56. ...วัดกำแพง(คลองบางจาก) ธรรมดาซะที่ไหน...

ในห้อง 'ท่องเที่ยว - อาหารการกิน' ตั้งกระทู้โดย สร้อยฟ้ามาลา, 4 กุมภาพันธ์ 2013.

  1. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837

    ลำดับนั้น พระมหาสัตว์เมื่อจะทูลตอบแด่พระราชา จึงตรัสว่า

    ขอถวายพระพร อาตมภาพนอนผู้เดียวบนเครื่องลาดใบไม้ที่ปูลาดไว้แล้วเพราะการนอนผู้เดียวนั้น ผิวพรรณของอาตมภาพจึงผ่องใส ใครๆ มิได้ตั้งการรักษาทางราชการที่ต้องผูกเหน็บดาบสำหรับอาตมภาพ เพราะการนอนผู้เดียวนั้นผิวพรรณของอาตมภาพจึงผ่องใส ขอถวายพระพร อาตมภาพไม่ได้เศร้าโศกถึงอารมณ์ที่ล่วงไปแล้ว ไม่ปรารถนาอารมณ์ที่ยังไม่มาถึง ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า เพราะเหตุนั้น ผิวพรรณของอาตมภาพจึงผ่องใส คนพาลทั้งหลายย่อมเหือดแห้ง เพราะปรารถนาอารมณ์ที่ยังไม่มาถึง เพราะเศร้าโศกถึงอารมณ์ที่ล่วงไปแล้วเปรียบเหมือนไม้อ้ออันเขียวสด ถูกถอนขึ้นทิ้งไว้ที่แดด ฉะนั้น

    ลำดับนั้น พระราชามีพระดำริว่า เราจักอภิเษกลูกของเราในที่นี้แหละแล้วพากลับไปพระนคร เมื่อจะเชิญพระมหาสัตว์ให้ครองราชสมบัติ จึงตรัสว่า

    ดูกรพระลูกรัก บิดาขอมอบกองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ กองพลราบ กองโล่ห์และพระราชนิเวศน์อันเป็นสถานที่รื่นรมย์แก่พระลูกรัก บิดาขอมอบนางสนมกำนัลผู้ประดับด้วยเครื่องอลังการทุกอย่าง ขอพระลูกรักจงปกครองนางสนมกำนัลเหล่านั้น จงเป็นพระราชาของพวกเราทั้งหลาย หญิง ๔ คน เป็นผู้ฉลาดในการฟ้อนรำและการขับร้อง ศึกษาดีแล้วในหน้าที่ของหญิง จักยังพระลูกรักให้รื่นรมย์ในกาม พระลูกรักจักทำประโยชน์อะไรในป่า

    บิดาจักนำราชกัญญาจากพระราชาเหล่าอื่นผู้ประดับประดาดีแล้ว เมื่อพระลูกรักมีพระโอรสเกิดในหญิงเหล่านั้นหลายคนแล้วภายหลังจึงบวชเถิด พระลูกเจ้ายังทรงพระเยาว์หนุ่มแน่น พระเกศายังดำสนิท จงเสวยราชสมบัติก่อนเถิด พระลูกเจ้าจักกระทำประโยชน์อะไรในป่า

    พระมหาสัตว์เมื่อทรงแสดงธรรมถวายพระราชา ตรัสว่า

    ขอถวายพระพร คนหนุ่มควรประพฤติพรหมจรรย์ ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ควรจะเป็นคนหนุ่ม เพราะว่าการบวชของคนหนุ่ม ท่านผู้แสวงหาคุณธรรมมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นสรรเสริญ

    คนหนุ่มควรประพฤติพรหมจรรย์ ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ควรจะเป็นคนหนุ่ม อาตมภาพจักประพฤติพรหมจรรย์ อาตมภาพไม่ต้องการด้วยราชสมบัติ อาตมภาพเห็นเด็กชายของท่านทั้งหลาย ผู้เรียกมารดาบิดา ซึ่งเป็นบุตรที่รักอันได้มาด้วยยากยิ่งนัก ยังไม่ทันถึงแก่ก็ตายเสียแล้ว อาตมภาพเห็นเด็กหญิงของท่านทั้งหลายซึ่งสวยสดงดงามน่าดูน่าชม มีอันสิ้นไปแห่งชีวิตเหมือนหน่อไม้ไผ่ที่ถูกถอน ฉะนั้น

    จริงอยู่ จะเป็นชายหรือหญิงก็ตามแม้จะยังหนุ่มสาวก็ตาย เพราะเหตุนั้น ใครเล่าจะพึงวางใจในชีวิตนั้นว่า เรายังเป็นหนุ่มสาว อายุของคนเป็นของน้อยนัก เพราะวันคืนล่วงไปๆ เปรียบเหมือนอายุของฝูงปลาในน้ำน้อย ความเป็นหนุ่มสาวในวัยนั้นจักทำอะไรได้ สัตว์โลกถูกครอบงำและถูกห้อมล้อมอยู่เป็นนิตย์ เมื่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เป็นไปอยู่ มหาบพิตรจะอภิเษกอาตมภาพในราชสมบัติทำไม

    พระราชาตรัสถามว่า

    สัตว์โลกอันอะไรครอบงำไว้ และอันอะไรห้อมล้อมไว้ อะไรชื่อว่าสิ่งไม่เป็นประโยชน์เป็นไปอยู่ ขอพระลูกเจ้าจงบอกข้อนั้นแก่บิดา

    พระมหาสัตว์ตรัสว่า

    สัตว์โลกอันความตายครอบงำไว้ อันความแก่ห้อมล้อมไว้ วันคืนชื่อว่าสิ่งไม่เป็นประโยชน์เป็นไป มหาบพิตรจงทรงทราบอย่างนี้ ขอถวายพระพร เมื่อด้ายที่เขากำลังทอ ช่างหูกทอไปได้เท่าใด ส่วนที่จะต้องทอก็ยังเหลืออยู่น้อยเท่านั้น แม้ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็ฉันนั้น แม้น้ำที่เต็มฝั่งย่อมไม่ไหลไปสู่ที่สูง ฉันใด อายุของมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมไม่กลับมาสู่ความเป็นเด็กอีก ฉันนั้น แม่น้ำที่เต็มฝั่ง ย่อมพัดพาเอาต้นไม้ที่เกิดอยู่ริมฝั่งให้หักโค่นไป ฉันใด สัตว์ทั้งปวงย่อมถูกชราและมรณะพัดพาไป ฉันนั้น

    พระราชาทรงสดับธรรมกถาของพระมหาสัตว์แล้ว ไม่ทรงคิดผูกพันด้วยการครองเรือน มีพระราชประสงค์จะทรงผนวช ตรัสว่า เราจักไม่ไปพระนครอีก จักบรรพชาในที่นี้แหละ ถ้าลูกของเราไปพระนคร เราจะให้เศวตฉัตรแก่เขา ดังนี้ เพื่อจะทรงทดลองพระมหาสัตว์ จึงตรัสเชื้อเชิญด้วยราชสมบัติซ้ำอีกว่า

    ดูกรพระลูกรัก บิดาขอมอบกองพลช้าง กองพลม้า กองพลรถ กองพลราบ กองพลโล่ห์ และพระราชนิเวศน์อันเป็นสถานที่รื่นรมย์แก่พระลูกรัก

    บิดาขอมอบนางสนมกำนัลผู้ประดับด้วยเครื่องอลังการทุกอย่าง ขอพระลูกจงปกครองนางสนมกำนัลเหล่านั้น จงเป็นพระราชาของเราทั้งหลาย หญิง ๔ คน เป็นผู้ฉลาดในการฟ้อนรำและการขับร้อง ศึกษาดีแล้วในหน้าที่ของหญิง จักยังพระลูกรักให้รื่นรมย์ในกาม พระลูกรักจักทำประโยชน์อะไรในป่า บิดาจักนำราชกัญญาจากพระราชาเหล่าอื่น ผู้ประดับประดาดีแล้ว มาให้แก่พระลูก พระลูกรักให้พระโอรสเกิดในหญิงเหล่านั้นหลายคนแล้ว ภายหลังจึงบวชเถิด พระลูกเจ้ายังทรงพระเยาว์หนุ่มแน่น ตั้งอยู่ในปฐมวัยพระเกศายังดำสนิท จงเสวยราชสมบัติก่อนเถิด พระลูกเจ้าจงทรงพระเจริญ จักกระทำประโยชน์อะไรในป่า

    ดูกรพระลูกรัก บิดาขอมอบฉางหลวง พระคลัง พาหนะ พลนิกายและนิเวศน์อันน่ารื่นรมย์ แก่พระลูกรัก พระลูกรักจงแวดล้อมด้วยราชกัญญาอันงดงามเป็นมณฑล จงห้อมล้อมด้วยหมู่นางทาสี เสวยราชสมบัติก่อนเถิด พระลูกรักจักกระทำประโยชน์อะไรในป่า

    ลำดับนั้น พระมหาสัตว์เมื่อประกาศความที่พระองค์ ไม่ต้องการราชสมบัติ ตรัสว่า

    มหาบพิตรจะให้อาตมภาพเสื่อมไปเพราะทรัพย์ทำไม บุคคลจักตายเพราะภรรยาทำไม ประโยชน์อะไรด้วยความเป็นหนุ่มสาวซึ่งต้องแก่ ทำไมจะต้องให้ชราครอบงำ ในโลกพิศวาสอันมีชราและมรณะเป็นธรรมดานั้น จักเพลิดเพลินไปทำไม จะเล่นหัวไปทำไม จะยินดีไปทำไม จะมีประโยชน์อะไรด้วยการแสวงหาทรัพย์ จะมีประโยชน์อะไรด้วยลูกและเมียแก่อาตมภาพ อาตมภาพหลุดพ้นแล้วจากเครื่องผูก ขอถวายพระพร

    มัจจุราชย่อมไม่ย่ำยีอาตมภาพซึ่งรู้ชัดอย่างนี้ว่า เมื่อบุคคลถูกมัจจุราชครอบงำแล้วจะยินดีไปทำไม จะประโยชน์อะไรด้วยการแสวงหาทรัพย์ ผลไม้ที่สุกแล้ว ย่อมเกิดภัยแก่การหล่นเป็นนิตย์ ฉันใด สัตว์ทั้งหลายที่เกิดแล้วย่อมมีภัยแต่ความตายเป็นนิตย์ ฉันนั้น

    คนเป็นอันมากได้พบกันในเวลาเช้า พอเวลาเย็นก็ไม่เห็นกัน คนเป็นอันมากได้พบกันในเวลาเย็น พอถึงเวลาเช้าก็ไม่ได้เห็นกัน ควรรีบทำความเพียรเสียแต่ในวันนี้ทีเดียว ใครเล่าจะพึงรู้ความตายว่าจะมีในวันพรุ่งนี้ เพราะความผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้นไม่มีเลย โจรทั้งหลายย่อมปรารถนาทรัพย์ อาตมภาพเป็นผู้พ้นจากเครื่องผูก ขอถวายพระพร เชิญมหาบพิตรเสด็จกลับเถิด อาตมภาพไม่มีความต้องการด้วยราชสมบัติ

    ธรรมเทศนาของพระมหาสัตว์ ชื่อว่า ยถานุสนธิ จบลงด้วยประการฉะนี้

    นางสนมหมื่นหกพันคน และประชาชนมีเหล่าอำมาตย์เป็นต้น นับตั้งแต่พระราชาและพระนางจันทาเทวีเป็นต้น ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระมหาสัตว์นั้นแล้ว ได้มีความประสงค์จะบรรพชาในคราวนั้น ครั้งนั้น พระราชาโปรดให้ตีกลองประกาศในพระนครว่า ชนใด ๆ ปรารถนาจะบวชในสำนักของลูกเรา ชนนั้น ๆ จงบวชเถิด และโปรดให้เปิดประตูพระคลังทองเป็นต้นทั้งหมด แล้วให้จารึกในแผ่นทองผูกไว้ที่เสาท้องพระโรงว่า หม้อขุมทรัพย์ใหญ่มีอยู่ในที่โน้นด้วยในที่โน้นด้วย ผู้ที่ต้องการจงถือเอาเถิด

    ฝ่ายชาวพระนครทั้งหลาย ก็ละทิ้งร้านตลาดตามที่เปิดเสนอขายของกัน และทิ้งบ้านเรือนซึ่งเปิดประตูไว้ ไปสู่สำนักแห่งพระราชา พระราชาทรงผนวชในสำนักของพระมหาสัตว์ พร้อมด้วยประชาชนเป็นจำนวนมาก อาศรมสถานสามโยชน์ที่ท้าวสักกเทวราชถวาย เต็มไปหมด

    พระมหาสัตว์ทรงพิจารณาบรรณศาลาทั้งหลาย ทรงมอบบรรณศาลาทั้งหลายในที่ท่ามกลางแก่เหล่าสตรี เพราะเหตุไร เพราะสตรีเหล่านี้เป็นคนขลาด พระมหาสัตว์ทรงพิจารณาแล้วทรงมอบบรรณศาลาหลังนอก ๆ แก่เหล่าบุรุษ บรรพชิตชายหญิงทั้งหมดเก็บผลไม้ ที่ต้นไม้มีผลทั้งหลาย อันพระวิสสุกรรมเนรมิตไว้ ซึ่งหล่นลงที่พื้นดิน ในวันรักษาอุโบสถ มาบริโภคแล้วเจริญสมณธรรม บรรดาบรรพชิตเหล่านั้น ผู้ใดตรึกกามวิตก พยาบาทวิตก หรือวิหิงสาวิตก พระมหาสัตว์ทรงทราบวารจิตแห่งผู้นั้น เสด็จประทับนั่งแสดงธรรมสั่งสอนในอากาศ บรรพชิตเหล่านั้นทั้งหมดฟังพระโอวาทนั้นแล้ว ทำอภิญญาห้าและสมาบัติ (แปด) ให้เกิดพลันทีเดียว

    กาลนั้น กษัตริย์สามนตราชองค์หนึ่ง ทรงสดับว่า ได้ยินว่า พระเจ้ากาสิกราชทรงผนวชแล้ว จึงทรงคิดว่า เราจักยึดเอาราชสมบัติในกรุงพาราณสีเสีย จึงเสด็จออกจากพระนคร (ของพระองค์) ถึงกรุงพาราณสี เสด็จเข้าสู่พระนคร ทอดพระเนตรเห็นพระนครซึ่งตกแต่งไว้ จึงเสด็จขึ้นพระราชนิเวศทอดพระเนตรดูรัตนะอันประเสริฐเจ็ดประการ ทรงจินตนาการว่า ภัยอย่างหนึ่งพึงมีเพราะอาศัยทรัพย์นี้ รับสั่งให้เรียกพวกนักเลงสุรามาตรัสถามว่า แน่ะพ่อนักดื่มทั้งหลาย ในพระนครนี้ มีภัยเกิดขึ้นแก่พระราชาผู้เป็นเจ้านายของพวกท่านหรือ

    พวกนักเลง ไม่มีพระเจ้าข้า

    กษัตริย์สามนตราช ตรัสถามว่า เพราะเหตุไร

    ก็ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ เตมิยกุมารผู้เป็นโอรส ของพระราชาของพวกข้าพระองค์ ทรงเห็นว่า จักครองราชสมบัติในกรุงพาราณสีทำไม มิได้เป็นใบ้ ก็แสร้งทำเป็นใบ้ เสด็จออกจากพระนครนี้เข้าป่าทรงผนวชเป็นฤๅษี เพราะเหตุนั้น แม้พระราชาของพวกข้าพระองค์พร้อมด้วยมหาชน ก็ได้เสด็จออกจากพระนครนี้ไปสำนักของเตมิยกุมาร ทรงผนวชแล้ว พระเจ้าสามนตราชตรัสถามว่า พระราชาของพวกเจ้าเสด็จออกทางประตูไหน เมื่อเขากราบทูลว่าเสด็จออกทางประตูทิศตะวันออก ก็เสด็จออกทางประตูนั้นเหมือนกัน ได้เสด็จไปตามฝั่งแม่น้ำ

    พระมหาสัตว์ทรงทราบว่า พระเจ้าสามนตราชเสด็จมา ทรงต้อนรับแล้วประทับนั่งในอากาศแสดงธรรมแก่พระเจ้าสามนตราชนั้น พระราชาสามนตราชนั้นพร้อมด้วยบริษัท ทรงสดับธรรมแล้วทรงผนวชในสำนักของพระมหาสัตว์นั้น

    แม้พระราชาอื่น ๆ อีกสามพระองค์ต่างก็ทรงละทิ้งราชสมบัติทรงผนวชแล้วอย่างนั้นนั่นแล ด้วยประการฉะนี้ ประเทศตรงนั้นได้เป็นมหาสมาคม ช้างทั้งหลายก็กลายเป็นช้างป่า ม้าทั้งหลายก็กลายเป็นม้าป่า แม้รถทั้งหลายก็ชำรุดทรุดโทรมไปในป่านั่นเอง ภัณฑะเครื่องใช้สอยและกหาปณะทั้งหลายก็เรี่ยรายเกลื่อน ดุจทรายที่ใกล้อาศรมสถาน บรรพชิตทั้งหมดนั้นทำสมาบัติแปดให้บังเกิดในที่นั้นเอง เมื่อสิ้นชีวิตได้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า แม้ช้างและม้าทั้งหลายซึ่งเป็นสัตว์เดรัจฉาน ยังจิตให้เลื่อมใสในหมู่ฤๅษีทั้งหลาย ได้บังเกิดในสวรรค์ชั้นกามาพจร ๖ ชั้น

    พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่เราละราชสมบัติออกบวช แม้ในกาลก่อน เราก็ได้ละราชสมบัติออกบวชเหมือนกัน ดังนี้แล้วทรงประกาศอริยสัจ ๔ แล้วประชุมชาดก เทพธิดาผู้สิงสถิตอยู่ที่เศวตฉัตรในกาลนั้น เป็นภิกษุณีชื่ออุบลวรรณาในบัดนี้ นายสุนันทสารถี เป็นพระสารีบุตร ท้าวสักกะเป็นพระอนุรุทธ์ พระชนกและพระชนนี เป็นมหาราชสกุล บริษัทนอกนี้เป็นพุทธบริษัท ส่วนบัณฑิตผู้ทำเป็นใบ้ ทำเป็นง่อยเปลี้ย คือเราผู้สัมมาสัมพุทธนี่เองแล

    จบเตมิยชาดก
     
  2. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    [​IMG]

    พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๘ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๐
    ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒

    มหานิบาตชาดก

    สุวรรณสามชาดก
    สุวรรณสามบำเพ็ญเมตตาบารมี

    พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงพระปรารภพระภิกษุรูปหนึ่งผู้เลี้ยงมารดา ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า โก นุ มํ อุสุนา วิชฺฌิ ดังนี้เป็นต้น.
    ดังได้สดับมา ในกรุงสาวัตถี มีกุลบุตรผู้หนึ่งเป็นบุตรคนเดียวของสกุลเศรษฐีผู้หนึ่ง ซึ่งมีทรัพย์สมบัติสิบแปดโกฏิ. กุลบุตรนั้นเป็นที่รักเป็นที่เจริญใจของบิดามารดา. วันหนึ่ง เขาอยู่บนปราสาทเปิดสีหบัญชรแลดูในถนนใหญ่ เห็นมหาชนถือของหอมและดอกไม้เป็นต้น ไปสู่พระเชตวันมหาวิหาร เพื่อต้องการสดับพระธรรมเทศนา จึงคิดว่า แม้ตัวเราก็จักไปกับพวกนั้นบ้าง จึงให้คนถือของหอมและดอกไม้เป็นต้น ไปสู่พระวิหาร ถวายผ้าเภสัชและน้ำดื่มเป็นต้นแด่พระสงฆ์ และบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น. ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง ฟังพระธรรมเทศนาแล้วเห็นโทษในกามทั้งหลาย กำหนดอานิสงส์แห่งบรรพชา. ครั้นบริษัทลุกไปแล้ว จึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าทูลขอบรรพชา.
    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะกุลบุตรนั้นอย่างนี้ว่า พระตถาคตทั้งหลายไม่ยังบุตรที่บิดามารดายังมิได้อนุญาตให้บรรพชา. กุลบุตรได้ฟังรับสั่งดังนั้น จึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า กลับไปเคหสถาน ไหว้บิดามารดาด้วยความเคารพเป็นอันดี แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ข้าแต่คุณพ่อคุณแม่ ข้าพเจ้าจักบวชในสำนักพระตถาคต.
    ลำดับนั้น บิดามารดาของกุลบุตรนั้นได้ฟังคำของเขาแล้ว ก็เป็นราวกะมีหัวใจแตกเป็นเจ็ดเสี่ยง เพราะมีบุตรคนเดียว หวั่นไหวอยู่ด้วยความสิเนหาในบุตร ได้กล่าวอย่างนี้ว่า ดูก่อนพ่อผู้เป็นบุตรที่รัก ผู้เป็นหน่อแห่งสกุล ผู้เป็นดั่งดวงตา ผู้เช่นกับชีวิตของเราทั้งสอง. เราทั้งสองเว้นจากเจ้าเสีย จะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร. ชีวิตของเราทั้งสองเนื่องในเจ้า เราทั้งสองก็แก่เฒ่าแล้ว จักตายในวันนี้พรุ่งนี้ หรือมะรืนนี้ เจ้ายังจะละเราทั้งสองไปเสียอีก. ธรรมดาว่าบรรพชาอันบุคคลทำได้ยากยิ่ง เมื่อต้องการเย็น ย่อมได้ร้อน เมื่อต้องการร้อน ย่อมได้เย็น. เพราะเหตุนั้น เจ้าอย่าบวชเลย. กุลบุตรได้สดับคำของบิดามารดาดังนั้น ก็มีความทุกข์โทมนัส นั่งก้มศีรษะซบเซา ไม่บริโภคอาหารเจ็ดวัน.
    ลำดับนั้น บิดามารดาของกุลบุตรนั้น คิดกันอย่างนี้ว่า ถ้าบุตรของเราไม่ได้รับอนุญาตให้บวชก็จักตาย. เราจักไม่ได้เห็นเขาอีกเลย บุตรเราเป็นอยู่ด้วยเพศบรรพชิต เราจักได้เห็นอีกต่อไป. ครั้นคิดเห็นกันอย่างนี้แล้วจึงอนุญาตว่า ดูก่อนพ่อผู้เป็นลูกรัก เราอนุญาตให้เจ้าบวช เจ้าจงบวชเถิด. กุลบุตรได้ฟังดังนั้นก็มีได้ยินดี น้อมสรีระทั้งสิ้นลงกราบแทบเท้าบิดามารดา ลาออกจากกรุงสาวัตถีไปสู่พระเชตวันมหาวิหาร. ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าทูลขอบรรพชา.
    พระศาสดาตรัสสั่งภิกษุรูปหนึ่งให้บวชกุลบุตรนั้นเป็นสามเณร.
    จำเดิมแต่สามเณรนั้นบวชแล้ว ลาภสักการะเกิดขึ้นเป็นอันมาก. สามเณรนั้นยังอาจารย์และอุปัชฌาย์ให้ยินดี. อุปสมบทเป็นภิกษุแล้ว เล่าเรียนธรรมอยู่ห้าพรรษา ดำริว่า เราอยู่ในที่นี้เกลื่อนกล่นไปด้วยหมู่ญาติเป็นต้น หาสมควรแก่เราไม่ เป็นผู้ใคร่จะบำเพ็ญวิปัสสนาธุระ จึงเรียนกรรมฐานในสำนักอุปัชฌาย์ ออกจากวิหารเชตวันไปสู่ปัจจันตคามแห่งหนึ่ง อยู่ในป่าอาศัยปัจจันตคามนั้น. ภิกษุนั้นเจริญวิปัสสนาในที่นั้น แม้เพียรพยายามอยู่ถึงสิบสองปี ก็ไม่สามารถยังธรรมวิเศษให้เกิด.
    ฝ่ายบิดามารดาของภิกษุนั้น ครั้นเมื่อกาลล่วงไปได้ขัดสนลง. คิดเห็นว่า ก็เหล่าชนที่ประกอบการนาหรือพาณิชย์ บุตรหรือพี่น้องที่จะเตือนนึกถึงพาพวกเราไป ไม่มีในสกุลนี้ พวกเขาถือเอาทรัพย์ตามกำลังของตนๆ หนีไปตามชอบใจ แม้ทาสกรรมกรในเรือนเป็นต้น ก็ถือเอาเงินทองเป็นต้นหนีไป. ครั้นต่อมา ชนทั้งสองจึงตกทุกข์ได้ยากเหลือเกิน ไม่ได้แม้การรดน้ำในมือ ต้องขายเรือน ไม่มีเรือนอยู่. ถึงความเป็นผู้น่าสงสารอย่างยิ่ง นุ่งห่มผ้าท่อนเก่า ถือกระเบื้องเที่ยวขอทานที่นี่ที่นั่น.
    ในกาลนั้น ภิกษุรูปหนึ่งออกจากพระเชตวันมหาวิหาร ไปถึงที่อยู่ของภิกษุบุตรเศรษฐีอนาถานั้น. ภิกษุเศรษฐีบุตรนั้นทำอาคันตุกวัตรแก่ภิกษุนั้นแล้ว นั่งเป็นสุขแล้วจึงถามว่า ท่านมาแต่ไหน. ภิกษุอาคันตุกะแจ้งว่ามาแต่พระเชตวัน จึงถามถึงความผาสุกแห่งพระศาสดา และของพระมหาสาวกเป็นต้น แล้วถามถึงข่าวคราวแห่งบิดามารดาว่า ท่านขอรับ สกุลเศรษฐีชื่อโน้นในกรุงสาวัตถีสบายดีหรือ. ภิกษุอาคันตุกะตอบว่า อาวุโส ท่านอย่าถามถึงข่าวคราวแห่งสกุลนั้นเลย. ถามว่า เป็นอย่างไรหรือท่าน. ตอบว่า ได้ยินว่า สกุลนั้นมีบุตรคนเดียว เขาบวชในพระศาสนา. จำเดิมแต่เขาบวชแล้ว สกุลนั้นก็เสื่อมสิ้นไป. บัดนี้เศรษฐีทั้งสองเป็นกำพร้าน่าสงสารอย่างยิ่ง ถือกระเบื้องเที่ยวขอทาน.
    ภิกษุเศรษฐีบุตรได้ฟังคำของภิกษุอาคันตุกะแล้ว ก็ไม่อาจจะทรงตัวอยู่ได้ มีน้ำตานองหน้าเริ่มร้องไห้. พระเถระเห็นดังนั้นจึงกล่าวว่า เธอร้องไห้ทำไม. ภิกษุเศรษฐีบุตรตอบว่า ท่านขอรับ ชนสองคนนั้นเป็นบิดามารดาของกระผม กระผมเป็นบุตรของท่านทั้งสองนั้น. พระเถระจึงกล่าวว่า บิดามารดาของเธอถึงความพินาศเพราะอาศัยเธอ เธอจงไปปฏิบัติบิดามารดานั้น. ภิกษุเศรษฐีบุตรคิดว่า เราแม้เพียรพยายามอยู่ถึงสิบสองปี ก็ไม่สามารถที่จะยังมรรคหรือผลให้บังเกิด เราจักเป็นคนอาภัพ. ประโยชน์อะไรด้วยบรรพชาเล่า เราจักเป็นคฤหัสถ์เลี้ยงบิดามารดา ให้ทาน จักเป็นผู้มีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า. คิดฉะนี้แล้วมอบสถานที่อยู่ในป่าแก่พระเถระนั้น นมัสการพระเถระแล้ว.
    รุ่งขึ้นจึงออกจากป่าไปโดยลำดับ ลุถึงวิหารหลังพระเชตวัน ไม่ไกลกรุงสาวัตถี ณ ที่ตรงนั้นเป็นทางสองแพร่ง ทางหนึ่งไปพระเชตวัน ทางหนึ่งไปในกรุงสาวัตถี. ภิกษุนั้นหยุดอยู่ตรงนั้น คิดว่า เราจักไปหาบิดามารดาก่อน หรือจักไปเฝ้าพระทศพลก่อน แล้วคิดต่อไปว่า เราไม่ได้พบบิดามารดานานแล้วก็จริง. แต่จำเดิมแต่นี้ เราจักได้เฝ้าพระพุทธเจ้าได้ยาก วันนี้เราจักเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วฟังธรรม. รุ่งขึ้นจึงไปหาบิดามารดาแต่เช้าเทียว คิดฉะนี้แล้ว ละมรรคาไปกรุงสาวัตถี ไปสู่มรรคาที่ไปพระเชตวัน ถึงพระเชตวันเวลาเย็น.
    ก็วันนั้น พระศาสดาทรงตรวจดูสัตวโลกในเวลาใกล้รุ่ง ทรงเห็นอุปนิสัยแห่งภิกษุผู้เป็นบุตรแห่งสกุลรูปนี้. พระองค์จึงทรงพรรณนาคุณแห่งบิดามารดาด้วยมาตุโปสกสูตร. ในเวลาที่ภิกษุนั้นมาถึง ก็ภิกษุนั้นยืนอยู่ในที่สุดบริษัท สดับธรรมกถาอันไพเราะ. จึงรำพึงว่า เราคิดไว้ว่าจักเป็นคฤหัสถ์อาจบำรุงปฏิบัติบิดามารดา. แต่พระศาสดาตรัสว่า แม้เป็นบรรพชิตก็ทำอุปการะแก่บิดามารดาได้. ถ้าเราไม่ได้มาเฝ้าพระศาสดาก่อนแล้วไป พึงเสื่อมจากบรรพชาเห็นปานนี้. ก็บัดนี้ เราไม่ต้องสึกเป็นคฤหัสถ์ เป็นบรรพชิตอยู่นี่แหละจักบำรุงบิดามารดา.
    ภิกษุนั้นถวายบังคมพระศาสดาแล้วออกจากพระเชตวันไปสู่โรงสลาก รับภัตตาหารและยาคูที่ได้ด้วยสลาก เป็นภิกษุอยู่ป่าสิบสองปี ได้เป็นเหมือนถึงความเป็นผู้พ่ายแพ้แล้ว. ภิกษุนั้นเข้าไปในกรุงสาวัตถีแต่เช้าทีเดียว คิดว่าเราจักรับข้าวยาคูก่อน หรือไปหาบิดามารดาก่อน แล้วคิดว่า การมีมือเปล่าไปสู่สำนักคนกำพร้าไม่สมควร จึงถือเอายาคูไปสู่ประตูเรือนเก่าของบิดามารดาเหล่านั้น ได้เห็นบิดามารดาเที่ยวขอยาคูแล้วเข้าอาศัยริมฝาเรือน คนอื่นนั่งอยู่. ถึงความเป็นคนกำพร้าเข็ญใจ ก็มีความโศกเกิดขึ้น มีน้ำตานองหน้ายืนอยู่ในที่ใกล้ๆ บิดามารดาทั้งสองนั้น. บิดามารดาแม้เห็นท่านแล้วก็จำไม่ได้. มารดาของภิกษุนั้นสำคัญว่า ภิกษุนั้นจักยืนเพื่อภิกขาจาร จึงกล่าวว่า ของเคี้ยวของฉันอันควรถวายพระผู้เป็นเจ้าไม่มี นิมนต์โปรดสัตว์ข้างหน้าเถิด. ภิกษุนั้นได้ฟังคำแห่งมารดา ก็เกิดความโศกเป็นกำลัง มีน้ำตานองหน้ายืนอยู่ตรงนั้นเอง เพราะได้รับความเศร้าใจ. แม้มารดากล่าวเช่นนั้นสองครั้งสามครั้ง ก็ยังยืนอยู่นั่นเอง. ลำดับนั้น บิดาของภิกษุนั้นพูดกะมารดาว่า จงไปดู นั่นบุตรของเราทั้งสองหรือหนอ. นางลุกขึ้นแล้วไปใกล้ภิกษุนั้นแลดูก็จำได้ จึงหมอบปริเทวนาการแทบเท้าแห่งภิกษุผู้เป็นบุตร. ฝ่ายบิดาไปบ้างก็ร้องไห้ตรงที่นั้นเหมือนกัน น่าสงสารเหลือเกิน. ฝ่ายภิกษุนั้นเห็นบิดามารดา ก็ไม่อาจจะทรงกายอยู่ได้จึงร้องไห้. ภิกษุนั้นกลั้นความโศกแล้วกล่าวว่า ท่านทั้งสองอย่าคิดเลย อาตมาจักเลี้ยงดูท่านให้ผาสุก ยังบิดามารดาให้อุ่นใจแล้วให้ดื่มยาคู ให้นั่งพักในที่ควรส่วนหนึ่งแล้ว นำภิกษาหารมาอีกให้บิดามารดาบริโภค แล้วแสวงหาภิกษาเพื่อตน ไปสู่สำนักบิดามารดา ถามเรื่องภัตตาหารอีก ได้รับตอบว่า ไม่บริโภค จึงบริโภคเอง แล้วให้บิดามารดาอยู่ในที่ควรแห่งหนึ่ง.
    ภิกษุนั้นได้ปฏิบัติบิดามารดาทั้งสองโดยทำนองนี้ตั้งแต่นั้นมา แม้ภัตที่เกิดในปักษ์เป็นต้นที่ตนได้มา ก็ให้แก่บิดามารดา. ตนเองเที่ยวภิกษาจาร ได้มาก็บริโภค. เมื่อไม่ได้ก็ไม่บริโภค ได้ผ้าจำพรรษาก็ตาม ผ้าอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งเป็นอดิเรกลาภก็ตาม ก็ให้แก่บิดามารดา ซักย้อมผ้าเก่าๆ ที่บิดามารดานุ่งห่มแล้ว เย็บปะนุ่งห่มเอง. ก็วันที่ภิกษุนั้นได้อาหารมีน้อยวัน วันที่ไม่ได้มีมากกว่า. ผ้านุ่งผ้าห่มของภิกษุนั้นเศร้าหมองเต็มที. เมื่อภิกษุนั้นปฏิบัติบิดามารดาต่อมา ก็เป็นผู้ซูบผอม เศร้าหมอง ไม่ผ่องใส กายเหลืองขึ้นๆ มีตัวดาษไปด้วยเส้นเอ็น.
    ครั้งนั้น เหล่าภิกษุที่เป็นเพื่อนเห็นเพื่อนคบกันมา เห็นภิกษุนั้นจึงถามว่า อาวุโส แต่ก่อนสรีรวรรณะของเธองามสดใส แต่บัดนี้เธอซูบผอม เศร้าหมองไม่ผ่องใส กายเหลืองขึ้นๆ มีตัวดาษไปด้วยเส้นเอ็น พยาธิเกิดขึ้นแก่เธอหรือ. ภิกษุนั้นตอบว่า อาวุโส ข้าพเจ้าไม่มีพยาธิ แต่มีความกังวล แล้วบอกประพฤติเหตุนั้น. ภิกษุเหล่านั้นจึงกล่าวว่า อาวุโส พระศาสดาไม่ประทานอนุญาตเพื่อยังของที่เขาให้ด้วยศรัทธาให้ตกไป. ก็ท่านถือเอาของที่เขาให้ด้วยศรัทธามาให้แก่เหล่าคฤหัสถ์ ทำกิจไม่สมควร. ภิกษุนั้นได้ฟังถ้อยคำของภิกษุเหล่านั้นก็ละอาย ทอดทิ้งมาตาปิตุปัฏฐานกิจเสีย.
    ภิกษุเหล่านั้นยังไม่พอใจ แม้ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้ จึงพากันไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ากราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุชื่อโน้นยังของที่เขาให้ด้วยศรัทธาให้ตกไปเลี้ยงดูคฤหัสถ์. พระศาสดาตรัสเรียกภิกษุนั้นมาตรัสถามว่า แน่ะภิกษุ ได้ยินว่า เธอถือเอาศรัทธาไทยไปเลี้ยงคฤหัสถ์ จริงหรือ. เมื่อภิกษุนั้นกราบทูลรับว่า จริง พระเจ้าข้า. เมื่อทรงใคร่จะสรรเสริญการกระทำของภิกษุนั้น และทรงใคร่จะประกาศบุพจริยาของพระองค์ จึงตรัสถามว่า แน่ะภิกษุ เมื่อเธอเลี้ยงดูเหล่าคฤหัสถ์ เลี้ยงดูคฤหัสถ์เหล่าไหน. ภิกษุนั้นกราบทูลว่า บิดามารดาของข้าพระองค์ พระเจ้าข้า. เพื่อจะยังความอุตสาหะให้เกิดแก่ภิกษุนั้น. พระศาสดาได้ทรงประทานสาธุการสามครั้งว่า สาธุ สาธุ สาธุ แล้วตรัสว่า เธอดำรงอยู่ในทางที่เราดำเนินแล้ว. แม้เราเมื่อประพฤติบุพจริยาก็ได้บำรุงเลี้ยงบิดามารดา. ภิกษุนั้นกลับได้ความเบิกบานใจ.
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • IMG_4583_2a.jpg
      IMG_4583_2a.jpg
      ขนาดไฟล์:
      547.5 KB
      เปิดดู:
      777
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 15 กรกฎาคม 2013
  3. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    ลำดับนั้น เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลวิงวอนให้ทรงประกาศบุพจริยา.
    พระศาสดาจึงทรงนำอดีตนิทานมาแสดงดังต่อไปนี้.
    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอดีตกาล ณ ที่ไม่ไกลแต่กรุงพาราณสี มีบ้านนายพรานบ้านหนึ่งริมฝั่งนี้แห่งแม่น้ำ และมีบ้านนายพรานอีกบ้านหนึ่งริมฝั่งโน้นแห่งแม่น้ำ ในบ้านแห่งหนึ่งๆ มีตระกูลประมาณห้าร้อยตระกูล นายเนสาทผู้เป็นใหญ่สองคนในบ้านทั้งสองเป็นสหายกัน. ในเวลาที่ยังหนุ่มอยู่ เขาได้ทำกติกาสัญญากันอย่างนี้ว่า ถ้าข้างหนึ่งมีธิดา ข้างหนึ่งมีบุตร เราจักทำอาวาหวิวาทมงคลแก่บุตรธิดาเหล่านั้น. ลำดับนั้น ในเรือนของนายเนสาทผู้เป็นใหญ่ในบ้านริมฝั่งนี้คลอดบุตร บิดามารดาให้ชื่อว่า ทุกูลกุมาร เพราะกุมารนั้นอันญาติทั้งหลายรองรับด้วยทุกูลพัสตร์ในขณะเกิด. ในเรือนของนายเนสาทผู้เป็นใหญ่อีกคนหนึ่งคลอดธิดา บิดามารดาให้ชื่อว่า ปาริกากุมารี เพราะนางเกิดฝั่งโน้น. กุมารกุมารีทั้งสองมีรูปงามน่าเลื่อมใส มีผิวพรรณดังทองคำ. แม้เกิดในสกุลนายพรานก็ไม่ทำปาณาติบาต.
    กาลต่อมา เมื่อทุกูลกุมารมีอายุได้สิบหกปี บิดามารดาพูดว่า จะนำกุมาริกามาเพื่อเจ้า. แต่ทุกูลกุมารมาแต่พรหมโลก เป็นสัตว์บริสุทธิ์ จึงปิดหูทั้งสองกล่าวว่า ข้าแต่คุณพ่อคุณแม่ ฉันไม่ต้องการอยู่ครองเรือน โปรดอย่าได้พูดอย่างนี้. แม้บิดามารดาพูดอยู่ถึงสองครั้งสามครั้ง ก็ไม่ปรารถนา. ฝ่ายปาริกากุมารีแม้บิดามารดาพูดว่า แน่ะแม่ บุตรของสหายเรามีอยู่ เขามีรูปงามน่าเลื่อมใส มีผิวพรรณดั่งทองคำ เราจักให้ลูกแก่เขา. นางปาริกาก็กล่าวห้ามอย่างเดียวกัน แล้วปิดหูทั้งสองเสีย เพราะนางมาแต่พรหมโลกเป็นสัตว์บริสุทธิ์.
    ในคราวนั้น ทุกูลกุมารส่งข่าวลับไปถึงนางปาริกาว่า ถ้าปาริกามีความต้องการด้วยเมถุนธรรม ก็จงไปสู่เรือนของบุคคลอื่น. ฉันไม่มีความพอใจในเมถุน. แม้นางปาริกาก็ส่งข่าวลับไปถึงทุกูลกุมารเหมือนกัน. แต่บิดามารดาได้กระทำอาวาหวิวาหมงคล แก่กุมารกุมารีทั้งสอง ผู้ไม่ปรารถนาเรื่องประเวณีเลย. เขาทั้งสองมิได้หยั่งลงสู่สมุทร คือกิเลส อยู่ด้วยกันเหมือนมหาพรหมสององค์ ฉะนั้น. ฝ่ายทุกูลกุมารไม่ฆ่าปลาหรือเนื้อ โดยที่สุดแม้เนื้อที่บุคคลนำมา ก็ไม่ขาย. ลำดับนั้น บิดามารดาพูดกะเขาว่า แน่ะพ่อ เจ้าเกิดในสกุลนายพราน ไม่ปรารถนาอยู่ครองเรือน ไม่ทำการฆ่าสัตว์ เจ้าจักทำอะไร. ทุกูลกุมาร กล่าวตอบอย่างนี้ว่า ข้าแต่คุณพ่อคุณแม่ เมื่อท่านทั้งสองอนุญาต เราทั้งสองก็จักบวช. บิดามารดาได้ฟังดังนั้น จึงอนุญาตว่า ถ้าเช่นนั้น เจ้าทั้งสองจงบวชเถิด. ทุกูลกุมารและปาริกากุมารีก็ยินดีร่าเริง ไหว้บิดามารดา แล้วออกจากบ้าน เข้าสู่หิมวันตประเทศทางฝั่งแม่น้ำคงคาโดยลำดับ ละแม่น้ำคงคามุ่งตรงไปแม่น้ำมิคสัมมตา ซึ่งไหลลงมาแต่หิมวันตประเทศถึงแม่น้ำคงคา.
    ขณะนั้น พิภพแห่งท้าวสักกเทวราชสำแดงอาการเร่าร้อน ท้าวสักกเทวราชทรงอาวัชนาการก็ทรงทราบการณ์นั้น จึงตรัสเรียกพระวิสสุกรรมเทพบุตรมา ตรัสว่า แน่ะพ่อวิสสุกรรม ท่านมหาบุรุษทั้งสองออกจากบ้านใคร่จะบวชเป็นฤาษี เข้าสู่หิมวันตประเทศ ควรที่ท่านทั้งสองนั้นจะได้ที่อยู่. ท่านจงเนรมิตบรรณศาลา และบรรพชิตบริขารเพื่อท่านทั้งสองนั้น ณ ภายในกึ่งเสียงกู่ ตั้งแต่มิคสัมมตานที เสร็จแล้วกลับมา. พระวิสสุกรรมเทพบุตรรับเทวบัญชาแล้ว ไปจัดกิจทั้งปวงโดยนัยที่กล่าวแล้วในมูคปักขชาดก ไล่เนื้อและนกที่มีสำเนียง ไม่เป็นที่ชอบใจให้หนีไป. แล้วเนรมิตมรรคาเดินผู้เดียว แล้วกลับไปที่อยู่ของตน. กุมารกุมารีทั้งสองเห็นทางนั้น แล้วก็เดินไปตามทางนั้นถึงอาศรมบท. ทุกูลบัณฑิตเข้าสู่บรรณศาลา เห็นบรรพชิตบริขารก็ทราบสักกทัตติยภาพว่า ท้าวสักกะประทานแก่เรา จึงเปลื้องผ้าสาฎกออก นุ่งผ้าเปลือกไม้สีแดงผืนหนึ่งห่มผืนหนึ่ง พาดหนังเสือบนบ่า ผูกมณฑลชฎาทรงเพศฤาษี แล้วให้นางปาริกาบวชเป็นฤาษิณี. ฤาษีฤาษิณีทั้งสององค์นั้น เจริญเมตตาภูมิกามาพจรอาศัยอยู่ในที่นั้น. แม้ฝูงเนื้อและนกทั้งปวง ก็กลับได้เมตตาจิตต่อกันและกัน ด้วยอานุภาพเมตตาแห่งดาบสดาบสินีทั้งสองนั้น. บรรดาสัตว์เหล่านั้นไม่มีสัตว์ไรๆ เบียดเบียนสัตว์ไรๆ เลย. ฝ่ายปาริกาดาบสินีลุกขึ้นแต่เช้า ตั้งน้ำดื่มและของฉันแล้วกวาดอาศรมบททำกิจทั้งปวง ดาบสและดาบสินีทั้งสองนั้น นำผลไม้เล็กใหญ่มาฉัน แล้วเข้าสู่บรรณศาลาของตนๆ เจริญสมณธรรม สำเร็จการอยู่ในที่นั้นนั่นแล.
    ท้าวสักกเทวราชเสด็จมาสู่ที่บำรุงแห่งพระมุนีทั้งสองนั้น. วันหนึ่งพระองค์ทรงพิจารณาเห็น อันตรายแห่งพระมุนีทั้งสองนั้นว่า จักษุทั้งสองข้างของท่านทั้งสองนี้จักมืด จึงลงมาจากเทวโลกเข้าไปหาทุกูลบัณฑิต นมัสการแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง. ตรัสอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ อันตรายจะปรากฏแก่ท่านทั้งสอง ควรที่ท่านทั้งสองจะได้บุตรไว้สำหรับปฏิบัติท่าน ขอท่านทั้งสองจงเสพโลกธรรม. ทุกูลบัณฑิตได้สดับคำของท้าวสักกเทวราชจึงกล่าวว่า ดูก่อนท้าวสักกะ พระองค์ตรัสอะไร เราทั้งสองแม้อยู่ท่ามกลางเรือนก็หาได้เสพโลกธรรมไม่ เราทั้งสองละโลกธรรมนี้ เกลียดดุจกองคูถอันเต็มไปด้วยหนอน. ก็บัดนี้เราทั้งสองเข้าป่าบวชเป็นฤาษี จักกระทำกรรมเช่นนี้อย่างไรได้. ท้าวสักกเทวราชตรัสว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระผู้เป็นเจ้าไม่ต้องทำอย่างนั้น เป็นแต่เอามือลูบท้องปาริกาดาบสินีเวลานางมีระดู. ทุกูลบัณฑิตรับว่า อย่างนี้อาจทำได้. ท้าวสักกเทวราช นมัสการทุกูลดาบสแล้วกลับไปที่อยู่ของตน. ฝ่ายทุกูลบัณฑิตก็บอกนางปรริกาให้รู้ตัว แล้วเอามือลูบท้องนาง ในเวลาที่นางมีระดู.
    ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์จุติจากเทวโลก ถือปฏิสนธิในท้องนางปาริกาฤาษีณี กาลล่วงไปได้สิบเดือน. นางคลอดบุตรมีผิวพรรณดั่งทองคำ. ด้วยเหตุนั้นเอง บิดามารดาจึงตั้งชื่อบุตรว่า สุวรรณสามกุมาร เวลาที่ปาริกาดาบสินี ไปป่าเพื่อหามูลผลาผล. นางกินรีทั้งหลายที่อยู่ภายในบรรพต ได้ทำหน้าที่นางนม. ดาบสดาบสินีทั้งสองสรงน้ำพระโพธิสัตว์แล้วให้บรรทมในบรรณศาลา แล้วพากันไปหาผลไม้เล็กใหญ่. ในขณะนั้น นางกินรีทั้งหลาย อุ้มกุมารไปสรงน้ำที่ซอกเขาเป็นต้น แล้วขึ้นสู่ยอดบรรพต ประดับด้วยบุปผชาติต่างๆ แล้วฝนหรดาลและมโนศิลาเป็นต้นที่แผ่นศิลา ประให้เป็นเม็ดที่นลาตแล้วนำมาให้ไสยาสน์ในบรรณศาลา. ฝ่ายนางปาริกากลับมาก็ให้บุตรดื่มนม. กาลต่อมา บิดามารดาปกปักรักษาบุตรนั้น จนมีอายุได้สิบหกปี ให้นั่งอยู่ในบรรณศาลา ตนเองพากันไปป่าเพื่อหามูลผลาผลในป่า. ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ทรงคิดว่า อันตรายอะไรๆ จะพึงมีแก่บิดามารดาของเรา ในกาลบางคราว จึงทรงสังเกตทางที่บิดามารดาไป.
    อยู่มาวันหนึ่ง เมื่อดาบสดาบสินีทั้งสองนำมูลผลาผลในป่า กลับมาในเวลาเย็น ถึงที่ใกล้อาศรมบท. มหาเมฆตั้งขึ้นฝนตก ท่านทั้งสองจึงเข้าไปสู่โคนไม้แห่งหนึ่ง ยืนอยู่บนยอดจอมปลวก อสรพิษมีอยู่ภายในจอมปลวกนั้น น้ำฝนเจือกลิ่นเหงื่อจากสรีระของสองท่านนั้น ไหลลงเข้ารูจมูกแห่งอสรพิษนั้น มันโกรธพ่นลมในจมูกออกมา ลมในจมูกนั้นถูกจักษุทั้งสองข้างแห่งดาบสและดาบสินีนั้น ทั้งสองท่านก็เป็นคนจักษุมืดไม่เห็นกันและกัน เพราะลมนั้น. ทุกูลบัณฑิตเรียกนางปาริกามาบอกว่า ปาริกา จักษุทั้งสองของฉันมืด ฉันมองไม่เห็นเธอ. แม้นางปาริกา ก็กล่าวอย่างนั้นเหมือนกัน. ทั้งสองมองไม่เห็นทางก็ยืนคร่ำครวญอยู่ด้วยเข้าใจว่า บัดนี้ชีวิตของเราทั้งสองไม่มีละ.
    ก็ดาบสและดาบสินีทั้งสองนั้น มีบุรพกรรมเป็นอย่างไร ได้ยินว่า ท่านทั้งสองนั้นในปางก่อนเกิดในสกุลแพทย์. ครั้งนั้น แพทย์นั้นรักษาโรคในจักษุของบุรุษมีทรัพย์มากคนหนึ่ง บุรุษนั้นจักษุหายดีแล้ว ไม่ให้ทรัพย์ค่ารักษาอะไรๆ แก่แพทย์นั้น. แพทย์โกรธเขา ไปสู่เรือนแจ้งแก่ภริยาของตนว่า ที่รัก ฉันรักษาโรคในจักษุของบุรุษนั้นหาย บัดนี้เขาไม่ให้ทรัพย์ค่ารักษาแก่ฉัน เราจะทำอย่างไรดี. ฝ่ายภริยาได้สดับสามีกล่าวก็โกรธ จึงกล่าวว่า เราไม่ต้องการทรัพย์ที่มีอยู่ของมัน ท่านจงประกอบยาขนานหนึ่งให้มันหยอด ทำจักษุทั้งสองของมันให้บอดเสียเลย. สามีเห็นชอบด้วย จึงออกจากเรือนไปหาบุรุษนั้น ได้กระทำตามนั้น. บุรุษผู้มีทรัพย์มากคนนั้น ไม่นานนักก็กลับจักษุมืดไปอีก. ดาบสและดาบสินีทั้งสอง มีจักษุมืดด้วยบาปกรรมอันนี้.
    ลำดับนั้น พระมหาสัตว์คิดว่า บิดามารดาของเรา ในวันอื่นๆ เคยกลับเวลานี้. บัดนี้เราไม่รู้เรื่องราวของท่านทั้งสองนั้น จึงเดินสวนทางร้องเรียกหาไป. ท่านทั้งสองนั้นจำเสียงบุตรได้ก็ขานรับ แล้วกล่าวห้ามด้วยความรักในบุตรว่า มีอันตรายในที่นี้ อย่ามาเลยลูก. พระมหาสัตว์ตอบท่านทั้งสองว่า ถ้าเช่นนั้น ท่านทั้งสองจงจับปลายไม้เท้านี้มาเถิด แล้วยื่นไม้เท้ายาวให้ท่านทั้งสองจับ. ท่านทั้งสองจับปลายไม้เท้าแล้วมาหาบุตร. พระมหาสัตว์ถามว่า จักษุของท่านทั้งสองมืดไปด้วยเหตุอะไร. บิดามารดาทั้งสอง ก็เล่าให้พระมหาสัตว์ผู้บุตรฟังว่า ลูกรัก เมื่อฝนตก เราทั้งสองยืนอยู่บนยอดจอมปลวกที่โคนไม้ในที่นี้ จักษุทั้งสองมืดไปด้วยเหตุนั้น. พระมหาสัตว์ได้สดับคำของบิดามารดา ก็รู้ว่าอสรพิษมีในจอมปลวกนั้น อสรพิษนั้นขัดเคืองปล่อยลมในจมูกออกมา. พระมหาสัตว์เห็นบิดามารดาแล้วร้องไห้และหัวเราะ บิดามารดาจึงถามว่า ทำไมถึงร้องไห้ และหัวเราะ. พระมหาสัตว์ตอบว่า ข้าพเจ้าร้องไห้ ด้วยเสียใจว่าจักษุของท่านทั้งสองพินาศไป ในเวลาที่ข้าพเจ้ายังเป็นเด็กอยู่. แต่ข้าพเจ้าหัวเราะด้วยดีใจว่า ข้าพเจ้าจักได้ปฏิบัติบำรุงท่านทั้งสองในบัดนี้. ขอท่านทั้งสองอย่าได้คิดอะไรเลย ข้าพเจ้าจักปฏิบัติบำรุงท่านทั้งสองให้ผาสุก.
    พระมหาสัตว์ปลอบโยนให้บิดามารดาทั้งสองเบาใจ แล้วนำมาอาศรมบท ผูกเชือกเป็นราวในที่ทั้งปวงสำหรับบิดามารดาทั้งสองนั้น คือที่พักกลางคืน ที่พักกลางวัน ที่จงกรม บรรณศาลา ที่ถ่ายอุจจาระปัสสาวะ. จำเดิมแต่นั้นมา ให้บิดามารดาอยู่ในอาศรมบท ไปนำมูลผลาผลในป่ามาเอง ตั้งไว้ในบรรณศาลา กวาดที่อยู่ของบิดามารดาแต่เช้าทีเดียว ไหว้บิดามารดาแล้วถือหม้อน้ำ ไปสู่มิคสัมมตานที นำน้ำดื่มมา แต่งตั้งของฉันไว้ ให้ไม้สีฟัน และน้ำบ้วนปากเป็นต้น ให้ผลาผลที่มีรสอร่อย. เมื่อบิดามารดาบริโภค แลบ้วนปากแล้ว ตนเองจึงบริโภคผลาผลที่เหลือ เสร็จกิจบริโภคแล้ว ไหว้ลาบิดามารดา. มีฝูงมฤคแวดล้อมเข้าป่า เพื่อต้องการหาผลาผล. เหล่ากินนรที่เชิงบรรพต แวดล้อมพระโพธิสัตว์ช่วยเก็บผลาผลให้พระโพธิสัตว์. เวลาเย็นพระโพธิสัตว์กลับมาอาศรม เอาหม้อตักน้ำมาตั้งไว้ ต้มน้ำให้ร้อนแล้วอาบและล้างเท้าบิดามารดาตามอัธยาศัย นำกระเบื้องถ่านเพลิงมาให้ผิง เช็ดมือเท้าของบิดามารดา. เมื่อบิดามารดานั่งแล้ว ก็ให้บริโภคผลาผล. ส่วนตนเองบริโภคเมื่อบิดามารดาบริโภคเสร็จแล้ว จัดวางผลาผล ที่เหลือไว้ในอาศรมบท. พระโพธิสัตว์ปฏิบัติบำรุงบิดามารดาโดยทำนองนี้ทีเดียว.
    สมัยนั้น พระราชาพระนามว่า ปิลยักขราช เสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี. พระองค์ทรงโลภเนื้อมฤค จึงมอบราชสมบัติให้พระชนนีปกครอง ผูกสอดราชาวุธห้าอย่างเข้าสู่หิมวันตประเทศ ทรงฆ่ามฤคทั้งหลายเสวยเนื้อ. เสด็จถึงมิคสัมมตานที แล้วถึงท่าที่สุวรรณสามพระโพธิสัตว์ตักน้ำ โดยลำดับ. ทอดพระเนตรเห็นรอยเท้ามฤค ก็ทรงทำซุ้มด้วยกิ่งไม้มีสีเขียว โก่งคันศรสอดลูกศรอาบยาพิษ ประทับนั่งเตรียมอยู่ในซุ้มนั้น. ฝ่ายพระมหาสัตว์นำผลาผลมาในเวลาเย็น วางไว้ในอาศรมบท ไหว้บิดามารดาลาไปตักน้ำ ถือหม้อน้ำมีฝูงมฤคแวดล้อม ให้มฤคสองตัวเดินเคียงกัน วางหม้อน้ำดื่มบนหลังมฤค ทั้งสองมือประคองไปสู่ท่าน้ำ. ฝ่ายพระราชาประทับอยู่ในซุ้ม ทอดพระเนตรเห็นพระโพธิสัตว์ดำเนินมา ทรงคิดว่า เราเที่ยวมาในหิมวันตประเทศ ตลอดกาลถึงเพียงนี้ ยังไม่เคยเห็นมนุษย์ ผู้นี้จะเป็นเทวดาหรือนาคหนอ. ถ้าเราจักเข้าไปไต่ถามผู้นี้ ถ้าเป็นเทวดาก็จักเหาะขึ้นสู่อากาศ ถ้าเป็นนาคก็จักดำดินไป แต่เราจะเที่ยวอยู่ในหิมวันตประเทศ ตลอดกาลทั้งปวงก็หาไม่. ถ้าเราจักกลับพาราณสี อมาตย์ทั้งหลายจักถามเรา ในการที่เราเที่ยวในหิมวันตประเทศนั้นว่า เมื่อพระองค์อยู่ในหิมวันตประเทศ ได้เคยทอดพระเนตรเห็นอะไรอัศจรรย์บ้าง. เราจักกล่าวว่าได้เคยเห็นสัตว์เช่นนี้ เขาก็จักถามว่า สัตว์นั้นชื่ออะไร. ถ้าเราจักตอบว่า ไม่รู้จัก. เขาก็จักติเตียนเรา เพราะเหตุนั้น เราจักยิงผู้นี้ทำให้ทุรพลแล้วจึงถามเรื่อง.
    ลำดับนั้น ในเมื่อฝูงมฤคนั้นลงดื่มน้ำแล้วขึ้นก่อน พระโพธิสัตว์จึงค่อยๆ ลงราวกะพระเถระผู้มีวัตรอันเรียนแล้ว อาบน้ำระงับความกระวนกระวาย แล้วขึ้นจากน้ำ นุ่งผ้าเปลือกไม้สีแดงผืนหนึ่ง ห่มผืนหนึ่ง เอาหนังเสือพาดเฉวียงบ่า ยกหม้อน้ำขึ้นเช็ดน้ำแล้ววางบนบ่าซ้าย. ก็ในกาลนั้น พระราชาทรงคิดว่า บัดนี้เป็นสมัยที่จะยิง จึงยกลูกศรอาบยาพิษนั้น ขึ้นยิงพระโพธิสัตว์ถูกข้างขวาทะลุออกข้างซ้าย. ฝูงมฤครู้ว่าพระมหาสัตว์ถูกยิง ตกใจกลัวหนีไป. ฝ่ายสุวรรณสามบัณฑิตแม้ถูกยิง ก็ประคองหม้อน้ำไว้โดยปกติ ตั้งสติค่อยๆ วางหม้อน้ำลง คุ้ยเกลี่ยทรายตั้งหม้อน้ำ กำหนดทิศหันศีรษะไปทางทิศาภาค เป็นที่อยู่ของบิดามารดา เป็นดุจสุวรรณปฏิมานอนบนทรายมีพรรณดั่งแผ่นเงิน. ตั้งสติกล่าวว่า ชื่อว่า บุคคลผู้มีเวรของเราในหิมวันตประเทศนี้ย่อมไม่มี บุคคลผู้มีเวรของบิดามารดาของเราก็ไม่มี กล่าวดังนี้แล้วถ่มโลหิตในปาก ไม่เห็นพระราชาเลย เมื่อจะถามจึงกล่าวคาถาที่หนึ่งว่า

