจหยุด  ใจนิ่ง ตรงกลางของกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายหรือปฐมมรรคนี้

    เพราะฉะนั้น   พระพุทธรูป พระประธานบนศาลาอเนกประสงค์นี้   นี่เป็นพระปางปฐมเทศนา  ซึ่งมีปริศนาธรรมอยู่  เห็นไหมล่ะ  ?    นิ้วชี้ซ้ายนี่ชี้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7   นี้บอกตำแหน่งดวงธรรมที่ทำให้เป็นกาย  เป็นปางปฐมเทศนา  ที่พระพุทธเจ้ากำลังโปรดปัญจวัคคีย์  ที่ทรงอุทานว่า “อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ - โกญฑัญญะเห็นแล้วหนอ”  ที่เราสวดธรรมจักกัปปวัตตนสูตร

    เห็นดวงธรรมที่ทำให้เป็นกาย   ซึ่งมีอาการเกิดดับๆ   หลวงพี่สมุห์ท่านก็เห็นนะ   ลองพิจารณาตามที่ผมได้เล่าให้ฟังนี้ดูก็แล้วกันนะครับ

    คำถามที่ท่านถามมานี้ก็พิจารณาเอาเองก็แล้วกันว่า สมควรจะปฏิบัติ (อธิษฐาน) อย่าง ไร  ผมคงจะไม่ต้องไปชี้ว่าต้องทำอย่างนั้นต้องเป็นอย่างนี้   แต่ขอให้พิจารณาเอาเองว่า  เมื่อใดสมควรจะปฏิบัติ คือจะอธิษฐานอย่างไร ?   จึงจะเหมาะสมแก่บุญบารมีของตนๆ  ก็ดำเนินไปตามนั้น.
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 23 เมษายน 2015
  15. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,875
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,146
    ค่าพลัง:
    +70,543
    การบริกรรมนิมิต คือ การนึกถึงอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง
    เพื่อให้เป็นที่เกาะยึดของจิต หรือความคิดในขณะนั้น โดยมี
    วัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการทำงานของจิต หรือความคิดให้เกิด
    ความตั้งมั่นโดยไม่สัดส่าย หรือกวัดแกว่งไปยึดเกาะในสิ่ง
    อื่นๆ การนึกถึงบริกรรมนิมิต จึงต้องไม่ส่งผลให้เกิดความ
    หมายได้มากกว่า 1 ความหมาย เพราะโดยหลักการของการ
    ทำใจให้สงบระงับ ตามแนววิชชาธรรมกายนั้น ความคิดหรือจิต
    ของผู้ปฏิบัติ จะต้องถูกฝึกฝนให้เกาะเกี่ยว และผูกพัน อยู่กับ
    อารมณ์ของบริกรรมนิมิต ได้อย่างต่อเนื่องกันเป็นเวลานานๆ
    จนเกิดความเคยชิน ดังนั้น ถ้าจิตหรือความคิดของผู้ปฏิบัติ ถูก
    ฝึกฝนให้นึกถึงอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งที่สามารถจดจำได้เป็น
    อย่างดีแล้ว จิตหรือความคิดนั้น ย่อมสามารถถูกชักนำให้เกิด
    ความสงบได้โดยง่าย