    ใครหนอใช้ลูกศรยิ่งเราผู้ประมาทกำลังแบกหม้อน้ำ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ คนไหนยิงเราซ่อนกายอยู่.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปมตฺตํ ความว่า ผู้ไม่ตั้งสติในการเจริญเมตตา. ก็คำนี้พระโพธิสัตว์กล่าวหมายเนื้อความว่า ได้กระทำตนเป็นผู้ประมาทในขณะนั้น. บทว่า วิทฺธา ความว่า ยิงแล้วซ่อนกายอยู่ในที่นี้ ชนชื่อไรหนอ เป็นกษัตริย์ หรือพราหมณ์ หรือแพศย์ ใช้ลูกศรอาบยาพิษยิงเรา ผู้กำลังไปตักน้ำที่มิคสัมมตานที คือชนชื่อไรหนอยิงเราแล้วซ่อนกายอยู่ คือปกปิดตนในพุ่มไม้.

    ก็แลครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว เพื่อจะแสดงความที่มังสะในสรีระของตน เห็นว่าไม่เป็นภักษา จึงกล่าวคาถาที่สองว่า
    เนื้อของเราก็กินไม่ได้ หนังก็ไม่มีประโยชน์ เมื่อเป็นเช่นนี้ เขาเข้าใจว่าเราเป็นผู้ควรยิง ด้วยเหตุอะไรหนอ.

    ในคาถานั้นมีความว่า ท่านมาณพผู้เจริญ เนื้อของเรา คือเนื้อในสรีระของเรา กินไม่ได้ คือมนุษย์ทั้งหลายไม่พึงกิน. หนังของเรา คือหนังในสรีระของเรา ไม่มีประโยชน์แก่มนุษย์ทั้งหลาย. เมื่อเป็นเช่นนี้ คือแม้เมื่อเป็นอย่างนี้ บุรุษนี้ได้เข้าใจว่าเราเป็นผู้ควรยิง คือควรแทง คือยิงเราโดยไม่พิจารณาด้วยวรรณะอะไร คือด้วยเหตุอะไร.

    ครั้นกล่าวคาถาที่สองแล้ว เมื่อจะถามถึงชื่อเป็นต้น พระโพธิสัตว์จึงกล่าวคาถาว่า
    ท่านคือใคร หรือเป็นบุตรของใคร เราจะรู้จักท่านได้อย่างไร. ดูก่อนสหาย เราถามท่านแล้ว ขอท่านจงบอกเถิด ทำไมท่านยิงเราแล้วจึงซ่อนตัวเสีย.

    ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ก็ได้นิ่งอยู่.
     
  4. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    พระราชาทรงสดับดังนั้น ทรงดำริว่า บุรุษนี้แม้ถูกเรายิงด้วยลูกศรอาบยาพิษล้มแล้ว ก็ไม่ด่าไม่ตัดพ้อเรา เรียกหาเราด้วยถ้อยคำที่น่ารัก ดุจบุคคลจับฟั้นหัวใจ เราจักไปหาเขา แล้วเสด็จไปประทับยืนในที่ใกล้พระโพธิสัตว์ แล้วตรัสว่า
    เราเป็นพระราชาของชาวกาสี คนเรียกเราว่า พระเจ้าปิลยักษ์ เราละแว่นแคว้นเที่ยวแสวงหามฤค เพราะความโลภ. อนึ่ง เราเป็นผู้ฉลาดในธนูศิลป์ ปรากฏว่าเป็นผู้แม่นยำนัก แม้ช้างมาสู่ระยะลูกศรของเรา ก็ไม่พึงพ้นไปได้.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ราชาหมสฺมิ ความว่า ได้ยินว่า พระเจ้าปิลยักษ์นั้นมีพระดำริอย่างนี้ว่า เทวดาก็ตามนาคก็ตาม ย่อมพูดภาษามนุษย์ได้ทั้งนั้น เราไม่รู้จักผู้นี้ว่าเป็นเทวดา หรือนาค หรือมนุษย์ ถ้าเขาโกรธ จะทำให้พินาศได้. เมื่อกล่าวถึงเราว่า เป็นพระราชา ใครๆ ที่ไม่กลัวย่อมไม่มี เพราะเหตุดังนี้นั้น เพื่อจะให้รู้ว่าพระองค์เป็นพระราชา จึงได้ตรัสก่อนว่า ราชาหมสฺมิ ดังนี้. ดูก่อนมาณพผู้เจริญ เราเป็นพระราชาของชาวกาสี คือของชนผู้อยู่ในกาสิกรัฐ.
    บทว่า มํ ได้แก่ ประชาชนรู้จักเราโดยนามว่า พระเจ้าปิลยักษ์.
    บทว่า วิทู ได้แก่ รู้จัก คือเรียก. บทว่า โลภา ความว่า มอบราชสมบัติแก่พระชนนี เพราะความโลภเนื้อมฤค. บทว่า มิคเมสํ ได้แก่ แสวงหา คือค้นหาเหล่ามฤค. บทว่า จรามหํ ความว่า เราเที่ยวไปในป่าผู้เดียวเท่านั้น พระราชาประสงค์จะแสดงกำลังของพระองค์ จึงตรัสคาถาที่สอง.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิสฺสฏฺเฐ ได้แก่ ในธนูศิลป์. บทว่า ทฬฺหธมฺโม ความว่า เป็นผู้สามารถโก่งและลดซึ่งธนูอันหนัก คือธนูหนักพันแรงคนยกได้ ได้ยินกันแพร่หลาย คือปรากฏไปทั่วพื้นชมพูทวีป. บทว่า อาคโต อุสุปาตนํ ความว่า ช้างที่มีกำลังมาในที่ลูกศรของเราตก ก็ไม่พ้นจากที่ไปได้ถึงเจ็ดก้าว.

    พระราชาทรงสรรเสริญกำลังของพระองค์ ดังนี้แล้ว เมื่อจะตรัสถาม ชื่อและโคตรของพระโพธิสัตว์ จึงตรัสว่า
    ท่านคือใคร หรือเป็นบุตรของใคร พวกเราจะรู้จักท่านได้อย่างไร ท่านจงแจ้งชื่อและโคตรของบิดาท่านและของตัวท่าน.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปเวทย แปลว่า พึงบอก.

    พระมหาสัตว์ได้สดับดังนั้นแล้ว ดำริว่า ถ้าเราบอกว่า เราเป็นเทวดา นาค ยักษ์ กินนร หรือเป็นกษัตริย์เป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง. พระราชานี้ย่อมเชื่อคำของเรา เราควรกล่าวความจริงเท่านั้น ดำริฉะนี้แล้ว จึงทูลว่า

    ขอจงทรงพระเจริญ ข้าพระองค์เป็นบุตรฤาษี ผู้เป็นบุตรของนายพราน ญาติทั้งหลายเรียกข้าพระองค์เมื่อยังมีชีวิตอยู่ว่า สามะ. วันนี้ข้าพระองค์ถึงปากมรณะนอนอยู่อย่างนี้. ข้าพระองค์ถูกพระองค์ยิงด้วยลูกศรใหญ่อาบยาพิษ เหมือนมฤคที่ถูกพรานป่ายิงแล้ว ฉะนั้น.
    ข้าแต่พระราชา ขอพระองค์จงทอดพระเนตร ซึ่งข้าพระองค์ผู้นอนจมอยู่ในโลหิตของตน. เชิญทอดพระเนตรลูกศรอันแล่นเข้าข้างขวาทะลุออกข้างซ้าย. ข้าพระองค์บ้วนโลหิตอยู่ เป็นผู้กระสับกระส่าย. ขอทูลถามพระองค์ว่า พระองค์ยิงข้าพระองค์แล้ว จะซ่อนพระองค์อยู่ทำไม.
    เสือเหลืองถูกฆ่าเพราะหนัง ช้างถูกฆ่าเพราะงา. เมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์เข้าพระทัยว่า ข้าพระองค์เป็นผู้ควรยิง ด้วยเหตุอะไรหนอ.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภทฺทนฺเต ความว่า ข้าแต่พระมหาราช ขอพระองค์จงทรงพระเจริญ ข้าพระองค์เป็นบุตรฤาษีผู้เป็นบุตรนายพราน. บทว่า ชีวนฺตํ ความว่า ญาติทั้งหลายเมื่อเรียกขานข้าพระองค์ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ เมื่อก่อนแต่นี้ว่า มาเถิดสามะ ไปเถิดสามะ ก็ได้เรียกกันว่า สามะ. บทว่า สวาชฺเชวงฺคโต ความว่า วันนี้ ข้าพระองค์นั้นไป คือถึง คือเข้าไปในปากแห่งมรณะแล้วอย่างนี้. บทว่า สเย แปลว่า นอนอยู่ มฤคถูกพรานป่ายิงด้วยลูกศรใหญ่อาบยาพิษ ฉันใด แม้ข้าพระองค์ก็ฉันนั้น คือเป็นผู้ถูกพระองค์ทรงยิงอย่างนั้น. บทว่า ปริปลุโต ความว่า นอนจม ขอพระองค์โปรดทอดพระเนตรข้าพระองค์ผู้นอนอยู่เห็นปานนี้. บทว่า ปฏิวามคตํ ความว่า เข้าทางข้างขวาแล้วทะลุออกทางข้างซ้าย. บทว่า ปสฺส ได้แก่ โปรดทอดพระเนตรข้าพระองค์. บทว่า ถิมฺหามิ แปลว่า บ้วนอยู่ พระมหาสัตว์นั้นดำรงสติมั่นไม่หวั่นไหวเลย ถ่มโลหิต ตรัสแล้วด้วยประการฉะนี้. บทว่า อาตุโร ความว่า ข้าพระองค์เจ็บหนักขอทูลถามพระองค์. บทว่า นิลียสิ ความว่า ประทับนั่งอยู่ในพุ่มไม้แห่งหนึ่ง. บทว่า วิทฺเธยฺยํ แปลว่า ควรยิง. บทว่า อมญฺญถ ความว่า ได้เข้าใจว่าเหมือนมฤค.

    พระราชาทรงสดับคำของพระมหาสัตว์แล้ว ไม่ตรัสบอกตามจริง เมื่อจะตรัสคำเท็จจึงตรัสว่า
    ดูก่อนสามะ มฤคปรากฏแล้ว มาสู่ระยะลูกศรเห็นท่านเข้าก็หนีไป เพราะเหตุนั้น เราจึงเกิดความโกรธ.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุพฺพิชฺชิ แปลว่า หนีไป. บทว่า อาวิสิ ได้แก่ ท่วมทับ พระราชาทรงแสดงว่า ความโกรธเกิดขึ้นแก่เราเพราะเหตุนั้น.

    ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ทูลพระราชาว่า ข้าแต่พระราชาผู้ใหญ่ พระองค์ตรัสอะไร ขึ้นชื่อว่า มฤคที่เห็นข้าพระองค์แล้วหนีไป ไม่มีในหิมวันตประเทศนี้ แล้วทูลว่า
    จำเดิมแต่ข้าพระองค์จำความได้ รู้จักถูกและผิด. ฝูงมฤคในป่าแม้ดุร้าย ก็ไม่สะดุ้งกลัวข้าพระองค์. จำเดิมแต่ข้าพระองค์นุ่งผ้าเปลือกไม้ ตั้งอยู่ในปฐมวัย ฝูงมฤคในป่าแม้ดุร้าย ก็ไม่สะดุ้งกลัวข้าพระองค์. ข้าแต่พระราชา ฝูงกินนรผู้ขลาดอยู่ภูเขาคันธมาทน์ เห็นข้าพระองค์ย่อมไม่สะดุ้งกลัว. เราทั้งหลายต่างชื่นชมต่อกันไปสู่ภูเขาและป่า. เมื่อเป็นเช่นนี้ มฤคทั้งหลายจะสะดุ้งกลัวข้าพระองค์ด้วยเหตุไร.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น มํ มิคา ความว่า ธรรมดามฤคทั้งหลายเห็นข้าพระองค์แล้ว ย่อมไม่สะดุ้งกลัว. บทว่า สาปทานิ ได้แก่ พาลมฤค. บทว่า ยโต นิธึ ความว่า จำเดิมแต่กาลที่ข้าพระองค์นุ่ง คือทรงผ้าเปลือกไม้. บทว่า ภีรู กึปุริสา ราช ความว่า ข้าแต่พระราชาผู้ใหญ่ มฤคทั้งหลายจงยกไว้ก่อน ธรรมดากินนรทั้งหลาย ย่อมเป็นผู้ขลาดอย่างยิ่ง กินนรเหล่าใดอยู่ที่ภูเขาคันธมาทน์นี้ กินนรแม้เหล่านั้นเห็นข้าพระองค์แล้ว ย่อมไม่สะดุ้งกลัว พวกเราชื่นชมต่อกันและกัน ไปตามป่าเขาลำเนาไพรโดยแท้แล. บทว่า อุตฺราสนฺติ มิคา มมํ ความว่า พระมหาสัตว์แสดงความว่าเพราะเหตุไร พระองค์จึงจักให้ข้าพระองค์เชื่อว่า มฤคทั้งหลายเห็นข้าพระองค์แล้วสะดุ้งกลัว.
     
  5. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    พระราชาได้สดับดังนั้นแล้ว ทรงดำริว่า เรายิงสุวรรณสาม ผู้ไร้ความผิดนี้แล้ว ยังกล่าวมุสาวาทอีก เราจักกล่าวคำจริงเท่านั้น ดังนี้แล้ว จึงตรัสว่า
    ดูก่อนสามะ เนื้อเห็นท่านแล้ว หาได้ตกใจไม่. เรากล่าวเท็จแก่ท่านดอก เราถูกความโกรธและความโลภครอบงำแล้ว จึงยิงท่านด้วยลูกศรนั้น.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น ตทฺทส ความว่า เนื้อเห็นท่านแล้วไม่ตกใจ. บทว่า กินฺตาหํ ความว่า เรากล่าวเท็จในสำนักของท่านผู้มีทัศนะงามอย่างนี้ดอก. บทว่า โกธโลภาภิภูตาหํ ความว่า เราเป็นผู้อันความโกรธและความโลภครอบงำแล้ว. ก็เมื่อเนื้อทั้งหลายข้ามลงก่อนแล้วนั่นแล เรานั้นจักยิงเนื้อทั้งหลายเพราะความโกรธ เรายืนยกธนูอยู่. ภายหลังได้เห็นพระโพธิสัตว์ ไม่รู้ว่าพระโพธิสัตว์นั้นเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาเทวดาเป็นต้น จักถามพระโพธิสัตว์นั้น พระราชายังความโลภให้เกิดขึ้นด้วยประการฉะนี้ ฉะนั้นจึงตรัสอย่างนี้.

    ก็แลครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว พระราชาทรงดำริว่า สุวรรณสามนี้จะ มิได้อยู่อาศัยในป่านี้แต่ผู้เดียวเท่านั้น ญาติทั้งหลายของเขาพึงมีแน่ จักถามเขาดู จึงตรัสคาถาอีกว่า
    ดูก่อนสามะ ท่านมาแต่ไหน หรือใครใช้ท่านมา. ท่านผู้จะตักน้ำจึงไปสู่แม่น้ำมิคสัมมตา แล้วกลับมา.

    บรรดาบทเหล่านั้น พระราชาตรัสเรียกพระโพธิสัตว์ ด้วยบทว่า สาม. บทว่า อาคมฺม ความว่า จากประเทศไหนมาสู่ป่านี้. บทว่า กสฺส วา ปหิโต ความว่า ท่านถูกใครส่งไปด้วยคำว่า จงไปสู่แม่น้ำเพื่อนำน้ำมาแก่พวกเรา ดังนี้ จึงมายังแม่น้ำมิคสัมมตานี้.

    พระโพธิสัตว์ได้สดับพระดำรัสของพระราชาแล้ว กลั้นทุกขเวทนาเป็นอันมาก บ้วนโลหิตแล้วกล่าวคาถาว่า
    บิดามารดาของข้าพระองค์ตาบอด ข้าพระองค์เลี้ยงท่านเหล่านั้นอยู่ในป่าใหญ่. ข้าพระองค์นำน้ำมาเพื่อท่านทั้งสองนั้น จึงมาแม่น้ำมิคสัมมตา.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภรามิ ความว่า นำมูลผลาผลเป็นต้นมาเลี้ยงดู.

    ก็แลครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ก็บ่นรำพันปรารภบิดามารดา กล่าวว่า
    อาหารของบิดามารดานั้นยังพอมีอยู่ เมื่อเป็นเช่นนี้ ชีวิตของท่านทั้งสองนั้นจักดำรงอยู่ราวหกวัน. ท่านทั้งสองนั้นตามืด เกรงจักตายเสียเพราะไม่ได้ดื่มน้ำ.
    ความทุกข์เพราะถูกพระองค์ยิงด้วยลูกศรนี้ หาเป็นความทุกข์ของข้าพระองค์นักไม่ เพราะความทุกข์นี้อันบุรุษจะต้องได้ประสบ.
    ความทุกข์ที่ข้าพระองค์ไม่ได้เห็นบิดามารดา เป็นความทุกข์ของข้าพระองค์ ยิ่งกว่าความทุกข์ เพราะถูกพระองค์ยิงด้วยลูกศรนี้เสียอีก.
    ความทุกข์เพราะถูกพระองค์ยิงด้วยลูกศรนี้ หาเป็นความทุกข์ของข้าพระองค์นักไม่เพราะความทุกข์นี้อันบุรุษจะต้องได้ประสบ.
    บิดามารดาทั้งสองนั้นเป็นกำพร้าเข็ญใจ จะร้องไห้อยู่ตลอดราตรีนาน จักเหือดแห้งไปในกึ่งราตรีหรือในที่สุดราตรี ดุจแม่น้ำน้อยในคิมหฤดูจักเหือดแห้งไป.
    ข้าพระองค์เคยหมั่นบำรุงบำเรอนวดมือเท้าของท่านทั้งสองนั้น. บัดนี้ไม่เห็นข้าพระองค์ ท่านทั้งสองจักบ่นเรียกหาว่า พ่อสามๆ เที่ยวอยู่ในป่าใหญ่.
    ลูกศร คือความโศก ที่สองนี้แหละ ยังหัวใจของข้าพระองค์ให้หวั่นไหว เพราะข้าพระองค์ไม่ได้เห็นท่านทั้งสอง ผู้จักษุบอด ข้าพระองค์เห็นจักละเสียซึ่งชีวิต.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุสามตฺตํ ได้แก่ พอเป็นอาหาร. ได้ยินว่า คำว่า อุสา เป็นชื่อของโภชนาหาร ความว่า บิดามารดาทั้งสองนั้นยังมีโภชนาหาร. บทว่า อถ สาหสฺส ชีวิตํ ความว่า มีชีวิตอยู่ได้ประมาณหกวัน. พระมหาสัตว์กล่าวคำนี้ หมายถึงผลาผลที่นำมาตั้งไว้ อีกอย่างหนึ่ง บทว่า อุสา ได้แก่ ไออุ่น ด้วยบทนั้น พระมหาสัตว์แสดงความนี้ว่า ในร่างกายของบิดามารดาทั้งสองนั้นพอมีไออุ่นอยู่ เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็จะมีชีวิตอยู่ได้หกวัน ด้วยผลาผลที่ข้าพระองค์นำมา. บทว่า มริสฺสเร แปลว่า จักตาย ข้าแต่พระราชาผู้ใหญ่ ความทุกข์เพราะถูกพระองค์ยิงนี้ ถึงเป็นความทุกข์ก็จริง แต่ไม่เป็นความทุกข์ของข้าพระองค์ เพราะเหตุไรจึงกล่าวอย่างนี้. บทว่า ปุมุนา ได้แก่ อันบุรุษ ความว่า ความทุกข์เห็นปานนั้นนี้ อันบุรุษพึงได้ประสบทั้งนั้น ก็เพราะความทุกข์ที่ข้าพระองค์ไม่ได้เห็น คุณแม่ปาริกานั้น เป็นความทุกข์ของข้าพระองค์ ยิ่งกว่าความทุกข์เพราะถูกพระองค์ ยิงนี้ร้อยเท่าพันเท่าแสนเท่า.
    บทว่า จิรํ รตฺตาย รุจฺจติ ความว่า จักร้องไห้ตลอดราตรีนาน. บทว่า อฑฺฒรตฺเต ได้แก่ ในสมัยกึ่งราตรี. บทว่า รตฺเต วา ได้แก่ ในสุดท้ายราตรี. บทว่า อวสุสฺสติ ได้แก่ จักเหือดแห้ง อธิบายว่า จักเหือดแห้งไปเหมือนแม่น้ำน้อยในฤดูร้อน. บทว่า อุฏฺฐานปาทจริยาย ความว่า ข้าแต่พระราชาผู้ใหญ่ ข้าพระองค์ลุกขึ้นคืนละสองสามครั้ง หรือวันละสองสามครั้ง ปฏิบัติรับใช้บิดามารดาทั้งสองนั้น นวดมือเท้าของท่านทั้งสองนั้น ด้วยความหมั่นเพียรของข้าพระองค์. บัดนี้ ท่านทั้งสองผู้มีจักษุมืดนั้นไม่เห็นข้าพระองค์ จักลุกขึ้นเพื่อต้องการการปฏิบัตินั้นๆ จักบ่นรำพันว่า พ่อสาม พ่อสาม จักถูกหนามตำเอาเที่ยวไปในหิมวันตประเทศนี้. บทว่า ทุติยํ ความว่า ลูกศร คือความโศกเพราะไม่ได้เห็นบิดามารดาทั้งสองนั้น ซึ่งเป็นความทุกข์ที่สองนี้ เป็นความทุกข์กว่า ถูกลูกศรอาบยาพิษยิงเอาครั้งแรก ร้อยเท่าพันเท่าแสนเท่า.

    พระราชาทรงฟังความคร่ำครวญของพระโพธิสัตว์ ทรงคิดว่า บุรุษนี้เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ตั้งอยู่ในธรรม ปฏิบัติบิดามารดาเยี่ยมยอด. บัดนี้ ได้ความทุกข์ถึงเพียงนี้ ยังคร่ำครวญถึงบิดามารดา เราได้ทำความผิดในบุรุษ ผู้สมบูรณ์ด้วยคุณธรรมอย่างนี้. เราควรเล้าโลมเอาใจบุรุษนี้อย่างไรดีหนอ. แล้วทรงสันนิษฐานว่า ในเวลาที่เราตกนรก ราชสมบัติจักทำอะไรได้ เราจักปฏิบัติบิดามารดาของบุรุษนี้ โดยทำนองที่บุรุษนี้ปฏิบัติแล้ว. การตายของบุรุษนี้จักเป็นเหมือนไม่ตาย ด้วยประการฉะนี้ จึงตรัสว่า
    ดูก่อนสามะผู้งดงามน่าดู ท่านอย่าปริเทวะมากเลย เราเป็นผู้ฉลาดในธนูศิลป์ ปรากฏในชมพูทวีปทั้งสิ้นว่าเป็นผู้แม่นยำนัก จักฆ่ามฤคและแสวงหามูลผลาหารป่ามา ทำการงานเลี้ยงบิดามารดาของท่านในป่าใหญ่. ดูก่อนสามะ ป่าที่บิดามารดาของท่านอยู่ อยู่ที่ไหน. เราจักเลี้ยงบิดามารดาของท่าน ให้เหมือนท่านเลี้ยง.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภริสฺสนฺเต ความว่า เราจักเลี้ยงบิดามารดาของท่านเหล่านั้น. บทว่า มิคานํ ได้แก่ ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลืองและมฤคเป็นต้น. บทว่า วิฆาสมนฺเวสํ ความว่า แสวงหา คือเสาะหาซึ่งอาหาร. พระราชาตรัสว่า เราเป็นผู้ฉลาดในธนูศิลป์ จักฆ่ามฤคอ้วนๆ เลี้ยงบิดามารดาของท่าน ด้วยมังสะอันอร่อย ดังนี้. เมื่อพระโพธิสัตว์ทูลว่า ข้าแต่พระราชาผู้ใหญ่ พระองค์อย่าทำการฆ่าสัตว์เพราะเหตุพวกข้าพระองค์เลย ดังนี้ จึงตรัสคำนี้อย่างนี้. บทว่า ยถา เต ความว่า ท่านได้เลี้ยงท่านทั้งสองนั้นอย่างใด แม้ข้าพเจ้าก็จักเลี้ยงท่านทั้งสองนั้นอย่างนั้น เหมือนกัน.

    ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ได้สดับพระวาจาของพระราชานั้นแล้วจึงทูลว่า ดีแล้ว พระเจ้าข้า. ถ้าอย่างนั้น ขอพระองค์โปรดเลี้ยงดูบิดามารดาของข้าพระองค์เถิด เมื่อจะชี้ทางให้ทรงทราบ จึงทูลว่า
    ข้าแต่พระราชา หนทางที่เดินเฉพาะคนเดียว ซึ่งอยู่ทางหัวนอนของข้าพระองค์นี้ เสด็จดำเนินไปแต่ที่นี้ระหว่างกึ่งเสียงกู่ จะถึงสถานที่อยู่แห่งบิดามารดาของข้าพระองค์ ขอเสด็จดำเนินแต่ที่นี้ไป เลี้ยงดูท่านทั้งสองในสถานที่นั้นเถิด.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอกปที แปลว่า ทางเดินเฉพาะคนเดียว. บทว่า อุสฺสีสเก ได้แก่ ในที่ด้านศีรษะของข้าพระองค์นี้. บทว่า อฑฺฒโฆสํ แปลว่า ระหว่างกึ่งเสียงกู่.

    พระมหาสัตว์ทูลชี้ทางแด่พระราชาอย่างนี้แล้ว กลั้นเวทนาเห็นปานนั้นไว้ ด้วยความสิเนหาในบิดามารดาเป็นกำลัง ประคองอัญชลีทูลวิงวอนเพื่อต้องการให้เลี้ยงดูบิดามารดา ได้ทูลอย่างนี้อีกว่า
    ข้าแต่พระเจ้ากาสิราช ข้าพระบาทขอน้อมกราบพระองค์ ข้าแต่พระองค์ผู้ยังชาวกาสีให้เจริญ. ข้าพระบาทขอน้อมกราบพระองค์ ขอพระองค์ทรงบำรุงเลี้ยงบิดามารดาตามืดของข้าพระองค์ในป่าใหญ่. ข้าพระองค์ขอประคองอัญชลีถวายบังคมพระองค์. ขอพระองค์มีพระดำรัสกะบิดามารดาของข้าพระองค์ให้ทราบว่า ข้าพระองค์ไหว้นบท่านด้วย.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วุตฺโต วชฺชาสิ ความว่า พระมหาสัตว์ทูลว่า ข้าแต่พระราชาผู้ใหญ่ พระองค์ผู้อันข้าพระองค์กราบทูลแล้ว โปรดตรัสบอกการกราบไหว้ให้บิดามารดาทราบอย่างนี้ว่า สามะบุตรของท่านทั้งสอง ถูกเรายิงด้วยลูกศรอาบยาพิษที่ริมฝั่งแม่น้ำ. นอนตะแคงข้างขวา เหนือหาดทรายคล้ายแผ่นเงิน ประคองอัญชลีแก่ท่าน กราบไหว้เท้าทั้งสองของท่าน.

    พระราชาทรงรับคำพระมหาสัตว์ส่งการไหว้บิดามารดาแล้ว ก็ถึงวิสัญญีสลบนิ่งไป.

    พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศความข้อนั้น จึงตรัสว่า
    หนุ่มสามะผู้งดงามน่าดูนั้น ครั้นกล่าวคำนี้แล้ว ถูกกำลังแห่งพิษซาบซ่าน เป็นผู้วิสัญญีสลบไป.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สมปชฺชถ ได้แก่ เป็นผู้วิสัญญี.

    พระมหาสัตว์นั้น เมื่อกล่าวมาได้เพียงเท่านี้ก็ดับอัสสาสะ ไม่ได้กล่าวต่อไปอีกเลย. ก็ในกาลนั้น ถ้อยคำที่เป็นไปอาศัยหทัยรูป ซึ่งติดต่อจิตแห่งพระโพธิสัตว์นั้นขาดแล้ว เพราะกำลังแห่งพิษซาบซ่าน โอฐของพระโพธิสัตว์ก็ปิด จักษุก็หลับ มือเท้าแข็งกระด้าง ร่างกายทั้งสิ้นเปื้อนโลหิต. ลำดับนั้น พระราชาทรงคิดว่า สุวรรณสามนี้ พูดกับเราอยู่เดี๋ยวนี้ เป็นอะไรไปหนอ จึงทรงพิจารณาตรวจดูลมอัสสาสะปัสสาสะของพระโพธิสัตว์. ก็ลมอัสสาสะปัสสาสะดับแล้ว สรีระก็แข็งแล้ว. พระราชาทอดพระเนตรเห็นเหตุนั้น ก็ทรงทราบว่า บัดนี้สุวรรณสามตายแล้วดับแล้ว ไม่ทรงสามารถที่จะกลั้นความโศกไว้ได้ ก็วางพระหัตถ์ไว้บนพระเศียรครวญคร่ำรำพันด้วยเสียงอันดัง.

    พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศความข้อนั้น จึงตรัสว่า
    พระราชานั้นทรงคร่ำครวญน่าสงสาร เป็นอันมากว่า เราสำคัญว่าจะไม่แก่ไม่ตาย เรารู้เรื่องนี้วันนี้ แต่ก่อนหารู้ไม่. เพราะได้เห็นสามบัณฑิตทำกาลกิริยา ความไม่มาแห่งมฤตยูย่อมไม่มี.
    สามบัณฑิตถูกลูกศรอาบยาพิษ ซึมซาบแล้วพูดอยู่กะเรา. ครั้นกาลล่วงไปอย่างนี้ในวันนี้ ไม่พูดอะไรๆ เลย เราจะต้องไปสู่นรกแน่นอน เราไม่มีความสงสัยในข้อนี้เลย เพราะว่าบาปหยาบช้า อันเราทำแล้วตลอดราตรีนานในกาลนั้น.
    เราทำกรรมหยาบช้าในบ้านเมือง คนทั้งหลายจะติเตียนเรา. ใครเล่าจะควรมากล่าวติเตียนเราในราวป่า อันหามนุษย์มิได้. คนทั้งหลายจะประชุมกันในบ้านเมือง โจทนาว่ากล่าวเอาโทษเรา. ใครเล่าหนอจะโจทนาว่ากล่าวเอาโทษเรา ในป่าอันหามนุษย์มิได้.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อาสึ ความว่า เราได้มีความสำคัญว่า จะไม่แก่ไม่ตายมาตลอดกาลเท่านี้. บทว่า อชฺเชตํ ความว่า วันนี้เราได้เห็นสามบัณฑิตนี้ทำกาลกิริยา จึงรู้ว่าทั้งตัวเราและเหล่าสัตว์อื่นๆ ต้องแก่ต้องตายทั้งนั้น. บทว่า นตฺถิ มจฺจุสฺส นาคโม ความว่า พระราชาทรงครวญคร่ำรำพันว่า ความมาแห่งมัจจุนั้น เรารู้ในวันนี้เอง เมื่อก่อนแต่นี้ เราไม่รู้เลย. บทว่า สฺวาชฺเชวงฺคเต กาเล ความว่า พระราชาทรงแสดงว่า สามบัณฑิตใดถูกลูกศรอาบยาพิษซึมซาบแล้ว เจรจาอยู่กะเราในบัดนี้ทีเดียว. สามบัณฑิตนั้น ครั้นมรณกาลไป คือเป็นไปอย่างนี้ในวันนี้ ไม่กล่าวอะไรๆ แม้แต่น้อยเลย. บทว่า ตทา หิ ความว่า เราผู้ยิงสามบัณฑิตในขณะนั้นได้กระทำบาปแล้ว. บทว่า จิรํ รตฺตาย กิพฺพิสํ ความว่า ก็บาปนั้นทารุณหยาบช้าสามารถทำให้เดือดร้อนตลอดราตรีนาน. บทว่า ตสฺส ความว่า ติเตียนเรานั้นผู้เที่ยวทำกรรมชั่วเห็นปานนี้. บทว่า วตฺตาโร ความว่า ย่อมติเตียน. ติเตียนที่ไหน? ติเตียนในบ้าน. ติเตียนว่าอย่างไร? ติเตียนว่าเป็นผู้ทำกรรมหยาบช้า.

    พระราชาทรงคร่ำครวญว่า ก็ในป่าอันหามนุษย์มิได้นี้ ใครเล่าควรจะกล่าวติเตียนเรา ถ้าจะมี ก็พึงว่ากล่าวเรา. บทว่า สารยนฺติ ได้แก่ ในบ้านหรือในนิคมเป็นต้น. บทว่า สํคจฺฉ มาณวา ความว่า คนทั้งหลายจะประชุมกันในที่นั้นๆ จะยังกันและกันให้ระลึกถึงกรรมทั้งหลาย จะโจทนาอย่างนี้ว่า แน่ะท่านผู้ฆ่าคน ท่านทำทารุณกรรม ท่านต้องได้รับโทษอย่างโน้น. แต่ในป่าอันหามนุษย์มิได้นี้ ใครเล่าจักยังพระราชานี้ให้ระลึกถึงกรรม พระราชาทรงโจทนาตนคร่ำครวญอยู่อย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้.
    กาลนั้น เทพธิดามีนามว่า พสุนธรี อยู่ภูเขาคันธมาทน์ เคยเป็นมารดาของพระมหาสัตว์ ในอัตภาพที่เจ็ด พิจารณาดูพระโพธิสัตว์อยู่เป็นนิจ ด้วยความสิเนหาในบุตร. ก็วันนั้นนางเสวยทิพยสมบัติ มิได้พิจารณาดูพระมหาสัตว์. บางอาจารย์ว่า นางไปสู่เทวสมาคมเสีย ดังนี้ก็มี. ในเวลาที่พระมหาสัตว์สลบ นางพิจารณาดูว่า ความเป็นไปของบุตรเราเป็นอย่างไรบ้างหนอ. ได้เห็นว่า พระเจ้าปิลยักษ์นี้ ยิงบุตรของเราด้วยลูกศรอาบยาพิษ ให้ล้มอยู่ที่หาดทรายฝั่งแม่น้ำมิคสัมมตา พร่ำรำพันด้วยเสียงอันดัง. ถ้าเราจักไม่ไปในที่นั้น สุวรรณสามบุตรของเราจักพินาศอยู่ในที่นี้ แม้พระหทัยของพระราชาก็จักแตก. บิดามารดาของสามะจักอดอาหาร จะไม่ได้น้ำดื่ม จักเหือดแห้งตาย. แต่เมื่อเราไป พระราชาจักถือเอาหม้อน้ำดื่มไป สู่สำนักบิดามารดาของสุวรรณสามนั้น. ก็แลครั้นเสด็จไปแล้วจักรับสั่งว่า บุตรของท่านทั้งสอง เราฆ่าเสียแล้ว และทรงสดับคำของท่านทั้งสองนั้นแล้ว จักนำท่านทั้งสองนั้นไปสู่สำนักของสุวรรณสามผู้บุตร. เมื่อเป็นเช่นนี้ ดาบสดาบสินีทั้งสอง และเราจักทำสัจจกิริยา. พิษของสุวรรณสามก็จักหาย บุตรของเราจักได้ชีวิตคืนมา จักษุทั้งสองข้างของบิดามารดาสุวรรณสามจักแลเห็นเป็นปกติ และพระราชาจักได้ทรงสดับธรรมเทศนาของสุวรรณสาม เสด็จกลับพระนคร ทรงบริจาคมหาทาน ครองราชสมบัติโดยยุติธรรม มีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า เพราะเหตุนั้น เราจะไปในที่นั้น เทพธิดานั้นจึงไปสถิตอยู่ในอากาศโดยไม่ปรากฏกาย ที่ฝั่งมิคสัมมตานที กล่าวกับพระเจ้าปิลยักขราช.

    พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
    เทพธิดานั้นอันตรธานไปในภูเขาคันธมาทน์ มาภาษิตคาถาเหล่านี้ เพื่ออนุเคราะห์พระราชาว่า พระองค์ทำความผิดมาก ได้ทำกรรมอันชั่วช้า. บิดามารดาและบุตรทั้งสาม ผู้หาความประทุษร้ายมิได้ ถูกพระองค์ฆ่าเสียด้วยลูกศรลูกเดียวกัน.
    เชิญเสด็จมาเถิด ข้าพเจ้าจะพร่ำสอนพระองค์ ด้วยวิธีที่พระองค์จะได้สุคติ. พระองค์จงเลี้ยงดูบิดามารดาทั้งสอง ผู้มีจักษุมืดโดยธรรมในป่า ข้าพเจ้าเข้าใจว่า สุคติจะพึงมีแก่พระองค์.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า รญฺโญว แปลว่า พระราชานั่นแหละ. บทว่า อาคุ กริ ความว่า ดูก่อนพระราชาผู้ใหญ่ พระองค์ได้ทรงกระทำความผิดมาก คือบาปมาก. บทว่า ทุกฺกฏํ ความว่า ความชั่วใดที่พระองค์กระทำแล้วมีอยู่ พระองค์ได้กระทำแล้วซึ่งความชั่วนั้นอันเป็นกรรมลามก. บทว่า อทูสกา แปลว่า ผู้หาโทษมิได้. บทว่า ปิตาปุตฺตา ความว่า ชนสามคนเหล่านี้ คือ มารดาหนึ่ง บิดาหนึ่ง บุตรหนึ่ง พระองค์ฆ่าด้วยลูกศรลูกเดียว ด้วยว่าเมื่อพระองค์ฆ่าสุวรรณสามนั้น แม้บิดามารดาของสุวรรณสาม ผู้ปฏิพัทธ์สุวรรณสามนั้น ย่อมเป็นอันพระองค์ฆ่าเสียเหมือนกัน. บทว่า อนุสิกฺขามิ ความว่า จักให้ศึกษา คือ จักพร่ำสอน. บทว่า โปเส ความว่า จงตั้งอยู่ในฐานะสุวรรณสาม ยังความสิเนหาให้เกิดขึ้น เลี้ยงดูบิดามารดาทั้งสองซึ่งตาบอดนั้น ราวกะว่าสุวรรณสาม. บทว่า มญฺเญหํ สุคตี สิยา ความว่า ข้าพเจ้าเข้าใจว่า พระองค์จักพึงไปสุคติเท่านั้น ด้วยประการฉะนี้.

    พระราชาทรงสดับคำของเทพธิดาแล้วทรงเชื่อว่า เราเลี้ยงบิดามารดาของสุวรรณสามแล้ว จักไปสู่สวรรค์. ทรงดำริว่า เราจะต้องการราชสมบัติทำไม. เราจักเลี้ยงดูท่านทั้งสองนั้น ทรงตั้งพระหฤทัยมั่น ทรงร่ำไรรำพันเป็นกำลัง ทรงทำความโศกให้เบาบาง เข้าพระหฤทัยว่า สุวรรณสามโพธิสัตว์สิ้นชีพแล้ว จึงทรงบูชาสรีระของพระโพธิสัตว์นั้น ด้วยบุปผชาติต่างๆ ประพรมด้วยน้ำ. ทำประทักษิณสามรอบ ทรงกราบในฐานะทั้งสี่ แล้วถือหม้อน้ำที่พระโพธิสัตว์ใส่ไว้เต็มแล้ว ถึงความโทมนัส บ่ายพระพักตร์ทางทิศทักษิณเสด็จไป.

    พระศาสดา เมื่อทรงประกาศข้อความนั้น จึงตรัสว่า
    พระราชานั้นทรงคร่ำครวญอย่างน่าสงสารเป็นอันมาก ทรงถือหม้อน้ำ บ่ายพระพักตร์ทางทิศทักษิณเสด็จหลีกไปแล้ว.

    แม้โดยปกติพระราชาเป็นผู้มีพระกำลังมาก ทรงถือหม้อน้ำ เข้าไปสู่อาศรมบท ถึงประตูบรรณศาลาของทุกูลบัณฑิต ดุจบุคคลกระแทกอาศรมให้กระเทือน. ทุกูลบัณฑิตนั่งอยู่ภายใน ได้ฟังเสียงฝีพระบาทแห่งพระเจ้าปิลยักขราช ก็นึกในใจว่า นี้ไม่ใช่เสียงแห่งฝีเท้าสุวรรณสามบุตรเรา เสียงฝีเท้าใครหนอ. เมื่อจะถาม จึงกล่าวคาถาสองคาถาว่า

    นั่นเสียงฝีเท้าใครหนอ เสียงฝีเท้ามนุษย์เดินเป็นแน่ เสียงฝีเท้าสามบุตรเราไม่ดัง. ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์ ท่านเป็นใครหนอ สามบุตรเราเดินเบาวางเท้าเบา เสียงฝีเท้าสามบุตรเราไม่ดัง ท่านเป็นใครหนอ.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มนุสฺสสฺเสว ความว่า เสียงฝีเท้าที่มานี้ไม่ใช่ของราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง ยักษ์ และกินนรเป็นต้น เป็นเสียงฝีเท้าของมนุษย์แน่ แต่ไม่ใช่ของสุวรรณสาม. บทว่า สนฺตํ หิ ได้แก่ เงียบ. บทว่า วชฺชติ ได้แก่ ก้าวไป. บทว่า หญฺญติ ได้แก่ วาง.

    พระราชาได้สดับคำถามนั้น ทรงดำริว่า ถ้าเราไม่บอกความที่เราเป็นพระราชา บอกว่าเราฆ่าบุตรของท่านเสียแล้ว. ท่านทั้งสองนี้จักโกรธเรา กล่าวคำหยาบกะเรา เมื่อเป็นเช่นนี้ ความโกรธในท่านทั้งสองนี้ ก็จักเกิดขึ้นแก่เรา. ครั้นความโกรธเกิดขึ้น เราก็จักเบียดเบียนท่านทั้งสองนั้น กรรมนั้นจักเป็นอกุศลของเรา. แต่เมื่อเราบอกว่าเราเป็นพระราชา ชื่อว่าผู้ที่ไม่เกรงกลัว ย่อมไม่มี. เพราะฉะนั้น เราจะบอกความที่เราเป็นพระราชาก่อน ทรงดำริฉะนี้แล้ว ทรงวางหม้อน้ำ ไว้ที่โรงน้ำดื่ม แล้วประทับยืนที่ประตูบรรณศาลา. เมื่อจะแสดงพระองค์ให้ฤาษีรู้จัก จึงตรัสว่า

    เราเป็นพระราชาของชาวกาสี คนเรียกเราว่า พระเจ้าปิลยักษ์. เราละแว่นแคว้นเที่ยว แสวงหามฤคเพราะความโลภ. อนึ่ง เราเป็นผู้ฉลาดในธนูศิลป์ ปรากฏว่าเป็นผู้แม่นยำนัก. แม้ช้างมาสู่ระยะลูกศรของเราก็ไม่พึงพ้นไปได้.

    ฝ่ายทุกูลบัณฑิตเมื่อจะทำปฏิสันถารกับพระราชา จึงทูลว่า
    ข้าแต่มหาบพิตร พระองค์เสด็จมาดีแล้ว อนึ่ง พระองค์เสด็จมาแต่ไกลก็เหมือนใกล้. พระองค์ผู้มีอิสระเสด็จมาถึงแล้ว ขอจงทรงทราบสิ่งที่มีอยู่ในที่นี้. ข้าแต่มหาบพิตร เชิญเสวยผลมะพลับ ผลมะหาด ผลมะซาง และผลหมากเม่า อันเป็นผลไม้เล็กน้อย. ขอได้โปรดเลือกเสวยผลที่ดีๆ เถิด. ข้าแต่มหาบพิตร ขอจงทรงดื่มน้ำซึ่งเป็นน้ำเย็น นำมาแต่มิคสัมมตานที ซึ่งไหลจากซอกเขา ถ้าทรงพระประสงค์.

    เนื้อความของคาถานั้น ได้กล่าวไว้แล้วในสัตติคุมพชาดก แต่ในที่นี้ บทว่า คิริคพฺภรา ท่านกล่าวหมายเอามิคสัมมตานที เพราะมิคสัมมตานที นั้นไหลมาแต่ซอกเขา จึงชื่อว่า เกิดแต่ซอกเขา.

    เมื่อดาบสทำปฏิสันถารอย่างนี้แล้ว พระราชาทรงคิดว่า เราไม่ควรจะบอกว่า เราฆ่าบุตรของท่านเสียแล้ว. ดังนี้ก่อน ทำเหมือนไม่รู้ พูดเรื่องอะไรๆ ไปก่อนแล้วจึงบอก ทรงดำริดังนี้แล้ว จึงตรัสว่า
    ท่านทั้งสองจักษุมืด ไม่สามารถจะเห็นอะไรๆในป่า ใครเล่าหนอนำผลไม้มาเพื่อท่านทั้งสอง. ความสะสมผลไม้น้อยใหญ่ไว้ โดยเรียบร้อยนี้ ปรากฏแก่ข้าพเจ้าว่า ดูเหมือนคนตาดีสะสมไว้.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นาลํ ความว่า ท่านทั้งสองตามืด ไม่สามารถจะมองเห็นอะไรๆ ในป่านี้ได้. บทว่า โก นุ โว ผลมาหริ ความว่า ใครหนอนำผลไม้น้อยใหญ่มาเพื่อท่านทั้งสอง. บทว่า นิวาโป ความว่า การเก็บ คือสะสมผลไม้น้อยใหญ่ที่บริสุทธิ์ดี ซึ่งควรที่จะรับประทานที่ทำไว้อย่างเรียบร้อย คือโดยนัย โดยอุบาย โดยเหตุนี้. บทว่า อนนฺธสฺเสว ความว่า ย่อมปรากฏ คือเข้าไปตั้งไว้ แก่เราเหมือนคนตาดีทำไว้.

    ทุกูลบัณฑิตได้ฟังดังนั้น เพื่อจะแสดงว่ามูลผลาผลตนมิได้นำมา แต่บุตรของตนนำมา จึงได้กล่าวสองคาถาว่า
    สามะหนุ่มน้อยรูปร่างสันทัดงดงามน่าดู เกศาของเธอยาวดำ เฟื้อยลงไปปลายงอนช้อนขึ้นข้างบน. เธอนั่นแหละนำผลไม้มา ถือหม้อน้ำจากที่นี่ ไปสู่แม่น้ำนำน้ำมา เห็นจะกลับมาใกล้แล้ว.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นาติพฺรหา ความว่า ไม่สูงไป ไม่เตี้ยไป. บทว่า สุนคฺคเวลฺลิตา ความว่า งอนขึ้นเหมือนปลายมีดเชือดเนื้อสำหรับสับเนื้อ กล่าวคือมีปลายงอนขึ้น. บทว่า กมณฺฑลุ ได้แก่ หม้อ. บทว่า ทูรมาคโต ความว่า เข้าใจว่า บัดนี้พ่อสุวรรณสามจักมาใกล้แล้ว คือจักมาแล้วสู่ที่ใกล้.
     
  6. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    พระราชาได้ทรงสดับดังนั้นแล้ว จึงตรัสว่า

    ข้าพเจ้าได้ฆ่าสามกุมารผู้ปฏิบัติบำรุงท่านเสียแล้ว ผู้เป็นเจ้ากล่าวถึงสามกุมารผู้งดงามน่าดูใด เกศาของสามกุมารนั้นยาวดำ เฟื้อยลงไปปลายงอนช้อนขึ้นเบื้องบน สามกุมารนั้นข้าพเจ้าฆ่าเสียแล้ว นอนอยู่ที่หาดทรายเปรอะเปื้อนด้วยโลหิต.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อวธึ ความว่า ข้าพเจ้ายิงด้วยลูกศรยิงมฤคให้ตายแล้ว. บทว่า ปเวเทถ ได้แก่ กล่าวถึง. บทว่า เสติ ความว่า นอนอยู่บนหาดทรายริมฝั่งมิคสัมมตานที.

    ก็บรรณศาลาของปาริกาดาบสินีอยู่ใกล้ของทุกูลบัณฑิต. นางนั่งอยู่ในบรรณศาลานั้น ได้ฟังพระดำรัสของพระราชา ก็ใคร่จะรู้ประพฤติการณ์นั้น จึงออกจากบรรณศาลาของตน ไปสำนักทุกูลบัณฑิตด้วยสำคัญเชือก ที่สำหรับสาวเดินไปได้กล่าวว่า
    ข้าแต่ทุกูลบัณฑิต ท่านพูดกับใครซึ่งบอกว่า ข้าพเจ้าฆ่าสามกุมารเสียแล้ว ใจของดิฉันย่อมหวั่นไหว เพราะได้ยินว่า สามกุมารถูกฆ่าเสียแล้ว. กิ่งอ่อนแห่งต้นโพธิ์ใบ อันลมพัดให้หวั่นไหว ฉันใด ใจของดิฉันย่อมหวั่นไหวเพราะได้ยินว่า สามกุมารถูกฆ่าเสียแล้ว ฉันนั้น.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วาทินา ความว่า ผู้กล่าวว่า ข้าพเจ้าฆ่าสามกุมารเสียแล้ว. บทว่า ปวาลํ ได้แก่ หน่ออ่อน. บทว่า มาลุเตริตํ ความว่า ถูกลมพัดให้หวั่นไหว.

    ลำดับนั้น ทุกูลบัณฑิต เมื่อจะโอวาทนางปาริกาดาบสินีนั้น จึงกล่าวว่า
    ดูก่อนนางปาริกา ท่านผู้นี้คือพระเจ้ากาสี พระองค์ทรงยิงสามกุมารด้วยลูกศร ที่มิคสัมมตานที ด้วยความโกรธ. เราทั้งสองอย่าปรารถนาบาปต่อพระองค์เลย.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มิคสมฺมเต ความว่า ที่หาดทรายริมฝั่งมิคสัมมตานที. บทว่า โกธสา ความว่า ด้วยความโกรธที่เกิดขึ้น ในเพราะมฤคทั้งหลาย. บทว่า มา ปาปมิจฺฉิมฺหา ความว่า เราทั้งสองอย่าปรารถนาบาปต่อพระองค์เลย.

    ปาริกาดาบสินีกล่าวอีกว่า
    บุตรที่รักอันหาได้ด้วยยาก ผู้ได้เลี้ยงเราทั้งสอง ผู้ตามืดในป่า จะไม่ยังจิตให้โกรธ ในบุคคลผู้ฆ่าบุตรคนเดียวนั้นได้อย่างไร.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ฆาตมฺหิ แปลว่า ในบุคคลผู้ฆ่า.

    ทุกูลบัณฑิตกล่าวว่า
    บุตรที่รักอันหาได้ด้วยยาก ผู้ได้เลี้ยงเราทั้งสอง ผู้ตามืดในป่า บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมสรรเสริญบุคคลผู้ไม่โกรธในบุคคลผู้ฆ่าบุตรคนเดียวนั้น.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อโกธํ ความว่า บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญ คือกล่าวถึงบุคคลผู้ไม่โกรธนั้นว่า ขึ้นชื่อว่าความโกรธ ย่อมทำให้ตกนรก ฉะนั้น. ไม่พึงทำความโกรธนั้น พึงทำความไม่โกรธในบุคคลผู้ฆ่าบุตรเท่านั้น.

    ก็แล ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ดาบสดาบสินีทั้งสองก็ข้อนทรวง ด้วยมือทั้งสอง พรรณนาคุณของพระมหาสัตว์ คร่ำครวญเป็นอันมาก.

    ลำดับนั้น พระเจ้าปิลยักขราช เมื่อจะทรงเล้าโลมเอาใจดาบสทั้งสองนั้น จึงตรัสว่า
    ขอผู้เป็นเจ้าทั้งสองอย่าคร่ำครวญ เพราะข้าพเจ้ากล่าวว่า ข้าพเจ้าฆ่าสามกุมารเสียแล้ว ไปมากเลย. ข้าพเจ้าจักรับการงานเลี้ยงดูผู้เป็นเจ้าทั้งสอง ในป่าใหญ่. ข้าพเจ้าเป็นผู้ฉลาดในธนูศิลป์ปรากฏว่า เป็นผู้แม่นยำนัก. ข้าพเจ้าจักรับการงานเลี้ยงดูผู้เป็นเจ้าทั้งสอง ในป่าใหญ่. ข้าพเจ้าจักฆ่ามฤคและแสวงหามูลผลในป่า รับการงานเลี้ยงดูผู้เป็นเจ้าทั้งสองในป่าใหญ่.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วาทินา ความว่า ท่านทั้งสองอย่ากล่าวคำเป็นต้นว่า บุตรผู้ถึงพร้อมด้วยคุณอย่างนี้ของเรา ถูกท่านผู้กล่าวอยู่กับข้าพเจ้าว่า ฆ่าสามกุมารเสียแล้วดังนี้ ฆ่าแล้ว. บัดนี้ใครจักเลี้ยงดูพวกเรา ดังนี้ คร่ำครวญมากไปเลย. ข้าพเจ้าจักทำการงานแก่ท่านทั้งสอง เลี้ยงดูท่านทั้งสองเหมือนสามกุมาร. ครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว พระราชาได้ปลอบใจท่านทั้งสองนั้นว่า ขอท่านทั้งสองอย่าได้คิดเลย ข้าพเจ้าไม่ต้องการราชสมบัติ ข้าพเจ้าจักเลี้ยงดูท่านทั้งสองตลอดชีวิต.

    ลำดับนั้น ฝ่ายดาบสดาบสินีทั้งสองนั้นสนทนากับพระราชาทูลว่า
    ขอถวายพระพรมหาบพิตร สภาพนั้นไม่สมควร การทรงทำอย่างนั้นไม่ควรในอาตมาทั้งสอง. พระองค์เป็นพระราชาของอาตมาทั้งสอง อาตมาทั้งสองขอถวายบังคมพระยุคลบาทของพระองค์.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ธมฺโม ได้แก่ สภาพหรือเหตุการณ์. บทว่า เนตํ กปฺปติ ความว่า การกระทำการงานของพระองค์นั่น ย่อมไม่ควร คือไม่งาม ไม่สมควรในอาตมาทั้งสอง. บทว่า ปาเท วนฺทาม เต ความว่า ก็ดาบสดาบสินีทั้งสองนั้น ตั้งอยู่ในเพศบรรพชิต ทูลพระราชาดังนี้ เพราะความโศกในบุตรครอบงำ และเพราะไม่มีมานะ.

    พระราชาได้ทรงสดับดังนั้น ทรงยินดีเหลือเกิน ทรงดำริว่า โอ น่าอัศจรรย์ แม้เพียงคำหยาบของฤาษีทั้งสองนี้ ก็ไม่มี ในเราผู้ทำความประทุษร้าย ถึงเพียงนี้ กลับยกย่องเราเสียอีก จึงตรัสอย่างนี้ว่า
    ข้าแต่ท่านผู้เชื้อชาติเนสาท ท่านกล่าวเป็นธรรม ท่านบำเพ็ญความถ่อมตนแล้ว ขอท่านจงเป็นบิดาของข้าพเจ้า. ข้าแต่นางปาริกา ขอท่านจงเป็นมารดาของข้าพเจ้า.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตยา ความว่า เมื่อกล่าวเป็นคนๆ ก็กล่าวอย่างนี้. บทว่า ปิตา เป็นต้น ความว่า ข้าแต่พ่อทุกูลบัณฑิต ตั้งแต่วันนี้ไป ขอท่านจงตั้งอยู่ในฐานะแห่งบิดาของข้าพเจ้า. ข้าแต่แม่ปาริกา แม้ท่านก็ขอจงตั้งอยู่ในฐานะแห่งมารดา ข้าพเจ้าก็จักตั้งอยู่ในฐานะแห่งสามกุมารบุตรของท่าน กระทำกิจทุกอย่างมีล้างเท้าเป็นต้น. ขอท่านทั้งสองจงอย่ากำหนด ข้าพเจ้าว่าเป็นพระราชา จงกำหนดว่าเหมือนสามกุมารเถิด. ดาบสทั้งสองประคองอัญชลีไหว้ เมื่อจะทูลวิงวอนว่า ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระองค์ไม่มีหน้าที่ที่จะทำการงานแก่อาตมาทั้งสอง. แต่ขอพระองค์จงทรงถือปลายไม้เท้าของอาตมาทั้งสอง นำไปแสดงตัวสุวรรณสามเถิด จึงกล่าวสองคาถาว่า
    ข้าแต่พระเจ้ากาสี อาตมาทั้งสองขอนอบน้อม แด่พระองค์ ข้าแต่พระองค์ผู้ยังชาวกาสีให้เจริญ อาตมาทั้งสองนอบน้อมแด่พระองค์ อาตมาทั้งสองประคองอัญชลีแด่พระองค์. ขอพระองค์โปรดพาอาตมาทั้งสอง ไปให้ถึงสามกุมาร. อาตมาทั้งสองจะสัมผัสเท้าทั้งสอง และดวงหน้าอันงดงามน่าดูของเธอ แล้วทรมานตนให้ถึงกาลกิริยา.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยาว สามานุปาปย ความว่า โปรดพาอาตมาทั้งสองไปให้ถึงที่ที่สามกุมารอยู่. บทว่า ภุชทสฺสนํ ความว่า สามกุมารผู้งามน่าดู คือมีรูปงามน่าเลื่อมใส. บทว่า สํสุมฺภมานา ได้แก่ โบย. บทว่า กาลมาคมยามฺหเส ความว่า จักกระทำ คือจักถึงกาลกิริยา.

    เมื่อท่านเหล่านั้นสนทนากันอยู่อย่างนี้ พระอาทิตย์อัสดงคต. ลำดับนั้น พระราชาทรงดำริว่า ถ้าเรานำฤาษีทั้งสองผู้ตามืดไปในสำนักของสุวรรณสาม ในบัดนี้ทีเดียว หทัยของฤาษีทั้งสองจักแตกเพราะเห็นสุวรรณสามนั้น เราก็ชื่อว่านอนอยู่ในนรก. ในกาลที่ท่านทั้งสามทำกาลกิริยา ด้วยประการฉะนี้ เพราะฉะนั้น เราจักไม่ให้ฤาษีทั้งสองนั้นไป ทรงดำริฉะนี้แล้ว จึงตรัสคาถาสี่คาถาว่า
    สามกุมารถูกฆ่านอนอยู่ที่ป่าใด ดุจดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ ตกลงเหนือแผ่นดินแล้ว เกลือกเปื้อนด้วยฝุ่นทราย. ป่านั้นเป็นป่าใหญ่ เกลื่อนกล่นด้วยพาลมฤค ปรากฏเหมือนที่สุดอากาศ ผู้เป็นเจ้าทั้งสองจงอยู่ในอาศรมนี้แหละ.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พฺรหา ได้แก่ สูงยิ่ง. บทว่า อากาสนฺตํ ความว่า ป่านั่นแหละ เห็นกันทั่ว คือรู้กันทั่ว เป็นราวกะว่าที่สุดแห่งอากาศ. อีกอย่างหนึ่ง บทว่า อากาสนฺตํ ความว่า ทำให้เป็นรอยอยู่ คือประกาศอยู่. บทว่า ฉมา ได้แก่ บนแผ่นดิน คือปฐพี. ปาฐะว่า ฉมํ ดังนี้ก็มี ความว่า เหมือนล้มลงบนแผ่นดิน. บทว่า ปริกุณฺฐิโต ความว่า เปรอะเปื้อน คือพัวพัน.
    ลำดับนั้น ฤาษีทั้งสองได้กล่าวคาถาเพื่อจะแสดงว่า ตนไม่กลัวพาลมฤคทั้งหลายว่า
    ถ้าในป่านั้นมีพาลมฤค ตั้งร้อยตั้งพันและตั้งหมื่น อาตมาทั้งสองก็ไม่มีความกลัว ในพาลมฤคทั้งหลายในป่าไหนๆ เลย.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โกจิ ความว่า ในป่านี้แม้เป็นประเทศแห่งหนึ่งในที่ไหนๆ อาตมาทั้งสองก็ไม่มีความกลัวในพาลมฤคทั้งหลาย.

    ลำดับนั้น พระราชาเมื่อไม่อาจห้ามฤาษีทั้งสองนั้น ก็ทรงจูงมือนำไปในสำนักสุวรรณสามนั้น.

    พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศความข้อนั้น จึงตรัสว่า
    ในกาลนั้น พระเจ้ากาสีทรงพาฤาษีทั้งสอง ผู้ตามืดไปในป่าใหญ่ สุวรรณสามถูกฆ่าอยู่ในที่ใด ก็ทรงจูงมือฤาษีทั้งสองไปในที่นั้น.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตโต แปลว่า ในกาลนั้น. บทว่า อนฺธานํ ได้แก่ ฤาษีทั้งสองผู้ตามืด. บทว่า อหุ แปลว่า ได้เป็นแล้ว. บทว่า ยตฺถ ความว่า พระเจ้ากาสี ทรงนำฤาษีทั้งสองไปในที่ที่สุวรรณสามนอนอยู่.

    ก็แลครั้นทรงนำไปแล้ว ประทับยืนในที่ใกล้สุวรรณสามแล้วตรัสว่า นี้บุตรของผู้เป็นเจ้าทั้งสอง. ลำดับนั้น ฤาษีผู้เป็นบิดาของพระโพธิสัตว์ ช้อนเศียรขึ้นวางไว้บนตัก. ฤาษิณีผู้เป็นมารดาก็ยกเท้าขึ้นวางไว้บนตักของตนนั่งบ่นรำพันอยู่.
    พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศความข้อนั้น ตรัสว่า
    ดาบสดาบสินีทั้งสองเห็นสามกุมาร ผู้เป็นบุตรนอนเกลือกเปื้อนฝุ่นทราย ถูกทิ้งไว้ในป่าใหญ่ ดุจดวงจันทร์หรือดวงอาทิตย์ตกเหนือแผ่นดิน ก็ปริเทวนาการน่าสงสาร ประคองแขนทั้งสอง ร้องไห้ว่า สภาพไม่ยุติธรรมมาเป็นไปในโลกนี้.
    พ่อสามผู้งามน่าดู พ่อมาหลับเอาจริงๆ เคลิบเคลิ้มเอามากมายดั่งคนดื่มสุราเข้ม ขัดเคืองใครเอาใหญ่ ถือตัวมิใช่น้อย มีใจพิเศษ. ในเมื่อกาลล่วงไปอย่างนี้ในวันนี้ พ่อไม่พูดอะไรๆ บ้างเลย
    พ่อสามนี้เป็นผู้ปฏิบัติบำรุงเราทั้งสองผู้ตามืด มาทำกาลกิริยาเสียแล้ว บัดนี้ใครเล่าจักชำระชฎาอันหม่นหมองเปื้อนฝุ่นละออง. ใครเล่าจักจับกราดกวาดอาศรมของเราทั้งสอง ใครเล่าจักจัดน้ำเย็นและน้ำร้อนให้อาบ. ใครเล่าจักให้เราทั้งสองได้บริโภคมูลผลาหารในป่า. ลูกสามะนี้เป็นผู้ปฏิบัติบำรุงเราทั้งสองผู้ตามืด มาทำกาลกิริยาเสียแล้ว.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อปวิทฺธํ ความว่า ทิ้งไว้อย่างไร้ประโยชน์. บทว่า อธมฺโม กิร โภ อิติ ความว่า ได้ยินว่า ความอยุติธรรมกำลังเป็นไปในโลกนี้ในวันนี้. บทว่า มตฺโต ความว่า มัวเมา คือถึงความประมาท ดุจดื่มสุราเข้ม. บทว่า ทิตฺโต แปลว่า วางปึ่ง. บทว่า วิมโน ความว่า เป็นนักเลง ฤาษีทั้งสองพูดบ่นเพ้อทั่วๆ ไป. บทว่า ชฏํ ได้แก่ ชฎาของเราทั้งสองที่มัวหมอง. บทว่า ปํสุคตํ ความว่า จักอากูลมลทินจับในเวลาใด. บทว่า โกทานิ ความว่า บัดนี้ ใครเล่าจักจัดตั้งชฎานั้นให้ตรง คือทำความสะอาด แล้วทำให้ตรงในเวลานั้น.
     
  7. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    ลำดับนั้น ฤาษิณีผู้มารดาแห่งพระโพธิสัตว์ เมื่อบ่นเพ้อ เป็นหนักหนา ก็เอามืออังที่อกพระโพธิสัตว์ พิจารณาความอบอุ่นคิดว่า ความอบอุ่นของบุตร เรายังเป็นไปอยู่ บุตรเราจักสลบด้วยกำลังยาพิษ เราจักกระทำสัจจกิริยาแก่บุตรเรา เพื่อถอนพิษออกเสีย คิดฉะนี้แล้วได้กระทำสัจจกิริยา.

    พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศความข้อนั้น จึงตรัสว่า
    มารดาผู้ระทมจิตด้วยความโศกถึงบุตร ได้เห็นสามะ ผู้เป็นบุตรนอนเกลือกเปื้อนด้วยฝุ่นทราย ได้กล่าวคำสัจว่า ลูกสามะนี้ได้เป็นผู้ประพฤติธรรมเป็นปกติ ได้เป็นผู้ประพฤติดังพรหมเป็นปกติ ได้เป็นผู้กล่าวคำจริงมาแต่ก่อน ได้เป็นผู้เลี้ยงบิดามารดา ได้เป็นผู้ประพฤติยำเกรงต่อท่านผู้เจริญในสกุล เป็นผู้เป็นที่รักยิ่งกว่าชีวิตของเรา. โดยความจริงใดๆ ด้วยการกล่าวความจริงนั้นๆ ขอพิษของลูกสามะจงหายไป. บุญอย่างใดอย่างหนึ่งที่ลูกสามะกระทำแล้วแก่เราและแก่บิดาของเธอ มีอยู่. ด้วยอานุภาพกุศลบุญนั้นทั้งหมด ขอพิษของลูกสามะจงหายไป.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เยน สจฺเจน ได้แก่ ด้วยความจริงใด คือด้วยสภาวะใด. บทว่า ธมฺมจารี ได้แก่ ผู้ประพฤติธรรมคือกุศลกรรมบถสิบ. บทว่า สจฺจวาที ความว่า ไม่กล่าวมุสาวาท แม้ด้วยการหัวเราะ. บทว่า มาตาเปติภโร ความว่า เป็นผู้ไม่เกียจคร้าน เลี้ยงดูบิดามารดาตลอดคืนวัน. บทว่า กุเล เชฏฺฐาปจฺจายิโก ความว่า เป็นผู้กระทำสักการะแก่บิดาเป็นต้นผู้เจริญที่สุด.

    เมื่อมารดาทำสัจจกิริยาด้วยเจ็ดคาถาอย่างนี้ สามกุมารก็พลิกตัวกลับนอนต่อไป. ลำดับนั้น บิดาคิดว่า ลูกของเรายังมีชีวิตอยู่ เราจักทำสัจจกิริยาบ้าง จึงได้ทำสัจจกิริยาอย่างนั้น.

    พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศความข้อนั้น จึงตรัสว่า
    บิดาผู้ระทมจิตด้วยความโศกถึงบุตร ได้เห็นสามะ ผู้เป็นบุตรนอนเกลือกเปื้อนด้วยฝุ่นทราย ได้กล่าวคำสัจว่า ลูกสามะนี้ได้เป็นผู้ประพฤติธรรมเป็นปกติ ได้เป็นผู้ประพฤติดังพรหมเป็นปกติ ได้เป็นผู้กล่าวคำจริงมาแต่ก่อน ได้เป็นผู้เลี้ยงบิดามารดา ได้เป็นผู้ประพฤติยำเกรงต่อท่านผู้เจริญในสกุล เป็นผู้เป็นที่รักยิ่งกว่าชีวิตของเรา. โดยความจริงใดๆ ด้วยการกล่าวความจริงนั้นๆ ขอพิษของลูกสามะจงหายไป. บุญอย่างใดอย่างหนึ่งที่ลูกสามะกระทำแล้วแก่เราและแก่มารดาของเธอ มีอยู่. ด้วยอานุภาพกุศลบุญนั้นทั้งหมด ขอพิษของลูกสามะจงหายไป.

    เมื่อบิดาทำสัจจกิริยาอยู่อย่างนี้ พระมหาสัตว์พลิกตัวอีกข้างหนึ่งนอนต่อไป. ลำดับนั้น เทพธิดาผู้มีนามว่า พสุนธรี ได้ทำสัจจกิริยาลำดับที่สามแก่พระมหาสัตว์นั้น.

    พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศความข้อนั้น จึงตรัสว่า
    นางพสุนธรีเทพธิดา อันตรธานไปจากภูเขาคันธมาทน์ มากล่าวสัจจวาจา ด้วยความเอ็นดูสามกุมารว่า เราอยู่ที่ภูเขาคันธมาทน์ตลอดราตรีนาน. ใครๆ อื่นซึ่งเป็นที่รักของเรากว่าสามกุมาร ไม่มี. ของหอมล้วนแล้วด้วยไม้หอมทั้งหมด ณ คันธมาทน์บรรพตมีอยู่. ด้วยสัจจวาจานี้ ขอพิษของสามกุมารจงหายไป. เมื่อฤาษีทั้งสองบ่นเพ้อรำพันเป็นอันมากน่าสงสาร สามกุมารผู้หนุ่มงดงามน่าทัศนา ก็ลุกขึ้นเร็วพลัน.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปพฺพตฺยาหํ ตัดบทเป็น ปพฺพเต อหํ ความว่า เราอยู่ ณ บรรพต. บทว่า วนมยา ได้แก่ ล้วนแล้วไปด้วยต้นไม้มีกลิ่นหอม ที่ภูเขานั้นไม่มีต้นไม้อะไรๆ ที่ไม่มีกลิ่นหอมเลย. บทว่า เตสํ ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อฤาษีทั้งสองนั้นบ่นเพ้อรำพันกันอยู่นั่นแล สามกุมารได้ลุกขึ้นเร็วพลัน. ในกาลที่เทพธิดาทำสัจจกิริยาจบลง ความเจ็บป่วยของสามกุมารนั้นได้คลายหายไป เหมือนน้ำกลิ้งจากใบบัว. ไม่ปรากฏแผลที่ถูกยิงว่า ถูกยิงตรงนี้ ถูกยิง ณ ที่นี้.

    อัศจรรย์ทั้งปวงคือ พระมหาสัตว์หายโรค ฤาษีผู้เป็นบิดามารดาได้ดวงตากลับเห็นเป็นปกติ แสงอรุณขึ้น และท่านทั้งสี่เหล่านั้นปรากฏที่อาศรม ได้มีขึ้นในขณะเดียวกันทีเดียว. บิดามารดาทั้งสองได้ดวงตาดีเป็นปกติแล้ว ยินดีอย่างเหลือเกินว่า ลูกสามะหายโรค. ลำดับนั้น สามบัณฑิตได้กล่าวกะท่านเหล่านั้นด้วยคาถานี้ว่า
    ข้าพเจ้ามีนามว่าสามะ ขอความเจริญจงมีแก่ท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้าลุกขึ้นได้แล้วโดยสวัสดี ขอท่านทั้งหลายอย่าคร่ำครวญนักเลย. จงพูดกะข้าพเจ้าด้วยเสียงอันไพเราะเถิด.

    ลำดับนั้น พระมหาสัตว์แลเห็นพระราชา เมื่อจะทูลปฏิสันถาร จึงกล่าวคาถาเหล่านี้ว่า
    ข้าแต่มหาบพิตร พระองค์เสด็จมาดีแล้ว. อนึ่ง พระองค์เสด็จมาแต่ไกลก็เหมือนใกล้. พระองค์ผู้มีอิสระเสด็จมาถึงแล้ว ขอจงทรงทราบสิ่งที่มีอยู่ในที่นี้. ข้าแต่มหาบพิตร เชิญเสวยผลมะพลับ ผลมะหาด ผลมะซาง และผลหมากเม่า อันเป็นผลไม้เล็กน้อย ขอได้โปรดเลือกเสวยผลที่ดีๆ เถิด. ข้าแต่มหาบพิตร ขอจงทรงดื่มน้ำซึ่งเป็นน้ำเย็น นำมาแต่มิคสัมมตานที ซึ่งไหลจากซอกเขา ถ้าทรงพระประสงค์.

    ฝ่ายพระราชาทอดพระเนตรเห็นอัศจรรย์นั้น จึงตรัสว่า
    ข้าพเจ้าหลงเอามาก หลงเอาจริงๆ มืดไปทั่วทิศ ข้าพเจ้าได้เห็นสามบัณฑิตนั้นทำกาลกิริยาแล้ว ทำไมท่านเป็นได้อีกเล่าหนอ.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เปตํ ความว่า ได้เห็นสามบัณฑิตทำกาลกิริยาแล้ว. บทว่า โก นุ ตฺวํ ความว่า พระราชาตรัสถามว่า ท่านกลับเป็นขึ้นมาได้อย่างไรหนอ.

    ฝ่ายสามบัณฑิตดำริว่า พระราชาทรงกำหนดเราว่าตายแล้ว เราจักประกาศความที่เรายังไม่ตายแก่พระองค์ จึงทูลว่า
    ข้าแต่มหาราชเจ้า โลกย่อมสำคัญซึ่งบุคคลผู้ยังมีชีวิตอยู่ เสวยเวทนาอย่างหนัก มีความดำริในใจ เข้าไปใกล้แล้ว ยังเป็นอยู่แท้ๆ ว่าตายแล้ว. ข้าแต่มหาราชเจ้า โลกย่อมสำคัญซึ่งบุคคลผู้ยังมีชีวิตอยู่ เสวยเวทนาอย่างหนัก ถึงความดับสนิทระงับแล้วนั้น ยังเป็นอยู่แท้ๆ ว่าตายแล้ว.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อปิ ชีวํ ได้แก่ ยังเป็นอยู่แท้ๆ. บทว่า อุปนีตมนสงฺกปฺปํ ได้แก่ มีจิตวาระหยั่งลงในภวังค์. บทว่า ชีวนฺตํ แปลว่า ยังมีชีวิตอยู่จริงๆ. บทว่า มญฺญเต ความว่า โลกนี้ย่อมสำคัญว่า ผู้นี้ตายแล้ว. บทว่า นิโรธคตํ ความว่า สามบัณฑิตกล่าวว่า โลกย่อมสำคัญซึ่งบุคคลผู้ยังมีชีวิตอยู่ มีอัสสาสะปัสสาสะ ถึงความดับสนิท ระงับแล้วยังเป็นอยู่แท้ๆ เช่นข้าพระองค์ ว่าตายแล้วอย่างนี้.

    ก็แล ครั้นทูลอย่างนี้แล้ว พระมหาสัตว์ประสงค์จะประกอบ พระราชาไว้ในประโยชน์ เมื่อแสดงธรรม จึงได้กล่าวคาถาอีกสองคาถาว่า
    บุคคลใดเลี้ยงดูบิดามารดาโดยธรรม เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมแก้ไขคุ้มครองบุคคลผู้เลี้ยงดูบิดามารดานั้น. บุคคลใดเลี้ยงดูบิดามารดาโดยธรรม นักปราชญ์ทั้งหลายย่อมสรรเสริญบุคคลผู้นั้นในโลกนี้. บุคคลนั้นละจากโลกนี้ไปแล้ว ย่อมบันเทิงอยู่ในสวรรค์.

    พระราชาได้สดับคำนั้นแล้ว ทรงดำริว่า น่าอัศจรรย์หนอ แม้เทวดาทั้งหลาย ก็เยียวยาโรคที่เกิดขึ้นแก่บุคคลผู้เลี้ยงดูบิดามารดา. สามบัณฑิตนี้งดงามเหลือเกิน ทรงดำริฉะนี้แล้ว ประคองอัญชลีตรัสว่า
    ข้าพเจ้านี้หลงเอามากจริงๆ มืดไปทั่วทิศ. ท่านสามบัณฑิต ข้าพเจ้าขอถึงท่านเป็นสรณะ และขอท่านจงเป็นสรณะของข้าพเจ้า.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภิยฺโย ความว่า เพราะข้าพเจ้าได้ทำผิด ในผู้ที่มีศีลบริสุทธิ์สมบูรณ์ด้วยคุณธรรมเช่นท่าน ฉะนั้น. ข้าพเจ้าจึงหลงเอาจริงๆ เหลือเกิน. บทว่า ตฺวญฺจ เม สรณํ ภว ความว่า ข้าพเจ้าขอถึงท่านเป็นสรณะ และขอท่านจงเป็นสรณะ คือจงเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้า ผู้ขอถึงสรณะ คือขอท่านจงทำข้าพเจ้าให้ไปเทวโลก.

    ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ทูลพระราชาว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ถ้าพระองค์มีพระประสงค์เสด็จสู่เทวโลก มีพระประสงค์บริโภคทิพยสมบัติใหญ่ จงทรงประพฤติในทศพิธราชธรรมจรรยาเหล่านี้เถิด เมื่อจะถวายโอวาทแด่พระราชา จึงได้กล่าวคาถาอัน ว่าด้วยการประพฤติทศพิธราชธรรมว่า
    ข้าแต่ขัตติยมหาราช ขอพระองค์ทรงประพฤธรรมในพระชนกพระชนนี ในพระโอรสและพระมเหสี ในมิตรและอมาตย์ ในพาหนะและพลนิกาย ในชาวบ้านและชาวนิคม ในชาวแว่นแคว้นและชาวชนบท ในสมณะและพราหมณ์ ในฝูงมฤคและฝูงปักษีเถิด. ครั้นพระองค์ทรงประพฤติธรรมนั้นๆ ในโลกนี้แล้ว จักเสด็จสู่สวรรค์.
    ข้าแต่มหาราชเจ้า ขอพระองค์ทรงประพฤติธรรมเถิด ธรรมที่พระองค์ทรงประพฤติแล้ว ย่อมนำความสุขมาให้. ครั้นพระองค์ทรงประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว จักเสด็จสู่สวรรค์. ข้าแต่มหาราชเจ้า ขอพระองค์ทรงประพฤติธรรมเถิด.
    พระอินทร์ เทพเจ้า พร้อมทั้งพระพรหม ถึงแล้วซึ่งทิพยสถาน ด้วยธรรมที่ประพฤติดีแล้ว. ข้าแต่พระราชา ขอพระองค์อย่าทรงประมาทธรรม.

    ก็เนื้อความของคาถาเหล่านี้ มีกล่าวไว้โดยพิสดารแล้วใน สกุณชาดก นั้นแล.
    พระมหาสัตว์แสดงธรรมถวายพระราชาอย่างนี้แล้ว เมื่อจะถวายโอวาทยิ่งขึ้น ได้ถวายเบญจศีล. พระราชาทรงรับโอวาทของพระมหาสัตว์นั้นด้วยพระเศียร ทรงไหว้พระโพธิสัตว์ ขอขมาโทษพระโพธิสัตว์แล้วเสด็จกลับกรุงพาราณสี ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลมีทานเป็นต้น ทรงรักษาเบญจศีลครองราชสมบัติโดยธรรมโดยเสมอ. ในที่สุดแห่งพระชนม์ ได้มีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า. ฝ่ายพระโพธิสัตว์ปฏิบัติบำรุงบิดามารดา ยังอภิญญาและสมาบัติให้บังเกิดพร้อมด้วยบิดามารดา มิได้เสื่อมจากฌาน. ในที่สุดแห่งอายุได้เข้าถึงพรหมโลกพร้อมด้วยบิดามารดานั้นแล.

    พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ชื่อว่าการเลี้ยงดูบิดามารดาเป็นวงศ์ของบัณฑิตทั้งหลาย ตรัสฉะนี้แล้ว ทรงประกาศอริยสัจสี่ ประชุมชาดก. ในเวลาเทศนาอริยสัจสี่จบลง ภิกษุนั้นบรรลุโสดาปัตติผล.
    พระราชาปิลยักขราช ในกาลนั้น เป็น ภิกษุชื่ออานนท์ ในกาลนี้.
    พสุนธรีเทพธิดา เป็น ภิกษุณีชื่ออุบลวรรณา.
    ท้าวสักกเทวราช เป็น ภิกษุชื่ออนุรุทธะ.
    ทุกูลบัณฑิตผู้บิดา เป็น ภิกษุชื่อมหากัสสปะ.
    นางปาริกาผู้มารดาเป็น ภิกษุณีชื่อภัททกาปิลานี.
    ก็สุวรรณสามบัณฑิต คือ เราผู้สัมมาสัมพุทธะ นี้เองแล.
     