    ด้วยเหตุผลดังกล่าว พระเดชพระคุณพระมงคลเทพ
    มุนี (สด จันทสโร) ผู้ก่อตั้งการปฏิบัติธรรมตามแนววิชชา
    ธรรมกาย จึงได้กำหนดให้ใช้ดวงแก้วที่มี ความสะอาด
    บริสุทธิ์ ไม่มีรอยตำหนิใดๆ เป็นวัตถุกสิณ เพื่อเป็นเครื่องจูงใจ
    ให้ผู้ศึกษา สามารถพิจารณาจดจำลักษณะ ที่โดดเด่นของ
    ความสว่างภายในดวงแก้ว ที่มีความกลมรอบตัว เป็นอารมณ์
    บริกรรมนิมิต คือ เป็นที่ยึดเกาะของความคิด หรือจิตในระหว่าง
    การปฏิบัติ ทั้งนี้ดวงแก้วที่กำหนดให้ใช้เป็นบริกรรมนิมิตนี้ จะ
    ใช้ขนาดเท่าใดก็ได้ แต่ต้องไม่เล็กกว่าขนาดของดวงตาดำ
    ของบุคคลโดยทั่วไป เพราะจดจำได้ยาก และไม่ควรมีขนาด
    ใหญ่กว่าฟองไข่แดงของไก่ คือมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง
    ประมาณ 2 นิ้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อใช้ขนาดใดเป็นนิมิต
    ตัวอย่างแล้ว ไม่ควรเปลี่ยนขนาด เพราะเท่ากับเป็นการเริ่มต้น
    ใหม่ ในทางกลับกัน การนึกถึงดวงแก้วที่มีขนาดเท่าเดิมทุก
    ครั้ง ย่อมสามารถฝึกฝนความคิดหรือจิตของผู้ปฏิบัติ ให้ยึด
    เกาะและผูกพันอยู่กับอารมณ์ของบริกรรมนิมิต ได้อย่างต่อ
    เนื่องกันเป็นเวลานานๆ ซึ่งหมายถึงโอกาสที่จะเกิดความสงบ
    ย่อมมีมากขึ้นนั่นเอง






    [​IMG]



    การใช้ดวงแก้วแต่เพียงอย่างเดียวเพื่อเป็นเครื่องจูงใจใน
    การปฏิบัติ ย่อมมีความเหมาะสมด้วยเหตุผลสำคัญ 2
    ประการ คือ

    1. ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงในรูปทรง ไม่ว่ากรณีใดๆ
    เพราะดวงแก้วมีความกลมเท่ากันทุกจุด ถึงแม้จะพิจารณาจาก
    ด้านหนึ่งด้านใด หรือมุมหนึ่งมุมใด ย่อมมีลักษณะกลมเหมือน
    กันทุกครั้งไป ไม่เกิดความหมายอย่างอื่น นอกจากความกลม
    เพียงอย่างเดียว จึงเกิดความเหมาะสม เมื่อนำมากำหนดเป็น
    เครื่องจูงใจ เพื่อให้เกิดความสงบ เพราะลักษณะของความ
    กลม ไม่สามารถสร้างความขัดแย้งใดๆ ให้เกิดขึ้นกับความคิด
    ของผู้ปฏิบัติได้ ไม่ว่าจะปฏิบัติได้อยู่ในอิริยาบถใดก็ตาม แต่
    ถ้าใช้วัตถุอย่างอื่นเป็นเครื่องจูงใจในการปฏิบัติ เช่น องค์พระ
    พุทธรูป อาจเกิดข้อขัดแย้งกับความคิดของผู้ปฏิบัติ ได้มาก
    มายหลายประการ พระพุทธรูปนั้นมีหลายปาง หลายลักษณะ
    และหลายอิริยาบถ ย่อมเกิดความแตกต่างขึ้นได้หลายๆ กรณี
    เช่น เมื่อมองตรงๆ จากเศียรพระพุทธรูปลงมา ผู้ปฏิบัติมักเกิด
    ข้อสงสัยว่า รูปร่างและลักษณะที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร
    เกศพระพุทธรูปนั้นจะมีลักษณะเปลวเพลิง หรือ บัวตูม เส้น
    เกศานั้นควรม้วนไปในลักษณะใด หรือแม้กระทั่งการห่มบิดไป
    ทางซ้ายหรือทางขวา ล้วนสร้างความสับสนได้ง่าย เป็นต้น
    พระพุทธรูปหรือวัตถุรูปทรงอื่นๆ จึงไม่เหมาะสมต่อการนำมา
    กำหนด เป็นเครื่องจูงใจ เพื่อสร้างความสงบ

    2. วัตถุที่มีรูปร่างเป็นทรงกลมนั้น ส่วนใหญ่เป็นวัตถุทึบ
    แสง ทำให้ไม่สามารถมองเห็นลักษณะภายในทรงกลมนั้นได้
    จึงเป็นลักษณะที่ไม่ก่อให้เกิดความน่าสนใจ หรือชวนมองเพื่อ
    จดจำ แต่ดวงแก้วนั้นเป็นวัตถุโปร่งใส ที่แสงสามารถผ่านได้ทั้ง
    หมด เมื่อมีแสงจากภายนอกมาตกกระทบ ดังนั้น มีความแตก
    ต่างจากวัตถุทรงกลมทึบแสงที่มีขนาดเดียวกัน ภาพของดวง
    แก้วที่มีความสว่างภายในจึงจัดได้ว่า มีความแปลกที่โดด
    เด่นกว่าภาพวัตถุอย่างอื่น ที่เกิดจากการมองในลักษณะเดียว
    กัน ผู้ปฏิบัติจึงสามารถจดจำดวงแก้วได้มากขึ้น เมื่อ
    พิจารณาจากลักษณะดังกล่าว

    แต่อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการจดจำลักษณะที่
    เด่น ของภาพดวงแก้วที่ได้กล่าวมานี้นั้น ย่อมเกิดขึ้นจากการ
    ฝึกฝนเพียงอย่างเดียว โดยนั่งมองแล้วพิจารณาด้วยความตั้งใจ
    เพื่อจดจำ ซึ่งหลังจากสามารถจดจำได้เป็นอย่างดีแล้ว ใน
    ระหว่างการปฏิบัติธรรม ผู้ปฏิบัติจะต้องนึกถึงลักษณะของดวง
    แก้วเท่าที่ตนเองจดจำได้เท่านั้น ซึ่งมากหรือน้อยขึ้นกับ ความ
    ตั้งใจในระหว่างการนั่งมองเพื่อฝึกเพิ่มความจำ ดังนั้น ถ้าผู้
    ปฏิบัติไม่สามารถนึกถึงดวงแก้วได้ ในระหว่างการปฏิบัติ ก็
    แสดงว่าความจำนั้นมีน้อย ต้องเพิ่มการฝึกฝน โดยการนั่ง
    มองดูดวงแก้วนั้นให้มากขึ้นไปอีก ซึ่งโดยปกติแล้วต้องฝึกฝน
    ทุกวัน เพราะสภาพการใช้ชีวิตในแต่ละวัน ของผู้ปฏิบัติแต่ละ
    บุคคลนั้นย่อมแตกต่างกัน การรับสภาพอารมณ์ จากความ
    วุ่นวายในรูปแบบต่างๆของการทำงานในแต่ละวัน ย่อมส่งผล
    ให้สภาพใจของผู้ปฏิบัติขุ่นมัว ไม่แจ่มใส คิดฟุ้งซ่าน ซึ่งแน่
    นอน ย่อมมีผลกระทบโดยตรงต่อความคิดของผู้ปฏิบัติ ทำ
    ให้ไม่สามารถดึงเอาความจำนั้น มาใช้ประโยชน์ได้ตามความ
    ต้องการ ลักษณะการใช้ชีวิต ที่ไม่พยายามควบคุมหรือบังคับ
    การใช้ความคิดของตนเองแต่ในสิ่งที่ดีงามเช่นนี้ ย่อมเป็น
    อุปสรรคขัดขวางความสงบของตนเองได้เช่นกัน