  8. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    [​IMG]


    พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๘ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๐
    ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๒

    มหานิบาตชาดก

    อรรถกถา มโหสถชาดก
    พระมโหสถบัณฑิตทรงบำเพ็ญปัญญาบารมี


    พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภพระปัญญาบารมีของพระองค์ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า ปญฺจาโล สพฺพเสนาย ดังนี้เป็นต้น.
    ความย่อว่า วันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายประชุมกันในธรรมสภา เมื่อจะสรรเสริญพระปัญญาบารมีของพระตถาคต ได้นั่งสรรเสริญพระคุณของพระศาสดาว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย พระตถาคตเป็นผู้มีพระปัญญาใหญ่ มีพระปัญญากว้างขวาง มีพระปัญญาร่าเริง มีพระปัญญาลึกซึ่ง มีพระปัญญาดุจแผ่นดิน มีพระปัญญาแหลม มีพระปัญญาว่องไว มีพระปัญญาแทงตลอด ย่ำยีเสียซึ่งวาทะแห่งคนอื่น ทรงทรมานเหล่าพราหมณ์มีกูฏทันตพราหมณ์เป็นต้น เหล่าปริพาชกมีสัพภิยปริพาชกเป็นต้น เหล่ายักษ์มีอาฬวกยักษ์เป็นต้น เหล่าเทวดามีท้าวสักกเทวราชเป็นต้น เหล่าพรหมมีพกพรหมเป็นต้น และเหล่าโจรมีโจรองคุลิมาลเป็นต้น ด้วยพระปัญญานุภาพของพระองค์ ทรงทำให้สิ้นพยศ พระองค์ทรงทรมานชนเป็นอันมาก ประทานบรรพชาให้ตั้งอยู่ในมรรคผล. พระศาสดามีพระปัญญาใหญ่ ด้วยประการฉะนี้.
    พระศาสดาเสด็จมา ตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งสนทนาถึงเรื่องอะไร และเรื่องอะไรที่พวกเธอสนทนาค้างในระหว่าง.
    เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในกาลนี้เท่านั้นที่ตถาคตมีปัญญา แม้ในอดีตกาล เมื่อญาณยังไม่แก่กล้า ยังบำเพ็ญบุรพจริยา เพื่อประโยชน์แก่พระโพธิญาณอยู่ ก็เป็นผู้มีปัญญาเหมือนกัน. ตรัสฉะนี้แล้วทรงดุษณีภาพ ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลวิงวอนให้ทรงประกาศบุรพจริยา จึงทรงนำอดีตนิทานมาแสดง ดังต่อไปนี้.
    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอดีตกาล มีพระราชาพระนามว่า วิเทหะ เสวยราชสมบัติในกรุงมิถิลา แคว้นวิเทหะ มีบัณฑิต ๔ คน ชื่อเสนกะ ๑ ปุกกุสะ ๑ กามินทะ ๑ เทวินทะ ๑ เป็นผู้ถวายอนุศาสนอรรถธรรมแด่พระเจ้าวิเทหราชนั้น.
    กาลนั้น พระเจ้าวิเทหราชทรงพระสุบินในปัจจุสสมัย ในวันพระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิว่า ที่มุมพระลานหลวงทั้ง ๔ มุม มีกองเพลิง ๔ กองประมาณเท่ากำแพงใหญ่ลุกโพลง. ก็ในท่ามกลางกองเพลิงทั้ง ๔ นั้นมีกองเพลิงกอง ๑ ประมาณเท่าหิงห้อย ตั้งขึ้นลุกล่วงเลยกองเพลิงทั้ง ๔. ในขณะนั้นเอง ตั้งขึ้นจดประมาณอกนิฏฐพรหมโลกสว่างทั่วจักรวาล. สิ่งที่ตกในภาคพื้น แม้สักเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดก็ปรากฏ. โลกทั้งเทวดาทั้งมารทั้งพรหม มาบูชากองไฟนั้น ด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น. มหาชนเที่ยวอยู่ในระหว่างเปลวเพลิง ก็มิได้ร้อนแม้สักว่าขุมขน. พระราชาทรงเห็นพระสุบินนี้แล้ว ทรงหวาดสะดุ้ง เสด็จลุกขึ้นประทับนั่ง. ทรงจินตนาการอยู่จนอรุณขึ้นว่า เหตุการณ์อะไรหนอจะพึงมีแก่เรา. บัณฑิตทั้ง ๔ มาเฝ้าแต่เช้าทูลถามถึงสุขไสยาว่า ข้าแต่สมมติเทพ พระองค์บรรทมเป็นสุขหรือ. พระราชาตรัสตอบว่า ท่านอาจารย์ ความสุขจะมีแก่เราแต่ไหน เราได้ฝันเห็นอย่างนี้. ลำดับนั้น เสนกบัณฑิตทูลว่า ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์อย่าได้ตกพระหฤทัย พระสุบินนั้นเป็นมงคล ความเจริญจักมีแด่พระองค์. เมื่อมีพระราชดำรัสถามว่า เพราะเหตุไร จึงทูลว่า ข้าแต่มหาราช บัณฑิตที่ ๕ อีกคนหนึ่งจักเกิดขึ้น ครอบงำพวกข้าพระองค์ ซึ่งเป็นบัณฑิตทั้ง ๔ ทำให้หมดรัศมี. พวกข้าพระองค์ทั้ง ๔ คน เหมือนกองเพลิง ๔ กอง. บัณฑิตที่ ๕ จักเกิดขึ้น เหมือนกองเพลิงที่เกิดขึ้นในท่ามกลาง. ก็บัณฑิตนั้นหาผู้เสมอ ย่อมไม่มีในโลกทั้งเทวโลก. พระเจ้าวิเทหราชตรัสถามว่า ก็บัดนี้ บัณฑิตนั้นอยู่ที่ไหน. เสนกบัณฑิตทูลพยากรณ์ราวกะเห็นด้วยทิพยจักษุ เพราะกำลังแห่งการศึกษาของตนว่า วันนี้ บัณฑิตนั้นจักปฏิสนธิ หรือจักคลอดจากครรภ์มารดา. พระราชาทรงระลึกถึงคำแห่งเสนกบัณฑิตนั้น จำเดิมแต่นั้นมา.
    ก็บ้านทั้ง ๔ คือ บ้านชื่อทักขิณยวมัชฌคาม ๑. ปัจฉิมยวมัชฌคาม ๑. อุตตรยวมัชฌคาม ๑. ปาจีนยวมัชฌคาม ๑. มีอยู่ที่ประตูทั้ง ๔ แห่งกรุงมิถิลา. ในบ้านทั้ง ๔ นั้น เศรษฐีชื่อ สิริวัฒกะ อยู่ในบ้านชื่อปาจีนยวมัชฌคาม ภรรยาของเศรษฐีนั้นชื่อ สุมนาเทวี. วันนั้น พระมหาสัตว์จุติจากดาวดึงส์พิภพ ถือปฏิสนธิในครรภ์แห่งนางสุมนาเทวี. ในเวลาที่พระราชาทรงพระสุบิน เทพบุตรอีกพันหนึ่งจุติจากดาวดึงส์พิภพ ถือปฏิสนธิในตระกูลแห่งเศรษฐีใหญ่น้อยในบ้านนั้นนั่นเอง. ฝ่ายนางสุมนาเทวีคลอดบุตรมีพรรณดุจทองคำ โดยกาลล่วงมาได้ ๑๐ เดือน.
    ขณะนั้น ท้าวสักกเทวราชทอดพระเนตรดูมนุษยโลก ทรงทราบว่า พระมหาสัตว์คลอดจากครรภ์มารดา. ทรงคิดว่า ควรเราจะทำพระพุทธางกูรนี้ให้ปรากฏในโลกทั้งเทวโลก จึงเสด็จมาด้วยอทิสมานกาย ไม่มีใครเห็นพระองค์. ในเวลาที่พระมหาสัตว์คลอดจากครรภ์มารดา วางแท่งโอสถแท่งหนึ่งที่หัตถ์แห่งพระมหาสัตว์นั้น แล้วเสด็จกลับไปยังทิพยพิมานแห่งตนทีเดียว. พระมหาสัตว์รับแท่งโอสถนั้นกำไว้. ก็เมื่อพระมหาสัตว์คลอดจากครรภ์นั้น ความทุกข์มิได้มีแก่มารดา แม้สักหน่อยหนึ่ง. คลอดง่ายคล้ายน้ำออกจากธมกรก ฉะนั้น. นางสุมนาเทวีเห็นแท่งโอสถในมือของบุตรนั้น. จึงถามว่า พ่อได้อะไรมา. บุตรนั้นตอบมารดาว่า โอสถจ๊ะแม่. แล้ววางทิพยโอสถในมือมารดา. กล่าวว่า ข้าแต่แม่ แม่จงให้โอสถนี้แก่เหล่าคนเจ็บป่วย ด้วยความเจ็บป่วยอย่างใดอย่างหนึ่ง.
    นางสุมนาเทวีมีความร่าเริงยินดีเป็นอย่างยิ่ง จึงบอกแก่สิริวัฒกเศรษฐีผู้สามี ก็เศรษฐีนั้นป่วยเป็นโรคปวดศีรษะมา ๗ ปี มีความยินดีร่าเริง คิดว่า กุมารนี้เมื่อเกิดแต่ครรภ์มารดา ก็ถือโอสถมา. ทั้งพูดกับมารดาได้ในขณะที่เกิดนั่นเอง. โอสถที่ผู้มีบุญเห็นปานนี้ให้ จักมีอานุภาพมาก. คิดฉะนี้แล้ว จึงถือโอสถนั้นฝนที่หินบด แล้วเอาโอสถหน่อยหนึ่งทาที่หน้าผาก. โรคปวดศีรษะที่เป็นมา ๗ ปีก็หายไป ดุจน้ำหายไปจากใบบัว ฉะนั้น. ท่านเศรษฐีนั้นมีความดีใจว่า โอสถมีอานุภาพมาก.
    เรื่องพระมหาสัตว์ถือโอสถมา ก็ปรากฏไปในที่ทั้งปวง. บรรดาผู้เจ็บป่วยทั้งปวงนั้น พากันมาบ้านท่านเศรษฐีขอยา. ฝ่ายท่านเศรษฐีก็ถือเอาโอสถหน่อยหนึ่ง ฝนที่หินบด ละลายน้ำให้แก่คนทั้งปวง เพียงเอาทิพยโอสถทาสรีระเท่านั้น ความเจ็บป่วยทั้งปวงก็สงบ. มนุษย์ทั้งหลายได้ความสุข แล้วก็สรรเสริญว่า โอสถในเรือนท่านสิริวัฒกเศรษฐีมีอานุภาพมาก แล้วหลีกไป.
    ในวันตั้งชื่อพระมหาสัตว์ ท่านมหาเศรษฐีคิดว่า เราไม่ต้องการชื่อ บรรพบุรุษมีปู่เป็นต้น มาเป็นชื่อบุตรของเรา. บุตรของเราจงชื่อโอสถ เพราะเมื่อเขาเกิดถือโอสถมาด้วย. แต่นั้นมา จึงตั้งชื่อพระมหาสัตว์นั้นว่า มโหสถกุมาร เพราะอาศัยคำเกิดขึ้นว่า โอสถนี้มีคุณมาก โอสถนี้มีคุณมาก ด้วยประการฉะนี้. ลำดับนั้น ท่านเศรษฐีได้มีความคิดว่า บุตรของเรามีบุญมาก จักไม่เกิดคนเดียวเท่านั้น. ทารกทั้งหลายที่เกิดพร้อมกับบุตรของเรานี้จะพึงมี จึงให้ตรวจตราดู ก็ได้ข่าวพบทารกเกิดวันเดียวกัน ๑ พันคน จึงให้เครื่องประดับแก่กุมารทั้งหมด และให้นางนม ๑ พันคน ให้ทำมงคลแก่ทารกเหล่านั้น พร้อมกับพระโพธิสัตว์ทีเดียว. ด้วยคิดว่า ทารกเหล่านี้จักเป็น ผู้ปฏิบัติบำรุงบุตรของเรา. นางนมทั้งหลายตกแต่งทารก แล้วนำมาบำเรอพระมหาสัตว์. พระโพธิสัตว์เล่นอยู่ด้วยทารกเหล่านั้น เจริญวัย. เมื่อมีอายุได้ ๗ ขวบ มีรูปงามราวกะรูปเปรียบทองคำ. เมื่อพระโพธิสัตว์เล่นอยู่กับทารกเหล่านั้น ในท่ามกลางบ้าน. เมื่อช้างเป็นต้นมา สนามที่เล่นก็เสียหาย. ทารกทั้งหลายย่อมลำบาก ในเวลาเมื่อถูกลมและแดด. วันหนึ่ง เมื่อเขาเหล่านั้นกำลังเล่นกันอยู่ มหาเมฆตั้งขึ้น. พระมหาสัตว์ผู้มีกำลังดุจช้างสาร เห็นเมฆตั้งขึ้นก็วิ่งเข้าสู่ศาลาหลังหนึ่ง. พวกทารก นอกนี้วิ่งตามไปทีหลังพระมหาสัตว์ เหยียบเท้าของกันและกัน พลาดล้มถึงเข่าแตกเป็นต้น. พระโพธิสัตว์จึงคิดว่า ควรทำศาลาเป็นที่เล่นในสถานที่นี้ เราทั้งหลายจักไม่ลำบากอย่างนี้. จึงแจ้งแก่ทารกเหล่านั้นว่า พวกเราจักลำบากด้วยลม ฝน และแดด พวกเราจักสร้างศาลาหลังหนึ่งในที่นี้ ให้พอเป็นที่ยืน นั่ง และนอนได้. ท่านทั้งหลายจงนำกหาปณะมาคนละหนึ่งกหาปณะ. ทารกเหล่านั้นก็กระทำตามนั้น.
    พระมหาสัตว์ให้เรียกนายช่างใหญ่มากล่าวว่า ข้าแต่พ่อ ท่านจงสร้างศาลาในที่นี้ แล้วได้ให้กหาปณะพันหนึ่งแก่เขา. นายช่างใหญ่รับคำรับกหาปณะพันหนึ่งแล้ว ปราบพื้นที่ให้เสมอ ขุดหลักตอออก แล้วขึงเชือกกะที่. พระมหาสัตว์เห็นวิธีขึงเชือกของนายช่าง. เมื่อจะบอกจึงกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ท่านอย่าขึงเชือกอย่างนี้ จงขึงให้ดี. นายช่างกล่าวว่า นาย ข้าพเจ้าขึงตามเหมาะสมแก่ศิลปะของตน. อย่างอื่นนอกจากนี้ ข้าพเจ้าไม่รู้. พระมหาสัตว์กล่าวว่า แม้เพียงเท่านี้ก็ไม่รู้ ท่านจักรับทรัพย์ของพวกเราทำศาลาได้อย่างไร. จงนำเชือกมา เราจักขึงให้ท่าน. ให้นำเชือกมาแล้วก็ขึงเอง เชือกที่พระมหาสัตว์ขึง ได้เป็นประหนึ่งพระวิสสุกรรมเทพบุตรขึง. แต่นั้น พระมหาสัตว์ได้กล่าวกะนายช่างว่า ท่านสามารถขึงเชือกได้อย่างนี้ไหม ไม่สามารถนาย. ถ้าเช่นนั้น ท่านสามารถทำตามความเห็นของเราได้ไหม. สามารถนาย. พระมหาสัตว์จัดปันที่ศาลาให้เป็นส่วนๆ คือ ห้องสำหรับหญิงอนาถาคลอดบุตรห้องหนึ่ง. ห้องสำหรับสมณพราหมณ์ ผู้อาคันตุกะมาพักห้องหนึ่ง. ห้องสำหรับคฤหัสถ์ ผู้อาคันตุกะมาพักห้องหนึ่ง. ห้องสำหรับเก็บสินค้าของพวกพ่อค้า ผู้อาคันตุกะมาพักห้องหนึ่ง. ทำห้องเหล่านั้นทั้งหมด ให้มีประตูทางหน้ามุข ให้ทำสนามเล่น ที่วินิจฉัย แม้โรงธรรมอย่างนั้นๆ. เมื่อศาลาแล้วเสร็จโดยวันเล็กน้อย ให้เรียกช่างเขียน มาเขียนให้น่ารื่นรมย์ ให้มีจิตรกรรมกว้างขวางโดยตนสั่งเอง. ศาลานั้นมีส่วนเปรียบด้วยเทวสภาชื่อ สุธรรมา. แต่นั้น พระมหาสัตว์ดำริว่าเพียงเท่านี้ ศาลายังหางามไม่. ควรสร้างสระโบกขรณีด้วยถึงจะงาม. จึงให้ขุดสระโบกขรณี ให้เรียกช่างอิฐมา ให้สร้างสระโบกขรณีให้มีคดลดเลี้ยวนับด้วยพัน ให้มีท่าลงนับด้วยร้อย โดยความคิดของตน. สระโบกขรณีนั้นดาดาษด้วยปทุมชาติ ๕ ชนิด เป็นราวกะว่านันทนโบกขรณี ให้สร้างสวนปลูกต้นไม้ต่างๆ ทั้งไม้ดอกและไม้ผลริมฝั่งสระนั้น ดุจอุทยานนันทนวัน และใช้ศาลานั้นแหละ เริ่มตั้งทานวัตร เพื่อสมณพราหมณ์ผู้ประพฤติธรรม และผู้เดินทางที่จรมา เป็นต้น. การกระทำของพระมหาสัตว์นั้น ได้ปรากฏไปในที่ทั้งปวง มนุษย์เป็นอันมากได้มาอาศัยศาลานั้น. พระมหาสัตว์นั่งในศาลานั้น กล่าวสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ สิ่งที่ถูกและผิด แก่ผู้ที่มาแล้วๆ เริ่มตั้งการวินิจฉัย. กาลนั้นได้เป็นเสมือน พุทธุปบาทกาล.
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • IMG_4581_1a.jpg
      IMG_4581_1a.jpg
      ขนาดไฟล์:
      602.2 KB
      เปิดดู:
      728
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 15 กรกฎาคม 2013
  9. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    ฝ่ายพระเจ้าวิเทหราช กาลล่วงไปได้ ๗ ปี ทรงระลึกได้ว่า บัณฑิตทั้ง ๔ กล่าวแก่เราว่า บัณฑิตที่ ๕ จักเกิดขึ้นครอบงำพวกเขา. บัณฑิตที่ ๕ นั้นบัดนี้อยู่ที่ไหน. โปรดให้อมาตย์ ๔ คนไปสืบเสาะหาทางประตูทั้ง ๔ ด้าน ให้รู้สถานที่อยู่แห่งบัณฑิตนั้น. อมาตย์ผู้ออกไปทางประตูอื่นๆ ไม่พบพระมหาสัตว์. อมาตย์ผู้ออกไปทางประตูด้านปราจีนทิศ นั่งที่ศาลาคิดว่า ศาลาหลังนี้ ต้องคนฉลาดทำเอง หรือใช้ให้คนอื่นทำ. จึงถามคนทั้งหลายว่า ศาลาหลังนี้ ช่างไหนทำ. คนทั้งหลายตอบว่า ศาลาหลังนี้นายช่างไม่ได้ทำเอง แต่ได้ทำตามวิจารณ์ของมโหสถบัณฑิต ผู้เป็นบุตรของสิริวัฒกเศรษฐี ด้วยกำลังปัญญาแห่งตน. อมาตย์ถามว่า ก็บัณฑิตอายุเท่าไร คนทั้งหลายตอบว่า ๗ ปีบริบูรณ์. อมาตย์นับปีตั้งแต่วันที่พระราชาทรงเห็นพระสุบิน ก็ทราบว่า บัณฑิตนั้น คือผู้นี้เอง. สมกับพระราชาทรงเห็นพระสุบิน จึงส่งทูตไปทูลพระราชาว่า ขอเดชะ บุตรของสิริวัฒกเศรษฐีในบ้านปาจีนยวมัชฌคาม ชื่อมโหสถบัณฑิต อายุได้ ๗ ปี ให้สร้างศาลา สระโบกขรณี และอุทยานอย่างนี้ๆ. ข้าพระบาทจะพาบัณฑิตนี้มาเฝ้าหรือยัง. พระราชาทรงสดับประพฤติเหตุนั้น มีพระหฤทัยยินดี. รับสั่งให้หาเสนกบัณฑิตมา ตรัสเล่าเนื้อความนั้น แล้วดำรัสถามว่า เป็นอย่างไร ท่านอาจารย์เสนกะ เราจะนำบัณฑิตนั้นมาหรือยัง. เสนกบัณฑิตนั้นเป็นคนตระหนี่ จึงทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นบัณฑิต ด้วยเหตุเพียงให้สร้างศาลาเป็นต้น. ใครๆ ก็ให้สร้างได้ ข้อนั้นยังเป็นการเล็กน้อย. พระราชาทรงสดับคำของเสนกบัณฑิต ทรงดำริว่า เหตุการณ์ในข้อนี้จะพึงมี ก็ทรงนิ่งอยู่. ทรงส่งทูตของอมาตย์กลับไป ด้วยพระดำรัสว่า อมาตย์จงอยู่ในที่นั้น พิจารณาดูบัณฑิตไปก่อน. อมาตย์ได้ฟังพระราชดำรัสนั้น ก็ยับยั้งอยู่ที่นั้น พิจารณาดูบัณฑิตต่อไป.
    รวมหัวข้อพิจารณาในเรื่องนั้น ดังนี้ ชิ้นเนื้อ โค เครื่องประดับทำเป็นปล้องๆ กลุ่มด้าย บุตร คนเตี้ยชื่อโคฬกาฬ รถ ท่อนไม้ ศีรษะคน งู ไก่ แก้วมณี ให้โคตัวผู้ตกลูก ข้าว ชิงช้าห้อยด้วยเชือก ทราย สระน้ำ อุทยาน ฬา แก้วมณีบนลังกา (รวม ๑๙ ข้อ)
    ว่าด้วยปัญหา ๑๙ ข้อ
    บรรดาหัวข้อเหล่านั้น หัวข้อว่าชิ้นเนื้อ มีความว่า วันหนึ่งพระโพธิสัตว์ไปสู่สนามเล่น มีเหยี่ยวตัวหนึ่งโฉบเอาชิ้นเนื้อแต่เขียงฆ่าสัตว์ บินมาทางอากาศ. ทารกทั้งหลายเห็นเหยี่ยวคาบเนื้อบินมา ก็ติดตามไป ด้วยคิดจะให้เหยี่ยวทิ้งชิ้นเนื้อนั้น. เด็กเหล่านั้นวิ่งไปข้างโน้นข้างนี้ แลดูเบื้องบน ไปข้างหน้าข้างหลังเหยี่ยวนั้น พลาดลงที่ตอมีแผ่นหินเป็นต้น ย่อมลำบาก. ลำดับนั้น มโหสถบัณฑิตกล่าวกะเด็กเหล่านั้นว่า กันจะให้เหยี่ยวนั้นทิ้งชิ้นเนื้อ เด็กทั้งหลายขอให้ลองดู จึงกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น จงคอยดู. มโหสถวิ่งไปด้วยกำลังเร็วดังลม โดยไม่แลดูข้างบน พอเหยียบเงาเหยี่ยว ก็ตบมือร้องเสียงดังลั่น ด้วยเดชานุภาพแห่งมหาสัตว์ เสียงนั้นดุจเข้าไปก้องในท้องของเหยี่ยวนั้น เหยี่ยวนั้นกลัวก็ทิ้งชิ้นเนื้อ. พระมหาสัตว์รู้ว่า เหยี่ยวทิ้งชิ้นเนื้อแล้ว แลดูเงา รับเอาในอากาศไม่ให้ตกพื้นดิน. มหาชนเห็นการที่ มหาสัตว์ทำดังนั้นเป็นอัศจรรย์ จึงบันลือโห่ร้องตบมือทำเสียงเซ็งแซ่. อมาตย์ทราบประพฤติเหตุนั้น จึงส่งทูตไปทูลพระราชาอีกว่า ขอเดชะ มโหสถบัณฑิตได้ยังเหยี่ยวให้ทิ้งชิ้นเนื้อด้วยอุบายนี้. ขอสมมติเทพ จงทรงทราบประพฤติเหตุนี้. พระราชาทรงสดับดังนั้น จึงตรัสถามเสนกบัณฑิตว่า ท่านเสนกะ เราจะนำบัณฑิตมาหรือยัง. เสนกบัณฑิตคิดว่า จำเดิมแต่เวลาที่มโหสถกุมารมาในราชสำนักนี้ พวกเรา๔ คน จักหมดรัศมี. พระราชาจักไม่ทรงทราบว่า พวกเรามีอยู่. ไม่ควรให้นำมโหสถกุมารนั้นมา เพราะความตระหนี่ลาภ. จึงทูลว่า ข้าแต่มหาราช บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นบัณฑิต ด้วยเหตุเพียงเท่านี้. ข้อนั้นยังเป็นการเล็กน้อย. พระราชาทรงมีพระองค์เป็นกลาง จึงส่งทูตนั้นกลับไปด้วยพระราชดำรัสสั่งว่า จงพิจารณามโหสถนั้น ในที่นั้นต่อไป.
    หัวข้อว่า โค มีความว่า บุรุษชาวปาจีนยวมัชฌคามคนหนึ่งคิดว่า เมื่อฝนตก เราจักไถนา. จึงซื้อโคแต่บ้านอื่น นำมาให้อยู่ในบ้าน. รุ่งขึ้น นำไปสู่ที่มีหญ้าเพื่อให้หากิน นั่งอยู่บนหลังโค เหน็ดเหนื่อย ก็ลงนั่งโคนต้นไม้เลยหลับไป. ขณะนั้น โจรคนหนึ่งมาพาโคหนีไป. บุรุษเจ้าของโคนั้นตื่นขึ้นมา ไม่เห็นโค ค้นหาโคข้างโน้นข้างนี้ เห็นโจรจึงวิ่งไล่ไปโดยเร็วกล่าวว่า แกจะนำโคของข้าไปไหน. โจรกล่าวตอบว่า แกพูดอะไร ข้าจะนำโคของข้าไปสู่ที่ต้องการ. มหาชนต่างมาฟัง ชนทั้งสองวิวาทกันจนแน่น. มโหสถบันฑิตได้ฟังเสียงคนทั้งหลาย ไปทางประตูศาลา. จึงให้เรียกคนทั้งสองมา เห็นกิริยาของคนทั้งสองก็รู้ว่า คนนี้เป็นโจร คนนี้เป็นเจ้าของโค. แต่ถึงรู้ ก็ถามว่า ท่านทั้งสองวิวาทกันเพราะเหตุไร. เจ้าของโคกล่าวว่า ข้าแต่นาย ข้าพเจ้าซื้อโคนี้แต่คนชื่อนี้แต่บ้านโน้น นำมาให้อยู่ในบ้าน นำไปสู่ที่มีหญ้าแต่เช้า. ชายนี้พาโคหนีไป เพราะเห็นข้าพเจ้าประมาท. ในเวลานั้น ข้าพเจ้ามองหาข้างโน้นข้างนี้ เห็นชายคนนี้ จึงติดตามไปจับตัว. ชาวบ้านโน้นรู้การที่ข้าพเจ้าซื้อโคนี้มา. ฝ่ายโจรกล่าวว่า โคนี้เกิดในบ้านของข้าพเจ้า ชายนี้พูดปด. ลำดับนั้น มโหสถบัณฑิตจึงถามชายทั้งสองว่า เราจักวินิจฉัยความของท่านทั้งสองโดยยุติธรรม ท่านทั้งสองจักตั้งอยู่ในวินิจฉัยหรือ. เมื่อคนทั้งสองรับว่าจักตั้งอยู่ คิดว่า ควรจะถือเอาตามใจของมหาชน. จึงถามว่า โคเหล่านี้ท่านให้กินอะไร ให้ดื่มอะไร. โจรตอบว่า ข้าแต่ท่านบัณฑิต ข้าพเจ้าให้โคดื่มยาคู ให้กินงา แป้ง และขนมกุมมาส. ต่อนั้นจึงถามเจ้าของโค เจ้าของโคตอบว่า อาหารมีข้าวยาคูเป็นต้น คนจนอย่างข้าจะได้ที่ไหนมา ข้าพเจ้าให้กินหญ้าเท่านั้น. มโหสถบัณฑิตได้ฟังคำของคนทั้งสองนั้นแล้ว จึงให้คนของตนนำถาดมา ให้นำใบประยงค์มาตำในครก ขยำด้วยน้ำให้โคดื่ม โคก็อาเจียนออกมาเป็นหญ้า. มโหสถบันฑิตแสดงแก่มหาชนให้เห็น แล้วถามโจรว่า เจ้าเป็นโจรหรือมิใช่. โจรรับสารภาพว่าเป็นโจร. มโหสถบัณฑิตให้โอวาทว่า ถ้าอย่างนั้น จำเดิมแต่นี้ไป เจ้าอย่าทำอย่างนี้. ฝ่ายบริษัทของพระโพธิสัตว์ก็ทุบตีโจรนั้น ด้วยมือและเท้าทำให้บอบช้ำ. ลำดับนั้น มโหสถบัณฑิตได้กล่าวสอนโจรนั้นว่า เจ้าจงเห็นทุกข์ของเจ้านี้ในภพนี้เพียงนี้ แต่ในภพหน้า เจ้าจักเสวยทุกข์ใหญ่ในนรกเป็นต้น. จำเดิมแต่นี้ไป เจ้าจงละกรรมนี้เสีย แล้วให้เบญจศีลแก่โจรนั้น. อมาตย์ทูลประพฤติเหตุนั้นแด่พระราชา ตามความเป็นจริง. พระราชาตรัสถามเสนกบัณฑิตว่า ท่านอาจารย์เสนกะ เราควรนำบัณฑิตนั้นมาหรือยัง. เมื่อเสนกะทูลว่า ข้าแต่มหาราช คดีเรื่องโค ใครๆ ก็วินิจฉัยได้ บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นบัณฑิต ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ขอให้ทรงรอไปก่อน. พระราชาทรงวางพระองค์เป็นกลาง จึงทรงส่งข่าวไปอย่างนั้นอีก.
    นักปราชญ์พึงทราบในวิธานทั้งปวงอย่างนี้ ก็เบื้องหน้าแต่นี้จักจำแนกเพียง หัวข้อเรื่องเท่านั้นแสดง.
    หัวข้อว่า เครื่องประดับทำเป็นปล้องๆ มีความว่า ยังมีหญิงเข็ญใจคนหนึ่ง เปลื้องเครื่องประดับทำเป็นปล้อง ถักด้วยด้ายสีต่างๆ จากคอวางไว้บนผ้าสาฎก ลงสู่สระโบกขรณีที่มโหสถบัณฑิตให้ทำไว้ เพื่ออาบน้ำ. หญิงรุ่นสาวคนหนึ่งเห็นเครื่องประดับนั้น เกิดความโลภ หยิบเครื่องประดับขึ้นชมว่า เครื่องประดับนี้งามเหลือเกิน. แกทำราคาเท่าไร แม้กันก็จักทำรูปเหล่านี้ ตามควรแก่ศิลปะของตน. กล่าวชมฉะนี้แล้วประดับที่คอตน แล้วกล่าวว่า กันจะพิจารณาประมาณของเครื่องประดับนั้นก่อน. หญิงเจ้าของกล่าวว่า จงพิจารณาดูเถิด เพราะหญิงเจ้าของเป็นคนมีจิตซื่อตรง หญิงรุ่นสาวประดับที่คอตน แล้วหลีกไป. ฝ่ายหญิงเจ้าของเห็นดังนั้น ก็รีบขึ้นจากโบกขรณี นุ่งผ้าสาฎก แล้ววิ่งตามไปยึดผ้าไว้กล่าวว่า เอ็งจักถือเอาเครื่องประดับของข้า หนีไปไหน. ฝ่ายหญิงขโมยกล่าวตอบว่า ข้าไม่ได้เอาของของแก เครื่องประดับคอของข้าต่างหาก. มหาชนชุมนุมฟังวิวาทกัน. ฝ่ายมโหสถบัณฑิตเล่นอยู่กับเหล่าทารก ได้ฟังเสียงหญิงสองคนนั้นทะเลาะกันไปทางประตูศาลา ถามว่า นั่นเสียงอะไร. ได้ฟังเหตุที่หญิงสองคนทะเลาะกันแล้ว จึงให้เรียกเข้ามา แม้รู้อยู่โดยอาการว่า หญิงนี้เป็นขโมย หญิงนี้มิใช่ขโมย. ก็ถามเนื้อความนั้นแล้วกล่าวว่า แกทั้งสองจักตั้งอยู่ในวินิจฉัยของข้าหรือ เมื่อหญิงทั้งสองรับว่า จักตั้งอยู่ในวินิจฉัย. จึงถามหญิงขโมยก่อนว่า แกย้อมเครื่องประดับนี้ด้วยของหอมอะไร. หญิงขโมยตอบว่า ข้าพเจ้าย้อมด้วยของหอมทุกอย่าง ของหอมที่ทำประกอบด้วยของหอมทั้งปวง ชื่อว่าของหอมทุกอย่าง. ลำดับนั้น มโหสถบัณฑิตจึงถามหญิงเจ้าของ นางตอบว่า เพราะข้าพเจ้าเป็นคนเข็ญใจ ของหอมทุกอย่างจะมีแต่ไหน ข้าพเจ้าย้อมด้วยของหอม คือดอกประยงค์เท่านั้นเป็นนิตย์. มโหสถบัณฑิตให้คนของตน กำหนดคำของหญิงทั้งสองนั้นไว้ แล้วให้นำภาชนะน้ำมาแช่เครื่องประดับน้ำในภาชนะน้ำนั้น. ให้เรียกคนรู้จักกลิ่นมาสั่งว่า ท่านจงดมเครื่องประดับนั้น จะเป็นกลิ่นอะไร. คนรู้จักกลิ่นดมเครื่องประดับนั้นแล้วก็รู้ว่า กลิ่นดอกประยงค์ จึงกล่าวคาถานี้ในเอกนิบาตว่า
    ของหอมทุกอย่างไม่มี มีแต่กลิ่นดอกประยงค์ล้วน หญิงนักเลงคือหญิงขโมยกล่าวคำเท็จ หญิงแก่คือหญิงเจ้าของกล่าวคำจริง.
    ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ยังมหาชนให้รู้เหตุการณ์นั้นแล้วถามว่า แกเป็นขโมยหรือ แล้วให้สารภาพว่าเป็นขโมย. จำเดิมแต่นั้น ความที่พระมหาสัตว์เป็นบัณฑิต ก็ปรากฏแก่มหาชน.
    หัวข้อว่า ด้ายกลุ่ม มีความว่า ยังมีสตรีคนหนึ่งรักษาไร่ฝ้าย. เมื่อเฝ้าไร่ได้เก็บฝ้ายที่บริสุทธิ์ในไร่นั้นมาปั่นให้เป็นเส้นเล็กๆ แล้วเอาเม็ดมะพลับมาไว้ข้างใน พันด้ายนั้นให้เป็นกลุ่ม เก็บไว้ในพก. เมื่อจะกลับบ้าน คิดว่า เราจักอาบน้ำในสระโบกขรณีของท่านบัณฑิต จึงวางกลุ่มด้ายนั้นไว้บนผ้าสาฎก แล้วลงอาบน้ำ. ยังมีหญิงคนหนึ่งเห็นด้ายกลุ่มนั้น ก็ถือเอาด้วยมีจิตโลภ ตบมือพูดว่า โอ ด้ายนี้สวยดี ท่านทำหรือ ทำเป็นเหมือนแลดู แล้วเอาใส่ในพกหลีกไป. เรื่องที่เหลือพึงทราบโดยนัยที่มีในก่อน. มโหสถบัณฑิตถามหญิงขโมยก่อนว่า เมื่อแกทำด้ายให้เป็นกลุ่ม ได้ใส่อะไรไว้ข้างใน. หญิงขโมยนั้นตอบว่า ข้าพเจ้าใส่ผลฝ้ายนั่นเองไว้ข้างใน. ต่อนั้น มโหสถบัณฑิตจึงถามหญิงอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าของ. นางตอบว่า ใส่เม็ดมะพลับไว้ข้างใน. มโหสถบัณฑิตให้คนของตนกำหนดคำของหญิงทั้งสองไว้ แล้วให้คลี่ด้ายกลุ่มนั้นออก เห็นเม็ดมะพลับ. จึงให้หญิงขโมยนั้นรับสารภาพว่าเป็นขโมย. มหาชนร่าเริงยินดี กล่าวว่ามโหสถบัณฑิตวินิจฉัยความดี ได้ให้สาธุการเป็นอันมาก.
    หัวข้อว่า บุตร มีความว่า ยังมีสตรีคนหนึ่งพาบุตร ไปสระโบกขรณีของมโหสถบัณฑิต. เพื่อล้างหน้า เอาบุตรอาบน้ำ แล้วให้นั่งบนผ้าสาฎกของตน ตนเองลงล้างหน้า. ขณะนั้น มียักขินีตนหนึ่งเห็นทารกนั้นอยากจะกิน จึงแปลงเพศเป็นสตรีมาถามว่า แน่ะสหายทารกนี้งามหนอ เป็นบุตรของเธอหรือ. ครั้นสตรีมารดาทารกนั้นรับว่า เป็นบุตรของตน. จึงกล่าวว่า ฉันจะให้ดื่มนม. เมื่อสตรีมารดาทารกอนุญาตแล้ว ก็อุ้มทารกนั้นให้เล่นหน่อยหนึ่ง แล้วพาทารกนั้นหนีไป. สตรีมารดาทารกเห็นดังนั้น จึงขึ้นจากน้ำวิ่งไปโดยเร็ว ยึดผ้าสาฎกไว้กล่าวว่า เองจะพาบุตรข้าไปไหน. นางยักขินีกล่าวว่า เจ้าได้บุตรมาแต่ไหน นี้บุตรของข้าต่างหาก. หญิงทั้งสองทะเลาะกันเดินไปถึงประตูศาล. มโหสถบัณฑิตได้ฟังเสียงนางทั้งสองทะเลาะกัน ให้เรียกเข้ามาถามว่า เรื่องเป็นอย่างไรกัน. นางทั้งสองก็แจ้งให้ทราบเรื่องนั้น. มโหสถบัณฑิตฟังความนั้นแล้ว แม้รู้ว่า หญิงนี้เป็นยักขินีอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะนัยน์ตาไม่กระพริบ นัยน์ตาแดงและไม่มีเงา จึงกล่าวว่า แกทั้งสองจักตั้งอยู่ในวินิจฉัยของเราหรือ. เมื่อได้รับคำตอบว่าจักตั้งอยู่ในวินิจฉัย. จึงขีดรอยที่แผ่นดิน ให้ทารกนอนกลางรอยขีด ให้ยักขินีจับมือทารก ให้หญิงผู้เป็นมารดาจับเท้า แล้วกล่าวว่า แกทั้งสองคนจงฉุดคร่าเอาไป. ทารกนั้นเป็นบุตรของผู้สามารถเอาไปได้. นางทั้งสองก็คร่าทารกนั้น ทารกนั้นถูกคร่าไปด้วยความลำบากก็ร้องจ้า. หญิงมารดาได้ฟังเสียงนั้น ก็เป็นเหมือนหัวใจจะแตก ปล่อยบุตรยืนร้องไห้อยู่. มโหสถบัณฑิตถามมหาชนว่า ใจของมารดาทารกอ่อน หรือว่าใจของหญิงไม่ใช่มารดาอ่อน. มหาชนตอบว่า ใจของมารดาอ่อน. มโหสถบัณฑิตจึงถามมหาชนว่า บัดนี้เป็นอย่างไร หญิงผู้คร่าทารกไปได้ยืนอยู่เป็นมารดา หรือว่านางผู้สละทารกเสียยืนอยู่เป็นมารดา. มหาชนตอบว่า นางผู้สละทารกยืนอยู่เป็นมารดา. มโหสถกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น ท่านทั้งหลายรู้หรือว่านางนี้เป็นคนขโมยทารก. มหาชนตอบว่า ไม่ทราบ. มโหสถจึงกล่าวว่า นางนี้เป็นยักขินีคร่าเอาทารกไปเพื่อกิน. มหาชนถามว่า รู้ได้อย่างไร. มโหสถตอบว่า รู้ได้อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะยักขินีนัยน์ตาไม่กระพริบ นัยน์ตาแดง ไม่มีเงา และปราศจากความกรุณา. ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ถามหญิงนั้นว่า แกเป็นใคร. ยักขินีตอบว่า ข้าพเจ้าเป็นยักขินี. พระมหาสัตว์ซักต่อไปว่า เจ้าจะเอาทารกนี้ไปทำไม. ยักขินีตอบว่า เอาไปกิน. พระมหาสัตว์กล่าวว่า แน่ะนางอันธพาล แต่ก่อนเองทำบาปจึงเกิดเป็นยักขินี. แม้บัดนี้ก็ยังจะทำบาปอีก โอ เองเป็นคนอันธพาล. กล่าวดังนี้แล้ว ให้ยักขินีตั้งอยู่ในเบญจศีล แล้วปล่อยตัวไป. ฝ่ายหญิงมารดาทารก กล่าวว่า จงมีอายุยืนนานเถิดนาย ชมมโหสถบัณฑิต แล้วพาบุตรหลีกไป.
    หัวข้อว่า คนเตี้ยชื่อโคฬกาฬ มีความว่า มีชายคนหนึ่งชื่อโคฬกาฬ เพราะเป็นคนเตี้ยและผิวดำ. เขาทำงาน ๗ ปี ได้ภรรยาชื่อทีฆตาหลา. วันหนึ่ง โคฬกาฬเรียกภรรยามากล่าวว่า เจ้าจงทอดขนมควรเคี้ยว. ครั้นนางถามว่า แกจะไปไหน. จึงบอกว่า ข้าจะไปเยี่ยมบิดามารดา. นางห้ามว่า แกจะต้องการอะไรด้วยบิดามารดา. โคฬกาฬก็คงสั่งให้ทอดขนมถึง ๓ ครั้ง จึงถือเอาเสบียง และของฝากเดินทางไปกับภรรยานั้น. ในระหว่างทางได้เห็นแม่น้ำ มีกระแสน้ำไหลตื้น แต่สองสามีภรรยานั้นเป็นคนขลาด จึงไม่อาจลง ก็ยืนอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำ. กาลนั้น มีชายเข็ญใจคนหนึ่งชื่อทีฆปิฏฐิ เดินเลียบมาตามฝั่งแม่น้ำ ถึงสถานที่นั้น สามีภรรยาเห็นชายนั้นจึงถามว่า แม่น้ำนี้ลึกหรือตื้น. นายทีฆปิฏฐิรู้อยู่ว่า สองสามีภรรยานั้นขลาดต่อน้ำ. จึงตอบว่า แม่น้ำนี้ลึกเหลือเกิน ปลาร้ายก็ชุม. สามีภรรยาจึงซักถามว่า สหายจักไปอย่างไรเล่า. ชายนั้นตอบว่า เรามีความคุ้นเคยกับจระเข้และมังกร ฉะนั้น. สัตว์ร้ายเหล่านั้นจึงไม่เบียดเบียนเรา. สองสามีภรรยากล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น สหายจงพาเราทั้งสองไป. ชายนั้นรับคำ. ลำดับนั้น สองสามีภรรยาจึงให้ของเคี้ยวของบริโภคแก่ชายนั้น. ชายนั้นบริโภคอิ่มแล้ว จึงถามว่า สหายจะให้เราพาใครไปก่อน. นายโคฬกาฬตอบว่า จงพาภรรยาไปก่อน พาเราไปทีหลัง. ชายนั้นรับคำแล้วให้นางทีฆตาหลาขึ้นคอ ถือเสบียงและของฝากทั้งหมดลงข้ามแม่น้ำ ไปได้หน่อยหนึ่ง แล้วย่อตัวหลีกไป. ลำดับนั้น นายโคฬกาฬยืนอยู่ที่ฝั่งคิดว่า แม่น้ำนี้ลึกแท้ คนสูงยังเป็นอย่างนี้ แต่เราเป็นไม่ได้การทีเดียว. ฝ่ายนายทีฆปิฏฐิพานางทีฆตาหลาไปถึงกลางแม่น้ำ ก็พูดเกี้ยวว่า ข้าจักเลี้ยงดูเจ้า เจ้าจักมีผ้าและเครื่องประดับบริบูรณ์ มีทาสทาสีแวดล้อม. นายโคฬกาฬตัวเตี้ยคนนี้ จักทำอะไรแก่เจ้าได้ เจ้าจงทำตามคำข้า. นางทีฆตาหลาได้ฟังคำของนายทีฆปิฏฐินั้น ก็ตัดสิเนหาในสามีของตน มีจิตปฏิพัทธ์ในนายทีฆปิฏฐินั้น ในขณะนั้นเอง. จึงกล่าวตอบว่า ถ้านายไม่ทิ้งฉัน ฉันจักทำตามคำของนาย. นายทีฆปิฏฐิกล่าวว่า นางพูดอะไร ข้าจะเลี้ยงดูนาง. คนทั้งสองนั้นไปถึงฝั่งโน้น ก็ชื่นชมต่อกันและกัน. ละนายโคฬกาฬเสีย กล่าวว่า รอก่อน รอก่อน. ต่างเคี้ยวกินของควรเคี้ยว ต่อหน้านายโคฬกาฬผู้แลดูอยู่ แล้วพากันหลีกไป. นายโคฬกาฬเห็นดังนั้นจึงคิดว่า คนทั้งสองนี้เห็นจะร่วมกันทิ้งเราหนีไป ก็วิ่งไปวิ่งมา ข้ามลงได้หน่อยหนึ่งก็กลับขึ้นเพราะความกลัว ข้ามลงอีกหนหนึ่ง ด้วยความโกรธในคนทั้งสองนั้น โดดลงด้วยแน่ใจว่าเป็นหรือตายก็ตามที ลงไปในแม่น้ำ จึงรู้ว่าตื้น. ก็ข้ามขึ้นจากแม่น้ำติดตามไปโดยเร็ว. พอทันคนทั้งสองนั้นจึงกล่าวว่า แน่ะอ้ายโจรร้าย มึงจะพาเมียกูไปไหน. นายทีฆปิฏฐิกล่าวตอบว่า แน่ะอ้ายถ่อยแคระเตี้ยร้าย เมียมึงเมื่อไร. กล่าวดังนี้ แล้วก็ไสคอนายโคฬกาฬไป. นายโคฬกาฬจับมือนางทีฆตาหลา กล่าวว่า รอก่อน รอก่อน เองจะไปไหน ข้าทำงานมา ๗ ปีจึงได้เองมาเป็นเมีย. เมื่อทะเลาะกับนายทีฆปิฏฐิ พลางมาถึงที่ใกล้ศาลาพระมหาสัตว์ มหาชนประชุมกัน.
     