    การฝึกปฏิบัติเพื่ออบรมใจให้เกิดความสงบ จึงมิใช่เป็น
    เรื่องที่ง่าย ที่จะสามารถเห็นผลได้ในทันทีทันใด หรือในระยะ
    เวลาที่ต้องการ เพราะสภาพใจของบุคคลโดยทั่วไปนั้น ขาด
    ความตั้งมั่นมาเป็นเวลานาน จนอาจกล่าวได้ว่า ตั้งแต่เกิดจนถึง
    เวลาที่ตนเองเข้าสู่การปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง ซึ่งคงไม่น้อย
    กว่า 20-30 ปี โดยเฉลี่ย ลักษณะเช่นนี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็น
    ว่า ใจนั้นมีความเคยชินต่อความวุ่นวายมาโดยตลอด การ
    ฝึกฝนเพื่อให้เกิดความสงบ โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง
    ในแต่ละวัน ย่อมไม่เพียงพออย่างแน่นอน ไม่ว่าจะปฏิบัติด้วย
    วิธีการใดก็ตาม
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • 07e66c46.jpg
      07e66c46.jpg
      ขนาดไฟล์:
      44.1 KB
      เปิดดู:
      1,284
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 6 ตุลาคม 2014
  16. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,875
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,146
    ค่าพลัง:
    +70,543
    [​IMG]



    โอวาทธรรม...หลวงปู่สด จันทสโร



    พระพุทธศาสนา ท่านอุปมาเหมือนต้นไม่ใหญ่ สมบูรณ์ด้วยใบแก่ อ่อน ดอก ผล ที่นก ประชุมชนต้องการ ได้ทั้งนั้น ถ้าว่าคนไม่มีปัญญา เข้ามาในพระธรรมวินัย ของพระศาสดา ก็มัวรับประทานใบไม้น่ะ อ่อนแก่ตามเรื่องของตัว รับประทานดอกไม้บ้างอ่อนแก่ ตามกุศลของตัว รับประทานผลไม้บ้างอ่อน แก่ ตามประสงค์ของตัว นี่คนมีปัญญาน้อย คนไม่มีปัญญา ถ้าคนมีปัญญาแล้วก็ อ้อ เป็นตามธรรมดาพระพุทธศาสนา สมบูรณ์บริบูรณ์ด้วยลาภ สักการะต่างๆ เต็มอยู่ในพระพุทธศาสนานี้ ใครมาอยู่ในพระพุทธศาสนานี้ ไม่ต้องทำนาทำเรือกทำสวนค้าขาย แต่อย่างใดอย่างหนึ่ง ในพุทธศาสนามีบริบูรณ์ ด้วยข้าวปลาธัญญาหารทั้งนั้น ไม่ขาดตกบกพร่องอย่างใด ถ้ามัวเพลินแต่กิน แต่นอน เสียเช่นนี้ มรรคผลก็ไม่ได้ เสียเวลาไป นี่ ทำให้มี ให้เป็นธรรมกายขึ้น นั่นน่ะ เป็นแก่นเป็นสาระของต้นไม้นั้น ในพุทธศาสนาเรียกว่า เป็นแก่นแน่นหนาทีเดียว ได้ชื่อว่ายึดไว้ได้ซึ่งแก่นสาร ของตนทีเดียว "อาทยิ สารเมว อัตฺตโน" ยึดไว้ได้ซึ่งแก่นสารของตนทีเดียว
    ได้ธรรมกายเสีย ได้ธรรมกายแล้วทำธรรมกายนั่นให้เป็น พระโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกทาคามิมรรค สกทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตมรรค อรหัตผล เป็นลำดับไป อย่างนี้พบแก่นสารใน ธรรมวินัย ของพระศาสดาแท้ๆ






    .........................
    พระมงคลเทพมุนี
    หลวงปู่สด จันทสโร
    จากเทศนาธรรมเรื่อง
    กรณียเมตตสูตร
    ๑ มิถุนายน ๒๔๙๗