  10. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    มโหสถบัณฑิตถามว่า นั่นเสียงอะไรกัน. สดับความนั้นแล้วให้เรียกคนทั้งสองมา. ได้ฟังโต้ตอบกันแล้ว จึงกล่าวว่า แกทั้งสองจักตั้งอยู่ในวินิจฉัยของเราหรือ. ครั้นคนทั้งสองยอม. จึงถามนายทีฆปิฏฐิก่อนว่า แกชื่ออะไร. ข้าพเจ้าชื่อทีฆปิฏฐิ. ก็ภรรยาของแกชื่ออะไร. เมื่อไม่ทันรู้จักชื่อก็บอกชื่ออื่น. บิดามารดาของแกชื่ออะไร ก็บอกชื่อนั้นๆ. บิดามารดาของภรรยาชื่ออะไร เมื่อยังไม่รู้ก็บอกชื่ออื่น. ลำดับนั้น มโหสถบัณฑิตจึงให้คนของตนกำหนดถ้อยคำไว้. แล้วให้นายทีฆปิฏฐินั้นออกไป ให้เรียกนายโคฬกาฬมา ถามชื่อคนทั้งปวงโดยนัยหนหลัง. นายโคฬกาฬรู้อยู่ตามเป็นจริงก็บอกไม่ผิด. พระโพธิสัตว์ให้นำนายโคฬกาฬออกไป ให้เรียกนางทีฆตาหลามาถามว่า แกชื่ออะไร. ข้าพเจ้าชื่อทีฆตาหลา. ผัวแกชื่ออะไร เมื่อยังไม่ทันรู้จักชื่อกันก็บอกชื่ออื่น. บิดามารดาของแกชื่ออะไร ก็บอกชื่อนั้นๆ. บิดามารดาของผัวแกชื่ออะไร เมื่อยังไม่รู้จักชื่อก็บอกชื่ออื่น. มโหสถบัณฑิตให้เรียกนายทีฆปิฏฐิและนายโคฬกาฬมา แล้วถามมหาชนว่า ถ้อยคำของนางทีฆตาหลาสมกับคำของนายทีฆปิฏฐิ หรือสมกับคำของนายโคฬกาฬ. มหาชนตอบว่า ถ้อยคำของนางทีฆตาหลาสมกับคำของนายโคฬกาฬ. มโหสถบัณฑิตจึงกล่าวว่า นายโคฬกาฬเป็นผัวของนางทีฆตาหลา นายทีฆปิฏฐิเป็นโจร. ลำดับนั้น มโหสถจึงถามนายทีฆปิฏฐิว่า เจ้าเป็นโจรหรือ. นายทีฆปิฏฐิรับสารภาพว่าเป็นโจร. นายโคฬกาฬได้ภรรยาของตนคืน ด้วยวินิจฉัยของมโหสถบัณฑิต. ก็ชมเชยมโหสถบัณฑิต แล้วพาภรรยาหลีกไป. มโหสถบัณฑิตกล่าวกะนายทีฆปิฏฐิว่า จำเดิมแต่นี้ไป เจ้าอย่าทำกรรมเช่นนี้อีก.
    หัวข้อว่า รถ มีความว่า กาลนั้นยังมีบุรุษคนหนึ่งนั่งในรถ ออกจากบ้านเพื่อล้างหน้า. ขณะนั้น ท้าวสักกเทวราชทรงพิจารณาเห็นพระโพธิสัตว์. จึงดำริว่า เราจักทำปัญญานุภาพแห่งมโหสถผู้พุทธางกูร ให้ปรากฏ. จึงเสด็จมาด้วยเพศแห่งมนุษย์จับท้ายรถไป. บุรุษเจ้าของรถถามว่า แน่ะพ่อ พ่อมาด้วยประโยชน์อะไร. ครั้นได้ฟังว่า จะมาเพื่ออุปัฏฐากตน. จึงรับว่าดีแล้ว ก็ลงจากรถไปเพื่อทำสรีรกิจ. ขณะนั้น ท้าวสักกเทวราชขึ้นรถขับไปโดยเร็ว. บุรุษเจ้าของรถทำสรีรกิจ แล้วออกมาเห็น ท้าวสักกเทวราชลักรถหนีไป ก็ติดตามไปโดยเร็ว. กล่าวว่า หยุดก่อน หยุดก่อน แกจะนำรถของข้าไปไหน. เมื่อท้าวสักกะตอบว่า รถของแกคันอื่น แต่คันนี้รถของข้า. ก็เกิดทะเลาะกันไปถึงประตูศาลา. มโหสถบัณฑิตถามว่า เรื่องอะไรกัน แล้วให้เรียกคนทั้งสองนั้นมา. เห็นคนทั้งสองมาด้วยอาการนั้น ก็รู้ชัดว่า ผู้นี้เป็นท้าวสักกเทวราช เพราะปราศจากความกลัวเกรง และเพราะนัยน์ตาไม่กระพริบ. ผู้นี้เป็นเจ้าของรถ. แม้เมื่อเป็นเช่นนั้น มโหสถก็ถามถึงเหตุแห่งการวิวาทกล่าวว่า ท่านทั้งสองจักตั้งอยู่ในวินิจฉัยของเราหรือ. เมื่อได้ฟังรับว่าจักตั้งอยู่. จึงกล่าวว่า เราจักขับรถไป ท่านทั้งสองจงจับท้ายรถ เจ้าของรถจักไม่ปล่อย ผู้ไม่ใช่เจ้าของรถจักปล่อย กล่าวฉะนี้แล้ว. บังคับบุรุษคนหนึ่งว่าจงขับรถไป บุรุษนั้นได้ทำตามนั้น. คนทั้งสองจับท้ายรถวิ่งตามไป เจ้าของรถไปได้หน่อยหนึ่งเหน็ดเหนื่อย จึงปล่อยรถยืนอยู่. ฝ่ายท้าวสักกเทวราชวิ่งไปกับรถทีเดียว. มโหสถบัณฑิตสั่งให้กลับรถ แล้วแจ้งแก่มหาชนว่า บุรุษนี้ไปได้หน่อยหนึ่งก็ปล่อยรถยืนอยู่ แต่บุรุษนี้วิ่งไปกับรถ กลับมากับรถ. แม้เพียงหยาดเหงื่อ แต่สรีระของเขาก็ไม่มี. หายใจออกหายใจเข้าก็ไม่มี. หาความสะทกสะท้านมิได้ นัยน์ตาก็ไม่กระพริบ ผู้นี้คือท้าวสักกเทวราช. ลำดับนั้น มโหสถบัณฑิตถามว่า ท่านเป็นท้าวสักกเทวราชมิใช่หรือ . ครั้นได้รับตอบว่าใช่. จึงถามว่า พระองค์เสด็จมาที่นี้เพื่ออะไร. ครั้นได้รับตอบว่า เพื่อประกาศปัญญาของเธอนั่นแหละ. จึงกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น พระองค์อย่าได้กระทำอย่างนี้อีก. ท้าวสักกเทวราช เมื่อจะแสดงสักกานุภาพ ก็สถิตอยู่ในอากาศ ตรัสชมเชยมโหสถบัณฑิตว่า เธอวินิจฉัยความดี เธอวินิจฉัยความดี. แล้วเสด็จกลับยังทิพยสถานของตน. กาลนั้น อมาตย์นั้นไปเฝ้าพระเจ้าวิเทหราชด้วยตนเอง ถวายบังคมแล้วกราบทูลว่า ความเรื่องรถมโหสถกุมารวินิจฉัยดีอย่างนี้ แม้ท้าวสักกเทวราชก็ยังแพ้. เหตุไรพระองค์จึงไม่ทรงทราบบุรุษพิเศษเล่า ขอเดชะ. พระราชาตรัสถามเสนกอาจารย์ว่า ควรนำบัณฑิตมาหรือยัง. อาจารย์เสนกะเป็นคนตระหนี่จึงได้ทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นบัณฑิตด้วยเหตุเพียงเท่านี้ โปรดรอไปก่อน. เราจักทดลองเขาแล้วจักรู้ พระราชาทรงดุษณีภาพ.
    จบ ปัญหาของทารก ๗ ข้อ
     
  11. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    หัวข้อว่า ท่อนไม้ มีความว่า วันหนึ่ง พระเจ้าวิเทหราชทรงดำริจะทดลองมโหสถบัณฑิต จึงให้นำท่อนไม้ตะเคียนมา ให้ตัดเอาเพียง ๑ คืบ ให้ช่างกลึงกลึงให้ดีแล้ว ให้ส่งไปยังชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคาม ด้วยพระราชาอาณัติว่า ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคามจงแจ้งว่า ท่อนไม้ตะเคียนนี้ ข้างนี้ปลายข้างนี้โคน ถ้าไม่มีใครรู้ จะปรับพันกหาปณะ. ชาวบ้านประชุมกัน เมื่อไม่อาจจะรู้ได้ จึงบอกแก่ท่านสิริวัฒกเศรษฐีว่า บางทีมโหสถบัณฑิตจะรู้ ขอให้เรียกเขามาถาม. ท่านมหาเศรษฐีให้เรียก มโหสถบัณฑิตมาแต่สนามเล่น. บอกเนื้อความนั้นแล้วถามว่า พวกเราไม่อาจจะรู้ปัญหานี้ พ่ออาจจะรู้บ้างไหม. พระมหาสัตว์ได้ฟังดังนั้นแล้ว คิดว่า พระราชาจะต้องพระประสงค์ ด้วยปลายหรือโคนของไม้ตะเคียนท่อนนี้ ก็หาไม่. ประทานไม้ตะเคียนท่อนนี้มาเพื่อจะทดลองเรา. จึงกล่าวว่า นำมาเถิดพ่อ ข้าพเจ้าจักรู้เรื่องนั้น. ลำดับนั้น ท่านเศรษฐีให้นำท่อนไม้ตะเคียน มาให้แก่มโหสถบัณฑิต. พระโพธิสัตว์รับท่อนไม้ตะเคียนนั้นด้วยมือเท่านั้นก็รู้ได้ว่า ข้างนี้ปลาย ข้างนี้โคน. แม้รู้อยู่ก็ให้นำภาชนะน้ำมา เพื่อกำหนดใจของมหาชน. แล้วเอาด้ายผูกตรงกลางของท่อนไม้ตะเคียน ถือปลายด้ายไว้ วางท่อนไม้ตะเคียนบนน้ำ พอวางเท่านั้น โคนก็จมลงก่อนเพราะหนัก. แต่นั้น พระโพธิสัตว์จึงถามมหาชนว่า ธรรมดาต้นไม้โคนหนัก หรือปลายหนัก. เมื่อมหาชนตอบว่า โคนหนัก. จึงกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น ส่วนของไม้ตะเคียนท่อนนี้จมลงก่อน จึงเป็นโคน. แล้วบอกปลายและโคนด้วยสัญญานี้. ชาวบ้านส่งข่าวทูลพระราชาว่า ข้างนี้ปลาย ข้างนี้โคน. พระราชาทรงยินดี ตรัสถามว่า ใครรู้. เมื่อชาวบ้านกราบทูลว่า มโหสถบัณฑิตบุตรสิริวัฒกเศรษฐี พระเจ้าข้า. ทรงสดับดังนั้นแล้ว จึงตรัสถามว่า ท่านอาจารย์เสนกะ เราควรนำมโหสถบัณฑิตมาหรือยัง. เสนกอาจารย์ทูลว่า รอไว้ก่อน เราจักทดลองด้วยอุบายอื่นอีก. พระราชาตรัสว่า ดีแล้ว ท่านเสนกะ.
    หัวข้อว่า ศีรษะ มีความว่า อยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้าวิเทหราชให้นำศีรษะ ๒ ศีรษะ คือศีรษะหญิงและศีรษะชายมา. แล้วส่งไปให้ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคาม ทำนายพระราชาณัติว่า ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคามจงรู้ว่า นี้ศีรษะหญิง นี้ศีรษะชาย. ถ้าไม่รู้ จะปรับไหมพันกหาปณะ. ชาวบ้านเมื่อไม่รู้ จึงถามพระมหาสัตว์. พระมหาสัตว์พอเห็นเท่านั้นก็รู้. รู้ได้อย่างไร คือแสกในศีรษะชายตรง แสกในศีรษะหญิงคด. มโหสถบัณฑิตแจ้งว่า นี้ศีรษะหญิง นี้ศีรษะชาย ด้วยความรู้ยิ่งนี้. ชาวบ้านก็ส่งข่าวกราบทูลแด่พระราชาอีก. ข้อความที่เหลือเหมือนนัยอันมีในก่อน นั่นเอง.
    หัวข้อว่า งู มีความว่า อยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้าวิเทหราชให้นำงูตัวผู้และงูตัวเมียมา ส่งไปให้ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคาม ด้วยพระราชาณัติว่า ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคาม จงรู้ว่า นี้งูตัวผู้ นี้งูตัวเมีย. เมื่อไม่มีใครรู้ จะปรับไหมพันกหาปณะ. ชาวบ้านเมื่อไม่รู้ จึงถามมโหสถบัณฑิต. มโหสถบัณฑิตนั้นพอเห็นเท่านั้นก็รู้ ด้วยว่าหางของงูตัวผู้ใหญ่ หางของงูตัวเมียเรียว. หัวของงูตัวผู้ใหญ่ หัวของงูตัวเมียเรียวยาว. นัยน์ตาของงูตัวผู้ใหญ่ ของงูตัวเมียเล็ก. ลวดลายของงูตัวผู้ติดต่อกัน ลวดลายของงูตัวเมียขาด. มโหสถบัณฑิตแจ้งแก่ชาวบ้านว่า นี้งูตัวผู้ นี้งูตัวเมีย ด้วยความรู้ยิ่งเหล่านี้. ข้อความที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้ว นั่นแล.
    หัวข้อว่า ไก่ มีความว่า อยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้าวิเทหราชส่งข่าวไปแก่ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคามว่า ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคามจงส่งโคตัวผู้อันเป็นมงคล ขาวทั้งตัว มีเขาที่เท้า มีโหนกที่หัว ร้องไปล่วง ๓ เวลา มาแก่เรา. ถ้าไม่ส่ง จะปรับไหมพันกหาปณะ. ชาวบ้านเหล่านั้นเมื่อไม่รู้ จึงถามมโหสถบัณฑิต. มโหสถบัณฑิตกล่าวว่า พระราชาให้สั่งไก่ขาวทั้งตัวไปถวายนั่นเอง เพราะว่าไก่นั้น ชื่อว่ามีเขาที่เท้า เพราะมีเดือยที่เท้า. ชื่อว่ามีโหนกที่หัว เพราะมีหงอนที่หัว. ชื่อว่าร้องไม่ล่วง ๓ เวลา เพราะขัน ๓ ครั้ง ฉะนั้น. ท่านทั้งหลายจงส่งไก่มีลักษณะอย่างนี้ไปถวาย. ชาวบ้านเหล่านั้นก็ส่งไปถวายแด่พระราชา พระราชาทรงยินดี.
    หัวข้อว่า แก้วมณี มีความว่า ดวงแก้วมณีที่ท้าวสักกเทวราชประทานแก่พระเจ้ากุสราชมีอยู่. ดวงแก้วมณีนั้นมีโค้งในที่ ๘ แห่ง ด้ายเก่าของดวงแก้วมณีนั้นขาด ไม่มีใครจะสามารถนำด้ายเก่าออกแล้วร้อยด้ายใหม่เข้าไป. วันหนึ่ง พระเจ้าวิเทหราชให้ส่งข่าวไปถึงชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคามว่า ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคามจงนำด้ายเก่าออกจากดวงแก้วมณีนี้ แล้วร้อยด้ายใหม่เข้าแทน. ถ้าร้อยไม่ได้ จะปรับไหมพันกหาปณะ. พวกมนุษย์ชาวบ้านไม่สามารถจะนำด้ายเก่าออก แล้วร้อยด้ายใหม่เข้าแทนได้. เมื่อไม่สามารถ จึงแจ้งแก่มโหสถบัณฑิต. มโหสถบัณฑิตกล่าวว่า อย่าวิตกไปเลย แล้วให้นำน้ำผึ้งมาทาช่องแก้วมณีทั้งสองข้าง ให้ฟั่นด้วยขนสัตว์เอาน้ำผึ้งทาปลายด้ายนั้น ร้อยเข้าไปในช่องหน่อยหนึ่ง วางไว้ในที่มดแดงทั้งหลายจะออก. เหล่ามดแดงพากัน ออกจากที่อยู่ของมันมากินด้ายเก่าในแก้วมณี. แล้วไปคาบปลายด้ายขนสัตว์ใหม่ คร่าออกมาทางข้างหนึ่ง. มโหสถบัณฑิตรู้ว่า ด้ายนั้นเข้าไปแล้ว ก็ให้แก่ชาวบ้าน ให้ถวายแด่พระราชา. พระราชามีพระดำรัสถาม ทรงสดับอุบายวิธีให้ด้ายนั้นเข้าไปได้ ทรงยินดี.
    หัวข้อว่า ให้โคตัวผู้ตกลูก มีความว่า ได้ยินว่า วันหนึ่งพระราชาตรัสสั่งให้ ราชบุรุษให้โคตัวผู้ เป็นมงคลเคี้ยวกินกุมมาสเป็นอันมาก จนท้องโต. ให้ชำระล้างเขาทั้งสอง แล้วทาด้วยน้ำมัน. ให้เอาน้ำขมิ้นรดตัวส่งไปยังชาวบ้านนั้น ด้วยพระราชาณัติว่า ได้ยินว่า พวกท่านเป็นนักปราชญ์ โคตัวผู้มงคลของพระราชานี้ตั้งครรภ์. ท่านทั้งหลายจงให้โคตัวผู้นี้ตกลูก แล้วส่งกลับไปพร้อมด้วยลูก. เมื่อไม่ส่ง จะปรับไหมพันกหาปณะ. พวกมนุษย์ชาวบ้านปรึกษากันว่า พวกเราไม่สามารถจะทำได้อย่างนี้ จักทำอย่างไร. จึงถามมโหสถบัณฑิต. มโหสถบัณฑิตคิดว่า เรื่องนี้ต้องย้อนปัญหา. จึงถามว่า พวกท่านจักอาจหา คนที่แกล้วกล้าสามารถทูลกับพระราชาได้หรือ. ชาวบ้านตอบว่า เรื่องนั้น ไม่หนักใจเลย ท่านบัณฑิต. ถ้าเช่นนั้น จงเรียกเขามา. ชาวบ้านเหล่านั้นเรียกเขามาแล้ว. ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ กล่าวกะเขาว่า ท่านจงสยายผมของท่านไว้ข้างหลัง แล้วคร่ำครวญใหญ่มีประการต่างๆ ไปสู่ทวารพระราชนิเวศน์. ใครถามอย่าตอบ คร่ำครวญเรื่อยไป. พระราชาตรัสเรียกมาถาม เหตุที่เทวนาการ จงถวายบังคม. แล้วทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่สมมติเทพ บิดาของข้าพระองค์ไม่อาจจะคลอดบุตร วันนี้เป็นวันครบ ๗. ขอสมมติเทพทรงเป็นที่พึ่งของข้าพระองค์. โปรดทรงทำอุบายที่จะคลอดบุตร แก่บิดาของข้าพระองค์. เมื่อพระราชาตรัสว่า คนคลั่งอะไรข้อนั้นไม่ใช่ฐานะ. ธรรมดาบุรุษคลอดบุตร มีหรือ. จงกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ถ้าว่าอย่างนี้มีไม่ได้. เมื่อเป็นเช่นนั้น ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคาม จะยังมงคลอุสภให้ตกลูกได้อย่างไร. บุรุษนั้นรับคำจะทำตามที่สั่งนั้นได้ ก็ได้ทำไปอย่างนั้น. พระราชาทรงสดับคำบุรุษนั้น ตรัสถามว่า ย้อนปัญหานี้ใครคิด. ได้ทรงทราบว่า มโหสถบัณฑิตคิด ก็โปรดปราน.
    หัวข้อว่า ข้าว มีความว่า ในวันอื่นอีก พระราชาทรงดำริว่า เราจักทดลองมโหสถ. จึงให้ส่งข่าวไปว่า ได้ยินว่า ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคามเป็นคนฉลาด. ชาวบ้านนั้นจงหุงข้าวเปรี้ยว ให้ประกอบด้วยองค์ ๘ มาให้เรา. องค์ ๘ นั้น คือ ไม่ให้หุงด้วยข้าวสาร ไม่ให้หุงด้วยน้ำ ไม่ให้หุงด้วยหม้อข้าว ไม่ให้หุงด้วยเตาหุงข้าว ไม่ให้หุงด้วยไฟ ไม่ให้หุงด้วยฟืน ไม่ให้หญิงหรือชายยกมา ไม่ให้นำมาส่งโดยทาง. พวกนั้นส่งมาไม่ได้ จะปรับไหมพันกหาปณะ. พวกชาวบ้านหารู้เหตุไม่ จึงแจ้งแก่มโหสถบัณฑิต. มโหสถบัณฑิตกล่าวว่า อย่าตกใจไปเลย แล้วชี้ให้เห็นว่า ให้หุงด้วยข้าวแหลก อันไม่ชื่อว่าข้าวสาร. ให้หุงด้วยน้ำค้าง อันไม่ชื่อว่าน้ำปกติ. ให้หุงด้วยภาชนะดินใหม่ อันไม่ชื่อว่าหม้อข้าว. ให้ตอกตอไม้ตั้งภาชนะนั้นหุง อันไม่ชื่อว่าหุงด้วยเตา. ให้หุงด้วยไฟที่สีกันเกิดขึ้น อันไม่ชื่อว่าไฟปกติ. ให้หุงด้วยใบไม้ อันไม่ชื่อว่าฟืน ชื่อว่าหุงข้าวเปรี้ยว. แล้วบรรจุในภาชนะใหม่ ผูกด้วยด้ายประทับตรา. อย่าให้หญิงหรือชายยกไป ให้กระเทยยกไป. ไปโดยทางน้อยละทางใหญ่เสีย อันชื่อว่าไม่มาโดยทาง. ส่งข้าวเห็นปานดังนี้ ไปถวายพระราชา. ชาวบ้านได้ทำตามนัยนั้น. พระราชาทอดพระเนตรเห็นกิริยานั้น จึงตรัสถามว่า ปัญหานี้ใครรู้ ทรงทราบว่า มโหสถรู้ ก็โปรดปราน.
    หัวข้อว่า ชิงช้าห้อยด้วยเชือกทราย มีความว่า ในวันนั้นอีก พระราชาให้ส่งข่าวไปยังชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคาม เพื่อทดลองมโหสถบัณฑิตว่า พระราชาใคร่จะทรงเล่นชิงช้าห้อยด้วยเชือกทราย เชือกทรายเก่าในราชสกุลขาดเสียแล้ว ให้ชาวบ้านนั้นฟั่นเชือกทรายหนึ่งเส้นส่งมาถวาย. ถ้าส่งมาถวายไม่ได้ จะปรับไหมพันกหาปณะ. ชาวบ้านเหล่านั้นไม่รู้เหตุ จึงแจ้งแก่มโหสถบัณฑิต. มโหสถบัณฑิตคิดว่า เรื่องนี้ต้องย้อนปัญหา พูดเอาใจชาวบ้าน ไม่ให้วิตก แล้วเรียกคนฉลาดพูดมาสองสามคน สั่งสอนให้ไปทูลพระราชาว่า ข้าแต่สมมติเทพ ชาวบ้านไม่ทราบประมาณแห่งเชือกนั้นว่า เล็กใหญ่เท่าไร. ขอสมมติเทพโปรด ให้ส่งท่อนแต่เชือกทรายเส้นเก่าสักหนึ่งคืบ หรือสี่นิ้วเป็นตัวอย่าง ชาวบ้านเห็นประมาณนั้นแล้ว จักได้ฟั่นเท่านั้น. ถ้าพระราชารับสั่งแก่ท่านทั้งหลายว่า เชือกทรายในพระราชฐานของเราไม่เคยมีแต่ไหนมา. ท่านทั้งหลายจงกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราช เชือกทรายตัวอย่างนั้นไม่มี ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคาม จักทำอย่างไรเล่า พระเจ้าข้า. ชาวบ้านเหล่านั้นไปทำตามมโหสถแนะนำ พระราชาตรัสถามว่า ย้อนปัญหานี้ใครคิด. ทรงทราบว่า มโหสถคิด ก็ทรงยินดี.
    หัวข้อว่า สระน้ำ มีความว่า ในวันอื่นอีก พระเจ้าวิเทหราชให้ส่งข่าวแก่ชาวบ้านเหล่านั้นเพื่อจะทดลองมโหสถว่า พระราชามีพระราชประสงค์จะทรงเล่นน้ำ. ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคามจงส่งสระโบกขรณี อันดาดาษด้วยบัวเบญจพรรณมา. ถ้าพวกชาวบ้านนั้นไม่ส่งมา จะปรับไหมพันกหาปณะ. ชาวบ้านเหล่านั้นแจ้งแก่มโหสถบัณฑิต มโหสถบัณฑิตคิดว่า เรื่องนี้ต้องย้อนปัญหา. จึงสั่งให้เรียก คนผู้ฉลาดพูดมาสองสามคน สั่งสอนให้พูด. แล้วส่งไปให้ทูลว่า ท่านทั้งหลายจงเล่นน้ำจนตาแดง ทั้งผมทั้งผ้ายังเปียกตัวเปื้อนโคลน ถือเชือกก้อนดินและท่อนไม้ไปสู่ทวารพระราชนิเวศน์. ให้กราบทูลความที่มายืนคอยเฝ้าพระราชา ได้โอกาสแล้วเข้าเฝ้ากราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า เพราะทรงส่งข่าวไปให้ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคาม ส่งสระโบกขรณีมาถวาย. ก็แต่สระโบกขรณีนั้น เห็นพระนครอันมีกำแพง คูประตู หอรบ ก็กลัว ตัดเชือกหนีเข้าป่าไป เพราะเคยอยู่ในป่า. พวกข้าพระองค์โบยตีด้วยก้อนดินและท่อนไม้ ก็ไม่สามารถจะให้กลับ. ขอพระองค์โปรดพระราชทาน สระโบกขรณีเก่าของพระองค์ที่นำมาแต่ป่า. พวกข้าพระองค์จักผูก ควบเข้ากับสระโบกขรณีใหม่นำมาถวาย. เมื่อพระราชารับสั่งว่า สระโบกขรณีของเราที่นำมาแต่ป่า ไม่เคยมีมาแต่กาลไหนๆ เราไม่เคยส่งสระโบกขรณีไปเพื่อผูกกับอะไรๆ นำมาฉะนี้. จงทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ถ้าเมื่ออย่างนี้ ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคาม จักส่งสระโบกขรณีมาถวายอย่างไรได้. ชาวบ้านที่รับคำแนะนำของมโหสถ ก็ไปทำตามทุกประการ. พระราชาทรงทราบว่า มโหสถรู้ปัญหานี้ ก็ทรงยินดี.
     
  12. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    หัวข้อว่า อุทยาน มีความว่า อีกวันหนึ่ง โปรดให้ส่งข่าวไปอีก โดยพระราชาณัติว่า พระองค์ใคร่จะทรงเล่นอุทยาน ก็แต่ราชอุทยานต้นไม้เก่าหักโค่นเสียหมด. ชาวบ้านปาจีนยวมัชฌคาม จงส่งอุทยานใหม่ ให้ดาดาษไปด้วยดรุณรุกขชาติ ทรงดอกบานงามเข้ามาถวาย. ถ้าไม่ส่งเข้ามาตามพระราชประสงค์ จะปรับไหมพันกหาปณะ. ชาวบ้านเหล่านั้นไม่รู้เหตุ ก็นำความแจ้งแก่มโหสถ. มโหสถบัณฑิตคิดว่า เรื่องนี้ต้องย้อนปัญหา. จึงเรียกคนทั้งหลายมาสั่งไปโดยนัย อันมีในก่อนนั่นแล. คนเหล่านั้นก็ไปทำตามสั่ง. พระราชาทรงสดับดังนั้น จึงตรัสถามเสนกอาจารย์ว่า เราควรนำมโหสถบัณฑิตมาละกระมัง. อาจารย์เสนกะกราบทูล ด้วยความตระหนี่ลาภสักการะว่า บุคคลไม่ชื่อว่าเป็นบัณฑิต ด้วยเหตุเพียงเท่านี้. ขอได้ทรงรอไปก่อน พระเจ้าวิเทหราชได้ทรงฟังคำของเสนกบัณฑิต แล้วมีพระดำริว่า มโหสถบัณฑิตแก้ปัญหาแห่งทารกทั้ง ๗ ข้อถูกใจเรา. การพยากรณ์ในการทดลองปัญหาลึกลับ และในการย้อนปัญหาเห็นปานนี้ของมโหสถนั้น เป็นดุจของพระพุทธเจ้า. อาจารย์เสนกะไม่ให้นำบัณฑิตเห็นปานนี้มาในที่นี้ เราจะต้องการอะไร ด้วยเสนกะคัดค้าน. เราจักนำมโหสถบัณฑิตนั้นมา. พระเจ้าวิเทหราชก็เสด็จไป สู่บ้านนั้นด้วยบริวารใหญ่. เมื่อพระราชาทรงม้ามงคลเสด็จไป กีบของม้ากระทบพื้นระแหงก็แตก. พระราชาก็เสด็จกลับแต่ที่นั้นเข้าพระนคร. ลำดับนั้น อาจารย์เสนกะเข้าเฝ้าพระราชาทูลถามว่า พระองค์เสด็จไปบ้านปาจีนยวมัชฌคาม เพื่อนำมโหสถบัณฑิตมาหรือ พระเจ้าข้า. ครั้นได้ฟังกระแสรับสั่งว่าเสด็จไป จึงทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า พระองค์ทึกทักเอาข้าพระองค์ว่า เป็นผู้ใคร่ความพินาศ ก็ทรงพิจารณ์เห็นหรือยัง. ในเมื่อข้าพระองค์ทัดทานให้ทรงรอไว้ก่อน ก็บังเอิญกีบม้ามงคลรีบด่วนออกไปแตก ด้วยไปครั้งแรกทีเดียว. พระเจ้าวิเทหราช ได้ทรงฟังคำของเสนกะ ก็ทรงดุษณีภาพ.
    อีกวันหนึ่ง พระเจ้าวิเทหราชทรงปรึกษากับเสนกะว่า เราจะนำมโหสถมา. เสนกะทูลว่า พระองค์อย่าเสด็จไปเอง ส่งทูตไปยังมโหสถว่า เมื่อพระองค์เสด็จไปสู่สำนักเธอ กีบม้าที่นั่งแตก เธอจงส่งม้าอัสดรหรือม้าประเสริฐกว่าม้าสามัญมา. ถ้าเธอจักส่งม้าอัสดรมา เธอจงมาเอง. แต่เมื่อจะส่งแต่ม้าประเสริฐมา จงส่งบิดาของเธอมาด้วย. ปัญหาของเรานี้แหละจักถึงที่สุด. พระราชาทรงเห็นชอบด้วย จึงส่งราชทูตไปดังว่านั้น. มโหสถบัณฑิตได้ฟังคำราชทูต จึงคิดว่า พระราชาทรงใคร่จะพบเราและบิดาของเรา จึงไปหาบิดา. ไหว้แล้วกล่าวว่า พระราชาทรงใคร่จะพบบิดาและข้าพเจ้า. ขอบิดาจงพร้อมด้วยอนุเศรษฐีพันหนึ่ง เป็นบริวารไปเฝ้าก่อน. เมื่อไปอย่าไปมือเปล่า จงเอาผอบไม้จันทน์ เต็มด้วยเนยใสใหม่ไปด้วย. พระราชาจักตรัสปฏิสันถารกับบิดา ตรัสเรียกให้นั่งว่า จงนั่งที่อาสน์อันสมควร. บิดาจงรู้อาสน์อันสมควรแล้วนั่ง เมื่อบิดานั่งแล้ว ข้าพเจ้าจักไป. พระราชาจักตรัสทักทายข้าพเจ้า ตรัสสั่งให้นั่งว่า จงนั่งที่อาสนะอันสมควร. แต่นั้นข้าพเจ้าจักแลดูบิดา บิดาจงลุกจากอาสน์ด้วยสัญญานั้น กล่าวว่า แน่ะพ่อมโหสถ พ่อจงนั่ง ณ อาสน์นี้. ปัญหาอย่างหนึ่งจักถึงที่สุดในวันนี้. สิริวัฒกเศรษฐีรับจะทำตามนั้น แล้วก็ไปโดยนัยที่กล่าวแล้ว ให้ทูลความที่ตนมายืนรออยู่ ที่พระทวารแด่พระราชา. ครั้นได้พระราชานุญาตแล้วจึงเข้าไปเฝ้า ถวายบังคมพระราชา ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง. พระราชาทรงทักทายปราศรัยตรัสถามว่า ดูก่อนคฤหบดี มโหสถบุตรของท่านอยู่ไหน. เศรษฐีทูลตอบว่า มาภายหลัง. พระราชาทรงทราบดังนี้ ก็ดีพระหฤทัย. ตรัสว่า ดูก่อนคฤหบดี ท่านจงดูอาสน์ควรแก่ตนนั่ง เศรษฐีนั้นก็นั่ง ณ อาสน์ที่ควรแก่ตน ในที่ส่วนหนึ่ง.
    ฝ่ายพระโพธิสัตว์ประดับตกแต่งตัวแล้ว มีเด็กพันหนึ่งห้อมล้อมนั่งรถที่ประดับแล้ว. เมื่อเข้าสู่พระนคร เห็นฬาตัวหนึ่งเที่ยวอยู่ที่หลังคู บังคับบริวารที่มีกำลังว่า เจ้าจงผูกฬาตัวหนึ่งที่ปาก อย่าให้ร้องได้. แล้วห่อด้วยเสื่อลำแพน ให้นอนในเครื่องลาดแบกมา บริวารเหล่านั้นก็ทำตามสั่ง. พระโพธิสัตว์เข้าสู่พระนครด้วยบริวารมาก. มหาชนเห็นพระโพธิสัตว์มาดังนั้น ก็พากันชมเชยดูพระโพธิสัตว์ไม่รู้อิ่มว่า บุตรแห่งสิริวัฒกเศรษฐีนี้ชื่อว่า มโหสถบัณฑิต. เมื่อเธอเกิดมาก็ถือแท่งโอสถมาด้วย เธอรู้เปรียบเทียบปัญหาที่ทดลอง มีประมาณเท่านี้ได้. มโหสถไปถึงทวารพระราชฐาน ให้กราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ. พระราชาทรงสดับว่ามโหสถมา ก็ทรงโสมนัสตรัสว่า มโหสถบุตรเรา จงรีบมาเถิด. มโหสถพร้อมด้วยเด็กพันหนึ่งเป็นบริวาร ขึ้นสู่ปราสาทถวายบังคมพระราชา ยืนอยู่ ณ ที่ส่วนหนึ่ง. พระราชาทอดพระเนตร เห็นมโหสถก็ทรงพระปราโมทย์. ตรัสปฏิสันถารอย่างอ่อนหวานว่า แน่ะบัณฑิต เจ้าจงรู้อาสน์ที่สมควรนั่งเถิด.
    กาลนั้น พระโพธิสัตว์แลดูเศรษฐีผู้บิดา. ลำดับนั้น บิดาของมโหสถก็ลุกจากอาสน์ ด้วยสัญญาที่บุตรแลดูแล้ว. กล่าวว่า แน่ะบัณฑิต เจ้าจงนั่งที่อาสน์นี้. มโหสถก็นั่งที่อาสน์นั้น เสนกะ ปุกกุสะ กามินทะ เทวินทะ และชนเหล่าอื่นผู้โฉดเขลา ก็พากันตบมือสรวลเสเฮฮาเยาะเย้ยว่า คนทั้งหลายพากันเรียกคนโฉดเขลาผู้นี้ว่า บัณฑิต การเรียกผู้ที่ให้บิดาลุกจากอาสน์ แล้วตนนั่งเสียเองนี้ว่า บัณฑิต ไม่สมควร. พระราชามีพระพักตร์เศร้าหมอง ทรงเสียพระหฤทัย. ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ทูลถามพระราชาว่า พระองค์เสียพระราชหฤทัยหรือ พระเจ้าข้า. พระราชามีพระราชดำรัสตอบว่า เออ ข้าเสียใจ เพราะได้ฟังความเป็นไปของเจ้า ก็เป็นที่ยินดี แต่พอได้เห็นความเป็นไปของเจ้าก็เกิดเสียใจ เพราะว่าเจ้าให้บิดาของเจ้าลุกจากอาสน์ แล้วเจ้านั่งเสียเอง. มโหสถจึงทูลถามว่า ก็พระองค์ทรงสำคัญว่า บิดาอุดมกว่าบุตรในที่ทั่วไปหรือ. ครั้นตรัสตอบว่า เข้าใจอย่างนั้น. จึงกราบทูลว่า พระองค์พระราชทานข่าวไปว่า ให้ข้าพระบาทส่งม้าอัสดร หรือม้าประเสริฐกว่า ม้าสามัญมาถวายไม่ใช่หรือ พระเจ้าข้า. กราบทูลดังนี้แล้ว ลุกจากอาสน์ให้ทีแก่บริวารให้นำฬาที่นำมานั้น มาให้นอนแทบพระบาทยุคลแห่งพระเจ้าวิเทหราช แล้วกราบทูล ถามว่า ฬานี้ราคาเท่าไร พระเจ้าข้า. พระราชาตรัสตอบว่า ถ้ามันมีอุปการะราคามัน ๘ กหาปณะ. มโหสถทูลถามต่อไปว่า ก็ม้าอัสดรอาศัยฬานี้ เกิดในท้องนางม้าสามัญ หรือนางฬาอันเป็นแม่ม้าอาชาไนย ราคาเล่าไรเล่า พระเจ้าข้า. ครั้นพระราชาตรัสตอบว่า หาค่ามิได้ซิ เจ้าบัณฑิต. ดังนี้ จึงทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ เหตุไรตรัสดังนั้น. ก็พระองค์ตรัสเมื่อกี้นี้ว่า บิดาอุดมกว่าบุตร ในที่ทุกสถานมิใช่หรือ. ถ้าพระราชดำรัสนั้นจริง ฬาก็อุดมกว่าม้าอัสดรของพระองค์. พระองค์จงทรงรับฬานั้นไว้. ถ้าว่าม้าอัสดรอุดมกว่าฬาทั้งหลาย พระองค์จงทรงรับม้าอัสดรนั้นไว้. ก็เป็นอย่างไร บัณฑิตทั้งหลายของพระองค์ จึงไม่สามารถจะรู้เหตุเท่านี้ พากันตบมือหัวเราะเฮฮา โอ บัณฑิตทั้งหลายของพระองค์บริบูรณ์ด้วยปัญญา พวกนั้นพระองค์ได้มาแต่ไหน. ทูลฉะนี้ กล่าวเยาะเย้ยบัณฑิต ๔ คน แล้วทูลพระราชาด้วยคาถาในเอกนิบาตว่า
    ข้าแต่พระราชาผู้ประเสริฐ ถ้าพระองค์ทรงสำคัญอย่างนี้ว่า บิดาประเสริฐกว่าบุตร ฬาของพระองค์นี้ก็ประเสริฐกว่าม้าอัสดร เพราะว่าฬาเป็นพ่อของม้าอัสดร.
    คาถานั้นมีความว่า ข้าแต่พระราชาผู้ประเสริฐ ถ้าพระองค์ทรงสำคัญว่า บิดาประเสริฐกว่าบุตรในที่ทั้งปวง. ฬาตัวนี้ก็ประเสริฐกว่าแม้ม้าอัสดรของพระองค์ เพราะเหตุไร เพราะฬาเป็นพ่อของม้าอัสดร. ก็แลครั้นทูลอย่างนี้แล้ว พระมหาสัตว์ก็กราบทูลว่า ถ้าบิดาประเสริฐกว่าบุตรทั้งหลาย ขอได้ทรงรับบิดาของข้าพระองค์ไว้. ถ้าบุตรประเสริฐกว่าบิดา ขอได้ทรงรับข้าพระองค์ไว้ เพื่อประโยชน์แก่พระองค์. พระเจ้าวิเทหราชได้ทรงฟังคำนั้น ก็ทรงโสมนัส. ราชบริษัททั้งปวงก็แซ่ซ้องสาธุการว่า มโหสถบัณฑิตกล่าวปัญหาดีแล้ว เสียงปรบมือและการยกแผ่นผ้าเป็นพันๆ ได้เป็นไปแล้ว. บัณฑิต ๔ คนต่างมีหน้าเศร้าหมองซบเซาไปตามๆ กัน.
    ปุจฉาว่า บุคคลผู้รู้คุณแห่งบิดามารดา เช่นกับพระโพธิสัตว์ ย่อมไม่มีมิใช่หรือ. เมื่อเป็นเช่นนั้น เหตุไรพระโพธิสัตว์จึงทำอย่างนี้.
    วิสัชนาว่า พระโพธิสัตว์นั้นได้ทำอย่างนั้น เพื่อประสงค์จะดูหมิ่นบิดาก็หาไม่. ก็แต่พระราชาส่งข่าวไปว่า ให้ส่งม้าอัสดรหรือม้าประเสริฐกว่าม้าสามัญมาถวาย. เพราะฉะนั้น จึงทำอย่างนี้ เพื่อจะทำปัญหานั้นให้แจ่มแจ้ง เพื่อจะประกาศความที่ตนเป็นบัณฑิต และเพื่อจะทำอาจารย์ทั้ง ๔ มีเสนกะเป็นต้น ให้หมดรัศมี.
    จบ ปัญหาฬา
     
  13. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    พระเจ้าวิเทหราชทรงยินดี จับพระเต้าทองคำอันเต็มด้วยน้ำหอม ทรงหลั่งน้ำนั้นลงในมือสิริวัฒกเศรษฐี. พระราชทานให้ปกครองปาจีนยวมัชฌคาม แล้วตรัสว่า เหล่าอนุเศรษฐีจงบำรุงสิริวัฒกเศรษฐี แล้วให้ส่งเครื่องสรรพาลังการ พระราชทานแก่นางสุมนาเทวีมารดาพระโพธิสัตว์. ทรงเลื่อมใสในปัญหาฬา จึงตรัสกะเศรษฐีเพื่อจะทรงรับ พระโพธิสัตว์ไว้เป็นราชบุตรที่รักของพระองค์ว่า ดูก่อนคฤหบดีผู้เจริญ ท่านจงให้มโหสถบัณฑิตไว้เป็นราชบุตรแห่งเรา. เศรษฐีทูลค้านว่า ข้าแต่สมมติเทพ มโหสถบุตรของข้าพระองค์นี้ยังเด็กนัก. จนถึงวันนี้ กลิ่นน้ำนมในปากของเธอยังได้กลิ่นอยู่. ต่อในกาลเมื่อเธอเป็นผู้ใหญ่ เธอจึงอยู่ในราชสำนัก. พระราชาตรัสว่า จำเดิมแต่นี้ไป ท่านอย่าห่วงใยในมโหสถเลย. มโหสถนี้จักเป็นราชบุตรของเราแต่วันนี้ไป. เราพอจะเลี้ยงบุตรของท่านได้ ท่านจงกลับบ้านเถิด. ตรัสฉะนี้ แล้วมีพระราชานุญาตให้เศรษฐีกลับบ้าน. เศรษฐีถวายบังคมบรมกษัตริย์ แล้วสวมกอดมโหสถให้นอนแนบอก จุมพิตศีรษะ ให้โอวาทแก่มโหสถว่า แน่ะพ่อดุจดวงใจ ดุจดวงตาอันประเสริฐ พ่อมโหสถผู้บัณฑิต พ่ออย่าทำให้บิดาหาที่พึ่งมิได้. จำเดิมแต่นี้ไป พ่อจงบำรุงพระราชาของเราทั้งหลาย ด้วยความไม่ประมาทเถิด. มโหสถไหว้บิดาแล้วกล่าวว่า บิดาอย่าวิตกเลย แล้วส่งให้บิดากลับเคหสถานแห่งตน.
    พระเจ้าวิเทหราชตรัสถามมโหสถว่า เจ้าจักเป็นข้าหลวงเรือนใน หรือข้าหลวงเรือนนอก. พระโพธิสัตว์คิดว่า บริวารของเรามีมาก ควรเราจักเป็นข้าหลวงเรือนนอก. จึงกราบทูลว่า ข้าพระองค์จักเป็นข้าหลวงเรือนนอก. ลำดับนั้น พระราชาจึงพระราชทานเคหสถานอันสมควร แล้วพระราชทานเสบียงและเครื่องอุปโภคทั้งปวง ตลอดถึงบริวารพันหนึ่ง. ตั้งแต่นั้นมา มโหสถบัณฑิตก็บำรุงพระราชา. ฝ่ายพระราชาก็ทรงใคร่จะทดลองมโหสถนั้นต่อไป.
    ก็กาลนั้น แก้วมณีได้มีอยู่ในรังกาบนต้นตาลต้นหนึ่งที่ริมฝั่งสระโบกขรณี ไม่ไกลประตูเบื้องทักษิณแห่งพระนคร. เงาของแก้วมณีนั้น ปรากฏในสระโบกขรณี. ชนทั้งหลายทูลแด่พระราชาว่า แก้วมณีมีอยู่ในสระโบกขรณี. พระราชาตรัสเรียกเสนกะมาตรัสถามว่า แน่ะอาจารย์เสนกะ ได้ยินว่า มณีรัตนะปรากฏในสระโบกขรณี. ทำอย่างไร จึงจะถือเอาแก้วมณีนั้นได้. ครั้นเสนกทูลว่า ควรวิดน้ำถือเอา. จึงควรมอบการทำนั้นให้เป็นภาระของเสนกนั้น. อาจารย์เสนกให้คนเป็นอันมากประชุมกัน วิดน้ำโกยตมออกจากสระโบกขรณี. แม้ขุดถึงพื้นก็ไม่เห็นแก้วมณี เมื่อน้ำเต็มสระโบกขรณี เงาแก้วมณีก็ปรากฏอีก. เสนก แม้ทำดังนั้นอีก ก็ไม่เห็นแก้วมณีนั้นเลย. ต่อนั้น พระราชาตรัสเรียกมโหสถบัณฑิตมาตรัสว่า แก้วมณีดวงหนึ่งปรากฏในสระโบกขรณี. อาจารย์เสนกให้นำน้ำและโคลนออกจากสระโบกขรณี กระทั่งขุดพื้นก็ไม่เห็นแก้วมณีนั้น. เมื่อน้ำเต็มสระโบกขรณี เงาแก้วมณีก็ปรากฏอีก. เจ้าสามารถจะให้เอาแก้วมณีนั้นมาได้หรือ. มโหสถกราบทูลสนองว่า ข้อนั้นหาเป็นการหนักไม่ พระเจ้าข้า. เชิญเสด็จเถิด ข้าพระองค์จักแสดงแก้วมณีนั้นถวาย. พระเจ้าวิเทหราชได้สดับดังนั้น ก็ทรงดีพระหฤทัย ทรงคิดว่า วันนี้เราจักเห็นกำลังปัญญาของมโหสถบัณฑิต ก็เสด็จพร้อมด้วยข้าราชบริพารไปสู่ฝั่งโบกขรณี. พระมหาสัตว์ยืนที่ฝั่ง แลดูมณีรัตนะก็รู้ว่า แก้วมณีนี้ไม่มีในสระโบกขรณี มีอยู่บนต้นตาล. จึงกราบทูลว่า แก้วมณีไม่มีในสระโบกขรณี พระเจ้าข้า. ครั้นรับสั่งว่า แก้วมณีปรากฏในน้ำไม่ใช่หรือ. จึงให้นำภาชนะสำหรับขังน้ำมาใส่น้ำเต็ม. แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์ทอดพระเนตร แก้วมณีนี้หาได้ปรากฏในสระโบกขรณี แต่แห่งเดียวไม่. แม้ในภาชนะน้ำก็ปรากฏ. ครั้นตรัสถามว่า เจ้าบัณฑิต ก็แก้วมณีมีอยู่ที่ไหน จึงกราบทูลสนองว่า ข้าแต่สมมติเทพ เงาปรากฏในสระโบกขรณีบ้าง ในภาชนะน้ำบ้าง แก้วมณีไม่ได้อยู่ในสระโบกขรณี แต่แก้วมณีมีอยู่ในรังกาบนต้นตาล. โปรดให้ราชบุรุษขึ้นไปนำลงมาถวายเถิด. พระราชาก็ตรัสให้ราชบุรุษขึ้นไปนำแก้วมณีลงมา. มโหสถบัณฑิตรับแก้วมณีจากราชบุรุษ แล้ววางในพระหัตถ์ของพระราชา. มหาชนให้สาธุการแก่มโหสถบัณฑิต. บริภาษอาจารย์เสนก ชมเชยมโหสถว่า แก้วมณีอยู่บนต้นตาล เสนกโง่ให้คนมากมายขุดสระ ทำลายสระโบกขรณี. แต่มโหสถบัณฑิตไม่ทำเช่นนั้น. แม้พระเจ้าวิเทหราชก็ทรงโสมนัส พระราชทานสร้อยมุกดาหาร เครื่องประดับพระศอของพระองค์แก่มโหสถ. พระราชทานสร้อยมุกดาวลีแก่เด็กผู้เป็นบริวารพันหนึ่ง. ทรงอนุญาตพระโพธิสัตว์ พร้อมบริวารให้ปฏิบัติราชการ โดยทำนองนี้.
    จบปัญหา ๑๙ ข้อ

    อีกวันหนึ่ง พระเจ้าวิเทหราชเสด็จไปพระราชอุทยานกับมโหสถบัณฑิต. กาลนั้น มีกิ้งก่าตัวหนึ่งอยู่ที่ปลายเสาค่าย. มันเห็นพระราชา เสด็จมาก็ลงจากเสาค่ายหมอบอยู่ที่พื้นดิน. พระราชาทอดพระเนตร เห็นกิริยาของกิ้งก่านั้น. จึงตรัสถามว่า แน่ะบัณฑิต กิ้งก่าตัวนี้ทำอะไร. มโหสถทูลตอบว่า กิ้งก่าตัวนี้ถวายตัว พระเจ้าข้า. พระราชาตรัสว่า การถวายตัวของกิ้งก่าอย่างนี้ ไม่มีผลก็หามิได้. ท่านจงให้โภคสมบัติแก่มัน. มโหสถกราบทูลว่า กิ้งก่านี้หาต้องการทรัพย์ไม่ ควรพระราชทานเพียงแต่ของกินก็พอ. ครั้นตรัสถามว่า มันกินอะไร. ทูลตอบว่า มันกินเนื้อ. แล้วตรัสซักถามว่า มันควรได้ราคาเท่าไร. ทูลว่า ราคาราวกากณึกหนึ่ง. จึงตรัสสั่งราชบุรุษหนึ่งว่า รางวัลของหลวง เพียงกากณึกหนึ่งไม่ควร. เจ้าจงนำเนื้อราคากึ่งมาสกมาให้มันกินเป็นนิตย์. ราชบุรุษรับพระราชโองการ ทำดังนั้นจำเดิมแต่นั้นมา. วันหนึ่งเป็นวันอุโบสถ คนไม่ฆ่าสัตว์. ราชบุรุษนั้นไม่ได้เนื้อ จึงเจาะเหรียญกึ่งมาสกนั้น เอาด้ายร้อยผูกเป็นเครื่องประดับที่คอมัน. ลำดับนั้น ความถือตัวก็เกิดขึ้นแก่กิ้งก่านั้น อาศัยมันมีกึ่งมาสกนั้น. วันนั้น พระราชาเสด็จไปพระราชอุทยาน. กิ้งก่านั้นเห็นพระราชาเสด็จมา. ก็ทำตนเสมอพระราชาด้วย เหมือนจะเข้าใจว่า พระองค์มีพระราชทรัพย์มากหรือ. ตัวเราก็มีมากเหมือนกัน ด้วยอำนาจความถือตัว อันอาศัยทรัพย์กึ่งมาสกนั้นเกิดขึ้น. ไม่ลงจากปลายเสาค่ายหมอบ ยกหัวร่อนอยู่ไปมาบนปลายเสาค่าย นั่นเอง. พระเจ้าวิเทหราชได้ทอดพระเนตรเห็น กิริยาของมัน. เมื่อจะตรัสถามว่า แน่ะเจ้าบัณฑิต วันนี้ มันไม่ลงมาเหมือนในก่อน เหตุเป็นอย่างไรหรือ. จึงตรัสคาถานี้ว่า
    กิ้งก่านี้ไม่ลงจากปลายเสาค่ายหมอบเหมือนในก่อน เจ้าจงรู้กิ้งก่ากระด้างด้วยเหตุไร.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น อุนฺนมติ ความว่า วันนี้ กิ้งก่าไม่ลงหมอบ ยกหัวร่อนอยู่ไปมาบนปลายเสาค่ายนั่นเอง ฉันใด. กิ้งก่าไม่ลงมาหมอบอย่างในก่อน ฉันนั้น. บทว่า เกน ถทฺโธ ความว่า ถึงความกระด้างด้วยเหตุไร.
    ลำดับนั้น มโหสถบัณฑิตรู้ว่า ในวันอุโบสถ คนไม่ฆ่าสัตว์. มันอาศัยกึ่งมาสกที่ราชบุรุษผูกไว้ที่คอ เพราะหาเนื้อให้กินไม่ได้. ความถือตัวของ มันจึงเกิดขึ้น ดังนี้. จึงกล่าวคาถานี้ว่า
    กิ้งก่าได้กึ่งมาสกซึ่งไม่เคยได้ จึงดูหมิ่นพระเจ้าวิเทหราชผู้ทรงสงเคราะห์ชาวกรุงมิถิลา.
    พระราชาตรัสให้เรียกราชบุรุษนั้นมาตรัสถาม ก็ได้ความสมจริงดังนั้น ก็ทรงเลื่อมใสในพระโพธิสัตว์เกินเปรียบ. ด้วยเห็นว่า อัธยาศัยของกิ้งก่า มโหสถไม่ได้ถามอะไรๆ ก็รู้ได้ ดังพระสัพพัญญูพุทธเจ้ารู้อัธยาศัยเวไนยสัตว์ ฉะนั้น. จึงพระราชทานส่วยที่ประตูทั้ง ๔ แก่มโหสถบัณฑิต. แต่กริ้วกิ้งก่า ทรงปรารภจะให้ฆ่าเสีย. มโหสถทูลทัดทานพระราชาว่า ธรรมดาสัตว์ดิรัจฉานหาปัญญามิได้. ขอพระองค์โปรดยกโทษให้มันเถิด ขอเดชะ.
    จบ ปัญหากิ้งก่า