    ในภาพคือพระประธาน
    และพระบริวาร
    และรูปเคารพเหมือน
    พระเดชพระคุณหลงปู่สด จันทสโร
    ภายในโบสถ์เก่า
    วัดโบสถ์บน บางคูเวียง
    ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญ
    ที่บรรลุธรรมกาย
    ของหลวงปู่สด จันทสโร
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  17. king938

    king938 ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 มกราคม 2009
    โพสต์:
    356
    ค่าพลัง:
    +1,103
    การฝึกปฏิบัติเพื่ออบรมใจให้เกิดความสงบ โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง
    ในแต่ละวัน ย่อมไม่เพียงพออย่างแน่นอน ไม่ว่าจะปฏิบัติด้วยวิธีการใดก็ตาม
    แต่การนั่งนานๆ ก็ไม่ไหว พอจะมีวิธีเดินจงกลม ตามแนววิชชาธรรมกาย
    เอาไว้เปลี่ยนอิริยาบทบ้างไหมครับ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 6 ตุลาคม 2014
  18. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,875
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,146
    ค่าพลัง:
    +70,543

    การนึกถึง สิ่งใดๆก็ตาม ที่เป็นอารมณ์สบาย ไม่เกิดอกุศล เป็นสิ่งที่เราจำง่าย นึกง่ายเหมือนนึกหน้าตาคนที่เรารัก

    ให้นึกบ่อยๆทีี่ศูนย์กลางกายฐานที่7 เริ่มจากเวลาน้อยๆเช่น ไม่กี่นาที แล้วขยับเพิ่มเวลา

    จะสามารถทำได้ทั้งหลับตา ลืมตา


    อย่ากังวลว่าภาพนึกไม่ชัด


    เราเน้นอารมณ์สบาย

    และใจจะค่อยๆมีความสุขจากภายใน


    และคุ้นกับมีสุขจากฐานที่7



    เมื่อใจหยุด ของจริงจะปรากฏให้เห็นครับ




    ( แต่ถ้าชอบดวงแก้ว ก็นึกดวงแก้ว หรือดวงขาวๆก็ได้ )


    สำคัญที่การนึกสบาย เบาๆ ตรงฐานที่7 เราจึงทำได้ทุกอิริยาบถ


    ------------------------------------------------------

    หมายเหตุ

    หลวงป๋า ท่านได้ธรรมกาย ตอนจะเดินไปตัดผมทีี่ปากซอย
    --------------------------------------------------------------
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 7 ตุลาคม 2014
  19. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,875
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,146
    ค่าพลัง:
    +70,543



    เพิ่มเติมนะครับ




    ถ้าคุณเลือกกำหนดองค์บริกรรม เป็นดวงขาว หรือ ขาวใส

    ให้แตะใจเบาๆ กลางดวงบริกรรม ที่เป็นจุดเล็กใสเท่าปลายเข็ม

    ถ้าบริกรรมสัมมาอะระหังกำกับด้วยแล้วสงบดี ก็บริกรรมไปด้วย แตะใจรู้คำบริกรรม
    ที่กลางจุดเล็กใส



    ในช่วงที่ต้องเดิน ขยับตัว ย่อมต้องรู้สึกถึงลมหายใจบ้าง

    ก็น้อมรู้ถึงลมหายใจ ผ่านเข้าออก ตรงกลางจุดเล็กใส กลางดวงบริกรรม เท่านั้น....

    ....ไม่ต้องตามลม ที่เข้าออก ให้รู้ลมกระทบที่จุดเล็กใส กลางดวงบริกรรมเท่านั้น.......