    ครั้งนั้น มีมาณพคนหนึ่งชื่อ ปิงคุตตระ. เป็นชาวมิถิลาไปกรุงตักกสิลา เรียนศิลปะในสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ เรียนได้รวดเร็ว. มาณพนั้นให้ทรัพย์เครื่องตอบคุณ แล้วลาอาจารย์กลับบ้าน. ก็ธรรมเนียมมีอยู่ว่า ถ้าธิดาในสกุลนั้นเป็นผู้เจริญวัย อาจารย์ต้องยกให้แก่ศิษย์ผู้ใหญ่. อาจารย์นั้นมีธิดาอยู่คนหนึ่ง มีรูปงามเปรียบด้วยเทพอัปสร. ลำดับนั้น อาจารย์กล่าวกะปิงคุตตรมาณพนั้นว่า เราให้ธิดาแก่เจ้า เจ้าจงพาไปด้วย. แต่มาณพนั้นไม่ใช่ผู้มีบุญ เป็นคนกาลกรรณี. ส่วนนางกุมาริกาเป็นผู้มีบุญมาก. จิตของปิงคุตตรมาณพมิได้ปฏิพัทธ์เพราะเห็นนางกุมาริกานั้น. มาณพนั้น แม้ไม่ปรารถนานางกุมาริกา ก็ต้องรับด้วยคิดว่า เราจักไม่ทำลายคำของอาจารย์. พราหมณ์ทิศาปาโมกข์ได้ให้ธิดาแก่มาณพนั้น. มาณพนั้นนอน ณ ที่นอน อันมีสิริที่ตกแต่งแล้วในเวลาราตรี. ให้ละอายใจใน เพราะนางกุมารีนั้นมาขึ้นนอนด้วย. ก็ลงจากที่นอนนอนที่ภาคพื้น. ฝ่ายนางกุมาริกาก็ลงมานอนใกล้ๆ มาณพนั้น. มาณพก็ลุกขึ้นไปบนที่นอน. นางกุมาริกานั้นก็ขึ้นไปยังที่นอนอีก. พอนางกุมาริกาขึ้นไป มาณพก็ลงจากที่นอน นอนที่ภาคพื้นอีก. ชื่อว่ากาลกรรณี ย่อมไม่ร่วมกับสิริ. นางกุมาริกานอนที่ที่นอน มาณพนั้นนอนที่ภาคพื้น. มาณพนั้นยังกาลให้ล่วงไปอย่างนี้ สิ้นสัปดาห์หนึ่ง. ก็พานางกุมาริกานั้นไหว้อาจารย์ออกจากพระนครตักกสิลา. ในระหว่างทางมิได้พูดจาปราศรัยกันเลย ชนทั้งสองมิได้มีความปรารถนากัน ได้มาถึงกรุงมิถิลา.
    ฝ่ายปิงคุตตรมาณพเห็น ต้นมะเดื่อต้นหนึ่งเต็มไปด้วยผล ในที่ใกล้พระนคร. ถูกความหิวเบียดเบียน ก็ขึ้นต้นไม้นั้น. เคี้ยวกินผลมะเดื่อ. ฝ่ายนางกุมาริกานั้นก็หิวโหย จึงไปที่โคนต้นไม้กล่าวว่า ข้าแต่นาย จงทิ้งผลลงมาให้ข้าพเจ้าบ้าง. มาณพนั้นตอบว่า มือตีนของเจ้าไม่มีหรือ เจ้าจงขึ้นมาเก็บกินเอง. นางก็ขึ้นไปเก็บเคี้ยวกิน. มาณพรู้ว่านางขึ้นมา ก็รีบลงล้อมต้นมะเดื่อด้วยหนามแล้วกล่าวว่า เราพ้นจากหญิงกาลกรรณี แล้วหนีไป. นางกุมาริกานั้น เมื่อไม่อาจลง ก็นั่งอยู่บนนั้นนั่นเอง. วันนั้น พระเจ้าวิเทหราชเสด็จประพาสพระราชอุทยาน ทรงเล่นอยู่ในพระราชอุทยานนั้นแล้ว. เมื่อประทับนั่งบนคอช้าง เสด็จเข้าพระนครในเวลาเย็น. ได้ทอดพระเนตรเห็นนางกุมาริกานั้น มีพระหฤทัยปฏิพัทธ์ในนาง. จึงตรัสสั่งให้ถามว่า นางมีผู้หวงแหนหรือหาไม่. นางแจ้งว่า สามีของนางที่สกุลตบแต่งมีอยู่ แต่เขาให้ ข้าพเจ้านั่งบนนี้ ทิ้งเสียแล้วหนีไป. อมาตย์กราบทูลความนั้นแด่พระราชา. พระราชาทรงดำริว่า ภัณฑะไม่มีเจ้าของ ตกเป็นของหลวง. จึงให้รับนางลง แล้วให้ขึ้นคอช้างนำไปราชนิเวศน์. อภิเษกสถาปนาไว้ในตำแหน่งอัครมเหสี พระนางเป็นที่รัก เป็นที่ชอบพระหฤทัยแห่งพระราชา. ชนทั้งหลายกำหนดรู้ พระนามของพระนางว่า อุทุมพรเทวี เพราะพระราชาได้พระนางมาแต่อุทุมพรพฤกษ์.
    อยู่มาวันหนึ่ง เจ้าหน้าที่ยังชาวบ้านใกล้ประตูเมืองให้แผ้วถางทาง. เพื่อประโยชน์ในการเสด็จพระราชดำเนินสู่สวนหลวง. ปิงคุตตรมาณพเมื่อทำการจ้าง โจงกระเบน มั่นถางทางด้วยจอบ. เมื่อทางยังไม่แล้ว พระราชาประทับบนรถที่นั่งกับด้วยพระนางอุทุมพรเทวีเสด็จออกจากพระนคร. พระนางอุทุมพรเทวีได้ทอดพระเนตร เห็นปิงคุตตรมาณพผู้กาลกรรณีนั้นแผ้วถางอยู่. เมื่อทอดพระเนตรมาณพนั้น ด้วยนึกในพระหฤทัยว่า บุรุษกาลกรรณีนี้ไม่สามารถจะทรงสิริเห็นปานดังนี้ไว้ ก็ทรงพระสรวล. พระราชาทอดพระเนตร เห็นพระนางทรงพระสรวลก็กริ้ว. ตรัสถามว่า หัวเราะอะไร. พระนางกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ บุรุษผู้ถางทางนี้เป็นสามีคนเก่าของข้าพระบาท ยังข้าพระบาทให้ขึ้นต้นมะเดื่อ แล้วเอาหนามสะวงไว้แล้วไป. ข้าพระบาทแลดูเขาแล้วคิดว่า บุรุษกาลกรรณีนี้ไม่สามารถจะทรงสิริเห็นปานดังนี้ไว้ จึงหัวเราะ. พระราชาตรัสว่า เธอกล่าวมุสา เธอเห็นอะไรอื่น เราจักฆ่าเธอ. ตรัสฉะนี้ แล้วทรงจับพระแสงดาบ. พระนางมีความเกรงกลัวพระราชอาญา จึงกราบทูลว่า ขอพระองค์ตรัสถามบัณฑิตทั้งหลายก่อน. พระราชาจึงตรัสถามเสนกว่า ท่านเชื่อหรือ. เสนกทูลว่า ข้าพระองค์ไม่เชื่อ ชายอะไรจะละสตรีเห็นปานดังนี้ไป พระเจ้าข้า. พระนางอุทุมพรได้ทรงสดับคำของเสนก ยิ่งกลัวพระราชอาญาเหลือเกิน. ลำดับนั้น พระราชาทรงดำริว่า เสนกจะรู้อะไร เราจักถามมโหสถ.
    เมื่อจะตรัสถามมโหสถ จึงตรัสคาถานี้ว่า
    ดูก่อนมโหสถบัณฑิต สตรีรูปงาม และนางสมบูรณ์ด้วยอาจารมารยาท บุรุษไม่ปรารถนาสตรีนั้น เจ้าเชื่อหรือ.

    บทว่า สีลวตี ในคาถานั้น ความว่า ถึงพร้อมด้วยอาจารมรรยาท.

    มโหสถบัณฑิตได้ฟังกระแสพระราชดำรัสนั้น จึงกล่าวคาถานี้ว่า
    ข้าแต่มหาราชเจ้า ข้าพระองค์เชื่อบุรุษผู้หาบุญมิได้ พึงมี. สิริและกาลกรรณีย่อมร่วมกันไม่ได้ ไม่ว่าในกาลไหนๆ.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น สเมนฺติ ความว่า ย่อมเข้าหากันไม่ได้ เหมือนฟากข้างนี้กับฟากข้างโน้นของทะเล เหมือนท้องฟ้ากับพื้นดิน.
    พระราชาทรงทราบเหตุการณ์นั้นตามคำของมโหสถ หายกริ้ว ทรงยินดีต่อมโหสถ. ตรัสว่า แน่ะเจ้าบัณฑิต ถ้าไม่ได้เจ้า วันนี้ข้าจักเสื่อมจากสตรีรัตนะ เห็นปานดังนี้. ด้วยถ้อยคำของเสนกผู้โฉดเขลา. ข้าได้นางนี้ไว้เพราะอาศัยเจ้า. ตรัสชมฉะนี้แล้ว พระราชทานกหาปณะแสนหนึ่งบูชามโหสถ. ฝ่ายพระเทวีถวายบังคมพระราชา แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่เทพเจ้า ข้าพระองค์ได้ชีวิต เพราะอาศัยมโหสถบัณฑิต. ข้าพระองค์ปรารถนาพระพร เพื่อให้มโหสถบัณฑิตนี้ตั้งอยู่ในที่เป็นน้องชาย. ขอพระองค์โปรดประทานเถิด. พระเจ้าวิเทหราชก็พระราชทานพรแก่พระนางว่า ดีแล้วพระเทวี เธอจงรับพร เราให้พรแก่เธอ. พระนางจึงกราบทูลว่า ข้าแต่เทพเจ้า จำเดิมแต่วันนี้ ข้าพระองค์จะไม่บริโภคอะไรๆ มีรสอร่อย เว้นน้องชาย. ตั้งแต่นี้ไป ข้าพระองค์จงได้เพื่อให้เปิดประตูในเวลาหรือมิใช่เวลา ส่งของมีรสอร่อยไปให้น้องชายนั้น. ข้าพระองค์ขอรับพระพรนี้. พระเจ้าวิเทหราชตรัสว่า ดีแล้ว นางผู้เจริญ เธอจงรับพรนี้.
    จบปัญหาสิริกับกาลกรรณี
     
  14. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    วันอื่น พระเจ้าวิเทหราชเสวยกระยาหารเช้าแล้ว เสด็จดำเนินไปมา ณ ระหว่างพื้นยาวแห่งปราสาท. เมื่อทอดพระเนตรออกไปทางช่องพระแกล ได้ทอดพระเนตรเห็นแพะหนึ่งสุนัขหนึ่ง ทำความเชยชิดเป็นมิตรกัน. ได้ยินว่า แพะนั้นกินหญ้า ในโรงช้างที่เขาทอดไว้หน้าช้าง ช้างยังมิได้จับ. ลำดับนั้น คนเลี้ยงช้างทั้งหลายตีแพะนั้นให้ออกไป. คนเลี้ยงช้างคนหนึ่งไล่ติดตามแพะนั้น ซึ่งร้องหนีไปโดยเร็ว เอาท่อนไม้ตีขวางลงที่หลังแพะ แพะนั้นแอ่นหลังได้ทุกขเวทนา. ไปนอนใกล้ตั่ง อาศัยฝาใหญ่ในพระราชคฤหาสน์. วันนั้น สุนัขเคี้ยวกินกระดูกและหนังเป็นต้น ที่ห้องเครื่องหลวงจนอ้วนพี. เมื่อพ่อครัวจัดภัตตาหาร แล้วออกไปข้างนอกผึ่งเหงื่อในสรีระ. มันได้กลิ่นปลาเนื้อ ไม่อาจอดกลั้นความอยาก ก็เข้าไปในห้องเครื่อง. ยังเครื่องปิดภาชนะให้ตกลงแล้วเคี้ยวกินเนื้อ. ฝ่ายพ่อครัวได้ยินเสียงภาชนะ ก็เข้าไปทางเสียงภาชนะ. เห็นสุนัขกำลังกินเนื้ออยู่ จึงปิดประตูตีสุนัขนั้นด้วยก้อนดินและท่อนไม้เป็นต้น. สุนัขนั้นก็ทิ้งเนื้อที่เคี้ยวกินจากปาก ร้องวิ่งหนีออกไป. พ่อครัวรู้ว่า สุนัขหนีออกไป จึงติดตามไปตีขวางที่หลังด้วยท่อนไม้. สุนัขก็แอ่นหลังยกเท้าข้างหนึ่งเข้าไปในที่แพะนอน. แพะถามสุนัขนั้นว่า เพื่อนแอ่นหลังยกเท้าข้างหนึ่งมา ด้วยเหตุไร. ลมเสียดแทงเพื่อนหรือ. ฝ่ายสุนัขก็ถามว่า เพื่อนแอ่นหลังนอนอยู่ ลมเสียดแทงเพื่อนหรือ. แพะบอกเรื่องของตนแก่สุนัข แม้สุนัขก็บอกอย่างนั้นเหมือนกัน. ลำดับนั้น แพะถามสุนัขว่า เพื่อนสามารถจะไปสู่โรงครัวอีกหรือ. สุนัขตอบว่า ข้าไม่สามารถแล้ว เมื่อข้าไปชีวิตจะไม่มี. ก็เพื่อนสามารถจะไปสู่โรงช้างอีกหรือ. แพะตอบว่า ถึงข้าก็ไม่กล้าไปที่โรงช้างนั้น ถ้าข้าขืนไป ชีวิตก็จะไม่มี. สัตว์ทั้งสองคิดหาอุบายว่า บัดนี้ เราจะเป็นอยู่ได้อย่างไรหนอ. แพะจึงกล่าวกะสุนัขว่า ถ้าเราทั้งสองอาจอยู่ร่วมกัน อุบายก็มี คือตั้งแต่นี้ไป เจ้าจงไปโรงช้าง พวกคนเลี้ยงช้างจักไม่สงสัยในตัวเจ้า ด้วยเห็นว่า สัตว์นี้ไม่กินหญ้า เจ้าพึงนำหญ้ามาเพื่อข้า. ส่วนข้าจักเข้าไปในโรงครัว พ่อครัวจักไม่สงสัยในตัวข้า ด้วยเห็นว่า สัตว์นี้ไม่กินเนื้อ. ข้าก็จักนำเนื้อมาเพื่อเจ้า. สัตว์ทั้งสองตกลงกันว่า อุบายนี้เข้าที. สุนัขจึงไปโรงช้าง คาบฟ่อนหญ้า นำมาวางไว้ใกล้หลังฝาใหญ่. ฝ่ายแพะไปสู่ห้องเครื่อง คาบก้อนเนื้อเต็มปาก นำมาวางไว้ใกล้ที่นั้นเอง. สุนัขก็เคี้ยวกินเนื้อ แพะเคี้ยวกินหญ้า. สัตว์ทั้งสองนั้นพร้อมเพรียงชอบพอกันอยู่ใกล้หลังฝาใหญ่. พระเจ้าวิเทหราชทอดพระเนตร เห็นความที่แพะและสุนัขทั้งสองนั้นชอบกันโดยเป็นเพื่อน. จึงทรงจินตนาการว่า เหตุการณ์ที่เรายังไม่เคยเห็น เราได้เห็นแล้วในวันนี้. แต่ก่อนมาสัตว์ทั้งสองนี้เป็นศัตรูกัน. บัดนี้ อยู่ร่วมกันได้ เราจักจับเหตุการณ์นี้ ทำเป็นปัญหาถามบัณฑิตทั้งหลาย. บัณฑิตใดไม่รู้ปัญหานี้ เราจักขับบัณฑิตนั้นจากแคว้น. แต่เราจักสักการะแก่บัณฑิตผู้รู้ เพราะบัณฑิตอื่นรู้อย่างนี้ไม่มี. วันนี้หมดเวลาแล้ว พรุ่งนี้เราจักถามบัณฑิตเหล่านั้น ในเวลามาทำการในหน้าที่. รุ่งขึ้น ในเมื่อบัณฑิตทั้งหลายมานั่งทำการในหน้าที่ของตนแล้ว. เมื่อจะถามปัญหา จึงตรัสคาถานี้ว่า
    ความที่สัตว์เหล่าใดเป็นเพื่อนกันในโลกนี้ แม้ไปด้วยกันสัก ๗ ก้าว ไม่เคยมีในกาลไหนๆ. สัตว์ทั้งสองนั้นเป็นศัตรูกัน มาเป็นเพื่อนประพฤติเพื่อคุ้นกันได้ เพราะเหตุอะไร.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปฏิสนฺถาย ได้แก่ เชื่อกันและกันแล้วพยายาม.
    ก็แลครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว ได้ตรัสอย่างนี้อีกว่า
    ถ้าเวลากินอาหารเช้าแล้ววันนี้ ท่านทั้งหลายไม่สามารถกล่าวแก้ปัญหานี้ของเรา. เราจักขับท่านทั้งปวงจากแว่นแคว้น เพราะเราไม่ต้องการพวกคนเขลา.
    เสนกะนั่งอยู่ต้นอาสนะ มโหสถบัณฑิตนั่งอยู่ที่สุดอาสนะ. พระมหาสัตว์พิจารณาปัญหานั้น ยังไม่เห็นเนื้อความ. จึงคิดว่า พระราชาองค์นี้มีพระชวนะเฉื่อยช้า ไม่สามารถจะทรงจับคิดปัญหานี้. พระองค์คงจักทอดพระเนตรเห็นอะไรแน่. วันหนึ่ง เมื่อเราได้โอกาสจักนำปัญหานี้ออกแสดง อาจารย์เสนกะจักยังพระราชาให้งดสักวันหนึ่งในวันนี้ ด้วยอุบายอย่างหนึ่งจะได้หรือ. ชนทั้งสามนอกนี้ แลไม่เห็นอะไรๆ เหมือนเข้าห้องมืด ฉะนั้น. เสนกะแลดูพระโพธิสัตว์ ด้วยมนสิการว่า ความเป็นไปของมโหสถจะเป็นอย่างไรหนอ. ฝ่ายมโหสถก็แลดูเสนกะ เสนกะรู้ความประสงค์ของพระโพธิสัตว์ ด้วยอาการที่พระโพธิสัตว์แลดู. จึงคิดว่า ปัญหานั้นยังไม่ปรากฏแก่มโหสถ. เพราะเหตุนั้น มโหสถจึงปรารถนาโอกาสวันหนึ่ง เราจักยังมโนรถของมโหสถให้เต็ม. จึงสรวลขึ้นด้วยวิสาสะกับพระราชา. ทูลว่า พระองค์จักขับข้าพระบาทเหล่านี้ ผู้ไม่สามารถกล่าวแก้ปัญหาจากแคว้นจริงๆ หรือ พระเจ้าข้า. พระราชาตรัสตอบว่า จริงๆ ซิบัณฑิต. เสนกะจึงทูลว่า พระองค์ทรงกำหนดปัญหานี้ว่า ปัญหามีเงื่อนเดียวหรือ. ข้าพระองค์ทั้งหลายไม่สามารถจะกล่าวแก้ปัญหานี้ในวันนี้. ขอได้ทรงงดหน่อยหนึ่ง ปัญหานี้มีเงื่อน. ข้าพระองค์ทั้งหลายจักกล่าวแก้ ในท่ามกลางประชุมชน. จะต้องนั่งคิดในที่หนึ่ง ภายหลังจักทูลแก้แด่พระองค์. ขอได้โปรดพระราชทานโอกาสแก่พวกข้าพระองค์. เสนกะกล่าวดังนี้แลดูมโหสถ. แล้วกล่าว ๒ คาถานี้ว่า
    ข้าแต่พระจอมประชากร ในเมื่อสมาคมแห่งหมู่ชนอึกทึก ในเมื่อชุมนุมแห่งชนโกลาหล. ข้าพระองค์ทั้งหลายมีใจฟุ้งซ่าน มีจิตไม่แน่วอยู่ที่เดียว. จึงไม่สามารถจะพยากรณ์ปัญหานั้น.
    นักปราชญ์ทั้งหลายมีจิตมีอารมณ์เดียว คนๆหนึ่งอยู่ในที่ลับ คิดเนื้อความทั้งหลาย พิจารณาอยู่ในสถานที่เงียบ ภายหลังจักกราบทูลแก้เนื้อความนั้น.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สมฺมสิตฺวาน ความว่า นักปราชญ์เหล่านี้มีจิตมีอารมณ์เดียว ตั้งอยู่ในกายวิเวกและจิตวิเวกพิจารณาปัญหานี้แล้ว จักกล่าวเนื้อความนั้นแด่พระองค์.
    พระราชาทรงสดับคำของเสนกะก็ดีพระหฤทัย ตรัสคุกคามดังนี้ว่า ดีแล้ว ท่านทั้งหลายจงคิด เมื่อแก้ไม่ได้จักให้ขับเสีย. บัณฑิตทั้ง ๔ ลงจากพระราชนิเวศน์. เสนกะจึงกล่าวกะบัณฑิตนอกนี้ว่า พระราชาตรัสถามปัญหาสุขุม. เมื่อพวกเราแก้ไม่ได้ ภัยใหญ่จักเกิดขึ้น. เหตุนั้น ท่านทั้งหลายบริโภค สบายแล้วจงพิจารณาปัญหานั้นโดยชอบ. ต่างคนไปเรือนของตนๆ. ฝ่ายมโหสถลุกไปสู่สำนักพระราชเทวีอุทุมพร ทูลถามว่า ข้าแต่พระเทวีเจ้า วันนี้หรือวานนี้ พระราชาประทับอยู่ในที่ไหนนาน. พระนางอุทุมพรรับสั่งว่า เมื่อวานนี้. พระราชาเสด็จไปมา ทอดพระเนตรที่พระแกล ณ ภายในพื้นยาว. แต่นั้น พระโพธิสัตว์จึงคิดว่า พระราชาจักได้ทอดพระเนตรเห็นเหตุอะไรๆ โดยข้างนี้. จึงไปในที่นั้นแลดูภายนอก ได้เห็นกิริยาแห่งแพะและสุนัข. ก็ทำความเข้าใจว่า พระราชาทอดพระเนตรเห็นสัตว์ทั้งสองนี้ จึงทรงประพันธ์ปัญหา. จับเค้าได้ฉะนี้ แล้วก็กลับไปเคหสถาน.
     
  15. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    ฝ่ายบัณฑิตทั้งสามคิดแล้ว ไม่เห็นอะไรจึงไปหาเสนกะ. เสนกะเห็นบัณฑิตทั้งสามนั้น จึงถามว่า ท่านเห็นปัญหาแล้วหรือ. ครั้นได้รับตอบว่ายังไม่เห็น. จึงกล่าวว่า ถ้าเป็นเช่นนั้น พระราชาจักขับท่านทั้งหลายจากแว่นแคว้น ท่านทั้งหลายจักทำอย่างไร. ครั้นบัณฑิตทั้งสามย้อนถามว่า ก็ท่านเห็นหรือ. ก็ตอบว่า แม้เราก็ยังไม่เห็น. ครั้นบัณฑิตทั้งสามกล่าวว่า เมื่ออาจารย์ไม่เห็น ข้าพเจ้าทั้งหลายจะเห็นอะไร. ก็เมื่อวานนี้ เราทั้งหลายบันลือสีหนาทในราชสำนักว่า จักคิดแก้ แล้วมาบ้าน. บัดนี้ พระราชาจักกริ้วพวกเราผู้แก้ไม่ได้ พวกเราจักทำอย่างไร. จึงกล่าวว่า ปัญหานี้อันเราทั้งหลายไม่อาจเห็น. มโหสถจักคิดได้ตั้งหลายร้อยนัย. เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงมาไปสำนักมโหสถด้วยกันกับเรา. บัณฑิตทั้งสี่ไปสู่ประตูเคหสถานแห่งมโหสถ. ให้แจ้งความที่ตนมาแล้วเข้าไปสู่เรือน ปราศรัยกันแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง. แล้วถามมโหสถว่า บัณฑิต ท่านคิดปัญหาได้แล้วหรือ. พระโพธิสัตว์ตอบว่า ในเมื่อข้าพเจ้าคิดไม่ได้ คนอื่นใครจักคิดได้. เออ ปัญหานั้นข้าพเจ้าคิดได้แล้ว. ครั้นเมื่อบัณฑิตทั้งสี่กล่าวว่า ถ้ากระนั้น ท่านจงบอกแก่ข้าพเจ้าบ้าง. มโหสถจึงดำริว่า ถ้าเราจักไม่บอกแก่บัณฑิตทั้งสี่นี้ พระราชาจักกริ้วบัณฑิตทั้งสี่ ขับเสียจากแคว้น. พระราชทานรัตนะ ๗ แก่เรา. คนเขลาเหล่านี้อย่าได้ฉิบหายเสียเลย. เราจักบอกแก่พวกนี้ ดำริฉะนี้ แล้วให้บัณฑิตทั้งสี่นั่ง ณ อาสน์ต่ำ. แล้วกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงพยากรณ์อย่างนี้ ในกาล เมื่อพระราชาตรัสถาม. แล้วให้บัณฑิตทั้งสี่ เรียนบาลีประพันธ์เป็นคาถา ๔ คาถา. แล้วส่งให้กลับไป. ในวันที่ ๒ บัณฑิตเหล่านั้นไปสู่ราชุปัฏฐาน นั่ง ณ อาสน์ที่ลาดไว้. พระราชาตรัสถามเสนกะว่า ท่านรู้ปัญหาแล้วหรือ. เสนกะจึงกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า เมื่อข้าพระองค์ไม่รู้ คนอื่นใครเล่าจักรู้. ครั้นรับสั่งให้กล่าว จึงกล่าวคาถา โดยทำนองที่เรียนมาทีเดียวว่า
    เนื้อแพะเป็นที่รักที่เจริญใจแห่งบุตรอมาตย์ และพระราชโอรส. ชนเหล่านั้นไม่บริโภคเนื้อสุนัข. ครั้งนี้ มิตรธรรมแห่งแพะนั้นกับด้วยสุนัข มีต่อกัน.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุคฺคปุตฺตราชปุตฺติยานํ ความว่า แห่งบุตรอมาตย์ทั้งหลายด้วย แห่งพระราชโอรสทั้งหลายด้วย.
    แม้กล่าวคาถาแล้ว เสนกะก็หารู้เนื้อความไม่. ฝ่ายพระเจ้าวิเทหราชทรงทราบความ เพราะปรากฏแก่พระองค์. เพราะฉะนั้น จึงตรัสถามปุกกุสะต่อไป ด้วยเข้าพระหฤทัยว่า เสนกะรู้แล้ว. ฝ่ายปุกกุสะจึงกราบทูลว่า ข้าพระองค์ไม่ใช่บัณฑิตหรือ. แล้วกล่าวคาถาโดยทำนองที่เรียนมาทีเดียวว่า
    ชนทั้งหลายใช้หนังแพะเป็นเครื่องลาดหลังม้าเป็นเหตุแห่งความสุข. ไม่ใช่หนังสุนัขเป็นเครื่องลาดหลังม้า. ครั้งนี้ มิตรธรรมแห่งแพะนั้นกับด้วยสุนัข มีต่อกัน.
    เนื้อความไม่ปรากฏแม้แก่ปุกกุสะ.
    ฝ่ายพระราชาเข้าพระหฤทัยว่า ปุกกุสะนี้รู้เนื้อความ เพราะปรากฏแก่พระองค์ จึงตรัสถามกามินทะต่อไป. กามินทะจึงกล่าวคาถาโดยทำนองที่เรียนมาทีเดียวว่า
    แพะมีเขาอันโค้งแท้จริง แต่เขาทั้งหลายแห่งสุนัขไม่มีเลย แพะกินหญ้า สุนัขกินเนื้อ. ครั้งนี้ มิตรธรรมแห่งแพะนั้นกับด้วยสุนัข มีต่อกัน.
    เนื้อความไม่ปรากฏแม้แก่กามินทะ.
    พระราชาเข้าพระหฤทัยว่า แม้กามินทะนี้ก็รู้เนื้อความแล้ว. จึงตรัสถามเทวินทะต่อไป. เทวินทะก็กล่าวคาถาโดยทำนองที่เรียนมาทีเดียวว่า
    แพะกินหญ้า กินใบไม้ สุนัขไม่กินหญ้า ไม่กินใบไม้. สุนัขจับกระต่ายหรือแมวกิน. ครั้งนี้ มิตรธรรมแห่งแพะนั้นกับด้วยสุนัข มีต่อกัน.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ติณมาสิ ปลาสมาสิ ความว่า กินหญ้าด้วย กินใบไม้ด้วย. บทว่า โน ปลาสํ ความว่า ไม่เคี้ยวกินแม้ใบไม้.
    เนื้อความไม่ปรากฏแม้แก่เทวินทะ.
    ลำดับนั้น พระราชาเข้าพระหฤทัยว่า แม้เทวินทะนี้ก็รู้ เพราะปรากฏแก่พระองค์. จึงตรัสถามมโหสถว่า ดูก่อนพ่อมโหสถ แม้ตัวเจ้ารู้ปัญหานี้หรือ. มโหสถโพธิสัตว์ทูลสนองว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า ตั้งแต่อเวจีจนถึงภวัคคพรหม ยกข้าพระองค์เสีย คนอื่นใครจะรู้ปัญหานี้. ครั้นตรัสให้กล่าว จึงกราบทูลว่า ขอพระองค์ทรงฟัง เมื่อจะประกาศความที่กิจนั้นปรากฏแก่ตน จึงกล่าว ๒ คาถานี้ว่า
    แพะมีเท้ากึ่ง ๘ แห่งเท้า๔ (มี ๔ เท้า) มีกีบ ๘. มีกายไม่ปรากฏ สุนัขนี้นำหญ้ามาเพื่อแพะนี้ แพะนี้นำเนื้อมาเพื่อสุนัขนั้น.
    พระชนินทรสมมติเทพผู้ประเสริฐกว่าชาววิเทหรัฐประทับอยู่ ณ ปราสาทอันประเสริฐ ได้ทอดพระเนตรเห็น การนำอาหารมาแลกกันกินโดยประจักษ์ และได้ทอดพระเนตร เห็นมิตรธรรมแห่งสุนัขและแพะเอง.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อฏฐฑฺฒปาโท ท่านกล่าวหมายเอา เท้า ๔ แห่งแพะ ด้วยความเป็นผู้ฉลาดในพยัญชนะ. บทว่า เมณฺโฑ ได้แก่ แพะ. บทว่า อฏฺฐนโข นี้ท่านกล่าว ตามที่เท้าแพะมีกีบเท้าละ ๒ กีบ. บทว่า อทิสฺสมานกาโย ความว่า ไม่ปรากฏกายในเวลานำเนื้อมา. บทว่า ฉาทิยํ ความว่า เครื่องมุงเรือน คือหญ้า. บทว่า อยํ อิมสฺส ความว่า สุนัขนำหญ้ามาเพื่อแพะ. บทว่า วีติหารํ ได้แก่ นำมาแลกกัน. บทว่า อญฺโญญฺญโภชนานํ ความว่า แลกกันกิน ด้วยว่า แพะนำของกินมาเพื่อสุนัข แม้สุนัขนั้นก็แลกกับแพะนั้น. สุนัขนำมาเพื่อแพะ แม้แพะก็แลกกัน. บทว่า อทฺทกฺขิ ความว่า ได้ทอดพระเนตรเห็น สัตว์ทั้งสองนั้นแลกเปลี่ยนกันกินด้วยพระเนตร์ คือ ประจักษ์แก่พระองค์. บทว่า โภภุกฺกสฺส ได้แก่ สุนัขหอน. บทว่า ปุณฺณมุขสฺส ได้แก่ แพะ อธิบายว่า พระราชาทอดพระเนตร เห็นมิตรธรรมของสัตว์ทั้งสองนี้ ด้วยพระองค์เอง.
    พระราชา เมื่อไม่ทรงทราบความที่ อาจารย์เหล่านั้นรู้ปัญหาเพราะอาศัยพระโพธิสัตว์. ทรงสำคัญว่า บัณฑิตทั้ง ๕ รู้ด้วยปัญญาของตน. ก็ทรงโสมนัส ตรัสคาถานี้ว่า
    ลาภของเราไม่น้อยเลยที่มีบัณฑิตเช่นนี้อยู่ในราชสกุล เพราะว่า บัณฑิตทั้งหลายแทงตลอด เนื้อความของปัญหาอันลึกละเอียดด้วยเป็นสุภาษิต.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปฏิวิชฺฌนฺติ ความว่า กล่าวแก้ปัญหา ด้วยสุภาษิต.
    ลำดับนั้น พระราชาทรงดำริว่า เราควรทำอาการยินดีแก่บัณฑิตเหล่านั้นด้วยความยินดี. เมื่อจะทรงทำความยินดีนั้นให้เป็นแจ้ง จึงตรัสคาถาว่า
    เรามีความพอใจยิ่ง ด้วยปัญหาที่กล่าวไพเราะ. ให้รถเทียมม้าอัสดรรถหนึ่งๆ และบ้านส่วยอันเจริญบ้านหนึ่งๆ แก่ท่านทั้งปวงผู้เป็นบัณฑิต.
    ครั้นตรัสฉะนี้ แล้วได้พระราชทานสิ่งทั้งปวงนั้น.
    จบ ปัญหาแพะในทวาทสนิบาต