    เมื่อใจละเอียดลง

    รู้สึกว่าคำบริกรรมเพิ่มภาระให้จิต ก็ปล่อยทิ้งคำบริกรรมไป

    รู้สึกแต่ลมที่ผ่านจุดเล็กใสกลางดวงฯ กับ ดวงบริกรรมนิมิต



    ถ้าลมละเอียดมาก จวนหยุด หรือ ลมหยาบดับไป ใจเบา สงบ มีสติสัมปชัญญะดี

    ก็ปล่อยรู้ลม วางใจนิ่ง เบาๆ ที่ศุนย์กลางของดวงบริกรรมอย่างเดียว

    เดิน ตามความพอใจ

    แล้วมานั่งต่อ


    จะนั่งได้ดีมาก เหมือนกัน


    เป็นการทำสมาธิ ทำกรรมฐาน ได้ต่อเนื่องยาวนานหลายชั่วโมงดี


     
  20. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,875
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,146
    ค่าพลัง:
    +70,543
    [​IMG]




    คำอธิษฐาน




    โดย
    พระเทพญาณมงคล(เสริมชัย ชยมงฺคโล)
    เจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม
    อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี




    ขอกุศลผลบุญ ที่ข้าพเจ้าได้ประกอบบำเพ็ญไว้ด้วยดีแล้ว
    มีทานกุศล ศีลกุศล ภาวนากุศล
    และการอุทิศแผ่ส่วนกุศลนั้น แก่สรรพสัตว์โลกทั้งหลายเป็นต้นนี้
    ตั้งแต่อดีต จนตราบเท่าถึงปัจจุบัน

    จงเป็นตบะ เดชะ พลวปัจจัย
    ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ปราศจากกิเลสนิวรณ์ และวิปัสสนูปกิเลสทั้งหลาย
    ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้มีปัญญาอันเห็นชอบในพระอริยสัจทั้ง ๔ และได้ดวงตาเห็นธรรม
    ขอให้สิ้นอาสวกิเลส ตัณหา อุปาทาน
    และได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ฝ่ายสัมมาทิฏฐิแต่ส่วนเดียว
    และขอจงเป็นพลวปัจจัยเกื้อหนุนข้าพเจ้า

    ๑.ให้แตกฉานในพระไตรปิฎก
    มีพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และ พระอภิธรรมปิฎก

    ๒.ให้ถึงพร้อมด้วยจรณะ ๑๕ ธรรมเครื่องยังให้เกิดและเจริญ โพธิปักขิยธรรม
    องค์ธรรมเครื่องตรัสรู้ ๓๗ ประการ อันประกอบด้วย
    ทิพพจักขุ ทิพพโสต สมันตจักขุ ปัญญาจักขุ ธรรมจักขุ และพุทธจักขุ อันบริสุทธิ์
    พร้อมด้วยวิชชา ๓ วิชชา ๘ อภิญญา ๖ และจตุปฏิสัมภิทาญาณ
    (สำหรับผู้ปรารถนา พุทธภูมิ พึงอธิษฐานเพิ่มว่า .....
    ให้เจริญด้วย อาสยานุสยญาณ และ อินทริยปโรปริยัตตญาณ ธรรมเครื่องช่วยในการโปรดสัตว์)

    ๓.ให้ได้เข้าถึง ได้รู้ เห็น และเป็นพระธรรมกายมรรค ผล และพระนิพพาน
    คือ ธรรมกายที่บรรลุพระอรหัตตผลแล้ว
    ทำให้แจ้งทั้งพระนิพพานถอดกาย และทั้งพระนิพพานเป็น โดยพลัน
    ให้ได้ตรัสรู้ในธรรมที่ควรรู้ ทั้งสังขตธาตุสังขตธรรม
    และอสังขตธาตุอสังขตธรรมทั้งหลาย ตามที่เป็นจริง
    ให้สามารถละธรรมที่ควรละ ให้สามารถเจริญในธรรมที่ควรเจริญ
    มุ่งตรงต่อมรรคผลนิพพาน ที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ทั้งปวง

    ๔.ขอให้ได้บุญศักดิ์สิทธิ์ บารมี รัศมี กำลัง ฤทธิ์ อำนาจ สิทธิ เฉียบขาด เป็นทับทวี
    ตามศักดิ์แห่งบารมี และหน้าที่ทนายแห่งพระพุทธศาสนา

    ๕.ขอให้ข้าพเจ้าได้ชนะศัตรู คือ กิเลสมาร ขันธมาร มัจจุมาร
    และอุปาทานในอภิสังขารมาร ด้วยตัณหาและทิฏฐิ คือ ความหลงผิด
    และขอให้พญามารทั้งหลายและบริวาร จงอย่าได้ช่อง
    เข้าครอบงำ ขัดขวาง และทำลายการบำเพ็ญบารมีแห่งข้าพเจ้า
    ตลอดทั้งเพื่อนผู้ร่วมบำเพ็ญบารมีทั้งหลายของข้าพเจ้าได้

    ๖.ให้ได้รู้ถูก เห็นถูก ในธรรมที่ควรรู้และควรเห็น
    ให้เป็นผู้คิดถูก พูดถูก กระทำถูก นำผู้อื่นถูก
    และทรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนาของพระบรมศาสดาตลอดไป ในกาลทุกเมื่อ

    ๗.ขอให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ฉลาดในอุบาย แห่งความเจริญและความเสื่อม
    เป็นผู้เฉียบแหลมในอรรถ และ ในธรรม

    ๘.ขอให้สุข สมบูรณ์ บริบูรณ์ ด้วยปัจจัย ๔ สิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหลาย
    มียวดยานพาหนะ และเครื่องใช้สอยต่างๆ เป็นต้น
    ขึ้นชื่อว่าความขาดแคลนในสิ่งเหล่านี้ อย่าได้มี

    ๙.แม้ว่าข้าพเจ้าจะยังอาภัพอยู่ ยังจะต้องท่องเที่ยวไปในวัฏฏสงสาร
    ก็ขอให้ได้เกิดในฤกษ์สร้างบารมี บริบูรณ์ด้วยสมบัติ ๖ ประการ คือ
    กาลสมบัติ ชาติสมบัติ ตระกูลสมบัติ ประเทศสมบัติ ทิฏฐิสมบัติ และอุปธิสมบัติ
    ให้ได้มีโอกาสศึกษาและปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ ตามแนวทางพระพุทธศาสนา
    และขอให้ข้าพเจ้าเป็นเหมือนพระโพธิสัตว์ผู้เที่ยงแท้
    ได้รับการพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าแล้ว ไม่กระทำอกุศลกรรมอันจะนำไปสู่อบายภูมิอีก
    และถ้าหากยังมีเศษกรรมเหลืออยู่ ก็ขออย่าได้ถึงฐานะแห่งความอาภัพต่างๆ

    ๑๐.เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ ก็ขอให้ได้เพศบริสุทธิ์ เป็นชาย ให้ได้บรรพชาอุปสมบท
    เป็นผู้มีอายุยืนกว่าอายุขัยของมนุษย์ในกาลนั้นตามปรารถนา
    และแม้ว่าจะผ่านวัยกลางคน ก็ขอให้มีพลานามัยแข็งแรง
    อายตนะภายในดีเลิศ และสุขภาพจิตใจดีเลิศ

    ๑๑.ขอให้ข้าพเจ้าไม่พึงคบมิตรชั่ว ให้พึงคบแต่บัณฑิตในกาลทุกเมื่อ
    และขอให้ข้าพเจ้าเป็นบ่อเกิดแห่งคุณความดี คือ
    เป็นผู้มีศรัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ ประกอบด้วยความเพียรและขันติ
    พึงเว้นจากเวรทั้ง ๕ ไม่เกาะเกี่ยวในกามคุณทั้ง ๕
    พึงเว้นจากเปือกตม คือ กาม
    พึงยินดีในการรักษาศีล เจริญสมาธิ ปัญญา
    วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ โดยสัมมาทิฏฐิแต่ส่วนเดียว




    *** ที่มา
    หนังสือ ทางมรรคผลนิพพาน
    ธรรมปฏิบัติถึงธรรมกายและพระนิพพาน
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 7 ตุลาคม 2014
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...