    ฝ่ายพระราชเทวีอุทุมพรทรงทราบความที่บัณฑิตทั้ง ๔ รู้ปัญหาอาศัยมโหสถ จึงทรงดำริว่า พระราชาพระราชทานรางวัลแก่บัณฑิตทั้ง ๕ เป็นเหมือนคนทำถั่วเขียวกับถั่วราชมาษให้ไม่แปลกกัน. จึงเสด็จไปเฝ้าพระราชา. ทูลถามว่า ใครทูลแก้ปัญหาถวาย. พระราชาตรัสตอบว่า บัณฑิตทั้ง ๕. พระราชเทวีทูลว่า บัณฑิตทั้ง ๕ รู้ปัญหาของพระองค์อาศัยใคร. พระราชาตรัสตอบว่า เราไม่รู้. พระนางอุทุมพรจึงกราบทูลว่า บัณฑิตทั้ง ๔ คนเหล่านี้จะรู้อะไร. มโหสถให้เรียนปัญหาด้วยเห็นว่า คนเขลาเหล่านี้ อย่าได้ฉิบหายเสียเลย. ก็พระองค์พระราชทานรางวัลแก่บัณฑิตทั้งปวง เสมอกันนั่นไม่สมควรเลย. ควรจะพระราชทานแก่มโหสถให้เป็นพิเศษ. พระราชาทรงเห็นว่า มโหสถนี้ไม่บอกความที่บัณฑิตทั้ง ๔ รู้ปัญหาอาศัยตน ก็ทรงโสมนัส. มีพระประสงค์จะทรงทำสักการะให้ยิ่งกว่า. จึงทรงคิดว่า ยกไว้เถิด. เราจักถามปัญหาอันหนึ่งกะบุตรของเรา และทำสักการะใหญ่. ในกาลเมื่อ บุตรของเรากล่าวแก้ เมื่อพระราชาทรงคิดปัญหาอันหนึ่ง จึงทรงคิดสิริเมณฑกปัญหา (ปัญหาว่า ปัญญากับทรัพย์อะไรจะประเสริฐกว่ากัน). วันหนึ่ง เวลาบัณฑิตทั้ง ๕ มาเฝ้านั่งสบายแล้ว. ตรัสกะเสนกะว่า ท่านอาจารย์เสนกะ เราจักถามปัญหา. เสนกะกราบทูลรับว่า ตรัสถามเถิด พระเจ้าข้า.
    พระราชาจึงตรัสคาถาที่หนึ่งใน สิริเมณฑกปัญหา ว่า
    แน่ะอาจารย์เสนกะ เราถามเนื้อความนี้กะท่าน บรรดาคน ๒ พวก คือคนสมบูรณ์ด้วยปัญญาแต่เสื่อมจากสิริ และคนมียศแต่ไร้ปัญญา. นักปราชญ์ยกย่องใครว่าประเสริฐ.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กเมตฺถ เสยฺโย ความว่า บรรดาคน ๒ พวกนี้ บัณฑิตทั้งหลายกล่าวคนไหนว่าประเสริฐ. ได้ยินว่า ปัญหานี้สืบเนื่องมาจากวงศ์ของเสนกะ. ฉะนั้น เสนกะจึงได้กราบทูลเฉลยปัญหานั้นได้ทันทีว่า
    ข้าแต่พระจอมประชาราษฏร์ คนฉลาดและคนเขลา คนบริบูรณ์ด้วยศิลปะและหาศิลปะมิได้. แม้มีชาติสูงก็ย่อมเป็นผู้รับใช้ของคนหาชาติมิได้ แต่มียศ. ข้าพระองค์เห็นความดังนี้จึงขอทูลว่า คนมีปัญญาเป็นคนเลวทราม คนมีสิริแลเป็นคนประเสริฐ.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิหีโน ความว่า คนมีปัญญาเป็นคนเลวทราม คนเป็นใหญ่นั่นแลเป็นคนประเสริฐ.
    พระเจ้าวิเทหราชได้ทรงสดับคำของเสนกะนั้นแล้ว ไม่ตรัสถามอาจารย์ อีก ๓ คน. เมื่อจะตรัสถามมโหสถบัณฑิต ผู้ยังใหม่ในหมู่ซึ่งนั่งอยู่ จึงตรัสว่า
    ดูก่อนมโหสถผู้มีปัญญาไม่ทราม ผู้เห็นธรรมสิ้นเชิง เราถามเจ้า ในคน ๒ พวกนี้. นักปราชญ์ยกย่องใคร คนพาลผู้มียศ หรือบัณฑิตผู้ไม่มีโภคะ คนไหนว่าประเสริฐ.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เกวลธมฺมทสฺสิ แปลว่า ผู้เห็นธรรมทั้งปวง.
    ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ทูลเตือนพระราชาว่า โปรดทรงฟังเถิด พระมหาราชเจ้า. แล้วทูลว่า
    คนพาลทำกรรมเป็นบาปก็สำคัญว่า อิสริยะของเราในโลกนี้ประเสริฐ คนพาลเห็นโลกนี้เป็นปกติ ไม่เห็นโลกหน้าเป็นปกติ ก็ได้รับเคราะห์ร้ายในโลกทั้ง ๒. ข้าพระองค์เห็นความเหล่านี้ จึงขอกราบทูลว่า คนมีปัญญาประเสริฐแท้ คนเขลามียศจะประเสริฐอะไร.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิธเมว ความว่า สำคัญว่า อิสริยะของเรานี้เท่านั้นในโลกนี้ประเสริฐ. บทว่า กลิมคฺคเหสิ ความว่า คนพาลทำกรรมเป็นบาปด้วยความเมาในอิสริยะ เกิดในนรกเป็นต้นในปรโลก มาจากนรกนั้นเกิดเป็นผู้มีโภชนะเป็นทุกข์ในตระกูลต่ำในโลกนี้อีก ชื่อว่าย่อมถือเอาความปราชัยในโลกทั้งสอง ด้วยประการฉะนี้.
    บทว่า เอตมฺปิ ความว่า ข้าพระองค์เห็นเหตุแม้นี้ จึงกล่าวว่า ผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญาเท่านั้น เป็นผู้สูงสุด. ผู้โง่เขลาแม้เป็นใหญ่ ก็ไม่ใช่ผู้สูงสุด.
    เมื่อพระโพธิสัตว์ทูลดังนี้ พระเจ้าวิเทหราชทอดพระเนตรดูเสนกะ. ตรัสว่า มโหสถสรรเสริญ คนมีปัญญาว่าเป็นผู้สูงสุดมิใช่หรือ. เสนกะทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า มโหสถยังเด็ก แม้จนวันนี้ ปากของเธอก็ยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนมมิใช่หรือ เธอจะรู้อะไร. ทูลฉะนี้แล้ว จึงกล่าวคาถานี้ว่า
    ศิลปะนี้ หรือเผ่าพันธุ์ หรือร่างกาย ย่อมหาได้จัดแจงโภคสมบัติให้ไม่. มหาชนย่อมคบหาโครวินทเศรษฐี ผู้มีเขฬะไหลจากคางทั้งสองข้าง ผู้ถึงความสุข ผู้มีสิริต่ำช้า. ข้าพระองค์เห็นความดังนี้ จึงทูลว่า คนมีปัญญาเป็นคนเลวทราม คนมีสิริเป็นคนประเสริฐแท้.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอฬมูคํ ได้แก่ มีน้ำลายไหลเลอะหน้า.
    บทว่า โครวินฺทํ ความว่า ได้ยินว่า โครวินทะนั้นเป็นเศรษฐีมีสมบัติ ๘๐ โกฏิ ในพระนครนั้นแล มีรูปร่างแปลก ไม่มีบุตร ไม่มีธิดา ไม่รู้ศิลปะอะไรๆ. เมื่อเขาพูด น้ำลายไหล ๒ ข้างลูกคาง. มีสตรีสองคนดั่งเทพอัปสร ประดับด้วยเครื่องประดับทั้งปวง ถือดอกอุบลเขียวที่บานดีแล้ว ยืนอยู่สองข้างคอยรองรับน้ำลายด้วยดอกอุบลเขียว แล้วทิ้งดอกอุบลทางหน้าต่าง. ฝ่ายพวกนักเลงสุรา เมื่อจะเข้าร้านเครื่องดื่ม มีความต้องการดอกอุบลเขียว ก็พากันไปประตูเรือนของเศรษฐีนั้น. แล้วกล่าวว่า ข้าแต่นายโครวินทเศรษฐี. ท่านเศรษฐีได้ยินเสียงนักเลงเหล่านั้น ยืนที่หน้าต่างกล่าวว่า อะไรพ่อ. ขณะนั้น น้ำลายก็ไหลจากปากของท่าน. หญิงสองคนนั้นก็เอาดอกอุบลเขียวรองรับน้ำลาย แล้วโยนทิ้งไปในระหว่างถนน. พวกนักเลงก็เก็บดอกอุบลเหล่านั้นเอาไปล้างน้ำ แล้วประดับตัวเข้าร้านเครื่องดื่ม. เศรษฐีนั้นเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสิริอย่างนี้. เสนกะ เมื่อแสดงเศรษฐีนั้นเป็นตัวอย่าง จึงกล่าวอย่างนี้.
    พระราชาทรงสดับดังนั้นแล้วตรัสว่า พ่อมโหสถบัณฑิต เจ้าจะกล่าวแก้อย่างไร. มโหสถบัณฑิตกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ เสนกะจะรู้อะไร. เห็นแต่ยศเท่านั้น ไม่เห็นไม้ค้อนใหญ่ซึ่งจะตกบนศีรษะ. เปรียบเหมือนกาอยู่ในที่เทข้าวสุก และเปรียบเหมือนสุนัขปรารภจะดื่มนมส้ม. โปรดฟังเถิด พระเจ้าข้า. ทูลฉะนี้แล้ว ได้กล่าวคาถานี้ว่า
    คนมีปัญญาน้อยได้ความสุขแล้วย่อมประมาท อันความทุกข์ถูกต้องแล้วย่อมถึงความหลง. อันสุขหรือทุกข์ที่จรมาถูกต้องแล้ว ย่อมหวั่นไหว. เหมือนปลาดิ้นรนในที่ร้อน. ข้าพระองค์เห็นความอย่างนี้ จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญาแลประเสริฐ คนเขลามียศย่อมไม่ประเสริฐ.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ลทฺธา สุขํ ความว่า คนเขลาได้อิสริยสุขแล้วย่อมมัวเมา คือประมาท. คนประมาทย่อมทำบาปมาก. บทว่า ทุกฺเขน ความว่า อันความทุกข์ทางกายและความทุกข์ทางใจถูกต้องแล้ว. บทว่า อาคนฺตุเกน ได้แก่ ที่มิได้เกิดขึ้นภายใน ด้วยว่าแม้ความสุขของสัตว์ทั้งหลาย ก็เป็นของจรมาทั้งนั้น มิได้เป็นไปประจำ. บทว่า ฆมฺเม ความว่า เหมือนปลาที่เขาเอาขึ้นจากน้ำนำมาโยนไปในแดด ย่อมดิ้นรน.
    พระเจ้าวิเทหราชทรงสดับดังนั้นแล้ว จึงตรัสถามเสนกะว่า ท่านอาจารย์จะแก้อย่างไร. เสนกะกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ มโหสถนี้จะรู้อะไร. มนุษย์ทั้งหลายจงยกไว้ก่อน. วิหกทั้งหลายย่อมคบหาแต่ต้นไม้ที่เกิดในป่า ซึ่งสมบูรณ์ด้วยผลเท่านั้น. ทูลฉะนี้แล้ว ได้กล่าวคาถานี้ว่า
    ฝูงนกบินเร่ร่อนมาโดยรอบ สู่ต้นไม้ในป่าอันมีผลดี ฉันใด. ชนเป็นอันมากย่อมคบหาสมาคมบุคคลผู้มั่งคั่งมีโภคทรัพย์ เพราะความต้องการด้วยทรัพย์ ฉันนั้น. ข้าพระองค์เห็นความดังนี้ จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญาเป็นคนต่ำช้า คนมีสิริเท่านั้นเป็นคนประเสริฐ.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พหุชฺชโน ความว่า มนุษย์เป็นอันมากประชุมกันเพื่อเหตุแห่งทรัพย์.
    พระราชาทรงสดับดังนั้นแล้ว จึงตรัสกะมโหสถว่า พ่อจะแก้อย่างไร. มโหสถบัณฑิตจึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า เสนกะท้องโตคนนี้จะรู้อะไร โปรดฟังเถิด พระเจ้าข้า. ทูลฉะนี้แล้ว จึงกล่าวคาถานี้ว่า
    คนเขลามีกำลังแต่หายังประโยชน์ให้สำเร็จไม่ ได้ทรัพย์มาด้วยทำกิจร้ายแรง. นายนิรยบาลคร่าคนเขลานั้นผู้ไม่ฉลาด ผู้ร้องไห้อยู่ ไปสู่นรกอันทุกข์ยิ่ง. ข้าพระองค์เห็นความอย่างนี้ จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญาแลประเสริฐ คนเขลามียศย่อมไม่ประเสริฐ.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สาหสํ ความว่า คนเขลาทำการงานที่มีความร้ายแรงด้วยความร้ายแรง เบียดเบียนประชาชนจึงได้ทรัพย์. เมื่อเป็นเช่นนั้น นายนิรยบาลทั้งหลายจึงคร่าคนเขลานั้นผู้ไม่ฉลาด ร้องไห้อยู่นั่นแล. ไปสู่นรกอันมีเวทนามีกำลัง.
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 28 กุมภาพันธ์ 2013
  16. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    เมื่อพระราชาตรัสถามอีกว่า ท่านอาจารย์เสนกะ ท่านจะแก้อย่างไร.
    เสนกะจึงทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า โปรดฟังเถิด แล้วกล่าวคาถานี้ว่า
    แม่น้ำน้อยใหญ่อันใดอันหนึ่ง ย่อมไหลไปสู่แม่น้ำคงคา. แม่น้ำเหล่านั้นทั้งหมดเทียว ย่อมละชื่อและถิ่นเสีย. แม่น้ำคงคาไหลไปสู่สมุทร ย่อมไม่ปรากฏชื่อ คงได้แต่ชื่อว่ามหาสมุทรเท่านั้น ฉันใด. สัตวโลกมีฤทธิ์ยิ่ง ย่อมไม่ปรากฏเหมือนแม่น้ำคงคาเข้าไปสู่มหาสมุทร ฉันนั้น. ข้าพระองค์เห็นความดังนี้ จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญาเป็นผู้ต่ำช้า คนมีสิริเป็นผู้ประเสริฐ.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นชฺโช ได้แก่ โดยที่สุดแม้เป็นแม่น้ำเล็กๆ ที่ไหลมาแต่ที่ลุ่ม. บทว่า ชหนฺติ ความว่า ย่อมนับว่าแม่น้ำคงคาทั้งนั้น ละชื่อและถิ่นของตนเสีย. บทว่า น ขายเต ความว่า แม่น้ำคงคานั้น เมื่อไหลไปสู่สมุทร ก็ไม่ปรากฏ (ว่าแม่น้ำคงคา) ย่อมได้ชื่อว่ามหาสมุทรทีเดียว. แม้คนมีปัญญามาก ถึงคนอิสระแล้ว ย่อมไม่ปรากฏ คือไม่มีใครรู้จัก ได้เป็นราวกะว่าแม่น้ำคงคาไหลเข้าสู่สมุทร.
    พระราชาตรัสอีกว่า พ่อบัณฑิต เจ้าจะแก้อย่างไร. มโหสถบัณฑิตกราบทูลว่า โปรดฟังเถิด พระเจ้าข้า. แล้วกล่าวคาถานี้ว่า
    ข้าพระเจ้าจะกล่าวแก้ปัญหาที่ท่านอาจารย์กล่าว แม่น้ำน้อยใหญ่ทั้งหลาย ย่อมหลั่งไหลไปสู่ทะเลใหญ่. ทะเลนั้นมีกำลังยิ่งเป็นนิตย์ ทะเลใหญ่นั้นแม้มีคลื่นกระทบฝั่ง ก็ไม่ล่วงฝั่งไป ฉันใด. กิจการที่คนเขลาประสงค์ไม่ล่วงคนฉลาดไปได้. คนมีสิริย่อมไม่ล่วงคนมีปัญญาไปได้ ฉันนั้น. ในกาลไหนๆ ข้าพระองค์เห็นความดังนี้ จึงทูลว่า คนมีปัญญาแลเป็นคนประเสริฐ คนเขลามียศหาประเสริฐไม่.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยเมตมกฺขา ความว่า ท่านบอก คือกล่าวปัญหา ฉันใด. บทว่า อสํขฺยํ แปลว่า ไม่นับ. บทว่า เวลํ นาจฺเจติ ความว่า ทะเลนั้นแม้มีกำลังยิ่งยกคลื่นขึ้นเป็นพันๆ ก็ไม่อาจล่วงฝั่งไปได้. คลื่นทั้งหมดถึงฝั่งแล้วย่อมแตกไปแน่แท้. บทว่า เอวมฺปิ ความว่า กิจการที่คนเขลาประสงค์ ย่อมไม่อาจล่วงคนมีปัญญาไปได้. ถึงคนมีปัญญานั้นแล้วย่อมทำลายไป ฉันนั้นเหมือนกัน. บทว่า ปญฺญํ นาจฺเจติ ความว่า ธรรมดา คนมีสิริย่อมไม่ล่วงคนมีปัญญาไปได้. อธิบายว่า ไม่มีใครเลยที่เกิดความสงสัยในอัตถะและอนัตถะขึ้นแล้ว ผ่านเลยคนมีปัญญาไปแทบเท้าของคนเขลาผู้เป็นอิสระ แต่ย่อมได้การวินิจฉัยแทบเท้าของคนมีปัญญาเท่านั้น.
    พระราชาทรงสดับดังนั้นแล้ว จึงตรัสถามเสนกะว่า จะแก้อย่างไร. เสนกะกราบทูลว่า โปรดฟังเถิด พระเจ้าข้า. แล้วกล่าวคาถานี้ว่า
    หากว่าคนมียศผู้ไม่มีศีลอยู่ในที่วินิจฉัย กล่าวข้อความแก่ชนเหล่าอื่น. คำของผู้นั้นย่อมเจริญงอกงาม ในท่ามกลางบริษัท. คนมีปัญญายังคนมีสิริต่ำช้า ให้ทำตามถ้อยคำของตน หาได้ไม่. ข้าพระองค์เห็นความดังนี้ จึงทูลว่า คนมีปัญญาเป็นคนต่ำช้า คนมีสิริเป็นคนประเสริฐแท้.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อสญฺญโต เจปิ ความว่า ก็แม้ถ้าคนมียศเป็นคนไม่สำรวมกายเป็นต้น คือเป็นคนทุศีล. บทว่า สณฺฐานคโต ความว่า คนมียศดำรงอยู่ในที่วินิจฉัย กล่าวข้อความแก่คนเหล่าอื่น. เมื่อเขาซึ่งแวดล้อมไปด้วยบริวารใหญ่ กล่าวมุสาทำให้เป็นเจ้าของบ้าง ให้ไม่เป็นเจ้าของบ้าง. คำของเขานั่นแลย่อมงอกงาม คนมีปัญญาย่อมยังคนมีสิริต่ำช้า ให้ทำตามถ้อยคำไม่ได้. เพราะเหตุนั้น คนมีปัญญาจึงเป็นคนต่ำช้า คนมีสิริจึงเป็นคนประเสริฐแท้.
    เมื่อพระราชาตรัสถามมโหสถอีกว่า พ่อจะแก้อย่างไร. มโหสถบัณฑิตจึงกราบทูลว่า โปรดฟังเถิด พระเจ้าข้า. เสนกะคนเขลาจะรู้อะไร ดูอยู่แค่โลกนี้เท่านั้น ไม่ดูไปถึงปรโลก. แล้วกล่าวคาถานี้ว่า
    คนเขลามีปัญญาน้อยกล่าวมุสาแก่คนอื่นบ้าง แม้แก่ตนบ้าง. คนเขลานั้นถูกติเตียน ในท่ามกลางที่ประชุม. ภายหลังเขาจะไปทุคติ. ข้าพระองค์เห็นความดังนี้ จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญาเท่านั้นเป็นคนประเสริฐ คนเขลามียศหาประเสริฐไม่.
    ลำดับนั้น เสนกะกล่าวคาถานี้ว่า
    ถ้าคนมีปัญญาดุจแผ่นดิน ไม่มีที่อยู่ มีทรัพย์น้อย เป็นคนเข็ญใจ กล่าวข้อความ. คำของเขานั้นย่อมไม่งอกงามในท่ามกลางญาติ และสิริย่อมไม่มีแก่คนมีปัญญา. ข้าพระองค์เห็นความดังนี้ จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญาเป็นคนต่ำช้า คนมีสิริเท่านั้นเป็นคนประเสริฐ.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อตฺถมฺปิ เจ ความว่า ถ้ากล่าวแม้เหตุการณ์. บทว่า ญาติมชฺเฌ ได้แก่ ในท่ามกลางบริษัท. ด้วยบทว่า ปญฺญาณวโต นี้ อาจารย์เสนกะแสดงความว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ธรรมดาสิริแม้จะมีอยู่ตามปกติ ถึงความเป็นยอดความงามแห่งสิริ ก็ไม่มีแก่ผู้มีปัญญานั่นแล ด้วยว่าผู้มีปัญญานั้นย่อมไม่ปรากฏในสำนักของผู้มีสิรินั้น ประดุจหิงห้อยในเวลาพระอาทิตย์ขึ้น.
    เมื่อพระราชาตรัสถามมโหสถอีกว่า พ่อจะแก้อย่างไร. มโหสถบัณฑิตจึงกราบทูลว่า เสนกะจะรู้อะไร ดูอยู่แค่โลกนี้เท่านั้น ไม่ดูไปถึงปรโลก. แล้วกล่าวคาถานี้ว่า
    คนมีปัญญาดุจแผ่นดิน ไม่กล่าวคำเหลาะแหละ เพื่อเหตุของผู้อื่นหรือแม้ของตน. คนผู้นั้นอันมหาชนบูชาแล้ว ในท่ามกลางที่ประชุม ภายหลังเขาจะไปสุคติ. ข้าพระองค์เห็นความดังนี้ จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญาเท่านั้นเป็นคนประเสริฐ คนเขลามียศหาประเสริฐไม่.
    ลำดับนั้น เสนกะกล่าวคาถานี้ว่า
    ช้าง โค ม้า กุณฑลแก้วมณี และนารีทั้งหลายเกิดในสกุลมั่งคั่ง ทั้งหมดนั้นย่อมเป็นอุปโภคของบุรุษผู้มีอิสระ. สัตว์ผู้ไม่มีอิสระก็เป็นอุปโภคของผู้มีอิสระ. ข้าพระองค์เห็นความดังนี้ จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญาเป็นคนต่ำช้า คนมีสิริเท่านั้นเป็นคนประเสริฐ.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิทฺธสฺส ได้แก่ ผู้มีอิสระ. บทว่า อนิทฺธิมนฺโต ความว่า มิใช่แต่นารีเหล่านั้นเท่านั้นที่เป็นอุปโภค ที่แท้สัตว์ทั้งหลายผู้ไม่มีอิสระทั้งหมดทีเดียว ย่อมเป็นอุปโภคของผู้มีอิสระนั้น.
    ลำดับนั้น มโหสถบัณฑิตกล่าวว่า เสนกะจะรู้อะไร. เมื่อจะชักเหตุอันหนึ่งมาแสดง จึงกล่าวคาถานี้ว่า
    สิริย่อมละเสียซึ่งคนเขลาผู้ไม่จัดการงาน ผู้มีความคิดอย่างคนไม่มีความคิด. ผู้มีปัญญาทรามเหมือนงูละคราบเก่าเสีย ฉะนั้น. ข้าพระองค์เห็นความดังนี้ จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญาเท่านั้นเป็นคนประเสริฐ คนเขลามียศหาประเสริฐไม่.
    เนื้อความของบทว่า สิรี ชหติ ในคาถานั้น พึงทราบตามเจติยชาดก.
    ลำดับนั้น ครั้นพระราชาตรัสถามเสนกะว่าจะแก้อย่างไร. เสนกะกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ มโหสถนี้ยังเป็นเด็กรุ่น จะรู้อะไร. โปรดฟังเถิด พระเจ้าข้า. ทูลฉะนี้แล้วคิดว่า เราจักทำมโหสถให้หมดปฏิภาณ จึงกล่าวคาถานี้ว่า
    ขอจงทรงพระเจริญ พวกข้าพระองค์เป็นบัณฑิต ๕ คนทั้งหมด เคารพบำรุงพระองค์. พระองค์เป็นอิสระครอบงำข้าพระองค์ทั้งหลาย ดุจท้าวสักกเทวราชผู้เป็นเจ้าแห่งภูตทั้งหลาย. ข้าพระองค์เห็นความดังนี้ จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญาเป็นคนต่ำช้า คนมีสิริเท่านั้นเป็นคนประเสริฐ.
    ได้ยินว่า พระเจ้าวิเทหราชทรงสดับคำของเสนกะนี้ แล้วทรงดำริว่า เหตุการณ์ที่เสนกะชักมาดีอยู่ บุตรของเราจักสามารถนำ เหตุการณ์อื่นมาทำลายวาทะของเสนกะนี้ได้ หรือหนอ. จึงตรัสว่า พ่อบัณฑิต เจ้าจะแก้อย่างไร. ได้ยินว่า เมื่อเสนกะชักเหตุการณ์นี้มา คนอื่นเว้นพระโพธิสัตว์เสีย ที่ชื่อว่า สามารถทำลายวาทะนั้นไม่มี. เพราะฉะนั้น พระมหาสัตว์ เมื่อจะทำลายวาทะแห่งเสนกะนั้น ด้วยกำลังญาณของตน. จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า เสนกะนี้เป็นคนเขลา จะรู้อะไร. แลดูอยู่เฉพาะยศเท่านั้น ไม่ทราบความวิเศษแห่งปัญญา. โปรดฟังเถิด พระเจ้าข้า. กราบทูลฉะนี้แล้ว จึงกล่าวคาถานี้ว่า
    คนเขลามียศเป็นดุจทาสของคนฉลาด ในเมื่อกิจต่างๆ เกิดมี. คนฉลาดย่อมจัดกิจอันละเอียดใด คนเขลาย่อมถึงความหลงพร้อมในกิจนั้น. ข้าพระองค์เห็นความอย่างนี้ จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญาเท่านั้นเป็นคนประเสริฐ คนเขลามียศหาประเสริฐไม่.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อตฺเถสุ ได้แก่ เมื่อกิจทั้งหลาย.
    บทว่า สํวิเธติ แปลว่า ย่อมจัดแจง.
    พระมหาสัตว์แสดงเหตุการณ์แห่งนัยปัญญาด้วยประการฉะนี้ ราวกะผู้วิเศษคุ้ยทรายทองขึ้นแต่เชิงเขาสิเนรุ และราวกะผู้มีฤทธิ์ยังดวงจันทร์เต็มดวงให้ตั้งขึ้นในท้องฟ้า ฉะนั้น.
    เมื่อพระมหาสัตว์กล่าวแสดงอานุภาพแห่งปัญญาอยู่นั่นแล. พระราชาตรัสกะเสนกะว่า เสนกะ ท่านจะแก้อย่างไร ท่านอาจกล่าวให้ยิ่งขึ้นหรือ. เสนกะนั้นยังวิทยาคมที่เรียนมาให้สิ้นไป เป็นผู้หมดปฏิภาณ. เป็นผู้เก้อนั่งซบเซาอยู่ เหมือนข้าวเปลือกที่เขาเก็บไว้ในฉาง. ก็ถ้าเสนกะนั้นพึงนำเหตุการณ์อื่นมาไซร้. มโหสถจะพึงเฉลยอันจัดเป็นชาดกนี้ ให้จบลงด้วยคาถาพันหนึ่ง. พระมหาสัตว์ เมื่อจะพรรณนาปัญญานั่นแลให้ยิ่งขึ้น เหมือนนำห้วงน้ำลึกมา. ในกาลที่เสนกะนั้นหมดปฏิภาณนิ่งอยู่. จึงกล่าวคาถานี้ว่า
    ปัญญาเป็นที่สรรเสริญแห่งสัตบุรุษทั้งหลาย สัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญปัญญาว่าประเสริฐแท้จริง. สิริเป็นที่ใคร่ของพวกคนเขลา พวกคนเขลาใคร่ซึ่งสิริ ยินดีในโภคสมบัติ. ก็ความรู้ของเหล่าท่านผู้รู้ อันใครๆ ซึ่งเปรียบด้วยอะไรไม่ได้. คนมีสิริย่อมไม่ล่วงเลยคนมีปัญญาในกาลไหนๆ. ข้าพระองค์เห็นความอย่างนี้ จึงกราบทูลว่า คนมีปัญญาเท่านั้นเป็นคนประเสริฐ คนเขลามียศหาประเสริฐไม่.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สตํ ได้แก่ สัตบุรุษทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น.
    บทว่า โภครตา มีเนื้อความอันบัณฑิต พึงพรรณนาตามภิงสกชาดกว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า เพราะมนุษย์อันธพาลเหล่านั้น ยินดีในโภคสมบัติ ฉะนั้น. เขาเหล่านั้นจึงใคร่สิริ ชื่อว่ายศนี้. บัณฑิตทั้งหลายติเตียน คนพาลทั้งหลายปรารถนา.
    บทว่า พุทฺธานํ ได้แก่ ของเหล่าญาณพุทธ์.
    บทว่า กทาจิ ความว่า ข้าแต่สมมติเทพ ธรรมดาคนมีสิริย่อมไม่ก้าวล่วงคนมีความรู้ ในกาลใดไหนๆ.
    พระเจ้าวิเทหราชได้ทรงสดับคำนั้น ก็ทรงโสมนัสด้วยปัญหาพยากรณ์แห่งพระมหาสัตว์. เมื่อจะทรงบูชาพระมหาสัตว์ด้วยทรัพย์ ราวกะผู้วิเศษยังฝนลูกเห็บให้ตก จึงตรัสคาถาว่า
    ดูก่อนมโหสถผู้เห็นธรรมทั้งปวง เราได้ถามปัญหานั้นใดกะเจ้า. เจ้าได้ประกาศเผยแผ่ปัญหานั้นแก่เรา เรายินดีด้วยการแก้ปัญหาของเจ้า. เราให้โคพันหนึ่ง ทั้งโคอุสุภราช ช้าง รถเทียมม้าอาชาไนย ๑๐ คัน และบ้านส่วย ๑๖ ตำบลแก่เจ้า.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุสภญฺ จ นาคํ ความว่า เราให้ช้างที่น่าขี่ซึ่งประดับตกแต่งแล้ว ทำโคอุสุภราชให้เป็นใหญ่ของโคพันหนึ่งนั้นด้วยดี.
    จบ สิริเมณฑกปัญหา ในวีสตินิบาต
     
  17. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    ว่าด้วย มโหสถแสวงหานางอมราเทวี

    จำเดิมแต่นั้น มโหสถโพธิสัตว์ได้มียศใหญ่ พระนางอุทุมพรเทวีได้ทรงพิจารณาปัญหานั้นทั้งหมด. ในกาลเมื่อมโหสถมีอายุได้ ๑๖ ปี พระนางทรงดำริว่า น้องชายของเราเป็นผู้ใหญ่แล้ว แม้ยศของเธอก็ใหญ่. เราควรจะทำอาวาหมงคลแก่เธอ. ทรงดำริฉะนี้ แล้วได้กราบทูล เนื้อความนั้นแด่พระเจ้าวิเทหราช. บรมกษัตริย์ได้ทรงสดับเนื้อความนั้น จึงมีพระราชดำรัสว่า ดีแล้ว เธอจงให้เจ้าตัวทราบ. พระนางให้มโหสถทราบความ เมื่อมโหสถรับทำอาวาหมงคล จึงมีพระเสาวนีย์ว่า ถ้ากระนั้น เราจะนำนางกุมาริกามาเพื่อเธอ. ลำดับนั้น พระมหาสัตว์คิดว่า นางกุมาริกาที่พระนางจะนำมา บางทีจะไม่พึงชอบใจเรา. เราจะพิจารณาหาดูเองก่อน. คิดฉะนี้ แล้วจึงทูลว่า ข้าแต่พระราชเทวี พระองค์อย่าตรัสอะไรแด่พระราชา สักสองสามวัน. ข้าพระบาทจักแสวงหานางกุมาริกานางหนึ่งเองที่ชอบใจ แล้วจักทูลให้ทรงทราบ. พระนางอุทุมพรทรงอนุญาต มโหสถจึงถวายบังคมลาพระเทวีไปเรือนของตน. ให้สัญญาแก่พวกสหายแล้ว แปลงเพศที่ใครๆ ไม่รู้จัก. ถือเครื่องอุปกรณ์แห่งช่างชุนผ้า ออกทางประตูด้านทิศอุดรแต่ผู้เดียว ไปสู่บ้านอุตตรยวมัชฌคาม.
    ก็ในกาลนั้น มีสกุลเศรษฐีสกุลหนึ่งในบ้านนั้น เป็นสกุลเก่าแก่. ธิดาของสกุลนั้นนางหนึ่ง ชื่ออมราเทวี นางมีรูปงามบริบูรณ์ด้วยลักษณะดีทุกอย่าง เป็นผู้มีบุญ. วันนั้น นางต้มข้าวต้มแต่เช้า นำข้าวต้มนั้น คิดว่าจักไปสู่ที่บิดาไถนา. จึงออกจากเรือนเดินสวนทางกับมโหสถ. พระมหาสัตว์เห็นนางเดินมา คิดในใจว่า สตรีนี้สมบูรณ์ด้วยลักษณะดีทุกอย่าง. ถ้ายังไม่มีสามี นางนี้ก็ควรเป็นภรรยาของเรา. ฝ่ายนางอมราพอเห็นมโหสถ ก็คิดในใจว่า ถ้าเราได้บุรุษนี้เป็นสามีไซร้ เราอาจจะยังทรัพย์สมบัติให้เกิดมั่งคั่ง. ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ดำริว่า เรายังไม่รู้ความที่สตรีนี้มีสามีหรือยังไม่มี จักถามนางด้วยวิธีใช้ใบ้. ถ้านางฉลาด ก็จักรู้เนื้อความแห่งปัญญาของเรา. คิดฉะนี้แล้ว ยืนอยู่แต่ไกลกำมือเข้า. นางอมรารู้ความว่า บุรุษนี้ถามว่าเรามีสามีหรือยัง. จึงยืนอย่างนั้นเอง แบมือออก. มโหสถรู้เหตุนั้นแล้วจึงเข้าไปใกล้นางถามว่า แน่ะนางผู้เจริญ เธอชื่ออะไร. นางอมราตอบว่า ข้าแต่นาย สิ่งใดไม่มีในอดีต ในอนาคต หรือในปัจจุบัน สิ่งนั้นเป็นชื่อของข้าพเจ้า. มโหสถกล่าวว่า แน่ะ นางผู้เจริญ ชื่อว่าความไม่ตายไม่มีในโลก. ฉะนั้นนางจักชื่อว่า อมรา. นางอมราตอบว่า อย่างนั้น นาย. มโหสถถามว่า เธอจักนำข้าวต้มไปเพื่อใคร. เมื่อนางอมราตอบว่า ข้าพเจ้านำไปเพื่อบุรพเทวดา. มโหสถจึงกล่าวว่า บิดามารดา ชื่อว่าบุรพเทวดา. ชะรอยเธอจักนำข้าวต้มไปเพื่อบิดาของเธอ. นางอมราตอบว่า ถูกแล้ว. มโหสถถามว่า บิดาของเธอทำงานอะไร. นางอมราตอบว่า บิดาของดิฉันทำสิ่งหนึ่งโดยส่วนสอง. มโหสถกล่าวว่า แน่ะนางผู้เจริญ การไถนา ชื่อว่าการทำสิ่งหนึ่งโดยส่วนสอง ชะรอยบิดาของเธอไถนา. นางอมราตอบว่า ถูกแล้ว. มโหสถถามว่า บิดาของเธอไถนาอยู่ที่ไหน. นางอมราตอบว่า ชนทั้งหลายไปในที่ใด คราวเดียวภายหลังไม่กลับมา. บิดาของดิฉันไถนาในที่นั้นแล. มโหสถกล่าวว่า ป่าช้า ชื่อว่าสถานที่แห่งชนทั้งหลายไปคราวเดียว ภายหลังไม่กลับ. ชะรอยบิดาของเธอจะไถนาในที่ใกล้ป่าช้า. นางอมราตอบว่า ถูกแล้ว. มโหสถถามต่อไปว่า แน่ะนางผู้เจริญ วันนี้เธอจะกลับหรือไม่กลับ. นางอมราตอบว่า ข้าแต่นาย ถ้าว่ามา ดิฉันจะยังไม่กลับ. ถ้าว่าไม่มา ดิฉันจักกลับ. มโหสถกล่าวว่า แน่ะนางผู้เจริญ บิดาของเธอชะรอยจักไถนาใกล้ฝั่งแม่น้ำ. ครั้นเมื่อน้ำมา เธอจักไม่กลับ. ครั้นเมื่อน้ำไม่มา เธอจักกลับ. นางอมราตอบว่า ถูกแล้ว. ทั้งสองเจรจาโต้ตอบกันเท่านี้แล้ว.
    ภายหลัง นางอมราเชิญมโหสถให้ดื่มข้าวต้ม. พระมหาสัตว์ดำริว่า การปฏิเสธเป็นอวมงคล. จึงกล่าวรับว่า จักดื่ม. นางจึงปลงหม้อข้าวต้มลง. พระมหาสัตว์คิดว่า ถ้านางอมราไม่ล้างภาชนะ ไม่ให้น้ำล้างมือ ให้ข้าวต้ม. เราจักละนางเสียในที่นี้ไป. ฝ่ายนางอมราล้างภาชนะแล้ว นำน้ำมาด้วยภาชนะให้น้ำล้างมือ ไม่วางภาชนะเปล่าในมือ. คนหม้อที่วางไว้บนพื้น แล้วตักข้าวต้มใส่เต็มภาชนะ. ก็แต่เมล็ดข้าวในภาชนะนั้นน้อย. ลำดับนั้น พระมหาสัตว์กล่าวว่า แน่ะนางผู้เจริญ น้ำข้าวต้มมากเกินหรือ. นางอมราตอบว่า ข้าแต่นาย ดิฉันได้น้ำแล้ว. พระมหาสัตว์กล่าวว่า เธอเห็นจักไม่ได้น้ำมาแต่ทุ่งนา. นางอมราตอบว่า ถูกแล้ว. แล้วนางแบ่งข้าวต้มไว้ให้บิดา เหลือจากนั้นให้พระโพธิสัตว์. พระโพธิสัตว์ดื่มข้าวต้มนั้นแล้วบ้วนปาก พูดว่า แน่ะนางผู้เจริญ เราจักไปสู่เรือนของเธอ เธอจงบอกทางแก่เรา. นางอมรากล่าวว่า ดีแล้ว. เมื่อจะบอกทาง จึงกล่าวคาถานี้ ในเอกนิบาตว่า
    ร้านขายข้าวสัตตู ถัดไปร้านขายน้ำส้ม ถัดสองร้าน ต้นทองหลางดอกบานมีใบสองชั้น มีอยู่โดยทางใด. ดิฉันถือภาชนะข้าวต้มด้วยมือขวาใด ดิฉันบอกทางนั้นโดยมือขวานั้น. ดิฉันไม่ได้ถือภาชนะข้าวต้มด้วยมือซ้ายใด ดิฉันไม่ได้บอกทางนั้นโดยมือซ้ายนั้น. ทางนั้นเป็นทางไปเรือนของดิฉัน ซึ่งตั้งอยู่ในบ้านอุตตรยวมัชฌคาม ขอท่านจงทราบทางอันปกปิดนี้.
    คาถานั้นมีความว่า ข้าแต่นาย ท่านเข้าไปภายในหมู่บ้าน แล้วจะเห็นร้านขายข้าวสัตตูร้านหนึ่ง. ถัดไป ร้านขายน้ำส้ม ข้างหน้าร้านค้าสองร้านนั้น มีต้นทองหลาง มีใบสองชั้นมีดอกบาน. ฉะนั้น ท่านจงไปทางที่มีร้านขายข้าวสัตตู ร้านขายน้ำส้ม และต้นทองหลางดอกบาน ยืนที่โคนต้นทองหลาง ถือเอาทางขวา ละทางซ้าย. บทว่า เอส มคฺโค ยวมชฺฌกสฺส ความว่า นี้เป็นทางไปเรือนของพวกเรา ซึ่งตั้งอยู่ในบ้านยวมัชฌคาม. ขอท่านจงทราบทางปกปิด คือทางที่ปกปิด นี้คือที่ข้าพเจ้ากล่าวปกปิดอย่างนี้ หรือทางปิด หรือเหตุที่ปกปิด. บทว่า เยนาทามิ แม้ในคาถานี้ นางกล่าวหมายเอามือขวาที่เราใช้ถือภาชนะข้าวต้ม นอกนี้เป็นมือซ้าย. นางอมราบอกทางแก่มโหสถอย่างนี้แล้ว ถือข้าวต้มไปส่งบิดา.
    จบ ฉันนปถปัญหา

    มโหสถโพธิสัตว์ไปสู่เรือนนั้นตามทางที่นางอมราบอก. ลำดับนั้น มารดาของนางอมราเห็นมโหสถ แล้วจึงให้พระมหาสัตว์นั่ง ณ อาสนะ. แล้วกล่าวว่า จักดื่มข้าวต้มไหมนาย. มโหสถตอบว่า ข้าแต่แม่ น้องหญิงอมราเทวี ได้ให้ข้าวต้มแก่ฉันหน่อยหนึ่งแล้ว. แม้มารดาของนางอมราก็รู้ว่า ชายคนนี้คงมาเพื่อต้องการลูกสาวของเรา. พระมหาสัตว์แม้จะรู้ว่าสกุลนั้นๆ เข็ญใจ ก็ถามว่า ข้าแต่แม่ ฉันเป็นช่างชุนผ้า. มีผ้าอะไรๆ ที่ฉันควรเย็บบ้างไหม. มารดานางอมราตอบว่า นาย ผ้านั้นมี แต่ค่าจ้างไม่มี. มโหสถกล่าวว่า ข้าแต่แม่ ฉันไม่ทำเอาค่าจ้าง แม่จงนำมา ฉันจักเย็บให้. มารดานางอมราจึงนำผ้าเก่าๆ มาให้มโหสถชุน. พระโพธิสัตว์ก็ให้ผ้าที่นำมาๆ แล้วเสร็จทั้งหมด เพราะว่าการทำของท่านผู้มีบุญ ย่อมสำเร็จง่ายดาย. ลำดับนั้น มโหสถแจ้งแก่มารดานางอมราว่า แม่จงบอกกล่าวตามฟากถนน ให้นำผ้ามาจ้างชุน. มารดานางอมราก็บอกแก่ชาวบ้านทั่วไป. พระมหาสัตว์ทำการชุนผ้าวันเดียวเท่านั้น ได้ทรัพย์พันหนึ่ง. ฝ่ายมารดานางอมราหุงข้าวให้ มโหสถกินเวลานั้น. แล้วถามว่า เวลาเย็นข้าจะหุงเท่าไร. มโหสถตอบว่า ชนมีประมาณเท่าใดบริโภคในเรือนนี้. แม่จงหุงโดยประมาณแห่งชนเท่านั้น. นางจึงหุงภัตตาหารเป็นอันมาก ทั้งแกงทั้งกับมิใช่น้อย. ฝ่ายนางอมราเทวี เวลาเย็นเอามัดฟืนทูนศีรษะ และกระเดียดใบไม้มาแต่ป่า บรรจุฟืนที่ประตูด้านตะวันออก แล้วเข้าสู่เรือนทางประตูด้านตะวันตก. ส่วนบิดาของนางอมรากลับบ้านเย็นกว่าธิดากลับ. มโหสถบริโภคโภชนาหารมีรสเลิศต่างๆ. นางอมราให้บิดามารดาของตนบริโภค แล้วตนจึงบริโภคภายหลัง แล้วชำระเท้าบิดามารดา และเท้ามโหสถโพธิสัตว์.
    มโหสถกำหนดสังเกต นางอมราอยู่ในบ้านนั้นสองสามวัน. ลำดับนั้น เมื่อจะทดลองนาง. วันหนึ่งจึงกล่าวว่า แน่ะอมราเทวีผู้เจริญ เธอจงเอาข้าวสารกึ่งทะนาน ต้มข้าวต้ม ทำขนม และหุงข้าวสวย เพื่อเรา ด้วยข้าวสารกึ่งทะนานนั้น. นางอมรารับคำสั่ง แล้วตำข้าวสารนั้น แล้วเอาข้าวสารต้นอันเป็นตัว ไม่ค่อยมีเมล็ดหักต้มเป็นข้าวต้ม. เอากลางข้าวสารอันมีเมล็ดหักโดยมากหุงเป็นข้าวสวย. เอาปลายข้าวสารอันป่นทำขนม แล้วประกอบกับข้าวให้ควรแก่ข้าวสวยข้าวต้มนั้น ให้ข้าวต้มแก่มโหสถก่อน. พอมโหสถได้ดื่มข้าวต้มถึงปาก ข้าวต้มนั้นก็แผ่ซ่านไปสู่เส้นประสาทเจ็ดพัน ซึ่งเป็นเส้นสำหรับรับรส. มโหสถกล่าวเพื่อทดลองนางอมราว่า นางไม่รู้จักหุงต้ม ทำข้าวสารของเราให้เสียหายเพื่อประโยชน์อะไร. แล้วคายถ่มข้าวต้มพร้อมกับน้ำลายลงยังพื้น. นางอมรามิได้โกรธกล่าวว่า ข้าแต่นาย ถ้าข้าวต้มไม่อร่อย ท่านจงกินขนม. แล้วส่งขนมให้มโหสถ มโหสถก็ทำอาการอย่างนั้น แล้วกล่าวอย่างนั้นอีก. นางอมราจึงกล่าวว่า ถ้าขนมไม่อร่อย ท่านจงกินข้าวสวย. แล้วให้ข้าวสวยแก่มโหสถ มโหสถก็ทำอาการอย่างนั้น และกล่าวดังนั้นอีก. ทำเป็นเหมือนขัดเคือง ขยำข้าวทั้งสามอย่างนั้นเป็นอันเดียวกัน แล้วทาสรีระทั้งสิ้น ตั้งแต่ศีรษะแห่งนาง แล้วไล่ให้นางไปยืนอยู่ที่ประตู. ฝ่ายนางอมราไม่โกรธเลย ประนมมือกล่าวว่า ดีจ๊ะนาย. แล้วได้ทำตามสั่ง. มโหสถรู้ว่า นางไม่ถือตัว. จึงเรียกกลับมาหา พอได้ยินเรียกคำเดียวเท่านั้น นางก็มานั่งลงที่ใกล้มโหสถ.
    ฝ่ายพระมหาสัตว์เมื่อมาแต่บ้านตน หาได้มามือเปล่าไม่. เอาผ้าสาฎก ๑ ผืน กับกหาปณะ ๑ พันบรรจุในไถ้น้อยมาด้วย. จึงนำผ้าสาฏกนั้นออกจากไถ้น้อยให้แก่นางอมรา แล้วกล่าวว่า แน่ะนางผู้เจริญ นางจงอาบน้ำกับพวกสหายของนาง แล้วนุ่งผ้าสาฏกนี้มา. นางอมราได้ทำตามคำสั่ง. มโหสถให้ทรัพย์ที่เกิดขึ้น และทรัพย์ที่นำมาทั้งหมดแก่บิดามารดาของนางอมรา. ยังคนทั้งสามให้ยินดีแล้ว ลาแม่ยายพ่อตา พานางอมรากลับไปบ้าน. ก็พระมหาสัตว์ให้ร่มและรองเท้าแก่นางอมรา แล้วพูดอย่างนี้ว่า แน่ะนางผู้เจริญ นางจงเอาร่มกางกันตัว สวมรองเท้าเดินไป. นางอมรารับของสองอย่าง หุบร่มในคราวร้อนดวงอาทิตย์ในที่แจ้งเดินไป. ถอดรองเท้าในที่ดอนถือไป. สวมรองเท้าในเวลาถึงที่มีน้ำเดินไป. มโหสถเห็นเหตุนั้น จึงถามว่า แน่ะนางผู้เจริญ เป็นอย่างไร นางไม่สวมรองเท้าในที่ดอน. สวมในที่มีน้ำเดินไป เพราะเหตุอะไร. นางตอบมโหสถว่า ข้าแต่นาย ดิฉันเห็นสิ่งประทุษร้ายร่างกาย มีหนามเป็นต้นในที่ดอน. ดิฉันไม่เห็นสิ่งประทุษร้ายร่างกายมีปลา เต่า และหนามเป็นต้นในที่มีน้ำ. ครั้นเครื่องประทุษร้ายเข้าไปสู่เท้า ดิฉันก็พึงเสวยทุกขเวทนาใหญ่. เพราะฉะนั้นจึงสวมรองเท้าในที่มีน้ำ เดินไป. พระโพธิสัตว์ได้ฟังคำของนาง ก็คิดว่า นางทาริกานี้ฉลาดมากหนอ แล้วก็เดินไป. ลำดับนั้น นางอมราเมื่อเข้าภายในป่าก็กั้นร่มเดินไป. มโหสถถามเหตุนั้นว่า แน่ะนางผู้เจริญ ชนเหล่าอื่นกั้นร่มกันแดดในที่แจ้งเดินไป. แต่นางหาทำอย่างนั้นไม่ เพราะเหตุอะไร นางตอบมโหสถว่า ข้าแต่นาย ดิฉันชื่อว่าเข้าสู่ภายในป่าก็จริง แต่ทำอย่างนี้เพราะกลัวไม้แห้งท่อนไม้ตกบนศีรษะ. พระโพธิสัตว์ได้ฟังคำที่นางกล่าวด้วยเหตุ ๒ อย่างก็ยินดี.
    ลำดับนั้น เมื่อพระโพธิสัตว์เดินไปกับนาง เห็นต้นพุทราถึงพร้อมด้วยผลในที่หนึ่ง ก็หยุดนั่งใต้ต้นพุทรา. ฝ่ายนางอมราเห็นพระมหาสัตว์นั่งใต้ต้นพุทรา ก็พูดขึ้นว่า ข้าแต่นาย ท่านจงขึ้นเก็บผลพุทรากิน ให้ดิฉันบ้าง. มโหสถตอบว่า แน่ะนางผู้เจริญ เราเหน็ดเหนื่อยไม่อาจขึ้น นางขึ้นเถิด. นางได้ฟังคำของมโหสถก็ขึ้นต้นพุทรานั้นเลือกเก็บผล. ฝ่ายพระโพธิสัตว์กล่าวกะนางว่า แน่ะนางผู้เจริญ นางจงให้ผลแก่เราบ้าง. นางคิดว่า เราจักดูบุรุษนี้ฉลาดหรือโง่ จักทดลองเขาดู. จึงกล่าวอย่างนี้ว่า ข้าแต่นาย ท่านจะกินผลร้อนหรือผลเย็น. พระโพธิสัตว์แม้รู้เหตุที่นางถาม ก็ทำเป็นเหมือนไม่รู้. จึงกล่าวตอบอย่างนี้ เพื่อทดลองว่า แน่ะนางผู้เจริญ เราต้องการด้วยผลร้อน. นางจึงเก็บผลโยนไปในที่พื้นดินกล่าวว่า ท่านจงกินเถิด นาย. พระโพธิสัตว์ก็เก็บผลมา ปัดเป่าให้หมดผงแล้วเคี้ยวกิน. เมื่อจะทดลองนางอีก จึงกล่าวอย่างนี้ว่า แน่ะนางผู้เจริญ นางจงให้ผลเย็นแก่เรา. นางก็เก็บผลพุทราโยนไปบนพื้นหญ้า. พระโพธิสัตว์ก็เก็บผลนั้น ไม่ต้องปัดเป่าเคี้ยวกินทีเดียว. รู้ว่า นางทาริกานี้ฉลาดเหลือเกินก็ยินดี. แล้วบอกให้นางลงจากต้นพุทรา นางอมราได้ฟังคำมโหสถเรียกให้ลง ก็ลงจากต้นพุทรา. ถือหม้อไปแม่น้ำ นำน้ำมาให้มโหสถ. มโหสถก็ดื่มน้ำแล้วบ้วนปาก นางยืนอยู่ส่วนข้างหนึ่ง
    เขาทั้งสองลุกขึ้นเดินไปเข้าสู่พระนคร พระมหาสัตว์ให้นางอยู่ที่เรือนคนเฝ้าประตู. แล้วแจ้งแก่ภรรยาแห่งคนเฝ้าประตูให้ทราบ เพื่อทดลองนาง. แล้วเข้าสู่เคหสถานของตน เรียกชายทั้งหลายมาแจ้งว่า เราให้สตรีคนหนึ่งอยู่ที่เรือนโน้นจึงมาบ้านนี้. เจ้าทั้งหลายจงเอาทรัพย์หนึ่งพันกหาปณะนี้ไปที่เรือนนั้น พูดเกี้ยวพานลองดู. สั่งฉะนี้แล้วให้กหาปณะหนึ่งพัน แล้วส่งไป. บุรุษเหล่านั้นไปสู่สำนักนางอมรา แล้วได้ทำตามมโหสถสั่ง. นางไม่ปรารถนา คิดเห็นว่า ความประพฤติของบุรุษเหล่านี้ ไม่ถึงสักว่าละอองเท้าของสามีแห่งเรา. บุรุษเหล่านั้นก็กลับมาบอกแก่มโหสถ. ลำดับนั้น มโหสถส่งบุรุษเหล่านั้นไปบ่อยๆ ถึง ๓ คราว. ในวาระที่ ๔ จึงกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น เจ้าทั้งหลายจงไปจับตัวนางคร่ามา บุรุษเหล่านั้นก็ไปทำดังนั้น. นางก็ได้มาเห็นพระมหาสัตว์ตั้งอยู่ในความเป็นผู้มีทรัพย์สมบัติมาก ก็จำไม่ได้. แลดูมโหสถแล้ว หัวเราะแล้วร้องไห้. มโหสถซักถามถึง เหตุทั้งสองนั้น. นางก็แจ้งแก่มโหสถว่า ข้าแต่นาย ดิฉันเห็นสมบัติของท่าน. ก็นึกในใจว่า สมบัตินี้ท่านไม่ได้ด้วยไม่มีเหตุ. ก็แต่ท่านจักทำกุศลไว้ในปางก่อน จึงได้สมบัตินี้. โอ ผลของบุญทั้งหลายน่าอัศจรรย์หนอ. นึกในใจดังนี้ จึงได้หัวเราะ. ก็เมื่อดิฉันร้องไห้ ก็ร้องไห้ด้วยความกรุณาในตัวท่าน. ด้วยสงสารว่า บัดนี้ ท่านมาทำร้ายในวัตถุที่คนอื่นปกครองหวงแหน ก็จักไปสู่นรก. มโหสถทดลองนางอมรารู้ความที่นางเป็นผู้บริสุทธิ์. จึงกล่าวสั่งว่า เจ้าทั้งหลายจงไป จงพานางไปอยู่ที่เดิม. แล้วแปลงเพศเป็นช่างชุนผ้าไปแรมอยู่กับนาง. รุ่งเช้าก็เข้าไปสู่ราชสำนัก ทูลประพฤติเหตุนั้นแด่พระนางอุทุมพร. พระนางนำความกราบทูลพระเจ้าวิเทหราช แล้วประดับนางอมราเทวีด้วยเครื่องอลังการทั้งปวงให้นั่งในวอใหญ่. นำมายังเคหสถานของมโหสถทำอาวาหมงคลด้วยเกียรติอันยิ่งใหญ่. พระราชาทรงส่งทรัพย์มูลค่าพันกหาปณะ เป็นบรรณาการแก่พระโพธิสัตว์. ชาวพระนครทั้งสิ้นตั้งแต่คนรักษาประตู ก็ได้จัดของขวัญมาให้. ฝ่ายนางอมราเทวีก็แบ่งของที่ได้รับพระราชทานเป็นสองส่วน คืนเข้าพระคลังส่วนหนึ่ง. รับไว้ส่วนหนึ่ง ได้ส่งของช่วยของชาวนครทั้งสิ้นไปสงเคราะห์ชาวนครโดยวิธีนี้. แต่นั้นมา พระมหาสัตว์ก็ได้อยู่ร่วมกับนางอมรา ได้ถวายอนุศาสน์อรรถธรรมแด่พระราชา.
    จบ การแสวงหานางอมราเทวี
     
  18. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    ว่าด้วย โจรลักรัตนะ ๔ คน
    อยู่มาวันหนึ่ง เสนกะเห็นปุกกุสะ กามินทะ และเทวินทะทั้งสามอาจารย์มาสู่สำนักตน. จึงปรึกษาอาจารย์เหล่านั้นกล่าวว่า แน่ะผู้เจริญทั้งสาม เราทั้งสี่คนไม่เทียมทันมโหสถผู้บุตรคฤหบดี. ก็บัดนี้ เขานำภรรยาผู้ฉลาดนักมาเอง. พวกเราพึงทำลายเขาระหว่างพระราชาเสีย อย่างไรดี. อาจารย์ทั้งสามตอบเสนกะว่า ข้าพเจ้าทั้งสามจะรู้อะไร ขอท่านดำริเถิด. เสนกะจึงกล่าวว่า พวกท่านอย่าวิตก เรามีอุบายอยู่อย่างหนึ่ง. อาจารย์ทั้งสามถามว่า อุบายอะไร ท่านอาจารย์. เสนกะจึงแจ้งว่า เราจักลักพระจุฬามณีของพระราชามา. ท่านปุกกุสะจงลักสุวรรณมาลามา. ท่านกามินทะจงลักคลุมบรรทมกัมพลมา. ท่านเทวินทะจงลักฉลองพระบาททองคำมา. ก็และครั้นลักราชาภรณ์ทั้งสี่อย่างมาได้ ฉะนี้แล้ว. เราทั้งสี่จงยังราชาภรณ์ทั้งสี่นั้น ให้เข้าไปอยู่ในเรือนของมโหสถ. เราแม้ทั้งสี่จักลักราชาภรณ์ทั้งสี่มาด้วยอุบายแล้ว. แต่นั้น จักให้เข้าไปอยู่ในเรือนมโหสถ ทำมิให้ประชาชนสงสัยพวกเรา. อาจารย์ทั้งสามรับว่า อุบายนี้งามนัก. เสนกะจึงนำพระจุฬามณีลงไว้ในหม้อเปรียงก่อน แล้วส่งให้ทาสีคนหนึ่งนำหม้อเปรียงนั้นไป. สั่งว่า เจ้าจงนำหม้อเปรียงนี้ไปเร่ขาย อย่าขายให้แก่ชนเหล่าอื่นผู้รับซื้อ. ถ้าเมื่อชนในเรือนมโหสถรับซื้อ เจ้าจงให้เปล่าทั้งหม้อ. ทาสีก็ไปสู่ประตูเรือนมโหสถร้องขายว่า ท่านทั้งหลายจงซื้อเปรียงๆ เดินกลับไปกลับกลับมาที่หน้าประตูเรือนนั้น.
    นางอมราเทวียืนอยู่ที่ประตูเห็นกิริยาของทาสีนั้น. จึงคิดว่า หญิงนี้ไม่ไปอื่น เหตุการณ์จะพึงมีในหญิงนี้. จึงยังทาสีทั้งหลายให้เลี่ยงไป ด้วยสัญญาอันนัดกันไว้. แล้วเรียกทาสีผู้ขายเปรียงนั้นมาว่า มานี่แม่ ฉันจะซื้อเปรียง. แล้วให้สัญญาแก่พวกทาสีของตน. ในกาลเมื่อนางขายเปรียงมา. ครั้นเมื่อพวกทาสีของตนยังไม่มา. จึงให้นางผู้ขายเปรียงนั้นไปเรียกมา นางจึงล้วงมือลงในหม้อ. พบพระจุฬามณีในนั้น ในกาลเมื่อนางขายเปรียงนั้นไป. พอนางขายเปรียงนั้นกลับมา จึงถามว่า แม่มาแต่สำนักใครนะ. นางขายเปรียงนั้นตอบว่า ข้าแต่แม่เจ้า ข้าเป็นทาสีของอาจารย์เสนกะ. แต่นั้น นางอมราจึงซักถามชื่อของนาง และของบิดามารดาแห่งนาง. ได้รับตอบว่า ชื่อโน้นๆ. แล้วถามว่า เปรียงนี้แม่จะขายราคาเท่าไร. ได้รับตอบว่า เท่าราคาข้าว ๔ ทะนาน. จึงกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้นแม่จงขายแก่ฉัน. ก็ได้รับตอบว่า เมื่อแม่เจ้ารับซื้อ จะต้องการอะไรด้วยราคา จงรับไว้ทั้งหม้อไม่คิดราคา. ก็ว่า ถ้าเช่นนั้นก็ตกลง แล้วให้นางขายเปรียงนั้นกลับไป. ให้บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรถือไว้. มีความว่า เดือนนั้น วันนั้น อาจารย์เสนกะให้ทาสีชื่อนี้ ธิดาของทาสีชื่อนี้ นำพระจุฬามณีของพระราชามาขายไว้. ฝ่ายปุกกุสะวางสุวรรณมาลาในผอบ ซึ่งบรรจุดอกมะลิแล้วปิดสุวรรณมาลานั้น ด้วยดอกมะลิแล้วส่งไป. ฝ่ายกามินทะวางคลุมบรรทมกัมพลในกระเช้า ซึ่งบรรจุผักแล้วปิดด้วยผักแล้วส่งไป. ฝ่ายเทวินทะสอดฉลองพระบาททองคำ ภายในฟ่อนข้าวเหนียวแล้วส่งไป. นางอมรารับสิ่งทั้งปวงนั้นไว้ บันทึกเรื่องไว้โดยนัยหนหลัง. บอกแก่พระมหาสัตว์ แล้วเก็บไว้. ฝ่ายบันฑิตทั้งสี่นั้นไปสู่ราชสำนักทูลว่า พระองค์ไม่ทรงประดับพระจุฬามณีหรือ พระเจ้าข้า. พระเจ้าวิเทหราชตรัสว่า จะประดับ จงไปนำมา. อาจารย์ทั้งสี่นั้นไปดู ไม่เห็นพระจุฬามณีในสถานที่เก็บ และไม่เห็นราชาภรณ์สามอย่างนอกนี้. จึงทูลยุยงว่า ข้าแต่สมมติเทพ ราชาภรณ์ของพระองค์อยู่ในเรือนของมโหสถ. มโหสถใช้ราชาภรณ์เอง ก่อนจะเป็นศัตรูต่อพระองค์.
    ลำดับนั้น คนสอดแนมเนื้อความของมโหสถ นำความมาแจ้งแก่มโหสถ. มโหสถได้ฟังคำของพวกสอดแนมเนื้อความ. จึงคิดว่า เราจักเฝ้าพระราชาจึงจะรู้เรื่อง. จึงไปสู่ที่เฝ้าพระราชา. พระราชากริ้วมโหสถ ไม่ให้มโหสถเห็นพระองค์. ด้วยทรงคิดถึงเหตุที่เกิดว่า เราไม่รู้มโหสถจะมาทำไมในที่นี้. มโหสถรู้ว่า พระราชากริ้ว จึงกลับบ้านของตน. พระราชาตรัสสั่งให้จับมโหสถ. ฝ่ายมโหสถบัณฑิตได้ฟังคำของพวกสอดแนมเนื้อความ. จึงคิดว่า ควรเราจะหลบหลีกไป จึงให้สัญญาแก่นางอมรา. แล้วแปลงเพศออกจากเมือง ไปสู่ทักขิณยวมัชฌคาม. ทำหม้อเลี้ยงชีพอยู่ ณ บ้านนั้น เกิดโกลาหลในพระนครว่า มโหสถบัณฑิตหนีไปแล้ว.
    อาจารย์ทั้งสี่มีเสนกะเป็นต้นรู้ว่า มโหสถหนีไปแล้ว จึงกล่าวว่า ท่านทั้งหลายอย่าวิตก เราทั้งหลายไม่ใช่บัณฑิตหรือ. กล่าวฉะนี้แล้วไม่ยังกันและกันให้รู้ ส่งบรรณาการไปให้นางอมรา. นางอมรารับบรรณาการที่อาจารย์ทั้งสี่ส่งไป แล้วกล่าวว่า จงไปในเวลาโน้น. แล้วคิดว่า เราจักให้ทั้งสี่คนมาหาเราได้อาย. จึงเรียกเหล่าทาสีมา ให้ขุดหลุมหนึ่งล้อมรั้วที่หลุมนั้นเทคูถกับน้ำลงในหลุมนั้น. แล้วให้ปิดแผ่นกระดานยนต์ที่พื้นข้างบนแห่งหลุมคูถ ปกปิดด้วยเสื่อลำแพนมีลิ่มสลักสองข้าง. แล้วแต่งเคหสถานให้ห้อยบุปผชาติ เป็นต้น ให้เป็นเหมือนน่ารื่นรมย์ให้ตั้งน้ำไว้ ยังสิ่งทั้งปวงให้แล้วเสร็จ. เวลาค่ำวันนั้น เสนกะแต่งตัว กินโภชนาหารมีรสเลิศต่างๆ แล้วไปสู่เรือนมโหสถ ยืนอยู่แทบประตู ให้แจ้งการที่ตนมา ยังคนรักษาให้บอกแก่นางอมรา. นางอมราได้ฟังคำแห่งเสนกะนั้น จึงกล่าวว่ามาเถิด. เสนกะก็ไปยืนอยู่ใกล้นางอมรา. นางอมราจึงกล่าวอย่างนี้กะเสนกะว่า ข้าพเจ้าตกอยู่ในอำนาจของท่าน ในบัดนี้แล้ว. การไม่อาบน้ำแล้วนอนไม่ควร ท่านจงไปอาบน้ำหอมนี้เสียก่อนจึงมา. เสนกะรับคำแล้วไปเหยียบแผ่นกระดานจักอาบ. นางอมราทำเป็นเหมือนรดน้ำให้ ในกาลเมื่อเสนกะขึ้นยืนบนแผ่นกระดาน. นางเหยียบที่แผ่นกระดานกล ยังเสนกะให้ตกลงในหลุมคูถ. นางยังปุกกุสะผู้แต่งกายกินโภชนะเลิศแล้วมาในเวลาเย็น ให้ตกในหลุมคูถนั้น. ปุกกุสะเมื่อถูกเสนกะเข้าจึงถามเสนกะว่า ท่านเป็นคนหรือ. ก็ได้รับตอบว่า กันเป็นอาจารย์เสนกะ. ฝ่ายเสนกะก็ถามปุกกุสะว่า ก็ท่านเล่า เป็นคนหรือ. ก็ได้รับตอบว่า กันเป็นอาจารย์ปุกกุสะ. นางอมรายังกามินทะและเทวินทะทั้งสองผู้มาตามๆ กันให้ตกลงในหลุมคูถ โดยทำนองนั้นเหมือนกัน. อาจารย์ทั้งสี่คนนั้นยืนอยู่ในหลุมคูถเพียงท้อง ศีรษะโดนกันและกัน ต่างถามกันว่า นั่นใครๆ. ลำดับนั้น เสนกะบอกว่า กัน. ครั้นทั้งสามอาจารย์ถามว่า จะทำอย่างไรกัน. ท่านอาจารย์เสนกะจึงห้ามว่า ท่านทั้งหลายอย่าอึงไป. ตั้งแต่นี้ไป ความอายจักมีแก่พวกเรา. บัณฑิตทั้งสี่คนอยู่ในหลุมคูถตลอดคืน. นางอมรายังอาจารย์ทั้งสี่คนให้ตกลงในหลุมคูถ อันสกปรกน่าเกลียดอย่างนี้.
    ครั้นรุ่งสว่าง ให้ทั้งสี่คนนั้นจับเชือกสาวขึ้นมาจากหลุมคูถนั้น ให้อาบน้ำพลัน. ให้เอามีดโกน โกนผมและหนวดทั้งสี่อาจารย์นั้นให้โล้น. แล้วให้สีด้วยแผ่นอิฐจนเลือดออกซิบๆ แล้วให้เอาข้าวสารหนึ่งทะนาน ให้ชุ่มด้วยน้ำตำให้ละเอียด บรรจุในภาชนะกวนให้เป็นเหมือนข้าวยาคูเป็นอันมาก ให้ทาให้ทั่วทั้งตัวของอาจารย์ทั้งสี่ตั้งแต่ศีรษะ. แล้วให้เอานุ่นย่อยๆ โรยลงให้ทั่วตัว ตั้งแต่ศีรษะ. ให้ทั้งสี่คนถึงความลำบากมาก ให้นอนในกระชุกรุเสื่อลำแพน ปิดผูกพันด้วยเชือกให้แน่น ประทับตรา. แล้วให้นำรัตนะ ๔ อย่างกับอาจารย์ทั้งสี่ ไปเฝ้าพระเจ้าวิเทหราช. ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง. แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์ทรงรับบรรณาการทั้งหลาย. กราบทูลฉะนี้แล้ว ให้วางเสื่อลำแพนทั้งสี่ แทบพระบาทมูลแห่งพระราชา. ลำดับนั้น พระราชาให้เปิดเสื่อลำแพนนั้นออก ทอดพระเนตรเห็นบัณฑิตทั้งสี่มีเสนกะเป็นต้น. เหมือนกับวานรเผือก ก็ทรงดุษณีภาพ. ฝ่ายมหาชนเห็นอาจารย์ทั้งสี่นั้น ก็พูดกันว่า โอ วานรเผือกงามมากๆ เราทั้งหลายไม่เคยเห็นมาได้เห็น แล้วพากันสรวลเฮฮาใหญ่. อาจารย์ทั้งสี่ได้ความอายมาก. ลำดับนั้น นางอมราถวายรัตนะ ๔ อย่างกับอาจารย์ทั้ง ๔ แด่พระราชา. เมื่อจะประกาศความที่ มโหสถสามีของตนไม่มีความผิด. จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ มโหสถบัณฑิตไม่ได้เป็นโจร. แต่อาจารย์ทั้ง ๔ ของพระองค์เป็นโจร คือเสนกะลักพระจุฬามณีของพระองค์ ปุกกุสะลักสุวรรณมาลา กามินทะลักคลุมบรรทมกัมพล เทวินทะลักฉลองพระบาททองคำ. รัตนะทั้ง ๔ อย่างนี้ อันอาจารย์ทั้ง ๔ ให้ทาสีชื่อนี้ เป็นลูกสาวของทาสีชื่อนี้. ส่งไปขายให้ข้าพระบาทในวันนั้นเดือนนั้น. ขอพระองค์ทอดพระเนตรหนังสือบันทึกสำคัญนี้ แล้วทรงรับไว้เป็นของหลวง และจงทรงรับโจรและรัตนะเหล่านี้ไว้. ยังชนทั้ง ๔ ให้ถึงมหาวิปการอย่างนี้. แล้วถวายบังคมลากลับบ้าน. ลำดับนั้น พระราชาไม่ตรัสอะไรๆ กะชนเหล่านั้น เพราะทรงรังเกียจในพระโพธิสัตว์ เพราะพระโพธิสัตว์หนีไปเสียแล้ว และเพราะความไม่มีชนเหล่าอื่นเป็นมนตรีผู้บัณฑิต. ตรัสสั่งแต่ว่า ท่านทั้ง ๔ จงอาบน้ำกลับไปเคหสถานของตน.
    จบ โจรลักรัตนะ ๔ คน
     
  19. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    ว่าด้วย ปัญหาของเทวดา
    ณ กาลครั้งนั้น เทวดาผู้สิงอยู่ที่เศวตฉัตรแห่งบรมกษัตริย์ ไม่ได้สดับธรรมเทศนาแห่งพระโพธิสัตว์. จึงพิจารณาดูก็ทราบเหตุนั้น จึงคิดว่า เราจักทำให้พระโพธิสัตว์ได้กลับมาอยู่บ้านตามเดิม. ครั้นเวลาราตรี จึงแหวกกำพูฉัตรออกมาถามปัญหาพระเจ้าวิเทหราช ๔ ข้อ. มีคำว่า หนฺติ หตฺเถหิ ปาเทหิ เป็นต้น ซึ่งเป็นปัญหาอันเทวดาถามในจตุกนิบาต. พระราชาได้ทรงสดับเทวปัญหานั้น ยังไม่ทรงทราบ. จึงตรัสตอบเทวดานั้นว่า ข้าพเจ้ายังไม่รู้ จักถามบัณฑิตอื่นๆ ก่อน. แล้วตรัสขอเทพบริหาร อย่าให้ต้องเทวทัณฑ์สักวันหนึ่ง. ครั้นรุ่งขึ้นจึงตรัสเรียกบัณฑิตทั้ง ๔ คนมาเฝ้า. ครั้นอาจารย์ทั้ง ๔ ทูลว่า พวกตนศีรษะโล้นด้วยคมมีดโกน เดินตามถนนมีความอาย. จึงโปรดให้ส่งนาฬิกปัฏ ผืนผ้าทำรูปดุจทะนานไปพระราชทาน ให้เอานาฬิกปัฏนั้นๆ สวมศีรษะมาเฝ้า. ได้ยินว่า นาฬิกปัฏเกิดขึ้น แต่กาลนั้นมาจนบัดนี้. อาจารย์ทั้ง ๔ ก็มาเข้าเฝ้า นั่ง ณ อาสนะที่ปูลาดไว้. ลำดับนั้น พระราชาตรัสว่า ท่านอาจารย์เสนกะ. คืนวันนี้เทวดาผู้สิงอยู่ ณ เศวตฉัตร ถามปัญหาเรา ๔ ข้อ. เราขอผลัดว่า ยังไม่รู้ จักถามพวกท่านดูก่อน. ท่านเสนกะจงกล่าวปัญหานั้นแก่เรา. ตรัสฉะนี้แล้ว จึงถามปัญหาเป็นปฐมว่า
    บุคคลประหารร่างกายผู้อื่นด้วยมือทั้งสอง หรือด้วยเท้าทั้งสอง และเอามือประหารปากผู้อื่น. บุคคลนั้นกลับเป็นที่รักแห่งผู้ต้องประหาร. เพราะฉะนั้น พระองค์ทรงเห็นว่า ผู้เป็นที่รักนั้นได้แก่ใคร.
    เสนกะได้ฟังเทพปัญหานั้นก็ไม่รู้ความ บ่นปัญหานั้นๆ ว่า ใครประหารอะไรๆ แลไม่เห็นที่สุดและเงื่อนแห่งเทพปัญหานั้น. แม้อาจารย์อีก ๓ คนก็หมดความคิด. พระราชาทรงวิปฏิสาร.
    ครั้นในส่วนแห่งราตรี เทวดาถามอีกว่า ทรงทราบปัญหาแล้วหรือ. ก็ตรัสตอบว่า ข้าพเจ้าได้ถามบัณฑิตทั้ง ๔ แล้ว เขาก็ไม่รู้. เทวดาจึงกล่าวขู่พระราชาว่า อาจารย์ทั้ง ๔ นั้นจะรู้อะไร เว้นมโหสถบัณฑิตเสีย ใครๆ อื่นจะสามารถกล่าวแก้ปัญหาเหล่านั้นย่อมไม่มี. ถ้าพระองค์ให้เรียกมโหสถมาให้กล่าวแก้ปัญหานั้น นั่นแหละจะเป็นการดี. ถ้าไม่เรียกมโหสถมาให้กล่าวแก้ปัญหาเหล่านั้น ข้าพเจ้าจักทำลายเศียรของพระองค์ด้วยค้อนเหล็กอันลุกโพลงนี้ กล่าวขู่ฉะนี้ แล้วทูลเตือนว่า แน่ะมหาราช เมื่อต้องการไฟ ไม่ควรจะเป่าหิงห้อย หรือเมื่อต้องการน้ำนม ไม่ควรจะรีดเขาโค. ชักขัชโชปนกปัญหาในปัญจกนิบาตนี้ มากล่าวคาถาว่า
    ใครเล่าเมื่อไฟลุกโพลงมีอยู่ ยังเที่ยวหาไฟอีก โดยมิใช่เหตุ. บุคคลเห็นหิงห้อยในราตรี ก็สำคัญว่าไฟ
    เอาจุรณโคมัยอันละเอียด หรือหญ้าทำเชื้อบนหิงห้อย แล้วเอามือสีให้เกิดไฟ ก็ไม่สามารถให้ไฟลุกโพลง ด้วยสำคัญวิปริต ฉันใด.
    คนอันธพาลดุจคนใบ้ แม้แสวงหาสิ่งที่ต้องประสงค์โดยไม่ใช่อุบาย ก็ไม่ได้สิ่งที่ต้องประสงค์นั้น ฉันนั้น. นมโคไม่มีที่เขาโค บุคคลรีดนมโคที่เขาโค ก็ไม่ได้นมโค ฉันใด. บุคคลแสวงหาสิ่งที่ต้องการในที่ไม่ใช่ที่จะหาได้ ก็ไม่ได้สิ่งที่ต้องการ ฉันนั้น.
    ชนทั้งหลายลุถึงสิ่งที่ต้องการด้วยอุบายต่างๆ พระเจ้าแผ่นดินทั้งหลายครองแผ่นดินอันชื่อพสุนธรเพราะทรงไว้ซึ่งรัตนะ คือแก้ว ก็ด้วยนิคคหะเหล่าอมิตร ปัคคหะเหล่ามิตร
    ได้เหล่าอมาตย์มีเสนีเป็นประมุข และความแนะนำของอมาตย์ผู้คุ้นเคยเป็นที่รักเป็นที่เจริญใจ.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สนฺตมฺหิ ปชฺโชเต ความว่า เมื่อไฟมีอยู่. บทว่า อคฺคิปริเยสนํ จรํ ความว่า เที่ยวโดยมิใช่อุบาย. บทว่า อทฺทกฺขิ แปลว่า เห็นแล้ว ครั้นเห็นแล้วก็สำคัญหิงห้อยนั้นอย่างนี้ว่า นี้จักเป็นไฟ ด้วยสำคัญว่ามีแสง. บทว่า สวาสฺส ความว่า เขาเอาจุรณโคมัย อันละเอียดและหญ้าไว้บนหิงห้อยนั้น. บทว่า อภิมตฺถํ ความว่า สีด้วยมือ คือบุคคลนี้ชื่ออะไร โรยจุรณโคมัยและหญ้า นั่งคุกเข่าบนพื้นดิน. แม้พยายามด้วยความสำคัญอันวิปริตว่า เราจักเอาปากเป่าให้มันลุกโพลง ก็ไม่อาจให้ลุกโพลงได้. บทว่า มูโค ความว่า คนอันธพาลเช่นกับคนใบ้ แม้แสวงหาด้วยมิใช่อุบายอย่างนี้ ย่อมไม่ได้ประโยชน์นั้น. บทว่า ยตฺถ ความว่า ย่อมไม่ได้สิ่งที่ต้องการ เหมือนคนรีดนมโคแต่เขาโค ซึ่งไม่มีน้ำนมเลย. บทว่า เสนีโมกฺขูปลาเภน ได้แก่ เพราะได้เหล่าอมาตย์ซึ่งมีเสนีเป็นประมุข. บทว่า วลฺลภานํ นเยน จ ได้แก่ ด้วยความแนะนำของเหล่าอมาตย์ผู้มีความคุ้นเคย ผู้เป็นที่รักเป็นที่เจริญใจ. บทว่า ชคตีปาลา ได้แก่ พระราชาทั้งหลายย่อมครองแผ่นดินนี้แหละ ซึ่งได้ชื่อว่า พสุนธร. เพราะทรงไว้ซึ่งรัตนะทั้งหลาย คือแก้ว.
    เทวดากล่าวขู่พระราชาว่า ชนทั้งหลายเช่นกับพระองค์ ในเมื่อไฟมีอยู่แท้ ก็หาเป่าหิงห้อยไม่. ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ก็พระองค์ตรัสถามอาจารย์ทั้ง ๔ มีเสนกะเป็นต้น ก็เป็นเหมือนครั้นเมื่อไฟมีอยู่ ทรงเป่าหิงห้อย เหมือนคนทิ้งตราชูเสียแล้วชั่งด้วยมือ และเหมือนเมื่อต้องการน้ำนม ก็รีดเอาแต่เขาโค ฉะนั้น. อาจารย์ทั้ง ๔ เหล่านั้นจะรู้อะไร เพราะเขาเหล่านั้นเช่นกับหิงห้อย. มโหสถบัณฑิตเช่นกับกองเพลิงใหญ่ ย่อมรุ่งโรจน์ด้วยปัญญา. ขอพระองค์โปรดให้หา มโหสถมาตรัสถามเถิด. เมื่อพระองค์ไม่ทรงทราบปัญหาเหล่านี้ พระชนมชีพของพระองค์จะไม่มี. ทูลคุกคามฉะนี้แล้ว ก็อันตรธานหายไป.
    จบ ปัญหาหิงห้อย

    พระราชาถูกมรณภัยคุกคาม รุ่งขึ้นให้เรียกอมาตย์ ๔ คนมาตรัสสั่งว่า ท่านทั้ง ๔ คนจงขึ้นรถ ๔ คัน ออกจากประตูเมืองทั้ง ๔ ประตู. ค้นหามโหสถบุตรเราอยู่ที่ใด จงทำสักการะแก่เธอในที่นั้น แล้วนำตัวมาโดยเร็ว. อมาตย์ทั้ง ๔ คนออกทางประตูคนละประตู อมาตย์ ๓ คนไม่พบมโหสถบัณฑิต. แต่อมาตย์คนหนึ่งออกทางประตูด้านทิศทักษิณ พบพระมหาสัตว์ที่บ้านทักขิณยวมัชฌคาม. ขนดินเหนียวมา มีร่างกายเปื้อนดินเหนียว นั่งบนตั่งใบไม้หมุนจักรในสำนักอาจารย์. ปั้นดินเหนียวเป็นปั้นๆ บริโภคข้าวเหนียวไม่มีแกง.
    ถามว่า ก็เหตุไร มโหสถจึงทำการอย่างนี้ แก้ว่า ได้ยินว่า พระราชาทรงรังเกียจว่า มโหสถบัณฑิตจะชิงราชสมบัติของพระองค์โดยไม่สงสัย. มโหสถคิดว่า เมื่อพระราชาทรงทราบว่า มโหสถเลี้ยงชีพอยู่ด้วยการทำหม้อขาย ก็จะทรงหายรังเกียจ จึงได้ทำอย่างนี้.
    มโหสถเห็นอมาตย์ก็รู้ว่าจะมาหาตน จึงดำริว่า วันนี้ยศของเราจักมีเป็นปกติอีก เราจักบริโภคโภชนาหารมีรสเลิศต่างๆ ที่นางอมราเทวีจัดไว้รับ. คิดฉะนี้ จึงทิ้งก้อนข้าวที่ถือไว้ ลุกขึ้นบ้วนปาก. อมาตย์นั้นเข้าไปหามโหสถ ในขณะนั้น. แต่อมาตย์คนนั้นเป็นฝักฝ่ายเสนกะ. เพราะฉะนั้น เมื่อจะสืบต่อข้อความที่เสนกะกล่าวแต่หนหลัง ว่าทรัพย์ประเสริฐกว่าปัญญานั้น. จึงกล่าวว่า แน่ะท่านบัณฑิต คำของอาจารย์เสนกะเป็นจริง. ในเมื่อยศของท่านเสื่อม ท่านเป็นผู้มีปัญญามากถึงปานนี้ ก็ไม่สามารถจะเป็นที่พึ่งแก่ท่าน. บัดนี้ ท่านมีร่างกายเปรอะเปื้อนด้วยดินเหนียว นั่งที่ตั่งใบไม้กินข้าวเห็นปานนี้ กล่าวฉะนี้แล้ว
    ได้กล่าวคาถาที่หนึ่ง ในภูริปัญหาในทสนิบาตนี้ว่า
    ได้ยินว่า คำที่อาจารย์เสนกะกล่าวเป็นของจริง. แม้ท่านจะมีปัญญาดุจแผ่นดิน มีสิริ มีความเพียร และมีความคิดเช่นนั้น ยังไม่ป้องกันความที่ท่านเข้าถึงอำนาจของความพินาศได้ ท่านจึงต้องกินอาหารไม่มีแกง.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สจฺจํ กิร ความว่า แน่ะท่านอาจารย์ อาจารย์เสนกะกล่าวคำใด. ได้ยินว่า คำนั้นเป็นคำจริงทีเดียว. บทว่า สิรี ได้แก่ ความเป็นใหญ่. บทว่า ธิติ ได้แก่ มีความเพียรเป็นนิจ. บทว่า น ตายเต ภาววสูปนีตํ ความว่า ไม่รักษา คือไม่คุ้มครอง ท่านผู้เข้าถึงอำนาจของความพินาศ คือความไม่เจริญ คือไม่สามารถจะเป็นที่พึ่งของท่านได้. บทว่า ยาวกํ ความว่า กินภัตตาหารจากข้าวสารเหนียวเห็นปานนี้.
    ลำดับนั้น พระมหาสัตว์กล่าวตอบอมาตย์นั้นว่า แน่ะอันธพาล เราประสงค์จะทำยศนั้นให้เป็นปกติด้วยปัญญาของตนอีก จึงได้ทำอย่างนี้. แล้วกล่าวสองคาถานี้ว่า
    เรายังความสุขให้เจริญด้วยความทุกข์ เมื่อพิจารณากาลและมิใช่กาล ก็หลบซ่อนอยู่ เปิดช่อง คิดทำให้เป็นประโยชน์แก่ตน. ด้วยเหตุนั้น เราจึงยินดีด้วยการบริโภคข้าวเหนียว.
    ก็เรารู้จักกาลเพื่อองอาจ ทำความเพียร ยังยศของตนให้เจริญอีก ด้วยความคิดของตนองอาจอยู่. ดุจความองอาจแห่งราชสีห์ที่พื้นมโนศิลา ฉะนั้น. ท่านจักเห็นเราด้วยความสำเร็จนั้นอีก.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทุกฺเขน ความว่า ยังความสุขเก่าของตนให้งอกงาม คือเจริญด้วยทำให้กลับเป็นปกติ ด้วยความทุกข์ทางกายและทางใจนี้. บทว่า กาลากาลํ ความว่า เราเมื่อพิจารณากาลและมิใช่กาลอย่างนี้ว่า นี้เป็นกาลที่ต้องหลบซ่อนเที่ยวไป นี้ไม่ต้องหลบซ่อน. รู้ว่าในเวลาที่พระราชากริ้ว ต้องหลบซ่อนเที่ยวไป เป็นผู้หลบซ่อน คือปิดบัง ตามความพอใจ คือความชอบใจของตน เลี้ยงชีพด้วยงานช่างหม้อ ไม่ปิด คือเปิดช่องกล่าว คือเหตุแห่งประโยชน์ของตนอยู่. ด้วยเหตุนั้น เราจึงยินดีด้วยการบริโภคข้าวเหนียว. บทว่า อภิชิมฺหตาย ได้แก่ เพื่อองอาจ คือเพื่อกระทำความเพียรยิ่ง. บทว่า มนฺเตหิ อตฺถํ ปริปาจยิตฺวา ความว่า เราจักยังยศของเราให้เจริญอีก ด้วยความรู้ของตน องอาจดุจราชสีห์องอาจที่พื้นมโนศิลา ฉะนั้น. ท่านจักเห็นเราด้วยความสำเร็จนั้นแม้อีก.
    ลำดับนั้น อมาตย์กล่าวกะมโหสถว่า แน่ะพ่อบัณฑิต เทวดาผู้สิงอยู่ ณ เศวตฉัตร ถามปัญหาพระราชา พระราชาตรัสถามบัณฑิตทั้ง ๔ ใน ๔ คนนั้น. แม้คนหนึ่งก็ไม่อาจแก้ปัญหาได้. เพราะเหตุนั้น พระราชาจึงดำรัสสั่งให้ข้าพเจ้ามาหาท่าน. พระมหาสัตว์จึงกล่าวสรรเสริญอานุภาพแห่งปัญญาว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านจงเห็นอานุภาพแห่งปัญญาของตน เพราะว่าอิสริยยศย่อมไม่เป็นที่พึ่ง ในกาลเห็นปานดังนี้. บุคคลผู้บริบูรณ์ด้วยปัญญาเท่านั้นย่อมเป็นที่พึ่งได้. อมาตย์ได้รับพระราชบัญชามาว่า จงให้มโหสถบัณฑิตอาบน้ำนุ่งห่มในที่ที่พบทีเดียวแล้วนำมา ก็ได้ทำตามรับสั่งแล้วให้กหาปณะพันหนึ่ง และผ้าสำรับหนึ่ง ซึ่งเป็นของพระราชทานแก่พระมหาสัตว์ ได้ยินว่า ช่างหม้อเกิดกลัวขึ้นเอง ด้วยคิดเห็นว่า เราใช้สอยมโหสถผู้เป็นราชบัณฑิต. พระมหาสัตว์เห็นกิริยาแห่งช่างหม้อ จึงพูดเอาใจว่า อย่ากลัวเลยท่านอาจารย์ ท่านเป็นผู้มีอุปการะแก่ข้าพเจ้ามาก. กล่าวฉะนี้ แล้วให้กหาปณะพันหนึ่งแก่ช่างหม้อ. แล้วนั่งไปในรถทั้งตัวเปื้อนดินเหนียวเข้าไปสู่พระนคร. อมาตย์ให้ทูลข่าวมาของมโหสถแด่พระราชา รับสั่งถามว่า ท่านพบมโหสถที่ไหน. จึงกราบทูลว่า มโหสถทำหม้อขายเลี้ยงชีพอยู่ ณ บ้านทักขิณยวมัชฌคาม. ทราบว่ามีรับสั่งให้มาเฝ้า ก็ยังหาอาบน้ำไม่ มีร่างกายเปื้อนดินเหนียวมาทีเดียว. พระเจ้าวิเทหราชทรงดำริว่า ถ้ามโหสถเป็นศัตรูของเรา จะพึงเที่ยวอยู่ด้วยทำอิสริยศักดิ์ มโหสถนี้หาได้เป็นศัตรูของเราไม่. ทรงดำริฉะนี้แล้วตรัสสั่งว่า ท่านจงบอกแก่มโหสถบุตรของเราว่า จงไปเรือนของตนอาบน้ำตกแต่งกาย แล้วมาตามทำนองเกียรติศักดิ์ที่เราให้. มโหสถได้สดับพระราชกระแส ก็ทำอย่างนั้นแล้วมาเฝ้า. ได้พระราชานุญาตให้เข้าเฝ้าแล้ว ก็ตรงเข้าไปถวายบังคมพระราชาแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรแห่งหนึ่ง. พระเจ้าวิเทหราชทรงปฏิสันถารมโหสถบัณฑิต. เมื่อจะทรงทดลองมโหสถบัณฑิต จึงตรัสคาถานี้ว่า
    ก็คนพวกหนึ่งไม่ทำความชั่วด้วยคิดว่าเราสบายอยู่แล้ว คนอีกพวกหนึ่งไม่ทำเพราะเกรงเกี่ยวข้องด้วยความติเตียน ก็เจ้าเป็นผู้สามารถมีความคิดเต็มเปี่ยม เหตุไรจึงไม่ทำความทุกข์แก่เรา.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุขี หิ ความว่า แน่ะบัณฑิต ก็คนบางพวกไม่ทำความชั่ว เพราะเหตุแห่งความเป็นผู้มีอิสระยิ่ง. ด้วยคิดว่า พวกเรามีความสุข สมบูรณ์ด้วยอิสริยยศ พวกเราไม่ควรทำความชั่วด้วยเหตุเท่านี้. คนบางพวกไม่ทำความชั่ว เพราะเกรงเกี่ยวข้องด้วยความติเตียน. ด้วยคิดว่า คนมุ่งร้ายกล่าวติเตียนจักมีแก่เจ้านายผู้ให้ยศแก่เราเห็นปานนี้. บางคนมีปัญญาน้อย แต่ตัวเจ้าเป็นผู้สามารถ มีความคิดเต็มเปี่ยม. ถ้าต้องการ ก็ครองราชสมบัติในชมพูทวีปทั้งสิ้นได้. เหตุไรจึงไม่ชิงราชสมบัติ ไม่ทำความทุกข์แก่เรา.
    ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์กราบทูลพระราชาว่า
    บัณฑิตทั้งหลายไม่ประพฤติความชั่ว เพราะเหตุแห่งความสุขของตน. อันความทุกข์กระทบแล้ว แม้พลาดจากสมบัติก็สงบ ย่อมไม่ละธรรม เพราะรักและเพราะชัง.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ขลิตาปิ ความว่า แม้เป็นผู้มีสภาพที่พลาดจากสมบัติแล้วตั้งอยู่ในวิบัติ. บทว่า น ชหนฺติ ธมฺมํ ความว่า ย่อมไม่ละแม้ซึ่งธรรม คือประเพณี. แม้ซึ่งธรรม คือสุจริต.
    พระราชา เมื่อจะตรัสขัตติยมายาเพื่อทดลองมโหสถอีก จึงตรัสคาถานี้ว่า
    บุคคลพึงถอนตนที่ต่ำช้าด้วยเพศที่อ่อนหรือทารุณอย่างใดอย่างหนึ่งก่อน ภายหลังจึงประพฤติธรรมก็ได้มิใช่หรือ.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทีนํ ความว่า พึงถอนตนที่ต่ำช้า คือเข็ญใจขึ้นตั้งไว้ในสมบัติ.
    ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ เมื่อจะแสดงอุปมาด้วยต้นไม้แด่พระราชา. จึงกล่าวคาถานี้ว่า
    บุคคลนั่งหรือนอนที่ร่มเงาของต้นไม้ใด ไม่พึงหักรานกิ่งของต้นไม้นั้น เพราะผู้ประทุษร้ายมิตรเป็นผู้ชั่วช้า.
    ก็แลครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว เมื่อจะแสดงความที่ตนมิใช่ผู้ประทุษร้ายมิตร แม้ในที่ทั้งปวงว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ถ้าว่าบุคคลหักกิ่งต้นไม้ที่ตนได้บริโภค ชื่อว่าเป็นผู้ประทุษร้ายมิตรไซร้ จะกล่าวไปทำไม บุคคลผู้นี้ก็ชื่อว่า เป็นผู้ฆ่ามนุษย์ บิดาของข้าพระองค์ พระองค์ให้ดำรงอยู่ในอิสริยยศโอฬารและข้าพระองค์. พระองค์ก็ทรงอนุเคราะห์ ด้วยการอนุเคราะห์มาก. เมื่อข้าพระองค์ทำร้ายในพระองค์ จะไม่พึงชื่อว่าเป็นผู้ประทุษร้ายมิตรได้อย่างไร และเมื่อจะทูลท้วงโทษแห่งพระราชา จึงกล่าวคาถาว่า
    นรชนรู้แจ้งซึ่งธรรมแต่ผู้ใด และสัตบุรุษเหล่าใดบรรเทาเสีย ซึ่งความสงสัยอันเกิดขึ้นแก่นรชนนั้น. กิริยาของท่านผู้นั้นเป็นดังเกาะและเป็นที่พึ่งของนรชนนั้น. ผู้มีปัญญาไม่พึงยังไมตรีกับท่านผู้นั้นให้เสื่อมสิ้นไป.
    คาถานั้นมีเนื้อความว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า บุรุษพึงรู้ธรรม คือเหตุแม้มีประมาณน้อย แต่สำนักของอาจารย์ใด. และสัตบุรุษเหล่าใดบรรเทาเสียซึ่งความสงสัยอันเกิดขึ้นแก่นรชนนั้น. การกระทำของท่านผู้นั้นเป็นดังเกาะและเป็นที่พึ่ง เพราะอรรถว่าเป็นที่พึ่งของนรชนนั้น. บัณฑิตไม่พึงละ คือไม่พึงยังมิตรภาพกับอาจารย์เช่นนั้นให้พินาศ.
    บัดนี้ เมื่อจะถวายโอวาทพระราชา มโหสถบัณฑิตจึงกล่าว ๒ คาถานี้ว่า
    คฤหัสถ์บริโภคกามเป็นคนเกียจคร้านไม่ดี. บรรพชิตเป็นผู้ไม่สำรวมแล้วไม่ดี. พระราชาผู้ไม่ทรงพิจารณาก่อนจึงทรงราชกิจไม่ดี. ความโกรธของบัณฑิตผู้มักโกรธไม่ดี.
    กษัตริย์ควรทรงพิจารณาก่อนทรงราชกิจ พระเจ้าแห่งทิศไม่ทรงพิจารณาก่อนไม่พึงทรงราชกิจ ยศและเกียรติย่อมเจริญแก่พระราชาผู้ทรงพิจารณาก่อน จึงทรงบำเพ็ญราชกรณียกิจเป็นปกติ.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น สาธุ ได้แก่ ไม่บริสุทธิ์ คือไม่งาม. บทว่า อนิสมฺมการี ได้แก่ ผู้ทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่พิจารณา คือไม่ทำให้ประจักษ์แก่ตนแล้วกระทำ. บทว่า ตํ น สาธุ ความว่า ความโกรธ กล่าวคือความกำเริบแห่งอาชญา ด้วยอำนาจการยึดสิ่งที่ไม่ใช่ฐานะของบุคคลผู้เป็นบัณฑิต คือผู้มีปัญญานั้นไม่ดี. บทว่า ยโส กิตฺติญฺจ ความว่า อิสริยยศ ปริวารยศ และเกียรติคุณ ย่อมเจริญโดยส่วนเดียว.
    จบ ภูริปัญหา
     
  20. สร้อยฟ้ามาลา

    สร้อยฟ้ามาลา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    19,158
    ค่าพลัง:
    +43,837
    เมื่อพระมหาสัตว์กล่าวอย่างนี้แล้ว พระเจ้าวิเทหราชจึงให้พระมหาสัตว์นั่ง ณ ราชบัลลังก์ภายใต้เศวตฉัตร. พระองค์เองประทับนั่ง ณ อาสนะต่ำ. ตรัสว่า พ่อบัณฑิต เทวดาผู้สิงอยู่ ณ เศวตฉัตรถามปัญหา ๔ ข้อกะเรา. แต่เราไม่รู้ปัญหา ๔ ข้อนั้น. อาจารย์ ๔ คนก็ไม่รู้. เพราะฉะนั้น เจ้าจงกล่าวแก้ปัญหา ๔ ข้อนั้นแก่เรา. มโหสถกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า เทวดาผู้สิงอยู่ ณ เศวตฉัตรก็ยกไว้เถิด หรือเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกาเป็นต้น ก็ยกไว้เถิด. ข้าพระองค์อาจกล่าวแก้ปัญหาที่ผู้ใดผู้หนึ่งถาม. ขอพระองค์ตรัสปัญหา ๔ ข้อที่เทวดาถามเถิด พระเจ้าข้า. ลำดับนั้น พระราชาเมื่อจะตรัสตามทำนองที่เทวดาถาม จึงตรัสคาถาเป็นปฐมว่า
    บุคคลประหารร่างกายผู้อื่นด้วยมือทั้งสอง หรือด้วยเท้าทั้งสอง และเอามือประหารปากผู้อื่น. บุคคลนั้นกลับเป็นที่รักแห่งผู้ต้องประหาร. เพราะฉะนั้น พระองค์ทรงเห็นว่าเป็นที่รักนั้น ได้แก่ใคร.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า หนฺติ แปลว่า ย่อมประหาร. บทว่า ปริสุมฺภติ แปลว่า ย่อมประหารเหมือนกัน. บทว่า สเว ราช ปิโย โหติ ความว่า บุคคลนั้นเมื่อกระทำอย่างนั้นย่อมเป็นที่รัก. บทว่า กนฺเตนมภิปสฺสสิ ความว่า เพราะเหตุนั้น พระองค์ทรงเห็นบุคคลผู้เป็นที่รัก ได้แก่คนไหน. เทวดาถามปัญหานั้นอย่างนี้.
    พอพระมหาสัตว์ได้สดับปัญหาเท่านั้น เนื้อความแห่งปัญหานั้นก็ปรากฏเหมือน ดวงจันทร์เต็มดวงปรากฏในท้องฟ้า. ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ทูลเตือนพระราชาให้คอยทรงสดับแล้ว. จึงกล่าวแก้เทวปัญหาทำให้ปรากฏ ประหนึ่งผู้มีฤทธิ์ชูดวงอาทิตย์ขึ้นไปกลางหาว ฉะนั้น. อย่างนี้ว่า ข้าแต่สมมติเทพ เมื่อใด เด็กน้อยนอนบนตักมารดา ก็ร่าเริงยินดี เล่นประหารมารดาด้วยมือและเท้า ถอนผมมารดา เอามือประหารปากมารดา. เมื่อนั้นมารดาก็กล่าวคำดังนี้เป็นต้นกับบุตรนั้น ด้วยอำนาจความรักว่า แน่ะอ้ายลูกประทุษร้าย อ้ายโจร เองประหารข้าอย่างนี้ได้หรือ. กล่าวฉะนี้แล้ว ก็ไม่อาจจะกลั้นความรักไว้. ก็สวมกอดให้นอนระหว่างถัน จูบศีรษะ บุตรนั้นเป็นที่รักแห่งมารดาในกาลนั้น ฉันใด. ก็เป็นที่รักแห่งบิดาในกาลนั้น ฉันนั้น. เทวดาได้สดับอรรถาธิบายของพระโพธิสัตว์ ก็เผยกำพูฉัตรออกมาสำแดงกายกึ่งหนึ่งให้ปรากฏ ให้สาธุการด้วยเสียงอันไพเราะว่า โอ บัณฑิตกล่าวแก้ปัญหาถูกดีแล้วหนอ. แล้วบูชาพระมหาสัตว์ด้วยดอกไม้และของหอมอันเป็นทิพย์ อันบรรจุเต็มในผอบแก้ว แล้วอันตรธานหายไป. แม้พระเจ้าวิเทหราชก็ทรงบูชาพระมหาสัตว์ ด้วยบุปผชาติเป็นต้น. แล้วตรัสวิงวอนให้กล่าวแก้ปัญหาข้ออื่นต่อไป. ครั้นได้ทรงรับให้ตรัสถาม จึงตรัสคาถาที่ ๒ ว่า
    บุคคลด่าผู้อื่นตามความใคร่ แต่ไม่อยากให้ผู้ถูกด่านั้นถึงภยันตราย. บุคคลผู้ถูกด่านั้นย่อมเป็นที่รักของผู้ด่า. เพราะเหตุนั้น พระองค์ทรงเห็นใครว่า เป็นที่รักแห่งผู้ด่า.
    ลำดับนั้น พระมหาสัตว์อธิบายปัญหาที่ ๒ นั้นว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า มารดาสั่งบุตรอายุ ๗-๘ ขวบ ผู้สามารถจะทำตามสั่งได้ว่า แน่ะพ่อ เจ้าจงไปนา เจ้าจงไปร้านตลาด ดังนี้เป็นต้น. กุมารกล่าวว่า แม่จ๋า ถ้าแม่ให้ของเคี้ยวของกินนี้ด้วยๆ แก่ลูก ลูกจักไป. ครั้นมารดากล่าวว่า เอาซิพ่อ. ก็เคี้ยวกินของกินแล้วบ้วนปาก ยืนอยู่ที่ประตูเรือน หาไปนาไม่. เล่นเสียกับหมู่เด็ก หาทำตามสั่งของมารดาไม่. ครั้นมารดาบังคับให้ไปก็กล่าวว่า แน่ะแม่ แม่นั่งยืนที่เงาเรือนเย็น ลูกจะทำตามคำสั่งของแม่ภายนอกอย่างไรได้ ดังนี้เป็นต้น. ครั้นมารดากล่าวว่า เองลวงข้า. ก็แสดงมือและปากแปลกๆ แล้วหนีไป. มารดาเห็นบุตรหนีก็ขัดเคือง ถือไม้ไล่ตาม. เมื่อไม่ทันบุตรก็คุกคามว่า อ้ายคนชั่ว อ้ายโจร เองกินของกินของข้าแล้วไม่ปรารถนาจะทำอะไรๆ ที่นา หยุดก่อนๆ. แล้วกล่าวคำเป็นต้นว่า เองไปเถิดอ้ายถ่อย พวกโจรจงตัดมึงให้เป็นชิ้นน้อยชิ้นใหญ่ ด่าบริภาษตามความใคร่ตามอัธยาศัย ก็แต่กาลใดปากกล่าวอะไรๆ ออกไป. กาลนั้น ใจก็ไม่ปรารถนาซึ่งความมีมาแห่งภยันตรายแม้หน่อยหนึ่งแก่บุตร. ฝ่ายทารกเล่นกับพวกทารกตลอดวัน ไม่อาจจะเข้าบ้านเวลาเย็น ก็ไปสำนักหมู่ญาติ. ฝ่ายมารดา เมื่อแลดูหนทางที่บุตรจะกลับมา เห็นบุตรที่รักยังไม่กลับบ้าน. ก็มีหัวใจเต็มไปด้วยความโศกว่า ชะรอยลูกของเราจะไม่อาจเข้าบ้าน มีน้ำตาไหลอาบหน้า. ไปค้นหาที่เรือนญาติ เห็นบุตรที่รักก็สวมกอดจูบที่ศีรษะ เอามือทั้งสองจับบุตรให้นั่ง. กล่าวว่า พ่อลูกรัก อย่าเอาถ้อยคำของแม่จดไว้ในใจเลย. กล่าวฉะนี้ ก็ยังความรักให้เกิดขึ้นอย่างเหลือเกิน. ข้าแต่พระมหาราชเจ้า บุตรชื่อว่าเป็นที่รักยิ่ง ในกาลเมื่อมารดาโกรธ ด้วยประการฉะนี้. เทวดาได้สดับก็บูชาพระมหาสัตว์เหมือนคราวที่แล้วมา. ฝ่ายพระเจ้าวิเทหราชก็ทรงบูชาพระมหาสัตว์เหมือนคราวที่แล้ว. แล้วตรัสวิงวอนให้กล่าวแก้ปัญหาที่ ๓. ครั้นได้ทรงรับให้ตรัสถาม จึงตรัสคาถาที่ ๓ ว่า
    บุคคลกล่าวตู่ด้วยคำไม่จริง แล้วท้วงกันด้วยคำเหลาะแหละ บุคคลนั้นย่อมเป็นที่รักแห่งกัน ด้วยเหตุนั้น พระองค์ทรงเห็นว่า ได้แก่ใคร.
    ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ทูลแก้ปัญหานั้นแด่พระราชาว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า เมื่อใดภรรยาและสามี ๒ คนอยู่ในที่ลับเล่นกันด้วยความเสนหา ตามความยินดีของโลก. แล้วกล่าวตู่กันและกันด้วยคำไม่จริงอย่างนี้ว่า ความรักในเราย่อมไม่มีแก่ท่าน. ได้ยินว่า ใจของท่านไปภายนอกแล้ว. แล้วท้วงกันด้วยคำเหลาะแหละ. เมื่อนั้น ภรรยาและสามีทั้ง ๒ นั้นก็รักกันเหลือเกิน. ขอพระองค์ทรงทราบเนื้อความแห่งปัญหานั้น ด้วยประการฉะนี้. เทวดาได้สดับแล้วก็บูชาพระโพธิสัตว์เหมือนดังก่อนอีก. ฝ่ายพระราชาก็ทรงบูชาพระมหาสัตว์โดยนัยหนหลัง. แล้วตรัสวิงวอนให้กล่าวแก้ปัญหาข้ออื่นอีก. ครั้นได้รับให้ตรัสถาม จึงตรัสคาถาที่ ๔ ว่า
    บุคคลนำข้าว น้ำ ผ้า และเสนาสนะไปชื่อว่า ผู้นำไปมีอยู่โดยแท้. บุคคลเหล่านั้นย่อมเป็นที่รักแห่ง ผู้เป็นเจ้าของข้าวน้ำเป็นต้น ด้วยเหตุนั้น. พระองค์ทรงเห็นว่า ได้แก่ใคร.
    ลำดับนั้น พระมหาสัตว์อธิบายแก้ เนื้อความแห่งปัญหาถวายพระราชาว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ปัญหานี้เทวดากล่าวหมายเอา สมณะและพราหมณ์ผู้ประพฤติธรรม. จริงอยู่ สกุลทั้งหลายผู้มีศรัทธาเชื่อโลกนี้และโลกหน้า จึงบริจาคทานและใคร่จะให้อีก. สกุลเหล่านั้นเห็นสมณะและพราหมณ์เห็นปานดังนั้น ขอข้าวน้ำเป็นต้นไปก็ดี นำข้าวน้ำเป็นต้นที่ได้ แล้วไปบริโภคก็ดี. ก็เลื่อมใสรักใคร่ในสมณะและพราหมณ์เหล่านั้นเหลือเกิน. ด้วยเห็นว่า สมณะและพราหมณ์เหล่านี้ขอข้าวน้ำเป็นต้นของเรา. บริโภคข้าวน้ำเป็นต้นเป็นของของเราทั้งนั้น. เมื่อเป็นเช่นนี้ สมณะและพราหมณ์ทั้งหลาย ชื่อว่าเป็นผู้นำไป คือเป็นผู้ขอโดยส่วนเดียว แลเป็นผู้นำข้าวและน้ำเป็นต้นที่ได้แล้วไปโดยแท้ ชื่อว่าเป็นผู้เป็นที่รักของเจ้าของข้าวน้ำเป็นต้น. ก็ในเมื่อปัญหานี้อันมโหสถกล่าวแก้แล้ว เทวดาก็บูชาเหมือนอย่างนี้ แล้วกระทำสาธุการ. แล้วซัดผอบอันเต็มด้วยรัตนะ ๗ ประการมาแทบเท้าแห่งมโหสถแจ้งว่า ดูก่อนมโหสถบัณฑิต ท่านจงรับผอบเต็มด้วยรัตนะ ๗ ประการ. ฝ่ายพระเจ้าวิเทหราชโปรดปรานเลื่อมใสในมโหสถเป็นอย่างยิ่ง ได้พระราชทานตำแหน่งเสนาบดีแก่เขา. จำเดิมแต่นั้นมา พระมหาสัตว์ได้มียศใหญ่.
    จบ เทวปัญหา
     

แชร์หน้านี้

Loading...